หอวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์


ที่อยู่:
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ เลขที่ 398 ถ.สวรรควิถี อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 60000
โทรศัพท์:
056 219 100 ต่อ 1135, ประสานงานคุณปริญญา โทร.081 041 5424
วันและเวลาทำการ:
วัน-เวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
artculture_nsru@hotmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2527
ของเด่น:
ข้อมูลเกี่ยวแหล่งโบราณคดีสำคัญในจังหวัดนครสวรรค์, เครื่องปั้นดินเผายุคทวารวดี เช่น ลายเชือกทาบ, ศูนย์ข้อมูลท้องถิ่นสำหรับการสืบค้นประวัติศาสตร์พื้นที่และประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

ผังจัดแสดงของหอวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ มหาวิทยาลั...

โดย: -

วันที่: 09 มกราคม 2560

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

หอวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

หอวัฒนธรรม จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ลักษณะอาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ตรีมุข โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี สถานที่ท่องเที่ยว โบราณสถาน ศิลปกรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมของจังหวัดนครสวรรค์ อย่างไรก็ดี แม้หอวัฒนธรรม จังหวัดนครสวรรค์ เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2535 แต่การดำเนินงานด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมเริ่มตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2522 และในปีต่อมา มีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ. 2524 จึงได้มีการชื่อเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเดิมทีตั้งอยู่ที่ศาลาว่าการหลังเดิมของจังหวัดนครสวรรค์

จากความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงปลายทศวรรษ 2520 หอวัฒนธรรมได้รับงบประมาณในการจัดสร้างและแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ในการจัดสร้างหอวัฒนธรรมครั้งนั้น จัดสรรพื้นที่ไว้สำหรับบริการเป็น 6 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ห้องพิพิธภัณฑ์โสฬส ห้องศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาและพัฒนาคุณภาพชีวิต ห้องนิทรรศการ นิมมานรดี สำหรับการจัดนิทรรศการชั่วคราว ห้องดุสิตา ซึ่งเป็นห้องประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดหอวัฒนธรรม และในปีเดียวกัน ท่านเสด็จฯ ทรงนำนักเรียนนายร้อยโรงเรียนพระจุลจอมเกล้าศึกษาดูงานหอวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 และศาลาไทยและลานหน้าหอวัฒนธรรม สำหรับการฝึกปฏิบัติการและการจัดกิจกรรมกลางแจ้ง

ในห้องพิพิธภัณฑ์โสฬส ปรากฎการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองนครสวรรค์โดยนำเสนอวิวัฒนาการยุคต่างๆ ของเมืองนครสวรรค์ ประกอบด้วยยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี เมืองจันเสน เมืองโคกไม้เดน และดงแม่นางเมือง

โบราณวัตถุในแต่ละยุคสมัย โดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผาได้รับการนำเสนอตามลำดับเวลา เครื่องปั้นดินเผาก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุกว่าสามพันปี และสมัยประวัติศาสตร์เช่น เครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ ซึ่งเป็นเทคนิคของการสร้างลวดลายโดยใช้เชือกทาบลงบนภาชนะดินเผาเพื่อให้เกิดลวดลายก่อนการเผา นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของยุคสมัยสำคัญดังเช่นเมืองจันเสนที่มีพัฒนาการใน 6 ยุคสมัย การจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาในฐานะโบราณวัตถุที่พบในอำเภอตาลี จังหวัดนครสวรรค์ แสดงให้เห็นพัฒนาการของเมืองนครสวรรค์โดยลำดับ

นอกจากเรื่องราวทางโบราณคดี การแสดงยังบอกเล่าวัฒนธรรมภูมิปัญญาต่างๆ ที่ปรากฏในจังหวัดนครสวรรค์ด้วย เช่น การรำกลองยาว การแสดงหุ่นกระบอก การเต้นกำรำเคียว การแสดงลิเก ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของจังหวัดนครสวรรค์ จุดที่น่าสนใจของการจัดแสดงอีกหนึ่งคือ ศิลาจารึกจำลอง ดงแม่นางเมือง พ.ศ. 1710 บ้านดงแม่นางเมือง ตำบลตาหงาย อำเภอบรรพตพิสัย ซึ่งศิลาจารึกองค์จริงได้รับกการรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จารึกดังกล่าวได้รับการจารไว้ด้วยตัวอักษรปัลวะ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญในการปกครองเมืองในช่วงเวลานั้น

พิพิธภัณฑ์ยังบอกเล่าแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ของเมืองนครสวรรค์ เช่น บึงบอระเพ็ด ดังคำขวัญของเมืองนครสวรรค์ที่ปรากฎในนิทรรศการ “เมืองสี่แคว แห่มังกร พักผ่อนบึงบอระเพ็ด ปลารสเด็ดปากน้ำโพ” ในอีกมุมหนึ่ง ยังปรากฏการจัดแสดงกลุ่มภาพเก่าที่บอกเล่าให้เห็นสภาพของบ้านเมืองในอดีตและพัฒนาการทางคมนาคมที่ติดต่อสัมพันธ์ระหว่างนครสวรรค์กับเมืองต่างๆ

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหอวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ ดำเนินการวิจัยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชนลุ่มน้ำเจ้าพระยาและในเมืองนครสวรรค์ เพื่อเป็นฐานความรู้ในการพัฒนาเป็นนิทรรศการเพื่อบอกเล่าเรื่องราวความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเมืองปากน้ำโพแห่งนี้ คุณปริญญาผู้ทำหน้าที่นำชมห้องนิทรรศการโสฬสกล่าวถึงการจัดนิทรรศการหมุนเวียน “ที่บอกเล่าเรื่องประเพณีตรุษจีน การจับข้อมือสาวของมอญ เพราะในนครสวรรค์นั้น มีชนชาติหลากหลายมอญ คริสต์ อิสลาม จีน รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ แสงทอง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรมในปัจจุบันพยายามรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นตัวเชื่อมโยง” การทำงานเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในผลงานต่างๆ ของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็น “แนวคิดการวิจัยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ชุมชนลุ่มน้ำเจ้าพระยา” โดยมี รศ. ดร. สุชาติ แสงทอง เป็นบรรณาธิการ และผลงานชุดสำคัญเรื่อง 100 ปี วิถีปากน้ำโพ ที่ปรากฎเป็นหนังสือและวีดิทัศน์บอกเล่าเรื่องราวของคนไทยเชื้อสายจีนที่อพยพและตั้งรกรากในเมืองปากน้ำโพ จนทำให้เมืองนครสวรรค์มีความรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบัน

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของหอวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์

จังหวัดนครสวรรค์แต่เดิมนั้นมีบทบาทและความสำคัญ ในฐานะที่เป็นแหล่งชุมชนโบราณแหล่งวัฒนธรรม การละเล่นพื้นบ้าน แหล่งศิลปหัตถกรรม และแหล่งท่องเที่ยงตามธรรมชาติ แต่ยังขาดศูนย์กลางที่จะประชาสัมพันธ์เรื่องราวและความสำคัญเหล่านั้นให้เป็นที่แพร่หลายแม้แต่ชาวนครสวรรค์เองให้ได้รับรู้ ด้วยเหตุนี้คณะอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์จึงมีมติให้จัดตั้งหอวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ขึ้นในบริเวณเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ด้านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์โดยมีวัตถุประสงค์คือ
 
1. เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีและศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งสามารถให้บริการการศึกษา ค้นคว้า วิจัยเรื่องราวของจังหวัดนครสวรรค์ในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี อันจะเป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่เรื่องราวของท้องถิ่น
 
2. เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวของจังหวัดนครสวรรค์ ทำหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ แหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการ
 
3. เพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการ การแสดงและกิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ อีกแห่งหนึ่งด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้รับงบประมาณ 8 ล้านบาท จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อจัดสร้างหอวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเป็นอาคารเฉลิมพระเกียรติและเป็นอนุสรณ์สถานถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 5 รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2535

อาคารนี้ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจขงชาวนครสวรรค์ด้วย พร้อมกับได้ขอพระราชทานอัญเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดหอวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ และทอดพระเนตรการจัดนิทรรศการพัฒนาการ ของวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์ ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2535 หอวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์มีลักษณะเป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยประจุกต์ตรีมุข เป็นอาคารชั้นครึ่ง โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้อง ภายในอาคารประกอบด้วยการจัดแสดงในห้องต่างๆต่าง ๆ ดังนี้
 
ห้องโสฬส ใช้จัดนิทรรศการด้านศิลปวัฒนธรรมระยะยาวหมุนเวียนไปตามเนื้อหาและวัตถุประสงค์ ในรูปของศิลปวัตถุ ชิ้นส่วนโบราณสถาน เครื่องมือ เครื่องใช้สมัยโบราณ ฯลฯ ทั้งที่พบในจังหวัดนครสวรรค์และส่วน  อื่น ๆ ของประเทศไทย
 
ห้องนิมมานนรดี ใช้จัดนิทรรศการชั่วคราวเป็นระยะ ๆ เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ และด้านการท่องเที่ยว
ห้องบุญชู โรจนเสถียร ใช้สำหรับจัดการแสดงการละเล่นพื้นบ้าน ฉายสไลด์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ตลอดจนการประกวดกิจกรรม ด้านศิลปวัฒนธรรมและการอบรมสัมมนา
 
ห้องศูนย์ข้อมูลท้องถิ่น สำหรับใช้บริการการศึกษา ค้นคว้า วิจัยเรื่องราวของจังหวัดนครสวรรค์ในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในรูปของเอกสารตำรา งานวิจัย สมุดข่อย ใบลาน จดหมายเหตุ แผนที่ ภาพถ่าย สไลด์ เทปบันทึกเสียง และวีดีโอเทป
 
ห้องประชาสัมพันธ์ ใช้เป็นสถานที่ติดต่อประสานงานของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์และงานประชาสัมพันธ์ของหอวัฒนธรรม
 
ห้องดุสิตา เป็นห้องที่ใช้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดหอวัฒนธรรม รักษาไว้ให้อยู่ในสภาพเดิม
 
ส่วนภายนอกอาคารประกอบด้วย ลานแสดงกลางแจ้งทางด้านหน้าของอาคาร สำหรับจัดกิจกรรมหรือมหกรรมต่าง ๆ ทางด้านวัฒนธรรม เช่น การแสดงดนตรี การละเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น
 
ข้อมูลจาก
http://www.nsru.ac.th/culture/offculture/index.html[accessed20070220]
ชื่อผู้แต่ง:
-