พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกยไชยเหนือ


ที่อยู่:
วัดเกยไชยเหนือ ม.4 ต.เกยไชย อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ 60120
โทรศัพท์:
0-5635-3062, 089-7042578,089-4387499
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2540
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

เส้นทางพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

ชื่อผู้แต่ง: ภูธร ภูมะธน | ปีที่พิมพ์: 2548

ที่มา: วารสารรฦก.กระทรวงวัฒนธรรม

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกยไชยเหนือ

วัดเกยไชยเหนือ เป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอชุมแสง ตั้งอยู่บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน วัดนี้มีองค์เจดีย์บรรจุพระบรมธาตุทรงลังกาฐานแปดเหลี่ยม ตามตำนานพื้นถิ่นที่เล่าสืบต่อกัน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเสือ แห่งกรุงศรีอยุธยา มีพระอุโบสถหลังเก่าที่มีสถาปัตยกรรมงดงาม สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน นอกจากนี้ บริเวณนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของตำนานของจระเข้ยักษ์ที่ชื่อไอ้ด่างเกยไชยอีกด้วย    
         
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดเกยไชยเหนือ ก่อตั้งขึ้นราวปี 2540 โดยความร่วมมือระหว่างวัดเกยไชยเหนือ โรงเรียนวัดเกยไชยเหนือ องค์การบริหารส่วนตำบล และชาวบ้าน ของที่จัดแสดงได้แก่ของใช้เจ้าอาวาสองค์เดิม ของส่วนตัวที่ชาวบ้านมาถวาย หรือของที่ชาวบ้านงมได้จากก้นแม่น้ำน่านที่อยู่หน้าวัด
 พิพิธภัณฑ์ประกอบไปด้วยอาคารพิพิธภัณฑ์จำนวน 2 หลัง รูปทรงคล้ายคลึงกันคือเป็นอาคารทรงไทย กว้างประมาณ 12 เมตร ยาว 23 เมตร สูง 3 เมตร มีชั้นเดียวหลังคามุงกระเบื้องดินเผาเคลือบ ตกแต่งเสาด้วยไม้ตาลทั้งหลัง เนื่องจากบ้านเกยไชยเป็นแหล่งที่มีต้นตาลมาก   ตาลจึงเป็นไม้เศรษฐกิจของท้องถิ่นที่นี่   ยังพบเห็นวิถีชีวิตชาวบ้านในการทำตาล การขึ้นตาล เคี่ยวตาล กวนน้ำตาลปึก ได้ที่บ้านเกยไชยนี้
         
อาคารพิพิธภัณฑ์หลังแรกสร้างประมาณปี พ.ศ. 2539 ภายในจัดแสดง เครื่องปั้นดินเผาที่งมได้บริเวณท่าน้ำวัด นอกจากนี้ยังมีเครื่องเบญจรงค์ เครื่องจักสาน โทรทัศน์รุ่นเก่า เครื่องแก้ว ตะเกียง เตารีด จระเข้สตัฟฟ์ ฯลฯ ส่วนอาคารหลังที่สอง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2541โดยได้รับงบก่อสร้างจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตั้งชื่อว่าพิพิธภัณฑ์ต้นน้ำ เนื่องจากตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านที่บรรจบกับแม่น้ำยม ภายในจัดแสดง เครื่องปั้นดินเผา เครื่องแก้ว เครื่องเบญจรงค์ ธนบัตร เงินเหรียญโบราณ เครื่องทองเหลือง ปืนยาว เป็นต้น
         
ปัจจุบันชุมชนเกยไชยเหนือได้ระดมความคิดเพื่อปรับปรุงการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ ที่ตอนนี้ยังเป็นเพียงการนำของมาจัดวางโดยยังไม่มีคำอธิบาย หรือทราบที่มาที่ไปของข้าวของแต่ละชิ้น รวมถึงการเชื่อมโยงเรื่องราวของสิ่งของเหล่านั้นกับวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของบ้านเกยไชย ชุมชนจึงพยายามจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก้าวต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการไปดูงานพิพิธภัณฑ์แห่งอื่น ๆ ในจังหวัดลพบุรี และนครสวรรค์ และการจัดกิจกรรมประกวดภาพถ่ายเก่า นอกจากนี้ทางโรงเรียนวัดเกยไชยเหนือยังเข้ามาช่วยในการนำเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1-3 มาฝึกเป็นมัคคุเทศน์น้อยอีกด้วย โดยผู้ชมที่สนใจต้องแจ้งล่วงหน้ามาก่อนที่โรงเรียนวัดเกยไชยเหนือ
 
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนามโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วันที่ 6 มีนาคม 2548.
ชื่อผู้แต่ง:
-