พิพิธภัณฑ์ย้อนรอยอดีต เมืองปากน้ำโพ


ที่อยู่:
ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าแฟรี่แลนด์ บริษัท แฟรี่แลนด์สรรพสินค้า จำกัด เลขที่ 162/10 ถนนสวรรค์วิถี ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ 60000
โทรศัพท์:
0-5622-3051-60
วันและเวลาทำการ:
วัน-เวลาเปิดให้บริการของห้างสรรพสินค้าแฟรี่แลนด์ (10.00-21.00 น.)
ปีที่ก่อตั้ง:
2557
ของเด่น:
ป้ายร้านในตลาดเมืองปากน้ำโพ, วัตถุต่างๆ ของร้านค้า เช่น ร้านขายยา ร้านอาหาร โรงแรม, มังกรที่เคยใช้ในการแห่ในพิธีสำคัญของนครสวรรค์, ฉากจำลองตลาดเสมือนได้เดินเข้าไปในอดีต
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 07 ธันวาคม 2559

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ย้อนรอยอดีต เมืองปากน้ำโพ

“เราต้องจัดรวบรวบประวัติจากที่ต่างๆ ทำให้เราเห็นว่า นครสวรรค์มีจุดเด่นหลายอย่าง หากคนรับรู้ คนภูมิใจ หลักฐานอยู่ แฝงในความเป็นอยู่ของประชาชนแล้วอยู่เฉพาะถิ่น ที่จัดแสดงไม่มีอะไร แต่ทั้งหมดจริงๆ เป็นส่วนที่เกิดขึ้น เอามาจัดเรียงกัน บ้าน ร้านค้าและประวัติ...
ในสมุดเยี่ยม มีเด็กมาเขียนเอาไว้ว่า ภูมิใจที่เป็นคนนครสวรรค์ เรารักนครสวรรค์ แค่นี้คุ้มค่าที่สุด อันที่หนึ่งสร้างความภูมิใจ ความรักในเมือง ความเป็นคนนครสวรรค์ และเป็นสื่อสัมพันธ์ครอบครัว เพราะมีทั้งเด็กผู้ใหญ่ที่พามา ชี้ชวนให้ดูและแลกเปลี่ยน”

นิทรรศการย้อนอดีตเมืองปากน้ำโพ ที่ห้างสรรพสินค้าแฟรี่แลนด์คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการจัดประกวดสัญลักษณ์ต้นน้ำเจ้าพระยาที่เกิดขึ้นเมื่อสี่ปีที่แล้ว สันติ คุณากร ในฐานะกรรมการผู้จัดการห้างสรรพสินค้าแฟรี่แลนด์ และสมาชิกชมรมรักษ์ต้นน้ำ เมืองปากน้ำโพ บอกเล่าถึงกระบวนการรวบรวมข้อมูล เพื่อนำข้อมูลต่างๆ ให้กับสมาคมสถาปนิกสยามดำเนินการเก็บข้อมูลและความเห็นต่างๆ เมื่อได้มีการคัดเลือกการประกวดแบบสัญลักษณ์ที่มีผู้เข้าประกวดเข้าถึงรอบสุดท้ายจำนวนประมาณ 10 ราย

“ในการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแบบสัญลักษณ์ต้นน้ำ นอกเหนือจากการจัดประชุมตามกลุ่มอายุต่างๆ แล้ว ยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านเอฟเอ็ม เปิดเว็ปไซต์ มีการระดมสมองจากหลากหลายทั่วประเทศ เขาประมวล แล้วก็มาทำประชาพิจารณ์”

จากกิจกรรมของการรณรงค์เกี่ยวกับการสร้างสรรคค์ผลงานสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นจุดกำเนิดการจัดงานนิทรรศการชั่วคราวและขยายสู่นิทรรศการที่จัดระยะยาวถึงปัจจุบัน “เราเป็นพิพิธภัณฑ์ห้างสรรพสินค้า บางทีร้านค้าก็ลังเลเอามาให้ยืม ทุกครั้งที่มีผู้นำวัตถุมาให้ยืม ทางฝ่ายบัญชีบันทึกรายการวัตถุไว้สองชุด ชุดหนึ่งอยู่กับเขา อีกชุดอยู่กับบัญชี

สิ่งที่ชี้ว่าประสบความสำเร็จสำหรับผมแล้ว วันหนึ่ง มีคนนำป้ายมาให้พร้อมกับกระดาษ เป็นป้ายร้านบุ้นกิมหยง ในกระดาษ บอกว่าต้นตระกูลเข้ามาในสยามเมื่อ พ.ศ. 2464 ใช้เรือมาค้าขาย แล้วมาตั้งรกรากอยู่ในตรอกชุนหง ตั้งแต่ปีนั้นถึงปีนี้ อาก๋งอาม่าคงภูมิใจที่ได้มาเอาป้ายไว้ที่นี่คู่เมืองนครสวรรค์”

สันติ คุณาวงศ์ เล่าถึงเส้นทางการทำงานพิพิธภัณฑ์ที่มาจากงานจิตอาสาและความภาคภูมิใจของคนปากน้ำโพ เพราะ “คนจีนอพยพเข้ามา วันหนึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งต้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา” ในระยะหลัง เริ่มมีผู้คนนำวัตถุมาให้เพิ่มเติม เมื่อเริ่มกั้นฉากการจัดแสดงให้คล้ายกับ “เขามาแต่ง [ร้านจำลอง] เอง เอาป้ายมาให้จำนวนมาก ป้ายก็กลายมาเป็นนิทรรศการส่วนหนึ่ง ‘ป้ายเก่าเล่านครสวรรค์’เราจัดโดยไม่มีไม่มีหลักวิชาการ แต่เป็นเพราะทั้งคนเล่าเรื่องและคนทำนิทรรศการต่างเป็นคนอยู่ในพื้นที่”

ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจเมื่อได้เข้านิทรรศการในพื้นที่จัดแสดง บรรยากาศที่แวดล้อมตัวเองเมื่อเริ่มต้นชมจาก “นครสวรรค์กิโลเมตรที่หนึ่ง” เหมือนเดินทางย้อนกลับเข้าไปในกาลเวลา บริเวณการจัดแสดงแบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ ตลาดเก่าเมืองปากน้ำโพ นิทรรศการลูกหลานพันธุ์มังกร นครสวรรค์ และป้ายเก่าเล่าเรื่อง

รูปแบบการนำเสนอในตลาดเก่าเมืองปากน้ำโพจำลอง อาศัยการจัดแบ่งพื้นที่คล้ายห้องแถวในตลาด ร้านรวงต่างๆ นำป้ายร้าน ภาพบุคคลสำคัญของบ้าน เครื่องใช้หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำกิน มาวางไว้ในส่วนต่างๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นการใช้งานของวัตถุเหล่านั้น ป้ายนิทรรศการสรุปความเป็นมาของร้านค้าขนาดกระดาษ เอ 3 บอกเล่าถึงความเป็นมาและพัฒนาการของร้านต่างๆ บางร้านเลิกกิจการแล้วเพราะลูกหลานไปประกอบอาชีพอื่นๆ บางร้านคงกิจการอย่างต่อเนื่องจากคนรุ่นปู่ย่า บ้างยังคงกิจการแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าขายให้เหมาะสมกับยุคสมัย

ถนอมศักดิ์ ผู้จัดการห้างฯ ทำหน้าที่นำชมนิทรรศการ “เริ่มต้นจากตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง ท่านเสด็จทางชลมาคร ใครจะขึ้นเหนือหรือลงกรุงเทพต้องผ่านนครสวรรค์ และมีภาพพระเจ้าอยู่หัว พระราชินี นี่เป็นความภูมิใจที่ท่านเสด็จมา

การค้าขายในอดีต นี่เป็นร้านเป็งหลี เป็นผู้นำเข้าโคล่า บ้านท่านติดแม่น้ำเคยเป็นร้านค้ารุ่งเรือง แต่ในปัจจุบันเป็นเพียงที่พักอาศัย ร้านไทยอุดมโอสถ ร้านนี้สามารถทำซองยาขายเองได้ด้วย เขาสามารถเรียนรู้ทำเรื่องน้ำยาสมุนไพร รุ่นหลานไม่ได้รับช่วงต่อ

ร้านเล็งเอี๊ยะ ขายโชวห่วย เป็นครอบครัวของตระกูลสืบวงศ์ลี ปัจจุบันยังยังขายของพวกนี้อยู่ไม่ได้พัฒนาเป็น 7-11 ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ ฝั่งนี้เฉลิมชาติ โรงภาพยนตร์เก่าแก่ ร้านอาหาร..โรงน้ำแข็ง นี่แสดงให้เห็นภูมิปัญญา ใช้แกลบหมกทำให้น้ำแข็งละลายช้า นี่แสดงให้เห็นหน่วยนับเป็น ‘มือ, กั๊ก’

โซนธุรกิจการค้า ร้านทองฮอเต๊กหมง ร้านทองยังคงมีมากในปัจจุบัน ร้านศรีศิลป์ถ่ายรูป ทำเครื่องอัดขยาย กล้องเลนส์เดียว สองเลนส์ ลูกหลานยังสืบทอดการถ่ายภาพ ร้านขายยาชัยอนันต์โอสถ ยังคงทำสืบต่อมา ยาจีนยาไทย ร้านขายผ้าโค้วไกเซ้ง ต้นตระกูลคุณาวงศ์ มาทำเป็นเสริมแสงเครื่องใช้ไฟฟ้า เซลแอนด์เซอร์วิส

เส็งฮะโรงน้ำปลาใหญ่ในครั้งนั้นปลาสร้อยมีเป็นจำนวนมาก แต่ต้องเปลี่ยนเป็นกิจการเป็นฟาร์มจระเข้เลี้ยงสัตว์ ไม่มีโรงน้ำปลาแท้ในนครสวรรค์แล้ว ร้านเอ็กเซ็งเป็นร้านโชห่วยสมัยก่อน ร้านตั้งเต้งล้งทำจักสาน ...ร้านนิพนธ์เกษา เป็นร้านเสริมสวยและโรงเรียนสอน ร้านลิ้มกวนหยูยังขายไหมพรมถึงปัจจุบัน ร้านกาแฟสมัยโบราณปิดกิจการแล้ว ตรงนี้โรงแรมจิ้งหรีด ปิดตัวนานแล้ว”

พี่ถนอมศักดิ์เล่าเรื่องราวได้ต่างๆ ได้อย่างมีชีวิตชีวา ผู้ชมเองสามารถเข้าไปเยี่ยมเยือนร้านค้าจำลองแต่ละร้านได้ตามอัธยาศัย แต่ก็ควรจับต้องวัตถุด้วยความระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสน่าจะช่วยให้สิ่งต่างๆ เป็นที่ชื่นชมของผู้ชมอื่นๆ ด้วย ส่วนนิทรรศการในส่วนที่สองเป็นนิทรรศการ ทางเข้าระบุไว้ว่าเป็นนิทรรศการลูกหลานพันธุ์มังกร นครสวรรค์

นิทรรศการเท้าความให้เห็นตำแห่งทางภูมิศาสตร์นครสวรรค์ โดยจัดแสดงโมเดลเมืองนครสวรรค์ที่ได้รับการบริจาคจากเทศบาล บอร์ดนิทรรศการเล่าเรื่องการอพยพของคนจีนห้ากลุ่มที่เข้ามาในนครสวรรค์ ประเพณีการแห่มังกร การแห่งเจ้าพ่อเจ้าแม่เมืองปากน้ำโพ ที่สำคัญคือ มังกร สิงโต และเครื่องแต่งกาย ที่เคยใช้ในการประกอบพิธีในเทศกาลได้รับการนำเสนอไว้ในนิทรรศการอย่างน่าสนใจ
อีกจุดหนึ่งคือ ผังเมืองเก่าที่จำลองสถานที่ที่เคยมีอยู่ในเมืองนครสวรรค์เมื่อกว่าห้าสิบปีที่แล้ว ผู้ชมจะได้ชมตำแหน่งที่ตั้งของร้านค้า วัดวาอาราม สถานีรถไฟ สะพานเดชาติวงศ์เมื่อแรกสร้าง ทั้งหมดนี้ปรากฏในฐานการเรียนรู้โมเดลที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับข้อมูล จนถึงบริเวณของภาพเก่าที่แสดงให้เห็นภาพในอดีตของถนนหนทาง

สำหรับส่วนสุดท้ายโซน “ป้ายเก่าเล่าเรื่องนครสวรรค์” พี่ถนอมยกตัวอย่างของป้ายถาวรฟาร์ม “เมื่อกิจการของถาวรฟาร์มเป็นกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่ แต่ตอนหลังมาทำรถโดยสาร โดยมีภาพรถคันแรกประกอบเพื่อบอกเล่าอดีตการคมนาคมเมื่อมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกมากขึ้น” ป้ายต่างๆ ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 60-70 ปี ได้รับการติดตั้งเรียงรายไว้บนผนัง พี่ถนอมบอกว่า “อากงอาม่าชอบพาเด็กๆ มาชมในส่วนนี้ เพื่อจะได้อวดให้ลูกหลานเห็น” นี่แสดงให้เห็นความภาคภูมิใจของคนปากน้ำโพที่อยากส่งสารให้กับคนรุ่นใหม่ร่วมรักษาและพัฒนาเมืองนครสวรรค์ต่อไปในอนาคต.

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559
ชื่อผู้แต่ง:
-