พิพิธภัณฑ์กาญจนาภิเษก และอาคารพิพิธภัณฑ์บริขารและหุ่นขี้ผึ้งพระครูนิติธรรมคุณ


ที่อยู่:
วัดเก้าเลี้ยว เลขที่ 55 ม.1 ตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์
โทรศัพท์:
056-299111, 0890639205
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2559
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 02 กันยายน 2558

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์กาญจนาภิเษก และอาคารพิพิธภัณฑ์บริขารและหุ่นขี้ผึ้งพระครูนิติธรรมคุณ

พระครูนิมิตธรรมสาร เจ้าอาวาสวัดเก้าเลี้ยวรูปปัจจุบัน กล่าวถึงโครงการต่างๆ ที่ทางวัดได้พัฒนาขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 2530 “วัดจะต้องมีห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นโครงการของสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ สำหรับวัดที่มีศักยภาพ ก็ให้ทำ” โครงการพิพิธภัณฑ์จัดตั้งขึ้นในสมัย “หลวงพ่อหน่อง” หรือพระครูนิติธรรมคุณ วัตถุทั้งหมดได้รับการรวบรวมไว้เป็น “พิพิธภัณฑ์กาญจนาภิเษก” ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2539 พิพิธภัณฑ์กาญจนาภิเษก ครองราชย์ 50 ปี

วัตถุสะสมส่วนหนึ่งเป็นของหลวงพ่อหน่อง หรืออดีตเจ้าอาวาส และส่วนที่ได้รับการบริจาคจากญาติโยมในพื้นที่ เช่น เครื่องมือการเกษตร สากตำข้าว เครื่องถ้วยเบญจรงค์ อาวุธปืน ปั้มน้ำที่เป็นคันโยก ไถ่ โอ่งใส่น้ำ โต๊ะเครื่องแป้ง วัตถุต่างๆ ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยทางวัดเอง แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ จึง “อยู่เท่านี้ก่อน” นอกจากนี้ยังมีเรือนไทยจำลอง ซึ่งเป็นห้องสำหรับรับรองผู้มาเยือน แต่ยังมีป้ายนิเทศที่ให้ข้อมูลส่วนประกอบคำเรียกทางสถาปัตยกรรมของเรือนไทย ตั้งอยู่ก่อนทางเข้าพิพิธภัณฑ์กาญจนาภิเษกไว้เป็นอีกส่วนหนึ่ง เรือนไทยจำลองหลังดังกล่าวได้รับการจัดสร้างเมื่อ พ.ศ. 2550 “เราอยากให้เด็กรุ่นหลังได้ศึกษา” พระครูสมุห์ดนัยได้กล่าวไว้

อย่างไรก็ดีทางวัดเก้าเลี้ยวมีความตั้งใจที่จะพัฒนาการจัดแสดงให้มีลักษณะเป็นสัดส่วน โดยเฉพาะเมื่อได้ชมพิพิธภัณฑ์เมืองเก่าปากน้ำโพในห้างสรรพสินค้าแฟรี่แลนด์ในตัวเมืองนครสวรรค์ ทางผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับแรงบันดาลใจจากการจำลองสภาพตลาดเก่าและการจัดแสดงด้วยวัตถุที่เคยใช้งานในชีวิตประจำวัน เรียกได้ว่า “เป็นการจัดแสดงเป็นส่วนๆ อยากจะพัฒนาแบบนั้นเป็นส่วนๆ วางนโยบายไว้ว่าจะทำอย่างนั้น” พระครูนิมิตธรรมสาร เจ้าอาวาสวัดเก้าเลี้ยวรูปปัจจุบัน กล่าวถึงโครงการในอนาคต

การพัฒนาดังกล่าวมีความเป็นไปได้เนื่องจากความร่วมมือกันเป็นอย่างดีระหว่างวัดเก้าเลี้ยวและโรงเรียนอนุบาลวัดเก้าเลี้ยว นายอารีย์ ลอยเมฆ ผู้อำนวยบการโรงเรียนอนุบาลวัดเก้าเลี้ยวนั้น “มีความสนใจเรื่องนี้ มีประสบการณ์ต่างๆ สามารถเล่าเรื่องได้ ตอนนี้เริ่มคิดจะทำ เราจะทำงบฯ เราต้องการปรับให้แต่ละจุดบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ เช่น ร้านกาแฟโบราณ ร้านนั้นร้านนี้ ร้านตัดผมสมัยก่อน ตลาดขายของเย็บผ้า ให้เห็นเหมือนตลาดจริงๆ แม้ตลาดเก้าเลี้ยวในปัจจุบันยังคงมีกิจการของคนในตลาดที่ยังขายของอยู่ แต่ต่างจากเมื่อก่อน คนจีนน้อยลง ส่วนใหญ่ ทั้งจีนแคะ ไหหลำ แต้จิ๋ว ไหหลำมากที่สุด คนแก่เสียชีวิตไป ก็คนจีนน้อยลง ลูกหลานไปทำอย่างอื่น” พระครูสมุห์ดนัยให้ภาพของบ้านเก้าเลี้ยวที่แสดงให้เห็นความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในอดีต และเป็นสถานที่สำคัญในการแวะของผู้คนสมัยก่อนที่คมนาคมทางน้ำ “แม่น้ำปิงอยู่หน้าวัด ไหลมาจากตาก กำแพงเพชร เมื่อก่อนเป็นที่ค้าขาย สมัยก่อนมีเรือใหญ่ ลากทราย เรือแจว เรือหางยาว”

สภาพในพิพิธภัณฑ์ปัจจุบันเน้นการจัดกลุ่มวัตถุตามประเภทของวัตถุสิ่งของ เมื่อเข้าสู่อาคารพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์จะแบ่งได้เป็น 3 บริเวณสำคัญ ทางซ้ายมือของผู้ชมจะมีกลุ่มวัตถุสำคัญสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเครื่องมือและอุปกรณ์เก่าที่เคยเป็นของโรงพิมพ์ในจังหวัดนครสวรรค์ เจ้าของเดิมได้นำมาถวายไว้เป็นวัตถุพิพิธภัณฑ์ ในอีกส่วนหนึ่ง เป็นเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ จัดแสดงไว้ในตู้ไม้สำเร็จที่ซื้อมาเพื่อการจัดแสดงวัตถุที่ได้รับการบริจาค แต่เห็นจะแท่นรวมปืนหลายกระบอก ท่านเลขานุการเจ้าอาวาสขยายความไว้ว่า “เดิมทีคนเก้าเลี้ยวเคยเลี้ยงควายและขายเป็นสินค้า เมื่อต้องเดินทางออกไปต่างบ้านต่างเมืองจะต้องมีปืนไว้สักกระบอกเพื่อป้องกันภัยจากโจรผู้ร้าย”

ในบริเวณส่วนกลาง จัดแสดงเหมือนเป็นองค์ประธานในศาสนสถาน กลุ่มพระพุทธรูปจำนวนหลายสิบองค์ตั้งไว้บนแท่นบูชา ถัดจากนั้นเป็นเครื่องบริขารที่เคยเป็นของใช้ท่านพระครูนิติธรรมคุณ ในส่วนที่เหลือของบริเวณพิพิธภัณฑ์ เป็นข้าวของเครื่องใช้ที่ชาวบ้านได้นำมาถวาย ทั้งนาฬิกาแขวน เครื่องมือทางการเกษตร ถ้วยโถโอชาม แม้สภาพของพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันไม่มีรูปแบบการจัดแสดงใดๆ เป็นพิเศษ แต่ทางวัดเก่าเลี้ยวคงดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ทางวัดร่วมจัดงานกับเทศบาลตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ ร่วมจำลองสภาพของบ้านเก้าเลี้ยวเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นมายังบ้านเก้าเลี้ยว 16 สิงหาคม ร.ศ.125 หรือ พ.ศ. 2449 เป็นวาระครบ 110 ปีของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้น ท่านพระครูสมุห์ดนัยกล่าวไว้อย่างเป็นมั่นว่าจากนี้ไปการจัดงานเพื่อรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ดังกล่าวคงได้จัดทุกปี

นอกจากพิพิธภัณฑ์กาญจนาภิเษกแล้ว ภายในวัดเก้าเลี้ยวยังมีสถานที่สำคัญอีกหนึ่งแห่ง ได้แก่ อาคารพิพิธภัณฑ์บริขารและหุ่นขี้ผึ้งพระครูนิติธรรมคุณ ที่ทางวัดเก้าเลี้ยวและศิษยานุศิษย์ “หลวงพ่อหน่อง” ได้ร่วมจิตศรัทธาในการก่อสร้างไว้ยังกุฏเดิมของท่านพระครูนิติธรรมคุณ ภายในประกอบด้วยหุ่นขี้ผึ้งและรูปเคารพหลวงพ่อหน่อง รวมทั้งเครื่องบริขาร พัดยศ และประวัติของหลวงพ่อหน่องได้รับการนำเสนอไว้อย่างเรียบง่ายรายรอยผนังของกุฏิ พื้นที่ในส่วนกลางยังคงใช้เป็นสถานที่ทำวัตรเช้าเย็นของพระภิกษุ โดยยังประโยชน์มิใช่เพียงการรำลึกถึงอดีตพระครูที่มีคุณูปการต่อวัดเก้าเลี้ยว แต่ยังเพื่อกิจของวัตรปฏิบัติเพื่อสืบต่อพระศาสนา.

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559
ชื่อผู้แต่ง:
-