พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางพลัด


ที่อยู่:
โรงเรียนวัดเปาโรหิตย์ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 62 แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ
โทรศัพท์:
081-6499213 ติดต่อ คุณนฤพร
วันและเวลาทำการ:
จันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2561
ของเด่น:
ประวัติเจ้าพระยามุขมนตรี(อวบ เปาโรหิตย์)
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์เจ้าพระยามุขมนตรี

วัดเปาโรหิตย์ เดิมชื่อว่า วัดเกาะ เนื่องจากโดยรอบวัดมีลำคลองและคูน้ำล้อมรอบบรรจบกันทำให้วัดมีลักษณะคล้ายเกาะ  วัดเกาะไม่ปรากฎแน่ชัดว่าสร้างในสามยัใน หนังสือ “ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2” กล่าวว่า วัดนี้สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2367 ในสมัยรัชกาลที่ 3 สันนิษฐานว่าผู้สร้างวัดคงจะเป็นต้นตระกูลเปาโรหิตย์ คือ พระยามหาราชครูปุโรหิตาจารย์(บุญรอด เปาโรหิตย์) สอดคล้องกับหลักฐานด้านสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมที่สามารถเปรียบเทียบและกำหนดอายุได้ในราวสมัยรัชกาลที่ 3-4

วัดเปาโรหิตย์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จากบุตรหลานตระกูลเปาโรหิตย์มาโดยตลอด จากหลักฐานมีการสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิพระมหาราชครูปุโรหิตย์จารย์(บุญรอด เปาโรหิตย์) ในราวรัชกาลที่ 3-4 ต่อมาในรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2456 ท่านน้อย เปาโรหิตย์(มารดาเจ้าพระยามุขมนตรี) และเจ้าพระยามุขมนตรี(อวบ เปาโรหิตย์) ได้บูรณปฏิสังขร์อารามแห่งนี้อีกครั้ง ราว พ.ศ. 2472-2473และเนื่องจากวัดเกาะได้รับการอุปถัมภ์จากตระกูล “เปาโรหิตย์” ทางคณะสงฆ์จึงได้ประกาศเปลี่ยนนามวัดเสียใหม่เป็น “วัดเปาโรหิตย์” เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2471  กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2520

นอกจากบูรณะปฏิสังขรณ์วัดเปาโรหิตย์แล้ว เจ้าพระยามุขมนตรีปรารถนาจะสร้างโรงเรียนให้อยู่คู่กับวัด จึงมีการสร้างโรงเรียนขึ้น มีอาคารไม้สองหลัง หลักแรกให้ชื่อว่า “โรงเรียนท่านน้อย เปาโรหิตย์” แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2475 ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์  ส่วนอาคารไม้ติดกันอีกหลังชื่อ “หอเรียนเจ้าพระยามุขมนตรี” แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2477 ปัจจุบันโรงเรียนวัดเปาโรหิตย์สังกัดกรุงเทพมหานาคร สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษา

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางพลัด ได้ขอใช้พื้นที่อาคารของโรงเรียนวัดเปาโรหิตย์เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561

อาคารที่ตั้งพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารไม้สองชั้น ชั้นล่างจัดแสดงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเกี่ยวกับเขตบางพลัด ส่วนชั้นบนจัดแสดงเรื่องราวของเจ้าพระยามุขมนตรี(อวบ เปาโรหิตย์) ซึ่งข้าวของและเรื่องราวที่จัดแสดง รวมถึงเงินทุนในการทำพิพิธภัณฑ์ในส่วนชั้นบน ได้รับความอนุเคราะห์จากมูลนิธิท่านน้อย เปาโรหิตย์ และเจ้าพระยามุขมนตรี(อวบ เปาโรหิตย์) คุณนวลศิริ เปาโรหิตย์ ซึ่งเป็นหลานปู่ของเจ้าพระยามุขมนตรี  เป็นผู้ทำงานหลัก

เจ้าพระยามุขมนตรี(อวบ เปาโรหิตย์) เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2419 เป็นบุตรของขุนศรีธรรมราชและท่านน้อย รับราชการครั้งแรกเป็นเสมียนในกระทรวงยุติธรรม ต่อมาย้ายมากระทรวงมหาดไทย ทำราชการด้วยความอุตสาหะจึงได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว โดยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองด้วยวัยเพียง 23 ปี แล้วเลื่อนเป็นเจ้ากรมพลัมภังสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา ปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทย อุปราชมณฑลภาคอีสาน สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ และสมุหพระนครบาล  โดยได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามุขมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  เจ้าพระยามุขมนตรีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2476 สิริรวมอายุได้ 57 ปี
การจัดแสดงชั้นบนที่เป็นเรื่องราวของท่าน เริ่มจากห้องโถงกลาง จัดแสดงหุ่นขึ้ผึ้งเจ้าพระยามุขมนตรี ฉากหลังเป็นภาพวาดที่รวมเอาผลงานของท่านที่ทำให้ไว้ เช่น ภาพสะพานพระพุทธยอดฟ้า ภาพขณะเยี่ยมเยือนราษฎรเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนคราชสีมา เสาชิงช้า  สำคัญคือข้อความที่สื่อถึงบุคลิกภาพหรือตัวตนของท่านที่เป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์ เห็นประโยชน์ราชการเป็นสำคัญ ความว่า

“เขาจะย้ายเราไปที่ไหน ก็จงตั้งใจทำงานให้ดี จงเห็นประโยชน์ราชการเป็นใหญ่ อย่าเป็นประโยชน์ส่วนตัวใหญ่กว่าราชการ ทำตัวให้ราษฎรรักใคร่ และเป็นที่พึ่งของเราให้ได้ นี่คือความรักชาติที่แท้จริง”

หัวเรื่องการจัดแสดงจะแบ่งตามบุคลิกภาพและตัวตนของท่านคล้ายกับเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังเห็นคุณค่าของการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

ส่วนแรก“ข้าราชการ 3 แผ่นดิน”

เล่าถึงประวัติและการทำงานของท่านที่รับราชการตั้งแต่รัชกาลที่ 5, 6 และ 7  ท่านเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด “จากเสมียนสู่สมุหเทศาภิบาลมณฑล” คือเริ่มเข้ารับราชการเป็นเสมียนในกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่อายุ 16 ปี  ทำได้ 2 ปีเศษ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็นนายเวร กรมรับฟ้อง ต่อมาดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการมณฑลกรุงเก่า และเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ขณะมีอายุเพียง 23 ปี ถวายงานเป็นที่พอพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา อายุเพียง 32 ปี

“จากสมุหเทศาภิบาลมณฑล สู่อุปราชภาคอีสานและสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร” โดยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นอุปราชภาคอีสานและสมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรอีกตำแหน่งหนึ่ง ท่านได้พัฒนาภาคอีสานทั้งในเรื่องสาธารณสุข คมนาคม และสาธารณูปโภคให้ทันสมัย

“จากอุปราชภาคอีสาน ไปเป็นสมุหเทศาภิบาลพายัพ” รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าแต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลพายัพ ในคราวนั้นท่านได้เป็นผู้จัดการรับรองการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและพายัพในปี พ.ศ. 2469

การเล่าเรื่องเป็นลักษณะป้ายอิงค์เจ็ทผสมกับการจัดแสดงภายถ่ายเก่าของท่านในเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่ง เช่น ภาพบรรยากาศที่เจ้าพระยามุขมนตรีจัดการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวเสด็จประพาสมณฑลพายัพ นอกจากนี้ยังจัดแสดงข้าวของส่วนตัว ที่ได้รับการอนุเคราะห์จากบุตรหลาน ที่สำคัญคือ แว่นเวียนเทียน(สำหรับงานพิธี) เหรียญตราที่ได้รับ

จากนั้นจะมีแอนิเมชั่น ความยาว 5 นาที เป็นการย่นย่อประวัติของเจ้าพระยามุขมนตรีให้ผู้เยี่ยมชมได้รู้จักท่านมากขึ้น โดยเล่าเรื่องผ่านตัวการ์ตูนชื่อเด็กหญิง “นวล” ซึ่งเป็นตัวแทนที่จะเล่าประวัติเจ้าคุณปู่ นอกจากประวัติแล้วการเล่ายังแฝงเนื้อหาที่เป็นการปลูกฝังเยาวชนรุ่นหลังให้มีความกตัญญู ขยันหมั่นเพียง ใฝ่รู้ ซื่อสัตย์สุจริต ดังที่ท่านอวบทำ ท่านจึงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ผู้คนเคารพรักนับถือ

ส่วนที่สอง “สัตย์ซื่อถือภักดี”

นอกจากการทำงานเต็มความสามารถและจงรักภักดีกับราชการถึง 3 รัชกาลแล้ว ส่วนจัดแสดงนี้เน้นไปที่ที่มาของตัวตนและบุคลิกภาพของท่าน ที่ได้รับการปลูกฝังอบรมจากมารดา ท่านมีความกตัญญูต่อมารดา ความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดี อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา “ท่านน้อย” มารดาของเจ้าพระยามุขมนตรี เป็นที่รักและเคารพของท่านอย่างมาก มีการจัดแสดงภาพวาดสีน้ำมันของท่านน้อยฝีมือจิตรกรชาวญี่ปุ่น และคำปฏิญาณตนต่อท่านน้อย 10 ประการ อาทิ 1. ถ้าคุณแม่จะตักเตือนว่ากล่าวเฆี่ยนตีด้วยเหตุสิ่งใดๆ ก็ดี จักไม่ถุ้งเถียง หรือต่อสู้เลยเป็นอันขาด 2. จักไม่ใช้วานคุณแม่ให้หยิบหรือทำสิ่งใดให้เลยแม้จะเป็นของอย่างเบาที่สุดก็ดี 3. ถ้อยคำที่จะพูดกับคุณแม่ ถ้าเป็นคำอันไม่สุภาพหรือรู้ว่าคำนั้นกล่าวขึ้นแล้วจะเป็นที่ไม่พึงใจของคุณแม่ จักไม่กล่าวคำนั้นเลย เป็นต้น

นอกจากนี้จะมีจอทัชสกีน(touch screen) เป็นจดหมายเหตุย่อยๆ ให้ผู้ชมทดลองอ่าน หรือค้นคว้าเกี่ยวกับเอกสาร จดหมาย และบันทึกการทำงานของท่าน ซึ่งสะท้อนตัวตนของท่านอวบ เปาโรหิตย์อย่างชัดเจน  ว่าท่านเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดี มีเมตตาอารี คอยตักเตือนสั่งสอน

มีตู้จัดแสดงข้าวของส่วนตัวต่างๆ  เช่น สมุดบันทึกจดหมายที่เขียนในวาระต่างๆ  เครื่องถ้วยน้ำชากระเบื้อง ผ้าเช็ดปาก ช้อนส้อม โถน้ำอบ สำเนาพระราชหัตถเลขาพระราชทานนามสกุล หมอนท่านน้อย  ภาพคุณศรีศุกร์ เปาโรหิตย์ บุตรชายคนโต คำอวยพรจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(เจริญ ญาณวโร) และพระมหาเมฆเนื่องในโฮกาสที่ได้รับพระราชทานเป็นเจ้าพระยา ภาพถ่ายท่านสวมชุดพระยายืนชิงช้า รูปงานศพเจ้าพระยามุขมนตรีกับโกศได้รับพระราชทาน

ส่วนที่สาม “ผู้ทุ่มเทและอุทิศตน”

นำเสนอเกี่ยวกับผลงานชิ้นสำคัญของท่าน ได้แก่ งานสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ลำพูน การสร้างเรือนจำบางขวาง งานหาทุนสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า การพิมพ์หนังสือประชุมจารึกสยามภาคที่ 1 จารึกสุโขทัย หนังสือรายงานประชุมเทศาภิบาล และหนังสือเสด็จพระราชดำเนิรเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ

จุดเด่นของส่วนนี้คือการนำเสนอตำแหน่งสำคัญของท่านคือ “พระยายืนชิงช้า” โดยจัดแสดงในรูปแบบ ghost box อธิบายความสำคัญของพระยายืนชิงช้า และพิธีโล้ชิงช้า ซึ่งรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ท่านอวบ เปาโรหิตย์ เป็นพระยายืนชิงช้า ในพระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย เพื่อแสดงความขอบคุณต่อเทพเจ้าบันดาลให้การเพาะปลูกได้ผลดี พระยายืนชิงช้าเป็นการรับบทบาทสมมติเป็นพระอิศวรมาเยือนโลกเพื่อทรงประทานพร

ส่วนชั้นล่าง จัดแสดงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเขตบางพลัด วัดสำคัญ และมรดกวัฒนธรรมสำคัญ โดยกรุงเทพมหานครเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณและการจัดทำนิทรรศการ การจัดแสดงเป็นลักษณะนิทรรศการประกอบข้าวของจำลอง  โดยเล่าถึง “วันวานบางพลัด” ที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำ และการทำสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ลิ้นจี่ หมากพลู  เงาพันธุ์บางยี่ขันถือว่าขึ้นชื่อ  ชาวบ้านในอดีตยังมีอาชีพที่ค่อยๆ เลือนหายในปัจจุบัน นั่นคือ การทำปูนกินหมาก การทำเตาอั้งโล้ ของชาวบางยี่ขัน อาชีพค้าไม้ซุงของชาวมุสลิมบางอ้อ

นอกจากยังบางพลัดยังเคยเป็นที่ตั้งของวัง วัด บ้านคหบดี อาทิ วังบางยี่ขัน ที่เหลือแต่ซากกำแพงเก่าตรงสะพานพระราม 8 สันนิษฐานว่าเป็นวังเจ้าอนุวงศ์   วังพระองค์เจ้าพร้อมพงศ์อธิราช (วังบางจาก) โรงงานสุราบางยี่ขันโรงเหล้าที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 1 ศาลาโรงธรรมบ้านปูนเป็นศาลาโรงธรรมโบราณเพียงหลังเดียวในกรุงเทพมหานคร มัสยิดบางอ้อที่งดงามมีสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเขตบางพลัด อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันคุณนฤพร พานิชการ ซึ่งเป็นคนชาวบางพลัดโดยกำเนิด รับหน้าที่ดูแลต้อนรับและเป็นผู้นำชม ซึ่งเธอสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่บางพลัดได้เป็นอย่างดี ผู้สนใจเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ เพื่อความสะดวกกรุณาติดต่อล่วงหน้า

ปณิตา สระวาสี เขียน

ข้อมูลจาก:
สำรวจภาคสนามวันที่ 4 มิถุนายน 2561
นวลศิริ เปาโรหิตย. 2560. เจ้าพระยามุขมนตรี(อวบ เปาโรหิตย์). กรุงเทพฯ: มูลนิธิท่านน้อยเปาโรหิตย์ และเจ้าพระยามุขมนตรี(อวบ เปาโรหิตย์).
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-