พิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์


พิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์ ก่อตั้งโดยกรุงเทพมหานคร โดยการออกแบบอาคารเสรีไทยอนุสรณ์จำลองมาจากทำเนียบท่าช้าง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเคยเป็นกองบัญชาการเสรีไทย ภายในนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับการวางแผน การดำเนินการทางการทูต ปฏิบัติการใต้ดิน และยังนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยผ่านวัตถุในสมัยนั้นซึ่งรวบรวมไว้ภายในห้องจัดแสดงสิ่งของ ได้แก่ ใบปลิวต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ดาบซามูไรของนายทหารญี่ปุ่น วิทยุของคุณจำกัด พลางกูร ผู้แทนขบวนการเสรีไทยผู้เดินทางไปเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประเทศจีนและไปเสียชีวิตที่นั่น ร่มที่ใช้กระโดดจากเครื่องบิน ภาพลายเส้นการกระโดดร่ม โดยหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ และโปสการ์ดที่ทหารสัมพันธมิตรเขียนมาขอบคุณคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือระหว่างสงคราม จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือวีรกรรมของเสรีไทย และบทสัมภาษณ์ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คู่ชีวิตของปรีดี พนมยงค์

ที่อยู่:
สวนเสรีไทย(สวนบึงกุ่ม) ถ.เสรีไทย ซอย 53 เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์:
0-2374-6700
วันและเวลาทำการ:
วันอังคาร-ศุกร์ และอาทิตย์ เวลา 10.00-16.00 สำหรับบุคคลทั่วไป และเวลา 14.00-16.00 น.สำหรับเข้าชมเป็นหมู่คณะ (โปรดติดต่อล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2545

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

(จะ) มีอะไรใน พิพิธภัณฑ์เสรีไทย

ชื่อผู้แต่ง: ธนาพล อิ๋วสกุล | ปีที่พิมพ์: ฉบับที่ 7 (มิ.ย.2546 - พ.ค. 2547)

ที่มา: จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

พิพิธภัณฑ์เสรีไทย

ชื่อผู้แต่ง: สุเมธ เน่าบู่ | ปีที่พิมพ์: 2544

ที่มา: สถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แหล่งค้นคว้า: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ร่วมกู้ชาติที่ "พิพิธภัณฑ์เสรีไทย"

ชื่อผู้แต่ง: หนุ่มลูกทุ่ง | ปีที่พิมพ์: 18 พ.ค. 2553;18-05-2010

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 11 กุมภาพันธ์ 2557


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์

“ญี่ปุ่นมันเคลื่อนที่แปลก วิ่งขึ้นมาเป็นแถวขบวน แถวหน้ากระดานมา วิ่งแล้วหมอบ วิ่งแล้วหมอบ พอหมอบแล้วหาที่กำบัง พอมันจะหาที่หมายต้องกระโดดออกมา เราก็ยิงมัน ในที่สุดถึงตัวกันถึงขั้นตะลุมบอน คนไหนที่ถึงตัวก็ใช้ดาบปลายปืน ไม่ใช้ปืนแล้วทีนี้” 

ข้อความนี้ ร.ท.พิชิต สมภู่ อดีตทหารค่ายวชิราวุธ จ.นครศรีธรรมราช เล่าถึงเหตุการณ์ยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่นเข้าสู่ประเทศไทยตามจุดต่างๆทางภาคใต้ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2484 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นข้อความที่ปรากฏในนิทรรศการห้องแรกของพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์ ซึ่งเกริ่นถึงเหตุการณ์สำคัญในสงครามครั้งนั้นในส่วนที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยและบทบาทของรัฐบาลไทย

เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2482 ประเทศไทยประกาศวางตัวเป็นกลาง ครั้นถึงพ.ศ.2484 สถานการณ์เริ่มเข้มข้นขึ้น ญี่ปุ่นเจรจาขอให้กองทัพเดินทัพผ่านประเทศไทยเพื่อไปโจมตี พม่า มลายู และสิงคโปร์ แต่รัฐบาลไทยซึ่งนำโดย จอมพล ป. พิบูลสงครามปฏิเสธ ญี่ปุ่นจึงส่งทหารหลายหมื่นนายขึ้นบกตามจุดต่างๆ ตั้งแต่ประจบคีรีขันธ์ถึงปัตตานี ทหาร ตำรวจ และประชาชนไทยได้พยายามต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น แต่สู้ไม่ไหวเพราะกำลังมีน้อยกว่ามาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงจำต้องยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยไว้ แต่นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย จึงจัดตั้งองค์การใต้ดินเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น นั่นคือ “ขบวนการเสรีไทย” 

ขบวนการเสรีไทยไม่ได้มีเพียงคนไทยในประเทศเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยข้าราชการไทยและนักเรียนไทยในอเมริกาและอังกฤษรวมตัวกันและเข้ารับการฝึกการรบใต้ดิน งานจารกรรม และก่อวินาศกรรมจากทหารของประเทศทั้งสอง เสรีไทยทั้งสองสายถูกส่งเข้าไปปฏิบัติการและประสานกับเสรีไทยในประเทศผ่านทางประเทศจีนและอินเดีย เข้ามาทางเรือดำน้ำของฝ่ายสัมพันธมิตรบ้าง มาทางเครื่องบินทะเล หรือกระโดดร่มลงมาบริเวณจังหวัดต่างๆ การเล็ดลอดเข้าประเทศไทยมีความเสี่ยงอย่างมาก เสรีไทยที่กลับเข้ามารุ่นแรกถูกยิงตายหนึ่งคน ที่เหลือถูกตำรวจจับ โชคดีว่าอธิบดีตำรวจในขณะนั้นต่อมาเข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยในช่วงหลังของปีพ.ศ.2487 ระหว่างนั้นกองบัญชาการเสรีไทยในกรุงเทพฯ นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ สามารถติดต่อทางวิทยุโดยตรงกับทหารสูงสุดของกองบัญชาการฝ่ายสัมพันธมิตรภายใต้การนำของพล.ร.อ. ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตแตน (Lord Louis Mountbattan) ที่เกาะลังกาได้ ต่อมาจึงประสานงานลอบส่งนายทหารอเมริกันและอังกฤษเข้ามาในกรุงเทพฯ และส่งเสรีไทยในประเทศไปฝึกที่อินเดียและลังกา

ในช่วงปลายสงคราม กองทัพญี่ปุ่นเริ่มพ่ายแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2488 นายปรีดีแจ้งแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรว่าไทยพร้อมจะสู้กับทหารญี่ปุ่น และยกเลิกสนธิสัญญาและข้อตกลงทั้งหมดที่ทำไว้กับญี่ปุ่น แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรบอกให้รอก่อนเพื่อปฏิบัติการร่วมกัน จนญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามเพราะถูกอเมริกาถล่มด้วยระเบิดปรมาณูสองลูก ขบวนการเสรีไทยจึงไม่มีโอกาสได้รบอย่างเปิดเผยกับกองทัพญี่ปุ่น

นอกจากเรื่องราวการวางแผน การดำเนินการทางการทูต และปฏิบัติการใต้ดินแล้วทางพิพิธภัณฑ์ยังนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยผ่านวัตถุในสมัยนั้นซึ่งรวบรวมไว้ภายในห้องจัดแสดงสิ่งของ ได้แก่ ใบปลิวต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น ดาบซามูไรของนายทหารญี่ปุ่น วิทยุของคุณจำกัด พลางกูร ผู้แทนขบวนการเสรีไทยผู้เดินทางไปเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประเทศจีนและไปเสียชีวิตที่นั่น ร่มที่ใช้กระโดดจากเครื่องบิน ภาพลายเส้นการกระโดดร่ม โดยหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ และโปสการ์ดที่ทหารสัมพันธมิตรเขียนมาขอบคุณคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือระหว่างสงคราม เป็นต้น

ด้านหลังของอาคารชั้นที่สอง เล่าเรื่องการวางแผนของขบวนการเสรีไทย มีห้องจำลองการวางแผนที่ทำเนียบท่าช้างซึ่งเป็นที่พำนักของนายปรีดี พนมยงค์ และกองบัญชาการของขบวนการเสรีไทย ด้านข้างมีแผนที่แสดงจุดยุทธศาสตร์ของเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน เช่น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บ้านมะลิวัลย์ และโรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

ส่วนต่อมาคือห้องปรีดีอนุสรณ์ นำเสนอประวัติและผลงานของปรีดี พนมยงค์ ผู้นำขบวนการเสรีไทยจนบรรลุเป้าหมาย แนวความคิดก้าวหน้าและคุณความดีของท่านทำให้ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยองค์การยูเนสโกในปีพ.ศ.2543 ชีวิตของท่านต้องเผชิญมรสุมทางการเมืองหลายครั้งจนในที่สุดต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ สำหรับเอกสารสำคัญที่จัดแสดงคือคือสำเนา”ประกาศสันติภาพ” ที่นายปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 8 ประกาศให้สงครามต่ออังกฤษและอเมริกาเป็นโมฆะ ส่วนตัวอย่างวัตถุจัดแสดงในห้องนี้มีหนังสือที่ท่านเขียน และดาบซามูไรที่ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตแตนมอบให้เป็นที่ระลึก 

ห้องแรกของชั้นที่สามเล่าเรื่องการปฏิบัติการเสรีไทย บริเวณกลางห้องมีแผนที่แสดงพื้นที่และวิธีการที่เสรีไทยแต่ละกลุ่มลักลอบเข้าประไทยตามจังหวัดต่างๆ ด้านหนึ่งมีวีดิทัศน์เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีเครื่องปั่นไฟสมัยสงครามที่ใช้สำหรับวิทยุสื่อสาร ส่วนอีกมุมหนึ่งเป็นกล้องเรือดำน้ำ ห้องต่อมากล่าวถึงผลสำเร็จของขบวนการเสรีไทย ซึ่งทำให้ประเทศไทยไม่เป็นผู้แพ้สงคราม รัฐบาลไทยไม่ต้องยอมจำนน กองทัพไทยไม่ต้องวางอาวุธ และดินแดนไทยไม่ต้องถูกยึดครอง อย่างไรก็ตามไทยต้องชดเชยค่าเสียหายแก่อังกฤษด้วยข้าวจำนวน1.5 ล้านตัน และชดเชยเงินค่าทางรถไฟสายพม่า ส่วนบริเวณกลางห้องมีเสาเหลี่ยมประกอบจากกระจก บนพื้นผิวกระจกมีลายมือชื่อของเหล่าผู้ร่วมขบวนการเสรีไทย เมื่อเดินออกจากห้องนี้ไปทางด้านหลัง ที่ปรากฏบนผนังเป็นกลุ่มภาพบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น

บนชั้นนี้มีห้องสารสนเทศเสรีไทย รวบรวมหนังสือ เทปบันทึกภาพ และภาพยนตร์ที่บรรจุเรื่องราวเกี่ยวกับเสรีไทยไว้ มีโต๊ะเก้าอี้ให้นั่งค้นคว้าหาข้อมูลได้

การออกแบบอาคารเสรีไทยอนุสรณ์จำลองมาจากทำเนียบท่าช้าง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเคยเป็นกองบัญชาการเสรีไทย ส่วนการออกแบบจัดแสดงนิทรรศการภายในถือว่าทำได้ดีทั้งการจัดองค์ประกอบศิลป์ และโทนสีที่ใช้ มีการผสมผสานความเก่าและใหม่ทำให้บรรยากาศยังไม่ถึงกับหลุดไปจากยุคปัจจุบันเพราะความจริงเหตุการณ์ก็เพิ่งผ่านไปไม่นาน และที่สำคัญคือการนำบทสัมภาษณ์ของผู้ที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์มาร่มจัดแสดงช่วยทำให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิตขึ้นมา

คุณอนันต์ เฮงสุวรรณ บรรณารักษ์อาคารเสรีไทยอนุสรณ์กล่าวว่า จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือวีรกรรมของเสรีไทย และบทสัมภาษณ์ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ คู่ชีวิตของปรีดี พนมยงค์ สำหรับผู้ชมส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในท้องถิ่น ส่วนหนึ่งเป็นคนที่มาพักผ่อนหรือออกกำลังกายในสวน การเข้าชมเป็นหมู่คณะกรุณาติดต่อล่วงหน้า 

จากสมุดเซ็นเยี่ยมของพิพิธภัณฑ์ ชาวอังกฤษคนหนึ่งซึ่งเป็นคนในยุคสงครามโลกครั้งที่2 เขียนไว้ว่าเขาไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีขบวนการเสรีไทย และคนไทยคอยช่วยเหลือเชลยฝ่ายสัมพันธมิตร เห็นได้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ช่วยให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจบทบาทและความมีน้ำใจของคนไทยในสมัยนั้นมากขึ้น 

นอกจากนั้นยังมีอีกข้อความหนึ่งที่เรียบง่ายแต่กินใจ เขียนไว้ว่า “กระผม นายไพบูลย์ กนกพงษ์ พลพรรคเสรีไทย อุบลราชธานี ได้มาเยี่ยมพิพิธภัณฑ์เสรีไทย กระผมมีความรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้กลับมาที่นี่ ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่มีความรักชาติ...”

เรื่อง/ภาพ เกสรา จาติกวนิช

ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม : 14 พฤษภาคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-

ร่วมกู้ชาติที่ "พิพิธภัณฑ์เสรีไทย"

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ.2482 ประเทศไทยประกาศวางตัวเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ครั้นถึงพ.ศ.2484 สถานการณ์เริ่มเข้มข้นขึ้น ญี่ปุ่นเจรจาขอให้กองทัพเดินทัพผ่านประเทศไทยเพื่อไปโจมตี พม่า มลายู และสิงคโปร์ แต่รัฐบาลไทยซึ่งนำโดย จอมพล ป. พิบูลสงครามปฏิเสธ ญี่ปุ่นจึงส่งทหารหลายหมื่นนายขึ้นบกตามจุดต่างๆ ตั้งแต่ประจบคีรีขันธ์ถึงปัตตานี ทหาร ตำรวจ และประชาชนไทยได้พยายามต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น แต่สู้ไม่ไหวเพราะกำลังมีน้อยกว่ามาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงจำต้องยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยไว้
ชื่อผู้แต่ง:
-