ที่อยู่:
อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี 270 ถนนพระราม 6 แขวงพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400
โทรศัพท์:
0-2201-1280, 0-2201-1290, 0-2201-2339, 0-2201-1738
วันและเวลาทำการ:
จันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
lira@mahidol.ac.th, kriangsak.boo@mahidol.ac.th
ของเด่น:
ประวัติและพัฒนาการของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2556 วันพิพิธภัณฑ์ไทยที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมงานวันพิพิธภัณฑ์ไทย ที่จัดขึ้น ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี และถือโอกาสได้ขึ้นไปชม “หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี” ที่ตั้งอยู่ชั้น 2 ของอาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นหน่วยงานของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแสดงประวัติและพัฒนาการของรามาธิบดีรูปแบบการจัดแสดงของหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี ถูกจัดอยู่ในพื้นที่ที่จำกัดของส่วนห้องสมุด จัดแสดงในรูปแบบของนิทรรศการถาวรและทีวีจอสัมผัส เพื่อสะดวกต่อผู้ที่เข้ามาชมด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีผู้นำชมก็สามารถเดินชมเองได้
เนื้อหาการจัดแสดงของหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี แบ่งออกเป็นหัวข้อคร่าวๆ ดังนี้
ส่วนแรก “พระบารมีคุ้มเกล้ารามาธิบดี” นำเสนอพระราชกรณียกิจของพระราชวงศ์ไทยที่เกี่ยวข้องกับรามาธิบดี คุณเกรียงศักดิ์ บุญถวิล ผู้นำชม ได้เริ่มเล่าประกอบกับการภาพถ่ายที่จัดแสดงว่า ในวันที่ 25 มิถุนายน 2508 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อ คณะแพทย์และโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า “รามาธิบดี” และในวันที่ 30 ธันวาคม 2508 เวลา 10.15 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์ อาคารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งได้จัดแสดงม้วนฟิล์มภาพยนตร์ ขนาด 16 มม. ที่บันทึกเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และได้ให้ทางหอภาพยนตร์จัดทำเป็นไฟล์ดิจิทัลขึ้นมาแล้ว นอกจากนี้ยังจัดแสดงวัตถุที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิ เกรียงเงินที่ทรงใช้ตักปูนซีนเมนต์ โถเงินสำหรับใส่ปูนซีเมนต์ เหรียญสตางค์ ที่ใช้ประกอบพิธีฯ แบบจำลองปรมาภิไธยที่ลงจารึกลงบนแผ่นทองแดง และปากกาทรงจารึก
ส่วนต่อมา “อดีต ปัจจุบัน รามาธิบดี” นำเสนอข้อมูลของเรื่องราวทางด้านการบริหารจัดการรามาธิบดีร้อยเรียงประวัติของคณะแพทยศาสตร์ตั้งแต่การก่อสร้างจนถึงปัจจุบัน จัดแสดงจุลสารทางยาฉบับแรกของฝ่ายเภสัชกรรม คือจุลสารปีที่ 1 ฉบับที่ 1 กรกฎาคม – สิงหาคม 2531จุลสารนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่เรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับยา ข่าวสารจากห้องยาและข้อมูลของยา ซึ่งคณะกรรมการห้องยาได้พิจารณานำเข้าหรือตัดออกจากบัญชียาของโรงพยาบาล สมุดเยี่ยมชมหน่วยงานที่เก่าแก่ที่สุดของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นของแผนกเวชทะเบียน สมุดต้นฉบับแบบร่างตราสัญลักษณ์รามาธิบดี “ร” เป็นสมุดของคุณวนัปติ แสงโสภิต (เดิมชื่อ สุรพล) นักวิชาการโสตทัศน์ศึกษา ภาควิชาพยาธิวิทยา ที่ชนะการประกวดการออกแบบตราสัญลักษณ์ในปี 2540 แสดงให้เห็นถึงความมุมานะและพยายามของผู้ออกแบบ ซึ่งถือว่าสมุดเล่มนี้คือจุดเริ่มต้นของอัตลักษณ์ความเป็นรามาธิบดีที่น่าภูมิใจ
บัตรประจำตัวบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในสมัยต่างๆ แบ่งตามวาระคณบดี เวชทะเบียนผู้ป่วยเล่มแรก กระดุมเสื้อของนักเรียนศิริราชพยาบาล หัวเข็มขัดที่นักศึกษาแพทย์รามาธิบดีรุ่น 1 ทำขึ้นเพื่อใช้กันเองในรุ่น หนังสือแถลงการณ์การศึกษา พ.ศ. 2497 – 2509 เนื้อหาภายในเล่ม มีภาพของเครื่องแบบนักศึกษาที่ถูกต้องตามระเบียบของมหาวิทยาลัยมหิดล ตะเกียงเซรามิก เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกให้นักศึกษาพยาบาลรุ่นน้องได้สืบทอดเจตนารมย์การเป็นพยาบาลที่ดีในอนาคต ระหว่างส่งมอบตะเกียง ทั้งผู้ให้และผู้รับต้องท่องคำปฏิญาณด้วย ภาพถ่ายทางอากาศของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ถ่ายเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2536 ถ่ายโดยกรมแผนที่ทหาร
นอกจากนี้ ได้จัดแสดงจดหมายเหตุบันทึกโน้ตเพลงสถาบันรามาธิบดีเป็นกระดาษบันทึกโน้ตเพลงต้นฉบับลายมือ “ศ.นพ.วราวุธ สุมาวงศ์” ในชื่อที่ใช้ในการแต่งเพลงว่า “วราห์ วรเวช”เพลงแม่รามาที่รักยิ่งและเพลงรามาปณิธาน และจัดแสดงสื่อการสอนของ ศ.นพ.วิทูร โอสถานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา เป็นฟิล์มภาพยนตร์ขนาด 16 มม. เรื่อง Minilaparotomy for female sterilization เป็นการทำหมันแห้งและเป็นเสียงภาษาอังกฤษในฟิล์ม ซึ่งเป็นที่สนใจของสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตำรายาเตรียมเฉพาะคราว เนื่องจากสมัยก่อนยาสำเร็จรูปที่ผลิตยังมีไม่มาก จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมยาใช้เอง
หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี ยังมีสิ่งที่น่าสนใจให้เรียนรู้อีกมากมาย ทั้งเรื่องเล่าจากวัตถุและบุคคลในประวัติศาสตร์ของรามาธิบดี ข้อมูลเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจบุคคลรามาธิบดีงานวิจัยและตำรารามาธิบดีรวมถึงการให้บริการข้อมูลประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข วิทยาศาสตร์สุขภาพสาขาต่างๆ ของไทยของห้องสมุดด้วย สามารถเข้ามาชมและหาความรู้ได้ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.30 – 16.30 น.
วริสรา แสงอัมพรไชย / เขียน
ข้อมูลจาก :
การสำรวจภาคสนาม วันที่ 19 สิงหาคม 2556
เอกสารแนะนำหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี
http://library.ra.mahidol.ac.th/ram/[Accessed 13/03/2014]
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ประวัติบุคคล จดหมายเหตุ รามาธิบดี นิทรรศการเสมือนจริง ศาลกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หอเกียรติยศ
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์การพยาบาลไทย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จ. กรุงเทพมหานคร
บ้านพิพิธภัณฑ์
จ. กรุงเทพมหานคร