พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ทางสัตวแพทย์


พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ทางสัตวแพทย์ ก่อตั้งโดยภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยสาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อทำสื่อสำหรับการเรียนการสอนในคณะ โดยการเตรียมตัวอย่าง (specimen) ของสัตว์ขึ้น การจัดแสดงแบ่งเป็น 7 โซน คือ 1.การเก็บตัวอย่างเพื่อคงสภาพแบบทั้งตัว 2.การเก็บรักษาคงสภาพแบบบางส่วนของลำตัว 3.การเก็บตัวอย่างเพื่อคงสภาพโดยวิธีการกำซาบด้วยสารพลาสติก 4.การเก็บตัวอย่างเพื่อคงสภาพโครงสร้างของหลอดเลือดภายในอวัยวะที่ต้องการศึกษา 5.การเก็บตัวอย่างเพื่อคงสภาพโดยแช่ในน้ำยา formalin 6.การเก็บตัวอย่างคงสภาพโดยวิธี Dry specimen 7.กลุ่มที่จัดแสดงสื่อการสอนประเภทหุ่นจำลอง

ที่อยู่:
คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์:
0-2579-7539 0-2579-0058
วันและเวลาทำการ:
เปิดเข้าชมในวันเวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

หุ่นจำลองยางพารา:สิ่งประดิษฐ์ สื่อการศึกษา สร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมการส่งออก

ชื่อผู้แต่ง: อภินันท์ สุประเสริฐ | ปีที่พิมพ์: มปป.

ที่มา: กรุงเทพฯ:คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ทางสัตวแพทย์

จากผิวกายลึกลงไปยังชั้นผิวหนัง กะโหลกศรีษะ โครงกระดูก เส้นเลือด หัวใจ ปอด ตับ ไต กระเพาะอาหาร ลำไส้ อวัยวะแต่ละส่วนคือหนึ่งในกลไกเมื่อมารวมกันได้สร้างมหัศจรรย์ที่เรียกว่าชีวิต ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์ทางสัตวแพทย์ และสถานที่ผลิตหุ่นจำลองยางพารา สื่อการสอนทำมาจากยางพารา ผลงานประดิษฐ์ชั้นเยี่ยมของคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ภายในรั้วของมหาวิทยาลัย ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ที่แทรกสลับกับอาคารต่างๆ ขุมทรัพย์แห่งการเรียนรู้ได้ปรากฏอยู่ที่นี่อย่างมั่นคงและยาวนาน ห้องพิพิธภัณฑ์สามารถมองเห็นได้ง่ายเพราะอยู่ชั้นล่างของตึกคณะสัตวแพทย์ เพียงแค่เดินเข้าไปใกล้ สายตาเราจะได้เห็นโครงกระดูกของสัตว์หลายชนิดยืนเรียงรายกันทั่วทั้งห้อง

ผู้ที่ให้เกียรตินำชมคือ รศ.สพ.ญ.พ.อ.หญิง มาลีวรรณ เหลี่ยมศิริเจริญ หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ อาจารย์ได้เริ่มอธิบายถึงโครงกระดูกที่ยืนเรียงรายกันภายในห้อง โครงกระดูกเหล่านี้คือ ช้าง ม้า วัว ควาย หมู อูฐ นกกระจอกเทศ การจัดให้ยืนเรียงกัน เพื่อให้เปรียบเทียบกับของคนว่ามีอะไรคล้ายกันหรือต่างกันอย่างไร เราจะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันจะต่างกันตรงเท้าที่เป็นกีบ กีบคู่หรือกีบเดี่ยวขึ้นอยู่กับชนิดของสัตว์ สัตว์เหล่านี้ได้มาจากการบริจาค อย่างอูฐมาจากสวนสัตว์ ในการจะได้โครงกระดูกได้ครบถ้วนสมบูรณ์ วิธีการนำสัตว์ไปฝังทรายจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด 

อาจารย์ยกตัวอย่างของโครงกระดูกช้างที่กำลังต่อกันอยู่ อันดับแรกก่อนที่จะนำซากช้างไปฝังทรายจะต้องเอาเนื้อออกก่อนให้มากที่สุด การฝังอยู่ในทรายต้องใช้เวลาเป็นปี ต้องรอจนเนื้อย่อยสลายไป ในการฝังดินเนื้อก็จะย่อยสลายเหมือนกันแต่เมื่อขุดขึ้นมากระดูกจะดำ และกระดูกบางชิ้นจะหายไป ทางที่ดีถ้าเป็นไปได้ ข้อแนะนำสำหรับการบริจาคโครงกระดูกสัตว์ ส่วนที่เป็นขาหน้าขาหลังให้ใส่ตะแกรง เพื่อให้รู้ว่าอันไหนเป็นขาหน้าขาหลัง ขาซ้ายหรือขวา เวลาขุดขึ้นมาจะได้ไม่ปนกัน โครงกระดูกช้างส่วนที่ต่อยากมากคือส่วนของข้อเท้า เพราะจะมีชิ้นเล็กๆ เต็มไปหมด นอกจากโครงกระดูกสัตว์ ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีการเก็บตัวอย่างด้วยวิธีอื่นได้แก่ การสตัฟฟ์ การดองโดยแช่น้ำยาฟอมาลีน การทำแห้ง ตัวอย่างอวัยวะสัตว์จากการคงสภาพโครงสร้างหลอดเลือดภายในอวัยวะภายในที่ต้องการศึกษาโดยวิธี Corrosion Technique การคงสภาพโดยวิธี Plastination Technique (การกำซาบด้วยสารพลาสติก) 

กรณีของสัตว์ที่สตัฟฟ์ จะต้องเอาอวัยวะภายในออกหมด แล้วก็ใส่พวกสำลีเข้าไป ที่เห็นอยู่ในตู้ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์มีสัตว์ที่เจริญผิดปกติอย่างเช่น วัว 2 หัว ลูกวัว 7 ขา

ในการเดินชมสิ่งที่มีสีแดงสีเหลืองสะดุดตาและเป็นแขนงคล้ายรากไม้หรือปะการัง อันนั้นคือการคงสภาพโครงสร้างของหลอดเลือดโดยวิธี Corrosion technique วิธีการทำก็คือ นำเรซิ่นผสมสีฉีดเข้าไปในเส้นเลือดหรือท่อของอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด ตับ หัวใจ เป็นต้น จากนั้นนำเอาอวัยวะไปย่อยให้เหลือเฉพาะเรซิ่น เราก็จะเห็นรายละเอียดของแขนงและการกระจายของเส้นเลือดและท่อในอวัยวะต่างๆ ที่เห็นอยู่ในตู้กระจกด้านหน้ามีเส้นเลือดสีแดงของลูกสุนัขทั้งตัวอายุประมาณ 2 เดือน ทำโดยฉีดเรซิ่นเข้าไปในเส้นเลือดใหญ่ แล้วเอาไปย่อย จะเห็นเส้นเลือดทั้งหมด ในการเคลื่อนย้ายต้องระมัดระวังเพราะเส้นเลือดจะแข็งและเปราะ ส่วนที่เป็นแต่ละอวัยวะคือ ไตช้าง เห็นกรวยไตที่เป็นท่อนำปัสสาวะ และจะเห็นกระทั่งเส้นเล็กๆ ถ้าเป็นปอดของวัวก็จะเห็นกิ่งปอด ดูแล้วเหมือนดอกไม้

อีกวิธีการหนึ่งของการคงสภาพคือวิธี Plastination technique (การกำซาบด้วยสารพลาสติก) วิธีนี้จะอยู่ได้นานนับสิบปี และมีราคาแพง ชิ้นหนึ่งราคาเป็นหมื่น จะมีสมอง เส้นเลือด กรวยไต 

ถ้าเป็นเด็กๆ เข้ามาข้างในนี้ สิ่งที่ดึงความสนใจน่าจะเป็นไดโนเสาร์ และจระเข้ที่นอนอยู่ใกล้กัน อาจารย์มาลีวรรณบอกให้ลองจับดู แล้วก็ต้องแปลกใจ หากมองด้วยตาเหมือนจระเข้สตัฟฟ์มาก เมื่อสัมผัสจึงรู้ว่าอันนี้เองคือหุ่นจำลองยางพารา นวัตกรรมชิ้นเยี่ยมของการเป็นสื่อการเรียนการสอน อาจารย์เล่าว่าการมีสื่อการสอนที่ทำจากยางพาราเป็นสิ่งดีและเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนมาก ถ้าจะเรียนเกี่ยวกับหมู ถ้าให้ยกหมูมาทั้งตัวมาสอนจะเป็นเรื่องลำบากมาก หรืออย่างเห็บสุนัข สามารถทำหุ่นจำลองขยายขนาดให้ใหญ่จนมองเห็นรายละเอียดได้ 

การทำหุ่นจำลองจระเข้ที่ทำจากยางพารา ทำโดยนำจระเข้ทั้งตัวที่มีคนบริจาคมาหล่อแบบ แล้วพ่นสีให้เหมือน เมื่อเปรียบเทียบกับตัวจริง จะเห็นว่าแทบจะแยกกันไม่ออก หรือถ้าดูดีๆของจำลองนั้นสวยงามสมบูรณ์กว่าของจริงเสียอีก ตัวที่แปลกและมีที่มาอย่างน่าพิศวงคือหุ่นจำลองปลา ปลาตัวนี้เจ้าของเขารักมาก นำมาให้ที่นี่สตัฟฟ์ ทางพิพิธภัณฑ์เห็นว่าน่าสนใจจึงได้ทำเป็นหุ่นจำลองยางพาราเก็บไว้อีกตัวหนึ่งด้วย

สำหรับสัตว์ที่ดองในฟอร์มาลีนจะวางอยู่บนชั้น ได้แก่ ลูกหมูผิดปกติ ลูกสุนัขแรกคลอด ส่วนประกอบของรกลูกเรียงผา เป็นต้น อวัยวะอีกอันหนึ่งชิ้นเล็กมากแต่น่าสนใจคือกระดูกหูของคน และของกระบือวางเปรียบเทียบกัน เราจะเห็นว่ากระบือตัวใหญ่แต่มีกระดูกหูอันเล็กนิดเดียว อันนี้จะอยู่ในตู้กระจกที่รวมกะโหลกของสัตว์ชนิดต่างๆ เทียบกันดู มีกะโหลกเสือ กะโหลกช้าง กะโหลกยีราฟ กะโหลกสุนัขพันธุ์บูลด็อก กะโหลกสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมน กะโหลกนกมาคอร์ กระโหลกหนู 

เมื่อเดินชมภายในพิพิธภัณฑ์บริเวณชั้นล่างทั่วถึงแล้ว แนะนำให้ขึ้นไปดูต่อที่ชั้นสอง เป็นห้องแสดงงานหุ่นจำลองยางพารา และชั้นสามเป็นโรงงานผลิตสื่อการเรียนการสอนจากยางพารา โครงการวิจัยหุ่นจำลองยางพารา หัวหน้าโครงการคือ รศ.ดร.อภินันท์ สุประเสริฐ แล้วเราจะเห็นว่าหุ่นจำลองแบบนี้สามารถผลิตออกมาได้ครอบคลุมสัตว์ทั้งตัว สัตว์ผ่าซีกแสดงให้เห็นอวัยวะภายใน รวมไปถึงหุ่นจำลองร่างกายของคนแสดงให้เห็นอวัยวะภายใน หรือจะแยกเป็นชิ้นอย่างเช่น หัวใจ ปอด ทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ชาย-หญิง สมอง ไต เป็นต้น ในราคาจำหน่ายของที่นี่มีราคาถูกกว่าของต่างประเทศมาก ชุดที่ได้รับความนิยมเป็นสื่อการสอนสำหรับนักเรียนมัธยม เป็นชุดของร่างกาย มีทั้งหมด 8 ชิ้น ถ้าไปซื้อของต่างประเทศที่ทำด้วยเรซิ่นแข็ง ๆ เฉพาะส่วนหัวที่มีทางเดินอาหารอย่างเดียวราคาเป็นหมื่น หุ่นจำลองนี้จำแนกได้เป็นหมวดหมู่ ได้แก่ ชุดหุ่นจำลองยางพารารูปอวัยวะสำคัญของมนุษย์ ชุดหุ่นจำลองยางพาราอวัยวะสัตว์ ชุดหุ่นจำลองยางพาราเพื่อเป็นของที่ระลึก

ในช่วงท้ายของการพาเยี่ยมชม อาจารย์มาลีวรรณได้พาไปดูช่างศิลป์ที่กำลังตกแต่งหุ่นจำลองไก่หุ่นตัวนี้จะนำไปประกอบการเรียนการสอนของนิสิตคณะสัตวแพทย์ จากนั้นพาไปดูการเทยางลงไปในแบบและได้เปิดห้องของช่างปั้น ข้างในมีหุ่นปั้นช้าง ทำด้วยดินน้ำมัน ซึ่งต้องใช้ดินน้ำมันจำนวนมาก และต้องทำโครงกันล้ม ตัวหนึ่งๆ เฉพาะปั้นใช้เวลาเป็นเดือน ช้างตัวนี้เป็นตัวเมีย อาจารย์ให้สังเกตว่าเขาแสดงรายละเอียดของรังไข่ มดลูก กะเพาะปัสสาวะ ถ้าไม่ทำสื่อการสอนแบบนี้ โอกาสที่เราจะได้เห็นอวัยวะภายในของช้างอย่างชัดเจนโดยเฉพาะจากช้างตัวจริงมีน้อยมาก หลังจากปั้นหุ่นด้วยดินน้ำมันแล้วก็จะนำไปตรวจสอบความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญ จากนั้นสร้างเบ้าแม่พิมพ์ด้วยปูนปลาสเตอร์ ต่อจากนั้นเทส่วนผสมน้ำยางพาราหล่อชิ้นงาน อบด้วยความร้อนจนยางสุก ถอดหุ่นยางพาราออกจากเบ้าแม่พิมพ์ อบให้แห้ง มาถึงขั้นตอนการตกแต่งให้สมบูรณ์และระบายสี

สำหรับผู้ที่ต้องการมาเยี่ยมชม ในการมาเป็นหมู่คณะ ควรติดต่อล่วงหน้า เพื่อทางพิพิธภัณฑ์จะได้จัดวิทยากรมาอธิบายและนำชม 

สาวิตรี ตลับแป้น /ผู้เขียน/ ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนามวันที่ 3 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-