ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเกริก ก่อตั้งเพื่อนำเสนอประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยและผู้ก่อตั้ง โดยด้านหน้าจัดแสดงรูปปั้นของดร.เกริก มังคละพฤกษ์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย และภาพบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยเกริก จัดแสดงตราของมหาวิทยาลัย และของใช้ส่วนตัวของดร.เกริก ด้วยความที่ดร.เกริกชื่นชอบเรื่องกลองยาว สิ่งของที่น่าสนใจที่นำมาจัดแสดงไว้ในตู้กระจกคือ กลองจำลองขนาดเล็ก ที่น่าสนในคือกลองยาวที่เรียกว่ากลองมังคละ เป็นกลองที่กำลังจะสูญหาย กลองนี้เป็นในสมัยสุโขทัย โดยศูนย์ส่งเสริมฯ ได้พัฒนาและส่งเสริมเผยแพร่ให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในปัจจุบัน
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเกริก
ความรู้ทำให้องอาจ คือปรัชญาของดร.เกริก ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นสร้างสถาบันการศึกษาที่ดีเด่น ให้ความใส่ใจกับลูกศิษย์ดร.เกริก มังคละพฤกษ์ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกริกเมื่อปีพ.ศ.2495 โดยเปิดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษและวิชาชีพ ณ อาคาร ก. ถนนราชดำเนิน รับนักเรียนจบชั้น ม. 8 เข้าเรียนหลักสูตรอนุปริญญา หลักสูตร 3 ปี ในปี พ.ศ. 2507 ได้ขยายกิจการของโรงเรียนสอนภาษาและวิชาชีพ ปี พ.ศ. 2508 ย้ายจากอาคาร ก. ถนนราชดำเนินไปตั้งที่ตำบลบางด้วน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยใช้ชื่อโรงเรียนภาษาและวิชาชีพปากน้ำ
ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนเกริกวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2509 ต่อมาได้พัฒนาเป็นวิทยาลัยเกริก ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเปิดสอนในระดับปริญญาตรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 นับว่าเป็นวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกในสมัยนั้น
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกริก ได้ใช้ปรัชญา “ความรู้ทำให้องอาจ” เป็นแนวทางในการผลิตบัณฑิต โดยเน้นความรู้ที่สำคัญ 6 ประการคือ ประการแรก คือความรู้ใน “สมบัติผู้ดี” ประการที่สอง คือความรู้ในภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ ประการที่สามคือ ความรู้แตกฉานในวิชาชีพซึ่งได้เลือกศึกษา ประการที่สี่ ความรู้ในภาษาต่างประเทศ ประการที่ห้าคือ ความรู้และความสำนึกในประวัติศาสตร์ ประการที่หก ความรู้ในการรอบรู้เรื่องต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโลกและสังคม
ดร.เกริก มังคละพฤกษ์ อุทิศตนเพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง เป็นนักการศึกษาที่รู้จักกันดีในชื่อเสียงเกียรติคุณและความสามารถของท่าน ในปี พ.ศ. 2517 วิทยาลัยเดวิดและเอ็ลคินส์ มลรัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางการศึกษาแก่ท่าน
ในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551(ปกติกำหนดวันที่ 27 กรกฎาคมของทุกปี) มหาวิทยาลัยเกริกได้จัดงาน “วันรำลึก ดร.เกริก” ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ 50 ปี โดยมีฯพณฯพลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยเกริกเป็นประธานในพิธี พร้อมกันนั้นในส่วนของพิพิธภัณฑ์ดร.เกริกได้จัดให้มีการจัดห้องนิทรรศการขึ้นเป็นพิเศษ
วัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อรำลึกถึงพระคุณ ดร.เกริก มังคละพฤกษ์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกริก และเชิญศิษย์เก่าตลอดทั้งผู้มีอุปการะคุณต่อมหาวิทยาลัยเกริกมาร่วมพิธีวางพวงมาลา
บันทึกจากหนังสือ “คิดถึงอาจารย์เกริก” เรียบเรียงโดย ดร.เบญจา มังคละพฤกษ์ พิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีแห่งการก่อตั้งสถานศึกษาของอาจารย์เกริก เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 มีการนำเสนอแง่มุมต่างๆ ของดร.เกริก “เมื่อเอ่ยถึงดร.เกริก ผู้คนมักนึกถึงภาษาอังกฤษ นึกถึงการสอนภาษาอังกฤษและสถานศึกษาของท่าน และยังเชื่อต่อไปว่าลูกศิษย์อาจารย์เกริกเก่งภาษาอังกฤษอีกด้วย”
ดร.เกริกเริ่มงานด้วยการเช่าห้องเรียนของคนอื่นสอนหนังสือ จนขยายมาเป็นสถาบันอาจารย์เกริกมีอยู่ตอนหนึ่งที่กล่าวถึงการใช้ชื่อตนเองตั้งเป็นชื่อสถาบัน “….การใช้ชื่อตัวเองเป็นสถาบันนั้นเป็นการเสี่ยง เพราะถ้าทำไม่ดีจะถูกด่าโดยเรียกชื่อเกริกทุกวัน หรือทุกคราวก็ต้องสะดุ้งอยู่เรื่อย เพราะฉะนั้นจะไม่มีใครเขาทำกัน แต่นายเกริกมีความมั่นใจว่าจะเป็นสถาบันที่ดีเด่นได้ จึงตัดสินใจใช้ชื่อของตน”
ในการจัดงานรำลึกดร.เกริก หลังจากอธิการบดีคือ ดร.เบญจา มังคละพฤกษ์ ได้กล่าวเปิดงาน ลำดับต่อมานักศึกษาออกมากล่าวสดุดีดร.เกริกเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาไทย
จากนั้นเป็นการแสดงรำไกรลาส แล้วต่อด้วยไฮไลต์ของงานคือการรำกลองยาวของศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม การเล่นกลองยาว รำกลองยาว มีความเกี่ยวพันกับดร.เกริกอย่างแนบแน่น เป็นที่ประทับใจของบรรดานักศึกษา ท่านเป็นคนชื่นชอบการเล่นกลองยาว ดังจะเห็นได้จากการสนับสนุนการเล่นกลองยาวในกิจกรรมของนักศึกษา เช่น กิจกรรมวันไหว้ครู กิจกรรมรับน้องใหม่ กิจกรรมการกุศล โดยมีศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เป็นผู้ให้การดูแลฝึกฝนและฝึกซ้อม สำหรับตัวอาจารย์เกริกท่านยังได้ร่วมตีกลองยาวกับนักศึกษาในทุกครั้งที่มีโอกาสอย่างเช่นในวันไหว้ครูประจำปี ซึ่งถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่นักศึกษา สร้างความครึกครื้นเป็นกันเองกับศิษย์ สะท้อนให้เห็นว่าท่านให้ความสำคัญกับศิลปะพื้นบ้าน เป็นการสร้างจิตสำนึกให้นักศึกษาอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านให้ดำรงอยู่
ในเรื่องการเล่นกลองยาว คุณศรุต แจ้งอนันต์ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและเป็นหนึ่งในผู้แสดงและเป็นผู้ชำนาญในการตีกลองยาว ได้พูดถึงเรื่องนี้ด้วยความประทับใจในการแสดงโชว์การเล่นและการรำกลองยาวโดยบอกว่ากลองยาวเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาวเกริก เพราะดร.เกริกใช้กลองยาวเป็นจิตวิทยาในการบริหาร เพื่อสร้างความเป็นกันเองกับนักศึกษา ซึ่งได้ผล การที่ท่านลงมาคลุกคลี ทำให้ทุกคนรักท่านมาก
หลังจบการแสดงก็เป็นการวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ดร.เกริก โดยบุคคลสำคัญ ตัวแทนองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เป็นจำนวนมากที่ให้เกียรติมาในงาน
เมื่อเสร็จพิธีที่ลานอนุสาวรีย์ ได้มีการเชิญผู้มาร่วมงานไปบริเวณห้องพิพิธภัณฑ์ดร.เกริก ใกล้กันเป็นห้องจัดนิทรรศการ นำเสนอภาพถ่ายในกิจกรรมต่างๆที่ดร.เกริกร่วมทำกับนักศึกษา ภาพข่าวของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ลงเรื่องของท่าน สิ่งของที่นำมาจัดแสดงคือกลองยาวขนาดเล็ก ในห้องนี้คุณศรุตได้แนะนำให้รู้จักกับอาจารย์ศรีอังคาร เลิศวณิช ผู้อำนวยการสำนักกิจการนักศึกษา ที่จะได้อธิบายเพิ่มเติม
คุณศรุตบอกว่าเป็นเพราะดร.เกริกชอบกลองยาว จึงเกิดเป็นความเชื่อ เวลาที่ใครอยากได้อะไรจะไปขอ เมื่อได้ดังปรารถนาก็นำกลองยาวขนาดเล็กไปวางไว้ที่อนุสาวรีย์ของท่าน ทำให้มีกลองยาวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก กลองยาวขนาดเล็กเหล่านี้ได้มีการนำไปแจกเป็นของเล่นให้กับเด็กๆ ตามต่างจังหวัด ในช่วงออกต่างจังหวัดในโครงการต่างๆ เป็นต้นว่าดนตรีไทยอุดมศึกษา หรือโครงการอาสาฯต่างๆ ใกล้กันนั้นตรงกลางห้องมีกลองใบจิ๋วอีกใบ ซึ่งคุณปิยะนุช นาคคง ได้ทำแล้วมอบให้
ในส่วนของห้องด้านหน้าจัดแสดงรูปปั้นของดร.เกริกและภาพบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยเกริก มีตราของมหาวิทยาลัย และมีของใช้ส่วนตัวของดร.เกริกอยู่บ้างเล็กน้อย ในส่วนของเรื่องราวของดร.เกริกในห้องจัดนิทรรศการ คุณศรุตได้บอกว่าในห้องนี้เป็นการจัดนิทรรศการแบบหมุนเวียน โดยหนึ่งถึงสองเดือนจะเปลี่ยนไปเรื่องหนึ่ง
สำหรับสิ่งของที่น่าสนใจที่นำมาจัดแสดงไว้ในตู้กระจกคือ กลองจำลองขนาดเล็กที่ไม่ใช่กลองยาวคือกลองมังคละ เป็นกลองที่กำลังจะสูญหาย กลองนี้เป็นของสุโขทัย ทางศูนย์ส่งเสริมฯ ได้รับคำสั่งจากผู้บริหารให้นำมาปรับปรุงใช้ได้จริง สำหรับกลองยาวของจริงคุณศรุตได้บอกว่าในห้องของศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมมีอยู่เป็นจำนวนมาก
สิ่งที่นำเสนอได้อย่างโดดเด่น ในงานวันรำลึกถึงดร.เกริกของที่นี่คือศิลปะการเล่นและการรำกลองยาว ที่สามารถเชื่อมโยงในหลายด้าน ตั้งแต่การสร้างความสัมพันธ์อันดีของผู้บริหารกับนักศึกษา การเชื่อมต่อศิลปวัฒนธรรมไทยให้ดำเนินต่อไปในกลุ่มเยาวชน อีกทั้งยังเผื่อแผ่สร้างรอยยิ้มให้กับเด็กๆ ที่ได้ของเล่นเป็นกลองใบเล็ก
สาวิตรี ตลับแป้น / ผู้เขียน/ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนาม 24 กรกฎาคม 2551
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ประวัติศาสตร์และโบราณคดี วิถีชีวิตท้องถิ่นและภูมิปัญญา ประวัติมหาวิทยาลัยเกริก เกริก มังคละพฤกษ์ กลองยาว
พิพิธภัณฑ์กุมารศัลยศาสตร์
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์สินค้าปลอมและเลียนแบบติลลีกี แอนด์กิบบินส์
จ. กรุงเทพมหานคร
บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเมืองเจริญไชย
จ. กรุงเทพมหานคร