พิพิธภัณฑ์ไลเคน


พิพิธภัณฑ์ไลเคนแห่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นพิพิธภัณฑ์ไลเคนแห่งแรกของประเทศไทย เป็นสถานที่รวบรวมตัวอย่างไลเคนในประเทศไทย และตัวอย่างจากต่างประเทศ พิพิธภัณฑ์จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านไลเคนในประเทศไทย การจัดแสดงมีทั้งที่เป็นตัวอย่างทั้งสดและแห้งของไลเคนที่ได้เก็บและแยกตามหลักอนุกรมวิธาน แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้ 1. การศึกษาด้านนิเวศ-สรีรวิทยาของไลเคน 2. การศึกษาด้านอนุกรมวิธานของไลเคนในประเทศไทย และ3. การศึกษาด้านราที่ก่อให้เกิดไลเคน เป็นต้น

ที่อยู่:
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์:
0-2310-8395
วันและเวลาทำการ:
ในวันและเวลาราชการ (กรุณาแจ้งล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
lichen@ram1.ru.ac.th
ปีที่ก่อตั้ง:
2536
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ความหลากหลายชนิดของไลเคน ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

ชื่อผู้แต่ง: หน่วยวิจัยไลเคน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง | ปีที่พิมพ์: 2547

ที่มา: กรุงเทพฯ:สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ไลเคนแห่งเกาะแสมสาร จากยอดเขาถึงชายทะเล

ชื่อผู้แต่ง: หน่วยวิจัยไลเคน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง | ปีที่พิมพ์: 2550

ที่มา: กรุงเทพฯ:โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ไลเคน

กิจกรรมยอดนิยมของคนรักธรรมชาติคงหนีไม่พ้นกิจกรรมดูนก ดูผีเสื้อ และพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ แต่มีสิ่งมีชีวิตอีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจที่ควรทำความรู้จัก ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยนัก อาจจะเพราะมีขนาดเล็ก จึงถูกมองข้ามได้ง่าย ต้องอาศัยการสังเกตให้ดี ครั้งหน้าหากไปเที่ยวป่าลองเอาแว่นขยายติดไปด้วย แล้วสังเกตจุดหรือรอยด่างเล็กๆ บนเปลือกไม้ ใบไม้ หรือบนก้อนหิน ร่องรอยเหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “ไลเคน” ก็ได้

ไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เกิดจากการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยของราและสาหร่าย พบได้ทุกที่ตั้งแต่เขตหนาวจัดใกล้ขั้วโลกจนถึงเขตทะเลทรายที่แห้งแล้ง และเขตป่าฝนร้อนชื้นแถบเส้นศูนย์สูตร ไลเคนถือกำเนิดมาก่อนมนุษย์นานมาก ฟอสซิลของไลเคนที่พบอายุราว 400 ล้านปีมาแล้ว

ไลเคนเป็นตัวจอมเกาะ เกาะพื้นผิวได้เกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเปลือกไม้ ดิน กระดูกสัตว์ แมลง วัสดุก่อสร้าง คอนกรีต แต่ไม่ทำลายสิ่งที่ยึดเกาะ ไลเคนมีหลายสี เช่น เหลือง ส้ม เขียว ขาว เทา น้ำตาล มีการเจริญเติบโตช้ามาก บางชนิดโตเพียง 1มิลลิเมตรต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของไลเคนและปัจจัยอื่นๆด้วย เช่น อุณหภูมิ ความชื้นในบรรยากาศ แสงแดด เป็นต้น สำหรับไลเคนในประเทศไทยส่วนใหญ่เติบโตได้ดีในฤดูฝน 

จุดที่น่าสนใจคือ แม้ว่าไลเคนจะทนกับอุณหภูมิสุดขั้วได้ แต่มีสิ่งหนึ่งซึ่งมันไม่ชอบคือมลภาวะทางอากาศ ดังนั้นในเมืองขนาดใหญ่จะพบจำนวนชนิดของไลเคนน้อยกว่าในป่าหรือบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์มาก คุณสมบัติข้อนี้ทำให้นักวิจัยนำไลเคนไปใช้เป็นดัชนีบ่งบอกคุณภาพอากาศได้ วิธีหนึ่งที่ใช้กันคือการวิเคราะห์ปริมาณของโลหะหนักที่สะสมอยู่ในไลเคน 

นอกจากนั้นสารธรรมชาติที่ไลเคนผลิตขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบมากกว่า 700ชนิด ยังใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำสีย้อม น้ำหอม เป็นส่วนผสมของสมุนไพร ยารักษาโรค เครื่องดื่ม ชนพื้นเมืองในหลายประเทศรู้จักใช้ประโยชน์จากไลเคนมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ คนอียิปต์และฟินแลนด์ใช้เป็นส่วนผสมในการทำขนมปัง ชาวฝรั่งเศสใช้ Oakmoss lichen ผสมในน้ำหอม ชนพื้นเมืองในอเมริกาเหนือใช้ Wolf lichenทำสีย้อมผ้าโดยนำมาต้มน้ำ ชาวจีนและญี่ปุ่นใช้ทำยาและอาหาร เพราะจากการวิจัยพบว่าไลเคนบางชนิดมีคุณสมบัติ antibiotic สำหรับประเทศไทยมีการใช้ไลเคนที่เรียกว่าฝอยลมทำสมุนไพร และในปัจจุบันหน่วยวิจัยไลเคน มหาวิทยาลัยรามคำแหงร่วมกับสถาบันมะเร็งกำลังวิจัยสารไลเคนเพื่อนำไปใช้ในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง 

นอกจากมนุษย์แล้ว สัตว์ก็ได้ประโยชน์จากไลเคนด้วย กวางคาริบู กวางเรนเดียร์ และแพะภูเขา กินไลเคนเป็นอาหารโดยเฉพาะในหน้าหนาวที่ไม่มีพืชอื่นขึ้น กวางคาริบูจะคุ้ยแผ่นน้ำแข็งบนพื้นดินให้แตกเพื่อกินไลเคนที่อยู่ข้างใต้ นอกจากนั้นกระรอกบินและนกหลายชนิดในทวีปอเมริกาเหนือยังใช้ไลเคนทำรังด้วย

จากการสำรวจทั่วโลกมีไลเคนประมาณ 25,000 ชนิด ประเทศไทยมีประมาณ 1,100 ชนิด แบ่งเป็นออกได้เป็นสี่แบบ ตามโครงสร้างและรูปลักษณ์ภายนอก แบบที่หนึ่งเรียกว่า ครัสโตส (crustose) ลักษณะคล้ายฝุ่นผงบาง มีขนาดเล็กมาก เกาะอยู่ตามเปลือกไม้หรือหิน แบบที่สอง โฟลิโอส (foliose)เป็นแผ่นบาง ยึดเกาะวัตถุด้วยไรซีน แบบที่สาม ฟรูติโคส (fruticose) ลักษณะเป็นเส้นสายคล้ายรากฝอยหรือเป็นพุ่ม และแบบที่สี่ สะแควมูโลส (squamolose) ลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆคล้ายเกล็ดปลา 

ไลเคนขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ แบบแรกราจะสร้างสปอร์ซึ่งแพร่กระจายไปโดยลม น้ำ แมลง และสัตว์อื่นเมื่อตกลงในบริเวณที่มีสาหร่ายเหมาะสม จึงเติบโตเป็นไลเคนได้ แบบที่สอง ไลเคนจะสร้างโครงสร้างที่มีราและสาหร่ายด้วยกันเป็นรูปแท่งเล็กๆหรือเส้นใยหลุดปลิวไปตกที่อื่น

พิพิธภัณฑ์ไลเคน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นพิพิธภัณฑ์ไลเคนแห่งแรกในประเทศไทย ผศ. ดร. กัณฑรีย์ บุญประกอบ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ให้สัมภาษณ์ว่า ที่นี่รวบรวมและเก็บรักษาไลเคนที่มีอยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศไว้ประมาณ 30,000 ตัวอย่างจาก 140 ประเทศทุกทวีปทั่วโลก สำหรับตัวอย่างจากจากต่างประเทศ บางส่วนได้จากการบริจาค บางส่วนได้จากการแลกเปลี่ยนระหว่างพิพิธภัณฑ์ 

หน่วยวิจัยไลเคนของที่นี่มีนักวิจัยเกือบ 20 คน มีความเชี่ยวชาญในชนิดของไลเคนกันคนละวงศ์ สำหรับพื้นที่ที่ได้สำรวจและวิจัยแล้วได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 3 ปี อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก เกาะครามและเกาะแสมสาร จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุกรรมพืช ในโครงการพระราชดำริฯ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่นี่ทางหน่วยวิจัยได้จัดทำแผนที่เส้นทางเดินศึกษาไลเคนในธรรมชาติบริเวณพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย เป็นกิจกรรมเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สำหรับปัจจุบันหน่วยวิจัยกำลังสำรวจวิจัยไลเคนในสวนสาธารณะ17 แห่งในกรุงเทพมหานคร เพื่อเปรียบเทียบและทำดัชนีบ่งบอกคุณภาพอากาศ 

ภายในพิพิธภัณฑ์ไลเคนแบ่งเป็นห้องเก็บตัวอย่างแห้ง 2 ห้อง ห้องหนึ่งเก็บตัวอย่างจากต่างประเทศ อีกห้องหนึ่งเป็นตัวอย่างที่เก็บในประเทศ ตัวอย่างแห้งจะถูกจัดเก็บในซองกระดาษในลิ้นชักตู้ไม้ที่เรียงเป็นแถวเรียงตามลําดับตัวอักษรของชื่อวิทยาศาสตร์ แต่ละตัวอย่างมีข้อมูลสถานที่เก็บ วันที่เก็บ ที่อยู่อาศัย(habitat) และผู้เก็บ ส่วนตัวอย่างที่เป็นสายพันธุ์ต้นแบบ (type specimens) มี 42 ชนิด เป็นไลเคนสายพันธุ์ที่พบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย (new records) อีกเกือบ 600 ชนิด ก่อนที่จะนำตัวอย่างมาเก็บต้องทำให้แห้ง กำจัดแมลง และรา โดยนำไปแช่ในตู้แช่แข็ง อุณหภูมิ -18องศาเซลเซียส ห้องเก็บตัวอย่างมีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น 

ทางพิพิธภัณฑ์ได้แยกตัวอย่างไลเคนบางชนิดออกมาจัดแสดงที่ห้องประชุมสำหรับผู้เยี่ยมชมให้ดูได้สะดวกและเข้าใจง่ายขึ้น ตัวอย่างเหล่านี้อยู่ในลิ้นชักขนาดใหญ่กรุกระจกใส ดึงออกมาวางบนโต๊ะได้ แบ่งตามบริเวณที่พบ เช่น ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ เป็นต้น ที่สำคัญคือมีไลเคนชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยมีการบันทึกไว้ที่ใดในโลก และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามชื่อไทยด้วย เช่น Parmotrema thailandicum พบบนเปลือกไม้ในป่าดิบเขา ที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก, Laurera erawanensis พบบนเปลือกไม้ในป่าเบญจพรรณ ที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จังหวัดกาญจนบุรี Ocellularia kansriae พบบนเปลือกไม้ในป่าทางภาคเหนือและภาคตะวันออก นอกจากนั้นยังแสดงผลการทดลองการนำไลเคนชนิดหนึ่งไปทำสีย้อมปรากฏผลเป็นกลุ่มเส้นด้ายหลายสี

ทางพิพิธภัณฑ์มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลไลเคนทั้งหมดที่เก็บรักษาไว้ บางส่วนสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับผู้สนใจเรื่องราวของไลเคน นอกจากนั้นยังมีการจัดนิทรรศการทางวิชาการนอกสถานที่ปีละ2-3 ครั้ง และให้คำปรึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาที่สนใจทำเป็นโครงการวิทยาศาสตร์ เคยมีนักเรียนระดับมัธยมจากต่างจังหวัดมาปรึกษาและนำโครงการเข้าประกวดจนได้รับรางวัล ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จากสถาบันการศึกษาในเมืองหลวงมีช่องทางเผยแพร่ไปสู่เยาวชนในต่างจังหวัดได้อีกทางหนึ่ง

การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ถ้ามาเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้า และควรเป็นกลุ่มที่ไม่ใหญ่นัก เพราะพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ระเบียงด้านหน้าและบริเวณทางเดินมีบอร์ดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับไลเคน ถ้ามีพื้นฐานความรู้ทางชีววิทยาอยู่บ้างจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น สำหรับห้องสมุดไลเคนเปิดให้บริการแก่ผู้สนใจอยู่บนชั้นเดียวกันกับพิพิธภัณฑ์ 

เรื่อง/ภาพ : เกสรา จาติกวนิช

ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนาม 14 พฤษภาคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-