พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน


ที่อยู่:
สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช อาคารอนุรักษ์ สถานีรถไฟธนบุรี(เดิม) โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ เลขที่ 2 ถนนพรานนก แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700
โทรศัพท์:
0-2419-2600 ต่อ 2601
โทรสาร:
02-411-0166
วันและเวลาทำการ:
จันทร์,พุธ-อาทิตย์ เวลา หน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช 10.00-17.00 น. (ปิดจำหน่ายตั๋วเวลา 16.00 น.) ปิดทำการวันอังคารเเละวันหยุดนักขัตฤกษ์
ค่าเข้าชม:
1.พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช หรือพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เพียงแห่งเดียว ต่างชาติ 200 บาท / ไทย 80 บาท เด็กไทยและต่างชาติ อายุต่ำกว่า 18 ปี 25 บาท 2. บัตรเดียวเที่ยว 2 พิพิธภัณฑ์ ต่างชาติ 300 บาท / ไทย 150 บาท เด็กไทยและต่างชาติ 50 บาท
อีเมล:
sirirajmuseum@gmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2552
ของเด่น:
ฐานป้อมวังหลัง, เรือโบราณยาว 24 เมตร, อาคารสถานีรถไฟบางกอกน้อยเดิม, เครื่องมือแพทย์ยุคต่างๆ, ศาสตราวุธของกรมพระราชวังหลัง
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 08 กุมภาพันธ์ 2556

โดย:

วันที่: 08 กุมภาพันธ์ 2556

โดย:

วันที่: 08 กุมภาพันธ์ 2556

โดย:

วันที่: 08 กุมภาพันธ์ 2556

โดย:

วันที่: 08 กุมภาพันธ์ 2556

โดย:

วันที่: 08 กุมภาพันธ์ 2556

โดย:

วันที่: 08 กุมภาพันธ์ 2556

โดย:

วันที่: 08 กุมภาพันธ์ 2556

โดย:

วันที่: 08 กุมภาพันธ์ 2556

โดย:

วันที่: 08 กุมภาพันธ์ 2556

ไม่มีข้อมูล

ในหลวงเสด็จฯ ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 15 ก.ค. 2556;15-07-2013

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ 12

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 16 กรกฎาคม 2556

เที่ยวในห้องเรียนประวัติศาสตร์ "พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน"

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 27 ก.ค. 2556;27-07-2013

ที่มา: แนวหน้า

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 29 กรกฎาคม 2556

"ศิริราชพิมุขสถาน"แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์แพทย์ไทย

ชื่อผู้แต่ง: รัฐพงศ์ เทียมทองใบ | ปีที่พิมพ์: 16 ก.ค. 2556;16-07-2556

ที่มา: ไทยโพสต์

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 29 กรกฎาคม 2556

เที่ยวย้อนยุค เจาะเวลา พาสนุก ที่ “พพ.ศิริราชพิมุขสถาน”

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 20 ธ.ค. 2556;20-12-2013

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 21 กรกฎาคม 2557

ย้อนรอย "คู่กรรม" ตามหาโกโบริที่ "สถานีรถไฟบางกอกน้อย"

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 29 มี.ค. 2556;29-03-2013

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 27 มีนาคม 2558

พิพิธภัณฑ์ศิริราช คู่มือการชม

ชื่อผู้แต่ง: พิพิธภัณฑ์ศิริราช | ปีที่พิมพ์:

ที่มา: พิพิธภัณฑ์ศิริราช

แหล่งค้นคว้า: พิพิธภัณฑ์ศิริราช

โดย: ศมส.

วันที่: 20 กรกฎาคม 2564

ดูลิงค์ต้นฉบับ


ไม่มีข้อมูล

เที่ยวไปในโรงพยาบาล ที่ “พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน”

 “โรงพยาบาลนี้ได้คิดมาช้านาน อยากจะให้มีขึ้นได้ในทันใด... ภายหลังเกิดวิบัติเคราะห์ร้ายลูกซึ่งเป็นที่รักตายเป็นที่สลดใจด้วยการที่รักษาไข้เจ็บ เห็นว่าแต่ลูกเราพิทักษ์รักษาเพียงนี้ยังได้ความทุกข์เวทยาแสนสาหัส ลูกราษฎรที่อนาถาทั้งปวงจะได้ความทุกข์เวทนายิ่งกว่านี้ประการใด ยิ่งทำให้มีความปรารถนาที่จะให้มีโรงพยาบาลยิ่งขึ้น”  พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีถึงคอมมิดตีจัดสร้างโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2431

125 ปี หลังจากโรงพยาบาลศิริราชถือกำเนิด  นอกจากเป็นที่พึ่งของประชาชนในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บแล้ว  ปัจจุบันภายในโรงพยาบาลศิริราช  ยังมีพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการแพทย์ และประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวเนื่องกับโรงพยาบาล  เปิดให้บุคคลทั่วไปได้เยี่ยมชม   โดยมีพิพิธภัณฑ์สำคัญในสังกัดถึง  5 แห่ง   ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส  พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์  นิยมเสน   พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา   พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน   พิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์  สุด  แสงวิเชียร 
และพิพิธภัณฑ์น้องใหม่ล่าสุดของโรงพยาบาลศิริราชคือ  “พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน”  อันเป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   โดยได้บูรณะอาคารของสถานีบางกอกน้อยหรือสถานีธนบุรีเดิม  ริมคลองบางกอกน้อย  ใช้เป็นที่จัดแสดงและคลังวัตถุ  

หลังจากที่เมื่อปี พ.ศ. 2546  คณะแพทยศาสตร์ศิริราช ได้รับมอบที่ดินจำนวน 33 ไร่  บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี  จากการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อก่อสร้าง “สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช”  ที่ประกอบไปด้วยโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์  ศูนย์วิจัยการแพทย์ศิริราช  การแพทย์แผนไทยประยุกต์ศิริราช  สวนเฉลิมพระเกียรติ 73 พรรษา และพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

รำลึกวังหลังและสถานีธนบุรี

เมื่อก้าวเท้าเข้าไปสู่ประตูพิพิธภัณฑ์  บรรยากาศของความเป็นสถานีรถไฟ  ยังถูกรักษาไว้อย่างดี  ทั้งช่องขายตั๋ว  เก้าอี้ไม้นั่งพักรูปวงรี   และที่รับฝากของ   หลังจากที่ได้ตั๋วเป็นใบเบิกทาง เข้าสู่ประตูห้องจัดแสดงแล้ว   พิพิธภัณฑ์เริ่มอุ่นเครื่องพวกเราด้วยการฉายวีดิทัศน์ที่เกริ่นนำถึงความเป็นมาของพื้นที่และสิ่งที่ผู้ชมจะได้เห็นต่อไปด้านในพิพิธภัณฑ์

ในทางประวัติศาสตร์  พื้นที่บริเวณสถานีธนบุรี  ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณ “วังหลัง” ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ในรัชกาลที่ 1  ขณะที่มีการปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราชเมื่อปี พ.ศ. 2551 ได้ขุดพบหลักฐานและร่องรอยทางประวัติศาสตร์ อาทิ  ฐานป้อม  ซากเรือไม้  เศษภาชนะดินเผา ที่สันนิษฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของวังหลัง  และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงในส่วนแรกๆ ของพิพิธภัณฑ์
ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ อาจรู้จักวังหลังว่าเป็นแหล่งช็อปปิ้งขนาดใหญ่ใกล้โรงพยาบาลศิริราช   แต่จริงๆ แล้ว วังหลังหมายถึงนามของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข   บริเวณห้องจัดแสดงชั้นล่าง  ได้บอกเล่าประวัติของ “วังหลัง” ด้วยจิตรกรรมไทยแบบประเพณีลายวิจิตรที่วาดโดยอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร  พร้อมกับเสียงบรรยายทำนองเสนาะ ที่เล่าถึงความสามารถทั้งเชิงรบ และเชิงศิลปะของท่าน  ที่ได้ทรงนิพนธ์บทละครเรื่องพระศรีเมือง และกำกับการแปลวรรณคดีเรื่อง ไซ่ฮั่น   

บริเวณด้านนอกหน้าต่างติดกับห้องจัดแสดง  คือหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่เป็นฐานป้อมพระราชวังหลัง  ระดับลึกจากผิวดินปัจจุบันประมาณ 60 เซ็นติเมตร  ที่ขุดพบเมื่อปี พ.ศ. 2551  พิพิธภัณฑ์ตั้งใจให้ผู้ชมมองเห็นหลุมขุดค้นจากในตัวอาคารผ่านหน้าต่างกระจกใสบานใหญ่   เพื่อที่ผู้ชมจะได้ใช้ผัสสะให้ได้มากที่สุดกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่   ผสมผสานกับวีดิทัศน์ที่บันทึกการขุดค้นตลอดการทำงาน  พร้อมกับจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นเอกที่ขุดพบ  อาทิ  ชิงไป๋หรือเครื่องเคลือบสีขาวเนื้อดีสมัยราชวงศ์ชิง  เครื่องถ้วยจีนลายครามสมัยหมิง  เครื่องเบญจรงค์ลายแลทอง  รวมถึงอาวุธจำพวก ดาบ หอก โบราณ  ที่ได้รับมอบจากทายาทวังหลัง  จากสายสกุลปาลกะวงศ์ และเสนีย์วงศ์

ประวัติศาสตร์สำคัญอีกส่วนคือคือ สถานีรถไฟธนบุรี   พิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องด้วยวิธีการฉายภาพยนตร์ 4 มิติ  เป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน  เสมือนเราได้เข้าไปอยู่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จริงๆ  ตั้งแต่แรกเริ่มการสร้างสถานีรถไฟ ที่รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีเปิดเส้นทางที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย เมื่อปี พ.ศ.2446 ซึ่งเป็นต้นทางที่จะเดินทางสู่ภาคใต้และภาคตะวันตก  เสียงหวูดรถไฟ  บรรยากาศขณะโดยสารรถไฟมีสายลมเย็นพัดมาจริงๆ  สร้างอารมณ์ร่วมให้ผู้ชมได้ดี  และที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือ ฉากที่สถานีรถไฟถูกทิ้งระเบิด จากฝ่ายสัมพันธมิตร  ที่ผู้ชมเอียงหลบลูกระเบิดกันพัลวัน

ย้อนอดีตการแพทย์ศิริราช

“ฉันไม่ต้องการให้เธอเป็นเพียงแพทย์  แต่ต้องการให้เธอเป็นคนด้วย”  สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงสอนนิสิตเตรียมแพทย์ปริญญารุ่นที่ 1  

เมื่อเดินขึ้นบันไดต่อมายังชั้นที่สอง ของอาคารพิพิธภัณฑ์หลังแรก  พิพิธภัณฑ์นำเสนอเรื่องราวทางการแพทย์  กำเนิดโรงพยาบาล และการตั้งโรงเรียนการแพทย์แห่งแรกของประเทศ  การเรียนการสอนในทางการแพทย์ในอดีต  เทคโนโลยีทางการแพทย์  ความภาคภูมิใจและเอกลักษณ์ด้านต่างๆ ของศิริราช

สิ่งที่ทำให้การนำเสนอเรื่องราวทางการแพทย์ของพิพิธภัณฑ์นี้โดดเด่นน่าสนใจ  ไม่ใช่เทคโนโลยีหรือสื่อการเรียนรู้สมัยใหม่ที่น่าดึงดูด   แต่เป็น “คอลเล็กชั่น”  ที่โรงพยาบาลเก็บไว้ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา  และมอบให้กับพิพิธภัณฑ์นำมาจัดแสดง  ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์  ตัวอย่างทดลอง(specimen)  สื่อการเรียนการสอน ตำราเรียน  ภาพการเรียนการสอนในอดีต  บันทึกต่างๆ  ที่เก็บรักษาไว้อย่างดี  อาทิเช่น  เตียงไม้อาจารย์ใหญ่และอุปกรณ์ที่ใช้ผ่าอาจารย์ใหญ่ของห้องเรียนมหกายวิภาคศาสตร์ (Gross anatomy) สมัยอดีต   หุ่นจำลองร่างกายคนที่ใช้เรียนวิชากายวิภาคศาสตร์เมื่อราวร้อยปีก่อน  เตียงผ่าตัดในช่วง พ.ศ. 2469    ตัวอย่างทดลอง(specimen)  ที่บรรจุอยู่ในขวดแก้วที่ยาด้วยยางมะตอยสมัยสงครามโลก  ดิกชันนารีของพระอาจวิทยาคม หรือหมอแมคฟาร์แลนด์ อาจารย์นายแพทย์ใหญ่แผนปัจจุบันของศิริราช   สมุดเล็คเชอร์ของพระบรมราชชนก   เครื่องเอ็กซเรย์เครื่องแรก  ชุดดมยาภาคสนาม เป็นต้น

กระทั่งตู้  โต๊ะ  เก้าอี้ไม้รุ่นคลาสสิกที่เคยใช้ในโรงพยาบาล   พิพิธภัณฑ์ก็นำกลับมาใช้ใหม่ในส่วนจัดแสดงอย่างกลมกลืน  และเสริมบรรยากาศได้อย่างสมจริง  เช่น  โต๊ะเล็คเชอร์สมัยเมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้ว   โต๊ะโอพีดีและอุปกรณ์ตรวจโรคช่วงต้นทศวรรษ  2500  ที่จัดเป็นห้องโอพีดีจำลองเหมือนจริง มีแม้กระทั่งพัดลมในยุคนั้นที่ทางโรงพยาบาลยังเก็บรักษาไว้   มีเกร็ดจากคุณโชติรส พิพัฒน์ผล ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์เล่าว่า  แพทย์รุ่นก่อนๆ บางท่าน ถึงกับน้ำตาซึมเมื่อมาเห็นข้าวของ ที่เคยอยู่ในประสบการณ์ช่วงหนึ่งของชีวิตพวกเขา

นอกจากความเพลิดเพลินจากการชมวัตถุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่หาดูได้ยากแล้ว   ยังมีมุมห้องผ่าตัด พร้อมอุปกรณ์ผ่าตัดพร้อม ที่เปิดให้ผู้ชมได้สวมชุดหมอผ่าตัดและแสดงฝีมือการเป็นหมอผ่าตัดด้วย    ซึ่งกลายเป็นมุมกิจกรรมยอดฮิตสำหรับผู้ชม
   
นอกจากนี้ยังมีส่วนจัดแสดงที่ให้ความรู้เรื่องความเจ็บป่วยของมนุษย์  และวิธีการเยียวยาความเจ็บป่วยในที่ใช้ภูมิปัญญาไทยด้านต่าง  โดยจำลองร้านขายยาในอดีต  ตัวอย่างสมุนไพรหลากชนิด วิธีบริหารร่างกายในท่าฤาษีดัดตน  แต่สิ่งสำคัญที่นิทรรศการสรุปไว้ก็คือ “จิตเป็นนาย  กายเป็นบ่าว”  หากจิตมีอนามัยดี  ร่างกายก็จะดีด้วยเช่นกัน

เรือโบราณ และย่านบางกอกน้อย

ส่วนจัดแสดงต่อไป คือ อาคารโกดังเก็บข้าวเก่าสองหลัง  ริมคลองบางกอกน้อย   หลังหนึ่งปรับเป็นคลังวัตถุของพิพิธภัณฑ์  ส่วนอีกหลังใช้เป็นอาคารจัดแสดง  ดาวเด่นในอาคารจัดแสดงหลังนี้  ที่ทำให้ผู้ชมต้องแหงนมองด้วยความตะลึงงัน คือ เรือโบราณยาว 24 เมตร กว้าง 5 เมตร  ที่ขุดพบระหว่างก่อสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช  แล้วทำการเก็บกู้และอนุรักษ์ จนสามารถนำมาจัดแสดงได้อย่างน่าสนใจ

“ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าเป็นเรือบรรทุกสินค้าจำพวกข้าว  คล้ายๆ เรือกระแชง  โครงสร้างเดิมของเรือจะมีเขี้ยวโลหะ  มีแผ่นทองเหลือง  มีตะปูที่ตอก  ทางเรามีการซ่อมแซมโดยเอาไม้ใหม่ไปต่อเติมด้วย  เราต้องการจะแสดงการอนุรักษ์ส่วนต่างๆ ของเรือ ให้ผู้ชมเห็นควบคู่กันไปด้วย ” ภัณฑารักษ์กล่าว

ข้อมูลในพิพิธภัณฑ์  ระบุว่าเรือลำนี้ กระดูกงูทำจากไม้สัก  กงเรือทำจากไม้ตะเคียนทอง และเปลือกเรือทำจากไม้เคี่ยม ใช้ตะปูจีน และเขี้ยวโลหะในการต่อเรือทั้งหมด ใต้ท้องเรือติดกระดาษสา และบุทับด้วยแผ่นโลหะ  เนื่องจากพื้นที่นี้เคยเป็นอู่เรือหลวงของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  สันนิษฐานว่าเรือลำนี้อาจถูกทิ้งร้างอยู่ในอู่เรือหลวง  แล้วถูกฝังกลบเมื่อทางการจะใช้พื้นที่สร้างโรงฝิ่นหลวง ในปี พ.ศ. 2433 และสถานีรถไฟบางกอกน้อยในปี พ.ศ.  2443

เรือลำยักษ์วางบนคานเหล็กที่สูงเท่าตัวคน  ผู้ชมสามารถเดินชมได้โดยรอบ เปิดให้เห็นส่วนประกอบและวัสดุที่ต่อเรือแบบโบราณ  ส่วนบนฝ้าเพดานเหนือตัวเรือกรุด้วยกระจกเงาผืนใหญ่  เพื่อให้ผู้ชมเห็นลักษณะภายในตัวเรือได้ด้วย 
ส่วนจัดแสดงติดกัน เป็นการจำลองบรรยากาศวิถีชีวิตในอดีตของคนบางกอกน้อย  ทั้งตลาด  บ้านเรือน  รวมถึงมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญ เหมือนกันการชวนท่องเที่ยวสถานที่สำคัญของบางกอกน้อยในอดีต  เช่น โรงละครหุ่นกระบอกคณะนายเปียก ประเสริฐกุล   ศาลาโรงธรรม  ตลาดรถไฟ  เป็นต้น  บางกอกน้อยเป็นชุมชนเก่าแก่ ที่มีคนต่างวัฒนธรรมเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ทั้ง ไทย จีน และมุสลิม  มุมหนึ่งจำลองย่านร้านค้าของชาวไทยมุสลิม  ที่นำเสนอของดีมีทั้งอาหารมุสลิม  ของใช้ที่เป็นงานเย็บฟูกหรือที่นอนยัดนุ่นฝีมือประณีต    เป็นต้น

นอกจากภายในพิพิธภัณฑ์แล้ว   ภูมิทัศน์โดยรอบได้รับการปรับแต่งอย่างงดงาม  โดยไม่ละเลยบริบททางประวัติศาสตร์  มีสวนสมุนไพรในบรรยากาศอุทยานวังหลัง   พร้อมทางเดินและที่นั่งพักผ่อน    ณ ริมฝั่งเจ้าพระยา “วังหลัง” และ “สถานีธนบุรี”  กลับมาโลดแล่นอยู่ในความทรงจำของผู้คนอีกครั้ง  พร้อมๆ ไปกับการสร้างความเจริญทางด้านการแพทย์สู่สังคมไทยของศิริราช  ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

ปณิตา  สระวาสี: ผู้เขียน
ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  12 มิถุนายน 2556
ชื่อผู้แต่ง:
-

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

เมื่อโครงการสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราชเริ่มทำการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมการก่อสร้าง จึงได้ขุดเจาะพื้นผิวดินลงไปหลายสิบเมตร ทำให้พบว่าใต้พื้นดินมีร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นจำนวนมาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประสานความร่วมมือไปยังคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อทำการสำรวจบริเวณพื้นที่สถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) จึงพบหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ เช่น ฐานป้อม ซากเรือไม้ เศษภาชนะดินเผา เป็นต้น สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ในสมัยอยุธยา ธนบุรี สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อกรมศิลปากรนำความกราบบังคมทูลฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวินิจฉัยและทรงรับสั่งให้อนุรักษ์หลักฐานทางโบราณคดี รวบรวมและจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑสถานกรมศิลปากร กรุงเทพมหานคร การรถไฟแห่งประเทศไทย และคณะแพทยศาสตร์ศิริราพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีมติให้คณะ ๆ เป็นผู้ดำเนินโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานในสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 ให้แล้วเสร็จภายในปี 2555 โดยมีหน่วยงานในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลที่รับผิดชอบ คือ หน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราช สำนักงานคณบดี และงานจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ สถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ เนื่องจากบริเวณสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) นั้น มีอาคารอนุรักษ์ 4 หลัง ได้แก่ อาคารสถานีรถไฟ 1 หลัง  อาคารขนส่งสินค้า 1 หลัง และอาคารโกดัง 2 หลัง ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นเขตโบราณสถานของชาติ จึงต้องบูรณะซ่อมแซมอาคารอนุรักษ์ดังกล่าวให้คงสภาพใกล้เคียงของเดิม และต้องปรับสภาพภายในอาคารให้เหมาะสำหรับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์
 
ภายในพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานประกอบด้วยอาคารทั้ง 4 หลัง ดังนี้
 
อาคารพิพิธภัณฑ์ 1 เป็นโถงต้อนรับของพิพิธภัณฑ์เป็นบรรยากาศของสถานีรถไฟ ช่องขายตั๋ว มีเก้าอี้นั่งพัก ที่รับฝากของ เป็นต้น
 
ชั้น 1 ประกอบไปด้วย
 
ศิริสารประพาส
 
ห้องบรรยายสรุป ที่ตกแต่งบรรยากาศเสมือนห้องสมุด เก้าอี้นั่งเป็นเก้าอี้ที่นักศึกษาแพทย์เคยนั่งเรียน ในห้องบรรยาย มีวีดิทัศน์เล่าเรื่องความเป็นมาของพื้นที่และขั้นตอนการเข้าชม
 
ศิริราชขัตติยพิมาน 
 
หอเทิดพระเกียรติ จัดแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์ พระสาทิสลักษณ์ พร้อมพระราชดำรัส พระราชเสาวนีย์ และพระดำรัส ในพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ พร้อมวีดิทัศน์แสดงพระมหากรุณาธิคุณ และพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อการแพทย์ การสาธารณสุข และด้านอื่นๆ สถานพิมุขมงคลเขต ห้องกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข แสดงพระประวัติกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขด้วยภาพจิตรกรรมไทยแบบประเพณี บรรยายด้วยทำนองเสนาะ  จิตรกรรม “อนุรักษ์เทเวศร์กิตติประกาศ” นี้เป็นผลงานของอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร เขียนบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระประวัติของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือกรมพระราชวังหลัง
 
ฐานป้อม
 
เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญยิ่ง มีแนวทางการอนุรักษ์ คือให้เก็บรักษาฐานกำแพงป้อมไว้ตามตำแหน่งเดิมที่ขุดพบด้วยการคลุมด้วยแผ่น Geotextile เพื่อปกป้องวัสดุเดิมก่อน แล้วจึง บูรณะกำแพงต่อขึ้นมาจากฐานเดิมโดยใช้อิฐที่มีขนาดเท่ากับอิฐโบราณ ก่อด้วยเทคนิคแบบดั้งเดิมให้แนวกำแพงสูงจากระดับพื้นปัจจุบันประมาณ 10-20 เซนติเมตร  เมื่ออยู่ในห้องสถานพิมุขมงคลเขตจะมองเห็นฐานป้อมได้จากภายในอาคาร จึงจัดแสดงวีดิทัศน์การขุดค้นแนวฐานป้อมที่หน่วยพิพิธภัณฑ์ศิริราชได้ทำการบันทึกไว้ตลอดการทำงาน พร้อมทั้งวีดิทัศน์เครื่องถ้วยที่ค้นพบจากการสำรวจพื้นที่นี้ ทางเดินก่อนเข้าห้องศาสตราวุธจัดแสดงภาพพิมพ์แผนที่เมืองธนบุรีและปริมณฑล เขียนขึ้นโดยชาวพม่าที่เข้ามาแผ่นดินไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสมัยธนบุรี ถึงต้นรัตนโกสินทร์
 
โบราณราชศัสตรา   
 
ห้องศาสตราวุธ จัดแสดงศาสตราวุธ ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับมอบจากคุณสำรวย สุวรรณสุทธิ (เสนีวงศ์ ณ อยุธยา) ซึ่งเป็นราชสกุลที่สืบเชื้อสายมาจากกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ศาสตราวุธชุดนี้มีความสำคัญในด้านศิลปะ อายุ และความหลากหลายของแหล่งผลิต ทั้งดาบไทยภาคกลาง เหนือ อีสาน ดาบญี่ปุ่นผสมศิลปะไทย ดาบลาว ดาบเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับประวัติราชการสงครามของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขและทายาท
 
คมนาคมบรรหาร
 
การจัดแสดงประวัติสถานีรถไฟธนบุรีประกอบด้วย ห้องฉายภาพยนตร์สี่มิติ  นำเสนอประวัติความเป็นมาของรถไฟสายใต้ ซึ่งใน พ.ศ. 2443 ได้ใช้พื้นที่บริเวณบางกอกน้อย สร้างสถานีรถไฟบางกอกน้อยเป็นต้นทางการเดินรถ มีปลายทางอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี การเลือกพื้นที่บางกอกน้อยเป็นที่จัดสร้างสถานีรถไฟครั้งนี้มีสาเหตุเนื่องจากเป็นเส้นทางที่สะดวกต่อการเดินทางสู่ภาคใต้และภาคตะวันตกประกอบกับมีชุมชนหนาแน่นและปากคลองยังเป็นเส้นทางสัญจรหลักของประชาชน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีเปิดใช้เส้นทางที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2446
 
ชั้น 2ประกอบไปด้วย
 
 
ศิริราชบุราณปวัตติ์
 
 
ห้องประวัติศิริราช จัดแสดงเกี่ยวกับ กำเนิดโรงพยาบาล การตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งแรกในประเทศไทย ประกอบด้วยอุปกรณ์การสอนที่ใช้ในยุคนั้น พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมราชชนก ที่ทรงพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย ทั้งเป็นผู้เจรจากับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ให้เข้ามาช่วยเหลือพัฒนาด้านการแพทย์ของไทย การสอนทางปรีคลินิก เป็นการเรียนทั้งให้องปฏิบัติการและภาคบรรยาย
 
 
สยามรัฐแพทยศาสตร์
 
 
ห้องการแพทย์ของไทย จัดแสดงด้วยเทคนิคทันสมัย ให้เห็นถึงความเจ็บป่วยของมนุษย์ ความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ เหตุแห่งโรค วิธีการเยียวยาความเจ็บป่วย และบทสรุปของการมีสุขภาพดีด้วยแนวคิด“ธรรมานามัย” ซึ่งนำเสนอในรูปแบบที่ผู้ชมสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
 
 
เมื่อออกจากอาคารจะมีทางเดินเชื่อมไปยังอาคารพิพิธภัณฑ์ 2 ซึ่งสามารถมองเห็นสวนสมุนไพรที่อยู่ด้านล่าง
 
 
อาคารพิพิธภัณฑ์ 2
 
โถงธนบุรีพื้นที่ชั้นล่างของอาคารจัดเตรียมไว้เพื่อจัดนิทรรศการชั่วคราว จัดเป็นที่ประชุม สัมมนาหรือทำกิจกรรมพิเศษร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกคณะฯ เช่น ชุมชน โรงเรียน เป็นต้น
 
 
อาคารพิพิธภัณฑ์ 3
 
นิวาสศิรินาเวศอาคารโกดังสินค้าริมคลองบางกอกน้อย จัดแสดงบรรยากาศวิถีชีวิตสองฝั่งคลองบางกอกน้อยในอดีต ซึ่งมีชาวบางกอกน้อย ชุมชนใกล้เคียง และข้าราชการมาตั้งถิ่นฐาน มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม งานศิลป์ ภูมิปัญญา และความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน เมื่อเวลาผ่านไปจึงได้หลอมรวมเป็น“วิถีชีวิตของชุมชนบางกอกน้อย” ห้องนี้มีการจัดแสดงหลักดังนี้
 
เรือโบราณ
 
ค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2551 ระหว่างการก่อสร้างสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กรมศิลปากร กรมอู่ทหารเรือ และพิพิธภัณฑ์เรือไทย ทำการเก็บกู้ อนุรักษ์ พร้อมทั้งศึกษาค้นคว้าในเชิงลึก เรือโบราณลำนี้ถูกกลบฝังอยู่ใต้รางรถไฟลึกลงไปจากผิวหน้าดินปัจจุบันประมาณ 5-7 เมตร มีขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 24 เมตร ลำเรือเชื่อมต่อส่วนต่าง ๆ ด้วยตะปู เขี้ยวโลหะ และหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองตลอดทั้งลำ นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยหลากหลายประเภทจากการเก็บกู้เรือ ซึ่งได้นำมาจัดแสดงรอบเรือโบราณด้วย
 
เส้นทางท่องเที่ยวละแวกบางกอกน้อย
 
ผู้ชมสามารถชมภาพและหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวละแวกบางกอกน้อยได้จากQR code ที่ได้จัดเตรียมไว้บริการ ณ อาคารนี้ด้วยตลอดนิทรรศการ มีการนำเสนอรายละเอียดเนื้อหาเชิงลึกที่นิทรรศการบางจุดด้วยอุปกรณ์ออดิโอไกด์(audio guide) สามารถเลือกเสียงบรรยายได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
 
อาคารพิพิธภัณฑ์ 4
 
คลังพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานกับคลองบางกอกน้อย เดิมเป็นโกดัง ได้รับการปรับเปลี่ยนรูปแบบและการใช้งานให้เป็นคลังสิ่งแสดงของคณะฯ ซึ่งมีสิ่งแสดงอีกเป็นจำนวนมาก มีการพัฒนาระบบทะเบียน และการอนุรักษ์วัตถุ สามารถนำมาหมุนเวียนจัดแสดงให้แก่ประชาชนผู้สนใจเข้าชมได้ในอนาคต พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน
 
วริสรา แสงอัมพรไชย / สรุป
ข้อมูลจาก เอกสารแนะนำ “สถาบันการแพทย์สยามมินทราธิราช”
ชื่อผู้แต่ง:
-

ย้อนรอย "คู่กรรม" ตามหาโกโบริที่ "สถานีรถไฟบางกอกน้อย"

เรื่องราวความรักของนายทหารหนุ่มแห่งกองทัพดินแดนอาทิตย์อุทัยกับสาวไทยฝั่งธนฯ แห่งคลองบางกอกน้อย จากนวนิยายเรื่อง “คู่กรรม” ของทมยันตี ถูกนำมาสร้างเรียกน้ำตาคนดูอีกครั้ง ทั้งในเวอร์ชั่นของโกโบริบี้ในจอแก้ว และโกโบริแบร์รี่ในจอเงิน โกโบริบี้เรื่องราวกำลังสนุกเข้มข้นจนคนติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง ส่วนโกโบริณเดชน์ก็ใกล้ลงโรงฉายเต็มทีและฉันเชื่อว่าสาวๆ จำนวนมากก็ตั้งตารอชมพร้อมควักตังค์ซื้อตั๋วกันแล้ว ฉันเองอาจจะ “อิน” กว่าคนอื่น เพราะพอได้เห็นกระแสคู่กรรมแล้วก็นึกอยากจะมาไว้อาลัยให้โกโบริและรำลึกความหลังสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาในสถานที่จริง วันนี้ก็เลยอยากพาทุกคนมาเยือน “สถานีรถไฟบางกอกน้อย”
ชื่อผู้แต่ง:
-

เที่ยวย้อนยุค เจาะเวลา พาสนุก ที่ “พพ.ศิริราชพิมุขสถาน”

ฉันว่าช่วงนี้ในกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร อากาศเย็นสบายดีเป็นพิเศษมากกว่าในหลายๆ ปีที่ผ่านมา อากาศดีก็ทำให้อารมณ์ดี จะให้นั่งจับเจ่าอยู่บ้านก็กระไรอยู่ ว่าแล้วก็จัดแจงแต่งตัว ออกไปเที่ยวสนุกๆ แถมหาความรู้ไปในตัวกันดีกว่า วันหยุดนี้ฉันก็เลยพาตัวเองมาอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชเสียเลย แต่ไม่ต้องตกใจว่าป่วยเป็นอะไร เพราะฉันจะมาเดินเที่ยวที่โรงพยาบาลแห่งนี้เท่านั้น ซึ่งอย่างที่เคยรู้กันว่าภายในโรงพยาบาลศิริราชนี้ก็มีพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์เปิดให้ผู้คนเข้าไปหาความรู้อยู่หลายแห่ง และล่าสุดนี้ก็ได้มีการเปิดพิพิธภัณฑ์ใหม่ ที่มีชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน”
ชื่อผู้แต่ง:
-

"ศิริราชพิมุขสถาน"แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์แพทย์ไทย

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อวันที่ 15ก.ค. อยู่ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ตั้งอยู่บริเวณอาคารสถานีรถไฟธนบุรีเดิม ด้านหลังลานพลับพลาพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มมาจากการเก็บและ จัดแสดงสิ่งของของแต่ละภาควิชา โดยในปี พ.ศ. 2525 มี พิพิธภัณฑ์ที่เปิดรวม 13 แห่งเมื่อระยะเวลาผ่านไปพิพิธภัณฑ์ คงเหลือเพียง 6 แห่งที่สามารถเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชม
ชื่อผู้แต่ง:
-

เที่ยวในห้องเรียนประวัติศาสตร์ "พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน"

พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน หรือสถานีรถไฟธนบุรีเดิม เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ภายใต้โครงการ "สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช" คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยใช้พื้นที่อาคารสถานีรถไฟธนบุรี(เดิม) บริเวณปากคลอง บางกอกน้อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำนวน 33 ไร่ ที่ได้รับมอบจากการรถไฟแห่งประเทศไทย พื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญอันเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยา ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พื้นที่ด้านใต้ของปากคลองบางกอกน้อย ลงไปถึงวัดระฆังโฆษิตาราม เป็นที่รู้จักกันในชื่อ "วังหลัง"
ชื่อผู้แต่ง:
-

ชื่อผู้แต่ง:
-

ชื่อผู้แต่ง:
-

ชื่อผู้แต่ง:
-

ชื่อผู้แต่ง:
-