พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2501 เพื่อประโยชน์ทางการเรียนการสอนของนิสิตธรณีวิทยาและเผยแพร่แก่ผู้ที่สนใจ จัดแสดงตัวอย่างหิน แร่ ซากดึกดำบรรพ์ อุลกมณี หรือสะเก็ดดาวอุกกาบาตที่นำมาเจียระไนเป็นเครื่องประดับ ธรณีสัณฐานวิทยา ธรณีวิทยาของประเทศไทย วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตตามตารางธรณีกาล รูปจำลองการกระจายตัวของชั้นถ่านในเหมืองแม่เมาะ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับธรณีวิทยากับการพัฒนาประเทศ การสำรวจปิโตรเลียม การทำเหมืองแร่ทองคำ การศึกษาศิลาวรรณนาของหินและแร่ และยังมีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนเพื่อแสดงผลงานและการประยุกต์ใช้ทางธรณีวิทยา

ที่อยู่:
ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์:
0-2218-5442
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์-ศุกร์ 8.30-16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา

ความสนใจของมนุษย์ที่มีต่อซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) ย้อนไปได้ไกลถึงยุคกรีกโบราณ นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก เฮโรโดตุส (Herodotus) พบซากฟอสซิลเปลือกหอยทะเลในแถบแอฟริกาเหนือ แม้แต่ในบันทึกของเลโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo Da Vinci) ศิลปินและนักคิดผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง ก็พบว่ามีการกล่าวถึงซากของเปลือกหอยซึ่งพบจากการขุดคลองในอิตาลี

ประเทศไทยมีหน่วยงานหลายแห่งที่จัดแสดงซากดึกดำบรรพ์ หนึ่งในนั้นตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวง ในสถาบันการศึกษาเก่าแก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริเวณคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาธรณีวิทยา พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ อยู่ใกล้กับประตูคณะบัญชีฯ ด้านถนนพญาไท เดินเข้ามานิดเดียว ตึกอยู่ฝั่งซ้ายมือ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีพื้นที่จัดแสดงสองส่วน ส่วนภายนอกอาคารด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ และห้องที่อยู่ด้านในอาคาร สำหรับวัตถุที่จัดแสดงมีทั้งตัวอย่าง หิน แร่ชนิดต่างๆ ซากดึกดำบรรพ์ แหล่งเชื้อเพลิง และสิ่งที่ดึงดูดใจเด็กๆอย่างได้ผลคือ รอยเท้าไดโนเสาร์

บริเวณด้านนอกอาคารหากดูเผินๆเป็นสวนหย่อมร่มรื่น มีแท่งหินจัดวางเป็นกลุ่มๆกลมกลืนไปกับต้นไม้น้อยใหญ่ ความจริงแล้วแท่งหินหลากสีรูปร่างแตกต่างกันเหล่านี้มีหน้าที่สำคัญ คือเป็นตัวอย่างของหินและแร่ชนิดต่างๆที่ทางพิพิธภัณฑ์นำมาจัดแสดง มีทั้งหินอัคนี หินตะกอน และหินแปร ถ้าดูใกล้ๆจะเห็นป้ายคำอธิบายประกอบอยู่ เช่น 

“หินบะซอลต์เป็นหินอัคนีชนิดหนึ่ง เนื้อละเอียด สีเข้ม หินไนส์เป็นหินแปรชนิดหนึ่งนิยมนำมาทำครกและหินประดับ” 

เมื่อก้าวเข้าสู่ห้องจัดแสดงด้านในอาคาร สิ่งแรกที่สะดุดตาคือ วัตถุที่ดูเหมือนขอนไม้ขนาดใหญ่วางนอนอยู่ ด้านซ้าย ความจริงแล้วสิ่งนี้คือไม้ที่กลายเป็นหิน พบที่จ.นครราชสีมา ถัดมาเป็นหนึ่งในดาวเด่นของพิพิธภัณฑ์คือรอยเท้าไดโนเสาร์ที่ประทับอยู่บนหิน และกระดูกขาของไดโนเสาร์ ฟอสซิลไดโนเสาร์ในประเทศไทยพบมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จ.ชัยภูมิ จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ และจ.อุบลราชธานี

ส่วนบนผนังและในตู้กระจกมีฟอสซิลหลายชนิด เช่น ฟอสซิลทั้งตัวของสัตว์เลื้อยคลานที่อยู่ในทะเล สิ่งที่ดูคุ้นหน้าคุ้นตาสำหรับผู้ที่เรียนธรณีวิทยามาบ้างคือ ซากเฟอสซิลปลือกหอยที่ขดม้วนเป็นวง เรียกว่า แอมโมไนท์ (ammonite) และฟอลซิลของ ไตรโลไบท์(Trilobite) สัตว์ที่หากินตามพื้นใต้ทะเลที่มีอยู่มากมายหลายขนาดในยุคแคมเบรียน (Cambrian) นอกจากนั้นยังมีฟอสซิลของเปลือกหอย และปะการังชนิดอื่นๆ อีกหลากหลายทั้งของจริงและที่จำลองมา เช่น brachiopod สัตว์ทะเลประเภทหอยที่มีมากในยุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic) ตู้กระจกบางตู้มีแว่นขยายส่องให้เห็นรายละเอียดฟอสซิลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าผู้ชมเกิดสงสัยว่าในบรรดาฟอสซิลเหล่านี้สิ่งไหนเกิดก่อนเกิดหลัง ก็สามารถหันไปดูได้ที่ตารางเวลาธรณีวิทยาสีสันสดใสซึ่งติดไว้ที่ผนังด้านหนึ่ง ประโยชน์ของตารางนี้คือเพื่อใช้ประกอบคำอธิบายและเปรียบเทียบว่าฟอสซิลใดอยู่ในยุคสมัยใด ซากดึกดำบรรพ์ที่จัดแสดงที่นี่มีทั้งที่พบในประเทศไทยและที่มาจากต่างประเทศ

ส่วนหินและแร่ที่มีให้ชมหลายประเภท รูปร่างสีสันแตกต่างกัน ยกตัวอย่างที่มีลักษณะเด่นด้วยผลึกใสสะดุดตาน่านำเอาไปทำพวกเครื่องประดับ เช่น แร่เขี้ยวหนุมาน (Quartz) หินชนิดนี้ประกอบด้วยซิลิกา มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจเช่น ใช้ในอุตสาหกรรมทำแก้วและเซรามิก ด้วยคุณสมบัติเพิ่มความแข็งแรงของเนื้อผลิตภัณฑ์ ช่วยลดปัญหาการแตกร้าว ส่วนแร่มีหลายชนิด เช่น แร่ใยหิน จาก จ.อุตรดิตถ์ แร่พลอยอ่อน จาก จ.จันทบุรี เป็นต้น นอกจากนั้นก็มีหินรูปร่างแปลกต่างๆ เช่น หินที่พุ่งออกมาจากภูเขาไฟ อาจารย์อัคนีวุธ ชะบางบอน ผู้นำชมเล่าว่าพบได้บริเวณภาคอีสาน เช่น จ.บุรีรัมย์ จ.ศรีสะเกษ เก็บมาจากพื้นโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือช่วยขุดเจาะแต่อย่างใด 

วัตถุจัดที่น่าตื่นเต้นอีกอย่างหนึ่งคือก้อนอุกกาบาตสีดำ ด้านหนึ่งโค้งมนส่วนปลายเรียวแหลม หน้าตาเหมือนไอศกรีมโคนขนาดเล็ก รูปร่างที่ไม่เหมือนใครนี้ มีที่มาจากการเดินทางจากห้วงอวกาศเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก มีบางคนนำอุกกาบาตนี้ไปทำเครื่องประดับหรือเป็นวัตถุนำโชค ให้พลังความมั่นคง สุขุม ว่ากันว่าถ้าเก็บไว้ในบ้าน จะช่วยป้องกันไฟไหม้ และภัยพิบัติต่างๆ หรือถ้าพกติดตัวจะได้เดินทางไปในที่ปรารถนา

ตู้กระจกกลางห้อง แสดงการหาแหล่งเชื้อเพลิงคือปิโตรเลียมในทะเล และโมเดลจำลองเหมืองถ่านหินแม่เมาะที่ จ.ลำปาง โดยแสดงให้เห็นชั้นของแร่ที่เป็นแอ่งขนาดใหญ่ลึกลงไปใต้พื้นดิน ซึ่งต้องใช้เครื่องมือเจาะลงไปเพื่อหาแหล่งแร่

คำอธิบายวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ส่วนใหญ่ระบุชื่อ อายุและสถานที่พบ บางตู้บอกประโยชน์ใช้สอยของแร่หรือหิน คำอธิบายที่ให้รายละเอียดมีอยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด ดังนั้นผู้สนใจเข้าชมที่ไม่มีความรู้ทางด้านธรณีวิทยาหรือมีอย่างจำกัดควรนัดหมายล่วงหน้า เพื่อที่ทางภาควิชาจะได้จัดเจ้าหน้าที่มาอธิบาย อย่างไรก็ดี อาจารย์อัคนีวุธ ผู้นำชม ให้ข้อมูลว่ามีโครงการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ประมาณปีหน้า จะมีไดโนเสาร์จำลองเพิ่มขึ้นและคงมีการปรับปรุงข้อมูลที่จัดแสดงด้วย

แม้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เป็นที่น่ายินดีที่ได้รับความสนใจไม่น้อย จากจำนวนผู้เข้าชมราวพันคนต่อปี มีตั้งแต่เด็กรุ่นประถม มัธยมซึ่งมักจะมาเป็นหมู่คณะ ตลอดจนนิสิตนักศึกษา นอกจากนั้นบางครั้งชาวต่างชาติ ตลอดจนประชาชนที่เดินผ่านไปมาก็แวะเข้ามาเยี่ยมชม นับเป็นแหล่งความรู้ทางธรณีวิทยาเบื้องต้นที่ก่อให้เกิดจินตนาการ เหมาะสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่

เวบไซต์ภาควิชาธรณีวิทยา มีข้อมูลเบื้องต้นให้ศึกษาพอสมควร และยังให้ความรู้ด้านความหมายของคำศัพท์ทางธรณีวิทยาที่อาจไม่มีในพจนานุกรมที่ใช้กันอยู่ทั่วไป หรือถ้าสนใจว่าหินในประเทศไทยมีอะไรบ้าง หน้าตาเป็นอย่างไร ใช้ทำอะไรได้ ดูเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซด์ http://www.soil.civil.mut.ac.th/rock/ 

ผู้เขียน: เกสรา จาติกวณิช

ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนามวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550

ชื่อผู้แต่ง:
-