พิพิธภัณฑ์แสดงว่าวไทย


ที่อยู่:
ร.ร.ทวีธาภิเศก 2 เลขที่ 91/128 หมู่ 8 ถ.บางขุนเทียน-ชายทะเล แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
โทรศัพท์:
0-2452-3737-8
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์-ศุกร์ 09.00-16.00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2545
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์แสดงว่าวไทย

หลายคนคงยังจำกันได้ว่าสมัยยังเป็นเด็ก เวลาปิดเทอมใหญ่กำลังใกล้จะมาถึง สิ่งหนึ่งที่รอคอยกันคือลมว่าว การได้ไปเที่ยวซื้อและดูว่าวที่สนามหลวงเป็นความสุขอย่างหนึ่งของหลายครอบครัว แผงว่าวเรียงเป็นแถวยาวสีสันสดใส ว่าวงูสะบัดหางเล่นลม รูปสัตว์ต่างๆ รูปตัวการ์ตูนที่นิยมกันในแต่ละยุคสมัยล่องลอยอยู่บนท้องฟ้า

นอกจากจะเป็นของเล่นที่ราคาไม่แพงแล้ว ว่าวยังเป็นกีฬาที่ใช้แข่งขันกันอีกด้วย ว่าวจุฬาและว่าวปักเป้าเป็นคู่กัดกันมานานสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีบางพระองค์ก็ทรงโปรดกีฬาชนิดนี้ เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯให้จัดการแข่งขันว่าวชิงถ้วยพระราชทานขึ้นที่สนามหลวง นอกจากนั้นยังจัดในวาระพิเศษเมื่อมีทูตจากต่างประเทศเดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีด้วย

นอกจากการแข่งขันระหว่างว่าวจุฬาและว่าวปักเป้า ที่สนามหลวงยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่าง ในปีพ.ศ. 2527 ทางกรุงเทพมหานครได้จัดงานประเพณีว่าวไทยขึ้น ในงานนี้มีการประกวดว่าวภาพและนิทรรศการว่าว กิจกรรมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดแนวคิดในการทำพิพิธภัณฑ์ว่าวไทยขึ้น

พิพิธภัณฑ์ว่าวไทยตั้งอยู่ในโรงเรียนทวีธาภิเศก 2 จากถนนพระราม 2 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล ประมาณ 9 กิโลเมตร โรงเรียนอยู่ทางขวาสังเกตได้จากธงชาติขนาดใหญ่โบกไสวอยู่กลางทุ่ง เป็นสถานที่เหมาะสมมากสำหรับการเล่นว่าว เพราะเป็นที่โล่งใกล้ทะเล มีลมพัดผ่านตลอดปี

การทำพิพิธภัณฑ์มีจุดเริ่มต้นมาจาก คุณมนูญ ไตรรัตน์ อดีตอุปนายกและเลขาฯสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นหลานเจ้าของที่ดินซึ่งบริจาคที่ให้แก่โรงเรียน ได้ร่วมกับทางโรงเรียนจัดกิจกรรม ”โครงการว่าวไทยต้านภัยยาเสพติด” ขึ้นในปีพ.ศ.2541 นับว่าเป็นกิจกรรมที่ได้ประโยชน์หลายประการทั้งการต่อต้านยาเสพติดที่แพร่เข้ามาในกลุ่มเยาวชน ส่งเสริมการเล่นกีฬาไทย และยังเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนพัฒนาฝีมือทางศิลปะให้แก่นักเรียน ในการประกวดผู้แข่งขันจะต้องวาดภาพและเขียนคำขวัญต่อต้านยาเสพติด แล้วจึงนำภาพที่วาดบนกระดาษไปติดโครงว่าวที่จัดไว้ให้ ต่อจากนั้นจึงนำว่าวขึ้น ว่าวที่ใช้ในการประกวดได้แก่ ว่าวงู ว่าวอีลุ้ม และว่าวแซงแซว ต่อมาได้เพิ่มหัวข้อการประกวด คือเรื่องสิ่งแวดล้อม และการเทิดพระเกียรติ ผลจากการประกวดคือทำให้มีว่าวที่ได้รับรางวัลเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี ทางโรงเรียนจึงนำว่าวเหล่านี้และว่าวจากภาคต่างๆในประเทศไทยมาจัดแสดง พิพิธภัณฑ์ว่าวไทยจึงถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ.2545

เนื้อหาที่จัดแสดงได้แก่ประวัติความเป็นมาของว่าวไทย การเล่นว่าว อุปกรณ์ที่ใช้ทำว่าว ว่าวจากภาคต่างๆ ว่าวนานาชาติ และว่าวฝีมือนักเรียน ส่วนว่าวที่จัดแสดงมีตั้งแต่ว่าวจุฬาตัวเล็กที่สุดในประเทศไทย ขนาดใส่กล่องไม้ขีดไฟได้ ว่าวปักเป้าตัวเล็กกว่าครึ่งหนึ่งของเหรียญสลึง ไปจนถึงว่าวสองห้องขนาดใหญ่คานกลางยาว 7-8 เมตร ซึ่งเป็นแชมป์จากจังหวัดบุรีรัมย์ ว่าวอีกหลายตัวได้รับรางวัลจากการแข่งขันระดับชาติ บางตัวเขียนด้วยแบบลายไทยสวยงามเป็นรูปปลาและสัตว์คล้ายนาคเกี่ยวกระหวัดกัน บางตัวใช้ตัวละครและเรื่องราวในวรรณคดีมาเขียน เช่น รูปหนุมาน และรูปรามสูรกำลังขว้างขวานไปที่นางเมขลา ส่วนว่าวรูปสัตว์มีหลายตัว เช่น นก ผีเสื้อ เต่า งู และมังกร เป็นต้น 

ห้องที่ใช้จัดแสดงในปัจจุบัน ทางโรงเรียนใช้เป็นห้องโสตฯและห้องประชุมด้วย พื้นที่ที่จัดแสดงจึงใช้ผนังรอบห้องประชุมและเพดาน ว่าวส่วนหนึ่งจัดแสดงตู้กระจกด้านหลังและด้านข้าง ส่วนที่เหลือติดเรียงไปตามผนังและด้านหน้าซึ่งเป็นเวที เนื้อหาส่วนหนึ่งจัดแสดงบนบอร์ดนิทรรศการซึ่งพับเก็บได้ เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายและการจัดนิทรรศการนอกสถานที่

เรื่องเล่าของว่าวในพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจเช่น “ว่าวจุฬา” ด้วยรูปร่างที่สวยงาม อีกทั้งเป็นกีฬาประจำชาติ จึงมีความโดดเด่นอย่างมาก จากบอร์ดนิทรรศการเล่าถึงประวัติการแข่งขันว่าวจุฬาและปักเป้าเสริมด้วยเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ ภายในตู้กระจกยังจัดแสดงอาวุธของทั้งสองฝ่าย อาวุธของว่าวจุฬาเรียกว่า ”จำปา” เอาไว้เกี่ยวว่าวปักเป้า ส่วนอาวุธของว่าวปักเป้าเรียกว่า”เหนียง” เป็นห่วงใช้คล้องว่าวจุฬา

ทางภาคตะวันตกของกรุงเทพจากสมุทรสาครลงมาจนถึงเพชรบุรีนิยมเล่นว่าวจุฬาแบบหนึ่งเรียกว่า”ว่าวจุฬาส่ายเร็ว” ในการแข่งขันกัน ว่าวที่ใช้แข่งมีขนาดอกอยู่ที่ 50 และ 75 เซนติเมตร การแข่งไม่ได้นำมาคว้ากัน แต่จะดึงว่าวจนติดลมบนแล้วนำมาผูกไว้ที่หลัก ผู้ชักจะจับสายป่านไม่ได้ ว่าวที่ขึ้นสูงกว่าตัวอื่น แต่ส่ายอยู่กับที่ เร็วกว่าว่าวตัวอื่นจึงจะได้ชัยชนะ ว่าวจุฬาชนิดนี้จะมีโครงสร้างและสัดส่วนที่มีมาตรฐาน 

ว่าวของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีลักษณะคล้ายกันคือเป็นรูปวงรีหรือปีกสองชิ้น วงบนใหญ่กว่าวงล่าง มีแถบตรงกลางเชื่อมต่อกัน แต่เรียกชื่อต่างกัน ภาคเหนือเรียกว่าว่าวหง่าว ปรากฏชื่อตั้งแต่สมัยสุโขทัยในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์กล่าวไว้ว่า “เดือนยี่ถึงการพระราชพิธีบุษยาภิเษก หมู่นางในได้ดูชุดชักว่าวหง่าว ฟังสำเนียงเสียงว่าวร้องเสนาะลั่นฟ้าไปทั้งทิวาราตรี” ส่วนที่ทำให้เกิดเสียงเรียกว่าแอก หรือ อูด ลักษณะคล้ายธนู ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่าว่าวสองห้อง ชาวนาทำขึ้นเพื่อใช้เป็นเพื่อนเฝ้านาเพราะมีเสียง และใช้ใน”การตัดกรรม” โดยผูกเครื่องสังเวยติดว่าวขึ้นไปเซ่นไหว้เทวดา หรือใช้สักการะพระจุฬามณีบนสวรรค์

ว่าวที่นิยมเล่นกันทางใต้มีหลายแบบ ทั้งว่าววงเดือน ว่าวควาย และว่าวนก ว่าวเหล่านี้มีโครงสร้างสวยงามแปลกตา ว่าววงเดือนมีสองชนิด แบบที่มีแอกจะมีเสียง นิยมชักแล้วทิ้งไว้ข้ามคืน ส่วนแบบที่สองไม่มีแอกใช้แข่งขันประลองว่าว่าวของใครขึ้นได้สูงกว่าในเวลาเดียวกันเป็นฝ่ายชนะ ส่วนการแข่งขันว่าวนก เชือกที่ชักจะกำหนดความยาวไว้200 เมตร ว่าวที่พุ่งขึ้นด้วยองศาที่มากกว่าในเวลาที่กำหนด คือ 10นาที จึงเป็นผู้ชนะ ว่าวแบบดังกล่าวนี้พบในประเทศมาเลเซียด้วย ว่าววงเดือนและว่าวนกของมาเลเซียที่จัดแสดงที่นี่สีสันนุ่มนวล พื้นเป็นสีชมพูอมส้ม ลวดลายดอกไม้ใบไม้ชวนให้นึกถึงลวดลายของโสร่งที่ใช้นุ่งทางภาคใต้ 

ตู้กระจกท้ายห้อง จัดแสดงว่าวหลายประเภท ส่วนหนึ่งเป็นว่าวที่ได้รับรางวัลจากโครงการว่าวไทยต้านภัยยาเสพติด ส่วนหนึ่งเป็นว่าวจากต่างประเทศ เช่น ว่าวสามมิติรูปมังกรไฟ สีชมพูสด และว่าวที่ศิลปินนักทำว่าวจากประเทศจีนมอบให้เมื่อเดินทางมาเยี่ยมชม

อาจารย์สมคิด ประสานพิมพ์กล่าวว่าผู้เข้าชมส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษาและประชาชนในท้องถิ่น สำหรับผู้สนใจกิจกรรมประกวดว่าวไทย ทางโรงเรียนจะจัดในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ในงานมีการแข่งขันกีฬาไทยให้ชมด้วย เช่น การแข่งขันสะบ้าไทย กระบี่กระบอง เป็นต้น 

การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ควรติดต่อล่วงหน้า เพราะห้องนี้อาจใช้ในกิจกรรมอื่นด้วย มีนักเรียนจากชุมนุมมัคคุเทศก์น้อยคอยให้ข้อมูลและบริการนำชม นอกจากนั้นยังมีว่าวจุฬาตัวจิ๋วฝีมือนักเรียนชุมนุมประดิษฐ์ว่าวจิ๋วจำหน่ายเป็นของที่ระลึก สำหรับโครงการในอนาคต อีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า ทางพิพิธภัณฑ์จะสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ทรงไทยขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดแสดง

ผู้เขียน: เกสรา จาติกวณิช

ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนามวันที่ 22 พฤษภาคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-