พิพิธภัณฑ์นาฬิกาโบราณ


พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นของสะสมของคุณดิลก มหาดำรงค์กุล ประธานกลุ่มบริษัทศรีทองพานิชย์ ซึ่งสมัยยังหนุ่มมีอาชีพเป็นช่างซ่อมนาฬิกา จำนวนนาฬิกาที่สะสมไว้มีมากกว่า 800 เรือนจัดแสดงนาฬิกาโบราณหลายประเภท ทั้งแบบตั้งพื้น แบบแขวนผนัง นาฬิกาข้อมือ นาฬิกาแบบพกพา เรือนที่เก่าแก่ที่สุดของพิพิธภัณฑ์นี้ มีอายุประมาณ 200 ปี เป็นนาฬิกาแบบตั้งพื้นเรือนใหญ่ ส่วนเรือนที่มีอายุน้อยที่สุดประมาณ 30-40 ปี เป็นนาฬิกาข้อมือ ซึ่งเป็นเรือนแรกของแบบที่มีการผลิต นาฬิกาโบราณต่าง ๆ ดังกล่าวได้มาจากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงของประเทศไทยด้วย

ที่อยู่:
ชั้น 3 อาคารเลอคองคอร์ดพลาซ่า ถ.รัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์:
02 694-1705
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันจันทร์ - เสาร์ 09.00-18.00 น.เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ห้ามถ่ายภาพ)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2545
จัดการโดย:
เนื้อหา:

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์นาฬิกาโบราณ

ชื่อผู้แต่ง: ทัศนา | ปีที่พิมพ์: 11,4 (เม.ย.37) หน้า92-97

ที่มา: กินรี

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

ย้อนเวลาไปกับนาฬิกาโบราณ

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 27 มีนาคม 2552

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์นาฬิกาโบราณ

การวัดเวลาของมนุษย์ในสมัยโบราณเริ่มจากการสังเกตและอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก เช่น นาฬิกาแดด นาฬิกาทราย การใช้เทียนไข และนาฬิกาที่ใช้กะลาเจาะรูแล้ววางลอยน้ำให้ค่อยๆจมลง ต่อมาจึงมีการนำเครื่องจักรกลเข้ามาผลิตนาฬิกา โดยใช้พลังงานจากแรงดึงดูดของโลก สปริง แรงแกว่งของลูกตุ้ม (Pendulum) ตามมาด้วยไฟฟ้า

นาฬิกาจักรกลเริ่มประดิษฐ์ขึ้นที่ไหนไม่พบหลักฐานที่ระบุชัดเจน ในยุโรปมีหลักฐานกล่าวถึงนาฬิกาในคริสตศตวรรษที่13 นาฬิกาที่เก่าที่สุดและยังคงสภาพอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เป็นนาฬิกาขนาดใหญ่ของโบสถ์ Salisbury (ค.ศ.1386) วิธีทำงานของนาฬิกาตามหอนาฬิกาในยุคแรกใช้มือหมุนลานที่เชื่อมกับลวดสลิงผ่านฟันเฟืองจักร ปลายของลวดถ่วงด้วยตุ้มน้ำหนัก การไขลานจะทำให้ตุ้มน้ำหนักถูกดึงขึ้นไปอยู่บริเวณสูงสุดของหอคอย แล้วกลไกจะค่อยๆปล่อยตุ้มน้ำหนักลงมาเรื่อยๆจนสุด นาฬิกาจึงหยุดเดิน ต่อมาการไขลานใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแทน

ความคิดที่นำพลังงานจากการแกว่งกลับไปกลับมาของลูกตุ้ม (Pendulum) มาใช้กับนาฬิกาเริ่มมาจากกาลิเลโอ ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่ผู้ที่นำพลังงานดังกล่าวมาใช้ควบคุมการทำงานของนาฬิกาอย่างได้ผลเป็นชาวฮอลันดา(Chistiaan Huygens) วิธีนี้ควรใช้กับนาฬิกาที่อยู่ติดที่อย่างนาฬิกาตั้งพื้นและนาฬิกาติดผนัง เพราะความสม่ำเสมอในการแกว่งของลูกตุ้มมีผลต่อความเที่ยงตรงของนาฬิกา ส่วนใหญ่มักจะแกว่งหนึ่งครั้งต่อหนึ่งวินาที และมีการตีบอกเวลาแต่ละชั่วโมง บางเรือนตีบอกทุกสิบห้านาทีด้วย

ในยุคนั้นการผลิตนาฬิกาไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนและการประกอบทำด้วยมือ ในราวคริสตศตวรรษที่ 20 จึงมีการผลิตชิ้นส่วนในโรงงาน ประเทศที่มีการผลิตนาฬิกาได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และ ฮอลแลนด์ นาฬิกาที่ได้รับความนิยมแพร่หลายคือนาฬิกาตั้งพื้น (Grandfather clock) ลักษณะเป็นตู้ไม้ทรงสูง มีหน้าปัดด้านบน ส่วนล่างเป็นพื้นที่สำหรับลูกตุ้ม คริสตศตวรรษที่ 18 เป็นยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมผลิตนาฬิกาในอังกฤษ สำหรับสวิสมีชื่อเสียงด้านการผลิตนาฬิกาขนาดเล็ก (watch) ซึ่งคงมาจากทางฝรั่งเศสในราวคริสตศตวรรษที่ 16 เมืองสำคัญคือเจนีวา

โลหะเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตนาฬิกายุคแรกๆ ทั้งชิ้นส่วนในเครื่องและตัวเรือน ส่วนใหญ่ใช้ทองเหลืองและเหล็ก ในราวยุคที่นำลูกตุ้มมาใช้ในฮอลแลนด์ จึงมีการทำตัวเรือนด้วยไม้ โดยเริ่มจากกล่องไม้ธรรมดา ช่างนาฬิกาชาวอังกฤษมีส่วนอย่างมากในการปรับปรุงรูปโฉมให้สวยงาม โดยนำรูปแบบการตกแต่งสถาปัตยกรรมมาใช้ ไม้ที่นิยมใช้ เช่น ไม้โอ๊ค วอลนัท และมะฮอกกานี บางเรือนการประดับประดาด้วยการฝังโลหะเป็นลวดลาย การขลิบทอง การลงยา และนำวัสดุอื่นมาใช้ เช่นหินอ่อนที่มีลวดลายสวยงาม ทำให้นาฬิกาในยุคนี้จำนวนไม่น้อยเป็นงานฝีมือที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางศิลปะ จนเป็นหนึ่งในของสะสมของพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก

ตัวอย่างของนาฬิกาแบบโบราณสไตล์ยุโรปในยุคที่กล่าวข้างต้น สามารถมาชมได้ที่พิพิธภัณฑ์นาฬิกาโบราณ อยู่บนชั้น 3 อาคารเลอคองคอร์ด พลาซา นาฬิกาที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นของสะสมของคุณดิลก มหาดำรงค์กุล ประธานกลุ่มบริษัทศรีทองพานิชย์ ซึ่งสมัยยังหนุ่มมีอาชีพเป็นช่างซ่อมนาฬิกา จำนวนนาฬิกาที่สะสมไว้มีมากกว่า 800 เรือน แต่เนื่องจากเนื้อที่จำกัดจึงจัดแสดงประมาณ 300 - 400เรือน โดยมีการหมุนเวียนปีละ 1-2 ครั้ง เรือนที่เก่าที่สุดอายุราวสองร้อยกว่าปี นาฬิกาส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูลว่าผลิตขึ้นเมื่อใด บางเรือนซื้อต่อมาจากคนอื่นซึ่งบางครั้งไม่ทราบว่ามาจากไหน การออกแบบจัดวางวัตถุจึงดูจากความสวยงามเหมาะสม และมีป้ายอธิบายอยู่ประปรายตามข้อมูลเท่าที่หาได้

จากการสัมภาษณ์คุณสุชาติ บางตระกูลนนท์ ผู้ดูแล คนไทยตั้งชื่อเรียกนาฬิกาแต่ละรูปแบบเอง บางชื่อมาจากแหล่งที่มา บางชื่อมาจากลักษณะเด่น เช่น เรียกนาฬิกาตั้งพื้น ตัวเรือนทำด้วยไม้ที่ฝรั่งเรียกว่านาฬิกาคุณปู่ (grandfather clock) ว่า”นาฬิกาปารีส” ส่วนนาฬิกาขนาดย่อมลงมาที่ใช้แขวนติดผนังตัวเรือนไม้เช่นกัน และมีการทำงานคล้ายกัน คนไทยเรียกว่า “นาฬิกาลอนดอน” แม้ว่าความจริงจะมีการผลิตในประเทศอื่นๆ ในยุโรปด้วย นาฬิกาแบบหลังบางครั้งจะมีรูปสัตว์ประดับด้านบน ถ้าเป็นม้าแสดงว่าเป็นของอังกฤษ ถ้าเป็นนกอินทรีแสดงว่ามาจากเยอรมัน ต่อมาภายหลังมีการทำเลียนแบบจากจีนหรือญี่ปุ่นทำให้ระบุได้ยาก มีนาฬิกาอีกแบบหนึ่งที่หน้าตาคล้าย “นาฬิกาลอนดอน” แต่ราคาแพงกว่ามาก คนไทยเรียกว่า “นาฬิกาไหมซอ” เพราะสายถ่วงใช้วัสดุชนิดเดียวกับสายซอ นาฬิกาแบบนี้ไขลานครั้งหนึ่งอยู่ได้เจ็ดวัน การนำเข้าบางครั้งสั่งตัวเครื่องนาฬิกามาจากต่างประเทศแต่ตัวเรือนไม้ทำขึ้นในไทยหรือประเทศอื่นที่เป็นผู้นำเข้าเช่น จีน และพม่าก็มีอยู่ไม่น้อย นาฬิกาส่วนใหญ่ของที่นี่คงนำเข้ามาในราวสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นนาฬิกาเรือนไม้ โดยเฉพาะนาฬิกาตั้งพื้นและนาฬิกาแขวนผนัง

นาฬิกาที่ทำจากวัสดุอื่น เช่นโลหะ และหินก็มีบ้าง มักเป็นนาฬิกาตั้งโต๊ะที่มีการสลักและประดับประดาอย่างสวยงามราวกับเป็นงานศิลปะ บางเรือนฝังลวดลายเป็นเส้นโลหะลงในหิน บางเรือนใช้เทคนิคการลงยาทำให้มีสีสันสดใสบ้างก็มีรูปผู้หญิงสาวและสัตว์ต่างๆมาประดับ

นาฬิกาบางเรือนชื่อออกจะน่ากลัวแต่แฝงด้วยอารมณ์ขันแบบไทยๆ เช่น “นาฬิกากระสือ” คือนาฬิกาติดผนังแบบนาฬิกาลอนดอน แต่ส่วนล่างที่ตุ้มห้อยลงจะไม่มีกล่องปิด เข้าใจว่าส่วนบนเปรียบเป็นหัว ส่วนตุ้มที่ห้อยลงมาเป็นไส้ที่แกว่งไปมา อีกแบบหนึ่งคือ”นาฬิกาตาเหลือก” ของที่นี่เป็นนาฬิกาแขวนผนัง แตกต่างตรงที่ส่วนตุ้มเป็นรูปพระอาทิตย์มีตาที่เหลือกขึ้นลงได้ตามการแกว่งของตุ้ม นาฬิกาติดผนังของจีนเรือนหนึ่งทำด้วยโลหะ มีภาพตัวละครในเรื่องไซอิ๋วขยับไปมาได้อยู่ส่วนบน

นาฬิกาแปลกๆ หรือที่มีคุณสมบัติพิเศษอยู่หลายเรือน เช่น “นาฬิกาปารีส” ตั้งพื้นเรือนใหญ่เรือนหนึ่งมาจากฝรั่งเศส (ค.ศ.1928) สามารถช่วยบอกเวลาคนตาบอดได้จากการตี คือตีทุกสิบห้านาทีแล้วต่อด้วยการตีบอกชั่วโมง สังเกตได้จากมีลูกตุ้มถ่วงอยู่สามลูก นาฬิกาเรือนหนึ่งไขลานครั้งเดียวอยู่ได้ถึง 400 วัน นาฬิกาที่ออกแบบให้ตุ้มอยู่ด้านบนแทนที่จะอยู่ด้านล่างก็มี นอกจากนั้นก็นาฬิกาที่มีตราแผ่นดิน นาฬิกาที่มีหน้าปัดเป็นเลขไทย แสดงว่ามีการสั่งทำ นาฬิกาบางเรือนมีหน้าปัดเป็นสีฟ้าแทนที่จะเป็นสีขาว คุณสุชาติบอกว่าความจริงรุ่นนี้มีถึงเจ็ดสี ราคาสูงถึงหลักแสน แต่หานักสะสมที่มีครบสีได้ยาก

ส่วนนาฬิกาขนาดเล็กก็มีนาฬิกาพกอยู่หลายเรือน บางเรือนตัวเรือนเป็นทอง๑๘เค หน้าปัดเป็นกระเบื้อง บางเรือนหน้าปัดเป็นเลขไทย เรือนหนึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ด้านข้างของรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในสมัยนั้นนาฬิกาพกคงเป็นของฝากอย่างหนึ่งที่พระราชทานแก่เหล่าข้าราชบริพาร นอกจากนั้นยังมีนาฬิกาขนาดจิ๋วเท่าเม็ดกระดุม ตู้กระจกตู้หนึ่งจัดแสดงนาฬิกาข้อมือของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อีกตู้หนึ่งเป็นนาฬิกาฝังเพชรแต่ละรุ่นของราโด ไดสตาร์ ซึ่งศรีทองพาณิชย์เป็นตัวแทนจัดจำหน่าย

สิ่งที่น่าสนใจคือโต๊ะไม้เก่าๆ ตัวหนึ่ง ด้านบนเป็นกระจกมีลายมือเขียนด้วยสีแดงว่ารับซ่อมนาฬิกา โต๊ะตัวนี้เป็นของคุณดิลกซึ่งรับช่วงต่อจากพี่ชาย ในสมัยวัยรุ่นมีอาชีพซ่อมนาฬิกา โดยนั่งบนบาทวิถีแถวสามแยก โต๊ะไม้ตัวนี้มีการต่อขาให้สูงขึ้นตามส่วนสูงของเจ้าของซึ่งเติบโตขึ้นตามวัย

เนื่องจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการประชาสัมพันธ์น้อย ดังนั้นนอกจากแขกของคุณดิลกผู้เป็นเจ้าของแล้ว ผู้เข้าชมส่วนใหญ่เป็นลูกค้าคนไทยที่มาใช้บริการในโรงแรมเช่นมาประชุม สัมมนา เมื่อมีเวลาว่างก็เดินเข้ามาชม มีบ้างที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

เรื่อง/ภาพ เกสรา จาติกวนิช 

สำรวจ: 15 มกราคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-