พิพิธภัณฑ์กรมสรรพากร


ที่อยู่:
กรมสรรพากร 90 ซอยพหลโยธิน 7 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์:
02-6173704, 02-6173320
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2544
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย: -

วันที่: 11 มิถุนายน 2555

โดย: -

วันที่: 11 มิถุนายน 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์กรมสรรพากร

การจัดเก็บภาษีอากรมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ  แต่การจัดระเบียบจนมาเป็นกรมสรรพากรอย่างในปัจจุบันเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เริ่มมาจากทรงวางแผนปฏิรูปการปกครอง  มีการวางระเบียบกิจการคลังใหม่โดยพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้นในปี พ.ศ.2416 เพื่อเก็บรายได้ภาษีอากรของแผ่นดินมารวมไว้ ณ ที่แห่งเดียว  ต่อมาจึงยกเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีเสนาบดีประจำ  ในปีพ.ศ.2435 การภาษีอากรได้ปรับปรุงใหม่  โดยแต่งตั้งข้าหลวงคลังไปประจำทุกจังหวัดและทุกมณฑลเพื่อทำหน้าที่เก็บภาษีอากรจากราษฎรโดยตรงแล้วรวบรวมรายได้ทั้งหมดส่งมารวมไว้ ณ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ  ราษฎรไม่ต้องเสียภาษีอากรมากน้อยลักลั่นกันเหมือนแต่ก่อน  ส่งผลให้รายได้ของแผ่นดินเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

ครั้นเมื่อกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย  เสด็จมาเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลัง ท่านได้ให้ฝรั่งผู้ชำนาญการมาเป็นเจ้ากรมสรรพากร  โดยมิสเตอร์เกรแฮม  มาเป็นเจ้ากรมสรรพากรใน ขึ้นอยู่กับกระทรวงนครบาล ส่วนมิสเตอร์ไยส์ (ภายหลังได้เป็นพระยาอินทรมนตรี ศรีจันทรกุมาร) มาเป็นเจ้ากรมสรรพากรนอก อยู่ในกระทรวงมหาดไทย
           
พิพิธภัณฑ์กรมสรรพากรมีอยู่ที่ตึกสรรพากร  สำนักงานใหญ่  ส่วนจัดแสดงมี 2 แห่ง คือบริเวณห้องโถงชั้น 2  บริเวณหน้าห้องประชุมสัมมนา  และอีกแห่งคือในห้องบริเวณชั้นสองของตึกเก็บเอกสาร
           
ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์มี 3 ท่านคือ คุณไพบูลย์ โลหะประภากุล นักวิชาการสรรพากรชำนาญการ   คุณพบพิมพ์ สิงหเดชา  นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ    คุณเพ็ญพร  เลิศจรัสยิ่ง  นักวิชาการเงินและบัญชีชำนาญการ
           
การจัดแสดงบริเวณห้องโถงชั้น 2  มีภาพของเจ้ากรมสรรพากรตั้งแต่ยุคแรกๆ เรื่อยมา  ส่วนสิ่งของจัดแสดงส่วนใหญ่มีขนาดเล็กใส่ตู้กระจกไว้พร้อมคำอธิบาย  อย่างเช่น  เซฟหีบเหล็กขนาดเล็ก  ใช้เก็บเงินและเอกสาร  เริ่มนำมาใช้ในปีพ.ศ. 2500  ลูกคิดเป็นอุปกรณ์ใช้คำนวณเลขในระยะแรกๆ เริ่มนำมาใช้เมื่อปี พ.ศ.2485  อากรแสตมป์  รุ่นแรกจัดพิมพ์จากบริษัท โทมัสเดอลารู จำกัด ประเทศอังกฤษ ลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2482 เลิกใช้เมื่อปี พ.ศ. 2527  หนังสือที่เป็นเล่มเก่าแก่คือ ประมวลรัษฎากร  ซึ่งได้มีการตราพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรเป็นครั้งแรก  เมื่อปี พ.ศ. 2481  โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 ประมวลรัษฎากรฉบับนี้เป็นการรวบรวมพระราชบัญญัติภาษีต่างๆเข้าไว้เป็นประมวลเล่มเดียว  และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาหลายครั้งจนกระทั่งปัจจุบัน  นอกจากนี้ก็มีใบเสร็จรุ่นแรก  เอกสารภาษี  เครื่องคิดเลขชนิดมือหมุน  เครื่องพิมพ์ดีด เป็นต้น
           
ในการจัดแสดงอีกส่วนหนึ่งมีสิ่งของมากมาย  อยู่ในห้องชั้นสองของอาคารเก็บเอกสาร  ส่วนนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก  แม้แต่คนที่ทำงานที่นี่  เนื่องมาจากทำเลที่ตั้งของห้องไม่โดดเด่น  และยังไม่ได้มอบหมายความผิดชอบในการนำชมหรือดูแลจัดการพิพิธภัณฑ์ให้กับฝ่ายใดอย่างชัดเจน  ที่นี่ได้เก็บรวมรวมเครื่องใช้สำนักงานมาจากสรรพากรในต่างจังหวัดที่ได้ใช้จริงในอดีต  มีตู้ไม้  โต๊ะทำงาน  อุปกรณ์สำนักงาน  การจัดแสดงบางส่วนอยู่ในตู้ไม้ปิดกระจก  บางส่วนวางเรียงกันบนโต๊ะขนาดใหญ่  อันที่ดูโบราณคลาสสิกน่าจะเป็นกำปั่นเหล็ก  มีหลากหลายรูปแบบวางเรียงกันอยู่ที่พื้น  กำปั่นเหล็กพวกนี้ใช้เก็บรักษาเงิน  อากรแสตมป์  ใบเสร็จรับเงินและเอกสารตัวแทนเงิน  อันที่มาจากอำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย  ได้ใช้มาในปี พ.ศ.2460  ส่วนที่มาจากสำนักงานสรรพากรจังหวัดสระบุรี  ได้ใช้ในปี พ.ศ. 2476
           
อันที่ดูแปลกตาลักษณะเป็นท่อนเหล็กยาวเป็นข้อๆ อันนี้เรียกว่าเส้นกระแส  ใช้สำหรับวัดขนาดของที่ดินเพื่อการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่  มีความยาว 20 เมตร  เส้นกระแสถูกนำมาใช้ในปี พ.ศ. 2505  เลิกใช้งานในปี พ.ศ. 2508  เนื่องจากมีการโอนการจัดเก็บภาษีดังกล่าวไปให้กรมการปกครอง
           
ที่รู้จักกันค่อนข้างดีได้แก่ลูกคิด  ใช้ในการคำนวณเลขในระยะแรกๆของการจัดเก็บภาษี  ลูกคิดที่จัดแสดงอันหนึ่ง  ตัวลูกคิดและรางทำด้วยไม้  ส่วนก้านทำด้วยเขาสัตว์ นำมาใช้เมื่อปี พ.ศ.2485  ได้มาจากสำนักงานสรรพากรจังหวัดชัยนาท  และเลิกการใช้งานไปภายหลังจากที่ได้มีการนำเครื่องคำนวณชนิดมือโยกมาใช้แทน
           
ส่วนที่วางจัดแสดงบนโต๊ะส่วนใหญ่เป็นเครื่องพิมพ์ดีด  เครื่องจำหน่ายตั๋ว  เครื่องคิดเลขและเครื่องคำนวณแบบสมัยก่อน  อย่างเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย ยี่ห้อเรมินตัน  มีขนาดเล็กพร้อมกระเป๋าหิ้ว ใช้พิมพ์หนังสือราชการ นำมาใช้เมื่อปี พ.ศ.2499 ได้มาจากสำนักงานสรรพากรจังหวัดอุทัยธานี  เลิกใช้งานเมื่อปี พ.ศ.2532  เครื่องจำหน่ายตั๋ว  เป็นเครื่องจำหน่ายตั๋วเข้าชมการแข่งม้ายี่ห้อ NCR เริ่มนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2510 ได้มาจากกองคลัง  เครื่องคิดเลขชนิดมือหมุน ยี่ห้อเอเวอร์เรส ใช้สำหรับบวกลบจำนวนตัวเลขในการจัดเก็บภาษีอากร  นำมาใช้ในปี พ.ศ.2479  ราคาในขณะนั้นประมาณเครื่องละ 430 บาท ได้มาจากสำนักงานสรรพากร  จังหวัดสมุทรสงครามและเลิกใช้งานในปี พ.ศ.2530  เครื่องคำนวณเลขชนิดมือโยก  ยี่ห้อโอลิเวตติ ขนาดกลาง  นำมาใช้คำนวณตัวเลขในปี พ.ศ.2508 ได้มาจากกองตรวจภาษีอากรและเลิกใช้งานเมื่อปี พ.ศ.2535
           
เมื่อถามถึงการรวบรวมเครื่องใช้สำนักงานมาจากสรรพากรต่างจังหวัด  คุณไพบูลย์บอกว่าเป็นความพยายามที่จะเก็บรักษาสิ่งของเหล่านี้ไว้  ซึ่งต้องประกอบกับสำนักงานสรรพากรในต่างจังหวัดด้วยว่าเขายังดูแลไว้หรือไม่  บางแห่งเก็บรักษาไว้ดีมาก  และนำส่งมาให้เก็บรักษาไว้ที่นี่  พร้อมทั้งให้ข้อมูลรายละเอียดสิ่งของในแต่ละชิ้น  ทางสำนักบริหารการคลังและรายได้   ส่วนพัสดุครุภัณฑ์ โดยนางปราณี ชัยวิมลผลิน  นักวิชาการพัสดุชำนาญการ  ปัจจุบันได้เกษียนราชการแล้ว ได้ทำทะเบียนสิ่งของไว้อย่างละเอียดทุกชิ้น
           
ในฐานะเป็นบุคลากรในกรมสรรพากร  ทั้งสามท่านต่างคาดหวังว่าในอนาคตจะได้มีสถานที่จัดแสดงที่โดดเด่นเป็นสง่า  พร้อมที่จะบอกเล่าเรื่องราวของกรมสรรพากรที่มีความเป็นมายาวนาน        
 
-----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 3  เดือนมิถุนายน  พ.ศ. 2554
----------------------------------------------------
การเดินทาง :รถโดยสารประจำทางที่ผ่าน สาย 8, 26, 29, 34, 54, 59, 74, 77, 97, 136, 502,ปอ.พ.8,ปอ.44,ปอ.67,ปอ.536
สามารถใช้รถไฟฟ้า BTS (สถานี อารีย์)
-----------------------------------------
อ้างอิง  : พิพิธภัณฑ์กรมสรรพากร. http://www.rd.go.th/publish/3448.0.html [Accessed  14/07/2011]
ชื่อผู้แต่ง:
-