พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก ร.ร.เศรษฐบุตรบำเพ็ญ


ที่อยู่:
โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ 88 หมู่ 3 ถนนรามอินทรา แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ 10510
โทรศัพท์:
0-2517-1230
โทรสาร:
0-2517-3637
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00 – 15.00 น. (กรุณาติดต่อล่วงหน้า และขอให้ทำหนังสือขอเข้าชมส่งให้กับทางโรงเรียนก่อน)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2539
ของเด่น:
เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของโรงเรียน, ประวัติความเป็นมาของเมืองมีนบุรี, ภูมิปัญญาชาวบ้าน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

ผังจัดแสดงพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก ร.ร...

โดย: -

วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2557

ผังจัดแสดงพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก ร.ร...

โดย: -

วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2557

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก ร.ร.เศรษฐบุตรบำเพ็ญ

โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2454 ชื่อเดิมว่า “โรงเรียนวัดแสนแสบ” (ปัจจุบันคือวัดแสนสุข) แต่เนื่องจากที่ตั้งเดิมนั้นห่างไกลจากชุมชน การคมนาคมก็ยังไม่สะดวก นักเรียนที่ต้องการไปโรงเรียนต้องเดินลัดตามทุ่งนาหรือไปทางเรือเท่านั้น อีกทั้งอาคารเรียนเริ่มทรุดโทรม ทำให้ ใน ปี พ.ศ.2468 นายณรงค์ วีริยินทะ ครูใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากนายเลิศ เศรษฐบุตร หรือพระยาภักดีนรเศรษฐ เจ้าของบริษัทเรือเมล์ขาวที่วิ่งขึ้นล่องในคลองแสนแสบ ให้บริการรับส่งผู้โดยสารระหว่างกรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา ซึ่งก็ได้รับเงินบริจาคมาจากนายเลิศและภรรยา จนสามารถมาสร้างอาคารเรียนใหม่ได้ในบริเวณตัวเมืองมีนบุรี เมื่ออาคารหลังใหม่สร้างแล้วเสร็จก็เปิดสอนในฐานะโรงเรียนประจำจังหวัดเศรษฐบุตรบำเพ็ญ (ในเวลาดังกล่าวเมืองมีนบุรีมีสถานะเป็นจังหวัดหนึ่ง) ใน พ.ศ.2489 เมื่อจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้นกระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนสตรีขึ้นที่โรงเรียนแห่งนี้ แล้วแยกนักเรียนชายไปยังโรงเรียนที่สร้างใหม่ ซึ่งก็คือโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญในปัจจุบัน ส่วนโรงเรียนเดิมนั้นใช้ชื่อว่าโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ        
 
ประวัติพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งโดยคณะผู้บริหารโรงเรียนและผู้ปกครองนักเรียน ด้วยเงินบริจาคทั้งสิ้น 3,392,511.39 บาท เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติปีกาญจนาภิเษกถวายเป็นพระราชกุศลแดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาคารแห่งนี้ได้รับการออกแบบจากกรมศิลปากรมีลักษณะเป็นอาคารทรงไทย 2 ชั้น อาคารเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2537 แล้วเสร็จและเปิดให้เข้าชมได้ใน พ.ศ.2539 (สัมภาษณ์ อ.ไพฑูรย์ธีร ชินศรี, แผ่นพับแนะนำโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ)
 
วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์นอกจากเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแล้วยังต้องการให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งสืบค้นภูมิปัญญาท้องถิ่นและประวัติศาสตร์ของเมืองมีนบุรี ให้กับนักเรียนและผู้สนใจ      
 
วัตถุและเนื้อหาจัดแสดง
อาคารจัดแสดงแบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นล่าง แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับนิทรรศการของนายเลิศ เศรษฐบุตร ประวัติความเป็นมาของเมืองมีนบุรี วิถีชีวิตไทยด้านต่างๆ (ไม่เฉพาะแต่เมืองมีนบุรี) วัตถุจัดแสดงในชั้นนี้ได้รับการบริจาคมาจากคหบดีในเมืองมีนบุรีเอง และการสะสมของทางโรงเรียนและความสนใจของอาจารย์ไพฑูรย์ธีร ส่วนชั้นสอง วัตถุจัดแสดงเกือบทั้งหมดได้รับบริจาคมาจากเจ้าอาวาสวัดลาดปลาเค้า และเจ้าอาวาสวัดบางชัน ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องเคลือบจากจีน เครื่องสังคโลก พระพุทธรูป เทวรูป และตุ๊กตาหุ่นเชิดจากพม่า ทั้งนี้เนื้อหาที่ผู้ดูแลต้องการนำเสนอส่วนใหญ่จะเป็นห้องจัดแสดงในชั้นล่าง ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
 
ส่วนจัดแสดงประวัติของผู้ก่อตั้งโรงเรียน ในที่นี้คือพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) มีรูปแบบแท่นแท่นจัดดแสดงเนื้อหาประวัติ และการทำงาน ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับทางเข้า
 
ประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นมีนบุรี ผู้ดูแลให้ความหมายความเป็นมีนบุรีไว้ว่าเป็นเมืองปลา ชีวิตของชาวมีนบุรีผูกพันกับสายน้ำ โดยเฉพาะคลองแสนแสบ แต่ในส่วนของวิถีชีวิตกลับไม่ได้เน้นที่การเป็นสังคมเกษตรกรรม ชาวมีนบุรีส่วนใหญ่เป็นเจ้าของโรงสีข้าว ในขณะที่ชาวทุ่งบางกะปิคือลูกค้าหลัก หรือก็คือชาวนาที่มักจะเอาข้าวมาขายและมาสีที่เมืองมีนบุรี ดังนั้น วัตถุจัดแสดงในส่วนนี้จึงเป็นข้าวของเครื่องใช้มีราคาที่คหบดีชาวมีนบุรีมักจะมีไว้ครอบครอง อาทิ นาฬิกาตั้งพื้นขนาดใหญ่จากฝรั่งเศส ชุดโต๊ะรับแขกประดับมุก (บริจาคโดยเจ้าของตลาดมีนบุรี) โทรศัพท์มือถือรุ่นแรกๆ และเครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณ เป็นต้น
 
ในด้านของการผูกพันกับคลองแสนแสบจะเห็นแทรกอยู่กับตู้จัดแสดง เช่น เครื่องของเรือหางยาวที่วิ่งขึ้น-ล่องอยู่ในคลองแสนแสบ และวิถีชีวิตในการอยู่กับน้ำผ่านเครื่องมือจับสัตว์น้ำแบบต่างๆ (ลอบ, สุ่ม,อีจู๊ดักปลาไหล ฯลฯ) และที่สำคัญอีกประการคือการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ไก่ชนที่มีชื่อเสียง จึงได้เห็นมุมหนึ่งของห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้เกี่ยวกับไก่ชน เช่น สุ่มครอบไก่ กรงไก่ชนพร้อมมุ้งกันยุง ตะกร้าใส่ไก่ชนสำหรับหิ้วไปสนามแข่ง และหุ่นไก่ชน เป็นต้น
 
เรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ
วัตถุจัดแสดงที่เล่าเรื่องส่วนนี้มีทั้งป้ายนิทรรศการเล่าประวัติของโรงเรียน เครื่องโรเนียวเอกสารที่ตามโรงเรียนมักจะมีไว้สำหรับโรเนียวข้อสอบและเอกสารแจก เครื่องอัดหนังสือ (ในห้องสมุด) ตู้ใส่ธงเกียรติยศ (เป็นธงสีเขียว-ขาว ในอดีตมีตรามัจฉานุอยู่ตรงกลาง ภายหลังเปลี่ยนเป็นตรารูปขนมกง ปัจจุบันธงไม่ได้จัดแสดงอยู่ในตู้แล้วแต่ยังมีตู้อยู่) โต๊ะไม้ของผู้บริหาร เป็นโต๊ะ 16 ลิ้นชัก สามารถใช้งานได้ทั้ง 2 ด้าน ทำจากไม้สัก (ผู้ดูแลค่อนข้างภูมิใจและนำเสนอโต๊ะตัวนี้เพราะเป็นโต๊ะตัวเดียวที่มีและเห็นว่าเป็นของหายาก)
 
เรื่องภูมิปัญญาและวิถีชีวิตไทย
เครื่องมือเครื่องใช้ที่สะท้อนความหมายในส่วนนี้คือเครื่องมือเกี่ยวกับการทำนา (สีฝัด, แอก, กระบุง, ถังตวงข้าว) เครื่องจักสานหลากหลายประเภท ทั้งที่เป็นของที่ใช้ในท้องถิ่นภาคกลาง และเครื่องจักสานจากภาคอื่นๆ เครื่องปั้นดินเผา (จากเกาะเกร็ด) เครื่องใช้ในครัวเรือนอื่นๆ เช่น ตาชั่งแบบต่างๆ  เตารีดแบบใช้ถ่าน ตะเกียงลาน ตะเกียงเจ้าพายุ และตะเกียงฟู่น้ำมันก๊าด เป็นต้น   
 
การบริหารจัดการ
การบริหารจัดการทั้งเรื่องงบประมาณและเนื้อหาในการจัดแสดงอยู่ในความรับผิดชอบของทางโรงเรียนทั้งหมด แต่ก็อาจจะเรียกได้ว่าทางพิพิธภัณฑ์ได้รับการสนับสนุนทางอ้อมมาจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งในช่วงของการก่อสร้างที่ได้จากงบบริจาคของคณะผู้ปกครองและคหบดีในท้องถิ่น และการดูแลบางส่วนจากการเป็นที่ตั้งของหอสมุดประชาชน (บริหารงานโดยกรุงเทพมหานครที่มาขอใช้พื้นที่ภายในโรงเรียนติดกับพิพิธภัณฑ์)
 
ปัญหาของพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องไม่หนักหนา อาทิ การทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากอาคารมีขนาดใหญ่และจำนวนวัตถุมาก เรื่องของทะเบียนวัตถุที่ยังไม่ได้จัดทำอย่างเป็นระบบ และการนำชมที่ผู้ดูแลมีภาระในด้านการสอนและการบริหารโรงเรียน จึงไม่สามารถเปิดให้เข้าชมได้ตลอดเวลา ต้องให้ผู้สนใจติดต่อมาล่วงหน้า
 
การเดินทาง
เดินทางโดยรถยนต์ใช้ทางด่วนศรีรัช มุ่งหน้าไปทางออกสู่ถนนรามคำแหง/รามอินทรา-อาจณรงค์ วิ่งตรงไปจนพบทางออก ถ.รามอินทรา/หลักสี่-วัชรพล-มีนบุรี เมื่อลงทางจากพิเศษเข้าสู่ถนนประดิษฐ์มนูธรรม จะพบทางแยกต่างระดับเลือกช่องทางถนนวัชรพลซึ่งเป็นทางต่างระดับเพื่อเลี้ยวขวาไปมีนบุรี เมื่อลงจากทางแล้วเบี่ยงซ้ายเพื่อออกสู่ถนนรามอินทรา วิ่งตรงไปเรื่อยๆ ประมาณ 9 กิโลเมตร จะพบรั้วโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญอยู่ทางด้านซ้ายมือ
 
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ / เขียน
ข้อมูลจาก การสำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556

 
อ้างอิง
สัมภาษณ์  อาจารย์ไพฑูรย์ธีร ชินศรี ผู้ช่วยรองผู้อำนวยการ กลุ่มบริหารงานบุคคล โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง จัดการแสดงของพิพิธภัณฑ์ และรับผิดชอบดูแลหลักมากระทั่งถึงปัจจุบัน, วันที่ 10 กันยายน 2556
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-