พิพิธภัณฑ์จักรเย็บผ้า ตั้งอยู่ในศูนย์วัฒนธรรมวิทยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพฯ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ เดิมคือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพระนครใต้ เป็นสถาบันหนึ่งที่เริ่มเปิดทำการสอนวิชาตัดเย็บเสื้อผ้า จากโรงเรียนการช่างสตรีบ้านทวาย เมื่อปี พ.ศ. 2482 ได้พัฒนาหลักสูตรคหกรรมศาสตร์ แผนกวิชาผ้าและเครื่องแต่งกายขึ้นในเวลาต่อมา จัดแสดงเรื่องราวของจักรเย็บผ้าในแต่ละยุค ตั้งแต่ยุคที่ใช้เท้าเหยียบและใช้ขาไม้เป็นวัสดุ จนมาถึงขาเหล็ก อาทิ จักรเย็บผ้าขาใยแมงมุม จักรอุตสาหกรรมใช้เท้าถีบ และใช้หัวเข่าในการยกตีนผีจากเยอรมัน จักรเย็บผ้าระบบใช้มือหมุนอายุประมาณ 100 ปี นอกจากนี้ยังจัดแสดงอุปกรณ์การตัดเย็บผ้าและเครื่องแต่งกายรุ่นก่อน อาทิเช่น เตารีด ด้าย ไม้บรรทัด สายวัด
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์จักรเย็บผ้า
เครื่องนุ่งห่ม หนึ่งในปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อห่อหุ้มร่างกายเครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกายนอกจากจะใช้ปกปิดร่างกาย ปกป้องจากสภาพอากาศต่างๆ ในปัจจุบันยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม บ่งบอกถึงรสนิยมของผู้สวมใส่อีกด้วยจักรเย็บผ้าเป็นอุปกรณ์สำคัญในการตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ไม่ว่าจะเป็น เสื้อ กระโปรง หรือกางเกง ศาสตร์ว่าด้วยการตัดเย็บเสื้อผ้าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลายๆ คน สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพระนครใต้ เป็นสถาบันหนึ่งที่เริ่มเปิดทำการสอนวิชาตัดเย็บเสื้อผ้าเช่นกัน จากโรงเรียนการช่างสตรีบ้านทวาย เมื่อปี พ.ศ. 2482 ได้พัฒนาหลักสูตรคหกรรมศาสตร์ แผนกวิชาผ้าและเครื่องแต่งกาย ในปี พ.ศ. 2520 ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ด้านนี้ จึงต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ อย่างเช่น จักรเย็บผ้าได้เป็นอย่างดี
60 ปี จาก พ.ศ.2482 ถึง พ.ศ.2542 แห่งปีมหามงคลเฉลิมพระชนมาพรรษา 6 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพระนครใต้ โดย รศ.ดร.พอนิจ โชติสว่าง รองอธิการบดีฯ ในสมัยนั้นได้คิดริเริ่มการรวบรวมภูมิปัญญาในอดีตด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้ จึงเกิดพิพิธภัณฑ์จักรเย็บผ้าขึ้น
อาจารย์มลวิภา ภูลสนอง อาจารย์ผู้สอนในคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และอาจารย์ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการรวบรวมภูมิปัญญาเหล่านี้ อาจารย์มลวิภาเล่าว่าทางสถาบันฯ มีจักรเย็บผ้าที่อยู่ในแผนกทั้งเก่า และใหม่มากมาย จักรหลายคันไม่สามารถใช้การได้แต่ยังคงความสวยงาม จึงนำมารวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ การจัดแสดงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน
ส่วนแรก คือ จักร มีจักรเย็บผ้าขาใยแมงมุม ที่มีใช้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2482 ยังมีรูปภาพในพระที่นั่งวิมานเมฆ ที่แสดงให้เห็นจักรเย็บผ้ากับสตรีสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งก็คือจักรเย็บผ้าขาใยแมงมุมนั่นเอง, จักรเย็บผ้าขาไม้สัก มีตัวเดียวในประเทศไทย, จักรเย็บผ้าขาเหล็กที่เป็นเส้นตรง ซึ่งอาจมีเพียงแค่ตัว 2 ตัวในประเทศไทยเช่นกัน
สำหรับจักรอุตสาหกรรม อาจารย์บอกว่าในยุคแรกๆ โรงเรียนการช่างสตรีพระนครใต้ ได้รับบริจาคมาจากรัฐบาลเยอรมัน เพื่อใช้ในการเรียนการสอนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นจักรอุตสาหกรรมใช้เท้าถีบ และใช้หัวเข่าในการยกตีนผี นอกจากนี้ยังมีจักรเย็บผ้าระบบใช้มือหมุนอายุประมาณ 100 ปี ได้รับบริจาคมาจาก อาจารย์พวงประกา คุโรวาส อดีตอาจารย์ประจำของสถาบันฯ เอง
คุณปราโมช หอพัฒนกุลได้บริจาค จักรเย็บรองเท้า ซึ่งเจ้าของจักรเย็บผ้าคันนี้เคยเย็บรองพระบาทให้กับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันพระราชพิธีอภิเษกสมรส โดยเย็บรองพระบาทเงิน รองพระบาททอง และรองพระบาทไหม อย่างละ 1 คู่
ส่วนที่ 2 คือ ส่วนประกอบในการตัดเย็บเสื้อผ้า เช่น เตารีดที่ใช้ความร้อนด้วยถ่านไม้ ตัวเตารีด และที่รองเตารีดจะผลิตจากเหล็กหล่อ และเปิดด้านบนเพื่อใส่ถ่านสำหรับให้ความร้อนในการรีดผ้า, หลอดด้าย ซึ่งแกนผลิตจากไม้และกระดาษ, ไม้บรรทัด ผลิตจากไม้เช่นเดียวกัน มีไม้บรรทัดตรง ไม้บรรทัดโค้ง และไม้บรรทัดฉาก, สายวัด และเครื่องวัดชายกระโปรง และการสร้างแบบ อุปกรณ์เครื่องวัดชายกระโปรงที่ทำจากไม้ และสามารถเลื่อนขึ้นลงได้
นอกจากนี้อาจารย์มลวิภายังพาไปชม เครื่องรีดผ้าสมัยก่อน ใช้ระบบมือหมุนเพื่อให้ผ้าหมุนผ่านลูกกลิ้ง 2 ลูก ผ่านไปผ่านมาผ้าก็จะเรียบไม่ต่างจากเตารีดสมัยใหม่เลยทีเดียว, อุปกรณ์ในการติดกระดุม, เครื่องอัดผ้า และที่จับจีบผ้า ซึ่งอาจารย์ยังสาธิตการจับจีบแบบสมัยโบราณให้ได้ชมอีกด้วย
ในปัจจุบันนักศึกษาหันมาใช้จักรเย็บผ้ารุ่นใหม่ ทันสมัย ระบบไฮสปีดแล้ว แต่อาจารย์มลวิภาบอกว่า นักศึกษายังคงต้องมาทำความรู้จักกับจักรเย็บผ้ารุ่นเก่าที่นี่ก่อนทุกคน เพราะจักรเย็บผ้าแต่ละคันสามารถบอกเล่าเรื่องราวในอดีตจนถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
เรื่อง/ภาพ : ณัฐพัชร์ ทองคำ
สำรวจ : 7 สิงหาคม 2551
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
เครื่องนุ่งห่ม จักรเย็บผ้า ตีนผี การตัดเย็บ ไม้บรรทัด สายวัด ผ้าและสิ่งทอ
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกใหญ่
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์บ้านบุญบวงสรวง
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์การแพทย์ทหารบก
จ. กรุงเทพมหานคร