พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์


พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ ตั้งอยู่ที่ตึกจีนเทียนประสิทธิ์ ภายในโรงเรียนวัดปทุมคงคา เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น สไตล์โคโลเนียล จัดแสดงนิทรรศการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เขตสัมพันธวงศ์ โดยเฉพาะเรื่องวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการพัฒนาสังคมของชาวไทยเชื้อสายจีน ตั้งแต่การโล้สำเภาย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทย จัดแสดงตัวอย่างอาชีพต่าง ๆ ของคนจีน จำลองร้านค้าสำคัญของไชน่าทาวน์กลางกรุง นอกจากนี้ ยังมีภาพวาดสีน้ำรูปชาวจีนอิริยาบทต่าง ๆ ของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติจัดแสดง

ที่อยู่:
โรงเรียนวัดปทุมคงคา 1640 ถ.ทรงวาด แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ 10100
โทรศัพท์:
0-2233-3216, 0-2235-9127
วันและเวลาทำการ:
วันจันทร์–ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น 4 เขตในกรุงเทพมหานคร สัมพันธวงศ์ผุดที่วัดไตรมิตรวิทยาราม

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 11/22/2546

ที่มา: ข่าวสด

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

พิพิธภัณฑ์เจ๊ก-จีน ที่"ไชน่าทาวน์"เยาวราช

ชื่อผู้แต่ง: สุจิตต์ วงษ์เทศ | ปีที่พิมพ์: 1/23/2547

ที่มา: ข่าวสด

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

คู่มือท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์

ชื่อผู้แต่ง: กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร | ปีที่พิมพ์: มปป.

ที่มา: กรุงเทพฯ:กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์

ในยุคที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงเริ่มสร้างกรุงในปี พ.ศ. 2325 ทรงดำริให้พื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง สมัยนั้นชาวจีนได้ตั้งบ้านเรือนทำการค้าขายอยู่ จึงทรงโปรดให้ย้ายชุมชนชาวจีนไปยังบริเวณสำเพ็งและสร้างพระบรมมหาราชวังในบริเวณนั้นแทน

ชาวจีนจึงตั้งบ้านเรือนบริเวณบริเวณคลองโอ่งอ่างไปจนถึงคลองผดุงกรุงเกษมและขยายบ้านเรือนไปอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นย่านการค้าชื่อดังก็คือย่านสำเพ็ง และเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์เป็นเขตปกครองที่มีขนาดเล็กที่สุดของกรุงเทพฯ มีพื้นที่เพียง 1.42 ตารางกิโลเมตร แม้จะเล็กที่สุดแต่เป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญที่สุดเช่นกัน 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์จึงเป็นสถานที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของย่านการค้าแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่โรงเรียนวัดปทุมคงคา ที่ตึกจีนเทียนประสิทธิ์ ชั้นสองมีห้องจัดแสดง 2 ห้องที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สถานที่สำคัญอาชีพและวิถีชีวิตของคนในย่านนี้

ห้องจัดแสดงห้องแรกบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชาวจีนที่เข้ามาค้าขายในประเทศไทย ตั้งแต่ยุคที่นั่งเรือสำเภาเข้ามาเป็นจับกัง รับจ้างแบกหามทั่วไปจนเริ่มมีกิจการค้าขายของตัวเอง ด้วยความขยัน อดทน และอดออมของชาวจีน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจมากมายและระบบเศรษฐกิจต่างๆ ก็เกิดจากการขับเคลื่อนของชาวจีนเช่นกัน สิ่งที่ไม่ควรพลาดในนิทรรศการห้องแรกนี้ก็คือภาพวาดสีน้ำรูปชาวจีนในอิริยาบทต่างๆ ของ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต 

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่บอกเล่าที่มาของชื่อตรอกต่างๆ ในเขตนี้ เช่นตรอกเชียงกง มีที่มาจากที่ตรอกดั้งเดิมมีศาลเจ้าพ่อเชียงกง ต่อมาจึงกลายเป็นชื่อสัญลักษณ์ของย่านที่มีการขายอะไหล่และเครื่องจักรต่างๆ ไป โดยที่คำว่าเชียงกงไม่ได้แปลว่าอะไหล่ และสัญลักษณ์ที่สำคัญ 3 อย่างของคนจีนก็นำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วยก็คือ โคมจีนสีแดงสดที่คนจีนใช้ในงานต่างๆ ป๋องแป๋ง ซึ่งแต่เดิมเป็นของใช้ของคนรับจ้างย้อมผ้าตามบ้านที่ใช้ส่งเสียงเรียกลูกค้า ปัจจุบันเป็นของเล่นของเด็กๆ และสิ่งสุดท้ายก็คือ ลูกคิด สัญลักษณ์แห่งการค้าขายของคนจีน 

ในห้องแรกยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับคนจีนเช่น ศาลเจ้าต่างๆ ในชุมชน ชื่อย่านเก่า และกลุ่มคนจีนแต่ละเชื้อสายที่อพยพเข้ามาเช่น จีนฮกเกี้ยน ที่ชำนาญการค้าขายทางเรือ จีนกวางตุ้ง ที่ชำนาญงานช่างกลึง ช่างเหล็ก จีนแต้จิ๋วที่ชำนาญด้านการเพาะปลูก และยังมีชาวจีนอีกหลายเชื้อสาย ผู้นำชมยังเปิดให้ดูประตูเล็กๆ ที่ฝาผนังหลังนิทรรศการซึ่งเป็นที่เก็บอัฐิของเจ้าของตึกแห่งนี้ด้วย แต่ไม่ทราบว่าเป็นใครคงต้องสืบค้นกันต่อไป

ห้องที่สอง จำลองร้านค้าที่สำคัญในยุคแรกๆ ของเขตสัมพันธวงศ์มาอย่างได้บรรยากาศเหมือนจริงแม้จะเป็นร้านเล็กๆ แต่เครื่องมือเครื่องใช้ครอบครัน เริ่มจากร้านแรกด้านในเป็นร้านขายเครื่องยาจีนชื่อ “ไต้อันตึ๊ง” ซึ่งเป็นชื่อร้านขายยาเก่าแก่จริงๆ ที่ปัจจุบันได้เลิกกิจการไปแล้วและลูกหลานได้บริจาคสิ่งของมาจัดแสดง ที่น่าสนใจก็คือโต๊ะหั่นยาที่วางไว้ด้านหน้าที่ดูไปคล้ายเครื่องประหารชีวิตของเปาบุ้นจิ้น แต่จริงๆ แล้วเป็นเครื่องหั่นยาสมุนไพร ก่อนที่จะนำไปตากแห้ง เก้าอี้ที่มีช่องใบมีดตรงกลางสำหรับฝานท่อนยาที่มีความหนา ท่อนไม้สี่เหลี่ยมที่วางบนโต๊ะที่มองเผินๆ เหมือนไม้ทับกระดาษก็ล้วนแต่เป็นเครื่องยาจีนทั้งสิ้น ข้าวของเครื่องใช้ ตู้เก็บยาเหล่านี้เคยผ่านการใช้งานจริงทั้งหมดจึงยิ่งเพิ่มเสน่ห์ให้ส่วนจัดแสดงส่วนนี้

ร้านที่สองเป็นร้านขายข้าวสารชื่อ “เม่งเส็ง” ก็เป็นชื่อร้านข้าวสารเก่าแก่ของจริง ด้านในมีเครื่องชั่งตวงข้าวสาร และตาชั่งข้าวสาร บรรยากาศเหมือนร้านจริงๆ และคนจีนก็ทำกิจการค้าขายข้าวจนร่ำรวยมาจนถึงทุกวันนี้ ถัดไปเป็นร้านขายของชำชื่อ “ฮกไช้พานิช” ชื่อร้านของจริงอีกแล้วและข้าวของภายในก็เป็นของชำแบบชาวจีนเช่น ไหกระเทียมดอง กระปุกตั้งฉ่าย เต้าหู้ยี้ และอีกหลายชนิด สิ่งที่ทำให้บรรยากาศของร้านนี้เหมือนมีชีวิตก็คือป้านน้ำชาจีนและลูกคิด ดูแล้วชวนจินตนาการว่ามีเถ้าแก่นั่งอยู่ แต่ตอนนี้เถ้าแก่ร้านอาจจะเดินไปคุยกับร้านข้างๆ หรือเข้าไปดูคลังสินค้าอยู่ในร้านก็ได้

ร้านสุดท้ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ ร้านทองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของถนนเยาวราชนั่นเองชื่อห้างทอง “อี้ ซุ่น มุ้ย” มีอุปกรณ์การทำทองและเครื่องชั่งน้ำหนักทองแสดงอยู่ แต่ไม่มีทองของจริงมาวางเพราะกลัวหาย แต่ก็ได้บรรยากาศเหมือนย่านการค้าของจริง มองไปตรงข้ามจะเห็นซุ้มประตูสีแดงจำลองจากของจริงที่ตั้งอยู่ที่วงเวียนโอเดียน

เดินชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้วอยากจะไปเที่ยวเพิ่มเติมในชุมชนในเขตสัมพันธงศ์จริงๆ แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน ที่นี่มีนิทรรศการเกี่ยวกับสถานที่สำคัญที่ควรไปเที่ยวของเขตสัมพันธวงศ์แสดงไว้ด้วย สามารถหาข้อมูลและขอคู่มือท่องเที่ยวได้จากเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์

เจ้าหน้าที่เล่าว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เดิมตั้งอยู่ที่วัดไตรมิตร และย้ายมาที่โรงเรียนวัดปทุมคงคา นิทรรศการต่างๆ จึงไม่สามารถตั้งเรียงเรื่องราวได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ก็ถือว่าถ้าใครได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้วได้ไปเดินเที่ยวต่อในเขตสัมพันธวงศ์ก็จะมีความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ร้านค้าและย่านต่างๆ ได้มากขึ้น ถ้าสังเกตุดีๆ ตรงทางเข้าจะมีแผนที่ทำเลมังกรทองที่แสดงจุดร้านค้าต่างๆ ไว้ด้วย ดูแล้วรู้สึกคึกคักอยากจะไปเดินให้ทั่วทัศนาถิ่นจีนในเมืองไทย และช่วยจับจ่ายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเสียจริงๆ 

มัณฑนา ชอุ่มผล : เขียน/ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนาม 7 สิงหาคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-