พิพิธภัณฑ์ วีอาร์ คิงเพา​เวอร์ คอม​เพล็กซ์


พิพิธภัณฑ์ วีอาร์ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ หรือ วีอาร์ มิวเซียม (VR MUSEUM) คำว่าวีอาร์ ย่อมาจากชื่อภาษาอังกฤษของ คุณวิชัย รักศรีอักษร ประธานกรรมการบริษัท ภายในจัดแสดงของสะสมชิ้นสำคัญของประธานกรรมการบริษัท ได้แก่ พระพุทธรูป และงานประติมากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ห้องจัดแสดงอยู่ภายใต้โดม ออกแบบเป็นคริสตัลขนาดใหญ่ของอาณาจักรธุรกิจคิงเพาเวอร์คอมเพล็กซ์

ที่อยู่:
คิง ​เพา​เวอร์ คอม​เพล็กซ์ ถนนรางน้ำ เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
โทรศัพท์:
02-677-8899
วันและเวลาทำการ:
​เปิด​ให้​เข้าชมทุกวัน ตั้ง​แต่​เวลา 10.00 - 18.00 น.
ค่าเข้าชม:
คน​ไทย 100 บาท, ชาวต่างชาติ 200 บาท, นัก​เรียน นักศึกษา 20 บาท
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2554
ของเด่น:
พระพุทธรูปยุคโบราณและพระเครื่องชุดเบญจภาคี
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ วีอาร์ คิงเพา​เวอร์ คอม​เพล็กซ์

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบศิลปะผ่านงานประติมากรรมอย่างพระพุทธรูป  พิพิธภัณฑ์วีอาร์คิงเพาเวอร์คอมเพล็กซ์ คือพิพิธภัณฑ์ที่มีความเพียบพร้อม  ผู้เข้าชมจะได้ชื่นชมความงามและได้ความรู้  ย้อนไปไกลตั้งแต่พระพุทธรูปศิลปะยุคแรก(พุทธศตวรรษที่ 7-8)  ต่อมาเป็นศิลปะทวารวดี(พุทธศตวรรษที่ 13-14)  ศิลปะศรีวิชัย(พุทธศตวรรษที่ 13-14)  ศิลปะลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 18)  ศิลปะพุกาม(พุทธศตวรรษที่ 16-17 ) ศิลปะสุโขทัย( พุทธศตวรรษที่ 19-20)  ศิลปะล้านนา(เชียงแสน) (พุทธศตวรรษที่19-21)  ศิลปะอู่ทอง(พุทธศตวรรษที่ 19-20)   ศิลปะอยุธยา(พุทธศตวรรษที่ 21-24)   ศิลปะรัตนโกสินทร์(พุทธศตวรรษที่ 24)  อีกทั้งยังพระเครื่องชุดเบญจภาคีที่อยู่ในความสนใจสูงสุดในวงการพระเครื่อง
               
มองจากภายนอกพิพิธภัณฑ์  ห้องจัดแสดงอยู่ภายใต้โดมออกแบบเป็นคริสตัลขนาดใหญ่ของอาณาจักรธุรกิจคิงเพาเวอร์ คอมเพล็กซ์  โถงห้องต้อนรับผู้มาเยือน  มีเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์  คำว่าวีอาร์ ย่อมาจากชื่อภาษาอังกฤษของ คุณวิชัย รักศรีอักษร  ท่านประธานกรรมการ  การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ในเดือนกรกฎาคม 2554  มาจากความชอบและใจรัก  เมื่อสะสมพระพุทธรูปมาเป็นเวลานาน  จึงมีความประสงค์ที่จะให้ผู้อื่นได้ร่วมชื่นชม  ขณะเดียวกันก็อยากให้พิพิธภัณฑ์นี้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ 
               
การเข้าชมที่นี่จะมีผู้นำชม  มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยติดตาม และห้ามถ่ายภาพ  เนื่องจากวัตถุจัดแสดงเป็นของมีค่ามาก  บรรยากาศภายในแรกเมื่อก้าวเข้าไปในห้องแสงสลัว  มองไปตามแสงสว่าง  ภาพแรกคือพระพุทธรูปยุคโบราณเก่าแก่ที่สุดเท่าที่จะมีการสร้างพระพุทธรูปมาในโลกนี้  พระพุทธรูปศิลปะยุคแรก  เป็นศิลปะอินเดีย  สกุลช่างคันธาระ  แกะสลักจากหิน 

คุณปติสร  เพ็ญสุต  ภัณฑารักษ์และนักประวัติศาสตร์  ได้ให้คำอธิบายว่าพระพุทธรูปศิลปะยุคแรกนี้อยู่ในยุคความรุ่งเรืองทางอัฟกานิสถาน  ปากีสถาน  ที่รู้จักกันว่าเส้นทางสายไหม  ความงามอยู่ที่พระพักตร์แบบฝรั่ง  ริมฝีปากบาง  พระเกศาขมวดหยักศก  ศิลปะคันธาระที่จัดแสดงมีพระพุทธรูปปางสมาธิ  พระพุทธรูปประทับยืน  พระไมเตรยะโพธิสัตว์
               
ด้านหน้าของพระพุทธรูปทุกองค์ที่จัดวางไว้บนแท่น  มีป้ายอธิบายยุคสมัย  ลักษณะความงามทางศิลปะ  ความหมายของสัญลักษณ์และเรื่องราวที่โดดเด่น  รายละเอียดเหล่านี้คุณปติสรเป็นผู้จัดทำทั้งหมด  ในการเข้าชมที่นี่มีเฮดโฟน 4  ภาษาได้แก่ ไทย  จีน อังกฤษ ญี่ปุ่น ให้นักท่องเที่ยวฟังบรรยาย  ที่ผ่านมาผู้เข้าชมส่วนใหญ่เป็นผู้นิยมพระเครื่อง  กับกลุ่มนักศึกษาสถาบันต่างๆ ที่ติดต่อขอวิทยากรบรรยาย
               
คุณปติสรบอกว่าพระพุทธรูปที่จัดแสดงเป็นเพียงบางส่วนที่คัดเลือกมา  เป็นองค์ที่ค่อนข้างสวยงามสมบูรณ์  การเรียงลำดับจัดแสดงยึดหลักตามตำนานพุทธเจดีย์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  พระพุทธรูปส่วนใหญ่ทำด้วยสำริด  วัสดุนี้เห็นได้ตั้งแต่ศิลปะทวารวดี  เป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางประทานธรรม  ส่วนศิลปะศรีวิชัย  มีพระวัชรสัตว์  เป็นพระโพธิสัตว์ในพระพุทธศาสนาวัชรยาน  พระศากยมุนีพระพุทธเจ้าหรือพระสมันตภัทรโพธิสัตว์  องค์พระที่จัดแสดงจะประกอบด้วยสีหาสนบัลลังก์ที่ดูประณีตสวยงาม
               
ศิลปะลพบุรี  มีลักษณะร่วมสมัยกับศิลปะเขมรแบบนครวัดและบายนในเมืองพระนคร  องค์นำมาจัดแสดงมีพระพุทธรูปนาคปรก  ส่วนองค์ที่เป็นพระพุทธรูปยืน  คุณปติสรชี้ให้ดูว่าแต่เดิมองค์พระมีความชำรุดที่พระบาทหัก  แต่ได้รับการซ่อมแซมตามหลักวิชาการแล้ว  ทำให้กลมกลืนมองไม่ออก  ส่วนองค์ที่หาชมได้ยากมากในประเทศไทยคือ  พระตรีกายประทับในซุ้มเรือนแก้ว  พระตรีกายหมายถึง  กายทั้งสามของพระพุทธองค์อันเป็นกายที่จะเข้าสู่ความรู้แจ้งหรือนิพพาน  สัมโภคกายคือ กายทิพย์ที่มีรัศมีรุ่งเรืองของพระพุทธเจ้า  และพระโพธิสัตว์นิรมานกายคือ  กายที่เนรมิตขึ้นเป็นรูปมนุษย์  ความซับซ้อนของรูปเคารพนี้คือ  การปั้นหล่อออกเป็น 5 ชิ้นส่วนแล้วนำมาประกอบกัน  โดยการใช้เดือยหรือสลัก  องค์ที่จัดแสดงที่นี่ถือว่ามีความสมบูรณ์มาก  อีกองค์หนึ่งที่แยกชิ้นได้คือ พระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับยืนในซุ้มเรือนแก้ว  แยกได้ 9 ชิ้น
               
ส่วนของศิลปะพุกาม  พระพุทธรูปประทับยืนปางประทานอภัย  ทำด้วยสำริด  เป็นงานช่างที่หายาก  เพราะพระพุทธรูปในอาณาจักรพุกามมักจะสร้างจากไม้  ปูนปั้น  หินทราย  มาถึงศิลปะสุโขทัย  คุณปติสรให้สังเกตที่หน้ากลมอวบอิ่ม  ได้รับอิทธิพลจากศรีลังกา  ความงามขององค์พระอยู่ที่รูปทรงไม่มีเอ็นไม่มีกล้ามเนื้อไม่มีกระดูก  มือของท่านจะไม่วางบนตักอย่างแนบชิด  ในยุคนี้มีจัดแสดงแบบพระพุทธรูปลีลา  พระพุทธรูปปางมารวิชัย  พระพุทธรูปประทับยืนปางประทานอภัย
               
มาถึงส่วนจัดแสดงที่คั่นกลางพระพุทธรูป  ส่วนนี้ดึงดูดใจผู้ชมตรงการจัดแสดงพระเครื่องชุดเบญจภาคี  ได้แก่ พระสมเด็จวัดระฆัง  พระกำแพงซุ้มกอ  พระรอดพิมพ์ใหญ่  พระนางพญา  พระผงสุพรรณ  เนื่องจากพระเครื่องชุดนี้มีมูลค่าสูงมากและเป็นที่ต้องการของตลาด  การจัดแสดงจึงไม่วางไว้ตลอดเวลา  จะมีการนำมาให้ชมในตู้กระจกเป็นบางโอกาส  แต่ในส่วนของความรู้ทางพิพิธภัณฑ์ได้มีภาพขยายพร้อมรายละเอียด  ใส่ไว้ในไอแพดที่ติดไว้กับผนัง  ผู้เข้าชมสามารถเปิดดูได้ตามใจชอบ  พระเครื่องที่มีชื่อเสียงยังมีชุดเหรียญสุดยอดอาจารย์เบญจภาคี  ชุดปิดตาเนื้อผงเบญจภาคี  ชุดเนื้อชิน(ยอดขุนพล)เบญจภาคี  ชุดจักรพรรดิ
               
ถัดมาเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา(เชียงแสน)  มีเอกลักษณ์คือร่างกายอวบอ้วนหน้ากลม  รัศมีกลมรูปดอกบัวบนพระเศียร  ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของพระพุทธรูปยุคนี้คือ  การประดับฐานด้วยการเจาะช่องรูปกรอบหยักโค้งเรียกว่า “ช่องกระจก”ปรากฏมากในรัชสมัยพระเมืองแก้วในราชวงศ์มังราย
               
พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง  สังเกตที่ลักษณะเปลวรัศมีที่ยืดสูง  ช่วงเวลาการสร้างน่าจะอยู่ช่วงต้นของกรุงศรีอยุธยา  พระพุทธรูปปางมารวิชัย  ใบหน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยม  ตาหรี่ลงครึ่งหนึ่ง คางเหลี่ยมเป็นสัน ใบหูยาว คางกว้าง ฐานเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายแอ่นเว้า  ใบหน้าคล้ายคนสูงวัย มีชื่อเรียกในหมู่นักสะสมว่า “พระพุทธรูปอู่ทองหน้าแก่” อีกองค์ที่ประทับยืนปางประทานอภัย ใบหน้าพระพุทธรูปเป็นทรงสี่เหลี่ยม  เส้นผมม้วนดูคล้ายหนามขนุน ปากกว้าง ริมฝีปากหนา ในอดีตค้นพบมากในอำเภอสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท  จึงมีชื่อเรียกว่า “พระเมืองสรรค์”
               
มาถึงศิลปะอยุธยา สมัยอยุธยาตอนกลางปรากฏความนิยมพระพุทธรูป   ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะล้านนา คือ พระวรกายและพระเศียรอวบอ้วน  แสดงปางมารวิชัย  ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร  มีพระรัศมีเป็นต่อมกลมรูปดอกบัวตูม  เรียกพระพุทธรูปลักษณะนี้ว่า “พระขนมต้ม”อีกปางหนึ่งคือพระพุทธรูปประทับยืนปางประทานอภัย  ถือเป็นปรากฏการณ์การสร้างเป็นจำนวนมากในสมัยอยุธยา  จนแทบจะกล่าวได้ว่า เป็นตัวแทนของศิลปะในสกุลช่าง  อีกทั้งยังมีพัฒนาการต่อเนื่องกันกว่า 400 ปี
               
ในการตั้งองค์พระจัดแสดงในช่วงท้าย   เราจะเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่  คุณปติสรบอกว่าเป็นข้อจำกัดของพื้นที่พิพิธภัณฑ์อยู่บ้าง  สำหรับการชมองค์พระขนาดใหญ่ที่ควรจะถอยห่างออกไปมากกว่านี้  มาถึงยุคศิลปะรัตนโกสินทร์  มีพระสาวกกัจจายนะ องค์พระอวบอ้วน ใบหน้าคล้ายเด็ก ศรีษะจมลงไปต่อกับช่วงบ่า รองรับฐานบัวประดิษฐ์  มีพระพุทธรูปทรงอุ้มบาตร  พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร  ยุคนี้คุณปติสรให้ความเห็นว่าการหล่อพระของไทยทำได้ไม่งามเท่ากับของยุคเก่า  เนื้อโลหะหนาขึ้น  มีการเปลี่ยนวัสดุจากสำริดมาเป็นทองเหลือง
               
ส่วนสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์เมื่อเดินเข้าไปใกล้กระจก  ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้เข้าชม  เมื่อเซนเซอร์จับความเคลื่อนไหวได้  พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ประธานจะปรากฏสว่างออกมาในห้องกระจกที่ส่องให้เห็นองค์พระทุกด้าน
               
สำหรับผู้เข้าชมที่ได้รับความประทับใจ  อยากมีภาพและเรื่องราวเก็บไว้เป็นที่ระลึก  ทางพิพิธภัณฑ์มีหนังสือและของที่ระลึกจำหน่าย  โดยเฉพาะหนังสือมีจัดพิมพ์ทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษ  ในเล่มมีภาพถ่ายพระพุทธรูปแต่ละองค์อย่างสวยงามมองเห็นรายละเอียดชัดเจน  และถ้ามีเวลามากพอ  บริเวณชั้น 2 มองขึ้นไปยังมีพระพุทธรูปจัดแสดงอีกจำนวนหนึ่ง  ทางขึ้นเป็นบันไดเลื่อนในโดม  แต่ทางลงจะต้องผ่านร้านจำหน่ายสินค้าลงอีกด้านหนึ่ง

----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  26  เดือนกุมภาพันธ์  พ.ศ. 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง :  พิพิธภัณฑ์วีอาร์คิงพาวเวอร์คอมเพล็กซ์  อยู่ที่ถนนรางน้ำ เขตราชเทวี  อาคารที่ตั้งดูโดดเด่นเป็นอาคารทรงโดมคริสตัล  ส่วนจัดแสดงอยู่ใกล้กับเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์  ถัดไปเป็นส่วนจำหน่ายสินค้า
-----------------------------------------------
อ้างอิง  :  ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 26   เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2555
                สูจิบัตรพิพิธภัณฑ์วีอาร์มิวเซียม  Journey of the Buddha.
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ วีอาร์ คิง ​เพา​เวอร์ คอม​เพล็กซ์

พิพิธภัณฑ์ วีอาร์ คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ หรือ วีอาร์ มิวเซียม (VR MUSEUM) จัดแสดงพระพุทธรูป และงานประติมากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ฮินดู โดยถ่ายทอดความงดงาม และความเป็นมาของศิลปะการสร้างสรรค์พระพุทธรูปปางต่างๆในแต่ละยุค ผ่านสื่อการจัดแสดงร่วมสมัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ศิลปะชั้นสูงของไทยสู่สายตาชาวต่าง ชาติ รวมถึงเปิดโอกาสให้ชาวไทยสามารถสัมผัสและซึมซับได้อย่างใกล้ชิด
ชื่อผู้แต่ง:
-

เปิดกรุพิพิธภัณฑ์พระ อาณาจักรคิงเพาเวอร์

ภายในเวลา 2 ปีของการหันมาศึกษาและเดินหน้าสะสมพระอย่างจริงจัง ทุ่มเททั้งความตั้งใจ และทุนทรัพย์หลายร้อยล้าน ชื่อของวิชัยโด่งดังกลายมาเป็นนักสะสมพระรายใหญ่ระดับประเทศอย่างรวดเร็ว สร้างความครึกโครมในวงการด้วยการครอบครองพระดังในตำนานมากมายที่ย้ายเข้าไปอยู่ในรังพระของเจ้าพ่อดิวตี้ฟรี โดยมีปรมาจารย์วงการพระเครื่องอย่าง พิศาล เตชะวิภาค หรือ “ต้อย เมืองนนท์” ช่วยเป็นกุนซือ วิชัย เคยเล่าถึงความสุขของการเช่าสะสมพระว่าไม่ได้อยู่ราคา หากอยู่ที่คุณค่าทุกๆ ด้านทั้งประวัติความเป็นมา ประวัติการสร้าง คุณค่าทางจิตใจ รวมทั้งผลพลอยได้ที่ตามมาคือคุณค่าทางพุทธคุณ
ชื่อผู้แต่ง:
-