โดย: -
วันที่: 09 มกราคม 2556
ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 24-09-2550 (หน้า34-35)
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: หนุ่มลูกทุ่ง | ปีที่พิมพ์: วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553
ที่มา: ผู้จัดการ
แหล่งค้นคว้า:
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของสปัน แกลเลอรี่ (ศูนย์สปันอารยวัฒนศิลป์)
สปัน แกลเลอรี่ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเสื้อผ้าในแบบและยุคต่างๆ เดิมชื่อศูนย์สปันอารยวัฒนศิลป์ ตั้งอยู่ในย่านลำลูกกา จ.ปทุมธานี ปัจจุบันได้ย้ายมาจัดแสดงอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติชาร์เตอร์ ถนนเฉลิมพระเกียรติร.9 เขตประเวศ ซึ่งเป็นโรงเรียนของตระกูลเธียรประสิทธิ์ การมีพิพิธภัณฑ์ในสถานศึกษา ถือเป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมให้กับนักเรียนพิพิธภัณฑ์นี้จัดแสดงผลงานของคุณสปัน เธียรประสิทธิ์ สตรีในแวดวงสังคมชั้นสูงเมื่อหลายสิบปีก่อน ด้วยรูปโฉมและฝีมือการตัดเย็บเสื้อผ้า ทำให้คุณสปันเป็นดาวเด่นในยุคนั้น คุณสปันมีร้านเสื้อผ้าชื่อ “สปัน” โดยใช้ชื่อของตนเอง ที่นี่เองคุณสปันได้สร้างบุคลากรในแฟชั่นมากมาย
ตัวอย่างลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงของสปัน อาทิเช่น ศรีไสล สุชาติวุฒิ นักร้องชื่อดัง ผู้ที่เข้ามาเรียนวิชาออกแบบดีไซน์เสื้อผ้าเป็นคนแรกของโรงเรียน หรือศิษย์ยุคปัจจุบันอย่าง พีรมณฑ์ ชมธวัช ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของคณะละครอาภรณ์งาม นักออกแบบท่าเต้นและออกแบบ จนกระทั่งสามารถออกแบบเสื้อผ้าละครไทยดั้งเดิมในราชสำนักมาประยุกต์ใช้ในการแสดงนาฏศิลป์ของคณะได้ในเวลาต่อมา
ผลงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของคุณสปัน เธียรประสิทธิ์ คือ การที่คุณสปันได้ร่วมออกแบบชุดในการประกวดนางสาวไทย ตัวอย่างปี พ.ศ.2497 คุณสปันเป็นผู้ออกแบบชุดว่ายน้ำสีเขียวปีกแมลงทับให้คุณสุชีรา ศรีสมบูรณ์ จนกระทั่งสุชีราได้รับตำแหน่งนางสาวสยามในปี พ.ศ.2497
การเข้าชม “สปัน แกลเลอรี่” เมื่อผู้เข้าชมเดินผ่านซุ้มประตูดอกไม้ด้านหน้า อันดับแรกจะได้พบกับภาพของคุณสปัน ได้เห็นหน้าตาของคุณสปันอย่างชัดเจน ภาพของคุณสปันกับสมาชิกในครอบครัว ภาพข่าวของสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศและใบประกาศเกียรติคุณต่างๆ ที่คุณสปันได้รับ
ถัดจากนั้นเป็นส่วนจัดแสดง เนื้อหาแบ่งเป็นสามส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนของเครื่องแต่งกายผู้หญิงของไทยในอดีต ตั้งแต่สมัยทวาราวดี ศรีวิชัย สุโขทัย เชียงแสน ลพบุรี อยุธยา จนถึงสมัยรัชกาลที่ 9 และชุดไทยพระราชนิยม เช่น ชุดไทยเรือนต้น ไทยจิตรลดา ไทยจักรี ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถที่ทรงให้คุณสปันเป็นผู้ออกแบบ แล้วยังมีชุดแต่งงานของผู้มีชื่อเสียงในอดีต อาทิ ชุดของท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร, ท่านผู้หญิงสาวิตรี ศรีวิศาลวาจา อดีตนางสนองพระโอษฐ์ และชุดแต่งงานของบุตรีและสะใภ้ในตระกูลเธียรประสิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีการแสดงภาพนางงามตั้งแต่ยุค "นางสาวสยาม" พ.ศ.2476 จนถึงปัจจุบัน
ส่วนที่สองเป็นเครื่องแต่งกายของต่างประเทศ มีการจัดแสดงวิวัฒนาการการแต่งกายนานาชาติ ซึ่งจัดแสดงในหุ่นขนาดเท่าจริง รวมแล้วกว่า 70 ชุด เรียงลำดับตามยุคสมัย เช่น อียิปต์ กรีกโบราณ โรมัน อังกฤษ หรือชุดสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ชุดของสมัยพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ในศตวรรษที่ 16 และชุดของพระนางคลีโอพัตรา ทุกชุดคุณสปันล้วนเป็นผู้ลงมือตัดเย็บ ปักดิ้น ประดับเลื่อมด้วยตนเองทั้งสิ้น แม้แต่รายละเอียดอย่างเช่นสีของทรงผม หน้าตาของหุ่นโชว์เสื้อ เครื่องประดับต่างๆ
ส่วนที่สามเป็นสิ่งที่คุณสปันรักที่จะสรรสร้างประดิดประดอย ส่วนนี้จัดแสดงของจิ๋ว (miniature) จำลองวิถีชีวิตแบบไทย ประเพณีวัฒนธรรม และวรรณคดีไทย
คุณวสันต์ สกุลกิจกาญจน์ ผู้นำชมและดูแลพิพิธภัณฑ์ กล่าวว่าในวัยกว่า 80 ปีของคุณสปัน ขณะนี้ไม่ได้ทำร้านเสื้อผ้าและไม่มีผู้สืบทอด เครื่องแต่งกายที่นำมาจัดแสดงนี้มีไม่ถึง 30 % ของทั้งหมด เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ บางชุดเก่าสีซีดไปตามกาลเวลาก็จะไม่ได้นำมาจัดแสดง การออกแบบชุดและการตัดเย็บ เป็นการรวบรวมข้อมูลบวกกับจินตนาการของคุณสปัน เครื่องแต่งกายที่จัดแสดง อยู่ในช่วงก่อนหน้านี้ไป 25 ปีที่คุณสปันยังทำร้านเสื้อผ้าอยู่ การมีพิพิธภัณฑ์นี้เริ่มมาจากว่าคุณสปันได้ไปประเทศฝรั่งเศสและยุโรป แล้วเกิดความคิดว่าทำไมประเทศไทยไม่มีพิพิธภัณฑ์เสื้อผ้า จึงได้เกิดพิพิธภัณฑ์เสื้อผ้าเพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมส่งต่อให้คนไทยได้ชมได้ศึกษากัน
ในการบรรยายและนำชมของคุณวสันต์ ได้อธิบายข้อสังเกตทางด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แทรกอยู่ในรูปแบบของเครื่องแต่งกายในแต่ละยุคสมัย อย่างเช่น ในสมัยสุโขทัย การแต่งกายได้รับอิทธิพลจากขอม บ้านเมืองมีการสู้รบกันบ่อยครั้ง ผู้หญิงจึงนุ่งผ้าหยักรั้งไปให้สูงเพื่อความคล่องตัว ในสมัยอยุธยา ยุคนั้นมีการติดต่อค้าขายกับจีนและยุโรป ทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามา ประกอบกับด้านนาฏศิลป์มีความรุ่งเรืองมาก การแต่งกายจึงเป็นแบบนุ่งซิ่นยก จีบหน้า ห่มตาด ส่วนชุดในงานพิธีจะเป็นริ้วทองทำจากไหมสลับเส้นทองแล่น แล้วห่มสไบทับ
ผู้หญิงในช่วงรัชกาลที่ 1– 3 จะนุ่งผ้าจีบห่มสะไบเฉียงนุ่งโจงกระเบนดอกหรือผ้านุ่งจีบเหมือนสมัยอยุธยา ต่อมาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 จะนุ่งผ้าลายโจงกระเบน ใส่เสื้อคอปิดแขนยาว ห่มสะไบเฉียงทับตัวเสื้ออีกทีหนึ่ง
มาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณ พ.ศ.2411-2453 ผู้หญิงส่วนมากหันมานิยมเสื้อแบบตะวันตก คอตั้งแขนยาว ต้นคอพอง มีผ้าห่มหรือแพรสะไบเฉียงทับเสื้ออีกทีหนึ่ง ทรงผมจะนิยมไว้ยาวเสมอต้นคอ เครื่องประดับที่เด่นชัดได้แก่ สร้อยสังวาลย์ เข็มขัดทอง และในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้หญิงหันมานุ่งโจงกระเบน นิยมใช้ผ้าแพร ไหม ผ้าลูกไม้ และตัดแบบชาวตะวันตก คือ คอตั้งสูง แขนยาวฟูฟ่อง เอวเสือจีบเข้ารูป คาดเข็มขัด แต่ก็ยังคงห่มสะไบแพรอยู่ เครื่องประดับจะนิยมเป็นสร้อยไข่มุกซ้อนกันหลายๆสาย และในช่วงนี้เองที่ผู้หญิงจะสวมถุงเท้าที่มีลวดลายปักสี และเริ่มสวมรองเท้าส้นสูง
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 จะนุ่งผ้าซิ่นตามพระราชนิยม สวมเสื้อตัวยาวหลวมๆทับซิ่นอีกทีหนึ่ง ส่วนมากเป็นผ้าลูกไม้ฝรั่งปักลวดลายด้วยลูกปัดและไข่มุก ทรงผมจะปล่อยสบายๆแล้วใช้ผ้าคาดศีรษะ บางก็เกล้ามวยแบบฝรั่ง ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 7- รัชกาลที่8 การแต่งกายเปลี่ยนแปลงเป็นแบบตะวันตก โดยในช่วงที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองวิกฤตอย่างรุนแรงทั้งในยุโรปและเอเชียจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประเพณี และวัฒนธรรมของไทยหลายประการ ได้มีการยกเลิกการใช้ผ้าโจงกระเบน ไม่ใช้ผ้าคาดอกผืนเดียวปกปิดท่อนบน ให้เปลี่ยนมาเป็นนุ่งผ้าถุงและใส่เสื้อแทน และต่อมาก็ได้มีการขอความร่วมมือให้สตรีไทยสวมหมวก นุ่งกระโปรง สวมรองเท้า
ส่วนของชุดไทยพระราชนิยม มักจะแต่งกันตามความเหมาะสม ได้แก่ ชุดไทยเรือนต้น ซึ่งก็คือ ชุดไทยแบบลำลอง ใช้ในโอกาสไปวัด ทำบุญ หรืองานมงคลต่างๆ ในตอนเช้า ชุดไทยจิตรลดา หรือชุดไทยที่มักใส่ในพิธีตอนกลางวัน ใช้ในงานมงคลต่างๆ มาถึงชุดในพิธีตอนค่ำ ชุดไทยอมรินทร์ มักจะใส่ในงานพิธี เช่น งานเลี้ยงรับรอง ไปดูละครในตอนค่ำ และเฉพาะในงานพระราชพิธีสวนสนามในวันเฉลิมพระชนมพรรษาจะประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย อีกชุดที่ใส่ในพิธีตอนค่ำเช่นกันคือ ชุดไทยบรมพิมาน ใช้ในงานเต็มยศ เช่น งานอุทยานสโมสร หรืองานพระราชทานเลี้ยงอาหารอย่างเป็นทางการ งานฉลองสมรส เป็นต้น ชุดไทยจักรี นิยมใส่ในงานเลี้ยงฉลองสมรส หรือราตรีสโมสรที่ไม่เป็นทางการ ชุดไทยจักรพรรดิ ใช้ในงานกลางคืนที่หรูหรา หรือเป็นชุดเจ้าสาว ชุดไทยดุสิต ใช้ในงานกลางคืนแทนราตรีแบบตะวันตก หรือในงานราตรีสโมสร ชุดไทยศิวาลัย มักใช้ในงานเลี้ยงฉลองมงคลสมรส งานพระราชพิธี หรืองานเต็มยศ
ส่วนจัดแสดงเครื่องแต่งกายต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ชุดของอียิปต์จะมีทั้งอียิปต์เหนืออียิปต์ใต้ เป็นชุดของราชินี ชุดออกเดินทะเลทราย แล้วก็มีชุดแบบฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี สเปน ชุดที่เป็นของราชวงศ์ ขุนนางจะมีความหรูหราเน้นเครื่องประดับไม่ว่าจะเป็นทับทิม ไข่มุก มีชุดสมัยพระนางแมรีอังตัวเนต ชุดสมัยพระนางอลิซาเบธ ถ้าเป็นฝรั่งเศสสมัยกลางช่วงศตวรรษที่ 15 นิยมเสื้อที่เรียกว่าลาโรป (la robe) มีลักษณะเข้ารูปตรงเอว แขนคับ กระโปรงยาวกางออกคล้ายรูประฆัง พอมาถึงช่วงศตวรรษที่ 18 ชุดที่พองหรูหราจะเรียบลงมาเป็นชุดกระโปรงสวมหมวก สวมถุงมือ อย่างการสวมถุงมือก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกการเป็นชนชั้นสูงที่มีสถานะต่างจากชนชั้นแรงงาน
ถัดจากส่วนจัดแสดงเครื่องแต่งกาย สิ่งที่คุณสปันรักและทำได้อย่างสวยงาม คือ การทำของจิ๋ว คุณสปันทำของจิ๋วได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ด้วยองค์ประกอบครบถ้วน ได้แก่ ห้องต่างๆของบ้าน ห้องครัว ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องแบบจีน ร้านเบเกอรี่ บ้านแบบคนไทยสมัยก่อน บ้านพักริมคลอง ตลาดน้ำ เครื่องใช้พื้นบ้าน งานประเพณี 12 เดือน ขบวนแห่ขันหมาก พิธีตักบาตร การละเล่นของเด็ก แล้วยังมีฉากในวรรณคดีไทยในเรื่องอิเหนา สังข์ทอง ลิลิตพระลอ มโนราห์ เงาะป่า ขุนช้างขุนแผน ในการนำชมกับกลุ่มเด็กนักเรียน คุณวสันต์บอกว่าส่วนนี้ให้ความรู้กับเด็กๆ เป็นอย่างมาก ทำให้ได้รู้จักความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยก่อน
การเข้าชมสปัน แกลเลอรี่ ทำให้เราได้เห็นความเป็นอัจฉริยะในการตัดเย็บเสื้อผ้าของคุณสปัน ด้วยการสั่งสมฝีมือมายาวนาน เมื่อมาเป็นพิพิธภัณฑ์จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีเลิศ สปัน แกลเลอรี่ ทำให้เราเห็นว่าเครื่องแต่งกายในสมัยก่อน งดงามควรค่าแก่การจดจำและสืบทอด
สาวิตรี ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก :
สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 8 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2554
สปันแกลเลอรี พิพิธภัณฑ์คนไทยในโรงเรียนนานาชาติ..http://www.ttistextiledigest.com/index.php?option=com_content&task=view&id=722&Itemid=72[Accessed 17/04/2011]
“สปัน แกลเลอรี่” เพริศแพร้วอาภรณ์. ผู้จัดการออนไลน์ 2 กุมภาพันธ์ 2553.[Accessed 17/04/2011]
เอกสารประกอบการบรรยายของสปัน แกลเลอรี่
การเดินทาง : สปัน แกลเลอรี่ อยู่บริเวณชั้นล่างของอาคารที่ทำการของโรงเรียนนานาชาติชาร์เตอร์ โรงเรียนอยู่ไม่ไกลจากสวนหลวง ร.9 ตึกของโรงเรียนนี้ทาสีชมพู การเดินทางควรใช้รถส่วนตัวหรือแท็กซี่
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
“สปัน แกลเลอรี่” เพริศแพร้วอาภรณ์
มีเพื่อนฝูงรุ่นน้องมาเล่าให้ฟังว่า คุณแม่ทักเขาว่าเสื้อลูกไม้ที่ใส่เหมือนของคุณยายเลย บางก็ว่าชุดสมัยนี้คล้ายกับย้อนยุคกลับไปสู่สมัยอดีต เช่น เสื้อลูกไม้แขนพอง เสื้อไม่มีแขนไม่มีคอคล้ายเสื้อคอกระเช้า ชุดเดรสหรือกางเกงยกเอวสูง ฉันเห็นแล้วก็ทำให้ฉันนึกอยากที่จะย้อนกลับไปดูว่าผู้หญิงในสมัยก่อนเขาแต่งกายกับแบบใด ความอยากรู้ทำให้ฉันเดินทางมายัง “ศูนย์สปันอารยวัฒนศิลป์” หรือ “สปัน แกลเลอรี่” ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงเรียนนานาชาติชาร์เตอร์ ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
ผ้า ผ้าและสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เสื้อผ้า ของจิ๋ว สปัน เธียรประสิทธิ์
หอไทยนิทัศน์
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์ผ้าสะสม ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์ไลเคน
จ. กรุงเทพมหานคร