รายชื่อพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์ของจิ๋วสัญจร

พิพิธภัณฑ์ของจิ๋วสัญจร ก่อตั้งโดยคุณปิยะนุช ศกุนตนาค มีวัตถุประสงค์ในการบันทึกเรื่องราวในอดีตให้คนในปัจจุบันและอนาคตได้เรียนรู้เรื่องของวิถีไทย ผ่านของเล็กๆ แต่เดิมอาจารย์ดรุณีนาถ นาคคง คุณแม่ของคุณปิยะนุช และคุณปิยะนุช มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูศิลปะการประดิษฐ์ของจิ๋ว ซึ่งหมายถึงสิ่งประดิษฐ์ขนาดเล็กที่ทำขึ้นเพื่อเลียนแบบสิ่งของต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และเมื่อทำออกมาเเล้วจะเหมือนของจริงทุกประการ ของจิ๋วมีประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายร้อยปี ในสมัยก่อนของจิ๋วที่มีความประณีตสวยงามจะมีขั้นตอนการทำที่ละเอียดและเป็นของสะสมของเหล่าบรรดาผู้มีฐานะ ผลงานในช่วงแรกๆ ของอาจารย์ดรุณีนาถ เป็นงานที่สร้างขึ้นจากความทรงจำในวัยเด็ก เนื่องจากครอบครัวของอาจารย์มีเชื้อสายมอญ จึงไม่อนุญาตให้ลูกหลานเล่นตุ๊กตา เมื่อเติบโตขึ้น อาจารย์ดรุณีนาถจึงได้เริ่มสะสมของจิ๋ว และได้สะสมมาเป็นเวลาถึง 30 ปีแล้ว และยังเป็นผู้ที่คิดค้นสูตรแป้งปั้นของจิ๋วที่เป็นที่นิยมแพร่หลายในเวลาต่อมา เนื่องจากพิพิธภัณฑ์ของจิ๋วเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกและสามารถเคลื่อนที่ได้ การจัดแสดงผลงานขนาดเล็กมีหัวข้อและเรื่องราวแตกต่างกันออกไป เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ ร้านขนมปัง เรือนไทย โต๊ะหมู่บูชา ฯลฯ จึงไม่ต้องอาศัยพื้นที่กว้าง การเคลื่อนที่จัดแสดงไปตามสถานที่ต่างๆ อย่างไรก็ตาม คุณปิยนุชได้รับแรงบันดาลใจจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงดำรัสว่า นี่เป็นโครงการดีที่ควรเผยแพร่ ทำให้คุณปิยนุชเกิดแรงใจจัดตั้งโครงการ “พิพิธภัณฑ์ของจิ๋วสัญจร” ขึ้น ห้องจัดแสดงมีประมาณ 30 กว่าห้อง เช่น ห้องพิธีไหว้ครูจิ๋ว ห้องของเล็กที่สุดในโลก ห้องพันธุ์ปลาในท้องทะเลไทยทุกชนิดจิ๋ว วิถีชีวิตไทยจิ๋ว ขนมจิ๋ว งานลอยกระทงจิ๋ว เป็นต้น การเดินทางของพิพิธภัณฑ์ของจิ๋วสัญจรแต่ละครั้ง ยังมีการสอนเด็กๆ ให้เรียนการประดิษฐ์ของเล็กๆ ในเวลาสั้นๆ ประมาณครึ่ง ช.ม. นักเรียนจะนำผลงานที่ปั้นกลับไปชื่นชมที่บ้านได้ด้วย

จ. กรุงเทพมหานคร

พิพิธภัณฑ์ต้านโกง

พิพิธภัณฑ์ต้านโกง ก่อตั้งโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เป็นส่วนหนึ่งของงานด้านการให้ความรู้และการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนได้ตระหนักและเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการเกิดการทุจริต โดยมีแนวคิดหลักของนิทรรศการ คือ “การทุจริต เริ่มที่เราและจบที่เราในฐานะพลเมืองที่ตื่นรู้ จากระดับบุคคลผสานความร่วมมือ สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง ไม่ก้มหัวให้กับการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ สังคมก็จะไม่มีความโปร่งใส และพัฒนาได้อย่างไม่มีขีดจำกัด” นิทรรศการถาวรแบ่งออกเป็นสิบโซน มีทั้งการตั้งคำถามให้ผู้ชมคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับการทุจริตที่อยู่ในชีวิตประจำวัน การนำเสนอข้อมูลกรณีศึกษาการทุจริตที่มีชื่อเสียงที่ฉาวโฉ่ เช่นโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน รวมถึงบทบาทและขั้นตอนการทำงานของปปช.

จ. กรุงเทพมหานคร

พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ตั้งอยู่ภายในพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งถอดแบบมาจากเจดีย์ของวัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ฐาน 9 ชั้น ภายในพระมหาเจดีย์มีอยู่ 5 ชั้น ส่วนที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์มีอยู่ 2 ชั้น คือ ชั้น 1 ห้องมหาชนคุณารมณ์ จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ และชั้น 3 ห้องสังฆคุณารมณ์ ประดิษฐานพระพุทธรูปหลายหลายลักษณะ ซึ่งวัตถุสิ่งของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ทั้ง 2 ส่วน มีทั้งพระพุทธรูป เครื่องอัฐบริขาร พระคัมภีร์ ข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ต่าง ๆ และที่สำคัญคือ ตาลปัตรและพัศยศที่มีมากกว่า 3,000 เล่ม

จ. กรุงเทพมหานคร

หอประวัติหลวงสำรวจพฤกษาลัย (นายสมบูรณ์ ณ ถลาง)

หอประวัติหลวงสำรวจพฤกษาลัย (นายสมบูรณ์ ณ ถลาง) ตั้งอยู่ที่กองการยาง สถาบันวิจัยยาง ภายในจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับชีวประวัติและสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวของหลวงสำรวจพฤกษาลัย หรือนายสมบูรณ์ ณ ถลาง ผู้มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิกและพัฒนาการปลูกยางพาราในประเทศไทย นายสมบูรณ์ ณ ถลาง สำเร็จการศึกษาวิชาการป่าไม้จากมหาวิทยาลัยในประเทศพม่า หลังจบการศึกษาได้เข้ารับราชการกรมป่าไม้ ประจำอยู่สำนักงานป่าไม้หลายจังหวัด และได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการยาง ด้วยความที่ท่านเป็นผู้สนใจศึกษาเกี่ยวกับการทำสวนยางพาราต่อมาเมื่อกองการยางโอนย้ายมาอยู่กับกรมกสิกรรม (กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน) จึงได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการกองการยาง และเป็นการสำคัญในการวางรากฐานและพัฒนากิจการยางของไทยมาจนถึงปัจจุบน

จ. กรุงเทพมหานคร

พิพิธภัณฑ์สึนามิระหว่างประเทศ

พิพิธภัณฑ์สึนามิระหว่างประเทศ ก่อตั้งโดยคุณรัชนีกร ทองทิพย์ บริหารจัดการภายใต้สถาบันเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรม(องค์กรสาธารณประโยชน์) พิพิธภัณฑ์ก่อตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2547 อยู่ตรงข้ามกับอนุสรณ์สถานสึนามิ เรือ ต.813 ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเหตุการณ์ ประกอบด้วยแผนที่ ภาพถ่าย ข่าว ข้อความที่เขียนระลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบ และข้อความอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากพิพิธภัณฑ์จะรำลึกถึงเหตุการสึนามิแล้ว ยังเป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติทางทะเลและการรับมือกับภัยพิบัติด้วย

จ. พังงา

พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเรือเกยตื้นกรณีพิบัติภัยสึนามิ

หลังเหตุการณ์สึนามิในไทยปี พ.ศ. 2547 พื้นที่ในอำเภอตะกั่วป่ากลายเป็นสถานที่แห่งความทรงจำของผู้คน เรือประมงสองลำสีส้มกับสีฟ้าที่ถูกคลื่นพัดเข้ามาเกยตื้นบนชายฝั่ง กลายประจักษ์พยานสำคัญที่บอกเล่าเหตุการณ์ภัยพิบัติบนพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า โดยเรือสีฟ้า เป็นเรือที่มีเชือกหลุดห้อยออกมานอกลำเรือ ทำให้ชาวบ้านสามารถยึดเกาะและรอดชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่วนเรือสีส้มก็จะหมุนเคว้งทำให้บ้านเรือนพังเสียหายไปหลายหลัง ซึ่งในคราวนั้น กระทรวงวัฒนธรรมได้มีโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ เรือประมงเกยตื้น (ส้มฟ้า) บ้านน้ำเค็ม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสึนามิรวมถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่น ภายในพื้นที่จะมีการจัดแสดงเรือประมงสองลำสีส้มและสีฟ้า และสร้างส่วนของอาคารพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ปรับภูมิทัศน์ต่างๆ โดยรอบ อย่างไรก็ดีราวปี 2559 โครงการนี้ยังไม่คืบหน้า และเรือประมงสีส้มฟ้าถูกปล่อยให้ผุผัง ไม่มีการซ่อมบำรุง กลายเป็นข่าวที่ชาวบ้านวอนให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบรีบเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามที่เคยวางเป้าหมายไว้

จ. พังงา

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นพิพิธภัณฑสถานทางธรรมชาติวิทยาแห่งแรกของไทย รวบรวมตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตไว้หลายประเภท ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ ครอบคลุมทั้งสัตว์เลื้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก แมลง ปลา และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีสัตว์หายาก 141 ชนิด ส่วนหนึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง ปัจจุบันแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 ห้องได้แก่ ห้องนิทรรศการหลัก ห้องแสดงตัวอย่างเต่าและตะพาบ ห้องแสดงตัวอย่างแมลงและไร พิพิธภัณฑ์หอยทากของไทย และพิพิธภัณฑ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ภายในห้องนิทรรศการหลักจัดแสดงสัตว์สารพัดชนิดในรูปสัตว์สตัฟฟ์ โครงกระดูก และสัตว์ที่ดองอยู่ในภาชนะ ส่วนหนึ่งจัดแสดงหินและแร่ธาตุต่างๆ

จ. กรุงเทพมหานคร

ศูนย์ภูมิปัญญาเวียงเชียงรุ้ง

ศูนย์ภูมิปัญญาเวียงเชียงรุ้ง เปิดดำเนินการ ปีการศึกษา 2549 โดยนายธีรยุทธ ชัยอิ่นคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนเวียงเชียงรุ้งวิทยาคม นายมานพ สุขพิงค์ หัวหน้ากลุ่มบริหารงานวิชาการและหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และนายบุญมา พมาลัย นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านเหล่า ให้การสนับสนุนในการก่อตั้ง และได้รับเกียรติจากนายสมควร นัยติ๊บ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย มาเป็นประธานเปิดศูนย์ภูมิปัญญาเวียงเชียงรุ้งอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ส่วนกรรมการฝ่ายสงฆ์ มีพระปลัดภัทรพงษ์ นิรุตติเมธี (นายภัทรพงษ์ มโนวรรณ) วัดศรีดอยเรือง ตำบลทุ่งก่อ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย เป็นองค์ประสานงาน ส่วนนายสมชาย วิริจินดา (นายสมรตน วิริจินดา) เลขานุการศูนย์ภูมิปัญญาเวียงเชียงรุ้ง และนางสังวาลย์ วิริจินดา (นางญาณิน วิริจินดา) ผู้ช่วยเลขานุการศูนย์ภูมิปัญญาเวียงเชียงรุ้ง เป็นผู้ประสานงานทั้งหมด

จ. เชียงราย

พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พิพิธภัณฑ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์และเฉลิมฉลองในวาระแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ 100 ปี โดยให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ในสถานศึกษาแห่งใหม่ล่าสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแหล่งรวบรวมและนำเสนอสาระเกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในภาพรวม เป็นสถานที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานด้านต่างๆของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้สัมผัสและเรียนรู้ในภาพรวมของมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีพัฒนาการ มีองค์ความรู้และการบูรณาการด้านต่างๆ ตลอดระยะเวลา 100 ปี ของการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านสื่อต่างๆ ที่ใช้รูปแบบการนำเสนอในลักษณะ Modern and Narrative Museum อีกทั้งยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมและนิทรรศการหมุนเวียนต่างๆ สำหรับนิสิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ร่วมกับพื้นที่ในบริเวณลานศิลปวัฒนธรรม ให้เกิดขึ้นในบริเวณมหาวิทยาลัย ร่วมกับพื้นที่ในบริเวณลานศิลปวัฒนธรรมและอาคารศิลปวัฒนธรรม ที่ตั้งอยู่บริเวณลานศิลปวัฒนธรรมและอาคารศิลปวัฒนธรรม ที่ตั้งอยู่บริเวณถัดออกไป ตลอดจนเป็นแหล่งรองรับนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต

จ. กรุงเทพมหานคร

พิพิธภัณฑ์เล่นได้

พิพิธภัณฑ์เล่นได้ เป็นการดำเนินการอีกรูปแบบหนึ่งของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่บ้านป่าแดด ที่ต้องการให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของท้องถิ่น ผ่านการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการทำของเล่นพื้นบ้านในแต่ละยุคสมัยให้แก่เด็กและผู้ที่สนใจ พิพิธภัณฑ์หลายแห่งมักจะห้ามจับสิ่งของ ห้ามนำอาหารเข้าไป แต่พิพิธภัณฑ์เล่นได้ถอดกติกาเหล่านั้นหมดสิ้น ให้ทุกคนได้เรียนรู้ผ่านการเล่นทางรูป รส กลิ่น สี เสียง และการสัมผัส ภายในพิพิธภัณฑ์มีของเล่นพื้นบ้านและของเล่นที่คิดประดิษฐ์ใหม่มากมายจัดแสดง และสามารถหยิบจับทดลองเล่นได้ทุกชิ้น พร้อมชื่อเรียกและคำอธิบายแบบง่าย อ่านสนุก บอกที่มาที่ไป วิธีการใช้  และแฝงความหมายที่มากกว่าของเล่น ที่ล้วนสะท้อนถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงในสังคม พื้นที่ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ได้แบ่งเป็นร้านขายของผลิตภัณฑ์จากชุมชน (หมายเหตุ: เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการขอใช้พื้นที่เดิม ปี 2560 คณะผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์ได้ย้ายที่ทำการไปที่แห่งใหม่ ไม่ไกลจากที่เดิมมากนัก โดยใช้ชื่อว่า "โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้"

จ. เชียงราย

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดชมภูเวก

วัดชมภูเวก เป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อุโบสถเก่าและวิหารภายในมีภาพจิตรกรรมที่งดงามโดยเฉพาะภาพแม่พระธรณีบีบมวยผมที่เป็นส่วนหนึ่งหนึ่งของภาพมารผจญ ว่ากันว่าเป็นผลงานชั้นครูที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดชมภูเวก ริเริ่มก่อตั้งโดยพระสมุห์สุทธิพงษ์ สิริวฑฒโน เจ้าอาวาสวัดชมภูเวก และนายวีระโชติ ปั้นทอง ชาวท่าทราย นนทบุรี ที่ตระหนักในคุณค่ามรดกวัฒนธรรมของวัดและชุมชน โดยใช้พื้นที่ด้านบนของศาลาการเปรียญเป็นส่วนจัดแสดง และได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์พิศาล บุญผูก เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงานจัดทำพิพิธภัณฑ์ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.ชุมชนท่าทราย 2.ประวัติและโบราณสถานวัดชมภูเวก 3.เอกสารโบราณของวัดชมภูเวก 4.ประณีตศิลป์และศิลปวัตถุ 5.เครื่องมือและของใช้ผู้คนในชุมชน โดยวัตถุสิ่งของชิ้นสำคัญอาทิ ธรรมาสน์ทรงบุษบก ตู้พระธรรมลายรดน้ำ คัมภีร์พระอภิธรรม เครื่องปั้นดินเผา

จ. นนทบุรี