วัดสังลาน เป็นวัดเก่าแก่ที่ก่อตั้งโดยคนเชื้อสายมอญที่อพยพมาถิ่นฐานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พิพิธภัณฑ์วัดสังลาน ก่อตั้งขึ้นใน ปี พ.ศ. 2553 เป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาลตำบลบางกะดี วัดสังลาน และชุมชน อาคารจัดแสดงเป็นอาคารสองชั้นได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างจากเทศบาลตำบล ส่วนข้าวของจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เป็นวัตถุดั้งเดิมของวัดและได้รับบริจาควัตถุต่างๆ เพิ่มเติมจากชาวบ้านเมื่อทราบว่าทางวัดจะทำพิพิธภัณฑ์ ชั้นล่างอาคารนำเสนอนิทรรศการประเพณีสำคัญของชาวมอญ จำลองครัวไฟ เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร ส่วนชั้นที่สองวัตถุจัดแสดงเป็นวัตถุที่เกี่ยวเนื่องทางศาสนาของวัดแต่เดิม อาทิ กล่องไม้เก็บคัมภีร์ใบลาน สมุดข่อย ภาษามอญและไทย เครื่องลายคราม เครื่องทองเหลือง เป็นต้น
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสังลาน
วัดสังลาน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ในเขตตำบลบางกะดี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2369 โดยชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองเมาะละแหม่ง ตั้งแต่ราวพุทธศักราช 2300-2310 มาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ ซึ่งวัดเดิมในเมืองเมาะละแหม่งเป็นวัดที่มีเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์คนเคารพมาก มอญเรียกว่า “จะย๊าจ” และบางกะดีเดิมเป็นชื่อหมู่บ้านเล็กๆ ในเมืองเยร์ ภาษามอญเรียกว่า “อ๊อกคะดี” ที่มาของชื่อวัดสังลานมาจาก พื้นที่เดิมที่เป็นที่ตั้งวัดเคยเป็นลานนวดข้าวของชาวบ้าน ต่อมาเมื่อมีการสร้างวัดจึงใช้คำบาลีและไทยรวมกันเป็นนามวัด วัดสังลานได้รับพระราชทานวิสุงคามสีราว พ.ศ. 2399
ชุมชนริมน้ำในจังหวัดปทุมธานีบริเวณอำเภอเมือง และอำเภอสามโคก ส่วนใหญ่มีเชื้อสายมอญ หนังสือเรื่องมอญในเมืองไทย อธิบายว่าการอพยพครั้งใหญ่ๆ ของชาวมอญจากพม่าตอนล่างเข้ามาสู่ไทยตามหลักฐานของตะวันตก มีทั้งหมด 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งที่สองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และครั้งที่สามในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ส่วนตามหลักฐานฝ่ายไทยจะเพิ่มการอพยพในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกหนึ่งครั้ง ทั้งนี้มอญที่อาศัยในเขตสามโคก และเมืองปทุมธานีนั้น อพยพเข้ามาสามครั้งใหญ่ๆ คือ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พื้นที่รายรอบวัดสังลานส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัย บางส่วนกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร และนิคมอุตสาหกรรมบางกะดี ที่มีผู้คนอาศัยอยู่ค่อนข้างหนาแน่น อย่างไรก็ดีผู้คนดั้งเดิมและศรัทธาวัดสังลาน ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายมอญ วัดสังลานเรียกได้ว่าเป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของคนไทยเชื้อสายมอญในจังหวัดปทุมธานี
พิพิธภัณฑ์วัดสังลาน ก่อตั้งขึ้นใน ปี พ.ศ. 2553 เป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาลตำบลบางกะดี วัดสังลาน และชุมชน โดยมีคุณวารุณี ลำใย รองนายกเทศบาลตำบลบางกะดี ซึ่งเป็นคนในที่เกิดและเติบโตในชุมชน อาจารย์ถเนตร ลำใย อดีตข้าราชการเกษียณอายุ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก โดยอาจารย์ถเนตรเล่าถึงความตั้งใจในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ว่า
“เราจะทำอย่างไรให้ลูกหลานชาวมอญของเห็นถึงความเป็นมา และเนื่องจากวัดเราเป็นวัดมอญ สภาพภายในวัดทั่วไปพระอาจารย์ก็ปรับปรุงเป็นมอญเกือบหมดแล้ว...พอคิดว่าจะทำ ผมพาชุมชนเหมารถไปดูพิพิธภัณฑ์ลพบุรี”
แรกเริ่มการทำพิพิธภัณฑ์ได้รับเงินสนับสนุนจากเทศบาลตำบลบางกะดีในการก่อสร้างอาคาร และจัดหาข้าวของมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และได้รับบริจาควัตถุต่างๆ จากชาวบ้านเมื่อทราบว่าทางวัดจะทำพิพิธภัณฑ์เนื่องจากภัยน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 ทำให้อาคารและข้าวของต่างๆ เสียหาย เทศบาลฯ จึงสนับสนุนเงินอีกราวสี่แสนบาทในการปรับปรุง
อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น นอกเหนือจากเป็นพิพิธภัณฑ์แล้ว ใช้แบ่งพื้นที่ชั้นล่างครึ่งหนึ่งเป็นที่ประชุมของชุมชนและอบรมกลุ่มอาชีพโดยเทศบาลฯ อาจารย์ถเนตรเล่าว่า การจัดแสดงยังไม่ค่อยสมบูรณ์และเรียบร้อยดีนัก ส่วนใหญ่เป็นการนำวัตถุมาจัดวางในตู้โชว์บ้าง จัดวางบนแคร่ไม้ไผ่บ้าง
มีมุมภาพถ่ายประเพณีมอญที่สำคัญของชุมชนที่ยังทำกันอย่างต่อเนื่องได้แก่ ลอยกระทง รำมอญ จองฮะเดาซึ่งเป็นประเพณีบูชาเจดีย์ด้วยไฟ โดยชาวบ้านจะนำด้ายฝ้ายมามัดทำเป็นเชือกชุบน้ำมันมะพร้าวใส่ในกระทงใบตอง ปัจจุบันประยุกต์ใช้ผลผักนำมาคว้านไส้ใส่แทน จุดแล้วนำไปวางบูชารอบพระเจดีย์ในวันมาฆะบูชา นอกจากนี้ยังมีภาพถ่ายประเพณีจุดลูกหนู และตัวอย่างลูกหนูที่ทำจากไม้จริง
ประเพณีการจุดลูกหนู มักทำกันในงานประชุมเพลิงศพระเถระชาวมอญ ที่เป็นพระผู้ใหญ่ที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา แต่เดิมจะทำพิธีบนปราสาทที่จัดทำเป็นยอดเดียวหรือห้ายอดและจุดไฟเผาศพด้วยลูกหนู สืบเนื่องจากความเชื่อที่ว่า เมื่อพระเถระสิ้นบุญแล้วจะได้ไปสู่สวรรค์ คนมอญโบราณถือว่าศพพระไม่จุดไฟด้วยมือจึงคิดทำลูกหนู และการจุดลูกหนูส่งศพพระเถระถือเป็นบุญกุศลยิ่งใหญ่ ภายหลังมีประเพณีแข่งขันจุดลูกหนู
ลูกหนู อาจเป็นกระบอกไม้ไผ่หรือไม้จริงที่บรรจุดินผืนและเชื้อเพลิง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 เซ็นติเมตร อุดหัวท้ายด้วยดินเหนียว แล้วเจาะรูตรงกลางสำหรับติดสายขนวนต่อออกมาสำหรับจุด กระบอกลูกหนูจะถูกแขวนอยู่บนเชือกหนังหรือลวดสลิง การแข่งลูกหนูคือการจุดชนวนลูกหนูแต่ละสาย เมื่อไฟลามจากสายชนวนลามเข้าติดดินปืนก็จะเกิดระเบิดเป็นเปลวไฟพุ่งออกมาจากรูสายชนวนท้ายกระบอก ดันให้กระบอกลูกหนูพุ่งไปตามสายเชือกที่ขึงไว้ดูคล้ายจรวด เมื่อลูกหนูวิ่งไปสุดปลายเชือกจะไปชนกับเขื่อนไม้จรกระบอกลูกหนูหลุดออกจากเชือกพุ่งไปข้างหน้า โดยมีปราสาทที่กตแต่งอย่างสวยงามเป็นเป้าหมาย สำหรับการแข่งหากลูกหนูของใครพุ่งไปชนตัวปราสาท กรรมการจะให้คะแนนตามจุดสำคัญที่ลูกหนูพุ่งชน การแข่งลูกหนูนิยมจัดกันตามท้องทุ่งโล่งแจ้ง ก่อนการแข่งจะมีการจัดขบวนแห่ และเวียนรอบเมรุเป็นการแสดงความเคารพศพพระเถระและจุดอุทิศถวาย
มุมจัดแสดงหม้อดินเผาแบบมอญ เช่น หม้อข้าวแช่ หม้อน้ำ และอุปกรณ์การทำเครื่องปั้นดินเผาที่ได้รับบริจาคจากคนในชุมชน คือ แป้นไม้สำหรับขึ้นรูป ไม้ตีหม้อสำหรับขึ้นรูป รวมถึงโอ่งน้ำดินเผา อ่าง กระปุก ไห ในอดีตอาชีพปั้นหม้อ โอ่งดิน เคยเป็นอาชีพสำคัญของคนในชุมชน แต่ทุกวันนี้เลิกทำกันไปหมดแล้ว
การนำเสนอวิถีชีวิตในอดีตที่ผูกพันกับสายน้ำ เล่าผ่านข้าวของที่เกี่ยวพันกับน้ำและการทำการเกษตร ทั้งเครื่องมือดักจับสัตว์น้ำ จำพวก ไซ ลอบ ตะข้อง สุ่ม แห ลันดักปลาไหล และมีตู้กระจกจัดแสดงเรือจำลอง อาทิ เรือกระแชง เรือโยง เรือม้า เรือบด เรือหมู เรือสำปั้นสวน เป็นต้น กลางห้องเป็นเครื่องมือเกี่ยวกับการทำงาน มีเครื่องสีฝัด เคียว ถังไม้ตวงข้าว เหล็กแทงกระสอบข้าว
มุมหนึ่งจัดแสดงภาพถ่ายเก่า ที่แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ แต่ไม่ใช่ภาพของชุมชน เป็นภาพที่สำเนาจากหนังสือต่อมาอีกที เช่น ภาพการทำนาในอดีต เด็กผมจุก พระสอนหนังสือเด็ก แม่น้ำลำคลองและชีวิตริมน้ำ อีกมุมเป็นชุดภาพเจดีย์ชะเวดากองในเมืองพม่า
ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้อื่นๆ ที่จัดแสดงไว้ตามริมผนังห้อง อาทิ เลื่อยไม้ ครก โม่แป้ง ปิ่นโต กระต่ายขูดมะพร้าว เตาเชิงกราน เตาวง รวมถึงเตาไฟฟ้า กะทะอลูมิเนียมร่วมสมัย สังเกตว่าวัตถุจัดแสดงบริเวณชั้นล่างไม่ใช่เป็นสิ่งขอล้ำค่ามีราคา แต่เป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนในอดีตและของร่วมสมัย ส่วนใหญ่ได้รับบริจาคมา ของบางส่วนจำพวกเครื่องปั้นดินเผางมได้จากแม่น้ำหน้าวัด
ส่วนชั้นที่สอง แบ่งเป็นสองห้องซ้ายและขวา ห้องขวามือ วัตถุจัดแสดงทั้งหมดเก็บไว้ในตู้โชว์ไม้และตู้กระจก แบ่งของเป็นหมวดหมู่ ส่วนใหญ่มีหลายชิ้นซ้ำๆ กัน อาทิ กล่องไม้เก็บคัมภีร์ใบลาน สมุดข่อย ภาษามอญและไทย บางชิ้นจมน้ำเสียหายเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ ตะเกียงลาน ตะเกียงเจ้าพายุ ตะเกียงรั้วเครื่องทองเหลือง เชี่ยนหมาก เครื่องถ้วยน้ำชาลายคราม โถพังเคยลายคราม กระโถนพังเคยสี เครื่องกระเบื้อง โถพลู ปั่นโตสังกะสีเคลือบ พานแว่นฟ้า พิมพ์ดีด จักรถีบ หม้อดินเผา หม้ออวย เหรียญกษาปณ์ ธนบัตรเก่า ส่วนห้องซ้ายมือ จัดแสดงเครื่องหัวโขน ซึ่งเป็นงานศิลปะประดิษฐ์ อันเป็นความสนใจส่วนบุคคลของท่านเจ้าอาวาส และในอนาคตจะนำนักเรียนมาเรียนรู้และฝึกรำโขน
ภายในวัดสังลานยังมีสถานที่สำคัญที่น่าสนใจ อาทิ เจดีย์มอญที่เหลือแห่งเดียวในเขตอำเภอเมือง บุษบกธรรมมาสน์ที่งดงามบนศาลาการเปรียญ พระอุโบสถภายในประดิษฐานพระประธานนาม พระพุทธเขมพรรณรังสิ ปางสุโขทัย ทำพิธีหล่อด้วยทองเหลืองที่วัดสุทัศน์เทพวราราม เมื่อ พ.ศ. 2448 และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแม้จะเขียนขึ้นมาใหม่แต่ก็งดงามน่าดู และยังเป็นแหล่งให้อาหารปลาริมแม่น้ำเจ้าพระยา
อ้างอิง
นนทพร วันงาม (บก.), 2554. ปทุมธานี เมืองแห่งสายน้ำและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: บริษัทเซ็นเตอร์พีซ
จำกัด.
ถเนตร ลำใย, 2561. [บทสัมภาษณ์] (27 พฤศจิกายน 2561).
สุภรณ์ โอเจริญ. 2541, มอญในเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
www.watpatumthani.org
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
มอญ
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดบางหลวง และศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย
จ. ปทุมธานี
พิพิธภัณฑ์โชคชัย
จ. ปทุมธานี
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต
จ. ปทุมธานี