พิพิธภัณฑ์เรือวัดศาลาแดงเหนือ


หมู่บ้านศาลาแดงเหนือเป็นหมู่บ้านของชาวไทยเชื้อสายมอญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอสามโคก ปทุมธานี เป็นหมู่บ้านสำคัญที่ผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพค้าขายทางเรือ และใช้เรือในชีวิตวิถีประจำวันมาตั้งแต่อดีต พิธภัณฑ์เรือวัดศาลาแดงเหนือ ก่อตั้งโดยชาวบ้านในชุมชนที่ต้องการแสดงถึงประวัติศาสตร์และอดีตความน่าสนใจของวิถีชีวิตชาวมอญบ้านศาลาแดงเหนือที่ผูกพันกับสายน้ำ โดยรวบรวมเรือของวัดและชาวบ้านมาจัดแสดงไว้ในศาลาทรงไทยเปิดโล่งชั้นเดียวภายในวัดศาลาแดงเหนือ  เรือที่อยู่ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์เรือวัดศาลาแดงเหนือ มีหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นเรือที่วัดใช้อดีต มีหลายลำที่หาชมยากและสวยงาม หน้าที่การใช้งานของเรือแต่ละลำบอกเล่าถึงชีวิตวัฒนธรรมของชาวมอญศาลาแดงเหนือ และความสัมพันธ์กับชุมชนอื่น ๆ ได้อย่างชัดเจน ลำที่ถือเป็นดาวเด่นคือ เรือมาดเก๋ง 2 แจว ที่เป็นพาหนะประจำของของหลวงปู่บุนนาค ปทุโม อดีตเจ้าอาวาสวัดศาลาแดงเหนือ

ที่อยู่:
วัดศาลาแดงเหนือ ต.เชียงรากน้อย อ.สามโึคก จ.ปทุมธานี 12160
โทรศัพท์:
089-2321386 ติดต่อคุณมาณพ แก้วหยก
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2532
ของเด่น:
เรือมาดเก๋ง 2 แจว, เรือสำปั้น, เรือบด
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

สามโคกกับความรู้เรื่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ชื่อผู้แต่ง: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, มูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ และชาวสามโคก | ปีที่พิมพ์: 2543

ที่มา: เอกสารรายงานสัมมนาเรื่อง สามโคกกับความรู้เรื่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

แหล่งค้นคว้า: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

โดย: Admin

วันที่: 16 มกราคม 2562

ดูลิงค์ต้นฉบับ


ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์เรือวัดศาลาแดงเหนือ

             บ้านศาลาแดงเหนือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันออก ผู้คนส่วนใหญ่มีเชื้อสายมอญ    ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน บ้านศาลาแดงเหนือถือเป็นหมู่บ้านมอญเพียงไม่กี่แห่งในจังหวัดปทุมธานี ที่ยังคงพยายามอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อของชาวมอญได้อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะวัฒนธรรมและประเพณีที่แสดงถึงความเคารพและศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าของคนในหมู่บ้าน   ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับวัดยังคงเหนียวแน่น วัดยังดำรงความเป็นศูนย์รวมจิตใจและศูนย์กลางกิจกรรมส่วนรวมของคนในหมู่บ้านได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

          ในอดีต “ชาวมอญ” เป็นชนชาติที่อาศัยและตั้งอาณาจักรอยู่ในพม่าตอนล่าง ด้วยการแย่งชิงอำนาจภายในและการรุกรานจากพม่า ทำให้บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะสงครามอยู่เสมอ ในระหว่างนั้นชาวมอญได้พากันอพยพเข้ามาตั้งรกรากในไทย หนังสือเรื่องมอญในเมืองไทย อธิบายว่าการอพยพครั้งใหญ่ๆ ของชาวมอญเข้ามาสู่ไทยตามหลักฐานของตะวันตก มีทั้งหมด 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งที่สองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และครั้งที่สามในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ส่วนตามหลักฐานฝ่ายไทยจะเพิ่มการอพยพในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกหนึ่งครั้ง ตามหลักฐาน อ้างว่ามอญที่อาศัยในเขตสามโคก และเมืองปทุมธานีนั้น อพยพเข้ามาสามครั้งใหญ่ๆ คือ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 

จากคำบอกเล่าเมื่อครั้งที่พระเวธะญาณะ พระภิกษุสงฆ์มอญ และคุณพิศาล บุญผูก ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามอญ ได้สำรวจคัมภีร์ใบลานภาษามอญวัดพลับสุทธาวาส จ.ปทุมธานี ในปี พ.ศ. 2554  ทั้งสองท่านได้อ่านคัมภีร์ใบลานผูกหนึ่งเรื่อง โลกสมมุติ ที่จารโดยพระสังกิจ วัดพลับสุทธาวาส  ซึ่งต่อมาพระสังกิจ ย้ายมาจำพรรษาที่วัดศาลาแดงเหนือ ในปี พ.ศ. 2329 ได้จารใบลานเสร็จที่วัดศาลาแดงเหนือ  สันนิษฐานว่าคนมอญวัดศาลาแดงเหนือและคนมอญวัดพลับสุทธาวาสได้อพยพหนีภัยสงครามพม่าเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราช ในปี พ.ศ. 2317

อย่างไรก็ดีข้อมูลจากข้อเขียนของอาจารย์วีรวัฒน์ วงศ์ศุปไทย นักวิชาการท้องถิ่นปทุมธานี ในเอกสารรายงานสัมมนาเรื่อง “สามโคกกับความรู้เรื่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” โดยจัดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ และชาวสามโคก อ้างว่าวัดศาลาแดงเหนือ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2358 ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองเมาะตะมะ  และข้อเขียนของคุณมาณพ แก้วหยก ในเอกสารเล่มเดียวกัน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คำว่าศาลาแดง น่าจะเป็นการตั้งชื่อวัดตามถิ่นฐานเดิมในเมืองมอญ มาจากคำว่า “เภียปราน” ปรานแปลว่าไม้แดง ส่วนคำว่าเภียแปลว่าวัด รวมแล้วแปลว่าวัดไม้แดง ปัจจุบันต้นไม้แดงเป็นสัญลักษณ์ของวัดศาลาแดงเหนือ

          คุณมาณพ แก้วหยก ชาวบ้านศาลาแดงเหนือและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เรือ วัดศาลาแดงเหนือ เล่าถึงที่มาของการก่อตังพิพิธภัณฑ์ว่า มีแนวคิดการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เพื่อ “เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนมอญบ้านศาลาแดงเหนือและคนภายนอก จะได้ศึกษารากเหง้าของตนเองและมีข้อมูลพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนและประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง ไม่ลืมศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีไทยและมอญ” แต่ด้วยปัญหาอุปสรรคบางประการทำให้โครงการต้องชะลอไป 

โดยส่วนตัวคุณมาณพเติบโตในครอบครัวชาวมอญที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมของตนเองไว้อย่างเข้มแข็ง เช่น การใช้ภาษามอญในครอบครัว มีคุณย่าแห แก้วหยก ที่ชอบเล่าเรื่องการค้าขายทางเรือในอดีตและวิถีวัฒนธรรมของคนมอญให้ฟัง ทำให้ซึมซับและสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์และรากเหง้าของตนเองมาตั้งแต่เด็ก  ประกอบกับช่วงต้นทศวรรษที่ 2540  มีนักวิชาการจากภายนอกเข้ามาศึกษาและเก็บข้อมูลสังคมวัฒนธรรมในหมู่บ้านศาลาแดงเหนือ ความสนใจของคนนอกต่อชีวิตวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ชาติพันธุ์มอญของบ้านศาลาแดงเหนือ เป็นหนึ่งแรงผลักดันในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์  

คนนอกที่เข้ามาสนใจวัฒนธรรมมอญบ้านศาลาแดงเหนือ อาทิ คุณกชภรณ์ ตราโมท จากสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ในตอนนั้น) ซึ่งเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่เข้ามาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเรือของชาวมอญศาลาแดงเหนือ  ด้วยเห็นว่าวิถีชีวิตของชาวมอญศาลาแดงที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำเจ้าพระยา  รวมถึงอาจารย์บุษบา ประภาสพงศ์ จากกระทรวงศึกษาธิการ ที่เข้ามาศึกษาเกี่ยวกับภาษามอญ และมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ที่เคยเข้ามาช่วยจัดทำทะเบียนวัตถุและจัดหมวดหมู่ข้าวของต่างๆ และเก็บรักษาไว้ใต้ถุนกุฏิหลวงปู่บุนนาค ปทุโม อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดศาลาแดงเหนือ องค์ที่ 4

          “น้ำท่วม” เป็นอีกปัจจัยเร่งในการทำพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากวัดศาลาแดงเหนือ ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ประสบกับน้ำท่วมทุกปี แล้วแต่จากมากจะน้อยในแต่ละปี เดิมทีนั้นเรือของวัดที่มีจะเก็บไว้ใต้ถุนกุฏิพระสงฆ์ เมื่อน้ำท่วม เรือจะขัดใต้กุฏิ หากปล่อยให้เป็นเช่นนั้นเรือจะเสียหายและไม้กระดานต่างๆ จะลอยสูญหายไป คุณมาณพและชาวบ้านจึงพยายามหาที่ทางเก็บและอนุรักษ์เรือเหล่านี้ไว้ โดยเฉพาะเรือลำสำคัญคือ เรือมาดเก๋งสองแจว ของหลวงปู่บุนนาค อดีตเจ้าอาวาสที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านเป็นอย่างมาก

ปี พ.ศ. 2547 โครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์ได้ถูกฟื้นขึ้นอีกครั้ง โดยมีอ.บุษบา ประภาสพงศ์ เข้ามาช่วยเหลือและแนะนำ และท่านได้กรุณาเชิญคุณอำพล กีรติบำรุงพงศ์  จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาสำรวจพื้นที่และออกแบบอาคาร ซึ่งท่านทำโดยจิตอาสาไม่คิดค่าใช้จ่าย   ส่วนทุนรอนในการก่อสร้างนั้น มาจากเงินสนับสนุนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานีเขต 1 จำนวน 80,000 บาท  และเงินที่เรี่ยไรบริจาคจากชาวบ้านในชุมชน พิพิธภัณฑ์เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ในปี พ.ศ. 2548  อาคารมีลักษณะเป็นศาลาไม้ชั้นเดียวเปิดโล่ง มีจั่วแบบบ้านมอญศาลาแดงเหนือที่ได้รับบริจาคจากคุณเสน่ห์ ใจธรรม รวมถึงใช้ไม้เก่าและกระเบื้องมุงหลังคาศาลาการเปรียญหลังเก่าของวัดศาลาแดงเหนือ และใช้ช่างที่เป็นคนในหมู่บ้านคือ นายขวัญเมือง ใจชอบ และนายอนุวัตร ใจชอบ และแรงงานชาวบ้านศาลาแดงมาช่วยก่อสร้าง อาทิ นายอ๊อด ดอกพิกุล นายบุญชู แก้วหยก นายมาณพ แก้วหยก นายเสน่ห์ ใจธรรม นายพยงค์ แก้วธรรม นายนพดล แสงปลั่ง นายจำนงค์ จันทร์เหลือง นางทองมา มุ่งเงิน นายพิสมัย ใจชอบ ดญ.ทรรศนพร ใจชอบ ดญ.รมย์ธีรา ใจชอบ    อาคารก่อสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549

          เป็นที่ทราบกันดีว่าอาชีพเฉพาะของชาวมอญแถบนนทบุรีและปทุมธานีส่วนใหญ่ ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นคือ การทำเครื่องปั้นดินเผาและการทำอิฐ และคนมอญศาลาแดงส่วนหนึ่งมีอาชีพในการค้าขาย โดยเฉพาะการค้าพวกเครื่องปั้นดินเผาโดยบรรทุกใส่เรือไปค้าขายตามแม่น้ำลำคลองจนถึงนครสวรรค์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ข้อเขียนของคุณมาณพเรื่อง “วัดศาลาแดงเหนือ” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากเครื่องปั้นดินเผาจำพวกโอ่ง อ่าง หม้อดิน แล้วยังมีของจำพวกเต้าเจี้ยว ไตปลา ปูเค็ม ถ้วยชาม และเมื่อขายสินค้าหมดก็มักซื้อข้าวเปลือกมาขายโรงสีที่บางกอก ปีๆ หนึ่งขายสินค้าได้ไม่เกิน 3 เที่ยว ต่อมาเมื่อมีเครื่องหางยาว จึงขายสินค้าจำพวกโอ่งมังกรราชบุรี บางบ้านมีเรือกระแชงรับจ้างบรรทุกข้าวโพด ข้าวเปลือก บางลำรับจ้างบรรทุกปูนซีเมนต์ บางบ้านมีเรือดูดทราย เรือเหล็กบรรทุกทราย   พ่อค้ามอญจึงมักเป็นเจ้าของเรือที่หลากหลายและมีขนาดต่างๆ กันตามแต่ฐานะ  

          เรือกระแชงลำใหญ่ ตั้งโดดเด่นเป็นที่เต๊ะตาอยู่ด้านหน้าศาลาพิพิธภัณฑ์เรือ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนถึออาชีพของคนมอญศาลาแดง  เป็นเรือกระแชงค้าขายลำสุดท้ายของคนมอญศาลาแดง ในอดีตเรือลำนี้เป็นเรือบรรทุกโอ่งของ “ลุงบุญเสริม  สืบสาย” พ่อค้าขายโอ่งชาวมอญ   ซึ่งเป็นญาติของคุณมาณพ และเขาได้ขอซื้อและนำมาถวายวัดเพื่อการศึกษาต่อไป

          ลักษณะเด่นของเรือกระแชงคือ มีประทุน ซึ่งก็คือหลังคาโค้งคุ่มตามลำเรือสำหรับเป็นที่หลบแดดหลบฝนภายในเรือ ประทุนของเรือทำมาจาก “กระแชง” ซึ่งก็คือ เครื่องบังแดดฝน เย็บด้วยใบเตยหรือใบจาก ลักษณะนามเรียกว่าผืน ภายหลังเปลี่ยนวัสดุอื่นที่ทนกว่า เช่น สังกะสี ผ้าใบ แต่ก็ยังชื่อตามเดิมว่ากระแชง

          เรือที่อยู่ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์เรือวัดศาลาแดงเหนือ มีหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นเรือที่วัดใช้อดีต มีหลายลำที่หาชมยากและสวยงาม หน้าที่การใช้งานของเรือแต่ละลำ บอกเล่าถึงชีวิตวัฒนธรรมของชาวมอญศาลาแดงเหนือ และความสัมพันธ์กับชุมชนอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน ลำที่ถือเป็นดาวเด่นคือ เรือมาดเก๋ง 2 แจว ที่เป็นพาหนะประจำของของหลวงปู่บุนนาค ปทุโม อดีตเจ้าอาวาสวัดศาลาแดงเหนือ ป้ายคำอธิบายประวัติที่ติดไว้ข้างลำเรือมีทั้งภาษามอญและไทยระบุว่า เดิมเป็นเรือของสมิงสุรินทร์ศักดิ์ ข้าราชการบรรดาศักดิ์ชั้นพระในกรมท่าซ้าย เป็นบิดาของพระยากฤตราชทรงสวัสดิ์ ธรรมวิวัฒน์ราชสภาบดี ข้าราชการธุรการสามัญชั้นพิเศษ เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านเดิง (กว๊านเดิง) หมู่ 1 บ้านป่างิ้ว อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ได้ถวายเรือแด่พระอาจารย์บุนนาคราวปี พ.ศ. 2441 ทำจากไม้ตะเคียน เรือยาว 7.25 เมตร กว้าง 1.56 เมตร ลึก 0.5 เมตร ส่วนเก๋งทำจากไม้สักทอง ประตูหน้าต่างใช้แบบบานเลื่อน ตัวเก๋งแกะสลักลายดอกไม้ นอกจากนี้ยังระบุรายชื่อลูกศิษย์วัด 10 คน ที่เป็นผู้แจวเรือประจำ และจะใส่หมวกจีนไหหลำสำหรับกันแดด

          เรือสำปั้นลำใหญ่ มีชื่อภาษามอญว่าอีเกลียะ แปลว่าวัว เรือสำปั้นแบบยาว ชื่อลำพู เป็นเรือที่ใช้หลายโอกาส เช่น ใช้ในงานตักบาตรพระร้อย  ใช้ในประเพณีชักพระทางน้ำ  บางครั้งใช้เป็นเรือบรรทุกศพของคนมอญบ้านศาลาแดงเหนือและบ้านเดิงมาที่วัดศาลาแดงเหนือ  และในอดีตชาวบ้านยังยืมเรือวัดชื่อลำพู พายเรือไปงานไหว้พระประจำปีที่เกาะบางปะอิน   เรือสำปั้นชื่อละซัว เป็นเรือที่ใช้ในงานตักบาตรพระร้อยและใช้เป็นเรือแข่ง เพราะเรือมีรูปร่างเพรียว เหมาะแก่การเป็นเรือแข่ง นอกจากนี้ยังมีเรืออีโปง เรือบดทรงแบบไทยและเรือบดทรงแบบฝรั่ง

          ติดกับอาคารพิพิธภัณฑ์เรือ เป็นโครงสร้างเสาตอม่ออาคารที่ยังสร้างไม่เสร็จ มีป้ายเชิญชวนบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนสร้างพิพิธภัณฑ์วัดศาลาแดงติดไว้ด้านหน้า  คุณมาณพเล่าว่า การทำพิพิธภัณฑ์นี้ระดมทุนโดยการทอดผ้าป่าพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปี พ.ศ. 2561 เป็นครั้งที่ 3 แล้ว และยังต้องการทุนอีกจำนวนหนึ่ง    แปลนก่อสร้างออกแบบโดยคุณอำพล กีรติบำรงพงศ์ ที่เคยกรุณาช่วยออกแบบอาคารพิพิธภัณฑ์เรือมาตั้งแต่ต้น เป็นอาคาร 3 ชั้น โดยชั้นที่ 1 นำเสนอเรื่องการค้าขายทางเรือของชาวมอญศาลาแดงเหนือ จัดแสดงเรือและอุปกรณ์เกี่ยวกับการเดินเรือ และสินค้าที่ค้าขายทางเรือ ชั้นที่ 2 จัดแสดงวิถีชีวิตและประเพณีสำคัญของชาวมอญศาลาแดงเหนือ ส่วนชั้นที่ 3 นำเสนอประวัติวัดศาลาแดงเหนือ เจ้าอาวาส และคัมภีร์มอญต่างๆ

         นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2556 กลุ่มอาจารย์และนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เข้ามาศึกษาชุมชน อาจารย์ได้มอบหมายให้นักศึกษาจำนวน 10กลุ่ม ทดลองออกแบบและจัดทำโมเดลจำลองอาคารพิพิธภัณฑ์ เพื่อนำเสนอคนในหมู่บ้าน เปิดเวทีให้ชาวศาลาแดงเหนือเลือกโมเดลที่ถูกใจพร้อมให้คำเสนอแนะและให้นักศึกษากลับไปปรับแก้  สุดท้ายโมเดลจำลองอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้านดังกล่าว จัดแสดงอยู่บนศาลาการเปรียญ

          เอาเข้าจริงแล้ว พิพิธภัณฑ์เรือวัดศาลาแดงเหนือ เป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ หนึ่งที่แสดงถึงประวัติศาสตร์และอดีตความน่าสนใจของวิถีชีวิตชาวมอญบ้านศาลาแดงเหนือ   หากแต่ยังมีสถานที่สำคัญภายในวัดและพื้นที่อื่นๆ ของหมู่บ้านอีกหลายจุดที่น่าสนใจ และทางการได้สนับสนุนการทำป้ายอธิบายประวัติความเป็นมาและความสำคัญไว้ตามจุดต่างๆ  อาทิ หอพระไตรปิฎก ที่มีสถาปัตยกรรมแปลกตา เป็นอาคารคอนกรีตศิลปกรรมแบบมอญ คือมีองค์เจดีย์ช่วงบนและลวดลายลูกกรงและท่อน้ำทิ้งทำเป็นรูปปลา มีรูปพญาครุฑอยู่เหนือประตูและหน้าต่างทั้ง 4 ด้าน มีสระน้ำที่ทำเป็นเขื่อนคอนกรีตล้อมรอบหอไตรทั้ง 4 ด้าน    ศาลาการเปรียญไม้สัก ที่ด้านบนมีธรรมมาสน์ยอดนางชี เป็นธรรมมาสน์แบบมอญ ยอดนางชีหมายถึงหลังคาธรรมมาสน์ที่ตัดเรียบตรงแตกต่งจากธรรมมาสน์แบบอื่น กุฏิของพระอาจารย์บุนนาค ปทุโม เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น เป็นเรือนปั้นหยามุงกระเบื้องว่าว ช่องลมเหนือบานหน้าต่างมีลายไม้ฉลุงดงาม ปัจจุบันชั้นบนเป็นที่เก็บรักษาพระพุทธรูป  คัมภีร์และหนังสือภาษามอญ และศิลปะวัตถุที่พระอาจารย์บุนนาครวบรวมไว้ ส่วนชั้นล่างใช้เป็นที่เก็บเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้านของคนมอญบ้านศาลาแดงเหนือ แต่เนื่องจากภัยน้ำท่วม ทำให้ข้าวของเสียหาย และมีแผนจะย้ายวัตถุเหล่านี้ไปจัดแสดงใหม่ เมื่อพิพิธภัณฑ์วัดศาลาแดงเหนือหลังใหม่สร้างแล้วเสร็จ

          คุณมาณพ ยังได้กรุณาพาเดินสำรวจหมู่บ้าน พบว่าหมู่บ้านค่อนข้างเงียบสงบเหมาะแก่การเดินท่องเที่ยว สังเกตว่าหากบ้านหลังใดมีความโดดเด่นด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น จะมีป้ายให้ข้อมูลเพิ่มเติมติดอยู่หน้าบ้าน เรียกได้ว่าเป็นตัวช่วยสำหรับนักท่องเที่ยวหรือคนนอกที่ทำให้รู้จักชุมชนมากขึ้นในเวลาอันจำกัด อาทิ   บ้านป้าอัมพร แจ่มแจ้ง ที่เป็นการรวมตัวของสมาชิกในหมู่บ้านทำเป็นกลุ่มอาชีพทำข้าวแช่ หมี่กรอบ และแกงข้าวตัว    กลุ่มปักผ้าสะไบมอญ ที่บ้านป้าปวีณา บุตรทิม   กลุ่มประดิษฐ์หางหงส์ บ้านป้าอุดม บุตรทิม บ้านลุงปราณี ค้าทางชล ที่เป็นบ้านตัดพวงมโหตร  บ้านลุงแสน บ้านเรือนไม้แบบมอญ บางบ้านยังมีการทำปลาร้าและกะปิแบบมอญ  บางบ้านยังคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมบ้านไม้แบบมอญที่หาชมได้ยาก เช่น บ้านลุงแสน เทียนทอง อดีตทหารสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือกระทั่งบ้านคุณมาณพเอง ก็คล้ายจะเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวเล็กๆ ไปแล้ว ด้วยความรักและชื่นชอบของเก่า ใต้ถุนบ้านจึงกลายเป็นที่เก็บรักษาเครื่องมือเครื่องใช้ท้องถิ่นคนมอญที่เป็นมรดกตกทอดภายในครอบครัว และบางชิ้นก็หาซื้อเพิ่มเติม รวมถึงภาพเก่าของวัดและครอบครัว  ซึ่งในอนาคตจะนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดศาลาแดงเหนือ หากอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่ก่อสร้างแล้วเสร็จ

          บทเรียนหนึ่งที่ได้จากการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เรือวัดศาลาแดงเหนือก็คือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องสร้างเสร็จทีเดียว สามารถค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เรียนรู้ แต่ที่สำคัญคือการทำตามกำลังความสามารถ ทำตามความต้องการของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง  สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้ได้มากที่สุด

ต้องการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เรือวัดศาลาแดงเหนือ กรุณาติดต่อล่วงหน้า และหากสนใจวิถีวัฒนธรรมชาวมอญศาลาแดงเหนือ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเฟซบุ๊กแฟนเพจ “มอญบ้านศาลาแดงเหนือ” ซึ่งมีทั้งภาพเก่าและข้อมูลวิถีวัฒนธรรมที่น่าสนใจทั้งในอดีตและปัจจุบันของคนมอญศาลาแดงเหนือ

หรือสนใจร่วมสมทบทุนบริจาคเงินสร้างพิพิธภัณฑ์ สนับสนุนการทำงานวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเลขที่ 134-0-18888-0 ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชีอนุวัตร ใจชอบ หรือมาณพ แก้วหยก หรือนพดล แสงปลั่ง   

อ้างอิง

นนทพร วันงาม (บก.), 2554. ปทุมธานี เมืองแห่งสายน้ำและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: บริษัทเซ็นเตอร์พีซ จำกัด.

มอญศาลาแดงเหนือ, 2561. เฟซบุ๊กแฟนเพจ มอญศาลาแดงเหนือ. [ออนไลน์] https://www.facebook.com/pg/มอญบ้านศาลาแดงเหนือ  (เข้าถึงเมื่อ 1 มิถุนายน 2562).

มาณพ  แก้วหยก, 2561. [บทสัมภาษณ์] (27 พฤศจิกายน 2561).

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และคณะ, 2543. เอกสารรายงานสัมมนาเรื่อง “สามโคกกับความรู้เรื่องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” วันเสาร์ที่ 11 มีนาคม 2543 ณ วัดสิงห์ ต.สามโคก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ และชาวสามโคก.

สุภรณ์ โอเจริญ. 2541, มอญในเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี

ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง