พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดทองบ่อและศูนย์ศึกษาชุมชนมอญ


ที่อยู่:
วัดทองบ่อ หมู่ 4 บ้านเสากระโดง ต.ขนอนหลวง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา 13160
โทรศัพท์:
089-2435097
วันและเวลาทำการ:
ปิดปรับปรุง ยังไม่พร้อมเปิดให้เข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2550
ของเด่น:
คัมภีร์มอญ, ตู้พระไตรปิฎก, ธรรมาสน์
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดทองบ่อ

               พระนครศรีอยุธยา อดีตราชธานีไทยเมื่อหลายร้อยปีก่อนเคยเป็นเมืองใหญ่ที่คลาคร่ำไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ต่างชาติพันธุ์ ที่เข้ามาตั้งรกราก รับราชการ ทำมาค้าขาย ถูกกวาดต้อน ฯลฯ หนึ่งในนั้นคือ “ชาวมอญ” ชนชาติที่อาศัยและตั้งอาณาจักรอยู่ในพม่าตอนล่าง ด้วยการแย่งชิงอำนาจภายในและการรุกรานจากพม่า ทำให้บ้านเมืองตกอยู่ภาวะสงครามอยู่เสมอ ในระหว่างนั้นชาวมอญได้พากันอพยพเข้ามาตั้งรกรากในไทย

                หนังสือเรื่องมอญในเมืองไทย อธิบายว่าการอพยพครั้งใหญ่ๆ ของชาวมอญเข้ามาสู่ไทยตามหลักฐานของตะวันตก มีทั้งหมด 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งที่สองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และครั้งที่สามในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ส่วนตามหลักฐานฝ่ายไทยจะเพิ่มการอพยพในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกหนึ่งครั้ง และมีการอพยพครั้งย่อยๆ ตามมาอีก

            ชาวมอญที่อพยพเข้ามานั้นมักได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้พระนคร หรือในแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน   “มอญกรุงเก่า” ส่วนใหญ่ได้กลืนกลายเป็นไทยไปเกือบหมดแล้วในปัจจุบัน  แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม อาจเรียกได้ว่า มีเพียงหมู่บ้านเดียวในพระนครศรีอยุธยาที่ยังคงสืบทอดภาษาและรักษาวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างเอาไว้ได้  นั่นคือ “ชุมชนมอญบ้านเสากระโดง”

            ชุมชนบ้านเสากระโดง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทิศตะวันออก เขตอำเภอบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา  มีวัดทองบ่อเป็นวัดประจำชุมชนและเป็นศูนย์รวมจิตใจ วารสารเสียงรามัญ ปีที่ 4 ฉบับที่ 19 (มกราคม-มีนาคม) 2552 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชุมชนเสากระโดงว่า ชุมชนนี้น่าจะก่อตั้งขึ้นราวสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น บางครอบครัวมีเรื่องเล่ว่า บรรพชนอพยพมาจากเมืองมอญ เข้ามาทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้ก่อตั้งชุมชนขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2360  ชาวบ้านส่วนมากมีอาชีพทำนา ค้าเกลือ และเผาอิฐ

            ชาวมอญบ้านเสากระโดงเรียกชื่อชุมชนตัวเองว่า “กวานปราสาท” และเรียกชื่อวัดว่า “เพย์ปราสาท” ต่อมาได้เรียกชื่อวัดใหม่ว่า วัดทองบ่อ ส่วนภาษามอญเรียกว่า เพย์ทอปฺลาง แต่เนื่องจากมีเรือสำเภาขนาดใหญ่อัปปางลงในแม่น้ำ และสายน้ำพัดพาเสากระโดงมาติดอยู่หน้าชุมชน ทำให้ผู้คนที่ผ่านไปมาพร้อมใจกันเรียกชื่อชุมชนนี้ว่า บ้านเสากระโดง  เรือดูดทรายได้พบเสากระโดงเรือต้นดังกล่าว และชาวบ้านได้ช่วยกันนำขึ้นมาเก็บรักษาไว้ภายในวัด เสาดังกล่าวทำจากไม้ตะเคียน อยู่สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 50 เซ็นติเมตร ยาวประมาณ 20 เมตร

            พระครูอาทรพิพัฒนโกศล((สุทัศน์ สุทสฺสโน)) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันของวัดทองบ่อ หนึ่งในบุคคลสำคัญที่เป็นผู้ริเริ่มในการรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีมอญในชุมชนขึ้น  ท่านเป็นผู้ที่เกิดและเติบโตในชุมชน อยู่ในครอบครัวที่ญาติพี่น้องยังใช้ภาษามอญในการสนทนา ทำให้ท่านสามารถพูดและเข้าใจภาษามอญได้เป็นอย่างดี ญาติผู้ใหญ่ของพระอาจารย์สุทัศน์ถือเป็นตระกูลสำคัญในชุมชน ใช้นามสกุล “ธรรมนิยาย”ก่อนที่ท่านจะบวชเรียน ท่านเคยเป็นเด็กเกเร ติดเหล้า ติดพนัน ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในสถานเริงรมย์ ในกรุงเทพมหานคร เมื่อกลับบ้านและได้มีโอกาสบวชเรียน ท่านเกิดคำถามในใจว่ามอญคือใคร และเริ่มค้นคว้าข้อมูล สอบถามครอบครัวและคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่คนในชุมชนก็เป็นเครือญาติเกี่ยวพันกัน

            สิ่งแรกที่พระอาจารย์สุทัศน์เริ่มทำในการฟื้นฟูวัฒนธรรมมอญในหมู่บ้านเสากระโดงคือ การรื้อฟื้นประเพณี “แห่โหน่” ราวปี พ.ศ. 2539 จากงานเล็กๆ ในปีแรกที่ชวนหมู่ญาติมาช่วยกันทำโหน่เพื่อแห่และถวายเป็นพุทธบูชา  ต่อมาอบต.เข้ามาสนับสนุนงาน จนกลายเป็นงานประเพณีใหญ่มีอัตลักษณ์ เป็นที่รู้จักและจัดขึ้นทุกปีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน     

“โหน่” เป็นภาษามอญหมายถึงผืนผ้า หรือที่ชุมชนมอญอื่นนิยมเรียก “ธงตะขาบ”   โหน่เป็นสัญลักษณ์ความศรัทธา เชื่อว่าบูชาโน่ได้อานิสงค์แรง การแห่โหน่ที่วัดทองบ่อ ทำในช่วงวันสงกรานต์ คือ ทุกวันที่ 14  เมษายน

            ในช่วงเวลาไล่เรี่ยกันที่ท่านรื้อฟื้นประเพณีแห่โหน่ ท่านเริ่มเก็บข้าวของใช้ภายในวัดไม่ให้สูญหาย เพื่อต้องการจะจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ต่อไป โดยใช้ศาลาการเปรียญหลังเก่าที่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455 เป็นอาคารจัดแสดง   ของจัดแสดงนอกจากเป็นของเก่าแก่ของวัดแล้ว อาทิ ตู้พระไตรปิฎก ธรรมาสน์ คัมภีร์ใบลานภาษามอญ พระพุทธรูป เครื่องถ้วยกระเบื้อง ยังมีของสะสมส่วนตัว ของบริจาค และของที่จัดซื้อมาใหม่ อาทิ พระพุทธรูปมอญ ข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องจักสาน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร การทำนา เครื่องสีฝัด เรือพาย เป็นต้น

          ป้ายหน้าอาคารจัดแสดงเขียนไว้ว่า “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดทองบ่อและศูนย์ศึกษาชุมชนชาวมอญ” ซึ่งพระอาจารย์ให้เหตุผลว่า

            “ทำมาคนเดียว...มันไม่ใช่พิพิธภัณฑ์อย่างเดียว  ตั้งใจให้เป็นที่ศึกษาชาติพันธุ์ด้วยโดยเฉพาะมอญ เข้ามาแล้วก็ต้องรู้ว่ามอญคือใคร ต้องรู้ว่ามอญมีประเทศหรือเปล่า ไม่ใช่มอญมาอยู่อพยพมาอะไรมา เขามีอาณาจักรมาตั้งกี่พันปีมาแล้ว ก็ให้ความรู้เป็นข้อมูลการศึกษา เพราะเราภูมิใจว่าเป็นมอญที่ช่วยพระนเรศวรกู้ชาติ ”

            น่าเสียดายว่าในวันที่ผู้เขียนไปเยือนเมื่อปลายปี พ.ศ. 2561  อาคารและข้าวของที่จัดแสดงภายในแลดูทรุดโทรม  ของบางส่วนถูกนำออกมาจากในตู้โชว์ไม้และบรรจุอยู่ในตะกร้าพลาสติก บนพื้นกระดานมีฝุ่นเกาะหนาและมีเศษใบไม้แห้งที่ถูกพัดปลิวเข้ามาภายในอาคารกระจายอยู่ตามพื้นศาลา   ซึ่งได้คำตอบจากพระอาจารย์ว่า อาคารได้รับความเสียหายครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2554  ทางการอนุมัติงบมาปรับปรุงกระเบื้องมุงหลังคา ดีดอาคารให้สูงขึ้น ทำตู้ไม้จัดแสดง จึงต้องย้ายวัตถุและนำมาเก็บไว้ในตะกร้าใบใหญ่ ยังไม่มีโอกาสนำของออกมาจัดแสดงหรือใส่ตู้โชว์ 

นอกจากนี้ปลายปี พ.ศ. 2555 องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอนุมัติงบประมาณมาดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมทางเดินเท้าและภูมิทัศน์  อย่างไรก็ดีท่านอาพาธ และมีแนวคิดในการจัดการดูแลพิพิธภัณฑ์และบริเวณภายในวัดไม่ตรงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงหยุดชะงักมาพัฒนาพิพิธภัณฑ์นับแต่ครั้งนั้น    ซึ่งท่านเปรยว่าพิพิธภัณฑ์วัดทองบ่อยังไม่สามารถไปถึงความเป็นศูนย์ศึกษาชุมชนชาวมอญดังที่ท่านตั้งเป้าหมายไว้   ซึ่งพระอาจารย์แจ้งว่า ในอนาคตทางชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจจะมีการหารือเพื่อดำเนินการปรับปรุงและคงจะเปิดให้เข้าชมได้ในอนาคตต่อไป

ข้อมูลจาก

พระครูอาทรพิพัฒนโกศล(สุทัศน์ สุทสฺสโน) เจ้าอาวาสวัดทองบ่อ, 2561. [บทสัมภาษณ์] (30 ตุลาคม 2561).

ภาสกร อินทุมาร. “พระอาจารย์สุทัศน์แห่งวัดทองบ่อ” ใน วารสารเสียงรามัญ ปีที่ 4 ฉบับที่ 19 (มกราคม-มีนาคม) 2552, หน้า 22-25.

สุภรณ์ โอเจริญ. 2541, มอญในเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

องค์ บรรจุน. “มอญกรุงเก่า” ใน วารสารเสียงรามัญ ปีที่ 4 ฉบับที่ 19 (มกราคม-มีนาคม) 2552, หน้า 3-11.

องค์ บรรจุน. “วัดมอญในเมืองไทย” ใน วารสารเสียงรามัญ ปีที่ 4 ฉบับที่ 19 (มกราคม-มีนาคม) 2552, หน้า 18-21.

ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดทองบ่อและศูนย์ศึกษาชุมชนมอญ

เสียงสวดมนต์ของอุบาสก อุบาสิกาในสำเนียงที่แปลกไป เป็นการทำบุญตักบาตร สวดมนต์ในทุกเช้าของวันพระในบรรยากาศเย็นสบายในช่วงปลายฝนต้นหนาวที่อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของวัดทองบ่อ ซึ่งเป็นวัดเพียงแห่งเดียวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ยังคงความหนาแน่นของชาวมอญ ที่เป็นชุมชนที่ยังคงอัตลักษณ์ รักษาประเพณี และวัฒนธรรมของชาวมอญไว้ให้ได้มากที่สุด 
 
ป้าภูมิ พลอยรัตน์ ชาวไทยเชื้อสายมอญ วัย 80 ปี  หนึ่งในอุบาสก อุบาสิกาที่ยังสามารถสวดมนต์เป็นภาษามอญ และมาทำบุญที่วัดทองบ่อนี้อยู่เป็นประจำ และยังช่วยเหลือกิจกรรมของวัดทองบ่อเท่าที่สุขภาพร่างกายจะเอื้ออำนวย  ได้เล่าถึงชุมชนบ้านเสากระโดง ชุมชนของชาวมอญแห่งนี้ว่า เป็นชุมชนเครือญาติกันมีอยู่กว่า 100 หลังคาเรือน ปัจจุบันชาวมอญที่สามารถพูดภาษามอญได้มีน้อยเต็มที คนอายุน้อยกว่า 50 ปี บางคนฟังได้แต่พูดไม่ได้ บางคนพูดได้แต่ไม่ยอมพูด ทำให้ภาษามอญยิ่งเลือนหายไปเร็วขึ้น
 
พระครูอาทรพิพัฒนโกศล หรือ พระอาจารย์สุทัศน์ ธรรมอุบล อดีตเด็กเกเรที่กลับตัวกลับใจ ปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ และช่วยฟื้นฟูความเป็นมอญแห่งบ้านเสากระโดง พระอาจารย์สุทัศน์ เล่าว่าวันหนึ่งท่านได้รับคำถามจากโยมแม่ว่า “รู้ไหมว่า โหน่ คืออะไร” ท่านจึงได้คิดว่า ท่านรู้ว่าตัวท่านเป็นมอญ แต่สำนึกแห่งความเป็นมอญนั้นไม่มี ทำให้ท่านหันมาศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชนชาติมอญ เรียนเขียน อ่าน จนสามารถสวดมนต์ ให้ศีลให้พรเป็นภาษามอญได้ 
พระนักพัฒนาอย่างพระอาจารย์สุทัศน์ได้ปรับปรุงวัดทองบ่อ ฟื้นฟูประเพณีการแห่โหน่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไปรอบๆ ชุมชน ซึ่งเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งเพื่อสร้างสำนึกความเป็นมอญให้กับชาวมอญในชุมชน และเพื่อให้บุคคลทั่วไปโดยรอบได้รับรู้
 
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดทองบ่อ และศูนย์วัฒนธรรมศึกษาชุมชนมอญ เป็นสิ่งที่พระอาจารย์สุทัศน์ภูมิใจที่พยายามผลักดันให้วัดทองบ่อ ชุมชนบ้านเสากระโดง เป็นศูนย์วัฒนธรรมศึกษาชุมชนมอญ จากเรือนไม้หลังเดิมที่สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2455 เริ่มทรุดโทรมลง พระอาจารย์สุทัศน์ซึ่งได้รับคำฝากจากโยมบิดาของท่านให้ช่วยดูแล ทำบุบำรุงเรือนไม้หลังนี้ไว้ ท่านจึงปรับปรุงยกพื้นเสาของเรือนไม้ให้สูงขึ้นอีกกว่า 1 เมตรเพื่อหลบจากระดับน้ำที่สูงขึ้นในช่วงหน้าน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา 
 
บริเวณภายในเรือนไม้จัดแสดงสิ่งของที่เป็นสมบัติของวัดทองบ่อ  พระพุทธรูปทรงมอญ ที่สวยงามหลายองค์ ภาพวาดของกษัตริย์มอญ เช่น พระเจ้าราชาธิราช กษัตริย์มอญผู้สร้างอาณาจักรหงสาวดี และทำนุบำรุงพุทธศาสนา และบ้านเมืองให้เจริญก้วหน้า ถือว่าเป็นวีรกษัตริย์ที่ชาวมอญให้ความเคารพสูงสุด  ซึ่งภาพวาดของกษัตริย์มอญหลายพระองค์ พระอาจารย์สุทัศน์ก็ได้ให้คำอัตถาธิบายเชื่อมโยงประวัติศาสตร์มอญ กับไทย และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้ฟังอย่างน่าสนใจยิ่ง 
 
คัมภีร์งาช้าง อักขระภาษามอญโบราณ ซึ่งพระสงฆ์ชาวมอญได้ถือติดมาด้วยในช่วงอพยพจากเมืองมอญมาที่ประเทศไทย นับเป็นของชิ้นสำคัญ และเป็นที่หวงแหนของวัดทองบ่อ สมุดข่อยโบราณ ใบลาน ที่จารึกบทสวดมนต์ และสรรพวิชาภาษามอญ  นอกจากนี้ยังจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของพระสงฆ์ของวัดทองบ่อ ที่ใช้กันมาตั้งสมัยรัชกาลที่ 5 เช่น ถ้วย ชาม กระโถน หีบผ้า และยังมีเครื่องปั้นดินเผา ที่มีอัตลักษณ์ ความเป็นมอญ
 
บริเวณโดยรอบของภายในพิพิธภัณฑ์ตบแต่งด้วย โหน่ หรือ ธง หรือ ตุง ซึ่งเป็นสัญญลัหษณ์ของชาวมอญ ประดิษฐ์และตกแต่งโดย อาโปย ชาวมอญที่อพยพเข้ามาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ผู้ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรมมอญมากที่สุดในวัดทองบ่อขณะนี้ อาโปย เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือพระอาจารย์สุทัศน์ดูแลวัดทองบ่อ และฟื้นฟูประพณีต่างๆ ของชาวมอญ
 
ออกจากเรือนไม้พิพิธภัณฑ์แล้ว พระอาจารย์สุทัศน์และอาโปยพาเดินไปบริเวณด้านหน้าวัดทองบ่อเพื่อชม เสากระโดงเรือสำเภา ที่เล่ากันมาว่าเกิดอับปางลงบริเวณหน้าชุมชนในสมัยรัชกาลที่ 5  ชาวบ้านขุดพบเสากระโดงเรือต้นดังกล่าว จึงนำมาเก็บรักษาไว้ภาบในบริเวณวัดทองบ่อ เสากระโดงทำจากไม้ตะเคียนอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ชาวบ้านภายในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงพากันมาปิดทอง คล้องพวงมาลัย กราบไหว้บูชา จึงกลายเป็นที่มาของชื่อชุมชน บ้านเสากระโดง ในปัจจุบัน ถัดไปอีกหน่อยเป็น เจดีย์โบราณ สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยาที่ได้รับการบูรณะแล้ว และเสาหงส์ต้นใหม่ที่แขวนโหน่ กำลังปลิวไสวไปตามลมอยู่อย่างสวยงาม
 
พระครูอาทรพิพัฒนโกศล  กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ต่อจากนี้ไปชีวิตที่เหลืออยู่ท่านจะทำ 3 สิ่ง คือ  รำลึกถึงพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ของชาวมอญที่ได้สร้างเมือง สร้างอารยธรรมไว้ให้ลูกหลาน เป็นสิ่งแรก และจะขอตอบแทนพระมหากษัตริย์ไทย และแผ่นดินไทย ที่ให้ชาวมอญได้เข้ามาพักพิง และสุดท้ายจะฟื้นฟู อนุรักษณ์อัตลักษณ์ของชาวมอญให้คงอยู่สืบไป
 
หนังสืออ้างอิง : วารสารเสียงรามัญ, ปีที่ 4 ฉบับที่ 19 มกราคม-มีนาคม 2552
สำรวจวันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 โดยณัชพัชร์ ทองคำ
 
คลิกอ่านข้อมูลเพิ่มเติม "มอญบ้านเสากระโดง" โดยอารมร์ จุลสิกขี
ชื่อผู้แต่ง:
-