พิพิธภัณฑ์เรือโบราณวัดหนองน้ำส้ม


ที่อยู่:
วัดหนองน้ำส้ม ต.หนองน้ำส้ม อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา 13210
โทรศัพท์:
08-1994-6017
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2539
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์เรือโบราณวัดหนองน้ำส้ม

จากเส้นทางถนนเลียบคลองชลประทานลัดเลาะไปตามท้องทุ่งนาที่เขียวชอุ่ม บางแปลงต้นข้าวเริ่มตั้งทอง ออกรวงเปล่งประกายสีทองสะท้อนกับแสงแดดในตอนเช้า ลมเย็นๆ ของปลายฝนต้นหนาวทำให้ความรู้สึกในวันนั้นสุดแสนจะวิเศษ เพลิดเพลินกับบรรยากาศท้องทุ่งสลับกับบ้านไม้หลังย่อมๆ ไปตลอดทางจนถึงเขตรั้ว และป้ายบอกทางที่บอกให้รู้ว่าขณะนี้เรามาถึง วัดหนองน้ำส้ม เขตตำบลหนองน้ำส้ม อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว
 
เมื่อเดินเข้าไปในบริเวณของวัดหนองน้ำส้ม ต้นไม้ร่มรื่น ผ่านศาลา ผ่านกุฏิพระสงฆ์ ผ่านโบสถ์ที่กำลังอยู่ในช่วงบูรณะ เมื่อเห็นหนุ่มน้อยยืนอยู่ไม่ไกลมากนัก จึงจะเดินต่อเพื่อติดต่อเพื่อขอกราบนมัสการท่านเจ้าอาวาส แต่วัดไทยมักจะคู่กับสุนัข เพราะยังไม่ทันก้าวเดินออกไป มีเหตุให้ต้องยืนตัวแข็ง เพราะสุนัขไม่ต่ำกว่าสิบตัวทั้งเห่า ทั้งวิ่งกรูเข้ามาหาเพื่อทักทาย และพิสูจน์แขกแปลกหน้า
 
พระครูอุทัยธนารักษ์ เจ้าอาวาสวัดหนองน้ำส้ม และเจ้าคณะอำเภออุทัย พระนักพัฒนา ท่านบอกว่าที่นี่มีสุนัขมากมาย เพราะสงสาร ใครให้มาก็ดูแล หมดค่าอาหาร ค่ายาไปกับสุนัขเหล่านี้เยอะมาก และที่วัดหนองน้ำส้มเด็กๆ ก็เยอะ เพราะท่านต้องการหยิบยื่นโอกาสที่มีให้กับเด็กๆ เหล่านี้ ท่านบอกว่าในวัยเยาว์ท่านขาดทางด้านการศึกษา เมื่อมีโอกาสท่านจึงพยายามสนับสนุน และส่งเสริม ให้โอกาสกับเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่ครอบครัวยากจน และเด็กๆ ที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากแดนไกล 
 
วัดหนองน้ำส้มเป็นวัดที่กันดาร ห่างจากอำเภออุทัย 10 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอวังน้อยอีก 10 กิโลเมตร หน้าแล้งก็แล้งทุกปี หน้าน้ำ น้ำก็ท่วมสูง ด้วยความที่ท่านเจ้าอาวาสสงสารเด็กๆ แถวนี้ที่จะต้องเดินเท้า หรือปั่นจักรยานไปเรียนหนังสือไกล จึงคิดสร้างโรงเรียนที่ตำบลหนองน้ำส้ม ซึ่งท่านใช้เวลาในการพัฒนา ปรับปรุงพื้นที่วัด บริหารจัดการดูแลทุกอย่างด้วยตัวเองมาตลอด ท่านบอกว่า “เหนื่อย แต่ก็สนุกดี”  จนทุกวันนี้ท่านได้ดูแลเด็กๆ ทั้งในระบบ และนอกระบบหลายร้อยคน 
 
ท่านเจ้าอาวาสได้จัดทำโครงการแสงธรรมส่องโรงเรียน ค่ายพุทธบุตร เป็นการบวชเณรในช่วงปิดเทอม รณรงค์ให้มีการแต่งขาว ห่มขาวในทุกวันพระ ซึ่งทางวัดหนองน้ำส้มก็เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ แรงศรัทธา และความร่วมมือของชาวบ้านแถบนี้ทำให้ท่านเจ้าอาวาสสามารถพัฒนา และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อชุมชนหนองน้ำส้มสำเร็จด้วยดี
 
 “เพราะฉันเป็นลูกชาวนา”  เป็นประโยคแรกที่พระนักพัฒนาอย่างพระครูอุทัยธนารักษ์ได้แนะนำตัวท่านเอง หลังจากที่เริ่มต้นบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดหนองน้ำส้มขึ้น วิถีชีวิตของชาวหนองน้ำส้ม รวมทั้งครอบครัวของท่านเจ้าอาวาส คือการทำอาชีพเกษตรกรรม จึงเป็นที่มาของการสะสมวัตถุที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนหนองน้ำส้ม
 
วัตถุจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์วัดหนองน้ำส้มแบ่งออกเป็น 2 ส่วน  คือ อุปกรณ์ในการทำนา อุปกรณ์ในการดับ จับสัตว์ และเรือ  แต่ยังไม่เป็นระเบียบมากนัก เพราะรองบประมาณในการจัดสร้างอาคารหลังใหม่ เพื่อรองรับวัตถุจัดแสดงต่างๆ ที่ยังนำมาแสดงตรงศาลานี้ไม่ได้ทั้งหมด บางส่วนยังวางอยู่บนอาคารศาลาการเปรียญหลังใหม่จนฝุ่นจับ 

การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัหนองน้ำส้มนี้ เพราะท่านเจ้าอาวาสเป็นห่วงว่าเด็กรุ่นหลังจะไม่มีให้เห็นอีกแล้วถ้าไม่มีใครเริ่มจัดเก็บ ดูแล และรักษาเอาไว้ ปัจจุบันจัดวางวัตถุไว้ที่ศาลาสำหรับทำพิธีศพ ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยมีคนใช้สถานที่นี้มากนัก ท่านจึงดัดแปลงมาเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ชั่วคราว ส่วนนี้จัดแสดงเรือ ที่มีทั้งเรือมาด เรือพายม้า เรือหมู เรือป๊าบ เรือบด อีกด้านหนึ่งจัดแสดงเครื่องมือในการไถนา เช่น แอก คันไถ ซึ่งจัดวาง และแขวนไว้มากมาย ศาลาอีกฝั่งนึงเก็บเครื่องฝัดข้าวไว้หลายเครื่อง ทั้งที่เสียและยังสามารถใช้งานได้อยู่ แต่ต้องมีการปัดฝุ่น หยอดน้ำมันเพื่อให้หมุนเฟืองได้
เดินลัดไปด้านข้างของพระอุโบสถ เป็นโรงเก็บเกวียนที่มีอยู่มากมาย ซึ่งท่านเจ้าอาวาสบอกว่าท่านมีเกวียนที่ทั้งสวย และสามารถบรรจุข้าวสารได้ถึง 40-50 กระสอบ ด้านข้างของโรงนี้มีล้อเกวียนวางเรียงรายอย่างสวยงามประหนึ่งฝากั้นห้อง
 
ซึ่งท่านเจ้าอาวาสบอกว่าเมื่องบประมาณของจังหวัดมาถึง อาคารทั้งหมดที่จะสร้างเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์บริเวณด้านหน้าวัดหนองน้ำส้มคงแล้วเสร็จในปี2553 นี้ วัตถุทั้งหมดจะมีการซ่อมแซม และเคลื่อนย้ายมาจัดแสดงที่นี่ ทุกอย่างคงเป็นระบบมากขึ้น และท่านกำลังสร้างเด็กๆ ในวัดหนองน้ำส้มให้เป็นมัคคุเทศน์น้อยนำชมด้วยความเต็มใจ และเราคงจะได้ชื่นชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนด้วยความสุขใจ
 
สำรวจวันที่ 29 ตุลาคม 2552 โดยณัฐพัชร์ ทองคำ
ชื่อผู้แต่ง:
-