ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา


ที่อยู่:
ถ.โรจนะ ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์:
0-3524-5124
วันและเวลาทำการ:
เปิดจันทร์-ศุกร์ 09.00-16.30 น. เสาร์-อาทิตย์ 09.00-17.00 น.
ค่าเข้าชม:
ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 15 บาท
ปีที่ก่อตั้ง:
2529
ของเด่น:
เรือสำเภาจีน เรือนชาวบ้านในอดีต
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา

ชื่อผู้แต่ง: ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคนอื่น ๆ | ปีที่พิมพ์: 2533

ที่มา: พิมพ์เนื่องในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเปิดศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา 22 ส.ค. 2533

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา

ด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น  เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษาในปี พ.ศ.2530  และเป็นที่ระลึกในโอกาสมิตรภาพไทยกับญี่ปุ่นครบรอบ 600 ปี  ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาแห่งนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างนักวิชาการไทยและญี่ปุ่น จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2529 โดยมองว่าอยุธยานอกจากจะเป็นอดีตเมืองหลวงของสยามที่มีอายุยืนยาวถึง 417 ปี และได้วางรากฐานทางวัฒนธรรมให้กับประเทศไทยสมัยใหม่แล้วยังเคยเป็นศูนย์กลางของสังคมการค้าในอุษาคเนย์ในระยะเวลาหนึ่งด้วย 
 
ความตั้งใจของนักวิชาการไทย-ญี่ปุ่นดังกล่าว ได้ปรับขยายจากข้อเสนอของสมาคมไทย-ญี่ปุ่น และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้มีการปรับปรุงบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่นเพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่นมาเป็นการจัดตั้งศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาแทน และมีความตกลงร่วมกันระดับรัฐบาล โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า 999 ล้านเยน (ประมาณ 170 ล้านบาทในเวลานั้น)     
   
การจัดแสดงในศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา จัดแสดงด้วยข้อมูลจากการวิจัย แบ่งเป็น 4 หัวข้อได้แก่ พระนครศรีอยุธยาในฐานะเมืองราชธานี กรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองท่า  อยุธยาในฐานะศูนย์กลางอำนาจการเมืองและการปกครอง  ชีวิตชาวบ้านไทยสมัยก่อน   คำอธิบายในหัวข้อใหญ่มีเขียนไว้เป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น และอีกหนึ่งหัวข้อคือความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับต่างประเทศ  จัดแสดงที่ตำบลเกาะเรียน บริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านชาวญี่ปุ่นในสมัยอยุธยา ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก
 
คำบรรยาย “พระนครศรีอยุธยาในฐานะเมืองราชธานี”กล่าวไว้ว่า พระนครศรีอยุธยาแรกสร้างใน พ.ศ.1893 และพัฒนาขึ้นเป็นราชธานีของสยามประเทศตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 มีลักษณะเป็นเกาะที่มีแม่น้ำล้อมรอบ อันเป็นคูเมืองธรรมชาติในการป้องกันข้าศึก ขณะเดียวกันก็เป็นเส้นทางคมนาคมที่นำพานิชย์นาวีจากต่างประเทศและบรรดาเรือค้าใหญ่น้อยจากหัวเมืองมาชุมนุมกันที่พระนคร ทำให้ราชธานีเป็นทั้งศูนย์กลางการปกครองและเศรษฐกิจของราชอาณาจักรที่หลากหลายไปด้วยชนชาติต่างๆ
 
ภาพพระนครที่ชาวต่างชาติเขียนไว้ในพุทธศตวรรษที่ 23 นี้ดูใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด  แสดงให้เห็นผังเมืองที่มีทั้งถนนและลำคลองตัดผ่านไปมา  แบ่งพระนครออกเป็นบริเวณพระราชวัง สถานที่ราชการ วัดวาอาราม ทั้งวัดหลวงวัดราษฎร์ ย่านที่อยู่อาศัย และตลาดร้านค้าอย่างมีระเบียบแบบแผนสวยงาม สมกับที่ชาวต่างชาติเรียกพ้องกันว่า เวนิชตะวันออก
 
การจัดแสดงที่นี่ใช้แบบจำลองที่สวยงามอธิบายสถานที่และเรื่องราวในเหตุการณ์สำคัญ เช่น เรือจำลอง  เป็นสำเภาจีน(สร้างตามรูปเขียนของญี่ปุ่น) เรือคาร์แรทของสเปน โปรตุเกส และเรือแกลลิออนของฮอลันดา  แบบจำลองพระราชวังโบราณ วัดไชยวัฒนารามและเพนียดคล้องช้าง  แบบจำลองภายในวิหารพระศรีสรรเพชญ์  วัดที่มีความสำคัญและเป็นที่ประกอบพิธีการถือน้ำพิพัฒน์สัตยา  แบบจำลองของหมู่บ้าน แบบจำลองภายในตัวบ้านและวิถีชีวิตทางขนบธรรมเนียมประเพณีนอกจากนี้ยังมีส่วนของภาพเขียนสีน้ำมัน แผนผังเมืองอยุธยาในสายตาของพ่อค้าชาวดัทช์ คริสต์ศตวรรษที่ 17 หรือราวปลายพุทธศตวรรษที่ 22  แผนที่แสดงเส้นทางการค้าทางทะเลกับบรรดาประเทศต่างๆในสมัยอยุธยา
 
คุณเนตรทราย  เอี่ยมสอาด เจ้าหน้าที่ศูนย์ประวัติศาสตร์อยุธยา ได้นำชมในแต่ละหัวข้อ เรือสำเภาจีนดูเด่นสะดุดตา ซึ่งเป็นแบบจำลองชิ้นแรกๆที่ผู้เข้าชมจะมองเห็น  ในอีกฉากหนึ่งของแบบจำลองประวัติศาสตร์อยุธยาคือ ทัศนียภาพที่มองจากป้อมเพชร มองลงไปจะเห็นแม่น้ำ 3 สายที่มาบรรจบกัน ได้แก่ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำเจ้าพระยา มีบ้านเรือนริมน้ำ วัดวาอาราม
 
สำหรับผู้เข้าชมที่มาเป็นครอบครัว  ส่วนที่ได้รับความสนใจมากสำหรับเด็กๆ คือส่วนจัดแสดงชีวิตชาวบ้านไทยสมัยก่อน  มีเซนเซอร์ที่มีเสียงเห่เรือ  เสียงการเล่นมอญซ่อนผ้าของเด็กๆ  เรือนชาวบ้านจัดแสดงเหมือนจริง สามารถเดินขึ้นไปมองทีละห้องได้ว่ามีสิ่งของอะไร คนสมัยก่อนกินนอนใช้ชีวิตอย่างไร  ในห้องครัวที่มีปลามีกระเทียมห้อยไว้ เป็นของจริงที่เคลือบสารกันแมลงไว้  และมีโอ่ง ไห เครื่องโม่แป้ง  เมื่อลงบันไดมา ใต้ถุนเรือนมีเครื่องมือจับปลา  คันกระสุน ซออู้ 
 
บริเวณเดียวกันยังมีแบบจำลองขนาดเล็ก  แสดงชีวิตชาวบ้านหลายช่วงเวลาสำคัญของชีวิต เช่น “การเกิด”ป้ายบรรยายบอกว่า สมัยโบราณ การคลอดและการดูแลบุตรที่เกิดใหม่เป็นเรื่องยากลำบาก เด็กหลายรายตายเมื่อแรกเกิด เชื่อกันว่าต้นเหตุมาจากผีสางเทวดา จำต้องมีพิธีปัดเป่าตั้งแต่ต้นจนอายุหนึ่งเดือน เมื่อเด็กเกิดหมอตำแยจะทำพิธีร่อนกระด้งในวันที่เกิดหรือวันที่สาม โดยวางเด็กบนหลังกระด้งแล้วยกขึ้นร่อน และวางกระแทกลงเบาๆทำสามครั้งให้เด็กคุ้นจะได้ไม่ตกใจ จากนั้นจึงส่งกระด้งเด็กให้แม่ซื้อรับไปวางภายในวงสายสิญจน์ใกล้กับแม่ของเด็ก 
 
ต่อมาเมื่อเด็กโตขึ้นมาถึง “การเรียนหนังสือ”ในครั้งกระโน้น วัดคือที่ให้การศึกษาอบรมแก่เด็ก บิดามารดาจะฝากฝังบุตรให้เป็นศิษย์ของพระที่คุ้นเคยกัน การเรียนวันแรกเริ่มด้วยพิธีให้เด็กไหว้ครูด้วยดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู แล้วเริ่มเรียนพร้อมกับเณรที่บริเวณหอฉัน หรือหอสวดมนต์ ฝึกการอ่านและการเขียนลงบนแผ่นไม้กระดานสีดำ ไม่มีหลักสูตรหรือระดับที่ตายตัว
 
ถัดจากเรือนชาวบ้าน  ด้านติดผนังที่เห็นเป็นขวดโหลคือยาสมุนไพร มีทั้งได้จากพืชและสัตว์ มีหลากหลายชนิดที่เราไม่รู้จักและไม่เคยเห็นมาก่อน สมุนไพรจากพืชได้แก่ มะเกลือ มะกา สมอพิเภก ชุมเห็ดเทศ ดีปลี ชะเอมไทย เป็นต้น สมุนไพรจากสัตว์ได้แก่ อกตะพาบน้ำ ลิ้นทะเล ดีงูเห่า ชะมดเช็ด  เป็นต้น อุปกรณ์ทำยามีตาชั่ง หินบดยา ใกล้กันเป็นภาพจุดต่างๆของร่างกายมนุษย์  ตามตำราการแพทย์แผนโบราณ  คุณเนตรทรายบอกว่าในอยุธยามี 2-3 ร้านจัดยาสมุนไพรแผนโบราณ  ปัจจุบันยังได้รับความนิยมอยู่ 
 
จากการนำเสนอด้วยเนื้อหาเรื่องราวหลายด้านของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา  น่าจะทำให้ผู้มาเที่ยวชมเที่ยวเมืองเก่าอยุธยาในสถานที่จริงได้สนุกมากยิ่งขึ้น  หลายๆสถานที่สำคัญจะไม่เป็นเพียงซากปรักหักพัง  สิ่งที่คงอยู่จะปรากฏในจินตนาการ นำไปสู่การศึกษาค้นคว้าได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
       
----------------------------------------------------
สาวิตรี  ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2555
----------------------------------------------------
การเดินทาง : จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้หลายเส้นทางดังนี้
1.ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) แล้วข้ามสะพานนนทบุรีหรือสะพานนวลฉวี ไปยังจังหวัดปทุมธานีต่อด้วยเส้นทาง ปทุมธานี-สามโคก-เสนา (ทางหลวงหมายเลข 3111) เลี้ยวแยกขวาที่อำเภอเสนา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3263 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
3. ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 347 แล้วไปแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางปะอิน เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา  ตั้งอยู่ที่ถนนโรจนะ ใกล้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
-----------------------------------------------
อ้างอิง  :  ข้อมูลการสัมภาษณ์เมื่อวันที่  28  เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555
               ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา.(2555). 16 สิงหาคม 2555.จาก http://www.hotsia.com/
                     phranakhonsiayutthaya/2090.shtml
               สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา.(2555).ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา.ค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2555.จาก http://ayutthayastudies.aru.
                     ac.th/content/view/364/56
              
 
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา

ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา จัดตั้งขึ้นตามโครงการที่นักวิชาการไทยและนักวิชาการญี่ปุ่นได้ปรับขยายมาจากข้อเสนอเดิมของสมาคมไทย-ญี่ปุ่น และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เคยเสนอปรับปรุงบริเวณที่เคยเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่นและสร้างพิพิธภัณฑ์หมู่บ้านญี่ปุ่นมาเป็นการเสนอให้จัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑสถานเกี่ยวกับราชอาณาจักรอยุธยาโดยส่วนรวม และได้รับงบประมาณช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเงิน 999 ล้านเยน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในพระราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา และเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่มิตรภาพระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับราชอาณาจักรไทยได้สถาวรยืนนานมาครบ 100 ปี

นอกจากผังจำลองเมืองกรุงเก่าแล้ว พิพิธภัณฑ์ของศูนย์ศึกษาฯ นี้ ยังมีลักษณะที่พิเศษแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นในประเทศ คือ การที่พยายามสร้างชีวิต สังคมวัฒนธรรมในอดีตให้กลับขึ้นมาใหม่ด้วยข้อมูลการวิจัย (Researched-based Reconstruction) โดยการนำวิชาการเทคโนโลยีของการจัดพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่มาจัดแสดงนิทรรศการซึ่งจะทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจชีวิตในอดีตได้ง่าย การจัดแสดงมีทั้งสิ้น 5 หัวข้อ 1.อยุธยาในฐานะราชธานี 2.อยุธยาในฐานะของเมืองท่า 3.อยุธยาในฐานะรัฐรวมศูนย์อำนาจ 4.ชีวิตชุมชนชาวบ้านไทย 5.ความสัมพันธ์ของอยุธยากับนานาชาติ นิทรรศการทุกอย่างที่นำมาแสดงในศูนย์ศึกษาฯ ได้รับการตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียดจากคณะอนุกรรมการด้านวิชาการของคณะกรรมการอำนวยการฯ มาแล้ว



ข้อมูลจาก www.hamanan.com/tour/ayutthaya/ayutthaya.html[accessed2000220] www.geocities.com/RainForest/7153/thai/ayut/ayth_his1.htm[accessed20070220]
ชื่อผู้แต่ง:
-