หมู่บ้านโปรตุเกส


ที่อยู่:
ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์:
ติดต่อสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา โทร.035-242448, 035-242501
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 08.00 - 18.00 น.
ค่าเข้าชม:
คนละ 20 บาท
ปีที่ก่อตั้ง:
2527
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม้กางเขนเก่าที่สุดในประเทศไทยที่หมู่บ้านโปรตุเกสอยุธยา.

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: ปีที่14 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม 2535) หน้า 128-133

ที่มา: ศิลปวัฒนธรรม

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของหมู่บ้านโปรตุเกส

ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อปีพ.ศ. 2054 โดยอัลฟองโซ เดอ อัลบูเคอร์ก ผู้สำเร็จราชการของโปรตุเกส ประจำเอเซีย ได้ส่งนายดูอาร์เต้ เฟอร์นันเดส เป็นฑูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขายและเป็นทหารอาสาในกองทัพกรุงศรีอยุธยา สร้างโบสถ์ขึ้นเพื่อเผยแพร่ศาสนาและเป็นศูนย์กลางของชุมชน

ปัจจุบันบริเวณนี้ยังมีร่องรอยสิ่งก่อสร้างปรากฏให้เห็นคือ โบราณสถานซานเปโตรหรือโบสถ์ในคณะโดมินิกัน ซึ่งเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นับเป็นโบสถ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นในแผ่นดินไทย มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ กล้องยาสูบ เหรียญกษาปณ์ เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องประกอบพิธีทางศาสนา

ภัทรพงศ์ เก่าเงิน ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้เล่าถึงความเป็นมาในการพัฒนาเป็นพื้นที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และโครงการปรับปรุงอาคารที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ

“ในบริเวณดังกล่าว มีโบสถ์อยู่สามแห่ง โดมินิกัน ฟราซิสกัน และเยซูอิต เรา [กรมศิลปากร] ขุดโบสถ์โดมินิกันตั้งแต่ปี 2527แล้วพบสุสานอยู่หน้าโบสถ์ ก็บูรณะซากฐานโบสถ์ ในปัจจุบันมีอาคารคลุมสุสานไว้ แต่ตามหลักฐานบอกว่ามีโบสถ์ของเยซูอิตและฟรานซิสกัน นอกจากนี้ เขาก็สำรวจพื้นที่โดยรอบ และได้มีการกำหนดตำแหน่งว่า เนินโบราณสถานที่น่าจะเป็นเยซูอิต เมื่อปี 2552ไปขุดโบสถ์เยซูอิต แต่พอไปขุดจริงๆ แล้วไปเจอเป็นวัดไทย ตำแหน่งคาดเคลื่อน นอกจากนี้ เป็นไปได้ว่า ตำแหน่งที่เป็นโบสถ์เยซูอิตเดิม อาจถูกบ้านชาวบ้านทับไปแล้ว ส่วนเนินโบราณสถานที่ระบุว่าเป็นโบสถ์ฟรานซิสกัน อยู่ในที่เอกชนไม่สามารถดำเนินการได้

ในเบื้องแรก ในการฉลอง 500ปีความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกสในปี 2554กรมศิลปากรมุ่งหวัง จะเปิดโบสถ์ใหม่ แล้วเอาข้อมูลการขุดค้นและขุดแต่งจากโบสถ์ใหม่ มาจัดแสดง แต่ก็เป็นอันต้องเลิกล้มไป โครงการเลยหันมาที่การกลับมาปรับปรุงข้อมูลที่มีอยู่คือ บ้านโดมินิกัน ในที่สุด มีนโยบายให้ปรับปรุงอาคารหลังเดิม เพราะมีพื้นที่เยอะ แล้วพื้นที่ส่วนหนึ่งถูกเว้นว่างให้เป็นสุสาน โดยปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งที่เคยเป็นโครงกระดูก ให้ดำเนินการกลบแล้วเอาพื้นที่ตรงนั้นมาจัดแสดง เมื่อปิดไปส่วนหนึ่ง จะได้พื้นที่ประมาณสองร้อยตารางเมตร

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการโปรตุเกสและท่านทูตมา กล่าวว่าจริงๆ แล้ว ชาวคริสต์ไม่ยินดีเท่าไรที่เปิดโครงกระดูกของชาวคริสต์ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้น แนวคิดที่จะปิดพื้นที่ที่เป็นสุดสาน จึงได้สมประโยชน์ ตอนนี้ อยู่ระหว่างการทำแบบ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงอาคาร ด้วยการเปิดผนังให้มันโปร่งเพื่อที่เวลาคนอยู่ในอาคารแล้ว อยากให้เห็นโบราณสถานด้านนอกด้วย ส่วนใหญ่มีการปรับหน้าต่างให้เป็นบานสูง สำหรับเห็นโบราณสถานนอกอาคาร และการทำให้อากาศถ่ายเท ไม่ร้อนด้วย”
 
สำหรับพื้นที่ที่ได้มาใหม่หลังจากการปิดส่วนสุสาน ภัทรพงศ์ เก่าเงินได้อธิบายถึงเนื้อหาที่จะปรากฏเป็นบอร์ดนิทรรศการ โดยการแบ่งเนื้อหา เป็น 9ส่วน ได้แก่

1.   บทนำ แสดงวัตถุประสงค์ของการสร้างอาคารหลังนี้เป็นส่วนของการฉลองความสัมพันธ์, ประวัติการดำเนินงาน ตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน และเหตุการณ์สำคัญ อันได้แก่ บุคคลที่มาเที่ยวสถานที่แห่งนี้ เช่น สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ

2.   ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยาและต่างชาติ กล่าวถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญของกรุงศรีอยุธยาในช่วงที่ดำรงฐานะเป็นราชธานีของสยามประเทศ จนมีชาวต่างชาติทั้งใกล้และไกลเข้ามาติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น การค้า การเผยแพร่ศาสนา เป็นต้น

3.   โปรตุเกสกับเอเชีย ประวัติความเป็นมาของประเทศโปรตุเกส, สาเหตุที่โปรตุเกสเดินทางมายังเอเชีย และเส้นทางการค้าและเมืองท่าสำคัญของโปรตุเกสในเอเชีย

4.   โปรตุเกสกับกรุงศรีอยุธยา ประวัติการเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาของชาวโปรตุเกส เน้นว่าการเข้ามาของโปรตุเกสในกรุงศรอยุธยาเป็นการเดินทางมาเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี คือเจ้ามาแบบเป็นมิตร ในขณะที่การเข้ามาของชาติอื่นเป็นการล่าเมืองขึ้น

5.   บทบาทความสำคัญของชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา ด้านการทหาร ด้านการเมืองการปกครอง ด้านการค้า ด้านการศาสนา ฯลฯ

6.   ศาสนาสถานของชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา โบสถ์ของชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาประกอบด้วย 3คณะ/นิกาย โดมินิกัน ฟรานซิสกัน เบซูอิต, การขุดค้นโบราณสถานที่โบสถ์โดมินิกัน ข้อมูลหลักฐานต่างๆ ที่พบจากการดำเนินงานทางโบราณคดี และโบราณสถานอีก 2แห่ง ที่จะเป็นการดำเนินงานในอนาคต

7.   ผลกระทบต่อหมู่บ้านโปรตุเกส เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310หมู่บ้านโปรตุเกสได้รับผลกระทบจากสงครามดังกล่าวถูกข้าศึกเผาทำลายและถูกทิ้งร้างในที่สุด

8.   ชาวโปรตุเกสที่ร่วมกับกองทัพพระเจ้าตากสินมหาราชเพื่อกอบกู้เอกราช และการตั้งชุมชนชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงธนบุรี ที่บริเวณโบสถ์ชางตาครูส

9.   มรดกของชาวโปรตุเกสที่ตกทอดมายังปัจจุบัน ขนมหวานต่างๆ เช่น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด ฯลฯ เป็นขนมที่ชาวโปรตุเกสนำมาเผยแพร่ในสมัยอยุธยา, บทบาทของท้าวทองกีบม้า (ลูกครึ่งโปรตุเกส-ญี่ปุ่น) ในฐานะต้นตำหรับการทำขนม


----------------------------------------------------
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ /ผู้เขียน
ข้อมูลจาก  :  สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  10 เดือนมิถุนายน  พ.ศ. 2554
ชื่อผู้แต่ง:
-

รีวิวของหมู่บ้านโปรตุเกส

ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2054 (ค.ศ. 1511) โดยอัลฟองโซ เดอ อัลบูเคอร์ก สำเร็จราชการของโปรตุเกสประจำเอเซียส่งนายดูอาร์เต้ เฟอร์นันเดส เป็นทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในปี พ.ศ. 2059 ได้ตกลงทำสนธิสัญญาระหว่างไทย - โปรตุเกส ซึ่งนับเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่ไทยทำกับชาติตะวันตก

หมู่บ้านโปรตุเกส ได้ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2083 ตามพระราชโองการของพระไชยราชาธิราช พระราชทานที่ดินให้ตั้งหมู่บ้านขึ้นบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ เพื่อเป็นบำเหน็จความดีความชอบของชาวโปรตุเกส จำนวน 120 คน ที่เข้ารับราชการเป็นทหารอาสาเข้าร่วมรบในสงครามเมืองเชียงกรานจนได้รับชัยชนะ ชาวโปรตุเกสได้สร้างโบสถ์เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาในนิกายโรมันคาทอลิก จำนวน 3 แห่งด้วยกัน ได้แก่ โบสถ์คณะโดมินิกัน โบสถ์คณะยูเซอิต และโบสถ์คณะฟรานซิสกัน หมู่บ้านชาวโปรตุเกสที่พระนครศรีอยุธยา มีอายุได้ 227 ปี จึงได้ถูกทิ้งร้างไปพร้อมๆ กับพระนครศรีอยุธยาถูกพม่าทำลาย เมื่อ พ.ศ. 2310

ในปี พ.ศ. 2527 มูลนิธิกุลเบงเกียน (FUNDAçÃO CALOUSTE GULBENKIAN) ประเทศโปรตุเกส ได้มอบทุนจำนวนหนึ่งให้กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่ง บูรณะ ปรับปรุงโบราณสถาน ณ หมู่บ้านโปรตุเกส ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

สิ่งก่อสร้างปรากฏให้เห็นในปัจจุบันคือ โบราณสถานซานเปโตร หรือโบสถ์เซนต์โดมินิค เป็นโบสถ์ในคณะโดมินิกัน ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเกือบกึ่งกลางหมู่บ้านโปรตุเกส มีเนื้อที่ประมาณ 2,400 ตารางเมตร ยาวตามแนวทิศตะวันออกไปตะวันตกหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอาคารแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนหน้าเป็นสุสานของชาวคาทอลิคคณะโดมินิกัน ส่วนกลางใช้ประกอบพิธีทางศาสนาและฝังศพบาทหลวง ส่วนในด้านหลังเและด้านข้างเป็นที่พักอาศัย โบราณวัตถุที่สำคัญที่ขุดพบได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ กล้องยาสูบ เหรียญกษาปณ์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับกำไลแก้วและเครื่องประกอบพิธีทางศาสนาเช่น ไม้กางเขน เหรียญรูปเคารพในศาสนา ลูกประคำ ในส่วนของสุสาน พบโครงกระดูกจำนวนมากกว่า 200 โครง ฝังเรียงรายอย่างเป็นระเบียบและทับซ้อนกันหนาแน่นทั้งภายในและภายนอกอาคาร โครงกระดูกเหล่านี้มีทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และบางส่วนชำรุด จากหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ กล่าวถึงการเกิดโรคระบาดร้ายแรงในปลายแผ่นดินพระเพทราชาเมื่อปี พ.ศ. 2239 มีผู้คนล้มตายมาก และในปี พ.ศ. 2255 ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระก็เกิดโรคระบาดอีกครั้งมีผู้คนล้มตายมาก สันนิษฐานว่าอาจเป็นเหตุให้มีการขยายสุสานออกมาจากเดิม (อ่านข้อมูลประวัติศาสตร์เพิ่มเติม)

ข้อมูลจาก:
สถาบันอยุธยาศึกษา http://ayutthayastudies.aru.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=150&Itemid=32 [accessed 2007-05-15]
http://www.tat.or.th/travelplacedet.asp?prov_id=14&id=3523 [accessed 2007-05-15]
ชื่อผู้แต่ง:
-