บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 82 บทความ

พิพิธภัณฑฯไทยกับการไล่ตามความฝัน

21 มีนาคม 2556

การมีอยู่และดำเนินไปของพิพิธภัณฑสถานเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของคนหลายกลุ่มในสังคมไทยนอกเหนือไปจากคนที่เกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑฯโดยตรงaความสนใจต่อพิพิธภัณฑฯของแต่ละคนมีแง่มุมและความเข้มข้นแตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัยหลายประการ บางคนสนใจเพราะชอบของเก่าที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑฯ บางคนเห็นว่างานพิพิธภัณฑฯ เป็นงานที่น่าสนใจ บางคนสนใจเพราะมีเคยประสบการณ์ที่ดีในการเข้าชมพิพิธภัณฑฯ บางคนชอบกิจกรรมที่พิพิธภัณฑฯจัด ในขณะที่บางคนอาจถูกบังคับให้ต้องสนใจเพราะถูกมอบหมายให้ทำพิพิธภัณฑฯ เป็นต้น แต่สิ่งที่ทำให้รู้ว่ามีคนสนใจพิพิธภัณฑฯมากน้อยแค่ไหน ก็คือเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพิพิธภัณฑฯที่ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอๆ เสียงเหล่านี้บ่งชี้ว่าไม่ว่าการวิจารณ์จะเป็นเชิงบวกหรือลบ อย่างน้อยผู้วิจารณ์ก็ให้ความสนใจกับพิพิธภัณฑฯ   ในความสนใจและการรับรู้เกี่ยวกับงานพิพิธภัณฑฯไทย มีสิ่งหนึ่งที่หลายคนคิดไปในทางเดียวกัน ก็คือ พิพิธภัณฑฯที่มีอยู่แล้วมีแต่ของเก่าและการจัดแสดงล้าสมัย ขาดความเคลื่อนไหว และไร้ชีวิต บางคนมีความเห็นว่าการนำสื่อสมัยใหม่มาใช้ในพิพิธภัณฑฯจะช่วยสร้างชีวิตให้พิพิธภัณฑฯได้ แต่หลายคนไม่รู้ว่ามีพิพิธภัณฑฯหลายแห่งได้ลองนำแนวทางดังกล่าวมาใช้แล้ว กลับพบว่าสื่อทันสมัยอาจช่วยสร้างความเคลื่อนไหวและความน่าตื่นเต้นให้พิพิธภัณฑฯได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่ไม่ใช่ความมีชีวิตชีวาที่ยั่งยืนอย่างที่คาดว่าจะได้เห็น และเมื่อถามว่า อะไรคือสิ่งที่เราฝันอยากจะให้พิพิธภัณฑฯไทยเป็น และเป็นอย่างไร คำตอบหนึ่งที่ได้ยินทั้งจากคนทำงานพิพิธภัณฑฯและผู้ที่สนใจงานพิพิธภัณฑฯในบ้านเรา ก็คือ อยากให้เหมือนอย่างพิพิธภัณฑฯในต่างประเทศ (มีบางคนฝันถึงสมิธโซเนียน ในอเมริกา) และเมื่อถามต่อไปว่าพิพิธภัณฑฯในต่างประเทศเป็นอย่างไรถึงอยากให้พิพิธภัณฑฯไทยเป็นอย่างนั้นบ้าง ก็ได้คำตอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การจัดแสดงดีมีรูปแบบน่าสนใจและทันสมัย ดูแล้วสนุก มีนิทรรศการพิเศษระดับโลก ห้องจัดแสดงติดแอร์ มีกิจกรรมมากมายให้ผู้เข้าชมกลุ่มต่างๆ ได้เข้าร่วม มีร้านอาหาร-ร้านหนังสือ-ร้านขายของที่ระลึก การเดินทางสะดวก เจ้าหน้าที่ต้อนรับดี ฯลฯ รายละเอียดทั้งหลายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑฯในฝันที่หลายคนปรารถนาจะได้เห็น หากแต่เมื่อดูสถานการณ์ปัจจุบันของพิพิธภัณฑฯไทย เราอาจจะต้องยอมรับว่า ความฝันที่หลายคนอยากให้พิพิธภัณฑฯไทยไปให้ถึงนั้น ไม่ได้อยู่ในระยะที่ใกล้นัก และคงต้องใช้เวลามากพอควรที่จะไล่ตามให้ทัน   สถานการณ์ปัจจุบันของพิพิธภัณฑฯไทย   แม้ว่าประเทศไทยมีประวัติการเริ่มต้นของงานพิพิธภัณฑสถานที่เก่าแก่ที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย และอาจกล่าวได้ว่ามีจำนวนพิพิธภัณฑสถานมากที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เมื่อมองในแง่ของการพัฒนาให้เป็นไปตามแนวทางที่เป็นมาตรฐานงานพิพิธภัณฑฯแล้ว เราคงต้องยอมรับว่า ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่เริ่มต้นงานพิพิธภัณฑฯช้ากว่าเรา มีการพัฒนาพิพิธภัณฑฯที่รุดหน้าไปอย่างมากในหลายๆด้าน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะหลายประเทศให้ความสำคัญของการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานพร้อมไปกับการพัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม และมีการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องเพื่อให้พิพิธภัณฑฯเป็นแหล่งพัฒนาความรู้ สร้างความตระหนักคิด และปลูกจิตสำนึกที่ดีด้านต่างๆ แก่ประชาชน   ปัจจุบันพิพิธภัณฑฯไทยอยู่ภายใต้การดำเนินงานของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีความเป็นมา รูปแบบการจัดการ ศักยภาพ และปัญหาที่ต้องเผชิญแตกต่างกัน ในที่นี้จะอาจแบ่งเป็นกลุ่มพิพิธภัณฑฯ ที่อยู่ภายใต้องค์กรของรัฐและกลุ่มที่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กลุ่มที่สองเป็นพิพิธภัณฑสถานที่ดำเนินงานโดยหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ ที่นอกเหนือจากกรมศิลปากร และกลุ่มที่สามเป็นพิพิธภัณฑสถานในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินงานโดยวัด ชุมชนและนักสะสมเอกชนในท้องถิ่น   พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 44 แห่งทั่วประเทศ มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในกรุงเทพฯ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกที่มีขนาดพื้นที่และบุคลากรดำเนินงานมากที่สุด และยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในภูมิภาคอีกหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในอดีตเมืองหลวงเก่าหรือในแหล่งโบราณคดีสำคัญ เนื่องจากความเกี่ยวพันกับภารกิจตามกฎหมายของกรมศิลปากรในการปกป้องดูแลโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่มีคุณค่าระดับชาติ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและในจังหวัดสุโขทัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองในจังหวัดสุพรรณบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงในจังหวัดอุดรธานี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายในจังหวัดนครราชสีมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยในจังหวัดลำพูน เป็นต้น   ที่ผ่านมาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีการจัดแสดงด้วยการนำเสนอโบราณวัตถุศิลปวัตถุเป็นหลัก จนถูกมองว่าเป็นคลังเก็บวัตถุ และเกิดกระแสวิจารณ์ว่าการจัดแสดงลักษณะดังกล่าวว่าไม่ได้แสดงบริบททางวัฒนธรรมและสังคมของวัตถุและยังขาดการนำเสนอเรื่องราวของท้องถิ่น จนนำไปสู่การปรับปรุงการจัดแสดงในพิพิธภัณฑฯที่มีอยู่เดิมบางแห่งและพัฒนาการจัดแสดงพิพิธภัณฑฯ ที่ตั้งขึ้นใหม่ให้เป็นรูปแบบที่เรียกว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง ที่มีการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางวัฒนธรรมของเมืองหรือจังหวัดที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินั้นตั้งอยู่ มีจุดเริ่มต้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่นเป็นแห่งแรก และพัฒนาต่อๆมาที่พิพิธภัณฑแห่งชาติร้อยเอ็ด ชุมพร สุพรรณบุรี เป็นต้น การปรับตัวดังกล่าวได้สร้างความพึงพอใจต่อผู้เข้าชมบางกลุ่มเท่านั้น หลายคนที่เคยเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในแหล่งโบราณคดีของกรมศิลปากรมาก่อน กลับรู้สึกว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เกิดใหม่หลายแห่งมีโบราณวัตถุศิลปวัตถุน้อยเกินไป   เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึงความไร้ชีวิตของพิพิธภัณฑฯ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเหล่านี้ก็มักจะเป็นเป้าหมายหลักของการวิจารณ์อยู่เสมอ ทั้งๆ ที่ได้พยายามปรับตัวอย่างมากแล้วตามทรัพยากรและปัจจัยที่มีอยู่ จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น บุคลากรไม่เพียงพอกับภารกิจของงาน งบประมาณสนับสนุนมีจำกัด การขาดการพัฒนาการหาแหล่งเงินอื่นมาสนับสนุนการดำเนินงาน และการขาดการพัฒนาความรู้ที่จำเป็นต่องานพิพิธภัณฑฯ อย่างต่อเนื่องและเท่าทันต่อความต้องการของสังคม หากมีการปรับเปลี่ยนระบบบริหารองค์กรให้ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น ได้รับการสนับสนุนบุคลากรและงบประมาณมากขึ้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจะสามารถพัฒนาไปได้อีกมาก เพราะมีศักยภาพในด้านบวกอยู่แล้วหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการมีระบบองค์กรที่มั่นคงและดำเนินงานได้ต่อเนื่อง มีโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่มีคุณค่าจำนวนมาก มีนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและบุคลากรที่สั่งสมประสบการณ์การทำงานพิพิธภัณฑฯ มายาวนาน และมีอาคารพิพิธภัณฑสถานหลายแห่งที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม เป็นต้น   นอกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแล้ว ยังมีพิพิธภัณฑฯ อีกหลายแห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานราชการอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว และได้เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตของพิพิธภัณฑฯ เหล่านี้ มีปรากฏการณ์บางอย่างที่อาจให้แง่มุมที่พิพิธภัณฑฯ ที่จะก่อตั้งขึ้นใหม่นำไปพิจารณาได้ คือ หน่วยงานราชการ สถานศึกษา และองค์กรส่วนท้องถิ่นหลายแห่งสร้างพิพิธภัณฑฯขึ้น โดยมุ่งหมายที่จะใช้เป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาและภารกิจของหน่วยงาน หรือเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์วัฒนธรรมตามนโยบายการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมขององค์กร หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น บางแห่งได้ปรับใช้พื้นที่อาคารเก่าของหน่วยงานเป็นพิพิธภัณฑฯ บางแห่งสร้างอาคารพิพิธภัณฑฯหลังใหม่ และด้วยเหตุที่พิพิธภัณฑฯ เหล่านี้ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างค่อนข้างสูงและเกิดขึ้นในช่วงที่สื่อการจัดแสดงมีการพัฒนาขึ้นมาก จึงมีรูปแบบการนำเสนอนิทรรศการที่ทันสมัยและดูจะเป็นที่สนใจมากกว่าเมื่อเทียบกับพิพิธภัณฑฯ รุ่นเก่าที่จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุเป็นหลัก แต่ปัญหาหนึ่งที่พบในพิพิธภัณฑฯ เหล่านี้ ก็คือ การไม่มีแผนงานที่ชัดเจนในการก่อตั้งให้เป็นพิพิธภัณฑฯที่ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ากับงบประมาณการก่อสร้างที่ลงทุนไป ดังนั้นเมื่อผ่านพ้นพิธีเปิดไปแล้ว หลายแห่งจึงไม่มีบุคลากรประจำที่จะสร้างกิจกรรมทางวิชาการและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ พิพิธภัณฑฯจึงกลายเป็นเพียงงานฝากที่ขาดผู้รับผิดชอบและไม่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลายแห่งจึงไม่สามารถเปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน เมื่อต้องการชมต้องติดต่อไปล่วงหน้า บางแห่งใช้เป็นเพียงที่รับรองแขกขององค์กร ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้สำหรับประชาชนทั่วไปอย่างที่ควรจะเป็น   การเกิดของพิพิธภัณฑฯ ที่ขาดการวางแผนงานด้านทรัพยากรที่จำเป็น เช่น บุคลากร งบประมาณ และการดำเนินงาน ทำให้พิพิธภัณฑฯ เหล่านี้ขาดความมั่นคงในรูปขององค์กร และดำรงอยู่อย่างไร้ทิศทาง เมื่อประกอบเข้ากับการขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้พิพิธภัณฑฯ หลายแห่งไร้พลังที่จะเติบโตต่อไปได้ในฐานะแหล่งการเรียนรู้และปลูกจิตสำนึกที่ดีแก่คนในชุมชนและสังคม และกำลังอยู่ระหว่างค้นหาทางเลือกว่าจะอยู่นิ่งอย่างไร้เรี่ยวแรงหรือจะลุกขึ้นก้าวต่อไป?   พิพิธภัณฑฯท้องถิ่นเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของพิพิธภัณฑฯไทยซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในประเทศและแสดงบทบาทที่น่าสนใจอย่างยิ่ง พิพิธภัณฑฯเหล่านี้ก่อตั้งขึ้นในหลายลักษณะ เช่น พิพิธภัณฑฯวัด ที่เกิดขึ้นจากพระภิกษุผู้สนใจเก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ที่ตกทอดมาในวัดแล้วจัดตั้งขึ้นเป็นพิพิธภัณฑฯ มีการสะสมเพิ่มเติมโดยการเสาะแสวงหาหรือรับบริจาคจากญาติโยมที่ศรัทธา การสนับสนุนส่วนมากมาในรูปของการบริจาคเงินและสิ่งอำนวยความสะดวกให้พิพิธภัณฑฯจากผู้มีจิตศรัทธา พิพิธภัณฑฯพื้นบ้าน ที่เกิดจากนักสะสมที่เก็บรวบรวมสิ่งของที่ตนสนใจเพื่อตอบสนองความอยากรู้ของตนเอง แล้วขยายมาเป็นพิพิธภัณฑฯ ตามกำลังกายและกำลังทรัพย์ของตนเอง โดยไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นยังเกิดจากกลุ่มชาวบ้าน ที่เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านที่กำลังจะสูญหายมาจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑฯ เพื่อให้คนท้องถิ่นได้เข้าใจและภูมิใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเอง และเผยแพร่วัฒนธรรมของตนให้คนต่างถิ่นได้เรียนรู้ โดยสิ่งของในพิพิธภัณฑฯพื้นบ้านอาจเป็นของเฉพาะประเภทหรือหลากหลายประเภทที่สะท้อนคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีพิพิธภัณฑฯท้องถิ่นหลายแห่งได้เก็บรักษาสิ่งของที่มีคุณค่ามากทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไว้ด้วยเช่นกัน   พิพิธภัณฑฯท้องถิ่นของไทยมีรูปแบบการดำเนินงานที่หลากหลายต่างกันไป เช่น พิพิธภัณฑฯวัดส่วนใหญ่ดำเนินงานโดยพระสงฆ์และผู้ที่ทำงานให้วัด พิพิธภัณฑฯของนักสะสมเอกชนส่วนมากดำเนินงานด้วยระบบครอบครัว และพิพิธภัณฑฯชุมชนมักมีกรรมการดำเนินงาน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันของพิพิธภัณฑฯเหล่านี้ก็คือ ส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐ และขาดปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ ที่จะพัฒนางานให้เป็นไปตามกระบวนการทางพิพิธภัณฑฯ ปัญหาเร่งด่วนที่พิพิธภัณฑฯท้องถิ่นเหล่านี้เผชิญอยู่ก็คือ วัตถุที่มีคุณค่าจำนวนไม่น้อยที่เก็บรวบรวมไว้กำลังอยู่ในสภาวะเสื่อมสภาพ เพราะการจัดเก็บหรือจัดแสดงไม่ถูกวิธีและขาดการดูแลเอาใจใส่ ปัญหาการโจรกรรม และการขาดงบประมาณสนับสนุนและบุคลากรที่จะดูแลและดำเนินงานให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งที่หลายแห่งสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวแก่ท้องถิ่นได้ไม่น้อย   อย่างไรก็ตามพิพิธภัณฑฯท้องถิ่นของไทย มีจุดเด่นอยู่ที่ความอดทน เข้มแข็ง และการทำงานด้วยใจรักของผู้ก่อตั้งและผู้เกี่ยวข้องทำให้หลายแห่งดำรงอยู่ได้ยาวนาน หลายแห่งมีการพัฒนากระบวนการการสั่งสมและถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการบอกเล่าหรือการสาธิตจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ทำให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่แท้จริง อย่างที่พิพิธภัณฑฯซึ่งจัดแสดงอย่างทันสมัยหลายแห่งยังไม่ได้ทำ   พิพิธภัณฑฯไทยกำลังพัฒนาไปทางไหน ?   เมื่อพูดถึงการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานในบ้านเรา ที่ผ่านมาหลายแห่งมักจะให้ความสำคัญไปที่การพัฒนารูปแบบนิทรรศการให้น่าสนใจและทันสมัย โดยการนำสื่อสำเร็จรูปมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นป้ายคำบรรยายประกอบภาพสีสันสดใสสะอาดตา หุ่นจำลองพร้อมฉากเหตุการณ์ วีดิทัศน์ และสื่อคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการในระยะแรกๆ ก็จะสามารถสร้างความตื่นเต้นและดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้มาก แต่เมื่อนานไปพิพิธภัณฑฯหลายแห่งประสบปัญหาสื่อชำรุด และขาดบุคลากรและงบประมาณในการซ่อมบำรุง ทำให้สื่อทันสมัยเหล่านี้ใช้การไม่ได้ ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของเนื้อหานิทรรศการและต่อความพึงพอใจของผู้เข้าชม ดังนั้นหากจะนำสื่อสมัยใหม่มาแก้ไขความไร้ชีวิตของพิพิธภัณฑฯ ก็ควรจะต้องชั่งน้ำหนักกับปัญหาด้านการบำรุงรักษาและการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาวควบคู่กันไปด้วย   นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในส่วนของเนื้อหานิทรรศการพบว่า นิทรรศการในพิพิธภัณฑสถานหลายแห่งเต็มไปด้วยเนื้อหาที่ถ่ายทอดจากมุมมองของนักวิชาการ มีข้อความจำนวนมากเกินกว่าที่ผู้ชมคนหนึ่งจะสามารถอ่านได้ทั้งหมดในการชมพิพิธภัณฑฯในหนึ่งครั้งหรือมากกว่านั้น หรือบางครั้งก็เต็มไปด้วยด้วยศัพท์ทางวิชาการที่ยากต่อความเข้าใจของผู้เข้าชม โดยเฉพาะเยาวชนและผู้ที่ไม่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องราวที่นิทรรศการนั้นนำเสนอมาก่อน สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเพราะกระบวนการจัดนิทรรศการของพิพิธภัณฑฯ ในบ้านเราส่วนใหญ่มีระยะเวลาเตรียมการและดำเนินงานไม่มากนัก เนื่องด้วยปัญหาระบบการจัดสรรงบประมาณ ภาระงานของผู้จัดนิทรรศการ และปัจจัยอื่นๆ ตามบริบทวัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ทำให้นิทรรศการซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้สื่อสารระหว่างพิพิธภัณฑฯและผู้เข้าชมขาดมิติการเรียนรู้ที่ให้ความเพลิดเพลิน การพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม การปลูกจิตสำนึกในเชิงศีลธรรม หรือ ความตระหนักคิดเรื่องปัญหาส่วนรวม และอื่นๆ อีกมากมายที่พิพิธภัณฑฯสามารถสื่อกับผู้ชมได้ นิทรรศการในพิพิธภัณฑฯไทยจึงขาดความลุ่มลึกและความน่าสนใจ เมื่อเทียบกับนิทรรศการในพิพิธภัณฑฯของหลายๆ ประเทศที่มีการเตรียมการล่วงหน้าเป็นเวลานาน มีกระบวนการพัฒนาเนื้อหานิทรรศการ การคัดสรรตัวสาร และเลือกใช้สื่อที่เหมาะสมต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนกลุ่มต่างๆ และมีการประเมินผลนิทรรศการในช่วงต่างๆ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าควรจะต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอะไรในนิทรรศการเพื่อให้สื่อสารกับคนดูได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในครั้งต่อไป นิทรรศการจึงมีโอกาสที่จะพัฒนาควบคู่ไปกับรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา เราคงได้แต่หวังว่าเมื่อไรที่กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นในพิพิธภัณฑฯไทย เมื่อนั้นการนำสื่อสมัยใหม่ราคาแพงมาใช้ในพิพิธภัณฑฯอย่างไม่คุ้มค่าโดยขาดการพัฒนาเนื้อหาสาระที่เหมาะสมกับการเรียนรู้จะได้รับการทบทวนกันเสียที   นอกจากปัญหาของพิพิธภัณฑฯเองแล้ว เราคงต้องยอมรับว่ามีข้อสังเกตบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้พิพิธภัณฑฯเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเฉพาะการเข้าชมพิพิธภัณฑฯของกลุ่มนักเรียนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของพิพิธภัณฑฯหลายแห่ง การเข้าชมโดยส่วนมากมักจะมาเป็นกลุ่มใหญ่และบ่อยครั้งที่มีผู้ชมมากกว่า 100 คนขึ้นไป โดยไม่มีการเตรียมตัวมาล่วงหน้า และมักขอให้พิพิธภัณฑฯจัดวิทยากรนำชมให้นักเรียนเป็นกลุ่ม ครูมักจะมอบหมายงานให้ก่อนเข้าชม นักเรียนจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการจดข้อความที่ฟังจากเจ้าหน้าที่นำชมของพิพิธภัณฑฯหรือจากป้ายคำบรรยายในห้องจัดแสดง รูปแบบการเรียนรู้จึงมีลักษณะกึ่งบังคับและขาดการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัยและตรงกับความสนใจของแต่ละคน   ดังนั้นการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑฯ จึงเป็นสิ่งที่พิพิธภัณฑฯในหลายๆ ประเทศให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนางานด้านอื่นๆ โดยหลายแห่งใช้วิธีการทำงานร่วมกับครูจากโรงเรียนในชุมชนเพื่อร่วมกันคิดรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับนักเรียนในระดับต่างๆ เช่น การกำหนดกระบวนการเข้าชมพิพิธภัณฑฯโดยให้ครูเป็นผู้ปูพื้นฐานในเรื่องราวที่ต้องการเรียนรู้มาจากโรงเรียน และกำหนดกิจกรรมให้เด็กทำเมื่อมาถึงพิพิธภัณฑฯ เช่น การวาดภาพ ระบายสี การค้นหาคำตอบจากแผ่นคำถามซึ่งครูเป็นผู้ออกแบบหรือบางพิพิธภัณฑฯก็จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการเข้าชมของนักเรียน จากนั้นเมื่อกลับถึงโรงเรียนก็จะให้นักเรียนได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเข้าชมพิพิธภัณฑฯ ระหว่างกันหรือจัดนิทรรศการภาพวาด ภาพระบายสีจากการไปชมพิพิธภัณฑฯ รูปแบบการเรียนรู้เช่นนี้เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑฯในเชิงคุณภาพ มากกว่าการเน้นที่ปริมาณดังที่เป็นอยู่ในบ้านเรา   นอกจากการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายหลักดังกล่าวแล้ว ในปัจจุบันพิพิธภัณฑฯหลายแห่งปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่การให้บริการด้านอื่นๆ ควบคู่กันไป เช่น การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยว และการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการใช้เวลาว่างร่วมกันของครอบครัว รวมไปถึงการวางแผนกิจกรรมที่จะดึงดูดให้ผู้ชมกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาร่วมกิจกรรมในพิพิธภัณฑฯมากขึ้น การจะพัฒนาการใช้ประโยชน์พิพิธภัณฑฯได้มากน้อยเพียงใดนั้น พิพิธภัณฑฯควรมีนโยบายและวิสัยทัศน์ด้านการตลาดที่เป็นรูปธรรม และถอดถอนทัศนคติและความเข้าใจผิดที่ว่า พิพิธภัณฑฯเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร (ที่ยึดถือตามนิยามของสภาการพิพิธภัณฑฯระหว่างประเทศ) และจะทำการตลาดไม่ได้ให้หมดสิ้นไป   จะพัฒนาการศึกษาได้อย่างไร ถ้าไม่พัฒนาพิพิธภัณฑฯ ?   นโยบายพัฒนาการศึกษาของรัฐบาลที่เป็นมาและเป็นอยู่ได้ให้ความสำคัญไปที่การพัฒนาการศึกษาในระบบโรงเรียนมาโดยตลอด ในขณะที่แหล่งการเรียนรู้นอกระบบโรงเรียน เช่น พิพิธภัณฑสถาน ห้องสมุด สวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้ถูกหมายรวมเข้าไว้กับนโยบายการพัฒนาการศึกษาของรัฐ ทั้งที่จริงแล้วในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า การเรียนรู้นอกระบบโรงเรียนมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเรียนรู้ในสถานศึกษา และเป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาที่หลายประเทศนำมาใช้ เพราะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของคนในชาติอย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าที่ยั่งยืนของประเทศ   แม้ว่าพิพิธภัณฑฯ เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานานกว่าศตวรรษ แต่ที่ผ่านมาการแสดงบทบาทในฐานะแหล่งการเรียนรู้ ยังไม่โดดเด่นมากพอที่จะทำให้คนส่วนใหญ่รวมทั้งรัฐบาลมองเห็นศักยภาพว่าพิพิธภัณฑฯเป็นองค์กรหนึ่งที่สามารถพัฒนาการศึกษานอกระบบให้แก่คนในชาติได้ ทั้งที่สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑฯขาดโอกาสในการแสดงบทบาทดังกล่าว ก็คือ การขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาพิพิธภัณฑฯ ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานด้านวัฒนธรรม ไม่ใช่สถาบันที่สร้างการเรียนรู้ (แม้แต่เมื่อครั้งอยู่ใต้ร่มเงากระทรวงศึกษาธิการ) จึงมักถูกจัดอันดับความสำคัญรั้งท้ายในภารกิจของรัฐบาลที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ งบประมาณและบุคลากรที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่พิพิธภัณฑฯในหน่วยงานของรัฐไม่สามารถทำให้พิพิธภัณฑฯเหล่านี้เติบโตเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประชาชนได้ (นี่ยังไม่รวมถึงพิพิธภัณฑฯท้องถิ่นอีกมากที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ และต้องดำเนินงานตามอัตภาพ ทั้งที่มีศักยภาพหลายด้านที่จะพัฒนาเป็นแหล่งการเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาในชุมชนได้)   เราคงต้องยอมรับความจริงว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ของพิพิธภัณฑฯไทยในปัจจุบัน ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่คนส่วนใหญ่และรัฐบาลได้ว่าจะพัฒนาให้เป็นอย่างที่ฝันแบบพิพิธภัณฑฯในต่างประเทศได้อย่างไร ดังนั้นการเริ่มต้นใหม่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของรัฐบาล โดยการประกาศจัดตั้งสถาบันพิพิธภัณฑฯการเรียนรู้แห่งชาติ หรือ ที่บางคนเรียกว่า "สมิธโซเนียนไทย" ขึ้น (มีข้อสังเกตจากบางคนว่า มีนัยบางอย่างเหมือนกับจะบอกว่า พิพิธภัณฑฯที่มีอยู่แล้วนั้นไม่มีการเรียนรู้?) โดยทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อหวังจะได้เห็นพิพิธภัณฑฯอย่างที่ฝัน ซึ่งหากเป็นจริงได้ก็คงจะเป็นสิ่งดี แต่ทั้งนี้ผู้มีประสบการณ์ในงานพิพิธภัณฑฯหลายคนให้ความเห็นว่า พิพิธภัณฑฯในต่างประเทศที่เราฝันจะเป็นนั้น ล้วนมีความเป็นมาที่ยาวนานและต้องผ่านกระบวนการการปรับตัวอย่างหนักหน่วงมาแล้วหลายครั้ง ต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองให้เท่าทันความต้องการของคนในสังคม ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่ ภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร ฯลฯ มากแค่ไหนกว่าจะกลายมาเป็นแบบแผนที่เราพยายามจะทำตาม และที่สำคัญก็คือ การเดินตามรอยใครคงไม่นำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริงได้อย่างยั่งยืน จึงควรหรือไม่ที่เราอาจต้องหันหลังกลับไปมองรอยเท้าเก่าบนถนนที่เราเดินผ่านมานานกว่าศตวรรษ เพื่อดูว่าอะไรที่ทำให้ก้าวย่างของงานพิพิธภัณฑฯไทยไม่มั่นคง และอาจจะทำให้เรารู้ว่าควรจะพัฒนาตัวเองไปในรูปแบบไหนที่จะไม่เป็นแผลกดซ้ำไปบนรอยแผลเดิมตามวัฏจักรที่เป็นอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูกันไปว่า สมิธโซเนียนไทย จะทำให้เราเข้าใกล้ความฝันได้แค่ไหน ?   รวมพลังสานฝันพิพิธภัณฑฯไทย   สิ่งหนึ่งที่จะทำให้พิพิธภัณฑฯไทยก้าวไปสู่ความฝันที่หลายคนคาดหวังได้คือ การสร้างความร่วมมือระหว่างกันของพิพิธภัณฑฯที่มีอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ เพื่อช่วยกันนำเสนอคุณค่าของพิพิธภัณฑฯที่มีต่อสังคมและสร้างพลังต่อรองเพื่อการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน การเปิดตัวของสมาคมพิพิธภัณฑฯไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา (หลังจากที่มีความพยายามจัดตั้งมานานกว่าทศวรรษ) ถือเป็นเรื่องน่ายินดี และหลายคนหวังว่าองค์กรดังกล่าวจะได้แสดงบทบาทสำคัญในการพัฒนาวงการพิพิธภัณฑฯไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการให้ความร่วมมือและช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างๆ ระหว่างพิพิธภัณฑฯ การพัฒนาความรู้และทัศนคติต่องานพิพิธภัณฑฯแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑฯในระดับต่างๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง หรืออาจรวมไปถึงการนำพาพิพิธภัณฑฯไทยไปสู่วงการพิพิธภัณฑฯนานาชาติในอนาคต แต่ทั้งนี้พิพิธภัณฑฯเฉพาะด้าน หรือ ในภูมิภาคเดียวกัน ก็ควรจะแสวงหาเครือข่ายพันธมิตรในกลุ่มของตน เพื่อช่วยพัฒนากลุ่มพิพิธภัณฑฯให้เข้มแข็งไปพร้อมกันด้วย พลังของพิพิธภัณฑฯไทยก็จะเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้ตัวตนของพิพิธภัณฑฯเป็นที่รับรู้ในชุมชนและสังคมชัดเจนขึ้น การใช้ประโยชน์และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพิพิธภัณฑฯของคนในสังคมก็จะเพิ่มตามมา ซึ่งหากทำได้เช่นนี้เราอาจจะพบว่า ความฝันที่เราวาดหวังไว้คงจะอยู่ไม่ไกลนัก   อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่เราเอื้อมมือไปไขว่คว้าความฝันมาถึง เราอาจจะพบว่าประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาพิพิธภัณฑฯ ในด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมและสังคม รวมไปถึงศักยภาพที่แท้จริงซึ่งมีอยู่ในตัวเรา ได้ลบเลือนภาพความฝันที่อยากจะเป็นอย่างพิพิธภัณฑฯในต่างประเทศออกไป และเกิดความฝันใหม่ของการเป็นพิพิธภัณฑฯ แบบไทยที่มีคุณค่าต่อสังคมและประเทศชาติมาแทนที่ก็เป็นได้   ------------------------------------ a พิพิธภัณฑฯ เป็นคำย่อมาจาก "พิพิธภัณฑสถาน" โดยผู้เขียนพยายามคงความถูกต้องทางความหมาย เพื่อรักษาการแปลความดั้งเดิมของคำว่า "museum" - บรรณาธิการ * ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 9 (มิถุนายน 2548 - พฤษภาคม 2549),48-55.  

บทบาทของยูเนสโกกับการคืนวัตถุทางวัฒนธรรม

21 มีนาคม 2556

ข้าพเจ้าได้อ่านข่าวเกี่ยวกับความต้องการทวงเครื่องประดับพระเศียรสมัยอยุธยาคืนจากพิพิธภัณฑ์เอกชนแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาแล้ว เนื้อหากล่าวถึงอนุสัญญาระหว่างประเทศในเรื่องนี้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อนุสัญญาว่าด้วยวิธีห้ามและป้องกันการนำเข้า ส่งออก และโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ค.ศ. 1970 (The UNESCO Convention on the Means of Prohibiting and Preventing the Illicit Import, Export and Transfer of Ownership of Cultural Property 1970) ขององค์การยูเนสโก (UNESCO) หรือ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งองค์การสหประชาชาติ   ข้าพเจ้าจึงขอใช้โอกาสนี้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาข้างต้น รวมทั้งบทบาทขององค์การยูเนสโกกับการคืนมรดกทางวัฒนธรรม จุดประสงค์ของบทความนั้นเพียงเพื่อเป็นการให้ข้อมูลแก่บุคคลทั่วไปที่สนใจเรื่องนี้ และได้ติดตามข่าวต่างๆทั้งจากผู้เชี่ยวชาญและนักกฎหมาย แต่ยังมองไม่ออกและไม่เข้าใจถึงความเป็นมาและมาตราการต่างๆที่มีอยู่เพื่อการแก้ปัญหาดังกล่าวในระดับนานาชาติ   1.  ความเป็นมา : การขโมย การยึดเอามา การลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมที่ผิดกฎหมาย   การเคลื่อนย้ายวัตถุทางวัฒนธรรมออกจากประเทศดั้งเดิมสามารถทำได้หลายวิธี เริ่มตั้งแต่ การใช้กฏของผู้ชนะภายหลังการทำสงคราม ผู้ชนะยึดเอาสมบัติของผู้แพ้มาเป็นของตน การปฏิบัติเช่นนี้มีมาควบคู่กับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็น กรณีของกษัตริย์บาบิโลเนียนที่นำเอาสมบัติจากสุสานกษัตริย์ฟาโรห์ไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของตน กรณีของทหารโรมันที่นำเอาสมบัติจากประเทศผู้แพ้สงครามกลับไปประดับประดาเมืองหลวงของตนหรือ กรณีเจงกีสข่านที่ยึดเอาวัตถุมีค่าต่างๆ จากผู้แพ้ในประเทศจีนและเอเชียกลาง...   อีกวิธีหนึ่งคือ ขบวนการโยกย้ายสมบัติทางวัฒนธรรมในช่วงการล่าอาณานิคม ซึ่งบางครั้งไม่มีการทำสงครามหรือการเข้ายึดครองโดยใช้กำลังทหารแต่อย่างใด แต่กลับมีส่วนที่ทำให้วัตถุทางวัฒนธรรมไหลออกจากประเทศต้นกำเนิดทั้งจากประเทศในเอเชีย อัฟริกาและอเมริกาใต้ไปอยู่ในประเทศเจ้าอาณานิคมตะวันตก การโยกย้ายดำเนินการอย่างเป็นระบบ ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน การใช้กฎผู้ชนะก็ยังมีควบคู่กันไป เช่น กรณีการนำโบราณวัตถุจากที่ต่างๆ เคลื่อนย้ายวัตถุสู่ประเทศฝรั่งเศสโดยกองทัพนโปเลียน หรือการนำประติมากรรมประกอบหน้าบันของวิหารพาร์เทนอนจากกรีกไปยังประเทศอังกฤษโยลอร์ดเอลจิน ซึ่งในปัจจุบันนี้วัตถุเหล่านั้นจัดแสดงใน British Museum ที่กรุงลอนดอน หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของทหารเยอรมันที่ยึดเอาสมบัติต่างๆ ของชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2   อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้แม้วิธีการเคลื่อนย้ายวัตถุแบบเป็นระบบจากเจ้าของเดิมข้างต้นจะลดน้อยลง เนื่องจากการลดจำนวนลงของสงครามระหว่างประเทศ แต่ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ภายในประเทศกลับเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางกฏหมายและการเมืองในการนำวัตถุทางวัฒนธรรมกลับมาประเทศต้นทางมากกว่า นอกจากนี้ในกรณีที่มีสงครามภายใน การเคลื่อนย้ายจะเกิดในลักษณะของพ่อค้าที่ฉวยโอกาสระหว่างที่เหตุการณ์ความไม่สงบดำเนินไป ด้วยการลักลอบเอาวัตถุทางวัฒนธรรมออกไปขาย วิธีการที่พ่อค้าใช้คือ การเสนอซื้อวัตถุดังกล่าวกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งบางครั้งเจ้าของวัตถุยอมขายวัตถุนั้นๆ เพื่อการยังชีพของตน ขณะเดียวกัน ค่านิยมศิลปะจากวัฒนธรรมอื่นของนักสะสมชาวตะวันตก เป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน จนทำให้การลักลอบและการค้ามรดกวัฒนธรรมที่ผิดกฏหมายกลายเป็น "อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ"   เมื่อการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมกลายสภาพสู่ปฎิบัติการไร้พรมแดน องค์การนานาชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ยูเนสโก สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างประเทศ (ICOM) องค์การศุลกากรโลก (WCO) หรือตำรวจสากล (INTERPOL) ต่างหามาตราการและการทำงานร่วมกัน เพื่อสะกัดกั้นการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมที่ผิดกฎหมายข้ามชาติและให้ความช่วยเหลือในด้านการส่งคืนวัตถุสู่ประเทศต้นกำเนิด รวมทั้งมีการทำงานร่วมกับประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิกองค์กร ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงแต่บทบาทขององค์การยูเนสโก เพราะองค์การนี้เป็นผู้บุกเบิกแนวคิด สรรหามาตรการต่างๆ และเป็นองค์กรสำคัญในการประสานงานและให้ความร่วมมือระหว่างประเทศมาตั้งแต่เริ่มแรก   2.  ด้านกฎหมาย : การจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศ   เมื่อวัตถุทางวัฒนธรรมถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง จากนั้น ประเทศต้นกำเนิดดำเนินการตรวจสอบและยืนยันความเป็นเจ้าของ การเรียกร้องการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศไม่สามารถดำเนินการได้ลุล่วง เนื่องจากอุปสรรคที่สำคัญทางกฎหมายภายในประเทศของผู้ถือครองวัตถุ เช่น การคุ้มครองผู้ซื้อ หรือระยะเวลาที่วัตถุทางวัฒนธรรมนั้นอยู่ในประเทศที่ถือครอง จากสภาพของปัญหาที่กล่าวมา องค์กรกลางระหว่างประเทศอย่างยูเนสโกจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการจัดทำอนุสัญญาระหว่างประเทศและจรรยาบรรณเพื่อการสะกัดกันการลักลอบและการส่งออกวัตถุทางวัฒนธรรมที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งการส่งเสริมมาตรการป้องกัน เช่น การจัดทำทะเบียนวัตถุ และในเรื่องการให้ความช่วยเหลือในการส่งคืนวัตถุ   อนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการคืนสมบัติทางวัฒนธรรมสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ   2.1. การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมในกรณีสงคราม   องค์การยูเนสโกได้ออกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมกรณีพิพาททางอาวุธ ค.ศ. 1954 และ พิธีสาร ค.ศ. 1954 และ ค.ศ. 1999 โดยมีเนื้อหาที่สำคัญดังนี้   ในกรณีสงคราม ประเทศที่เป็นภาคีจะต้องสะกัดกั้นการส่งออกวัตถุทางวัฒนธรรมของประเทศที่ตนเข้าไปยึดครอง ประเทศที่เป็นภาคีจะต้องเก็บรักษาและดูแลวัตถุทางวัฒนธรรมที่นำเข้ามาโดยตรงและโดยอ้อมจากประเทศที่ถูกยึดครองใดๆ ก็ตาม ในกรณีที่สงครามสงบแล้ว ประเทศที่เป็นภาคีจะต้องส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมของประเทศที่ถูกยึดครองที่พบในประเทศของตนแก่ทางการของประเทศที่เคยถูกยึดครอง   ข้อบังคับในการส่งคืนนี้จะใช้ทั้งในกรณีที่วัตถุทางวัฒนธรรมของประเทศที่ถูกยึดครองใดๆ ถูกส่งออกนอกประเทศต้นกำเนิดโดยผิดกฎหมาย และในกรณีที่วัตถุทางวัฒนธรรมนั้นอยู่ภายใต้การดูแลรักษาในระหว่างสงครามจากประเทศที่เข้าเป็นภาคี พิธีสารยังเสริมอนุสัญญาระหว่างประเทศ ค.ศ. 1954 ในประเด็นที่สำคัญอีกสองประการคือ วัตถุทางวัฒนธรรมจะไม่สามารถถูกใช้เป็นค่าชดเชยสงคราม และประเทศที่เป็นผู้ยึดครองในฐานะที่ต้องทำหน้าที่ในการสะกัดกั้นการส่งออกวัตถุทางวัฒนธรรมของประเทศที่ตนเข้ายึดครอง จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ถือครองวัตถุที่บริสุทธิ์ใจและนำวัตถุนั้นส่งคืนแก่ประเทศที่ถูกยึดครองด้วย   2.2. การคืนสมบัติทางวัฒนธรรมในยามสงบ   เมื่อภาวะการสงครามระหว่างประเทศมีน้อยลง ประกอบกับปรากฎการณ์ของการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรมในรูปแบบใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งการขุดค้นและการขโมยวัตถุทางวัฒนธรรมจากแหล่งโบราณคดีและจากสถานที่ทางวัฒนธรรมต่างๆ และนำไปขายเปลี่ยนมือแบบข้ามชาติ องค์การยูเนสโกจึงได้ออกอนุสัญญาว่าด้วยวิธีห้ามและป้องกันการนำเข้า ส่งออก และโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางวัฒนธรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ค.ศ. 1970 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การร่างอนุสัญญาและภายหลังการประกาศใช้อนุสัญญาฉบับนี้มาใช้ ยูเนสโกต้องประสบปัญหาอย่างหนักทั้งจากการคัดค้านและกดดันจากประเทศมหาอำนาจที่มักจะเป็นประเทศที่มีวัตถุทางวัฒนธรรมจากประเทศอื่นๆ อยู่ในประเทศของตน รวมทั้งการทำความเข้าใจกับประเทศเล็กๆ ที่มักจะเป็นผู้สูญเสียมรดกทางวัฒนธรรม   อนุสัญญาฉบับนี้เป็นอนุสัญญาบุกเบิกในเรื่องการคืนวัตถุทางวัฒนธรรม เพราะเดิมทีการคืนสมบัติทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศมักไม่สามารถปฏิบัติตามมาตราการทางกฎหมายด้วยเหตุผล 2 ประการคือ กฎหมายเอกชนระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของบางประเทศที่มักจะลดสถานะของวัตถุทางวัฒนธรรมลงเป็นเพียงวัตถุธรรมดาที่เคลื่อนที่ได้ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เนื้อหาของกฎหมายมักสนับสนุนเสรีภาพของการไหลเวียนของวัตถุและให้การคุ้มครองแก่ผู้ครอบครองที่บริสุทธิ์ใจ   ฉะนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศเป็นไปได้ อนุสัญญา ค.ศ. 1970 มาตรา 7 จึงกล่าวถึง หน้าที่ของรัฐภาคีผู้ครอบครองวัตถุและได้รับการร้องขอในการส่งคืนวัตถุ จะต้องติดต่อและส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมบางประเภทแก่ประเทศต้นกำเนิด ภายหลังการดำเนินการเจรจาทางการฑูตกับประเทศผู้ร้องขอ (รัฐภาคีต้นกำเนิด) และประเทศผู้ร้องขอจะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยที่เหมาะสมให้แก่ผู้ถือครองที่บริสุทธิ์ใจหรือถูกต้องตามกฎหมาย   ประเด็นเรื่องค่าชดเชยที่เหมาะสมแก่ผู้ถือครองที่บริสุทธ์ใจหรือถูกต้องทางกฎหมายนี้เอง ทำให้เกิดความไม่เห็นด้วยจากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเหยื่อของการลักลอบการค้าวัตถุทางวัฒนธรรม ทำให้หลายประเทศดังกล่าว รวมทั้งไทย เกิดความลังเลใจในการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญานี้ จุดยืนที่นำมาใช้ในการตอบโต้ต่อเนื้อหาในอนุสัญญาดังกล่าวมีอยู่ว่า ทำไมประเทศที่ยากจนและตกเป็นเหยื่อจะต้องหาเงินไปจ่ายค่าชดเชยเพื่อเป็นการแลกเอาวัตถุทางวัฒนธรรมที่ตนต้องสูญเสียไป นอกจากเงินชดเชยแล้ว การส่งคืนวัตถุทางวัตนธรรมกลับคืนย่อมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วย ทั้งค่าขนส่ง ค่าประกัน ตลอดจนการจัดเตรียมสถานที่ จนทำให้มีตัวแทนจากกลุ่มประเทศดังกล่าว เรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการส่งเสริมการคืนวัตถุทางวัฒนธรรมคืนแก่ประเทศดั้งเดิม   อนึ่ง แม้ว่า มาตรา 7 ในอนุสัญญาฉบับนี้ จะเปิดโอกาสให้มีการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรม แต่อนุสัญญาจะสามารถปฏิบัติได้จริงต่อเมื่อกฎหมายภายในแต่ละประเทศภาคีนั้นเปิดโอกาสให้กระทำได้ ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่บรรจุอยู่ในโครงการการพัฒนากฎหมายของกระทรวงวัฒนธรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน   สำหรับอนุสัญญา ค.ศ. 1970 คำว่า วัตถุทางวัฒนธรรมที่ผิดกฎหมาย นั้นหมายรวมถึง   วัตถุที่ไม่มีใบอนุญาตการส่งออกจากประเทศต้นกำเนิด การซื้อหรือการนำเข้าวัตถุที่ถูกขโมยไปจากพิพิธภัณฑ์ จากสถานที่สาธารณะของพลเรือนและของศาสนา หรือสถาบันอื่นๆ ที่คล้ายคลึงของประเทศภาคี และมีการส่งออกไปอย่างผิดกฎหมาย การส่งออกหรือการเปลี่ยนแปลงการครอบครองวัตถุทางวัฒนธรรมโดยใช้กำลัง อันเป็นผลทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเข้ายึดครองของต่างชาติ   อนุสัญญานี้ไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลังและปัจจุบันนี้มีประเทศที่เป็นภาคีแล้ว 106 ประเทศ ซึ่งรวมประเทศมหาอำนาจใหญ่ๆ ประเทศเหล่านี้มักถูกประนามจากเวทีโลกว่าเป็นประเทศผู้บริโภควัตถุทางวัฒนธรรมจากประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อังกฤษ ในที่นี้มีเพียงฝรั่งเศสเท่านั้นที่ให้สัตยาบัน ซึ่งตอนนี้ทางองค์การยูเนสโกก็กำลังคาดหวังกับการเข้าเป็นภาคีจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเปลี่ยนมือที่สำคัญของขบวนการการค้าวัตถุทางวัฒนธรรมอยู่เช่นกัน   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ยังไม่ให้สัตยาบัน แต่การเข้าเป็นภาคีก็มีส่วนทำให้เกิดกรณีการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมแก่ประเทศต้นกำเนิด ตัวอย่างที่ไม่ไกลตัวและที่เคยเป็นข่าวกันประมาณ 8 ปีมาแล้วคือ กรณีที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาส่งคืนประติมากรรมเศียรนาคแก่ประเทศไทยในปี ค.ศ. 1997 ประติมากรรมนี้เคยเป็นส่วนประดับของปราสาทพนมรุ้ง แต่ถูกนำเอาออกไปนอกประเทศไทยโดยทหารอเมริกันในช่วงที่อเมริกายังมีฐานทัพอยู่ในภูมิภาคราว ค.ศ. 1972 และ 1973 กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหมของสหรัฐได้สอบสวนจนสามารถสาวถึงผู้ที่ถือครองและทำพิธีส่งมอบคืนแก่ประเทศไทย ในครั้งนั้นเอกอัคราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้ให้สัมภาษณ์ว่า การส่งคืนครั้งนี้เป็นผลจากการที่สหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา 1970 ของยูเนสโก ซึ่งประเทศที่เป็นภาคีจะต้องให้ความร่วมมือในการส่งกลับวัตถุทางวัฒนธรรมที่ได้มาโดยมิชอบคืนแก่ประเทศที่มา   2.3. การประสานงานกับสถาบันนานาชาติเพื่อเอกภาพของกฎหมายเอกชน (UNIDROIT)   ยูเนสโกได้ติดต่อยูนิดรัวท์ เพื่อการจัดทำ อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกโจรกรรมหรือส่งออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีผลใช้ตั้งค.ศ. 1995 เรามักเรียกกันสั้นๆว่า อนุสัญญา UNIDROIT อนุสัญญาฉบับนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นอนุสัญญาที่เสริมกันกับอนุสัญญาของยูเนสโก ค.ศ. 1970 นั่นคือ ขณะที่อนุสัญญา ค.ศ. 1970 เป็นอนุสัญญาระหว่างรัฐบาล อนุสัญญา UNIDROIT นั้นเปิดโอกาสให้ทั้งรัฐหรือบุคคลอื่นๆที่เป็นเจ้าของวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกโจรกรรมและส่งออกโดยมิชอบ รัฐและเอกชนสามารถไปร้องเรียนต่อศาลในต่างประเทศได้ อนุสัญญา UNIDROIT จะอุดช่องโหว่ในเรื่องการคืนสมบัติวัฒนธรรม ที่มักจะไม่สามารถดำเนินการได้อันเนื่องจากกฎหมายเอกชนระหว่างประเทศ   อนุสัญญา UNIDROIT จะให้ประโยชน์แก่การคืนสมบัติทางวัฒนธรรมที่ถูกโจรกรรมและส่งออกโดยมิชอบ มากกว่าสิทธิในการถือครอง อย่างไรก็ตาม ผู้ถือครองสามารถได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสมหากสามารถพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์ใจในขณะที่เข้าถือครองของวัตถุทางวัฒนธรรมดังกล่าวได้   นอกจากนี้ องค์การยูเนสโกยังได้ขยายบทบาทในฐานะที่เป็นองค์กรเพื่อการต่อสู้กับการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรม โดยมีการออกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ ค.ศ. 2001 ทั้งนี้เนื้อหาของกฎหมายที่สำคัญคือ การให้รัฐภาคีออกมาตราการทางกฎหมายเพื่อการสะกัดกั้นการนำเข้า การค้า และการถือครองมรดกทางวัฒนธรรมใต้นํ้าที่ถูกส่งออกนอกประเทศโดยมิชอบ เป็นต้น   3. ด้านองค์กร : การจัดคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการประชาสัมพันธ์การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศต้นกำเนิดหรือส่งกลับในกรณีการถือครองโดยผิดกฎหมาย   การจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ก่อนการประกาศอนุสัญญายูเนสโก ค.ศ. 1970 กำเนิดมาจาก การประชุมคณะทำงาน โดยความเห็นชอบขององค์การยูเนสโกที่ กรุงเวนีส ในปี ค.ศ. 1976 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งวัตถุทางวัฒนธรรมที่ถูกนำออกไปในช่วงการเข้ายึดครองโดยกำลังของต่างชาติและในช่วงสมัยอาณานิคม กลับคืนสู่ประเทศต้นกำเนิด ข้อสรุปสำคัญจากการประชุมคือ ควรจะมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อการประสานในการเจรจา การหาข้อมูลและให้คำแนะนำ รวมทั้งเสนอทางออกที่เป็นไปได้เพื่อการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรม   องค์การยูเนสโกจึงได้มีมติให้จัดตั้ง การจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการประชาสัมพันธ์การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศต้นกำเนิดหรือส่งกลับในกรณีการถือครองโดยผิดกฎหมาย ขึ้นในปี ค.ศ. 1978 โดยที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ประกอบด้วยสมาชิก 22 คนซึ่งได้รับการคัดเลือกจากประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโก และมีการประชุมเป็นประจำทุกๆ 2 ปี บทบาทของคณะกรรมการนี้ เป็นเสมือนคณะที่ปรึกษา และเป็นตัวกลางให้เกิดการเจรจา แต่มิใช่องค์กรที่มีอำนาจทางกฎหมายในการสั่งบังคับให้คืนวัตถุทางวัฒนธรรม   ในปี ค.ศ. 1981 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ ได้จัดทำแบบฟอร์มการร้องเรียนการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการจัดรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นมาตราฐานสำหรับการนำเสนอต่อคณะที่ประชุม และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในกรณีมีการเปิดการเจรจาระหว่างคู่กรณี   ตัวอย่างผลงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลฯ เช่น กรณีการดูแลการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรมที่เก็บรักษาอยู่ในสหรัฐอเมริกาแก่พิพิธภัณฑ์ Corinthe ในประเทศกรีก การส่งคืนผ้าโบราณที่มีการนำเข้าโดยผิดกฎหมายในประเทศแคนนาดาคืนแก่ประเทศโบลีเวีย หรือ เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการฯ ก็รับเรื่องคำร้องของตัวแทนจากประเทศกรีกต่อประเทศอังกฤษ ในการส่งคืนประติมากรรมประกอบหน้าบันของวิหารพาร์เทนอนที่ถูกนำเอาไปไว้ที่ประเทศอังกฤษราวต้นคริสตศตวรรษที่ 19 รวมทั้งกรณีคำร้องของประเทศตุรกีในการส่งคืนสฟิงค์ Boguskoy ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งเบอร์ลิน แต่อย่างไรก็ตาม เราคงต้องรอ ผลการเจรจาและติดตามความคืบหน้ากันต่อไป   4. ด้านการเงิน : การจัดตั้งกองทุนเพื่อการประชาสัมพันธ์การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศต้นกำเนิดหรือส่งกลับในกรณีการถือครองโดยผิดกฎหมาย   คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการประชาสัมพันธ์การคืนวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศต้นกำเนิดหรือส่งกลับในกรณีการถือครองโดยผิดกฎหมาย ที่จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1978 ได้เห็นชอบกับผลการศึกษาในเรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีทางในการคืนวัตถุทางวัฒนธรรมเพื่อการรวบรวมมรดกที่กระจัดกระจายโดยสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างประเทศจัดทำการศึกษาข้างต้น เพื่อการจัดตั้งกองทุนในการประชาสัมพันธ์การคืนวัตถุทางวัฒนธรรม   จนปี คศ. 1999 คณะกรรมการจึงได้จัดตั้งกองทุนดังกล่าวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เงินกองทุนจะมาจากการบริจาคของประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโกและภาคเอกชน เป้าหมายของกองทุนนี้ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องการตรวจสอบวัตถุทางวัฒนธรรมจากผู้เชี่ยวชาญ การขนส่ง ค่าประกัน รวมทั้งการติดตั้งที่ได้มาตราฐานเพื่อการจัดแสดงวัตถุทางวัฒนธรรมที่จะส่งคืน รวมทั้งการจัดอบรมเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ในประเทศต้นกำเนิดด้วย จะสังเกตได้ว่า นโยบายของกองทุนนี้ไม่ใช่กองทุนที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เงินแก่ประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโกในการนำไปใช้เพื่อเป็นค่าชดเชยแก่ผู้ครอบครองวัตถุทางวัฒนธรรมที่บริสุทธิ์ใจแต่อย่างใด แต่เป็นกองทุนที่ให้ความช่วยเหลือและให้บริการในด้านเทคนิคและการอบรม รวมทั้งให้การสนับสนุนอื่นๆ อาจจะเป็นในรูปเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ   อนึ่ง หลักเกณฑ์การจัดทำโครงการเพื่อขอการสนับสนุนจากกองทุนฯ คือ ผู้ขอการสนับสนุนจะต้องดำเนินการในนามของรัฐบาล ทั้งนี้วัตถุนั้นอาจจะเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์กรทั้งในภาครัฐและเอกชนก็ได้ วัตถุที่จะเรียกร้องกลับคืนจะต้องเป็นวัตถุที่ได้สูญเสียไปในช่วงอาณานิคม จากการยึดครองจากต่างชาติ หรือ จากการครอบครองอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งยังเป็นวัตถุที่มีความสำคัญอย่างมากในแง่ของมรดกทางวัฒนธรรม และมีความผูกพันทางจิตใจกับประชาชนของประเทศที่ยื่นคำร้อง เป็นวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และเป็นวัตถุที่มีความสำคัญทั้งทางการเมืองและการศึกษาของชาติ   นอกจากนี้ ประเทศที่ยื่นคำร้องในการคืนสมบัติทางวัฒนธรรมจะต้องแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลประเทศนั้นจัดทำมาตราการต่างๆ ที่จริงจังในการต่อสู้กับขบวนการการลักลอบค้าวัตถุทางวัฒนธรรม หรือการวางนโยบายในการส่งคืนวัตถุทางวัฒนธรรม รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง ส่วนการพิจารณาการขอรับการสนับสนุนจะมีขึ้นในวาระการประชุม แต่ในกรณีเร่งด่วน ประธานคณะกรรมการระหว่างประเทศฯ สามารถอนุมัติเงินสนับสนุนได้ไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์ หรือปฏิเสธการขอการสนับสนุนและเลื่อนการพิจารณาสำหรับการประชุมครั้งถัดไป นอกจากหลักเกณฑ์พื้นฐานข้างต้นแล้ว ลำดับความสำคัญของการคัดเลือกโครงการขอรับการสนับสนุนจะเน้นไปที่ประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโกที่มีการสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมของตนอย่างมาก รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนา   บทสรุป   หากเราย้อนไปดูในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยยังมิได้เคยใช้เทคนิคและขบวนการต่างๆ ขององค์การยูเนสโก เพื่อนำเอาวัตถุทางวัฒนธรรมกลับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของหลวงพ่อศิลาและพระนารายณ์บรรธมสินธุ์ ต่างก็เป็นการเจราจาแบบทวิภาคีคือระหว่างไทยกับคู่กรณีโดยตรง หากแต่ในกรณีแรก ฝ่ายไทยได้จ่ายเงินซื้อวัตถุคืนจากผู้ครอบครอง และในกรณีหลัง ฝ่ายไทยใช้แรงกดดันผ่านสื่อและประชาชน จนทำให้สมาคมเอกชนแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาออกเงินซื้อคืนให้ไทย หรือในกรณีการส่งชุดเครื่องสังคโลกคืนไทยโดยสถาบันสมิทโซเนียนนั้น การส่งคืนวัตถุเป็นผลมาจากจรรยาบรรณของคนทำอาชีพพิพิธภัณฑ์   แต่เราคงไม่สามารถปฏิเสธความสำคัญขององค์การยูเนสโกกับการต่อสู้ขบวนการลักลอบขนย้ายวัตถุทางวัฒนธรรมในเวทีโลก เพราะ องค์การฯ ดำเนินการศึกษาถึงความเป็นมาและปัญหามาช้านาน รวมทั้งการจัดทำมาตราการต่างๆ การจัดตั้งคณะทำงานและกองทุนช่วยเหลือ แต่มาตราการที่มีอยู่มักไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อในประเทศไทยเท่าใดนัก ผู้เรียบเรียงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลข้างต้นจะมีส่วนให้ผู้ที่สนใจทั่วไปได้รับทราบ และเข้าใจถึงปัญหาและมาตราการต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการคืนวัตถุทางวัฒนธรรมในระดับนานาชาติได้ชัดเจนขึ้น   --------------------------- ที่มาของข้อมูลส่วนใหญ่ http://portal.unesco.org/ * จิรศรี บุณยเกียรติ นักวิชาการอิสระด้านพิพิธภัณฑ์วิทยาและการจัดการวัฒนธรรม ** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 9 (มิถุนายน 2548 - พฤษภาคม 2549),38-47.  

คนเล็กๆ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

21 มีนาคม 2556

เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ถ้าไม่นับภาพการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างทหารและประชาชนแล้ว คนส่วนใหญ่คงจะนึกถึงภาพการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองประชาธิปไตยไทย   ว่ากันว่ามีนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชนที่ร่วมกันเดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สู่ท้องถนนราชดำเนินกลางตั้งแต่เที่ยงวันในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 จำนวนมากมายถึง 500,000 คน หรือประมาณ 1 ใน 6 ของประชากรกรุงเทพฯ ในขณะนั้น   ความใหญ่โตของคลื่นขบวนประชาชนที่อัดแน่นเต็มถนนราชดำเนินในด้านหนึ่งนั้นส่งผลกระทบความรู้สึกอย่างแรงต่อผู้ที่ได้เห็น เป็นภาพที่สร้างทั้งแรงบันดาลใจและจินตนาการไม่รู้จบในกาลต่อมาว่า ปัจเจกบุคคลเมื่อรวมกันเข้าก็สามารถเปลี่ยนแปลงความเลวร้ายที่อยู่รายรอบได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความใหญ่โตเช่นที่ว่าก็กลับกลายเป็นภาพกดทับบดบังบทบาทและเรื่องราวของคนเล็กๆ ธรรมดาสามัญไปเสียสิ้นเช่นกัน   ในหมู่ผู้คนกว่า 5 แสนบนราชดำเนิน โดยไม่นับอีกหลายแสนทั่วประเทศ ซึ่งพร้อมใจกันลุกขึ้นท้าทายอำนาจเผด็จการคณาธิปไตยถนอม-ประภาส-ณรงค์ กระทั่งลุกลามเป็นการลุกขึ้นสู้กับอาวุธสงครามด้วยมือเปล่า กลับหลงเหลือบุคคลให้พึงจดจำในประวัติศาสตร์ได้ไม่กี่สิบราย   แน่นอน-ไม่มีใครตั้งใจลืมคนเล็กคนน้อยเหล่านี้ หรือจงใจจดจำบุคคลที่มีบทบาทเพียงไม่กี่คน   แต่ใช่หรือไม่ว่า เป็นเพราะเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ประกอบกันขึ้นมาจากผู้คนมากมายเหลือคณานับจนยากที่จะจดจำบุคคลที่ไม่มีความสำคัญโดดเด่นความทรงจำ 14 ตุลาจึงมีภาพการเคลื่อนไหวอันใหญ่โตของประชาชนเป็นด้านหลัก แต่กลับไม่มีตัวตนของประชาชน "จริงๆ" อยู่ในความทรงจำนั้น   ถ้าหากเราลองเล่าเรื่อง 14 ตุลา ที่มีชีวิตเลือดเนื้อของคนเล็กๆ คู่ขนานไปกับเรื่องเล่าที่ได้ฟังได้อ่านกันมาตลอด 31 ปีที่เน้นบทบาทของคนสำคัญไม่กี่สิบคน บางทีเราอาจพบแง่มุมตลอดจนความรู้สึกใหม่ซุกซ่อนอยู่ในประวัติศาสตร์สิบสี่ตุลา เรื่องราวเหล่านี้อาจจะเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตชีวาและจับต้องได้เข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น   ไม่ใช่สิบสี่ตุลาฉบับทรราชย์ปวดใจ ที่ยังหมกมุ่นอยู่กับการถูกทรยศหักหลังและอาลัยอาวรณ์กับอำนาจล้นฟ้าที่หลุดลอยหายไปโดยฉับพลัน หรือเป็นสิบสี่ตุลาแบบฉวยโอกาสของวีรชนคนเดือนตุลาจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ว่าตนเองจะมีส่วนเข้าร่วมโดยตรงหรือเลียบเคียงอยู่ห่างๆ แต่ก็สามารถใช้เหตุการณ์สิบสี่ตุลาเป็นบันไดทอดขึ้นสู่อำนาจและผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ได้ในกาลต่อมา   เนื้อหาสิบสี่ตุลาฉบับสามัญชนคนเล็กคนน้อย จึงเป็นเรื่องราวของมนุษย์ปุถุชนที่มาจากหลากความคิดหลายความเชื่อ ซึ่งทุกคนล้วนมีความกล้าหาญ เสียสละต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย มิได้กระทำการลงไปเพราะใฝ่ในอำนาจหรือมุ่งหวังประโยชน์ส่วนตน   คำบอกเล่าจากความทรงจำของสามัญชนคนธรรมดาที่ต้องค้นหาเพิ่มเติมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะถูกนำมาเรียบเรียงและนำเสนอไว้ในนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์ 14 ตุลา ซึ่งมูลนิธิ 14 ตุลาคาดว่าจะดำเนินการจัดสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมปีนี้ โดยการปรับปรุงอาคารอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่   นับตั้งแต่มีการรณรงค์ติดตามบุคคลมาตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม 2547 (เน้นไปที่บุคคลที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายกว่าสองร้อยรูป ซึ่งอัดสำเนามาจากแหล่งต่างๆ) ปรากฏว่ามีผู้ยินดีบอกเล่าเรื่องราวจากความทรงจำเมื่อกว่า 3 ทศวรรษก่อนให้กับทางมูลนิธิไว้บ้างแล้ว บุคคลที่เราพบและเรื่องราวที่พวกเขาบอกเล่าล้วนแล้วแต่มีสีสันน่าตื่นเต้นไม่น้อยไปกว่าเรื่องเล่าหลักที่พวกเราได้ฟังได้อ่านกันจนคุ้นเคยมาก่อนหน้านี้   ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงแถวหน้าผู้เดินนำขบวนนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชน 5 แสนคนบนถนนราชดำเนิน เมื่อเที่ยงวันในวันที่ 13 ตุลาคม 2516, ผู้รอดพ้นจากการถูกจับกุมระหว่างแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญในบ่ายวันที่ 6 ตุลาคม, "กลุ่มผู้ก่อการ 8 ตุลา" และบทบาทของพวกเขาในการชุมนุมที่ลานโพธิ์ ธรรมศาสตร์ รุ่งเช้าวันที่ 9 ตุลาคม, นักเรียนช่างกลที่ยึดรถกระจายเสียงตระเวนประกาศความเลวร้ายรุนแรงที่ทหารกระทำต่อประชาชนไปยังย่านฝั่งธนบุรีในบ่ายวันที่ 14 ตุลาคม, แม่ค้าที่รวมตัวกันส่งเสบียงเลี้ยงมวลชนระหว่างชุมนุมในธรรมศาสตร์ ฯลฯ   คนเหล่านี้มีตัวมีตนจริง และยังใช้ชีวิตเยี่ยงปกติชนคนธรรมดา แต่บุคคลจำนวนไม่กี่สิบคนเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอต่อการเรียบเรียงเนื้อหาให้ปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้อย่างสมบูรณ์รอบด้าน เพราะยังมีบุคคลที่น่าสนใจอีกจำนวนมากในพื้นที่จุดต่างๆ ของเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถติดต่อได้ และยังไม่รวมถึงสิ่งของต่างๆ ในเหตุการณ์ หรือที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา อันถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ แต่ทว่ามูลนิธิฯ ยังเก็บรวบรวมไว้ได้น้อยมาก   มูลนิธิฯ จึงขอเชิญชวนผู้สนใจอยากมีส่วนร่วมในการสร้างพิพิธภัณฑ์การเมืองภาคประชาชน โปรดให้ข้อมูล-บริจาคสิ่งของที่มูลนิธิฯ ยังขาดแคลน หรือช่วยแจ้งเบาะแสหรือแนะนำผู้ที่มีข้อมูล-สิ่งของให้แก่มูลนิธิฯ เพื่อช่วยกันคนละมือคนละไม้ สร้างพิพิธภัณฑ์ 14 ตุลา สำหรับอนุชนคนรุ่นหลังใช้เป็นสถานที่เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สังคมไทย และยังเป็นห้องเรียนนอกโรงเรียนที่มีชีวิตชีวา ด้วยเรื่องราวของสามัญชนคนเล็กๆ ที่รวมตัวกันจนสามารถพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประชาธิปไตยไทยได้สำเร็จ จน 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครลบเลือนได้   -------------------------------------------------- * วัฒนชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตผู้จัดการอนุสรณ์าสถาน 14 ตุลา มูลนิธิ 14 ตุลา ** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ใน จุสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 9 (มิถุนายน 2548 - พฤษภาคม 2549),9-12.  

งานเสวนาเรื่อง "พิพิธภัณฑ์การเมืองไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"

21 มีนาคม 2556

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ในอันดับที่สองของประเทศ และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอดีตตัวตนชัดเจน มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของวังหน้าในสมัยรัตนโกสินทร์ และได้ผ่านประสบการณ์และเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองหลายครั้ง มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการสร้างผู้นำประเทศมาหลายสมัย และมีส่วนสำคัญในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม ทั้งนี้ ยังเป็นพื้นที่ที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ต่อการเมืองสมัยใหม่ ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดทำพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ให้เป็นเขตอนุรักษ์และคุ้มครองด้านโบราณคดีและศิลปวัฒนธรรม ดังนั้น ในปี 2547 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีอายุครบ 70 ปี จึงวางแผนจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอประวัติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สอดคล้องเหมาะสมยิ่งกับภาวการณ์ปัจจุบัน   หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์และฝ่ายส่งเสริมและพัฒนา หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้ร่วมมือกันจัดงานเสวนาเรื่อง "พิพิธภัณฑ์การเมืองไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเสวนาในฐานะผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ในโลกปัจจุบันได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอประวัติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกทั้งเป็นการจุดประกายความคิดเรื่องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะพิพิธภัณฑ์การเมืองไทย เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประวัติศาสตร์การเมืองไทยกับความเป็นมาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้นการเสวนายังมุ่งที่จะปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแหล่งการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อดำรงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ งานเสวนาจึงได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ อาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว คุณจุลลดา มีจุล และคุณชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ ในการมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน   เนื้อหาที่พูดคุยกันในการเสวนาประกอบด้วยประเด็นสำคัญๆ และน่าสนใจที่พอสรุปได้ ดังนี้ คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการหนังสือศิลปวัฒนธรรม ได้จุดประเด็นให้เห็นว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยยังไม่เคยมีพิพิธภัณฑ์การเมืองเกิดขึ้น ในสังคมไทย พิพิธภัณฑ์โดยส่วนใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ (Art Museum) ซึ่งรูปแบบการจัดแสดงในแต่ละที่นั้นยังคงมีรูปแบบเดียวกัน คือ การจัดแสดงเทวรูป พระพุทธรูป หรือของโบราณ ซึ่งไม่มีอะไรเคลื่อนไหว แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น มีหลายฝ่ายพยายามจัดทำขึ้น เช่น พิพิธภัณฑ์แรงงานที่เนื้อหาในเชิงการเมือง แต่การจัดแสดงยังคงรูปแบบเดิมอยู่คือ การเอาของมาตั้ง เอาโปสเตอร์มาติดอยู่เท่านั้น ไม่มีความเคลื่อนไหว ไม่มีชีวิต สำหรับความคิดเรื่องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเมืองไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในอนาคตนั้น คุณสุพจน์เห็นว่าโดยชาติวุฒิ คุณวุฒิ และวัยวุฒิของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความเหมาะสมที่สุดที่จะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเมืองขึ้น โดยเสนอว่า หากมองในด้านชาติวุฒิ ธรรมศาสตร์เกิดมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 2475 ประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ก็คือ ประวัติศาสตร์การเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา การก่อตั้งครั้งแรกก็เพื่อที่จะสร้างบุคลากรมารับระบอบใหม่ คือ ระบอบประชาธิปไตย แม้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สร้างมาก่อนก็จริง แต่จุฬาฯ เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเพื่อรองรับระบอบเก่า ธรรมศาสตร์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ในการผลิตบุคลกรออกไปสู่สังคม และบุคคลในที่นี้ก็ไปมีบทบาททางการเมืองระดับชาติทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ในด้านคุณวุฒิ ภาระดั้งเดิมของธรรมศาสตร์คือ บทบาทตลาดวิชา ส่วนด้านวัยวุฒิ ในปี 2547 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครบรอบ 70 ปี   ดังนั้นการกำหนดประเด็นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ควรคำนึงถึงพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่จำเป็นต้องกังวลถึงเงินลงทุนจำนวนมากหรือเรื่องระยะเวลาซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ เราสามารถทำธรรมศาสตร์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ได้แปลว่า จะยกผู้คนออกไปให้หมดเหลือแต่ตึกร้างๆ แล้วก็มาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ หากยังสามารถคงสภาพการเรียนการสอน ผู้คนก็ยังคงเดินเหินกันตามปกติ แม้กระทั่งผู้คนที่เดินไปเดินมา แม่ค้าที่มาขายของยังท่าพระจันทร์ หรือการชุมนุมประท้วงหรือกิจกรรมต่างๆนานา ธรรมศาสตร์ในสภาพอย่างนี้ก็น่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ในตัวมันเอง เพียงแต่อาจจะมีอาคารสักหลังหนึ่ง เช่น ตึกโดมเป็นที่ที่แสดงวัตถุหรือเอกสารเหตุการณ์อะไรก็ตาม   ในขณะที่คุณจุลลดา มีจุล นักวิชาการประจำศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA) กล่าวว่า การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ควรมีองค์ประกอบสำคัญคือ จิตวิญญาณและความศรัทธาสถาบันในตัวพิพิธภัณฑ์ ความเชื่อมั่นในตัวสถาบันว่าจะต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคม ภาระขององค์กรคือ การช่วยให้ชุมชนในบริเวณนั้นให้เข้าใจสาระที่เสนอออกไป การเมืองเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอยู่แล้วในตัวของมันเอง เพราะฉะนั้นการนำเสนออาจเป็นเรื่องยากที่จะเอาเรื่องการเมือง หรือเรื่องที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราไปนำเสนอกับคนที่อยู่รอบด้าน   ทีมงานมีความศรัทธาอยากให้มีพิพิธภัณฑ์ขึ้นนั้นไม่เพียงพอ แต่จะต้องมีมากไปกว่านั้น ต้องศรัทธาที่จะทำงานตรงนี้ อีกอย่างหนึ่งพิพิธภัณฑ์ต้องเป็นสถานที่ที่เมื่อคนทำงานร่วมกันแล้วต้องมีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน และไม่ใช่เพียงแต่อยู่ภายในตัวพิพิธภัณฑ์เอง แต่ก็ต้องนำออกสู่ข้างนอกด้วย สิ่งสุดท้ายที่ตัวพิพิธภัณฑ์ควรจะมีก็คือ การให้บริการทุกคนที่ทำงานอยู่นั้นคือ ต้องมีใจที่จะนำเสนอ บริการให้กับผู้เข้าชมให้เกิดความประทับใจ เมื่อเขาเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์แล้ว เขาสามารถได้อะไรกลับไปและอย่างไร ถ้าพิพิธภัณฑ์การเมืองของธรรมศาสตร์สามารถเกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ว่าควรจะตั้งคำถามก่อนที่จะให้ตัวพิพิธภัณฑ์นี้เกิดขึ้นมา ว่า why who และ how ตัวพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่ตัวอาคารที่เก็บอย่างเดียว แต่ว่าพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นสถาบันทางวัฒนธรรมที่ค่อนข้างซับซ้อน เป็นสถานที่เกี่ยวข้องผูกพันกับการเก็บสะสม รวบรวม แล้วก็รักษาวัตถุที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ในขณะเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ต้องสื่อสารความหมายของ collections นั้น ออกสู่สาธารณชนได้ เรื่องที่ควรคำนึงถึงเพื่อให้สาธารณชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากพิพิธภัณฑ์ คือ หลักการสื่อข้อมูลการจัดแสดง นโยบายพิพิธภัณฑ์เข้าสู่ชุมชน การโฆษณาประชาสัมพันธ์ สิ่งพิมพ์ต่างๆ การจัดนิทรรศการ การจัดแสดง เมื่อพูดถึงนิทรรศการควรแบ่งออกเป็นอย่างน้อย 2 อย่าง คือ นิทรรศการถาวร และนิทรรศการชั่วคราว การจัดนิทรรศการชั่วคราวทำให้มีกิจกรรมบ่อยครั้งขึ้น แต่ความจริงแล้วกิจกรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่นิทรรศการอย่างเดียว แต่ว่าเป็นกิจกรรมที่จะทำให้เกิดการติดต่อกับชุมชน ให้ผู้ชมได้มามีกิจกรรมตรงนี้มากขึ้น ควรมีการนำเสนอในหลายรูปแบบที่ให้ผู้ชมสามารถเลือกได้ว่าอยากจะเดินไปทางไหน   สำหรับทัศนะของนักวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์อย่าง คุณชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้เสนอความเห็นว่า พื้นฐานในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยวัตถุสะสม การทำวิจัยที่จะต้องมีคนปฏิบัติงานที่มีความรู้ทางด้านนี้และอย่างต่อเนื่อง และการสื่อสารกับคนภายนอก การสื่อสารในที่นี้ไม่ได้หยุดหรือจบเพียงแค่นิทรรศการเป็นคำตอบสุดท้าย แต่มีได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ ที่เป็นลักษณะกิจกรรมสำหรับเด็ก หรือการออกไปหาผู้ดูที่เป็นคนข้างนอกเช่นเดียวกับคุณจุลลดาได้เสนอไว้ ส่วนในประเด็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับพิพิธภัณฑ์การเมืองไทย คุณชีวสิทธิ์เห็นว่าไม่ควรมองพิพิธภัณฑ์การเมืองไทยที่อยากจะตั้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเพียงแค่เรื่องประวัติศาสตร์ เพราะว่าการเรียนรู้ทางการเมืองโดยเฉพาะการเมืองแบบประชาธิปไตย มันจะต้องไปพร้อมกับสังคมที่ต้องวิวัฒน์ไปด้วยกัน พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่ทางการเมือง เราจะต้องคอยสร้างสิ่งที่เป็นเหมือนกับกิจกรรมให้มันเกิดตลอดเวลา ถ้าอยากจะทำพิพิธภัณฑ์การเมือง ก็อย่าหยุดเพียงแค่เรื่องประวัติศาสตร์ แต่ให้มองเรื่องการเมืองที่เป็นประเด็นหรือเรื่องที่ทุกคนในสังคมไทยจะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ถ้าทำได้ก็จะทำให้ความมีชีวิตเกิดขึ้นได้เช่นกัน   สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิท่านสุดท้าย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ให้แง่คิดที่น่าสนใจว่า ถ้าจะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราจะเอาอะไรใส่เข้าไป พิพิธภัณฑ์ไทยมันเปลี่ยนมาจากพิพิธภัณฑ์แบบประวัติศาสตร์ศิลปะ เข้ามาเป็นทฤษฎีมหาบุรุษ ซึ่งหนีไม่พ้น เราคุ้นกับงานของอาจารย์นิธิหรืองานของอาจารย์ธงชัย เราจะเห็นว่า กรอบวิธีคิดที่กำหนดว่าการจัดพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างไร คือกรอบที่เรียกว่า ราชาชาตินิยมกับทฤษฎีของมหาบุรุษคือมองจาก Great Man Theory เพราะฉะนั้นแปลว่าประวัติศาสตร์ของชาติไทย เวลาจัดแล้วมันหนีไม่พ้น คนไทยมาจากไหน เป็นการแย่งพื้นที่กันทางการเมืองว่าจะเสนออะไร ถ้าพิพิธภัณฑ์การเมืองที่ธรรมศาสตร์เสนอในกรอบที่ว่านี้คือ ราชาชาตินิยมกับมหาบุรุษ จะไม่มีคนเข้า เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ เรื่องพิพิธภัณฑ์ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความสมดุลกันระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่ พิพิธภัณฑ์ก็คือพิพิธภัณฑ์ แต่ใครทำ ใครใส่อะไรเข้าไป ตรงนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่ ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตายหรือมีชีวิต ถ้าขาดเรื่องเจตจำนงที่จะมี ศรัทธาที่จะมี ทรัพยากรทั้งเงินและคน คนที่แปลว่าปัญญา มันก็เป็นสิ่งที่ไม่มีอาจจะดีกว่ามี   สำหรับประเด็นสุดท้ายในวงเสวนา ดร. พิภพ อุดร ผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ ก็เสนอความเห็นน่าสนใจว่า เราพูดถึง Space of Politics ว่าเป็นการแย่งพื้นที่ จริงๆแล้วควรจะมองว่ามันเป็น Space of Value Creation คือเป็นการใช้พื้นที่เพื่อสร้างคุณค่าบางอย่าง เรามองว่าธรรมศาสตร์เหมาะกับการทำพิพิธภัณฑ์ทางการเมือง แต่คิดว่าธรรมศาสตร์ต้องกลับมาตอบตัวเองให้ได้ว่า เราจะใช้พื้นที่ตรงนี้ทำอะไรกันแน่ การสร้างพิพิธภัณฑ์โดยที่ไม่เชื่อมโยง หรือคิดแยกส่วนจากปรัชญาการก่อตั้งมหาวิทยาลัย อาจจะทำไม่ได้ ต้องกลับมามองว่าธรรมศาสตร์จริงๆ แล้วต้องการวางบทบาทตัวเองที่แท้จริงอย่างไร พันธกิจที่เรามีตอนนี้เราควรจะต้องมุ่งเน้นไปทางไหน การมองพิพิธภัณฑ์การเมืองเพียงแค่ว่าตั้งขึ้นมาชิ้นหนึ่งในธรรมศาสตร์ มันตายแน่นอน จะไม่มีความหมายและเป็นประโยชน์เลย ธรรมศาสตร์ต้องกลับมาคิดว่าว่าปรัชญาของการก่อตั้งธรรมศาสตร์นั้นคืออะไร Value ที่ตัวเองต้องการสร้างให้สังคมคืออะไร   อย่างไรก็ดีการเสวนาครั้งนี้จบลงด้วยคำพูดของผู้เข้าร่วมเสวนาท่านหนึ่งที่กล่าวว่า ธรรมศาสตร์อาจทำพิพิธภัณฑ์ แต่ขอให้ทำให้ดี ทำให้เข้มข้นเฉพาะบางเรื่องที่เป็นจุดเด่น แล้วก็ไปเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้คนมาดูที่ธรรมศาสตร์แล้วก็ศึกษาต่อด้วยตัวเอง น่าจะเป็นอย่างนั้นมากกว่า   ----------------------------------------- * ซี บุญยโกศล นักศึกษาปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ** เป็นการสรุปความจากการเสวนาเรื่อง "พิพิธภัณฑ์การเมืองไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" วันที่ 14 กรกฎาคม 2547 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์. ตีพิมพ์ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 9 (มิถุนายน 2548 - พฤษภาคม 2549),34-37.  

ระหว่างบรรทัดของการบอกเล่าอดีต

21 มีนาคม 2556

สาระหรือเนื้อหาที่ได้รับการบอกเล่าและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาสตร์ อนุสรณ์สถาน และหอเกียรติยศ1 ล้วนทำหน้าที่บันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นไปสู่สาธารณชน ทั้งนี้ จุดประสงค์ของการสร้างสถานที่เหล่านั้นแตกต่างกันไป บ้างต้องการสร้างความภาคภูมิใจในกำเนิดและพัฒนาการของหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มสังคม บ้างปรารถนาสร้างความเข้าใจในความเป็นมาและเป็นไปเพื่อให้ผู้เข้าชมตระหนักถึงสภาพปัจจุบัน บ้างกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้มีอำนาจ และยืนยันถึงความถูกต้องในการกระทำของตนเอง ไม่ว่าพิพิธภัณฑ์ ฯ จะสร้างขึ้นด้วยความมุ่งหมายใดก็ตาม การจัดตั้งสถานที่ดังกล่าวสะท้อนว่า มนุษย์ไม่ต้องการให้เวลามาพรากเอาเรื่องราวที่ผ่านแล้วให้พ้นเลยไปจากความคิด ความรู้สึก และการจดจำของผู้คน พิพิธภัณฑ์ ฯ จึงต้องการสร้างสำนึกประวัติศาสตร์ต่อผู้เข้าชมด้วยบทบรรยาย วัตถุจัดแสดง และพื้นที่ในโลกสมมติที่โยกย้ายอดีต ปัจจุบัน หรือแม้แต่อนาคตมารวมไว้ในที่เดียวกัน   มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้สถาปนาขึ้นในปี 2477 อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 72 ในปี 2549 72 ปีของชีวิตและประสบการณ์ "ธรรมศาสตร์" ได้จารึกเรื่องราวของชุมชนและผู้คนในแต่ละช่วงเวลา ชีวิตธรรมศาสตร์เคยผ่านการศึกษาและเผยแพร่มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ดังจะเห็นได้จากหนังสือ บทความ และข้อเขียนต่าง ๆ ที่ตีพิมพ์ในวาระที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อมาถึงปี 2548 การบอกเล่าชีวิตธรรมศาสตร์จะมิใช่เพียงหนังสือหรือสิ่งพิมพ์อีกต่อไป หอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์2 ได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่แสดงเรื่องราว ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในแต่ละยุคแต่ละสมัย แต่หอประวัติศาสตร์ ฯ นี้สร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใด เรื่องราวอะไรบ้างที่จัดแสดงและได้รับการถ่ายทอดด้วยวิธีการใด และหากเราเชื่อร่วมกันว่า พิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาสตร์ อนุสรณ์สถาน และหอเกียรติยศคือ พื้นที่ที่จะ "หลอมหล่อ" ความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์บางประการ หอประวัติศาสตร์จะสามารถนำเสนอบทบาทของตัวเองไปในแนวทางนั้น ๆ ได้หรือไม่ และเหตุปัจจัยใดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พึงตระหนัก เพื่อให้พื้นที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ คำตอบต่อคำถามเหล่านี้เป็นเพียงข้อสังเกตของผู้เขียนที่เกิดขึ้นจากการเข้าชมหอประวัติศาสตร์ และสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนจึงใคร่จะเชิญชวนให้ชาวธรรมศาสตร์ได้เข้าชม และแสดงความคิดเห็นเพื่อให้หอประวัติศาสตร์ ฯ เป็นสถานที่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการเพิ่มเติมความทรงจำและเรื่องราวของชุมชนธรรมศาสตร์ที่ยังคงดำเนินต่อไป พื้นที่และการออกแบบ " อาคารโดมของมหาวิทยาลัยเป็นอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เฉพาะในทางประวัติศาสตร์ด้วยเหตุที่เป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังมีความผูกพันอยู่กับประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย "3 ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวประโยคข้างต้นในการประชุมคณะกรรมการโครงการจัดตั้งหอเกียรติยศ หอประวัติ และพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 1/2548 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 อาคารโดมเป็นหัวใจของมหาวิทยาลัยที่ผูกพันอยู่กับประวัติศาสตร์หลายฉากหลายตอน ดังที่ท่านอธิการบดีได้กล่าวเพิ่มเติมในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 " อาคารโดมเป็นศูนย์รวมของขบวนการเสรีไทย เพราะเป็นสถานที่ทำการของผู้ประศาสน์การ4  โดยความคิดส่วนตัวมีความเชื่อว่า ชั้น 3 ของอาคารโดมน่าจะถูกใช้เป็นที่ติดต่อประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างสงครามโลก " ด้วยเหตุนี้ " เมื่อมหาวิทยาลัยย้ายหน่วยงานกองการเจ้าหน้าที่ และทะเบียนประวัติ ออกจากชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความทรุดโทรมมาก เนื่องจากเก็บเอกสารเก่า และขาดการดูแล … ถ้าได้รับการดูแลรักษาที่ดีจะสามารถเปลี่ยนสภาพจากแย่ที่สุด เป็นดีที่สุดได้ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของมหาวิทยาลัย "    อย่างไรก็ดี อาคารโดมมิได้มีเพียงความหมายซึ่งมีที่มาจากประวัติศาสตร์อันห่างไกลจากคนธรรมศาสตร์ร่วมสมัยแต่อย่างใด "โดม" ยังได้กลายเป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่ได้เชื่อมนักศึกษาและผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามา วลี "ลูกแม่โดม" อาจช่วยยืนยันถึงความสำคัญของอาคารหลังนี้ต่อชีวิตธรรมศาสตร์ที่มีมาแต่อดีตและที่จะดำเนินต่อไปในกาลข้างหน้า ฉะนั้น เมื่อมหาวิทยาลัยได้เลือกและและปรับเปลี่ยนพื้นที่ชั้น 3 ของอาคารโดมเป็นหอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นัยและความหมายของพื้นที่จึงเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น เพราะวันและเวลาของพื้นที่ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยได้ถูกดึงกลับมารวมไว้ ณ ที่เดียวกัน   เมื่อเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ถูกแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ พื้นที่รูปกากบาทได้ถูกจัดแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่แวดล้อมหอเกียรติยศ และส่วนที่เป็นหอเกียรติยศที่อยู่ตรงใจกลางของพื้นที่ เนื้อหาของนิทรรศการประกอบด้วยเนื้อหา 6 ส่วน ได้แก่ โซนที่ 1 พัฒนาการของพื้นที่ท่าพระจันทร์ก่อนการก่อตั้ง มธก. (ต้นรัตนโกสินทร์จนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง) โซนที่ 2 ยุคสถาปนามหาวิทยาลัย (2477 - 2491) โซนที่ 3 ยุคเปลี่ยนระบบการศึกษาก่อนปิดตลาดวิชา (2492 - 2502) โซนที่ 4 ยุคปิดตลาดวิชา (2503 - 2516) โซนที่ 5 ยุคการต่อสู้ทางอุดมการณ์และฟื้นฟูมหาวิทยาลัย (2517 - 2528) โซนที่ 6 ยุคขยายการศึกษา (2529 - ปัจจุบัน)   จากทางเข้าหอประวัติศาสตร์ เส้นทางการเดินชมจะวนไปตามเข็มนาฬิกา โดยเนื้อหาจะเรียงลำดับไปตามช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ในแต่ละยุค จะมีป้ายบอกหัวเรื่องและขอบเขตของเวลาที่เกี่ยวข้อง และจากจุดเริ่มต้น นิทรรศการจะพาผู้ชมย้อนกลับไปในอดีตที่ไกลที่สุดของพื้นที่ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปัจจุบัน และเมื่อผู้ชมเดินเข้าไป เวลาก็จะล่วงไปพร้อมกับเรื่องเล่าที่ค่อย ๆ ย่างเข้าสู่ยุคปัจจุบัน จนกระทั่งถึงใจกลางของห้องจัดแสดง เส้นทางการเดินชมดังกล่าวจะปูพื้นความรู้ทางประวัติศาสตร์ พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงในระยะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เป็นอย่างดี   " อาจารย์นครินทร์ก็จะมีวิธีการมองประวัติศาสตร์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าเป็นจุดเด่นสำคัญของการวางเนื้อหาในทิศทางทั้งหมดเลย คือ ควรจะปล่อยให้ผู้ชมสามารถสร้างความทรงจำได้เองในเหตุการณ์นั้น ๆ ควรจะเสนอแบบว่า ภาพหลาย ๆ ด้านในช่วงแต่ละเหตุการณ์ แล้วก็ตั้งชื่อเหตุการณ์อย่างเป็นกลาง ไม่ใช่บอกว่าเหตุการณ์ช่วงนั้นมันดีอย่างไร มันเลวอย่างไร แต่ว่า เสนอออกไปแล้วก็ให้ผู้ชมเป็นผู้เลือกจำเอาเองว่าจะจะเหตุการณ์นั้น ๆ อย่างไร แกเชื่อว่า คนที่อยู่ในช่วงเหตุการณ์นั้นๆ เขาก็มีความสุขในแบบหนึ่งของเขา "5   การจัดแบ่งเรื่องราวจึงเป็นไปตามประวัติศาสตร์และพัฒนาการของการเรียนการสอน โครงสร้างของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องการเมืองหรือการเคลื่อนไหวของนักศึกษา เหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงจะแสดงให้เห็นจากโทนสีในนิทรรศการ จากภาพขาวดำและซีเปียไปสู่ภาพที่มีสีสันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถาปนิกหนึ่งในทีมงานออกแบบย้ำถึงความเป็นกลางและไม่พยายามโน้มน้าวการตีความของห้องจัดแสดง   " เราจะต้องทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นกลางที่สุดในแง่ของบรรยากาศโดยรวม ความเป็นกลางคือ ไม่บอกว่าห้องนี้มืด ห้องนี้สว่าง ห้องนี้สนุก ห้องนี้เศร้า ไม่ใช่ แล้วให้ตัววัตถุจัดแสดงให้แสดงตัวเอง … ทำเป็นเหมือน gallery เหมือนกับห้องแสดงศิลปะที่ตัวห้องเองมันไม่มีอะไรเลย เอางานมาแสดงมันก็จะแสดงตัวตนของมันอยู่กับที่ เช่น คนเอารูปเศร้าไปติด ห้องมันก็จะเศร้า "   อย่างไรก็ตาม เรื่องราวไม่ได้ถูกตัดขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง ในทางตรงกันข้าม เนื้อเรื่องได้ถูกเรียงร้อยกันไปตามพื้นที่ ผู้ชมมีโอกาสทราบล่วงหน้าว่า สิ่งที่จะพบต่อไปนั้นจะเป็นอะไร เรียกได้ว่าเป็น สัมพันธภาพภายในของเนื้อหาและพื้นที่ สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในห้องจัดแสดงคือ การปรับปรุงลักษณะสถาปัตยกรรมภายใน ด้วยการเปิดเพดานให้เห็นโครงสร้างไม้ของหลังคารูปโดมและโครงสร้างผนังอิฐบางส่วน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวช่วยเสริมบรรยากาศของหอประวัติศาสตร์ ฯ ให้ผู้ชมได้ระลึกถึงความหมายของสถานที่ในขณะชมนิทรรศการได้เนือง ๆ   นอกจากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นภายในห้องนิทรรศการแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาในห้องจัดแสดงกับสถานที่ภายนอกก็ยังเป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่งของหอประวัติศาสตร์ ฯ อาทิเช่น ในระหว่างเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ลานโพธิ์เป็นความทรงจำร่วมของผู้คนจำนวนมาก ไม่แต่เฉพาะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง หากแต่เป็นพื้นที่ร่วมที่สำคัญของความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเวลานั้น การนำเสนอเรื่องราวดังกล่าวอยู่ในโซนที่ 4 ซึ่งการจัดแสดงมิได้จำกัดมิติการนำเสนออยู่แต่เพียงเนื้อหา ภาพ หรือสิ่งที่จัดแสดงในรูปใบปลิวจำลอง เท่านั้น กล่าวคือ เมื่อผู้ชมย่างเข้าไปใกล้หน้าต่างด้านประตูท่าพระจันทร์มากขึ้น ภาพเหตุการณ์ซึ่งจัดแสดงบนบานหน้าต่าง ก็คล้อยให้ผู้ชมหวนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่โน้มนำผู้คนเป็นจำนวนมากให้มารวมตัว ณ ลานโพธิ์ที่อยู่ภายนอก จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวอื่น ๆ นอกมหาวิทยาลัยด้วย   จุดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งได้แก่ ช่องนาฬิกา ที่จัดแสดงในโซนที่ 5 "การต่อสู่ทางอุดมการณ์และฟื้นฟูมหาวิทยาลัย" ซึ่งหากผู้ชมมองผ่านช่องแสงของนาฬิกาออกไป จะเห็นลานหน้าอาคารโดมและรูปปั้นของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ฯ ตั้งเป็นสง่าอยู่ภายนอก การจัดแสดงนาฬิกาสัมพันธ์กับสิ่งที่ปรากฎภายนอก ด้วยเหตุนี้นาฬิกาจึงมิใช่เป็นเครื่องจักรที่บอกเวลาแต่เพียงอย่างเดียว นาฬิกายังได้สะท้อนคืนวันของการก่อตั้ง เรื่องราว และความเปลี่ยนแปลงที่ "ธรรมศาสตร์" ได้ผ่านพบมาด้วย   ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงรายละเอียดบางประการของการจัดตั้งหอประวัติศาสตร์ ฯ และลักษณะของการจัดแสดงภายใน เมื่อได้เข้าชมหอประวัติศาสตร์ ฯ ณ สถานที่จริงแล้ว แต่ละคนอาจรับรู้และตีความข้อมูลต่างออกไปจากนี้ก็เป็นได้ ผู้เขียนหวังจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปฏิกริยาที่พึงมีขึ้นเมื่อผู้อ่านได้เข้าชมหอประวัติศาสตร์ ฯ ด้วยตนเอง จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อีกทั้งควรที่จะแบ่งปันและสะท้อนความคิดเห็นของตนไปยังผู้ดูแลรับผิดชอบหอประวัติศาสตร์ ฯ ด้วย ในส่วนที่สองของบทความนี้ ผู้เขียนจะขอพิจารณา "ลักษณะเด่น" ของนิทรรศการในหอประวัติศาสตร์ ฯ เพื่อทำความเข้าใจและเสนอความคิดเห็นต่อประเด็นที่หยิบยกขึ้นมา   ย้อนมองเรื่องเล่า   "หากเราพิจารณาว่า การเขียนคือ การควบคุมเวลาที่ผันผ่าน ชีวิตที่ดำเนินไป ทั้ง "ช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่" ความเป็นไป และความเจ็บปวด ฉะนั้น การสืบสวนการกระทำนี้จะมิใช่การทำความเข้าใจอย่างลุ่มลึกลึกกับ สิ่งที่วัฒนธรรมได้รังสรรค์ขึ้นหรอกหรือ ?" มาร์แตง เดอ ลา ซูดิแยร์ และ โคลดี วัวส์นาท์   การดำเนินเรื่องราวในหอประวัติศาสตร์นั้น ได้ใช้พัฒนาการของมหาวิทยาลัยในแต่ละช่วงเวลาเป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่อง ในขณะเดียวกัน นิทรรศการก็จัดแสดงหลักฐานพยานที่เป็นหนังสือ เอกสารราชการ ใบปลิว และเอกสารอื่น ๆ ซึ่งทำจำลองขึ้น เพื่อยืนยันให้เห็นถึงความความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น หลักฐานพยานที่ย้ำความสำคัญของสิ่งพิมพ์ได้แก่ แท่นพิมพ์ ที่สื่อนัยแห่งตนเสมือนเป็น "บรรพบุรุษ" ที่มีคุณูปการต่อการวางรากฐานทางวิชาการช่วงต้น ใน "ธรรมศาสตร์" สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ จึงได้แทรกและประกอบเข้ามาในแต่ละช่วงของการจัดแสดง อย่างไรก็ตาม หากผู้เข้าชมมิได้ใส่ใจต่อการอ่านคำอธิบาย หนังสือและเอกสารจำลองเหล่านั้น (ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน) สิ่งแสดงเหล่านี้ก็คงเป็นได้แต่เพียงของประดับมากกว่าหลักฐานพยานที่จะช่วยผู้ชมให้เข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ได้อย่างแท้จริง ผู้เขียนขอยกตัวอย่างคำอธิบายสิ่งที่จัดแสดง ที่ปรากฎในนิทรรศการ "การสถาปนา มธก. มุ่งสร้าง "พลเมืองใหม่" ให้ระบอบประชาธิปไตย การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในเรื่องการเมืองการปกครองจึงมีความจำเป็น ดังนั้น การเผยแพร่สาระสำคัญของพระราชบัญญัติและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ฯ จึงดำเนินไปอย่างกว้างขวาง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนแสวงหาความรู้ที่ครั้งหนึ่งเคยปกปิดภายใต้ระบอบเก่าและมุ่งดับความกระหายในความรู้ในระบอบประชาธิปไตย"6 "วิชาลัทธิเศรษฐกิจนี้เคยเป็น "วิชาต้องห้าม" ในระบอบเดิม แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง วิชาดังกล่าวถือเป็นวิชาสำคัญวิชาหนึ่งในหลักสูตร มธก. อันมีจุดมุ่งหมายในการสร้างบัณฑิตให้มีความคิดที่กว้างไกล รู้จักวิพากษ์วิจารณ์ความอยุติธรรมที่ปรากฏในตัวบทกฎหมายและในสังคม ตำราเล่มนี้เป็นตำราลัทธิเศรษฐกิจเล่มแรกของมหาวิทยาลัยเขียนโดยอาจารย์ประจำชาวอังกฤษ…"7   "ตำราเล่มนี้ถือเป็นตำรากฎหมายปกครองเล่มแรกของมหาวิทยาลัย เดิมวิชานี้เคยสอนในโรงเรียนกฎหมาย ซึ่งบุกเบิกการสอนวิชานี้โดยนายปรีดี พนมยงค์ แต่การเรียนการสอนที่โรงเรียนกฎหมายนั้นไม่อาจทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสมัยนั้นยังเป็นระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองและการสถาปนามหาวิทยาลัยแล้ว การเรียนการสอนวิชากฎหมายปกครองจึงมีความเข้มข้นมากขึ้น ในตำราเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิของประชาชน หน้าที่ของสถาบันการเมือง การดำเนินการทางปกครองและมหาชนของรัฐบาล การเปรียบเทียบการปกครองระบอบเก่าและระบอบประชาธิปไตย การบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น"8   "… วัตถุประสงค์ของวิชานี้ไม่เพียงการเตรียมบัณฑิตที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดีต่อไปในอนาคตเท่านั้น แต่ยังทำให้บัณฑิตที่มุ่งเป็นนักการเมืองสามารถเข้าใจกลไกและการปฏิบัติงานของราชการด้วย โดยสรุปแล้ว วิชานี้ทำให้การบริหารงานราชการที่เคยปิดลับในระบอบเก่า กลายเป็นวิชาที่โปร่งใสเข้าใจได้โดยสามัญชนในระบอบประชาธิปไตย"9       

ความหมายสากลของพิพิธภัณฑ์ และพัฒนาการของ "พิพิธภัณฑ์แห่งกรุงสยาม"

20 มีนาคม 2556

(ตอนที่ 1) “พิพิธภัณฑ์” ในความรับรู้ของคนทั่วไปอาจจะหมายถึง สถานที่หนึ่ง ๆ ซึ่งจัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้เข้าชม แต่อย่างไรก็ตาม ในทางพิพิธภัณฑวิทยาที่ยอมรับกันในปัจจุบันแล้ว “พิพิธภัณฑ์” มีความหมายกว้างขวางมากกว่าสถานที่และการจัดแสดง แต่เทียบเท่าได้กับคำว่า“แหล่งเรียนรู้” เลยทีเดียว กล่าวคือ สภาการพิพิธภัณฑสถานระหว่างชาติ[1] (International Council of Museum) หรือICOMได้ให้คำจัดของคำว่า“พิพิธภัณฑ์”[2] ไว้ดังนี้ “พิพิธภัณฑ์ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่เปิดเป็นสถานที่สาธารณะ และเป็นสถาบันถาวรที่ให้บริการแก่สังคมและมีส่วนในการพัฒนาสังคม มีหน้าที่รวบรวม สงวนรักษา ค้นคว้าวิจัย เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดง วัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อจุดประสงค์ทางการค้นคว้า การศึกษา และ ความเพลิดเพลินใจ” คำจำกัดความข้างต้น ได้แจงหน้าที่หลัก ๆ ของพิพิธภัณฑ์ไว้ 5 ประการ คือ 1. รวบรวม 2. สงวนรักษา 3. ค้นคว้าวิจัย  4. เผยแพร่ความรู้ และ 5. จัดแสดงวัตถุ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความชัดเจนทางด้านสถานภาพว่าองค์กร หรือสถาบันใด มีคุณสมบัติของ “พิพิธภัณฑ์”หรือไม่  ดังนั้น ICOM จึงได้อธิบายเงื่อนไข และจำแนก “สถาบัน” ต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติของ “พิพิธภัณฑ์” ไว้อีก 8 ข้อ ดังนี้คือ (ก)  คำจำกัดความข้างต้นเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้โดยปราศจากข้อจำกัดใด ๆ ที่เกิดจากรูปแบบของคณะบริหาร ลักษณะของพื้นที่ โครงสร้างหน้าที่ หรือวิธีการศึกษาสิ่งของสะสมของสถาบันนั้นๆ ที่เกี่ยวข้อง (ข)  นอกจากสถาบันที่ถูกระบุว่าเป็น “พิพิธภัณฑ์” แล้ว สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ จัดได้ว่ามีคุณสมบัติเป็นพิพิธภัณฑ์ตามวัตถุประสงค์ของคำนิยามนี้ ซึ่งได้แก่ I.           แหล่งและอนุสรณ์สถานทางธรรมชาติ โบราณคดี และชาติพันธุ์วรรณา แหล่งและอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเก็บรวบรวม สงวนรักษา และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ II.      สถาบันที่รวบรวมและจัดแสดงตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ เช่น สวนพฤกษศาสตร์ สวนสัตวศาสตร์ สถานที่แสดงสัตว์น้ำ และศูนย์ศึกษาพันธุ์พืชและสัตว์ III.    ศูนย์วิทยาศาสตร์ และท้องฟ้าจำลอง IV.    หอศิลปที่จัดแสดงงานโดยไม่แสวงหาผลกำไร V.      สถานที่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่สงวน VI.    องค์กรพิพิธภัณฑ์ทั้งในระดับนานาชาติ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือระดับท้องถิ่น กระทรวง หรือกรม หรือหน่วยงานเอกชนใดก็ตามทั้งที่มีส่วนในการรับผิดชอบพิพิธภัณฑ์ หรือมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดนี้ VII.      สถาบัน หรือองค์กร ซึ่งไม่แสวงหาผลกำไร ที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ การค้นคว้าวิจัย การศึกษา การฝึกอบรม การจัดทำเอกสารวิชาการ และกิจกรรมอื่น ๆ อันเกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์ และวิชาพิพิธภัณฑ์วิทยา VIII.     ศูนย์วัฒนธรรม และนิติบุคคลอื่น ๆ ที่ดำเนินการด้านการอนุรักษ์ การสืบสาน และการบริหารจัดการทรัพยากรอันเป็นมรดกที่จับต้องได้ และมรดกที่จับต้องไม่ได้ (มรดกที่มีชีวิต และกิจกรรมที่สร้างสรรค์โดยเทคโนโลยีดิจิตอล) IX.    สถาบันใด ๆ อย่างเช่น สภาบริหาร ซึ่งหลังจากการร้องขอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการที่ปรึกษาแล้ว ได้รับการพิจารณาว่ามีคุณสมบัติบางส่วนหรือทั้งหมดของพิพิธภัณฑ์ หรือมีส่วนในการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ และบุคลากรที่ทำงานด้านพิพิธภัณฑ์เป็นอาชีพ ตลอดจนการสนับสนุนงานวิจัย การศึกษา หรือการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑ์   ความหมายตามรูปศัพท์ของ “มิวเซียม” และ “พิพิธภัณฑ์” อันที่จริงคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ถ้าแปลตามรูปศัพท์แล้ว จะมีความหมายเพียง “สิ่งของนานาชนิด” เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงสถานที่จัดแสดงวัตถุสิ่งของแต่อย่างใด คำที่ถูกต้องตามความหมายนั้น ต้องเป็นคำว่า “พิพิธภัณฑ-สถาน” ซึ่งหมายถึง “สถานที่สำหรับสิ่งของนานาชนิด” และจากรูปศัพท์นี้ ถ้านำไปเปรียบเทียบกับ คำว่า “มิวเซียม” แล้ว จะเห็นว่า รูปศัพท์ทั้ง 2 นั้น มีความหมายไม่ตรงกัน คำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” แสดงออกแค่เพียงเป็นสถานที่เก็บของ ในขณะที่คำว่า “มิวเซียม” กลับมีความหมายว่าเป็นสถานที่สิงสถิตของคณะเทพธิดามูซา[3] (Musa) คณะเทพธิดามูซานี้ เป็นคณะแห่งสรรพวิชาด้านต่าง ๆ ดังนั้น คำว่า “มิวเซียม” จึงมีความหมายอยู่ในตัวเองว่า “หอแห่งสรรพวิชา” หรือ “แหล่งเรียนรู้” ด้วยเหตุแห่งความต่างกันนี้ ก่อนจะกล่าวถึงพัฒนาด้านความหมายของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” จะขอกล่าวถึงความหมายของ“มิวเซียม” เสียก่อนเพื่อจะได้เข้าใจเกี่ยวกับความแตกแต่งทางด้านความหมายระหว่างคำว่า “มิวเซียม” กับ “พิพิธภัณฑ์” ดังนั้น ในประเด็นที่เกี่ยวกับข้อกำหนดของ ICOM ที่จะนำเสนอให้เห็นพัฒนาการของความหมายนั้น จะขอใช้คำทับศัพท์ว่า “มิวเซียม” เพื่อที่จะแยกสายพัฒนาการของความหมายให้ชัดเจนระหว่างโลกตะวันตกที่ใช้ “มิวเซียม” กับ ประเทศไทย ที่ใช้ “พิพิธภัณฑ์” ความหมายตามรูปศัพท์ของ “มิวเซียม” “มิวเซียม” เป็นคำยืมมาจากภาษาละติน ว่า “มูเซอุม”[4] มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณว่า “มูเซออน” (Mouseion) ซึ่งหมายถึง“สถานที่สิงสถิตของหมู่เทพธิดามูซา” คณะเทวีนี้มีอยู่ด้วยกัน 9 องค์[5] ทั้งหมดล้วนเป็นพระธิดาของเทพเจ้าเซอุส ราชาแห่งเทพทั้งมวล กับเทวีเนโมซีเน เทวีแห่งความทรงเจ้า กล่าวกันว่าหมู่เทพธิดามูซาเป็นตัวแทนของดนตรี บทเพลง และ นาฏศิลป์ โดยมีอำนาจดลใจให้กวีสามารถแต่งกวีนิพนธ์ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงถือกันว่าหมู่เทพธิดามูซาเป็นผู้อุปถัมภ์เหล่านักปราชญ์และกวีให้สามารถแต่งตำราและบทประพันธ์ต่าง ๆ ขึ้นมาได้ และเป็นเหล่าเทพแห่งสรรพวิชาด้วยเช่นกัน โดยในช่วงยุคคลาสสิกตอนปลาย ได้มีการจำแนกหน้าที่อุปถัมภ์ให้แก่เทพธิดาแต่ละองค์ แทนด้วยสรรพวิชาต่าง ๆ ดังนี้คือ                   ๑.  คลีโอ (Cleo) เทพธิดาแห่งประวัติศาสตร์นิพนธ์                 ๒. ยูเตอร์เป (Euterpe) เทพธิดาแห่งกวีนิพนธ์และทำนองเสนาะ                 ๓. ธาเลีย (Thalia) เทพธิดาแห่งบทร้อยกรอง และสุขนาฏกรรม                 ๔. เมลโปเมเน (Melpomene) เทพธิดาแห่งโศกนาฏกรรม                 ๕. เติร์ปซิโคเร (Terpsichore) เทพธิดาแห่งการขับรำและฟ้อนรำ                 ๖. เอราโต (Erato) เทพธิดาแห่งกวีนิพนธ์เรื่องรักใคร่ และการล้อเลียนท่าทาง                 ๗. โปลิฮิมเนีย (Polyhymnia) เทพธิดาแห่งบทเพลงสรรเสริญอันศักดิ์สิทธิ์                 ๘. ยูราเนีย (Eurania) เทพธิดาแห่งดาราศาสตร์ หรือ งานนิพนธ์ด้านดาราศาสตร์                 ๙. คาลลิโอเป (Calliope) เทพธิดาแห่งบทประพันธ์ประเภทมหากาพย์   พัฒนาการทางด้านความหมายของ “มิวเซียม” ในโลกตะวันตก                 “มูเซออน” ในสมัยกรีกโบราณเป็นสถานที่สำหรับการปฏิบัติสมาธิ เป็นสถาบันด้านปรัชญา หรือ เป็นวิหารสำหรับคณะเทพธิดามูซา ต่อมาในสมัยโรมันเรืองอำนาจ “มิวเซียม” หมายถึงสถานที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านปรัชญาซึ่งกันและกัน และคงความหมายในลักษณะนี้เรื่อยมาจนถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 (พุทธศตวรรษที่ 20) ซึ่งเป็นยุคเรเนสซองส์ ความหมายของ “มิวเซียม” จึงเริ่มเปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยที่เมืองฟลอเรนส์ “มิวเซียม” จะหมายถึง “สถานที่ที่มีสิ่งสะสมต่างๆ” ซึ่งก็จะมีความแฝงว่าเป็นสถานที่แห่งความรู้ด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 (พุทธศตวรรษที่ 23) เป็นต้นมา กลับเป็นที่นิยมใช้โดยทั่วไปในความหมายที่ว่า “สถานที่สำหรับเก็บสะสมและจัดแสดงวัตถุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติวิทยาและประวัติศาสตร์”[6] แนวความคิดเช่นนี้ ได้สืบต่อมาจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (กลางพุทธศตวรรษที่ 25) จนกระทั่งได้มีการจัดตั้งสภาการพิพิธภัณฑสถานระหว่างชาติ หรือ ICOM จึงได้เริ่มสร้างนิยามของคำว่า“มิวเซียม” ขึ้นเพื่อให้เป็นที่เข้าใจตรงกันระหว่างประเทศสมาชิก และได้มีการปรับปรุงนิยามเรื่อยมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 จนถึงปัจจุบัน เพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับคำนิยามของคำว่า “มิวเซียม” สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่าชาติ หรือ ICOM จึงได้ให้คำนิยามไว้ในเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2489 (ค.ศ.1946)[7] ว่า “คำว่า มิวเซียม มีความหมายรวมไปถึงงานเก็บสะสมทุกประเภทที่เปิดบริการแก่สาธารณะ ซึ่งได้แก่วัตถุทางศิลปะ งานช่าง วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือ โบราณคดี รวมไปถึงสวนสัตว์ และสวนพฤกษศาสตร์ แต่ไม่รวมถึงห้องสมุด ยกเว้นเสียแต่ว่าห้องสมุดเหล่านั้น จะมีส่วนจัดแสดงถาวรอยู่ในความดูแล” ในการประชุมครั้งต่อมา ได้มีการเพิ่มเติมคำนิยามข้างต้นนี้ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นกล่าวคือ ในปี พ.ศ.2499 (ค.ศ.1956) ได้นิยามว่า“มิวเซียม” คือสถานที่ใดก็ตามที่มีรูปแบบการบริหารที่มีจุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ การศึกษา และการส่งเสริม ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยวิธีการจัดแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะ เพื่อประโยชน์ด้านสาระและความบันเทิง ที่จะได้รับจากวัตถุต่าง ๆ ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม ได้แก่ สิ่งสะสมประเภทงานศิลปะ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และยังรวมไปถึงสวนสัตวศาสตร์ สวนพฤกษศาสตร์ และสถานที่แสดงสัตว์น้ำ  นอกจากนี้ ห้องสมุดหรือหอจดหมายเหตุที่มีห้องจัดแสดงถาวรก็จัดได้ว่าเป็น “มิวเซียม” ด้วยเช่นกัน ต่อมาในปี พ.ศ.2504 (ค.ศ.1961) ได้มีการเพิ่มเติมอนุสรณ์สถาน อนุสาวรีย์ โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี และสถานที่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่สงวนเข้าไปด้วย เช่น อุทยาน หรือ วนอุทยาน ปี พ.ศ.2517 (ค.ศ.1974) เริ่มระบุเป็นครั้งแรกว่า “มิวเซียม” คือองค์กรก่อตั้งขึ้นมาโดยไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นครั้งแรกที่ระบุถึงหน้าที่ 5 ประการของ “มิวเซียม” คือ รวบรวม สงวนรักษา ค้นคว้าวิจัย เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดงวัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ซึ่งเป็นคำนิยามที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมให้ ศูนย์วิทยาศาสตร์และท้องจำลองเป็น “มิวเซียม” ได้ด้วยเช่นกัน ปี พ.ศ.2532 (ค.ศ.1989) เป็นครั้งแรกที่เริ่มนิยามมิให้ “มิวเซียม” ผูกติดกันรูปแบบของการบริหาร ขอเพียงเป็นสถานที่ถาวรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และให้ความรู้ความบันเทิงแก่สาธารณะก็ถือได้ว่าเป็น “มิวเซียม” นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมศูนย์ศึกษาพันธุ์พืชและสัตว์ และ หน่วยงานที่ทำงานด้านบริหารที่มีคุณสมบัติบางส่วนสอดคล้องกับนิยามที่ ICOM ตั้งไว้ หรือ มีส่วนในการสนับสนุนงาน”มิวเซียม”และบุคลากรของ “มิวเซียม” ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางด้านการวิจัย การศึกษา และ การฝึกอบรม ก็ถือได้ว่าเป็น “มิวเซียม” ได้เช่นกัน ปี พ.ศ.2538 (ค.ศ.1995) มีการเพิ่มเติมหน่วยงานอีก 2 ประเภทคือ หน่วยงานใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ถ้าทำงานเกี่ยวข้องกับ “มิวเซียม” และมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดของ ICOM ก็จัดได้ว่าเป็น “มิวเซียม” และ สถาบันหรือองค์กรใดก็ตาม ที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่แสวงผลกำไร และทำหน้าที่ค้นคว้าวิจัย ให้การศึกษา จัดการฝึกอบรม จัดทำเอกสารวิชาการ และจัดกิจกรรมเกี่ยวข้องกับงาน “มิวเซียม”และ วิชา “มิวเซียมศึกษา” ก็ถือได้ว่าเป็น “มิวเซียม” คำนิยามล่าสุดที่ใช้ในขณะนี้ เป็นคำนิยามของปี พ.ศ.2544 (ค.ศ.2001) มีการเพิ่มเติมหน่วยงานอีกประเภทหนึ่ง คือ ศูนย์วัฒนธรรม หรือ นิติบุคคลใด ที่ทำหน้าที่อนุรักษ์ สืบสาน และ บริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรม ก็ถือได้ว่าเป็น “มิวเซียม” ด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าพิจารณาจากนิยามของ ICOM ในช่วงเวลากว่า 55 ปี (พ.ศ. 2489 – 2544) แล้วจะเห็นว่า ICOM พยายามที่จะนิยามคำว่า“มิวเซียม” ให้ครอบคลุมให้มากที่สุด ในชั้นแรกนั้น คงเน้นไปยังกลุ่มองค์กรที่สะสมวัตถุและจัดแสดงวัตถุแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนั้นรวมไปถึงสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ด้วย ด้วยเหตุว่าเป็นสถานที่ “สะสม” พืชและสัตว์ (จากนิยามปี พ.ศ. 2489 และ 2499) อีก 5 ปี ต่อมาได้เพิ่มเติมหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีศักยภาพเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับพักผ่อนหย่อนใจได้ โดยที่เนื้อหาของสถานที่เองก็จะให้ความรู้เรื่องของธรรมชาติวิทยาและโบราณคดี เช่น อนุสาวรีย์ อนุสรณ์สถาน แหล่งโบราณคดี โบราณสถาน และแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ (จากนิยามปี พ.ศ.2504)  ต่อมาอีก 13 ปี คือปี พ.ศ.2517 คำนิยามเริ่มมีความชัดเจนยิ่งขึ้น และถือได้ว่าเป็นบรรทัดฐานของคำนิยามในการประชุมครั้งต่อ ๆ มาของ ICOM ในครั้งนี้ และได้นิยามเกี่ยวกับวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดแสดงนั้นว่า “วัตถุอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” ซึ่งถือได้ว่าเป็นคำนิยามที่กว้างและครอบคลุมวัตถุหรือหลักฐานทุกประเภทที่จัดแสดงอยู่ใน “มิวเซียม” นอกจากนี้ยังได้ขยายขอบเขตรวมเอาอนุสรณ์สถานที่มีเนื้อหาในเชิงชาติพันธุ์วรรณา และองค์กรต่างๆ ที่จัดแสดงให้ความรู้เรื่องราวที่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น ท้องฟ้าจำลอง เป็นต้น (จากนิยามปี พ.ศ. 2517) จากนั้นต่อมาอีก 15 ปี คือ เริ่มต้นแต่ ปี พ.ศ. 2532 - 2544 ดูเหมือนว่า ICOM จะขยายขอบเขตคำนิยามออกไปอีก โดยในช่วงเวลานี้ มีการประชุมกัน 3 ครั้ง คือ พ.ศ. 2532, 2538 และ 2544 ทั้ง 3 ครั้งนี้ มีการพูดถึงองค์กรที่มีอำนาจบริหาร องค์กร หรือสถาบันที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่หวังผลกำไร หน่วยงานทั้งของภาครัฐ และ เอกชน ศูนย์วัฒนธรรม และนิติบุคคลใดก็ตาม ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้านพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุน การค้นคว้าวิจัย การอนุรักษ์ และการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม และมีคุณสมบัติบางประการ หรือทั้งหมดตามข้อกำหนดของ ICOM ก็ถือได้ว่า องค์กรเหล่านี้ เป็น ”มิวเซียม” ทั้งสิ้น ดังนั้น ความหมายตามรูปคำของ “มิวเซียม” จึงอาจพิจารณาตามแต่ยุคสมัยได้ว่า ในสมัยอาณาจักรอิยิปต์โบราณยุคราชวงศ์ปโตเลมีตอนต้นนั้น การตั้ง “หอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย” (Museum of Alexandria) น่าจะหมายถึง “สถานที่เก็บรวบรวมองค์ความรู้และสรรพวิชาต่าง ๆ” ซึ่งโดยมากแล้วสิ่งของสะสมนั้นมาจากรูปแบบของหนังสือ ดังนั้นในบางครั้งก็จะเรียกว่าหอสมุดแห่งเมืองอเล็กซานเดรียก็มี แต่สำหรับในยุคปัจจุบันนั้น ความหมายของ “มิวเซียม” ได้ขยายความออกไปเป็นอย่างมาก  โดยการนิยามของ ICOM กล่าวคือ จากกรอบแนวคิดที่ว่า “มิวเซียม” เป็น “แหล่งเรียนรู้ที่ได้รับความเพลิดเพลินจากการศึกษาของสะสม” พัฒนามาจนเป็น “แหล่งเรียนรู้และองค์กรที่สนับสนุนการเรียนรู้ ที่มีหน้าที่รวบรวม สงวนรักษา ค้นคว้า เผยแพร่ความรู้ และจัดแสดงเรื่องราวอันเป็นเกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ ที่ทำให้ผู้เข้าชมได้รับความรู้และความเพลิดเพลินใจ” จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ในอนาคต ICOM จะมีการเพิ่มเติมนิยามนี้อีกหรือไม่   แรกใช้คำว่า “มิวเซียม” ในความหมายของ “หอสรรพวิชา” คำว่า “มิวเซียม” ได้ถูกนำมาใช้เรียกสถานที่เก็บสะสมหนังสือและสิ่งของต่าง ๆ ครั้งแรกที่เมืองอเล็กซานเดรียของอาณาจักรอิยิปต์โบราณ เมื่อราว ๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาล โดยพระเจ้าปโตเลมีที่ ๒ โซเตอร์ ได้ทรงสร้าง “หอสรรพวิชา”[8] แห่งเมืองอเล็กซานเดรีย (Museum of Alexandria) เพื่อเก็บงานวรรณกรรมในสมัยไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  ดังนั้น อีกนัยหนึ่งหอสรรพวิชาในที่นี้ก็ทำหน้าที่เป็นหอสมุดด้วยเช่นกัน แนวความคิดสะสมหนังสือนี้ เกิดขึ้นมาจากพระราชดำริของพระเจ้าปโตเลมีที่ ๑ ด้วยความปรารถนาที่จะรวบรวมงานวรรณกรรมของโลกไว้ในเดียวกันคือ ที่เมืองอเล็กซานเดรีย  ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าปโตเลมีที่ ๒ โซเตอร์ จึงทรงสร้างสถานที่เก็บหนังสือที่พระเจ้าปโตเลมีที่ ๑ ทรงสะสมไว้ โดยเรียกสถานที่นั้นว่า “หอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย” จนถึงในรัชสมัยของพระเจ้าปโตเลมีที่ ๓  เล่ากันว่าพระองค์มีวิธีการสะสมหนังสือคือ การยืมมาแล้วคัดลอก โดยทรงส่งพระราชสาสน์ไปยังพระราชาแห่งเมืองต่าง ๆ เพื่อขอยืมหนังสือมาคัดลอก เมืองเอเธนส์เป็นเมืองแรกที่ส่งเอกสารมาให้ ซึ่งเอกสารเหล่านี้จะถูกคัดลอกโดยเจ้าหน้าที่ของหอสมุดและหอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย เมื่อคัดลอกแล้วเสร็จ หอสมุดและหอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรียจะเก็บต้นฉบับไว้ที่หอสมุด และจะส่งสำเนาที่คัดลอกขึ้นมาใหม่กลับคืนไปให้กับเมืองเอเธนส์ เล่ากันว่า เนื่องจากเมืองอเล็กซานเดรีย เป็นเมืองท่าสำคัญของอาณาจักรอิยิปต์โบราณ ดังนั้นจึงมีเรือมาจากทั่วทุกสารทิศ เรือเหล่านี้ ก็ไม่เว้นที่จะถูกสำรวจว่ามีหนังสือหรือบันทึกอะไรที่น่าสนใจพอที่จะคัดลอกเก็บไว้บ้างหรือไม่ และด้วยเหตุที่เป็นสถานที่สะสมหนังสือมากมายหลากหลายสาขาวิชาที่ได้มาจากเมืองต่าง ๆ นี้เอง จึงทำให้เมืองอเล็กซานเดรีย เป็นที่กล่าวขวัญกันว่าเป็นเมืองแห่งวิทยาการ หอสรรพวิชาจึงเป็นที่พบประสังสรรค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกันระหว่างเหล่านักปราชญ์และนักเรียน[9] ด้วยเหตุนี้ หอสรรพวิชาแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย จึงได้กลายเป็นสถาบันทางการศึกษาที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกยุคโบราณ   ความเข้าใจคำว่า “มิวเซียม” ในโลกตะวันออก ด้วยเหตุที่คำว่า “หอสรรพวิชา” หรือ “มิวเซียม” ของกรีก-โรมัน มีใช้กันมานานแล้วในโลกตะวันตก ในความหมายที่เน้นไปยังเรื่องของสถานที่อันเป็นที่สถิตแห่งความรู้ และเป็นสถานที่สำหรับการเรียนการสอนกันระหว่างนักปราชญ์กับลูกศิษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาปรัชญา คำว่า “หอสรรพวิชา” หรือ “มิวเซียม” จึงถูกนำมาใช้อีกครั้งในการเรียกชื่อสถานที่อันทำหน้าที่เสมือนคลังแห่งความรู้ ที่ถ่ายทอดโดยการเก็บสะสมและจัดแสดงวัตถุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์ หรือธรรมชาติวิทยาตั้งแต่ยุคเรเนสซองส์เป็นต้นมา แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า “มิวเซียม” จะถูกจำกัดให้หมายถึง “สถานที่จัดเก็บและแสดงสิ่งของนานาชนิด” เท่านั้น และความคิดเช่นนี้เองได้ส่งผ่านมายังมายังประเทศต่าง ๆ ทางโลกตะวันออก โดยพิจารณาได้จากความหมายของคำว่า “มิวเซียม” ที่ได้ถูกแปลออกมาเป็นภาษาของประเทศนั้น ๆ โดยที่คำที่ผูกขึ้นมาใหม่นี้ ก็ยังคงแสดงให้เห็นถึงกรอบความคิดที่ว่า “มิวเซียม” คือ “สถานที่จัดเก็บและจัดแสดงสิ่งของนานาชนิด”ตัวอย่างเช่น ภาษาจีนกลางบัญญัติว่า “โป๋อู้ก่วน”[10] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนอันมีสิ่งของมากมาย” ภาษาฮินดีบัญญัติว่า “วัสตุสังครหาลัย”[11] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนอันเป็นที่เก็บรักษาวัตถุต่าง ๆ” หรือในภาษาเวียดนามบัญญัติว่า “เวียนบ๋าวตั่ง”[12] ตามรูปศัพท์แปลว่า“เรือนอันเป็นที่เก็บรักษา” หรือในภาษาไทยบัญญัติว่า “พิพิธภัณฑสถาน” ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนอันมีสิ่งของมากมาย” จะเห็นได้ว่าชื่อเหล่านี้อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดที่ว่า “มิวเซียม” หมายถึง สถานที่เก็บหรือรวบรวมวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ทั้งสิ้น ภาษาอื่น ๆ เช่น ภาษาพม่าบัญญัติว่า “เปี๊ยะไต๊”[13] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนสำหรับจัดแสดง” หรือ ภาษามอญบัญญัติว่า “ตั๊กปละ”[14] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนสำหรับจัดแสดง” เช่นกัน ก็ยังคงให้ความรู้สึกว่าเป็นสถานที่สำหรับ “จัดแสดงสิ่งของ” แต่อย่างไรก็ตาม ในภาษาเขมรได้บัญญัติคำว่า “มิวเซียม” ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “สารมณเฑียร”[15] ตามรูปศัพท์แปลว่า “เรือนอันเป็นที่ตั้งแห่งความรู้” ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีความหมายใกล้เคียงกับความหมายดั้งเดิมของ “มิวเซียม” มากที่สุด   ความหมายตามรูปศัพท์ของ “พิพิธภัณฑ์” ถ้าพิจารณาถึงความหมายตามรูปศัพท์แล้ว “พิพิธภัณฑ์” มิได้มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “มิวเซียม” แต่ปัจจุบันนี้ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า “มิวเซียม” คือ “พิพิธภัณฑ์” และ “พิพิธภัณฑ์” คือ “มิวเซียม” ประกอบกับนิยามของ ICOM จึงทำให้กรอบแนวคิดในการนิยามความหมายให้กับคำว่า “พิพิธภัณฑ์” เปลี่ยนแปลงไปจากยุคแรก ๆ ที่เริ่มปรากฏคำนี้เป็นอย่างมาก “พิพิธภัณฑ์” ตามรูปศัพท์แปลว่า “สิ่งของนานาชนิด” คำนี้เป็นการสมาสกันระหว่างคำว่า “พิพิธ” ซึ่งแปลว่า นานาชนิด กับคำว่า“ภัณฑ์” ซึ่งแปลว่าสิ่งของ รากศัพท์ของ ”พิพิธภัณฑ์” มาจากภาษาบาลีคือ คำว่า “วิวิธ” กับคำว่า “ภณฺฑ” รวมกันเป็น “วิวิธภณฺฑ” แปลว่า สิ่งของนานาชนิด อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า “พิพิธภัณฑ์” เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นราว 140 ปีเท่านั้น จากพจนานุกรมไทย-ละติน-ฝรั่งเศส-อังกฤษ ที่ชื่อ “สัพะ พะจะนะ พาสา ไท – Dictionarium Linguae Thai” แต่งโดยชอง-บาตีสต์ ปาเลอกัว เมื่อปี พ.ศ. 2397ไม่ปรากฏคำว่า “พิพิธภัณฑ์” แต่อย่างใด จะมีก็เพียงคำว่า “พิพิธ” ซึ่งหมายถึง สิ่งต่าง ๆ มากมาย[16]   “วัดโพธิ์” หรือ พิพิธภัณฑ์รุ่นแรกแห่งกรุงสยาม (ราว พ.ศ. 2337 – 2400) ถึงแม้จะยังไม่ปรากฏคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในช่วงก่อน พ.ศ.2400 แต่สิ่งก่อสร้างที่ทำหน้าเสมือน “มิวเซียม” ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ตั้งแต่ที่ยังไม่มีคนไทยรู้จักคำว่า “มิวเซียม” และ “พิพิธภัณฑ์” กล่าวคือ ถ้า “มิวเซียม” ในรูปแบบที่ง่ายที่สุดคือ สถานที่สะสมสิ่งของ จัดแสดงสิ่งของ ให้ความรู้ และความเพลิดเพลินใจแล้ว “มิวเซียม” แห่งแรกของประเทศไทยเท่าที่ยังมีหลักฐานเหลืออยู่คือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “วัดโพธิ์” แม้ว่า “วัดโพธิ์” จะเป็นที่กล่าวถึงกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย[17] หรือเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย[18] แต่อันที่จริงถ้าพิจารณาถึงบทบาทและหน้าที่ของวัดโพธิ์แล้ว ดูเหมือนว่าจะเข้าได้ดีกับคำว่า “มิวเซียม” หรือ “พิพิธภัณฑสถาน” ได้ด้วยเช่นกัน ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2332 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มการบูรณะวัดโพธิ์ (สมัยนั้นเรียกวัดโพธาราม) เนื่องจากยามนั้น วัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือได้รับผลกระทบจากสงครามทำให้วัดบางแห่งถูกทิ้งร้างไปบ้าง หรือไม่ก็ขาดการบำรุงรักษาบ้าง ดังนั้นในปี พ.ศ. 2337จึงทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ อัญเชิญพระพุทธรูปสำริดกว่า 1,248 องค์ มาจากเมืองเหนือ เพื่อมาเก็บรักษาไว้ที่วัดโพธิ์ ดังที่ปรากฏเรื่องราวอยู่ใน “จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ 1” ความว่า   “… แลในพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียงนั้น เชิญพระพุทธปติมากรอันหล่อด้วยทองเหลืองทองสำฤท ชำรุดปรักหักพังอยู่ ณะ เมืองพระพิศณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองศุกโขไท เมืองลพบุรี เมืองกรุงเก่า วัดศาลาสี่หน้าใหญ่น้อย พันสองร้อยสี่สิบแปด พระองค์ลงมา ให้ช่างหล่อต่อพระสอ พระเศียร พระหัตถ์ พระบาท แปลงพระภักตร์พระองค์ให้งามแล้ว พระพุทธรูปพระประธานวัดศาลาสี่หน้า น่าตักห้าศอก คืบสี่นิ้ว เชิญมาบุณะปติสงขรณเสรจ์แล้ว ประดิษถานเปน พระประธานในพระอุโบสถ บันจุพระบรมธาตุ์ถวายพระนามว่าพระพุทธเทวปติมากร…”[19]   นอกจาก “การสะสม” พระพุทธรูปดังกล่าวแล้ว ที่วัดโพธิ์แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตกแต่งบริเวณภายในวัดให้เกิด “ความรื่นรมย์” แก่ผู้มาเยือน โดยขุดสระน้ำ ปลูกพรรณไม้ต่าง ๆ และ มีการเขียนเรื่องชาดก 550 ชาติ ตำรายา และฤๅษีดัดตน ไว้ตามศาลาต่าง ๆ ทั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ “ไว้เป็นทาน” แก่ผู้เข้ามาที่วัดโพธิ์[20]  แต่อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของ “การสะสม” ดังที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะให้คนในกรุงเทพฯ มาดูเพื่อชื่นชมความสวยงามของพระพุทธรูปเพียงอย่างเดียว แต่เป็น “การสะสม” เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา กล่าวคือ พระพุทธรูปเหล่านั้น ไม่ได้เกิดจากความคิดที่สะสมความสวยงาม แต่เป็นความคิดที่สะสมสิ่งยึดเหนี่ยวจิตของพุทธศาสนิกชนชาวไทย ในช่วงเวลาแห่งการสร้างชาติ ดังนั้น พระพุทธรูปเหล่านี้ ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนเป็นวัตถุที่จัดแสดงอยู่ที่วัดโพธิ์ แต่เนื่องจากเป็นพระพุทธรูป ดังนั้นจึงยังคงได้รับความเคารพกราบไหว้จากผู้ที่มาวัดโพธิ์อยู่เสมอมา เปรียบเสมือนพระพุทธรูปเหล่านั้นยังคงทำหน้าที่เป็นที่พึ่งทางใจของพุทธศาสนิกชนอยู่นั่นเอง ซึ่งแตกต่างพระพุทธรูปต่าง ๆ ในยุคปัจจุบันนี้ ที่ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานต่าง ๆ โดยได้รับการปฏิบัติเหมือน “วัตถุจัดแสดงชนิดหนึ่ง” แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ก็อาจเป็นเพราะวัตถุประสงค์ในเรื่องความปลอดภัยของตัวโบราณวัตถุเองก็เป็นได้ คำที่น่าสนใจในจารึกดังกล่าวคือ คำว่า “ไว้เป็นทาน” ซึ่งแสดงว่า รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้วัดแห่งนี้ เป็นสถานที่สำหรับประชาชนได้มีโอกาสเข้ามากราบนมัสการพระพุทธรูปสำคัญ ๆ ของประเทศไทยกว่า 1,248 องค์ และได้เข้ามาแสวงหาความรู้ทางด้านวรรณกรรมทางพุทธศาสนาและวรรณกรรมสมัยนิยม โดยผ่านทางโคลงกลอน และภาพจิตรกรรมฝาผนังต่าง ๆ คือจากนิทานชาดกและรามเกียรติ์ และยังสามารถเข้ามาศึกษาวิชาแพทย์แผ่นโบราณได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับความรื่นรมย์และความเพลิดเพลินใจ เมื่อเดินชมพรรณไม้และสระน้ำที่สร้างไว้ภายในวัดโพธิ์ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้ วัดโพธิ์ จึงสมควรที่จะถูกขนานนามว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของกรุงสยาม” ถึงแม้จะพ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มาแล้วก็ตาม แต่การทำหน้าที่สะสมความรู้ของวัดโพธิ์นั้น ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ โดยมีพระราชประสงค์คือ ทรงต้องการให้วัดโพธิ์เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชน ไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการมีการรวบรวมและเลือกสรรตำรับตำราต่าง ๆ มาชำระแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้จารึกไว้บนแผ่นศิลา แล้วนำไปประดับไว้ในบริเวณวัดพระเชตุพนฯ[21] โดยมีเนื้อหาวิชาการต่าง ๆ ที่จำแนกได้พอสังเขปเป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้คือ ตำรายา ตำราฉันท์-กลอน-กลบท ประวัติวัดพระเชตุพน สุภาษิต ศาสนา การปกครองอาณาจักรและศาสนจักร วรรณคดี อนามัย เบ็ดเตล็ด และประเพณี[22] หรือ ถ้าจะจำแนกตามหลักวิชาบรรณารักษศาสตร์ระบบดิวอี้แล้ว ก็อาจจำแนกได้เป็น หมวดปรัชญา หมวดพุทธศาสนา หมวดสังคมศาสตร์ หมวดมานุษยวิทยา หมวดสัตววิทยา หมวดการแพทย์ หมวดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม และ หมวดวรรณกรรม[23] ดังนั้น ถ้าอาศัยนิยามของคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ในปัจจุบันแล้ว วัดพระเชตุพนฯ หรือ วัดโพธิ์ ถือได้ว่า เป็น “พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของกรุงสยาม” ถึงแม้ว่าในสมัยนั้น ยังไม่มีคำว่า “มิวเซียม” หรือ“พิพิธภัณฑ์" ใช้กันก็ตาม และที่สำคัญคือ วัดโพธิ์เปิดเป็นที่สาธารณะ ซึ่งจะต่างจาก “พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์” ที่เป็น “พิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์” ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป     “พระที่นั่งราชฤดี” หรือ พิพิธภัณฑ์รุ่นที่ 2 แห่งกรุงสยาม (ราว พ.ศ. 23?? – 2400) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งสำหรับเสด็จประทับเป็นที่รโหฐาน และจัดตั้งสิ่งของต่างๆ ขึ้นที่ริมพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางด้านตะวันออก ชื่อว่า “พระที่นั่งราชฤดี”[24] จึงกล่าวได้ว่า พระที่นั่งราชฤดีนี้คือ “พิพิธภัณฑ์รุ่นที่ 2 แห่งกรุงสยาม” เมื่อเซอร์จอห์น เบาริง อัครราชฑูตอังกฤษเดินทางมาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี เมื่อ พ.ศ.2398 รัชกาลที่ 4 ได้โปรดฯ ให้เฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ที่พระที่นั่งราชฤดีแห่งนี้[25] หลังจากที่เซอร์จอห์น เบาริง ได้เข้าเฝ้าที่พระที่นั่งราชฤดีแล้ว จึงได้บันทึกสิ่งที

เมื่อพิพิธภัณฑ์มาเคาะประตูโรงเรียน : ชุดการสอนในฐานะหนทางแห่งการเรียนรู้จากโคลัมเบีย

20 มีนาคม 2556

แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ คือสถานที่สำหรับกอบกู้และรักษาสิ่งของจากอดีต แต่ขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์ก็ต้องพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับโลกสมัยใหม่ และเปลี่ยนแปลงบทบาทตนเองจากผู้รับและรักษา "ของเก่า" ไปสู่การทำงานเชิงรุกมากขึ้น และหนึ่งในคืบก้าวที่สำคัญ คือ การทำงานร่วมกับสถานศึกษา จะเห็นได้ว่าระบบการเรียนการสอนทางสังคมศาสตร์ในปัจจุบันกำลังเดินสู่หนทางวิกฤต นับเป็นปีๆ ที่การท่องจำชื่อ วันเวลา และเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต ทำให้เด็กนักเรียนขาดความรู้ความเข้าใจที่จะเชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ ขาดการตอบสนองหรือการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมรอบตัว พวกเขาจึงกลายเป็นผู้รับข้อมูลที่รอคอยเพียงวันสอบไล่เท่านั้น การศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่เพียงแค่ให้เด็กๆ รู้เรื่องราวในอดีต แต่จะทำอย่างไรให้พวกเขาตระหนักถึงอดีตที่อยู่รอบตัวของเขา การศึกษาที่มุ่งเน้นแต่ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ควรถูกแทนที่ด้วยกิจกรรมที่ให้เด็กเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมโดยตรง การศึกษาชุมชนสามารถกระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะวิเคราะห์และมองย้อนกลับไปยังชุมชนตนได้ พวกเขาจะเข้าใจว่าเรื่องราวจากอดีตมีผลต่อปัจจุบันอย่างไร ในการนี้ครูสามารถใช้โบสถ์ วัด พิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่เก่าแก่ของชุมชน มาเป็นแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ของนักเรียนได้ กิจกรรมนอกห้องเรียนเปิดโอกาสให้เด็กๆ สัมผัสกับสภาพรอบตัว อันจะช่วยพัฒนากระบวนการคิดจากข้อเท็จจริงไปสู่ความคิดสร้างสรรค์และจากการสังเกตการณ์ไปสู่การพรรณนา พิพิธภัณฑ์สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ทางสังคม โดยมุ่งเน้นการสำรวจด้วยตนเองมากกว่าการสั่งสอนให้เด็กเป็นผู้รับแต่เพียงถ่ายเดียว ในขณะเดียวกันโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์สามารถใช้เป็นอุปกรณ์เสริมสร้างความรู้ เพราะสิ่งของเหล่านั้นคือตัวแทนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับธรรมชาติในอดีต องค์ความรู้อันทรงคุณค่าเหล่านี้ไม่สมควรถูกเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่ควรมีบทบาทเข้ามาพัฒนาทัศนคติและทักษะของคนในชุมชนไปพร้อมกัน ตัวอย่างของการนำพิพิธภัณฑ์เข้ามาสู่โครงการเรียนรู้ของโรงเรียน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ Museo del Oro สถานที่เก็บรักษาภาชนะทองคำในสมัยโบราณจากประเทศโคลัมเบีย พิพิธภัณฑ์เข้ามาปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่เกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการวิเคราะห์และตีความมากขึ้น อีกทั้งยังต้องการหนีห่างออกจากทัศนคติเดิมๆ ที่เน้นแต่เพียงเรื่องราวของวีรบุรุษและเหตุการณ์สำคัญๆ แต่เชื้อเชิญให้ปัจเจกบุคคลตระหนักว่าตัวเขาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และมีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นของเขาเอง โครงการ "เมื่อพิพิธภัณฑ์มาเคาะประตูโรงเรียน" (The Museum Comes to Your School Project) จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นโครงการที่ใช้ชุดการเรียนรู้ที่ออกแบบเฉพาะ มากระตุ้นทักษะการสำรวจของเด็กนักเรียนเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ตามวิธีการวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการทำงานเป็นกลุ่ม ปลูกฝังความสามัคคีและฝึกฝนการร่วมมือกันในสังคมเล็กๆ ของพวกเขา และแบบฝึกหัดนี้เองจะช่วยให้เด็กนักเรียนเรียนรู้คุณค่าในโลกเก่าของพวกเขาที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน โดยมีชุดการสอนเป็นแบบฝึกหัดในห้องเรียน แต่ละชุดการสอนบรรจุด้วยตัวอย่างของวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ของจริง, คู่มือประกอบคำอธิบาย, โปสเตอร์ ,กติกา, เกมและกิจกรรมล่วงเวลา ตัวอย่างชุดการสอนที่เกี่ยวกับเมืองโบโกต้า ถิ่นอินเดียแดงยุคโบราณ ประกอบด้วย วัตถุ - ตัวอย่างของวัสดุสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสินค้า เช่น ชั่งถ่วงน้ำหนัก สร้อยคอ ตุ้มหู เครื่องประดับ เครื่องสังเวยเทพเจ้า กระดูก เครื่องดินเผา เครื่องมือหิน เปลือกหอย เครื่องทอง และเครื่องใช้โลหะต่างๆ เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้นำมาจากแหล่งโบราณคดีชื่อว่า Muisca เป็นชนเผ่าโบราณเคยอาศัยอยู่ในบริเวณที่แถบประเทศโคลัมเบียเมื่อประมาณหนึ่งพันปีแล้ว (ค.ศ. 900 - ค.ศ. 1500) รวมถึงโบราณวัตถุในอารยธรรมยุคก่อนโคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกาจากแหล่งโบราณคดีอื่นๆ มาใช้ประกอบการสอนในห้องเรียน วัตถุโบราณเหล่านี้ได้กระตุ้นความสนใจของเด็ก และการศึกษาสิ่งประดิษฐ์ที่เห็นอยู่ข้างหน้าเพื่อค้นหาผู้สรรค์สร้างวัตถุ ครั้งนี้เด็กๆ ไม่เพียงแต่สามารถจับต้องวัตถุได้เท่านั้น แต่ยังสามารถออกแบบนิทรรศการของพวกเขาได้ ด้วยอุปกรณ์ที่นำมาจากบ้าน หรือที่เขาคิดสร้างสรรค์เอง คู่มือ - คู่มือที่นำมาประกอบพร้อมวัตถุโบราณ จะทำให้เด็กทราบว่ายังมีความรู้อีกมากมายเกินกว่าที่ตาเห็นอันน่าค้นหาจากสิ่งประดิษฐ์จากยุคอดีต ข้อมูลเหล่านี้แสดงถึงความหมายของวัตถุและการใช้งานของมันในพิธีกรรมตามตำนาน หรือเทพนิยายต่างๆ อาทิ คติการสร้างโลก กำเนิดมนุษย์และสัตว์ การเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นต้น ในหน้าสุดท้ายของคู่มือจะมีคำแนะนำถึงกิจกรรมต่อเนื่องแก่ครูเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมและความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนต่อไป ทั้งการอ่านและการเขียน ทำให้เด็กสามารถสร้างโลกแห่งจินตนาการของพวกเขาได้จากเรื่องราวในคู่มือดังกล่าว โปสเตอร์ - สิ่งของทุกอย่างในชุดการสอน รวมทั้งภาพโปสเตอร์ล้วนพัฒนาความสามารถของเด็กนักเรียนให้เปิดรับและคัดสรรความรู้จากสิ่งที่ตาเห็น อันเป็นขั้นแรกสุดของการเรียนรู้โลกใบนี้ กิจกรรม - ธรรมชาติของเด็กทุกคนคือนักสำรวจ ดังนั้นกิจกรรมหลักในคู่มือจึงให้นักเรียนเล่นบทบาทสมมุติเป็นนักค้นคว้า รู้จักเปรียบเทียบประเพณีปัจจุบันกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และค้นหาโลกสมัยใหม่ที่อาจพบได้ในประวัติศาสตร์ที่เขาเรียนอยู่ โดยครูจะแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มประมาณ 4 - 6 คน ให้สำรวจวัตถุโบราณที่มอบหมาย กระตุ้นให้อภิปราย ถกเถียงอย่างอิสระในกลุ่ม เพื่อแสวงหาความหมายและวัตถุชิ้นน่าจะถูกใช้งานอย่างไร รวมถึงเสาะหาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของจากอดีตกับที่เห็นในชีวิตประจำวัน จากจุดนี้เด็กนักเรียนเริ่มเรียนรู้ที่จะเปรียบเทียบวัฒนธรรมของพวกเขาเข้ากับที่เคยเกิดขึ้นในอดีตด้วยตัวเขาเอง อาจกล่าวได้ว่าหลักเปรียบเทียบเป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง นอกจากเด็กจะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่งแล้ว พวกเขายังเรียนรู้ว่าผู้คนในสถานที่ต่างกัน ในเวลาต่างกันมีการแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือผลจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ผู้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน เกมและกิจกรรมล่วงเวลา - เกมการละเล่นนอกจากนำความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่เด็กๆ แล้วยังสามารถเป็นสื่อการสอนอย่างดี ตัวอย่างเกม เช่น ตัวต่อ ภาพปริศนาสื่อถึงสัตว์ในยุคโบราณ อันเป็นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมของชนเผ่าดั้งเดิม เป็นต้น โครงการ "เมื่อพิพิธภัณฑ์มาเคาะประตูโรงเรียน" ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เด็กนักเรียนให้ความสนใจและตอบสนองต่อวัฒนธรรมดั่งเดิมของชุมชนพวกเขามากขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้เด็กบางคนที่ฐานะไม่เอื้อให้ไปพิพิธภัณฑ์ได้ใกล้ชิดโบราณวัตถุของจริง พวกเขาต่างตอบสนองด้วยความสงสัยใคร่รู้ และค้นหาคุณค่าของประวัติศาสตร์พื้นบ้านที่อยู่รายล้อมตัวเขามากขึ้น ดังนั้น การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไม่อาจจำกัดเพียงแค่ตำราเรียน แต่การก้าวหาพันธมิตรจากโรงเรียนไปสู่พิพิธภัณฑ์ และสามารถพัฒนาทักษะความรู้ การคิดพิเคราะห์ของเด็กๆ นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ พัฒนาทัศนคติและคุณค่าของครูและนักเรียนต่อประวัติศาสตร์ชุมชนอันเป็นรากฐาน เพื่อหยั่งรู้ถึงอนาคต ** แปลและเรียบเรียงจาก  Ivonne Delgado Ceron & Clara Isabel Mz- Recaman, "The Museum comes to school in Columbia: teaching package as a method of learning," The Presented Past:  heritage, museums and education. Peter G. Stone and Brian L. Molyneaux (ed.), (New York; London: Routledge, 1994.), pp. 148 - 158.

เขาสร้าง "พิพิธภัณฑ์ชุมชน" กันอย่างไร ในเคปทาวน์

20 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์เขตหกใน Central Methodist Mission Church เปิดทำการในเดือนธันวาคม 1994 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สืบเนื่องจากโครงการศึกษาประวัติศาสตร์ในเขตหก ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการได้ผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากความทรงจำที่ได้เก็บรวบรวม และกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์และความเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง ผลงานดังกล่าวเป็นผลมาจากความเพียรพยายามของแผนงาน 5 ปีในการจัดตั้งมูลนิธิพิพิธภัณฑ์เขตหก โดยเริ่มต้นจากการจัดตั้งคณะกรรมการ Hands Off District Six (HODS) คณะกรรมการดังกล่าวมาจากนโยบายการเมืองท้องถิ่นภาคประชาชน และจัดตั้งขึ้นในแถบกลางเมืองเคป ทาวน์ เมื่อปี 1989 ในครั้งนั้น มีการรณรงค์ต่อต้านการพัฒนาเมืองโดยนายทุน ผลของการรณรงค์ในครั้งดังกล่าวนำไปสู่การวางแผนพัฒนาเขตหกเพื่อคนชนชั้นกลางที่มาจากกลุ่มเชื้อชาติที่หลากหลาย ความพยายามเช่นนี้ถือเป็น "การปฏิรูป" การเลือกปฏิบัติทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่เคยเป็นมา มูลนิธิมีรูปแบบเป็นองค์กรโดยเอกชนและดำเนินการเป็นโครงการวัฒนธรรม ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ถึง 1990 โดยวัตถุประสงค์หลักคือ การเก็บรักษาความทรงจำของเขตหก อันเป็นพื้นที่ชั้นในของเมืองเคป ทาวน์ และตั้งอยู่ใกล้กับเทเบิล เมาท์เทน (Table Mountain) บริเวณดังกล่าวมีการย้ายถิ่นของประชากรไม่ต่ำกว่า 60,000 คน ในปี 1992 มูลนิธิจัดนิทรรศการภาพถ่ายณ โบสถ์เซ็นทรัล เมโธดิสท์ มิซซัง (Central Methodist Mission Church) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผู้ที่เคยอาศัยในพื้นที่ได้รวมตัวกันในโบสถ์ และใช้ที่นั่งไม้แถวยาวจัดแสดงภาพถ่ายที่ทรงคุณค่า ภาพขยายใหญ่ฉายผ่านสไลด์ รวมทั้งภาพยนตร์เก่าบางส่วน นำพาทุกคนย้อนกลับไปยังอดีต กิจกรรมดังกล่าวเป็นไปเพื่อการรวบรวมและการย้อนหาเอกภาพของเขตหกผ่านความทรงจำ จนในที่สุด พิพิธภัณฑ์เขตหกได้ถือกำเนิดในอีกสองปีต่อมา งานวัฒนธรรมของมูลนิธิพิพิธภัณฑ์เขตหกยังรวมถึงการเรียกร้องพื้นที่จากเทศบาล ภายใต้รัฐบัญญัติสิทธิที่ดิน การเรียกร้องดังกล่าวมาจากการรวมตัวของคนที่เคยอาศัยในเขตหกและสมาคมภาคประชาชนเขตหก จุดประสงค์สำคัญคือการรวบรวมผู้คนและผนึกความเป็นชุมชนเขตหกขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากในปี 1950 ชุมชนได้รับผลกระทบจากรัฐบัญญัติจัดการพื้นที่ กลุ่ม "คนขาว" ได้เรียกร้องการเข้าครอบครองพื้นที่ในเขตหกเมื่อปี 1966 การเคลื่อนย้ายของผู้คนออกจากพื้นที่ในช่วงทศวรรษ 1970 ถึงต้นทศวรรษ 1980 ได้ทำลายสายใยทางสังคมที่มีมา หรือทำลายกระทั่งอาคารและภูมิทัศน์ สิ่งที่เหลือไว้ก็เพียงมัสยิดและโบสถ์เท่านั้น ในระหว่างกระบวนการเรียกร้องที่ดิน พิพิธภัณฑ์ได้ตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องว่า การฟื้นฟูความเป็นชุมชนและพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและกายภาพขึ้นอีกครั้งจะสามารถดำเนินการได้อย่างไร ทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพื้นที่เมือง รวมถึงประวัติศาสตร์ความทรงจำ พิพิธภัณฑ์เขตหกยังเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสมานฉันท์และสัจจะ (Truth and Reconciliation Commission) ที่ต้องการบันทึกประสบการณ์อันเจ็บปวด แต่กิจกรรมเช่นนี้ไม่ได้ดำเนินไปด้วยแนวคิดของการ "ฝังใจเจ็บ" หากแต่เป็นการใช้มุมมองเชิงศีลธรรมเพื่อการเยียวยาและการให้อภัย พิพิธภัณฑ์ชุมชน (A community-based museum) พิพิธภัณฑ์เขตหกมีลักษณะคล้ายคลึงกับโครงการพิพิธภัณฑ์ชุมชนอื่นๆ ในเมืองเคป ทาวน์ ไม่ว่าจะเป็น ลเวนเดิล, ซอมเมอร์เซ็ท เวสท์, ครอสโรดส์ และ โปรที วิลเลจ หรือ อิสแบงก์ในอีสต์ลอนดอน และ เซ้าท์ แอนด์ในพอร์ต อลิสเบธ โครงการเหล่านี้อยู่ชายขอบหรือนอกอาณาจักรของโครงสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและมรดกของชาติ หรือกระทั่งการสนับสนุนของงบประมาณแผ่นดินสำหรับงานศิลปะ วัฒนธรรม และมรดก แต่ด้วยลักษณะที่มิได้พึ่งพิงต่อทรัพย์สินและงบประมาณของมรดกแห่งชาติ และอาศัยทุนบริจาค โครงการพิพิธภัณฑ์ชุมชนกลับเป็นเวทีวัฒนธรรมอิสระ และท้าทายต่อวัฒนธรรมประชาในระดับกว้าง ในประเทศแอฟริกาใต้ พิพิธภัณฑ์ชุมชนได้สถาปนาตนขึ้นมาในฐานะดังกล่าว ด้วยงานวัฒนธรรมของพิพิธภัณฑ์เขตหกอย่างแข็งขัน จริงๆ แล้ว พิพิธภัณฑ์ชุมชนปรากฏมากขึ้นในส่วนต่างๆ ของประเทศแอฟริกาใต้ เนื่องเพราะต้นแบบพิพิธภัณฑ์เขตหกที่ทำให้พวกเขาเห็นความสำคัญของ "พิพิธภัณฑ์ชุมชน" และเกิดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะแบบ การทำความเข้าใจต่อข้อถกเถียงและข้อขัดแย้งที่สัมพันธ์กับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประเภท "ชุมชน" จะทำให้เราเห็นเหตุผลและลำดับของการขยายตัวขององค์กรดังกล่าวในภูมิทัศน์วัฒนธรรมของประเทศแอฟริกาใต้ ด้วยเหตุนี้ เราจะกลับไปสำรวจสิ่งที่เรียกว่า "ชุมชน" รวมถึงกระบวนการ รูปแบบ และการสร้างอัตลักษณ์ และวิธีการสร้างโครงการทางวัฒนธรรม การสืบค้นดังกล่าวไม่ใช่เพียงการพยายามนิยามประเภทองค์กรในวงศ์วานพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่การริเริ่มสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองเคป ทาวน์ พิพิธภัณฑ์เขตหกมีสถานภาพที่เป็นอิสระ นั่นหมายถึง พื้นที่ที่สามารถตั้งคำถามและหาคำตอบของสิ่งต่างๆ ในยุคหลังการเลือกปฏิบัติในทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้เป็นการพิจารณาความสัมพันธ์และกรอบแนวคิด รวมทั้ง พิพิธภัณฑ์ได้กลายเป็นพื้นที่ของการวิจัย การจัดแสดง และการให้ความรู้ ด้วยชุดความรู้และแบบแผนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย นิทรรศการที่เปิดตัวพร้อมกับการเปิดประตูพิพิธภัณฑ์สู่สาธารณชนในปี 1994 ได้แก่ "ถนนหลายสายสู่การย้อนมองเขตหก" เศษซากและสิ่งที่เหลืออยู่ของพื้นที่เขตหก ยังรวมถึงการใช้เอกสาร รูปถ่าย บันทึกความทรงจำ และวัตถุที่หลากหลาย แทรกสลับแผนที่อันสีสรรร้อนแรงในนิทรรศการ ป้ายชี้เส้นทางเก่าแขวนตามเสาในตำแหน่งเดิม ป้ายเหล่านี้มาจากทีมงานที่เคยทำหน้าที่ทำลายอาคารในเขตหก หากแต่พวกเขาเก็บไว้ส่วนตัว ป้ายที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เหล่านี้เป็นวัตถุที่ทำให้เราย้อนพินิจถึงเขตหกอย่างเป็นรูปธรรม ทิวแถวของภาพถ่ายผู้คนที่เคยอาศัยขนาดใหญ่พิมพ์ลงพลาสติกขาวขุ่น และแขวนตามเสาที่เรียงราย ผู้ชมจึงเฝ้ามองตามจังหวะที่ต่างกันไปบนแผนที่ ห้องย่อยต่างๆ จัดแสดงภาพถ่ายจากการบริจาคของผู้อาศัยเดิม เนื้อหาของภาพทำหน้าที่เป็นปากคำของวิถีชีวิตทางสังคมและการแสดงออกทางวัฒนธรรมในเขตหก และเมื่อเดินทางถึงปลายทางของแผนที่ ตู้ใสขนาดใหญ่บรรจุดินและหินจากเขตหก กลับเผยให้เห็นชิ้นส่วนจากการขุดค้นที่สัมพันธ์กับชีวิตในครัวเรือน ทั้งขวด เศษหม้อ ไห แก้ว เครื่องครัว และของเล่นเด็ก เมื่อพิจารณาสิ่งจัดแสดงเหล่านี้ ทั้งวัตถุและเอกสารสร้างที่กู้พื้นที่เขตหกกลับคืนมา พิพิธภัณฑ์สถาปนาตนขึ้นในฐานะ "โบราณคดีของความทรงจำ" ซึ่งถือเป็นการขุดค้นสายใยของสิ่งที่จับต้องเข้ากับภูมิทัศน์ทางสังคมวัฒนธรรมของเขตหกในห้วงภาษาแห่งจินตนาการ การลงรากปักฐานใน "พื้นที่ที่ไม่ได้ถูกทำลาย" ของโบสถ์แห่งอิสรภาพเดิม (Freedom Church) สถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ปฏิบัติศาสนพิธีของทายาททาสและทาสี และต่อมา ในฐานะฐานที่มั่นของผู้เรียกร้องสิทธิทางการเมือง ยังให้ชี้เห็นถึงชั้นทับถมของประสบการณ์ ทั้งความหมายและการตีความ กระทั่งเป็นโอกาสการเยียวยา "ชุมชนที่มล้างไป" ของเขตหก ฉะนั้น คงไม่ต้องแปลกใจแต่ประการใด หากเมื่อผู้ชมจำนวนมากเรียกพิพิธภัณฑ์ด้วยชื่อ "เขตหก" ซึ่งมีความหมายถึงกระบวนการสร้างความทรงจำและการรำลึกถึง พิพิธภัณฑ์ได้สร้างพื้นที่สำหรับชุมชนในการรวมตัวและแบ่งปันประสบการณ์และความทรงจำร่วมกัน การกระทำและกระบวนการเช่นนี้ดำเนินไปเพียงชั่วยาม หากแต่เสียงของการเล่าขานจะติดตรึงอยู่ในห้องต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ หรือเรียกว่า "พยานของเรื่องเล่าที่ทรงคุณค่าแต่กลับไม่มีใครพูดถึง" เสียงที่เปล่งออกเช่นนี้ได้มอบนัยสัมพันธ์กับถิ่นที่ของเขต พิพิธภัณฑ์จึงแสดงตัวตนเฉกเช่น "พื้นที่สาธารณะของการปฏิสัมพันธ์" สถานที่ "ของผู้คนที่ตอบสนองต่อเขตหก" ให้ก่อเกิดเป็น "เรื่องราวและสายใย" ของตัวมันเอง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้กลายเป็นปฐมบทของขบวนการพิพิธภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ และการเมืองของความทรงจำ พื้นที่ต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์จะมีข้อถกเถียงและข้อโต้แย้ง อันถือเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์สังคม และชีวิตทางการเมืองในเขตหก ประว้ติศาสตร์ท้องถิ่นกลับสะท้อนอดีตของชาติในการจัดการทางสังคมของเคป ทาวน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ของ "การเคลื่อนย้ายถิ่นแกมบังคับ" พิพิธภัณฑ์เขตหกกลายเป็นสัญลักษณ์อ้างอิงประสบการณ์ของการย้ายพื้นที่ในบริเวณอื่นๆ ของเคป ทาวน์ และของประเทศแอฟริกาใต้ และยังหมายความถึงกระบวนการเรียกร้องที่ดินของเขตหก พิพิธภัณฑ์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทุ่มเถียงถึงอนาคตของเมืองเคป ทาวน์ อันถือเป็นกระบวนการภาคประชาชนและปฏิบัติการทางสังคมในพื้นที่เมือง การดำเนินการที่ทรงพลังมากที่สุดของพิพิธภัณฑ์เขตหกได้แก่ การสร้างเวทีประชาชนเกี่ยวกับการจัดการที่ดิน ในปี 1997 ศาลการเรียกร้องที่ดิน (Land Claims Court) จัดการพิจารณาคดีเป็นพิเศษในพิพิธภัณฑ์เพื่อการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างแผนการพัฒนาที่ดินของรัฐบาลท้องถิ่นและเอกชน นั่นหมายถึง การทำให้ข้อเรียกร้องของเอกชนเป็นที่รับรู้ และอยู่ในการพิจารณาของรัฐบาลท้องถิ่น ในปีถัดมา อาคารพิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่เป็นพยานของการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกลาง เมือง และคณะกรรมการผลประโยชน์ (Beneficiary Trust) สาระสำคัญคือ กระบวนการแก้ปัญหากรณีพิพาทในการจัดการที่ดินจะต้องเปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนมีส่วนร่วม พิพิธภัณฑ์เขตหก พื้นที่สายพันธุ์ใหม่ การจะทำความเข้าใจพิพิธภัณฑ์เขตหกจะต้องมองเป็น "พื้นที่สายพันธุ์ใหม่" พื้นที่ที่มีความเป็นวิชาการ งานวิจัย คลังสะสมและสุนทรียะของพิพิธภัณฑ์ ขั้นตอนการทำงานอยู่ภายใต้การทำงานร่วมกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการและผลตอบแทน รวมไปถึงความเป็นพื้นที่ทางการเมืองในการเรียกร้องที่ดิน ทั้งเชิงสัญลักษณ์และปฏิบัติการ พิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมเอาพลังความคิดและพละกำลังของผู้คนที่หลากหลาย นักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ชาวชุมชนบางคนที่มองตนเองเป็น "นักเรียกร้องระดับหัวเรือใหญ่" ที่ไม่ชอบพิธีรีตองอย่างนักวิชาการ และคนอีกจำนวนมากที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ ผู้ทำหน้าที่เรียกร้องอย่างค่อยเป็นค่อยไปอยู่นับทศวรรษ ด้วยรากเหง้าของพวกเขาในองค์กรทางการเมืองและวัฒนธรรมในเขตหก โครงสร้างส่วนต่างๆ และกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง การแลกเปลี่ยนและส่งผ่านความรู้และการแสดงออกทางวัฒนธรรม และร้อยรัดเอาผู้คนไปในจังหวะของการทำงาน ขุมพลังทางปัญญาจากสมาชิกที่หลากหลายได้ฝังลึกอยู่ในหัวใจของปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์และการวิพากษ์วิจารณ์ของพิพิธภัณฑ์เขตหกแห่งนี้ นิทรรศการเรื่อง ขุดให้ถึงรากเหง้า (Digging Deeper) เปิดแสดงในโบสถ์แห่งเสรีภาพ (Freedom Church) ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ ในปี 2000 นำไปสู่วิธีการจัดแสดงและนัยสำคัญต่อวัฒนธรรมประชาที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น นิทรรศการดังกล่าวตั้งคำถามต่อผู้ที่เข้าชมด้วยความไม่ชัดเจนและซับซ้อนในการพูดถึงเขตหก เพื่อนำไปสู่ความรู้สึกอึดอัดและคลางแคลงใจ จนปรารถนาที่จะบอกเล่าเรื่องเกี่ยวกับเขตหกด้วยตนเอง แต่สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างนิทรรศการทั้ง 2 ชุด คือ "ถนนหลายสาย" เน้นการพูดถึงพื้นที่ต่างๆ และชีวิตของผู้คนในความเป็นชีวิตสาธารณะ ในขณะที่ "ขุดให้ถึงรากเหง้า" กลับมุ่งไปยังเรื่องส่วนตัวและพื้นที่เฉพาะของบุคคล ในการออกแบบ ขุดให้ถึงรากเหง้า พิพิธภัณฑ์เลือกเจาะลึกไปในรายละเอียดของคลังสะสม และเลือกตั้งคำถามที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเขตหก ณ ทางเข้าของนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ "ยิง" ประเด็นคำถามที่สร้างความอึดอัดต่อให้กับผู้ที่เข้าชม "เราปรารถนาที่จะค้นหาและทำความเข้าใจกับความทรงจำของเรา ความสำเร็จ และความอัปยศ ทั้งห้วงเวลาแห่งชัยชนะ ความกล้าหาญ และความรัก แต่ขณะเดียวกัน ช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดที่อัดแน่นอยู่ในใจเรา" เมื่อกล่าวถึงการออกแบบ คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์และผู้ออกแบบ เพ็กกี้ เดลพอร์ต (Peggy Delport) กำหนดแนวคิดในการออกแบบโดยใช้ความละเอียดอ่อนและความหยาบของวัสดุในงานภาพ ภาพที่ขยายใหญ่ติดตั้งบนกำแพงฟื้นบรรยากาศชีวิตในอดีต ขณะที่ป้ายอธิบายประวัติศาสตร์ ระยะเวลา ลำดับแผนที่ และข้อความชีวประวัติที่มาจากการวิจัยประวัติศาสตร์คำบอกเล่า เหล่านี้สะท้อนพัฒนาการทางวัฒนธรรม วิถีคิด และการเมืองที่ซับซ้อนของเขตหก ป้ายผ้าที่เขียนขึ้นเองอย่างง่ายเชื่อมโยงสถาบันของชีวิตสาธารณะ ทั้งศาสนาและการเมือง การศึกษาและวัฒนธรรม เสียงปล่อยตามโดมเสียงหลายจุดสะท้อนเสียงของผู้เล่า อันถือเป็น "สาระถัตหลักและแหล่งชีวิตของพิพิธภัณฑ์" การจัดสรรห้องเฉพาะในนาม "ห้องโนมวูโย" (Nomvuyo’s Room) สำรองไว้เพื่อการวิจัยชีวประวัติ ซึ่งเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ที่ยังชีวิตให้แก่คนมากมายจากความยากจน แผนที่ เสื้อผ้า ป้ายบอกทางตามท้องถนน และภาพบุคคลที่ขยายใหญ่ ยังคงเป็นเนื้อความสำคัญของนิทรรศการ ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ประเด็นการพูดคุยเพื่อการอนุรักษ์และการจัดสรรพื้นที่ นอกไปจากงานวิจัยและงานภัณฑารักษ์ที่ได้กำหนดไว้ พิพิธภัณฑ์ยังเปิดโอกาสให้ศิลปิน นักวิจัย อาสาสมัคร กลุ่มจัดตั้ง และผู้คนที่เคยอาศัยในเขตหกเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ กรอบการทำงานคือ การสร้างนิทรรศการมาจากประสบการณ์เชิงประจักษ์ และทำหน้าที่ร้อยรัดส่วนต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน พิพิธภัณฑ์จะเป็นพื้นที่ของการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถาม จนเกิด "พื้นที่ของชีวิตและพลังสร้างสรรค์" ในขณะเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ปฏิเสธความเป็น "วัตถุที่แน่นิ่ง รอเพียงการโลมเลียจากการเฝ้ามอง หากแต่ห่างไกล" ฉะนั้น พิพิธภัณฑ์ต้อง "วิวัฒน์อย่างต่อเนื่องด้วยผู้ชมของพิพิธภัณฑ์" ด้วยเหตุนี้ พิพิธภัณฑ์เขตหกจึงมิใช่พื้นที่ที่เดียงสา และไม่ใช่พื้นที่ที่สร้างความจริงเดี่ยวๆ หากแต่พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่อิสระของการปรับเปลี่ยนด้วยกระบวนการ "ไป-กลับ" ระหว่างพิพิธภัณฑ์ ผู้ชม และเจ้าของวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้คือสาระของพิพิธภัณฑ์ ผลที่จะตามมาคือ ความเป็นชุมชนในพิพิธภัณฑ์จะปรากฏขึ้นเพื่อสานต่อการพูดคุย ตีความ และถกเถียงอย่างไม่จบสิ้น จุดนี้สำคัญอย่างยิ่งต่อสถานภาพของพิพิธภัณฑ์ เพราะกรอบการดำเนินงานเช่นนั้นจะสนับสนุนให้กระบวนการฟื้นฟูที่ดิน หรือเรียกว่า "การกลับสู่บ้าน" ในเขตหกดำเนินไปอย่างลุล่วง เมื่อเขตหกได้วางแผนการพัฒนาและฟื้นฟูชุมชน พิพิธภัณฑ์ก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการทำงานทางวัฒนธรรมและการเมือง เพื่อ "ฟื้นคืนชีวิตชุมชน" ให้กับผู้ที่เคยจากถิ่นที่ในช่วงเวลาของอดีตที่มีการเลือกปฏิบัติ พิพิธภัณฑ์คาดหวังอย่างมากในการทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและกำหนดทิศทางของชุมชนในอนาคต ข้อท้าทายในงานพิพิธภัณฑ์ที่เปิดโอกาสให้เจ้าของวัฒนธรรมมีส่วนร่วมในทุกด้าน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การศึกษาและเผยแพร่ความทรงจำ และการบันทึกสิ่งเหล่านี้ไว้สัมพันธ์โดยตรงต่อการฟื้นคืนภูมิทัศน์ทางกายภาพและทางสังคม ทิศทางขององค์กรและพันธะสัญญาต่อสังคม แม้จะมีการทำงานที่ยากลำบากและซับซ้อนปรากฏในงานพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์เขตหกนี้ แต่การทำงานเช่นนี้เองคือ "กระบวนการทำให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์" (museumization) ที่วางเอาไว้ตั้งแต่แรกก่อตั้ง การก่อตัวของพิพิธภัณฑ์ได้กำหนดลักษณะการดำเนินการแบบองค์กร มีการจัดแบ่งส่วนงานอย่างชัดเจน งานคลังสะสม งานนิทรรศการ และงานการศึกษา รวมถึงการขับเคลื่อนงานอาสาสมัครไปในขณะเดียวกัน พิพิธภัณฑ์พัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบัน สร้างพื้นที่สาธารณะที่ให้เกิดการวิเคราะห์ วิจารณ์ และนำไปสู่การสร้างสรรค์งานวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เพื่อตอกย้ำต่อการสร้างพื้นที่สำหรับความเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมอย่างจริงแท้ ฉะนั้น พิพิธภัณฑ์เขตหกมองตนเองว่าเป็น "พิพิธภัณฑ์ของกระบวนการ" นั่นหมายถึง พื้นที่ที่จะต้องการความสร้างสรรค์และการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะด้วยการบันทึก โต้แย้ง และตรวจสอบในหลากรูปแบบ ผลลัพธ์คือ สาระของพิพิธภัณฑ์ที่มาจากการจัดการอย่างเป็นขั้นตอน ความเป็นศูนย์กลางของพิพิธภัณฑ์อยู่ที่การรวบรวมความรู้ และแสดงออกผ่านการออกแบบนิทรรศการ การบันทึกและจัดเก็บเรื่องเล่าและดนตรี รวมถึงภาพถ่ายอย่างเป็นระบบ อนึ่ง การทำงานทั้งหมดนี้มาจากสมาชิกที่เคยอยู่อาศัยในชุมชน ความเชี่ยวชาญของพิพิธภัณฑ์เพิ่มพูนขึ้น ด้วยการใช้ความรู้เชิงวิชาการเข้าไปกับสถานการณ์ของการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้ได้สถาปนาตนเองในฐานะขององค์กรเพื่อสาธารณะกิจ ด้วยเหตุนี้ พิพิธภัณฑ์จึงมีลักษณะที่โดดเด่นมิใช่น้อย จากมุมมองต่างๆ ที่ได้กล่าวถึง "พิพิธภัณฑ์ชุมชน" สามารถใช้อธิบายลักษณะของพิพิธภัณฑ์เขตหก และยังเป็นแนวคิดที่ใช้กำหนดการทำงานของพิพิธภัณฑ์ในเรื่องการเมืองทางวัฒนธรรมสำหรับการศึกษาความทรงจำ พิพิธภัณฑ์มิได้ใช้แนวความคิด "ชุมชน" อย่างดาดๆ หากกลับเป็นความพยายามผลักดันให้การทำงานของพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบและการเคลื่อนไหวทางสังคม นิยามประเภทพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวสร้างกรอบการทำงานอย่างมีส่วนร่วมและนำไปปฏิบัติได้จริง ทั้งการตีความ การสร้างความแข็งแกร่งของชุมชน และการมองงานพิพิธภัณฑ์ว่าเป็นกระบวนการที่เดินหน้าต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด พิพิธภัณฑ์ในฐานะโครงการจะดำเนินไปชั่วชีวิตของพิพิธภัณฑ์ ด้วยความสามารถและความเชี่ยวชาญของการจัดการภายในองค์กร และด้วยขบวนการโต้แย้งและโต้ตอบที่เคียงคู่ แนวคิดชุมชนของพิพิธภัณฑ์เขตหกมีลักษณะเชิงกลยุทธ์ และแสดงออกถึงความประสงค์ในการฟื้นฟูโครงสร้างสังคม ชุมชนด้วยตัวของมันเองเป็นจินตนาการมีที่ผลประโยชน์ร่วมกัน ฉะนั้น ทั้งนิทรรศการ กิจกรรม และการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งกระบวนการเจรจาต่างๆ ภายในพิพิธภัณฑ์เขตหกจะวิวัตน์ต่อเนื่องด้วยการนิยามและการกำหนดกรอบของแนวคิด "ชุมชน" เรื่อยไป พิพิธภัณฑ์จะเป็นสถานที่ของการนิยามตัวตนของคนในสังคมภายหลังยุคการเลือกปฏิบัติ พิพิธภัณฑ์จะไม่ใช่สิ่งตายตัวเหมือนดั่งที่การเลือกปฏิบัติมักเลือกกระทำ **แปลและเรียบเรียงจาก Ciraj Rassol, "Making the District Six Museum in Cape Town," Museum International, No. 229-230 (vol. 58. No. 1-2, 2006), pp. 9 – 18. *** Ciraj Rassol ดำรงตำแหน่งอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น เคป และเป็นผู้ดำเนินโครงการแอฟริกันในสาขาวิชาพิพิธภัณฑ์และมรดกศึกษา ท่านยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของพิพิธภัณฑ์เขตหก และประธานคณะกรรมการวิชาการของสภาการพิพิธภัณฑ์แอฟริกาสากล (International Council of African Museums - AFICOM) และมีงานวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ศึกษา มรดก ประวัติศาสตร์สื่อทัศน์ และประวัติศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับการต่อสู้

มองหาการเรียนรู้จากบทสนทนาของผู้เยี่ยมชม : การสำรวจอย่างเป็นกระบวนการ

20 มีนาคม 2556

เมื่อศูนย์แห่งการสำรวจ(Exploratorium) มอบหมายการศึกษาการนำไปสู่การสร้างความร่วมมือในการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ (Leinhart & Crowley, 1998) ข้าพเจ้ามองว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยากในการจะทำวิจัยแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนวิชาชีพที่ข้าพเจ้าให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้   ในฐานะที่เป็นนักวิจัยด้านการศึกษา ข้าพเจ้าใช้โอกาสของการศึกษาอย่างลึกเกี่ยวกับการเรียนรู้ในพื้นที่สาธารณะ ของศูนย์แห่งการสำรวจ เป้าหมายหนึ่งที่ข้าพเจ้าดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือ การค้นหาและปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมหนึ่ง ซึ่งเรียกได้ว่ามีความท้าทายมากจากมุมมองของการวิจัย นอกจากนี้ ข้าพเจ้าต้องการใช้การวิเคราะห์บทสนทนาของผู้เข้าชมเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ชม ได้เรียนรู้ในระหว่างการเยี่ยมชมนิทรรศการสักชุดหนึ่งของศูนย์แห่งการสำรวจ ในขณะนี้มีนิทรรศการเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้ใช้วิธีการศึกษาดังที่ กล่าวมา และนิทรรศการใหม่ของศูนย์ฯ มีความน่าสนใจอย่างมากในการพัฒนาทฤษฎี เพราะนิทรรศการได้ปรับใช้วิธีการต่างๆ จากการนำเสนอในพิพิธภัณฑ์ที่ผ่านมา เช่น นิทรรศการเรื่อง กบ ใช้กระบวนการ"ลงมือทำ" เช่น เดียวกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ การนำเสนอสิ่งมีชีวิตเช่นในสวนสัตว์ และการนำเสนอวัตถุทางวัฒนธรรม อาทิ เครื่องในแบบของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และสิ่งจัดแสดงประเภทสองมิติเพื่อการอ่านหรือการพินิจเช่นแผนที่และตัวอย่าง คติที่เกี่ยวข้องกับกบ ความหลากหลายเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นง่ายนักในงานพิพิธภัณฑ์ และแน่นอนยังเป็นโอกาสสำหรับการศึกษาเชิงเปรียบเทียบประสบการณ์เรียนรู้ที่ แตกต่างกันไปตามประเภทของสิ่งจัดแสดง ในฐานะที่เป็นผู้ประเมินนิทรรศการในการศึกษาผู้ชม ข้าพเจ้ามีเป้าหมายเพิ่มเติมมากขึ้น เป็นการพยายามสำรวจวิธีการในการเก็บข้อมูลเพื่อวัดผลการเรียนรู้ในฐานะที่ เป็นสถาบันทางการศึกษา ในทุกวันนี้การประเมินที่เป็นsummative ปฏิบัติ กันมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งของการประมินจะเกี่ยวข้องกับการเดินตามและศึกษาการใช้เวลาจาก พฤติกรรมของผู้ชม จากนั้น เป็นการสัมภาษณ์หรือใช้แบบสอบถามเมื่อเดินออกจากนิทรรศการ แต่การประเมินผลในระหว่างการชมน่าจะให้ประโยชน์มากกว่า และข้อมูลจากการวิจัยสามารถนำไปสู่แนวทางการประเมินเพื่อเข้าใจเงื่อนไขทาง สังคมวัฒนธรรมของการเรียนรู้ ความเป็นมา ในปัจจุบัน ผู้ประเมินมักจะมีพื้นความรู้ทางการศึกษาในโรงเรียน และอาจจะไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของสถาบันการศึกษาในแบบไม่เป็นทางการ นอกจากนี้ ในพิพิธภัณฑ์ยังเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ที่อิงกับความเป็นกลุ่มสังคม ดังนั้นการประเมินจึงประยุกต์ใช้มุมมองเชิงสังคมวัฒนธรรมเข้ามาเป็นปัจจัยในการอธิบายการเรียนรู้ อย่างไรก็ดี วิธีการทำงานในขณะนี้กลับเน้นที่การประเมินปัจเจกบุคคลมากกว่ากลุ่ม ภายหลังการชมนิทรรศการ แต่จริงแล้วๆ วิธีการหนึ่งคือ การวิเคราะห์บทสนทนาตลอดการชมพิพิธภัณฑ์ แต่วิธีการดังกล่าวมักจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินดังที่ปฏิบัติกัน อยู่ในปัจจุบัน  นอกจากนี้ การศึกษานิทรรศการเป็นส่วนสำคัญในการเข้าใจกรอบการทำงานของภัณฑารักษ์ที่จะ สัมพันธ์กับการทำงานของผู้เข้าชม ด้วยเหตุนี้ การศึกษาบทสนทนาในนิทรรศการจึงมีความน่าสนใจ เพราะจะมีพฤติกรรมของผู้ชมเกิดซ้ำๆ ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าเราจะต้องทุ่มเวลาทั้งวันกับการศึกษาครอบครัวๆ เดียว ดังที่มักปฏิบัติกันในการศึกษาตลอดการชม ในท้ายที่สุด มักมีโครงการพัฒนาการจัดแสดงที่จะต้องดำเนินการในลักษณะsummative ด้วยเหตุนี้ จึงสามารถอาศัยโอกาสดังกล่าวในการทำวิจัยและการประเมินผลไปพร้อมๆ กัน  การวิเคราะห์บทสนทนาเป็นการพยายามทำความเข้าใจวาทกรรมและการกระทำทางสังคม ในความเห็นของผู้เขียน บทสนทนามีความซับซ้อน เพราะเนื้อหาเป็นสิ่งที่ครอบคลุมสถานการณ์ ความรู้ การกระทำ และภาษา ทั้งนี้Stubbs จัดแบ่งการกระทำในสองลักษณะคือ  Stubbs (1980) ได้กล่าวถึงการวิเคราะห์วาทกรรมที่จะต้องไปสัมพันธ์กับทฤษฎีทางสังคม บทสนทนาสะท้อนให้เห็นปัจจัยที่ซับซ้อนแต่มีความสัมพันธ์กัน ทั้งสถานการณ์ ความรู้ การกระทำ และภาษา ดังนั้น ผู้วิจัยจึงต้องทำความเข้าใจสิ่งที่ปรากฏและวัตถุประสงค์ที่อยู่เบื้องหลัง เช่น ความแตกต่างระหว่างหน้าที่ของ discourse act ที่หมายถึงหน้าที่ในตัวเองการสร้าง สืบต่อ และสิ้นสุดการแลกเปลี่ยน ในขณะที่ speech acts สัมพันธ์กับหน้าที่ทางจิตวิทยาและสังคม เช่น การเรียกนาม ขอบคุณ สัญญา แต่ในงานวิจัยนี้จะเน้นที่ speech acts ที่ผลักดันไปสู่การเรียนรู้ของผู้ชม ผู้วิจัยยังมองต่อไปอีกว่า ผู้ชมแต่ละคนในกลุ่มมีลักษณะส่งเสริมการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  กรอบการทำงานและคำถามของการวิจัย เป้าหมายการทำงานอยู่ที่การค้นหาหลักฐานที่แสดงให้เห็นการเรียนรู้จากการสนทนา ที่เกิดขึ้นระหว่างการชมนิทรรศการ นอกจากนี้ การพูดคุยที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้จากสิ่งจัดแสดงที่แตกต่างกันมีลักษณะที่ หลากหลายไปด้วยเช่นกัน หรือการสนทนาในลักษณะใดที่จะสร้างการมีส่วนร่วมหรือแยกเด็กออกไป คราวนี้ ลองมานิยาม 1. เราสามารจัดแบ่งประเภทการเรียนรู้ได้ในสามระดับได้แก่ สะเทือนอารมณ์ (affective) ระลึกรู้ (cognitive) และการสั่งการ (psychomotor) ซึ่งสัมพันธ์กับประสบการณ์ของผู้ชมในพิพิธภัณฑ์ คิด รู้สึก และปฏิสัมพันธ์กับวัตถุ 2. ปัจจัย ทางสังคมวัฒนธรรมเข้ามามีส่วนอย่างมากในการวิเคราะห์ และหมายถึงการสร้างความหมายในระดับของกลุ่ม การวิเคราะห์จึงไม่ได้มองไปที่การเรียนรู้ในระดับปัจเจก หากแต่เป็นการเรียนรู้โดยกลุ่ม 3. การ วิเคราะห์และพิจารณาว่า สิ่งใดคือการเรียนรู้ ไม่ได้พิจารณาในกรอบการเรียนรู้อย่างเป็นทางการ แต่จะรวมเอาความคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ในระดับของอารมณ์ ส่วนบุคคล สิ่งที่เกิดขึ้นชั่วครั้ง และรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม และมีลักษณะที่สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ มากกว่าตีคลุม 4. เน้นการสนทนาที่เกิดขึ้นในนิทรรศการและสัมพันธ์กับสิ่งจัดแสดง การ เรียนรู้ที่นิยามนี้ไม่ได้พิจารณาไปถึงความตั้งใจไม่ว่าจะมาจากผู้พูดหรือ ผู้เรียน แต่กลับพิจารณาว่า คำพูดเช่นนี้สามารถเป็นหลักฐานของการเรียนรู้ได้หรือไม่ เขาได้ความรู้ใหม่อย่างไรหรือไม่จากสิ่งที่เขาพูด กรอบในการสร้างความหมายร่วมระหว่างสมาชิกที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์ ภาพโดยรวมของนิทรรศการ"กบ" นิทรรศการชั่วคราวจัดแสดงที่ Exploratorium ค.ศ. 1999 - 2000 ใน ระหว่างการพัฒนานิทรรศการ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ชมเกี่ยวกับกบ หลายคนเคยเรียนรู้เกี่ยวกับกบจากชั้นเรียน กบร้องในระหว่างใบไม้ผลิตและฤดูร้อน ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจนำไปสู่การวางโครงนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับ (ก) การนำเสนอความรู้เกี่ยวกับกบในทางวิทยาศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับมนุษย์ (ข) การสร้างความเข้าใจและความเคารพต่อสัตว์ในกลุ่มผู้ชม (ค) สร้างสรรค์บางอย่างที่งดงาม ดึงดูด และตอบสนองต่อการให้ข้อมูลกับผู้ชมต่างวัย  เนื้อหาของนิทรรศการแยกย่อยดังนี้ การนิยามความหมายของกบ คางคก และพัฒนาการของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ การกินและการเป็นเหยื่อ กบและคางคกร้อง การจัดแสดงร่างกายภายใน การสังเกตอย่างใกล้ชิด"การปรับตัวที่น่าประหลาดใจ" สถานภาพ ของกบจากทั่วโลก และการเคลื่อนที่ของกบ สิ่งที่พิเศษของนิทรรศการคือ การพยายามเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ของกบและคน และการสร้างสื่อที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย o สิ่งจัดแสดงที่ทดลองได้ 10 จุด o บ่อ/ตู้จัดแสดงกบและคางคกที่มีชีวิต 23 จุด o วัตถุทางวัฒนธรรม 5 กลุ่ม o วัตถุ 2 มิติในการอ่านหรือมอง 18 ชิ้น เช่น แผนที่ หนังสือเด็ก และเรื่องเล่าเกี่ยวกับกบจากวัฒนธรรมต่างๆ  o สิ่งจัดแสดงที่เป็นอินทรีย์ เช่น กบสต๊าฟ และอาหารกบ o วีดิทัศน์ 3 จุดที่ว่าด้วยกิจกรรมของกบ และหน้าต่างสังเกตการณ์พฤติกรรมของกบในระหว่างที่พักผ่อน 2 จุด o สะพานทางเข้านิทรรศการ o ห้องจำลองสถานการณ์ฟังเสียงกบยามค่ำ ข้อท้าทายของการทำงานวิจัย การศึกษาบทสนทนาของExploratorium ต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการ ประการแรก ลักษณะของพิพิธภัณฑ์มีองค์ประกอบของการจัดแสดงที่ใช้เทคโนโลยีเสียงและภาพที่จะ เข้ามารบกวนในการสังเกต และกลุ่มผู้ชมที่หลากหลาย เสียงเด็กที่ตื่นเต้น ประการที่สอง กลุ่มผู้ชมในพิพิธภัณฑ์แบบดังกล่าวจะเลื่อนไหลไปตลอดเวลา การบันทึกบทสนทนาจะต้องอาศัยไมโครโฟนไร้สาย แต่ทั้งนี้ สมาชิกในกลุ่มจะปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา เนื่องจากความสนใจของกลุ่มที่แตกต่างกันไปในแต่ละจังหวะของการชม   ประการที่สาม เมื่อใดก็ตามที่ผู้ชมปฏิสัมพันธ์กับสิ่งจัดแสดงใด คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเลยหากไม่มีการติดตั้งเครื่องบันทึกภาพ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์  จาก นั้น การถอดเทปมีค่าใช้จ่ายที่สูง และต้องอาศัยความชำนาญมากขึ้น เพราะผู้ชมแต่ละคนมีวิธีการพูดที่แตกต่างกัน แม้คำพูดที่บันทึกจะชัดเจน แต่การเข้าใจในความหมายของการกระทำซับซ้อน เพราะหลายๆ ครั้งความไม่ต่อเนื่องของกรอบการกระทำเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น นอกจากนี้ ความซับซ้อนในบริบทต่างๆ ตัวแปรของผู้ชม(ลักษณะประชากร จิตวิทยา ประสบการณ์ก่อนหน้า ความสนใจ ทัศนคติ ความคาดหวัง ความเคลื่อนไหวกลุ่ม และปัจจุบันขณะของความสบายและ "แรง") ตัวแปรของนิทรรศการ (สถานที่ต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ เสียงที่เซ็งแซ่ และความหนาแน่นของกลุ่มผู้ชม) และตัวแปรอื่นๆ ในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งจัดแสดงแต่ละชิ้น (ความสูง สีสัน ตำแหน่งที่ตั้งและการเข้าถึง ลักษณะที่ปรากฏต่อสายตา รูปแบบการจัดแสดง เนื้อหาในป้ายคำบรรยาย และเสียง) ดังนั้น สิ่งที่สามารถทำได้คือ การมองหาความสัมพันธ์ของสิ่งจัดแสดงแบบใดที่นำมาซึ่งบทสนทนาแบบนั้นๆ การใช้เครื่องมือบันทึกเสียง ในปัจจุบันมีเครื่องมือในการบันทึกเสียงด้วยไมโครโฟนไร้สายที่มีคุณภาพและราคา สมเหตุผล ฉะนั้น ปัญหาของคุณภาพเสียงที่มาจากเสียงสภาพแวดล้อมลดน้อยลงได้  การเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวของผู้ชม การบันทึกภาพเคลื่อนไหวมีความสัมพันธ์กับบทสนทนา แต่เราไม่สามารถติดตั้งกล้องบันทึกมุมได้ทั้งพื้นที่นิทรรศการ ฉะนั้น การใช้ผู้บันทึกภาพติดตามกลุ่มเป็นสิ่งที่ทำได้ ทั้งนี้ อาจไม่จำเป็นต้องบันทึกตลอดเวลา หากแต่สังเกตพฤติกรรมและบันทึกจังหวะนั้นๆ บนแผนผังนิทรรศการ เราอาจต้องใช้ไมโครโฟนถึง 3 ตัว เพื่อกั้นความผิดพลาดของเสียงที่นอกเหนือไปจากไมโครโฟนที่ติดตัวผู้ชม การเลือกผู้ชม การเลือกกลุ่มตัวอย่างจะใช้ผู้ชมที่มาเป็นคู่ หรือที่เรียกว่าdyads เพราะ การตามของผู้ที่บันทึกภาพหรือสังเกตการใช้พื้นที่ในนิทรรศการไม่สามารถทำได้ ในกรณีที่ผู้ชมเป็นกลุ่มใหญ่ การรวมตัวและการแยกตัวเกิดขึ้นง่าย ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องยากในการตามบทสนทนา นอกจากนี้ ผู้ชมที่เป็นกลุ่มมักจะสนทนาเกี่ยวกับสิ่งที่พบเห็นไปก่อนหน้า ประเด็นของการพูดคุยอาจสัมพันธ์กับการหยุดดูหรืออ่านวัตถุจัดแสดงที่อยู่ตรง หน้า  ลักษณะของการเลือกประชาการกลุ่มตัวอย่าง 1. ผู้ชมมาเป็นคู่ 2. ทั้งคู่พูดภาษาอังกฤษในฐานะภาษาแม่ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่ถอดความสามารถทำได้สะดวก 3. เราสนใจประสบการณ์ตรงในการเยี่ยมชมสำหรับผู้ที่มาชมนิทรรศการครั้งแรก มากกว่าการวิเคราะห์ที่ซับซ้อนในการคิดวิพากษ์ของผู้เข้าชม 4. ไม่ว่าจะเป็นผู้ชมที่อายุ 18 ปีขึ้นไป หรือเด็กที่มากับผู้ดูแล พวกเขาจะต้องอนุญาตให้มีการบันทึก   เราลองติดต่อผู้เข้าชม118 คู่ แต่ 38% กลับ ปฏิเสธ โดยเราไม่พยายามให้เขาอธิบายเหตุผล แต่ส่วนหนึ่งมาจากการมีเวลาที่จำกัด การนัดหมาย และการเข้าชมที่มาพร้อมกับเด็กเล็กๆ แต่เราเองก็ปฏิเสธผู้ชมบางกลุ่มเช่นกัน สาเหตุหนึ่งมาจากการที่คนกลุ่มนี้เคยมาชมนิทรรศการแล้ว ดังนั้น 49 คู่ (42%) ที่มีคุณสมบัติและยินดีร่วมในการศึกษา จากที่กล่าวมาเวลาโดยส่วนใหญ่ใช้ไปกับการหากลุ่มประชากรที่เหมาะสม ในจำนวน 49 คู่ เฉลี่ยแล้วเราเก็บข้อมูลจากผู้ชม 3-5 คู่ในวันหยุดสุดสัปดาห์ และ 0-2 คู่ ในวันธรรมดา นอกจากนี้ ปัจจัยที่ตั้งของนิทรรศการเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องใช้เวลามากในการศึกษา เพราะเมื่อผู้ชมดูนิทรรศการมาเป็นเวลาเกือบชั่วโมงจากทางเข้า ผู้ชมเองไม่อยากที่จะใช้เวลามากในการดูนิทรรศการ นอกจากนี้ เราได้ลองให้ผู้ชมที่เป็นกลุ่มครอบครัวร่วมในการศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม และให้แต่ละกลุ่มถือไมโครโฟนแยกกันอย่างเป็นอิสระ แต่กลับมีข้อจำกัดไม่น้อยเนื่องจากนิทรรศการมีความน่าตื่นตาตื่นใจ และนำไสู่การพูดคุยความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่เห็นหรือยังไม่ได้เห็น การทบทวนดังกล่าวจึงไม่ใช่ประสบการณ์ในบัดนั้น การทำความเข้าใจและแยกกรอบความคิดที่เป็นประสบการณ์แรกกับความคิดเห็น จึงต้องกินเวลาเพิ่มมากขึ้น เราแนะนำว่าผู้ทีต้องการใช้วิธีการดังกล่าวจะต้องมีเวลาการทำงานที่มากพอ การยินยอมเข้าร่วมการศึกษา เรา เลือกกลุ่มประชากรตัวอย่างและแจ้งให้ทราบว่า การศึกษาของเราเพื่อความเข้าใจประสบการณ์ของผู้ชม และมีการบันทึกเสียงสนทนา ทั้งนี้ เราไม่ได้ให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกลงนามในหนังสือยินยอม ประการแรก ผู้ชมจะรู้สึกสบายๆ ในการชมมากกว่า และจุดของการคัดเลือกเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้ชมสนใจต่อการเข้าชมนิทรรศการ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีเด็กรวมอยู่ด้วย ประการที่สอง ในช่วงท้ายของนิทรรศการ ผู้ชมจะรู้สึกสบายมากกว่ากับสิ่งที่ตนเองได้พูดไปในนิทรรศการ เรายังได้ขออนุญาตใช้บทสนทนาในการประชุมหรือเพื่อการศึกษาวิจัยที่ใหญ่ไป กว่านั้น แต่มีเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ไม่ยินยอม ผู้ชมยังได้เทปบันทึกบทสนทนาของตนเองกลับไปบ้านอีกด้วย การติดตามผู้ร่วมการศึกษา เราได้ให้ข้อมูลแก่ผู้ชมแล้วว่า จะมีผู้ติดตามผู้ชมในระหว่างการชม ทั้งนี้ ผู้ติดตามจะอยู่ในระยะห่างเพื่อไม่ให้รบกวนผู้ชม โดยผู้ติดตามจะมีไมโครโฟนอยู่ที่คอเสื้อสำหรับการสังเกตและบันทึกสถานที่ที่ ผู้ชมหยุด วิธีการดังกล่าวใช้ได้ผลดียกเว้นในกรณีที่ผู้คนเริ่มร้างลาไปจากนิทรรศการ ผู้เข้าชมอาจสังเกตผู้ติดตาม ในจุดนี้ เราแก้ปัญหาด้วยการทำให้ผู้ติดตามแตกต่างไปจากผู้ชม ??? สิ่ง ที่พึงระลึกไว้สำหรับผู้ติดตามคือ การบันทึกความเคลื่อนไหวทุกอย่าง ทั้งการหยุด การเดินจากไป การเดินเข้ามาหาของคู่เยี่ยมชม และที่ลืมไม่ได้เลยคือ ปฏิสัมพันธ์กับผู้เยี่ยมชมคนอื่นๆ แต่เสียงที่เข้าสนทนากับผู้ชมคนอื่นนั้นก็ยากที่จะบันทึกและนำไปสู่การวิ เคราะห์ หากมีจำนวนผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก บทสนทนาของผู้ชมมีความจริงแท้แค่ไหน เรา เองตั้งข้อสังเกตว่า การใช้ไมโครโฟนในการบันทึกบทสนทนาอาจทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่คาดหวังหรือไม่ ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเยี่ยมชมตามปกติ หลายๆ ครั้ง ผู้ร่วมการศึกษากล่าวถึงการมีอยู่ของไมโครโฟน พ่อแม่พยายามยับยั้งไม่ให้เด็กถอดไมโครโฟน แต่บางครั้ง เมื่อเด็กต้องการที่จะทำกิจกรรมที่จะต้องออกแรง การเอาไมโครโฟนออกเกิดขึ้นได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ผู้ชมที่ร่วมการศึกษาจะใช้เวลาอันน้อยนิดที่จะคำนึงถึงการมีอยู่ของไมโครโฟน ผู้ชมเองใช้เวลาโดยส่วนมากไปกับการชมนิทรรศการมากกว่า การใช้เวลาโดยเฉลี่ยในการหยุดแต่ละที่ประมาณ9.0 นาที ตรงข้ามกับการสนทนาที่ใช้มากถึง 25 นาที พฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติหรือไม่ จริงๆ แล้ว ผู้ชมอาจต้องการเลือกดูเพียงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น บางทีการสังเกตพฤติกรรมของผู้ชมโดยปกติจะต้องเข้ามาในจุดนี้ นั่นคือ การรักษาระยะห่างระหว่างผู้ศึกษาและผู้ถูกศึกษา แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเข้าเรียนรู้อะไร ฉะนั้น บทสนทนาดูจะเป็นคำตอบที่น่าสนใจมากกว่า หรือหากใช้การสนทนาไปตลอดการชมนิทรรศการ สถานการณ์ดังกล่าวอาจสร้างให้ผู้ชมระหว่างตัวตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ เราจึงคิดว่าการศึกษาบทสนทนาน่าจะเป็นช่องทาง "ที่ดีที่สุด" สำหรับการศึกษากระบวนการเรียนรู้ การถอดเทป จากการทำงานที่ผ่านมา เราใช้งบประมาณที่จำกัดในการถอดจำนวน15 บท และขอความช่วยเหลือจากอาสาสมัครของพิพิธภัณฑ์ ในท้ายที่สุด ได้ทั้งสิ้น 30 บท แต่เรากลับต้องผิดหวังจากบทถอดเทป เพราะความไม่คุ้นชินกับนิทรรศการ เราเองจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบใหม่หมด ฉะนั้น ปัจจัยที่สำคัญของการถอดเทปที่ดีคือ ความคุ้นชินกับนิทรรศการ สำหรับกรณีของเราแล้ว บทบรรยายทั้งหมดในนิทรรศการเป็นส่วนประกอบสำคัญของการวิเคราะห์ และยังเป็นปัจจัยที่ช่วยให้การได้ยิบบทสนทนาของเราสมบูรณ์ขึ้นด้วย ข้อแนะนำของการบันทึกเสียงที่มีคุณภาพ หากไม่มีเครื่องบันทึกวิดีโอ ใช้ไมโครโฟนอย่างน้อย3 ตัว และทดสอบการส่งสัญญาณทั่วทั้งอาคาร เชิญให้คนร่วมโครงการที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ และอย่างน้อยต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า4 ปี ทำ ความเข้าใจและพรรณนานิทรรศการอย่างละเอียดในเอกสาร เพื่อการอ้างอิงป้ายอธิบายและวัตถุจัดแสดงในภายหลัง คำถามต่างๆ จะเข้ามาเกี่ยวข้อในขั้นตอนการวิเคราะห์ ใช้คนที่ถอดเทปที่มีความคุ้นชินกับนิทรรศการ ปัจจัย หนึ่งที่ทำให้การวิจัยครั้งนี้สำเร็จได้มาจากลักษณะของนิทรรศการที่เป็นการ จัดแสดงสิ่งมีชีวิต มากกว่าจะเป็นสิ่งจัดแสดงที่เน้นการทดลอง ด้วยเหตุนี้ ผู้ชมจึงใช้การสนทนาในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มากกว่าการลงมือทดลองอย่างที่พบในนิทรรศการอื่นของExploratorium  การให้รหัสแต่ละตำแหน่งของผู้เข้าชม การ บอกตำแหน่งของผู้ชมมีความสำคัญในการตีความถึงการรับรู้สิ่งจัดแสดง หลายๆ ครั้งผู้ชมกล่าวถึงสิ่งจัดแสดงก่อนที่เขาจะไปหยุดที่นั่น ฉะนั้น ข้อมูลจากการติดตามจะทำให้เราเห็นถึงความดึงดูดใจและการจัดสินใจที่เกิดขึ้น ในกระบวนการเรียนรู้ การให้รหัสที่สัมพันธ์การความสนใจของผู้ชมต่อวัตถุจัดแสดง หรือเรียกว่าobject-related interactions for coding  ราย นามของสิ่งจัดแสดงสำคัญต่อความเข้าใจในการหยุดและการสนทนาในแต่ละช่วงของการ ชม ข้อมูลการติดตามมีความสำคัญอีกประการหนึ่งในการบอกถึงการหยุดที่ไม่ได้มีการ กล่าวออกมา"silent stops" นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้จากการสนทนาของผู้ชมที่เป็น "คู่" แท้ จะไม่ทำให้การวิเคราะห์สับสนในกรณีที่ทั้งคู่ไม่ได้อยู่หน้าสิ่งจัดแสดงที่ กล่าวถึง ซึ่งจะต่างออกไปจากกลุ่มครอบครัวที่ประเด็นของการพูดคุยถึงของที่ไม่ปรากฏ ที่เกิดต่อหน้าอาจจะปรากฎในลักษณะที่ไกลไปจากวัตถุจัดแสดงชิ้นที่กล่าวถึง มากเกินไป   วิธีการสร้างรหัสเฉพาะ วิธี การดังกล่าวเลือกใช้มุมมองของศาสตร์สังคมวัฒนธรรมและการระลึกรู้ เราได้เลือกใช้การจัดแบ่งประเภทโดยการใช้ศัพท์ด้านการระลึกรู้ มากกว่าเป็นการใช้สำนวนการพูด(สังเกต คิด รู้สึก และแสดงออก) การจัดแบ่งด้วย cognitive concepts : attention, memory, declarative knowledge, inference (การอ้างอิงต่อความจริงที่มาก่อน), planning, metacognition (การรับรู้ในชั้นหลังที่สัมพันธ์กับสิ่งที่รับรู้มาก่อน) นอกจากนี้ ยังความรู้สึกทางอารมณ์และกลยุทธ์  ผู้ให้รหัสและผู้เขียนได้แบ่งการรับรู้ออกเป็น5 ลักษณะโดยแต่ละลักษณะมีคุณสมบัติตามแต่ละกลุ่ม  1. Perceptual Talk การพูดทุกชนิดที่แสดงถึงสิ่งที่ดึงดูดความสนใจรอบตัว คำพูดเช่นนี้อยู่ในระดับของการเรียนรู้ เพราะมีการบ่งชี้ให้ห็น่าสิ่งใดสำคัญ การบ่งชี้ การให้ความสนใจต่อวัตถุหรือบางส่วนของนิทรรศการ"นั่น…" การเรียก การให้ชื่อสิ่งของหรือวัตถุนั้นๆ การบอกลักษณะ คุณสมบัติเฉพาะของวัตถุ การสร้างความสนใจกับวัตถุด้วยการอ่านป้ายคำบรรยาย หรือเรียกว่า"text echo", McManus 1989.   2. Conceptual Talk อยู่ ในระดับของการคิดวิเคราะห์อาจจะมีลักษณะที่เล็ก แยกเดี่ยว หรือเป็นชุดความคิด ปฏิกิริยามากไปกว่าเพียงการตอบสนองต่อสิ่งจัดแสดงหรือสภาพแวดล้อมอย่างใน ระดับที่ผ่านมา การอ้างอิงระดับพื้นฐานะ เป็นระดับการตีความต่อชิ้นวัตถุการจัดแสดง การอ้างอิงที่ซับซ้อน เป็นข้อสันนิษฐาน ภาพรวมของข้อมูลในนิทรรศการ หรืออยู่ในระดับการมองหาความสัมพันธ์ของวัตถุ การทำนาย ความคาดหวังในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น Matacognition การย้อนคิดต่อสภาพหรือความรู้ที่มีมาก่อนหน้า   3. Connecting Talk การย้อนคิดต่อข้อมูลที่อยู่นอกเหนือออกไปจากนิทรรศการ เรื่องราวในชีวิต ข้อมูลความรู้ Inter-exhibit connection   4. Strategic Talk การกล่าวถึงวิธีการใช้นิทรรศการ ไม่ใช่เฉพาะวัตถุจัดแสดงที่จับต้องได้ แต่หมายถึงการสำรวจ ดู พิจารณาสิ่งที่จะทำต่อไปในนิทรรศการ การใช้ การประเมินนิทรรศการจากมุมมองของตนเอง   5. Affective Talk จับอยู่ทีอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากการชม ความพอใจ ความไม่พอใจ อาจไม่ได้สัมพันธ์กับการวิจารณ์นิทรรศการเสมอไป แต่เป็นปฏิกิริยากับเนื้อหาของนิทรรศการ อารมณ์ที่เกิดมาจากความตกใจ แปลกใจ ใหล่หลง อย่างไรก็ตาม การให้รหัสสัมพันธ์โดยตรงกับเนื้อหาที่ปรากฏในนิทรรศการ และอาจจะเหมาะสมที่จะใช้กับบางสภาพแวดล้อม  การสำรวจความถี่ของข้อมูลและคำถามที่นำไปสู่การวิเคราะห์ การ วิเคราะห์บทสนทนาโดยการพิจารณาแต่ละคู่บทสนทนามีลักณะที่สอดคล้องกับการแบ่ง ประเภทของปฏิกิริยาอย่างไรตามที่ได้กล่าวมา โดยมีคำถามที่เข้ามาสัมพันธ์ ค่าเฉลี่ยของการสนทนาที่เกิดการเรียนรู้ในแต่ละสถานการณ์ที่ผู้ชมเข้าไปสัมพันธ์แตกต่างกันไปอย่างไร ข้อมูลในแต่ละประเภทของการพูดและลักษณะย่อยปรากฏมากน้อยเพียงใด และสัมพันธ์กันอย่างไร กับสิ่งใด ประเภทของสิ่งจัดแสดงแตกต่างกัน นำไปสู่การสนทนาเรียนรู้ที่แตกต่างกันหรือไม่ คู่สนทนาระหว่างผู้ใหญ่-ผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่-เด็ก แตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ในเมื่อนิทรรศการมีวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้มีความเคารพและเข้าใจต่อกบมากขึ้น ผู้ชมได้แสดงออกจากการสทนาหรือไม่   ผลของการศึกษา การหยุดจะแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ของวัตถุจัดแสดง สิ่งมีชีวิต ลงมือปฏิบัติ วัตถุ และป้ายบรรยาย นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาถึงช่วงของการจัดแสดงใดที่เกิดการสนทนา และมีจุดที่หยุดใกล้เคียงกัน แต่ในกรณีของผู้ใหญ่-ผู้ใหญ่การสนทนาเรียนรู้เกิดขึ้นน้อยกว่า เพื่อการหาข้อมูลในการเสริมกระบวนการคิดของตนเอง  ประเภทของการสนทนาจะอยู่ใน3 ลักษณะ perceptual affective conceptual เมื่อเปรียบเทียบคู่ผู้ชมที่แตกต่างประเภทของการสนทนาในลักษณะของ perceptual affective conceptual และ Strategic ในเด็ก-ผู้ใหญ่ สูงกว่าผู้ใหญ่-ผู้ใหญ่   แปลและเรียบเรียงจาก  Sue Allen, "Looking for Learning in Visitor: A Methodological Exploration," Learning Conversations in Museums. Gaea Leinhardt et al. (ed.),London: Lawrence Erlbaum Associates, Publishers, 2002. pp. 259-303.  

พลาสติกและชาติพันธุ์วรรณา

20 มีนาคม 2556

เมื่อได้ชมนิทรรศการที่จัดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณาฮังกาเรียน ในชื่อ “พลาสติก : ข้อพิสูจน์ว่าพิพิธภัณฑ์มิใช่สถานที่ของวัตถุยุคดั้งเดิม” ความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาก็คือ เรามักจะคิดหรือเข้าใจว่าพลาสติกเป็นวัสดุสมัยใหม่ การได้เห็นพลาสติกในพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ได้สร้างความรู้สึกแปลกแยก พลาสติกเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดนิทรรศการเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในชีวิตประจำวัน พลาสติกเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและได้รับการนำเสนอในนิทรรศการในยุคนี้ได้อย่างไร ทั้งที่พลาสติกเป็นวัสดุที่ไม่คงทนถาวร แต่เราก็พบเห็นมันได้เสมอในชีวิตประจำวัน จนเป็นเรื่องธรรมดาที่เราคุ้นเคยเสียจนไม่ได้ฉุกคิดถึงมัน ดังนั้นถึงเวลาที่จะต้องทบทวนว่าพลาสติกพวกนี้ข้องเกี่ยวกับตัวเรา วัฒนธรรมและสังคมที่เราอยู่อาศัยอย่างไร วัตถุประสงค์หลักของนิทรรศการชุดนี้คือ การจัดวางพลาสติกให้อยู่ในความสนใจเพื่อที่จะได้หยุดคิดพิจารณาและทบทวน อันเป็นเหตุผลว่าทำไมพลาสติกจึงปรากฏในพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณา   พลาสติกและความเป็นสมัยใหม่คือสิ่งที่เคียงคู่กัน โซต้า ไอแรน(Psota Iren) นักร้องนักแสดงชาวฮังกาเรียนที่มีชื่อเสียง ได้กล่าวไว้ในแผ่นพับนิทรรศการชุดนี้ว่า “ผู้หญิงยุคใหม่ผู้เปี่ยมด้วยความกระตือรือร้น สิ่งที่เธอมีล้วนทำด้วยพลาสติก” คำกล่าวนี้อาจเป็นคำขวัญของนิทรรศการชุดนี้ก็ว่าได้ และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของนิทรรศการด้วย ในห้องจัดแสดงห้องแรกผู้ชมจะได้ยินโซต้า ไอแรน ร้องเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ ขณะที่ฉายภาพวิดีทัศน์บอกเล่าสังคมในปัจจุบัน   เนื้อหานิทรรศการในส่วนนี้แสดงให้เห็นว่า พลาสติกสามารถเชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันได้อย่างไม่น่าเชื่อ ชีวิตคนเราจะเป็นอย่างไรหากปราศจากพลาสติก ในนิทรรศการห้องเดียวกันนี้ ผู้ชมจะมองเห็นกำแพงที่โปร่งใสจนสามารถมองเห็นคำว่า “พลาสติก” ฝังอยู่ภายในกำแพงนั้น ทูไรน์ ทุนเด้ (Turai Tunde) วิทยากรนำชมและผู้มีส่วนร่วมในการจัดงานนี้กล่าวว่า การใช้พลาสติกเป็นส่วนหนึ่งของการจัดแสดงและจัดวางนิทรรศการ เป็นการเน้นย้ำว่าทำไมถึงได้จัดนิทรรศการชุดนี้ขึ้นมา   นิทรรศการห้องที่2 ต้องการสื่อสารแนวคิด 2 เรื่อง ประการแรก เพราะที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณา ผู้จัดจึงพยายามสะท้อนประเด็นชาติพันธุ์วรรณาในช่วงเวลาปัจจุบันด้วยเนื้อหา หรือประเด็นที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุสิ่งของ ประเด็นเรื่องการผลิต การบริโภค โภชนาการ การแต่งกาย การออกแบบ สันทนาการ และของสะสมที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในแบบแผนชีวิตที่สอดคล้องกับคำว่า “ชาติพันธุ์วรรณา” โดยรูปศัพท์ด้วยการแสดงสาแหรกของพลาสติกตามการเปลี่ยนแปลงของชีวิตในแต่ละช่วงเวลา ประการที่สอง เพื่อสะท้อนปริมาณการใช้พลาสติกที่เพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 70 เป็นต้นมา แม้ว่าบางประเภทยังคงใช้งานอยู่ บางประเภทก็เลิกใช้แล้ว พลาสติก ที่ใช้ห่อหุ้มอาหาร เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น ไดรย์เป่าผม ถุงน่อง และคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ถูกนำมาใช้จัดแสดงเพื่อสื่อให้เห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน แม้ว่าบางครั้งเราจะไม่ได้นึกถึงมันเลยก็ตาม วิทยากรนำชมเล่าถึงที่มาของวัตถุสิ่งของที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ว่า   “เมื่อแนวคิดในการจัดนิทรรศการครั้งนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง พิพิธภัณฑ์ได้ประกาศเชิญชวนให้ผู้เข้าชมนำสิ่งของที่เป็นพลาสติกพร้อมเรื่อง เล่าของตัวเองที่มีต่อพลาสติกชิ้นนั้นมาให้เรา เราได้ของมา 1,500 ชิ้น ความน่าสนใจอยู่ที่ว่าเราจะพิจารณาหรือมองชีวิตผู้คนผ่านสิ่งของที่เป็นพลาสติกพวกนี้ได้มากน้อยเพียงใด และผู้คนคิดอย่างไรกับพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ ตอนที่เราเริ่มพูดคุยเรื่องนี้กันมีการกล่าวถึงพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณาว่าเป็นสถานที่ของโบราณวัตถุของเก่า ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มักนำของเก่า มามอบให้เพราะพวกเขามักจะคิดอยู่เสมอว่าพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณาตั้งขึ้น เพื่อเก็บรักษาวัตถุพวกนี้ แน่นอนว่าเรายินดีที่มีของเก่าๆ เหล่านี้ในพิพิธภัณฑ์ แต่พิพิธภัณฑ์เองต้องการที่จะจัดเก็บของใหม่ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงหยิบยืมวัตถุสิ่งของจากผู้ชม และก็ได้จัดทำนิทรรศการขึ้นอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งต่างไปจากการจัดครั้งอื่นๆ ที่อาศัยการหยิบยืมวัตถุจากองค์กรที่มีความร่วมมือกัน แต่ในครั้งนี้เราหยิบยืมสิ่งของจากผู้ชม นั่นคือความพิเศษของนิทรรศการ”   แปลและเรียบเรียงจาก http://www.heritageradio.net/cms2/heritage-memory-single-view/article/plastic-and-ethnography/