งานเสวนาเรื่อง "พิพิธภัณฑ์การเมืองไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ในอันดับที่สองของประเทศ และเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอดีตตัวตนชัดเจน มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของวังหน้าในสมัยรัตนโกสินทร์ และได้ผ่านประสบการณ์และเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองหลายครั้ง มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการสร้างผู้นำประเทศมาหลายสมัย และมีส่วนสำคัญในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม ทั้งนี้ ยังเป็นพื้นที่ที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ต่อการเมืองสมัยใหม่ ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดทำพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ให้เป็นเขตอนุรักษ์และคุ้มครองด้านโบราณคดีและศิลปวัฒนธรรม ดังนั้น ในปี 2547 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีอายุครบ 70 ปี จึงวางแผนจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอประวัติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สอดคล้องเหมาะสมยิ่งกับภาวการณ์ปัจจุบัน
 
หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์และฝ่ายส่งเสริมและพัฒนา หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้ร่วมมือกันจัดงานเสวนาเรื่อง "พิพิธภัณฑ์การเมืองไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเสวนาในฐานะผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ในโลกปัจจุบันได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอประวัติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกทั้งเป็นการจุดประกายความคิดเรื่องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะพิพิธภัณฑ์การเมืองไทย เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประวัติศาสตร์การเมืองไทยกับความเป็นมาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้นการเสวนายังมุ่งที่จะปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแหล่งการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อดำรงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ งานเสวนาจึงได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ อาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว คุณจุลลดา มีจุล และคุณชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ ในการมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
 
เนื้อหาที่พูดคุยกันในการเสวนาประกอบด้วยประเด็นสำคัญๆ และน่าสนใจที่พอสรุปได้ ดังนี้ คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการหนังสือศิลปวัฒนธรรม ได้จุดประเด็นให้เห็นว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยยังไม่เคยมีพิพิธภัณฑ์การเมืองเกิดขึ้น ในสังคมไทย พิพิธภัณฑ์โดยส่วนใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ (Art Museum) ซึ่งรูปแบบการจัดแสดงในแต่ละที่นั้นยังคงมีรูปแบบเดียวกัน คือ การจัดแสดงเทวรูป พระพุทธรูป หรือของโบราณ ซึ่งไม่มีอะไรเคลื่อนไหว แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น มีหลายฝ่ายพยายามจัดทำขึ้น เช่น พิพิธภัณฑ์แรงงานที่เนื้อหาในเชิงการเมือง แต่การจัดแสดงยังคงรูปแบบเดิมอยู่คือ การเอาของมาตั้ง เอาโปสเตอร์มาติดอยู่เท่านั้น ไม่มีความเคลื่อนไหว ไม่มีชีวิต สำหรับความคิดเรื่องการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเมืองไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในอนาคตนั้น คุณสุพจน์เห็นว่าโดยชาติวุฒิ คุณวุฒิ และวัยวุฒิของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความเหมาะสมที่สุดที่จะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเมืองขึ้น โดยเสนอว่า หากมองในด้านชาติวุฒิ ธรรมศาสตร์เกิดมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 2475 ประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์ก็คือ ประวัติศาสตร์การเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา การก่อตั้งครั้งแรกก็เพื่อที่จะสร้างบุคลากรมารับระบอบใหม่ คือ ระบอบประชาธิปไตย แม้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สร้างมาก่อนก็จริง แต่จุฬาฯ เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเพื่อรองรับระบอบเก่า ธรรมศาสตร์มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ในการผลิตบุคลกรออกไปสู่สังคม และบุคคลในที่นี้ก็ไปมีบทบาททางการเมืองระดับชาติทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ในด้านคุณวุฒิ ภาระดั้งเดิมของธรรมศาสตร์คือ บทบาทตลาดวิชา ส่วนด้านวัยวุฒิ ในปี 2547 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครบรอบ 70 ปี
 
ดังนั้นการกำหนดประเด็นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ควรคำนึงถึงพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่จำเป็นต้องกังวลถึงเงินลงทุนจำนวนมากหรือเรื่องระยะเวลาซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ เราสามารถทำธรรมศาสตร์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่ได้แปลว่า จะยกผู้คนออกไปให้หมดเหลือแต่ตึกร้างๆ แล้วก็มาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ หากยังสามารถคงสภาพการเรียนการสอน ผู้คนก็ยังคงเดินเหินกันตามปกติ แม้กระทั่งผู้คนที่เดินไปเดินมา แม่ค้าที่มาขายของยังท่าพระจันทร์ หรือการชุมนุมประท้วงหรือกิจกรรมต่างๆนานา ธรรมศาสตร์ในสภาพอย่างนี้ก็น่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ในตัวมันเอง เพียงแต่อาจจะมีอาคารสักหลังหนึ่ง เช่น ตึกโดมเป็นที่ที่แสดงวัตถุหรือเอกสารเหตุการณ์อะไรก็ตาม
 
ในขณะที่คุณจุลลดา มีจุล นักวิชาการประจำศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SPAFA) กล่าวว่า การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ควรมีองค์ประกอบสำคัญคือ จิตวิญญาณและความศรัทธาสถาบันในตัวพิพิธภัณฑ์ ความเชื่อมั่นในตัวสถาบันว่าจะต้องเป็นประโยชน์ต่อสังคม ภาระขององค์กรคือ การช่วยให้ชุมชนในบริเวณนั้นให้เข้าใจสาระที่เสนอออกไป การเมืองเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอยู่แล้วในตัวของมันเอง เพราะฉะนั้นการนำเสนออาจเป็นเรื่องยากที่จะเอาเรื่องการเมือง หรือเรื่องที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราไปนำเสนอกับคนที่อยู่รอบด้าน
 
ทีมงานมีความศรัทธาอยากให้มีพิพิธภัณฑ์ขึ้นนั้นไม่เพียงพอ แต่จะต้องมีมากไปกว่านั้น ต้องศรัทธาที่จะทำงานตรงนี้ อีกอย่างหนึ่งพิพิธภัณฑ์ต้องเป็นสถานที่ที่เมื่อคนทำงานร่วมกันแล้วต้องมีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน และไม่ใช่เพียงแต่อยู่ภายในตัวพิพิธภัณฑ์เอง แต่ก็ต้องนำออกสู่ข้างนอกด้วย สิ่งสุดท้ายที่ตัวพิพิธภัณฑ์ควรจะมีก็คือ การให้บริการทุกคนที่ทำงานอยู่นั้นคือ ต้องมีใจที่จะนำเสนอ บริการให้กับผู้เข้าชมให้เกิดความประทับใจ เมื่อเขาเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์แล้ว เขาสามารถได้อะไรกลับไปและอย่างไร ถ้าพิพิธภัณฑ์การเมืองของธรรมศาสตร์สามารถเกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ว่าควรจะตั้งคำถามก่อนที่จะให้ตัวพิพิธภัณฑ์นี้เกิดขึ้นมา ว่า why who และ how ตัวพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่ตัวอาคารที่เก็บอย่างเดียว แต่ว่าพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นสถาบันทางวัฒนธรรมที่ค่อนข้างซับซ้อน เป็นสถานที่เกี่ยวข้องผูกพันกับการเก็บสะสม รวบรวม แล้วก็รักษาวัตถุที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ในขณะเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ต้องสื่อสารความหมายของ collections นั้น ออกสู่สาธารณชนได้ เรื่องที่ควรคำนึงถึงเพื่อให้สาธารณชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากพิพิธภัณฑ์ คือ หลักการสื่อข้อมูลการจัดแสดง นโยบายพิพิธภัณฑ์เข้าสู่ชุมชน การโฆษณาประชาสัมพันธ์ สิ่งพิมพ์ต่างๆ การจัดนิทรรศการ การจัดแสดง เมื่อพูดถึงนิทรรศการควรแบ่งออกเป็นอย่างน้อย 2 อย่าง คือ นิทรรศการถาวร และนิทรรศการชั่วคราว การจัดนิทรรศการชั่วคราวทำให้มีกิจกรรมบ่อยครั้งขึ้น แต่ความจริงแล้วกิจกรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่นิทรรศการอย่างเดียว แต่ว่าเป็นกิจกรรมที่จะทำให้เกิดการติดต่อกับชุมชน ให้ผู้ชมได้มามีกิจกรรมตรงนี้มากขึ้น ควรมีการนำเสนอในหลายรูปแบบที่ให้ผู้ชมสามารถเลือกได้ว่าอยากจะเดินไปทางไหน
 
สำหรับทัศนะของนักวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์อย่าง คุณชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการประจำศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้เสนอความเห็นว่า พื้นฐานในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยวัตถุสะสม การทำวิจัยที่จะต้องมีคนปฏิบัติงานที่มีความรู้ทางด้านนี้และอย่างต่อเนื่อง และการสื่อสารกับคนภายนอก การสื่อสารในที่นี้ไม่ได้หยุดหรือจบเพียงแค่นิทรรศการเป็นคำตอบสุดท้าย แต่มีได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ ที่เป็นลักษณะกิจกรรมสำหรับเด็ก หรือการออกไปหาผู้ดูที่เป็นคนข้างนอกเช่นเดียวกับคุณจุลลดาได้เสนอไว้ ส่วนในประเด็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับพิพิธภัณฑ์การเมืองไทย คุณชีวสิทธิ์เห็นว่าไม่ควรมองพิพิธภัณฑ์การเมืองไทยที่อยากจะตั้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเพียงแค่เรื่องประวัติศาสตร์ เพราะว่าการเรียนรู้ทางการเมืองโดยเฉพาะการเมืองแบบประชาธิปไตย มันจะต้องไปพร้อมกับสังคมที่ต้องวิวัฒน์ไปด้วยกัน พิพิธภัณฑ์เป็นพื้นที่ทางการเมือง เราจะต้องคอยสร้างสิ่งที่เป็นเหมือนกับกิจกรรมให้มันเกิดตลอดเวลา ถ้าอยากจะทำพิพิธภัณฑ์การเมือง ก็อย่าหยุดเพียงแค่เรื่องประวัติศาสตร์ แต่ให้มองเรื่องการเมืองที่เป็นประเด็นหรือเรื่องที่ทุกคนในสังคมไทยจะต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน ถ้าทำได้ก็จะทำให้ความมีชีวิตเกิดขึ้นได้เช่นกัน
 
สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิท่านสุดท้าย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ให้แง่คิดที่น่าสนใจว่า ถ้าจะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นนั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราจะเอาอะไรใส่เข้าไป พิพิธภัณฑ์ไทยมันเปลี่ยนมาจากพิพิธภัณฑ์แบบประวัติศาสตร์ศิลปะ เข้ามาเป็นทฤษฎีมหาบุรุษ ซึ่งหนีไม่พ้น เราคุ้นกับงานของอาจารย์นิธิหรืองานของอาจารย์ธงชัย เราจะเห็นว่า กรอบวิธีคิดที่กำหนดว่าการจัดพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างไร คือกรอบที่เรียกว่า ราชาชาตินิยมกับทฤษฎีของมหาบุรุษคือมองจาก Great Man Theory เพราะฉะนั้นแปลว่าประวัติศาสตร์ของชาติไทย เวลาจัดแล้วมันหนีไม่พ้น คนไทยมาจากไหน เป็นการแย่งพื้นที่กันทางการเมืองว่าจะเสนออะไร ถ้าพิพิธภัณฑ์การเมืองที่ธรรมศาสตร์เสนอในกรอบที่ว่านี้คือ ราชาชาตินิยมกับมหาบุรุษ จะไม่มีคนเข้า เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ เรื่องพิพิธภัณฑ์ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดความสมดุลกันระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่ พิพิธภัณฑ์ก็คือพิพิธภัณฑ์ แต่ใครทำ ใครใส่อะไรเข้าไป ตรงนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่ ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตายหรือมีชีวิต ถ้าขาดเรื่องเจตจำนงที่จะมี ศรัทธาที่จะมี ทรัพยากรทั้งเงินและคน คนที่แปลว่าปัญญา มันก็เป็นสิ่งที่ไม่มีอาจจะดีกว่ามี
 
สำหรับประเด็นสุดท้ายในวงเสวนา ดร. พิภพ อุดร ผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ ก็เสนอความเห็นน่าสนใจว่า เราพูดถึง Space of Politics ว่าเป็นการแย่งพื้นที่ จริงๆแล้วควรจะมองว่ามันเป็น Space of Value Creation คือเป็นการใช้พื้นที่เพื่อสร้างคุณค่าบางอย่าง เรามองว่าธรรมศาสตร์เหมาะกับการทำพิพิธภัณฑ์ทางการเมือง แต่คิดว่าธรรมศาสตร์ต้องกลับมาตอบตัวเองให้ได้ว่า เราจะใช้พื้นที่ตรงนี้ทำอะไรกันแน่ การสร้างพิพิธภัณฑ์โดยที่ไม่เชื่อมโยง หรือคิดแยกส่วนจากปรัชญาการก่อตั้งมหาวิทยาลัย อาจจะทำไม่ได้ ต้องกลับมามองว่าธรรมศาสตร์จริงๆ แล้วต้องการวางบทบาทตัวเองที่แท้จริงอย่างไร พันธกิจที่เรามีตอนนี้เราควรจะต้องมุ่งเน้นไปทางไหน การมองพิพิธภัณฑ์การเมืองเพียงแค่ว่าตั้งขึ้นมาชิ้นหนึ่งในธรรมศาสตร์ มันตายแน่นอน จะไม่มีความหมายและเป็นประโยชน์เลย ธรรมศาสตร์ต้องกลับมาคิดว่าว่าปรัชญาของการก่อตั้งธรรมศาสตร์นั้นคืออะไร Value ที่ตัวเองต้องการสร้างให้สังคมคืออะไร
 
อย่างไรก็ดีการเสวนาครั้งนี้จบลงด้วยคำพูดของผู้เข้าร่วมเสวนาท่านหนึ่งที่กล่าวว่า ธรรมศาสตร์อาจทำพิพิธภัณฑ์ แต่ขอให้ทำให้ดี ทำให้เข้มข้นเฉพาะบางเรื่องที่เป็นจุดเด่น แล้วก็ไปเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้คนมาดูที่ธรรมศาสตร์แล้วก็ศึกษาต่อด้วยตัวเอง น่าจะเป็นอย่างนั้นมากกว่า
 
-----------------------------------------
* ซี บุญยโกศล นักศึกษาปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
** เป็นการสรุปความจากการเสวนาเรื่อง "พิพิธภัณฑ์การเมืองไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" วันที่ 14 กรกฎาคม 2547 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์. ตีพิมพ์ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 9 (มิถุนายน 2548 - พฤษภาคม 2549),34-37.
 
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 21 มีนาคม 2556