พิพิธภัณฑฯไทยกับการไล่ตามความฝัน

การมีอยู่และดำเนินไปของพิพิธภัณฑสถานเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของคนหลายกลุ่มในสังคมไทยนอกเหนือไปจากคนที่เกี่ยวข้องกับงานพิพิธภัณฑฯโดยตรงaความสนใจต่อพิพิธภัณฑฯของแต่ละคนมีแง่มุมและความเข้มข้นแตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัยหลายประการ บางคนสนใจเพราะชอบของเก่าที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑฯ บางคนเห็นว่างานพิพิธภัณฑฯ เป็นงานที่น่าสนใจ บางคนสนใจเพราะมีเคยประสบการณ์ที่ดีในการเข้าชมพิพิธภัณฑฯ บางคนชอบกิจกรรมที่พิพิธภัณฑฯจัด ในขณะที่บางคนอาจถูกบังคับให้ต้องสนใจเพราะถูกมอบหมายให้ทำพิพิธภัณฑฯ เป็นต้น แต่สิ่งที่ทำให้รู้ว่ามีคนสนใจพิพิธภัณฑฯมากน้อยแค่ไหน ก็คือเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับพิพิธภัณฑฯที่ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอๆ เสียงเหล่านี้บ่งชี้ว่าไม่ว่าการวิจารณ์จะเป็นเชิงบวกหรือลบ อย่างน้อยผู้วิจารณ์ก็ให้ความสนใจกับพิพิธภัณฑฯ
 
ในความสนใจและการรับรู้เกี่ยวกับงานพิพิธภัณฑฯไทย มีสิ่งหนึ่งที่หลายคนคิดไปในทางเดียวกัน ก็คือ พิพิธภัณฑฯที่มีอยู่แล้วมีแต่ของเก่าและการจัดแสดงล้าสมัย ขาดความเคลื่อนไหว และไร้ชีวิต บางคนมีความเห็นว่าการนำสื่อสมัยใหม่มาใช้ในพิพิธภัณฑฯจะช่วยสร้างชีวิตให้พิพิธภัณฑฯได้ แต่หลายคนไม่รู้ว่ามีพิพิธภัณฑฯหลายแห่งได้ลองนำแนวทางดังกล่าวมาใช้แล้ว กลับพบว่าสื่อทันสมัยอาจช่วยสร้างความเคลื่อนไหวและความน่าตื่นเต้นให้พิพิธภัณฑฯได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่ไม่ใช่ความมีชีวิตชีวาที่ยั่งยืนอย่างที่คาดว่าจะได้เห็น และเมื่อถามว่า อะไรคือสิ่งที่เราฝันอยากจะให้พิพิธภัณฑฯไทยเป็น และเป็นอย่างไร คำตอบหนึ่งที่ได้ยินทั้งจากคนทำงานพิพิธภัณฑฯและผู้ที่สนใจงานพิพิธภัณฑฯในบ้านเรา ก็คือ อยากให้เหมือนอย่างพิพิธภัณฑฯในต่างประเทศ (มีบางคนฝันถึงสมิธโซเนียน ในอเมริกา) และเมื่อถามต่อไปว่าพิพิธภัณฑฯในต่างประเทศเป็นอย่างไรถึงอยากให้พิพิธภัณฑฯไทยเป็นอย่างนั้นบ้าง ก็ได้คำตอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การจัดแสดงดีมีรูปแบบน่าสนใจและทันสมัย ดูแล้วสนุก มีนิทรรศการพิเศษระดับโลก ห้องจัดแสดงติดแอร์ มีกิจกรรมมากมายให้ผู้เข้าชมกลุ่มต่างๆ ได้เข้าร่วม มีร้านอาหาร-ร้านหนังสือ-ร้านขายของที่ระลึก การเดินทางสะดวก เจ้าหน้าที่ต้อนรับดี ฯลฯ รายละเอียดทั้งหลายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑฯในฝันที่หลายคนปรารถนาจะได้เห็น หากแต่เมื่อดูสถานการณ์ปัจจุบันของพิพิธภัณฑฯไทย เราอาจจะต้องยอมรับว่า ความฝันที่หลายคนอยากให้พิพิธภัณฑฯไทยไปให้ถึงนั้น ไม่ได้อยู่ในระยะที่ใกล้นัก และคงต้องใช้เวลามากพอควรที่จะไล่ตามให้ทัน
 
สถานการณ์ปัจจุบันของพิพิธภัณฑฯไทย
 
แม้ว่าประเทศไทยมีประวัติการเริ่มต้นของงานพิพิธภัณฑสถานที่เก่าแก่ที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย และอาจกล่าวได้ว่ามีจำนวนพิพิธภัณฑสถานมากที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เมื่อมองในแง่ของการพัฒนาให้เป็นไปตามแนวทางที่เป็นมาตรฐานงานพิพิธภัณฑฯแล้ว เราคงต้องยอมรับว่า ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่เริ่มต้นงานพิพิธภัณฑฯช้ากว่าเรา มีการพัฒนาพิพิธภัณฑฯที่รุดหน้าไปอย่างมากในหลายๆด้าน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะหลายประเทศให้ความสำคัญของการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานพร้อมไปกับการพัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม และมีการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องเพื่อให้พิพิธภัณฑฯเป็นแหล่งพัฒนาความรู้ สร้างความตระหนักคิด และปลูกจิตสำนึกที่ดีด้านต่างๆ แก่ประชาชน
 
ปัจจุบันพิพิธภัณฑฯไทยอยู่ภายใต้การดำเนินงานของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีความเป็นมา รูปแบบการจัดการ ศักยภาพ และปัญหาที่ต้องเผชิญแตกต่างกัน ในที่นี้จะอาจแบ่งเป็นกลุ่มพิพิธภัณฑฯ ที่อยู่ภายใต้องค์กรของรัฐและกลุ่มที่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กลุ่มที่สองเป็นพิพิธภัณฑสถานที่ดำเนินงานโดยหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ ที่นอกเหนือจากกรมศิลปากร และกลุ่มที่สามเป็นพิพิธภัณฑสถานในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินงานโดยวัด ชุมชนและนักสะสมเอกชนในท้องถิ่น
 
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 44 แห่งทั่วประเทศ มีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในกรุงเทพฯ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกที่มีขนาดพื้นที่และบุคลากรดำเนินงานมากที่สุด และยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในภูมิภาคอีกหลายแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในอดีตเมืองหลวงเก่าหรือในแหล่งโบราณคดีสำคัญ เนื่องจากความเกี่ยวพันกับภารกิจตามกฎหมายของกรมศิลปากรในการปกป้องดูแลโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุที่มีคุณค่าระดับชาติ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและในจังหวัดสุโขทัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองในจังหวัดสุพรรณบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงในจังหวัดอุดรธานี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายในจังหวัดนครราชสีมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยในจังหวัดลำพูน เป็นต้น
 
ที่ผ่านมาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีการจัดแสดงด้วยการนำเสนอโบราณวัตถุศิลปวัตถุเป็นหลัก จนถูกมองว่าเป็นคลังเก็บวัตถุ และเกิดกระแสวิจารณ์ว่าการจัดแสดงลักษณะดังกล่าวว่าไม่ได้แสดงบริบททางวัฒนธรรมและสังคมของวัตถุและยังขาดการนำเสนอเรื่องราวของท้องถิ่น จนนำไปสู่การปรับปรุงการจัดแสดงในพิพิธภัณฑฯที่มีอยู่เดิมบางแห่งและพัฒนาการจัดแสดงพิพิธภัณฑฯ ที่ตั้งขึ้นใหม่ให้เป็นรูปแบบที่เรียกว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมือง ที่มีการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางวัฒนธรรมของเมืองหรือจังหวัดที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินั้นตั้งอยู่ มีจุดเริ่มต้นที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่นเป็นแห่งแรก และพัฒนาต่อๆมาที่พิพิธภัณฑแห่งชาติร้อยเอ็ด ชุมพร สุพรรณบุรี เป็นต้น การปรับตัวดังกล่าวได้สร้างความพึงพอใจต่อผู้เข้าชมบางกลุ่มเท่านั้น หลายคนที่เคยเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในแหล่งโบราณคดีของกรมศิลปากรมาก่อน กลับรู้สึกว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เกิดใหม่หลายแห่งมีโบราณวัตถุศิลปวัตถุน้อยเกินไป
 
เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึงความไร้ชีวิตของพิพิธภัณฑฯ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเหล่านี้ก็มักจะเป็นเป้าหมายหลักของการวิจารณ์อยู่เสมอ ทั้งๆ ที่ได้พยายามปรับตัวอย่างมากแล้วตามทรัพยากรและปัจจัยที่มีอยู่ จึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น บุคลากรไม่เพียงพอกับภารกิจของงาน งบประมาณสนับสนุนมีจำกัด การขาดการพัฒนาการหาแหล่งเงินอื่นมาสนับสนุนการดำเนินงาน และการขาดการพัฒนาความรู้ที่จำเป็นต่องานพิพิธภัณฑฯ อย่างต่อเนื่องและเท่าทันต่อความต้องการของสังคม หากมีการปรับเปลี่ยนระบบบริหารองค์กรให้ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น ได้รับการสนับสนุนบุคลากรและงบประมาณมากขึ้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจะสามารถพัฒนาไปได้อีกมาก เพราะมีศักยภาพในด้านบวกอยู่แล้วหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการมีระบบองค์กรที่มั่นคงและดำเนินงานได้ต่อเนื่อง มีโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่มีคุณค่าจำนวนมาก มีนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและบุคลากรที่สั่งสมประสบการณ์การทำงานพิพิธภัณฑฯ มายาวนาน และมีอาคารพิพิธภัณฑสถานหลายแห่งที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม เป็นต้น
 
นอกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแล้ว ยังมีพิพิธภัณฑฯ อีกหลายแห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานราชการอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว และได้เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตของพิพิธภัณฑฯ เหล่านี้ มีปรากฏการณ์บางอย่างที่อาจให้แง่มุมที่พิพิธภัณฑฯ ที่จะก่อตั้งขึ้นใหม่นำไปพิจารณาได้ คือ หน่วยงานราชการ สถานศึกษา และองค์กรส่วนท้องถิ่นหลายแห่งสร้างพิพิธภัณฑฯขึ้น โดยมุ่งหมายที่จะใช้เป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาและภารกิจของหน่วยงาน หรือเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์วัฒนธรรมตามนโยบายการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมขององค์กร หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น บางแห่งได้ปรับใช้พื้นที่อาคารเก่าของหน่วยงานเป็นพิพิธภัณฑฯ บางแห่งสร้างอาคารพิพิธภัณฑฯหลังใหม่ และด้วยเหตุที่พิพิธภัณฑฯ เหล่านี้ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างค่อนข้างสูงและเกิดขึ้นในช่วงที่สื่อการจัดแสดงมีการพัฒนาขึ้นมาก จึงมีรูปแบบการนำเสนอนิทรรศการที่ทันสมัยและดูจะเป็นที่สนใจมากกว่าเมื่อเทียบกับพิพิธภัณฑฯ รุ่นเก่าที่จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุเป็นหลัก แต่ปัญหาหนึ่งที่พบในพิพิธภัณฑฯ เหล่านี้ ก็คือ การไม่มีแผนงานที่ชัดเจนในการก่อตั้งให้เป็นพิพิธภัณฑฯที่ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ากับงบประมาณการก่อสร้างที่ลงทุนไป ดังนั้นเมื่อผ่านพ้นพิธีเปิดไปแล้ว หลายแห่งจึงไม่มีบุคลากรประจำที่จะสร้างกิจกรรมทางวิชาการและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ พิพิธภัณฑฯจึงกลายเป็นเพียงงานฝากที่ขาดผู้รับผิดชอบและไม่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลายแห่งจึงไม่สามารถเปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน เมื่อต้องการชมต้องติดต่อไปล่วงหน้า บางแห่งใช้เป็นเพียงที่รับรองแขกขององค์กร ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้สำหรับประชาชนทั่วไปอย่างที่ควรจะเป็น
 
การเกิดของพิพิธภัณฑฯ ที่ขาดการวางแผนงานด้านทรัพยากรที่จำเป็น เช่น บุคลากร งบประมาณ และการดำเนินงาน ทำให้พิพิธภัณฑฯ เหล่านี้ขาดความมั่นคงในรูปขององค์กร และดำรงอยู่อย่างไร้ทิศทาง เมื่อประกอบเข้ากับการขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้พิพิธภัณฑฯ หลายแห่งไร้พลังที่จะเติบโตต่อไปได้ในฐานะแหล่งการเรียนรู้และปลูกจิตสำนึกที่ดีแก่คนในชุมชนและสังคม และกำลังอยู่ระหว่างค้นหาทางเลือกว่าจะอยู่นิ่งอย่างไร้เรี่ยวแรงหรือจะลุกขึ้นก้าวต่อไป?
 
พิพิธภัณฑฯท้องถิ่นเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของพิพิธภัณฑฯไทยซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในประเทศและแสดงบทบาทที่น่าสนใจอย่างยิ่ง พิพิธภัณฑฯเหล่านี้ก่อตั้งขึ้นในหลายลักษณะ เช่น พิพิธภัณฑฯวัด ที่เกิดขึ้นจากพระภิกษุผู้สนใจเก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ที่ตกทอดมาในวัดแล้วจัดตั้งขึ้นเป็นพิพิธภัณฑฯ มีการสะสมเพิ่มเติมโดยการเสาะแสวงหาหรือรับบริจาคจากญาติโยมที่ศรัทธา การสนับสนุนส่วนมากมาในรูปของการบริจาคเงินและสิ่งอำนวยความสะดวกให้พิพิธภัณฑฯจากผู้มีจิตศรัทธา พิพิธภัณฑฯพื้นบ้าน ที่เกิดจากนักสะสมที่เก็บรวบรวมสิ่งของที่ตนสนใจเพื่อตอบสนองความอยากรู้ของตนเอง แล้วขยายมาเป็นพิพิธภัณฑฯ ตามกำลังกายและกำลังทรัพย์ของตนเอง โดยไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นยังเกิดจากกลุ่มชาวบ้าน ที่เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านที่กำลังจะสูญหายมาจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑฯ เพื่อให้คนท้องถิ่นได้เข้าใจและภูมิใจในรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเอง และเผยแพร่วัฒนธรรมของตนให้คนต่างถิ่นได้เรียนรู้ โดยสิ่งของในพิพิธภัณฑฯพื้นบ้านอาจเป็นของเฉพาะประเภทหรือหลากหลายประเภทที่สะท้อนคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีพิพิธภัณฑฯท้องถิ่นหลายแห่งได้เก็บรักษาสิ่งของที่มีคุณค่ามากทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไว้ด้วยเช่นกัน
 
พิพิธภัณฑฯท้องถิ่นของไทยมีรูปแบบการดำเนินงานที่หลากหลายต่างกันไป เช่น พิพิธภัณฑฯวัดส่วนใหญ่ดำเนินงานโดยพระสงฆ์และผู้ที่ทำงานให้วัด พิพิธภัณฑฯของนักสะสมเอกชนส่วนมากดำเนินงานด้วยระบบครอบครัว และพิพิธภัณฑฯชุมชนมักมีกรรมการดำเนินงาน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันของพิพิธภัณฑฯเหล่านี้ก็คือ ส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนใดๆ จากภาครัฐ และขาดปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ ที่จะพัฒนางานให้เป็นไปตามกระบวนการทางพิพิธภัณฑฯ ปัญหาเร่งด่วนที่พิพิธภัณฑฯท้องถิ่นเหล่านี้เผชิญอยู่ก็คือ วัตถุที่มีคุณค่าจำนวนไม่น้อยที่เก็บรวบรวมไว้กำลังอยู่ในสภาวะเสื่อมสภาพ เพราะการจัดเก็บหรือจัดแสดงไม่ถูกวิธีและขาดการดูแลเอาใจใส่ ปัญหาการโจรกรรม และการขาดงบประมาณสนับสนุนและบุคลากรที่จะดูแลและดำเนินงานให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งที่หลายแห่งสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวแก่ท้องถิ่นได้ไม่น้อย
 
อย่างไรก็ตามพิพิธภัณฑฯท้องถิ่นของไทย มีจุดเด่นอยู่ที่ความอดทน เข้มแข็ง และการทำงานด้วยใจรักของผู้ก่อตั้งและผู้เกี่ยวข้องทำให้หลายแห่งดำรงอยู่ได้ยาวนาน หลายแห่งมีการพัฒนากระบวนการการสั่งสมและถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการบอกเล่าหรือการสาธิตจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ทำให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่แท้จริง อย่างที่พิพิธภัณฑฯซึ่งจัดแสดงอย่างทันสมัยหลายแห่งยังไม่ได้ทำ
 
พิพิธภัณฑฯไทยกำลังพัฒนาไปทางไหน ?
 
เมื่อพูดถึงการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานในบ้านเรา ที่ผ่านมาหลายแห่งมักจะให้ความสำคัญไปที่การพัฒนารูปแบบนิทรรศการให้น่าสนใจและทันสมัย โดยการนำสื่อสำเร็จรูปมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นป้ายคำบรรยายประกอบภาพสีสันสดใสสะอาดตา หุ่นจำลองพร้อมฉากเหตุการณ์ วีดิทัศน์ และสื่อคอมพิวเตอร์ ซึ่งเมื่อเปิดให้บริการในระยะแรกๆ ก็จะสามารถสร้างความตื่นเต้นและดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้มาก แต่เมื่อนานไปพิพิธภัณฑฯหลายแห่งประสบปัญหาสื่อชำรุด และขาดบุคลากรและงบประมาณในการซ่อมบำรุง ทำให้สื่อทันสมัยเหล่านี้ใช้การไม่ได้ ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของเนื้อหานิทรรศการและต่อความพึงพอใจของผู้เข้าชม ดังนั้นหากจะนำสื่อสมัยใหม่มาแก้ไขความไร้ชีวิตของพิพิธภัณฑฯ ก็ควรจะต้องชั่งน้ำหนักกับปัญหาด้านการบำรุงรักษาและการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาวควบคู่กันไปด้วย
 
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในส่วนของเนื้อหานิทรรศการพบว่า นิทรรศการในพิพิธภัณฑสถานหลายแห่งเต็มไปด้วยเนื้อหาที่ถ่ายทอดจากมุมมองของนักวิชาการ มีข้อความจำนวนมากเกินกว่าที่ผู้ชมคนหนึ่งจะสามารถอ่านได้ทั้งหมดในการชมพิพิธภัณฑฯในหนึ่งครั้งหรือมากกว่านั้น หรือบางครั้งก็เต็มไปด้วยด้วยศัพท์ทางวิชาการที่ยากต่อความเข้าใจของผู้เข้าชม โดยเฉพาะเยาวชนและผู้ที่ไม่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องราวที่นิทรรศการนั้นนำเสนอมาก่อน สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเพราะกระบวนการจัดนิทรรศการของพิพิธภัณฑฯ ในบ้านเราส่วนใหญ่มีระยะเวลาเตรียมการและดำเนินงานไม่มากนัก เนื่องด้วยปัญหาระบบการจัดสรรงบประมาณ ภาระงานของผู้จัดนิทรรศการ และปัจจัยอื่นๆ ตามบริบทวัฒนธรรมการทำงานของคนไทย ทำให้นิทรรศการซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้สื่อสารระหว่างพิพิธภัณฑฯและผู้เข้าชมขาดมิติการเรียนรู้ที่ให้ความเพลิดเพลิน การพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม การปลูกจิตสำนึกในเชิงศีลธรรม หรือ ความตระหนักคิดเรื่องปัญหาส่วนรวม และอื่นๆ อีกมากมายที่พิพิธภัณฑฯสามารถสื่อกับผู้ชมได้ นิทรรศการในพิพิธภัณฑฯไทยจึงขาดความลุ่มลึกและความน่าสนใจ เมื่อเทียบกับนิทรรศการในพิพิธภัณฑฯของหลายๆ ประเทศที่มีการเตรียมการล่วงหน้าเป็นเวลานาน มีกระบวนการพัฒนาเนื้อหานิทรรศการ การคัดสรรตัวสาร และเลือกใช้สื่อที่เหมาะสมต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนกลุ่มต่างๆ และมีการประเมินผลนิทรรศการในช่วงต่างๆ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าควรจะต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอะไรในนิทรรศการเพื่อให้สื่อสารกับคนดูได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในครั้งต่อไป นิทรรศการจึงมีโอกาสที่จะพัฒนาควบคู่ไปกับรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา เราคงได้แต่หวังว่าเมื่อไรที่กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นในพิพิธภัณฑฯไทย เมื่อนั้นการนำสื่อสมัยใหม่ราคาแพงมาใช้ในพิพิธภัณฑฯอย่างไม่คุ้มค่าโดยขาดการพัฒนาเนื้อหาสาระที่เหมาะสมกับการเรียนรู้จะได้รับการทบทวนกันเสียที
 
นอกจากปัญหาของพิพิธภัณฑฯเองแล้ว เราคงต้องยอมรับว่ามีข้อสังเกตบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้พิพิธภัณฑฯเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเฉพาะการเข้าชมพิพิธภัณฑฯของกลุ่มนักเรียนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของพิพิธภัณฑฯหลายแห่ง การเข้าชมโดยส่วนมากมักจะมาเป็นกลุ่มใหญ่และบ่อยครั้งที่มีผู้ชมมากกว่า 100 คนขึ้นไป โดยไม่มีการเตรียมตัวมาล่วงหน้า และมักขอให้พิพิธภัณฑฯจัดวิทยากรนำชมให้นักเรียนเป็นกลุ่ม ครูมักจะมอบหมายงานให้ก่อนเข้าชม นักเรียนจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการจดข้อความที่ฟังจากเจ้าหน้าที่นำชมของพิพิธภัณฑฯหรือจากป้ายคำบรรยายในห้องจัดแสดง รูปแบบการเรียนรู้จึงมีลักษณะกึ่งบังคับและขาดการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัยและตรงกับความสนใจของแต่ละคน
 
ดังนั้นการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑฯ จึงเป็นสิ่งที่พิพิธภัณฑฯในหลายๆ ประเทศให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนางานด้านอื่นๆ โดยหลายแห่งใช้วิธีการทำงานร่วมกับครูจากโรงเรียนในชุมชนเพื่อร่วมกันคิดรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับนักเรียนในระดับต่างๆ เช่น การกำหนดกระบวนการเข้าชมพิพิธภัณฑฯโดยให้ครูเป็นผู้ปูพื้นฐานในเรื่องราวที่ต้องการเรียนรู้มาจากโรงเรียน และกำหนดกิจกรรมให้เด็กทำเมื่อมาถึงพิพิธภัณฑฯ เช่น การวาดภาพ ระบายสี การค้นหาคำตอบจากแผ่นคำถามซึ่งครูเป็นผู้ออกแบบหรือบางพิพิธภัณฑฯก็จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการเข้าชมของนักเรียน จากนั้นเมื่อกลับถึงโรงเรียนก็จะให้นักเรียนได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเข้าชมพิพิธภัณฑฯ ระหว่างกันหรือจัดนิทรรศการภาพวาด ภาพระบายสีจากการไปชมพิพิธภัณฑฯ รูปแบบการเรียนรู้เช่นนี้เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑฯในเชิงคุณภาพ มากกว่าการเน้นที่ปริมาณดังที่เป็นอยู่ในบ้านเรา
 
นอกจากการสร้างรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายหลักดังกล่าวแล้ว ในปัจจุบันพิพิธภัณฑฯหลายแห่งปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่การให้บริการด้านอื่นๆ ควบคู่กันไป เช่น การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยว และการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการใช้เวลาว่างร่วมกันของครอบครัว รวมไปถึงการวางแผนกิจกรรมที่จะดึงดูดให้ผู้ชมกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาร่วมกิจกรรมในพิพิธภัณฑฯมากขึ้น การจะพัฒนาการใช้ประโยชน์พิพิธภัณฑฯได้มากน้อยเพียงใดนั้น พิพิธภัณฑฯควรมีนโยบายและวิสัยทัศน์ด้านการตลาดที่เป็นรูปธรรม และถอดถอนทัศนคติและความเข้าใจผิดที่ว่า พิพิธภัณฑฯเป็นองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร (ที่ยึดถือตามนิยามของสภาการพิพิธภัณฑฯระหว่างประเทศ) และจะทำการตลาดไม่ได้ให้หมดสิ้นไป
 
จะพัฒนาการศึกษาได้อย่างไร ถ้าไม่พัฒนาพิพิธภัณฑฯ ?
 
นโยบายพัฒนาการศึกษาของรัฐบาลที่เป็นมาและเป็นอยู่ได้ให้ความสำคัญไปที่การพัฒนาการศึกษาในระบบโรงเรียนมาโดยตลอด ในขณะที่แหล่งการเรียนรู้นอกระบบโรงเรียน เช่น พิพิธภัณฑสถาน ห้องสมุด สวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงหรือหน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้ถูกหมายรวมเข้าไว้กับนโยบายการพัฒนาการศึกษาของรัฐ ทั้งที่จริงแล้วในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า การเรียนรู้นอกระบบโรงเรียนมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเรียนรู้ในสถานศึกษา และเป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาที่หลายประเทศนำมาใช้ เพราะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของคนในชาติอย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าที่ยั่งยืนของประเทศ
 
แม้ว่าพิพิธภัณฑฯ เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานานกว่าศตวรรษ แต่ที่ผ่านมาการแสดงบทบาทในฐานะแหล่งการเรียนรู้ ยังไม่โดดเด่นมากพอที่จะทำให้คนส่วนใหญ่รวมทั้งรัฐบาลมองเห็นศักยภาพว่าพิพิธภัณฑฯเป็นองค์กรหนึ่งที่สามารถพัฒนาการศึกษานอกระบบให้แก่คนในชาติได้ ทั้งที่สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พิพิธภัณฑฯขาดโอกาสในการแสดงบทบาทดังกล่าว ก็คือ การขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาล เพราะที่ผ่านมาพิพิธภัณฑฯ ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานด้านวัฒนธรรม ไม่ใช่สถาบันที่สร้างการเรียนรู้ (แม้แต่เมื่อครั้งอยู่ใต้ร่มเงากระทรวงศึกษาธิการ) จึงมักถูกจัดอันดับความสำคัญรั้งท้ายในภารกิจของรัฐบาลที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ งบประมาณและบุคลากรที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่พิพิธภัณฑฯในหน่วยงานของรัฐไม่สามารถทำให้พิพิธภัณฑฯเหล่านี้เติบโตเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประชาชนได้ (นี่ยังไม่รวมถึงพิพิธภัณฑฯท้องถิ่นอีกมากที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐ และต้องดำเนินงานตามอัตภาพ ทั้งที่มีศักยภาพหลายด้านที่จะพัฒนาเป็นแหล่งการเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาในชุมชนได้)
 
เราคงต้องยอมรับความจริงว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ของพิพิธภัณฑฯไทยในปัจจุบัน ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่คนส่วนใหญ่และรัฐบาลได้ว่าจะพัฒนาให้เป็นอย่างที่ฝันแบบพิพิธภัณฑฯในต่างประเทศได้อย่างไร ดังนั้นการเริ่มต้นใหม่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของรัฐบาล โดยการประกาศจัดตั้งสถาบันพิพิธภัณฑฯการเรียนรู้แห่งชาติ หรือ ที่บางคนเรียกว่า "สมิธโซเนียนไทย" ขึ้น (มีข้อสังเกตจากบางคนว่า มีนัยบางอย่างเหมือนกับจะบอกว่า พิพิธภัณฑฯที่มีอยู่แล้วนั้นไม่มีการเรียนรู้?) โดยทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อหวังจะได้เห็นพิพิธภัณฑฯอย่างที่ฝัน ซึ่งหากเป็นจริงได้ก็คงจะเป็นสิ่งดี แต่ทั้งนี้ผู้มีประสบการณ์ในงานพิพิธภัณฑฯหลายคนให้ความเห็นว่า พิพิธภัณฑฯในต่างประเทศที่เราฝันจะเป็นนั้น ล้วนมีความเป็นมาที่ยาวนานและต้องผ่านกระบวนการการปรับตัวอย่างหนักหน่วงมาแล้วหลายครั้ง ต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองให้เท่าทันความต้องการของคนในสังคม ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่ ภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร ฯลฯ มากแค่ไหนกว่าจะกลายมาเป็นแบบแผนที่เราพยายามจะทำตาม และที่สำคัญก็คือ การเดินตามรอยใครคงไม่นำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริงได้อย่างยั่งยืน จึงควรหรือไม่ที่เราอาจต้องหันหลังกลับไปมองรอยเท้าเก่าบนถนนที่เราเดินผ่านมานานกว่าศตวรรษ เพื่อดูว่าอะไรที่ทำให้ก้าวย่างของงานพิพิธภัณฑฯไทยไม่มั่นคง และอาจจะทำให้เรารู้ว่าควรจะพัฒนาตัวเองไปในรูปแบบไหนที่จะไม่เป็นแผลกดซ้ำไปบนรอยแผลเดิมตามวัฏจักรที่เป็นอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูกันไปว่า สมิธโซเนียนไทย จะทำให้เราเข้าใกล้ความฝันได้แค่ไหน ?
 
รวมพลังสานฝันพิพิธภัณฑฯไทย
 
สิ่งหนึ่งที่จะทำให้พิพิธภัณฑฯไทยก้าวไปสู่ความฝันที่หลายคนคาดหวังได้คือ การสร้างความร่วมมือระหว่างกันของพิพิธภัณฑฯที่มีอยู่และที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ เพื่อช่วยกันนำเสนอคุณค่าของพิพิธภัณฑฯที่มีต่อสังคมและสร้างพลังต่อรองเพื่อการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน การเปิดตัวของสมาคมพิพิธภัณฑฯไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา (หลังจากที่มีความพยายามจัดตั้งมานานกว่าทศวรรษ) ถือเป็นเรื่องน่ายินดี และหลายคนหวังว่าองค์กรดังกล่าวจะได้แสดงบทบาทสำคัญในการพัฒนาวงการพิพิธภัณฑฯไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการให้ความร่วมมือและช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างๆ ระหว่างพิพิธภัณฑฯ การพัฒนาความรู้และทัศนคติต่องานพิพิธภัณฑฯแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑฯในระดับต่างๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง หรืออาจรวมไปถึงการนำพาพิพิธภัณฑฯไทยไปสู่วงการพิพิธภัณฑฯนานาชาติในอนาคต แต่ทั้งนี้พิพิธภัณฑฯเฉพาะด้าน หรือ ในภูมิภาคเดียวกัน ก็ควรจะแสวงหาเครือข่ายพันธมิตรในกลุ่มของตน เพื่อช่วยพัฒนากลุ่มพิพิธภัณฑฯให้เข้มแข็งไปพร้อมกันด้วย พลังของพิพิธภัณฑฯไทยก็จะเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้ตัวตนของพิพิธภัณฑฯเป็นที่รับรู้ในชุมชนและสังคมชัดเจนขึ้น การใช้ประโยชน์และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพิพิธภัณฑฯของคนในสังคมก็จะเพิ่มตามมา ซึ่งหากทำได้เช่นนี้เราอาจจะพบว่า ความฝันที่เราวาดหวังไว้คงจะอยู่ไม่ไกลนัก
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่เราเอื้อมมือไปไขว่คว้าความฝันมาถึง เราอาจจะพบว่าประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาพิพิธภัณฑฯ ในด้านต่างๆ ให้สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมและสังคม รวมไปถึงศักยภาพที่แท้จริงซึ่งมีอยู่ในตัวเรา ได้ลบเลือนภาพความฝันที่อยากจะเป็นอย่างพิพิธภัณฑฯในต่างประเทศออกไป และเกิดความฝันใหม่ของการเป็นพิพิธภัณฑฯ แบบไทยที่มีคุณค่าต่อสังคมและประเทศชาติมาแทนที่ก็เป็นได้
 
------------------------------------
พิพิธภัณฑฯ เป็นคำย่อมาจาก "พิพิธภัณฑสถาน" โดยผู้เขียนพยายามคงความถูกต้องทางความหมาย เพื่อรักษาการแปลความดั้งเดิมของคำว่า "museum" - บรรณาธิการ
* ประภัสสร โพธิ์ศรีทอง อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล
** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 9 (มิถุนายน 2548 - พฤษภาคม 2549),48-55.
 
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 21 มีนาคม 2556