ระหว่างบรรทัดของการบอกเล่าอดีต

สาระหรือเนื้อหาที่ได้รับการบอกเล่าและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาสตร์ อนุสรณ์สถาน และหอเกียรติยศ1 ล้วนทำหน้าที่บันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นไปสู่สาธารณชน ทั้งนี้ จุดประสงค์ของการสร้างสถานที่เหล่านั้นแตกต่างกันไป บ้างต้องการสร้างความภาคภูมิใจในกำเนิดและพัฒนาการของหน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่มสังคม บ้างปรารถนาสร้างความเข้าใจในความเป็นมาและเป็นไปเพื่อให้ผู้เข้าชมตระหนักถึงสภาพปัจจุบัน บ้างกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้มีอำนาจ และยืนยันถึงความถูกต้องในการกระทำของตนเอง

ไม่ว่าพิพิธภัณฑ์ ฯ จะสร้างขึ้นด้วยความมุ่งหมายใดก็ตาม การจัดตั้งสถานที่ดังกล่าวสะท้อนว่า มนุษย์ไม่ต้องการให้เวลามาพรากเอาเรื่องราวที่ผ่านแล้วให้พ้นเลยไปจากความคิด ความรู้สึก และการจดจำของผู้คน พิพิธภัณฑ์ ฯ จึงต้องการสร้างสำนึกประวัติศาสตร์ต่อผู้เข้าชมด้วยบทบรรยาย วัตถุจัดแสดง และพื้นที่ในโลกสมมติที่โยกย้ายอดีต ปัจจุบัน หรือแม้แต่อนาคตมารวมไว้ในที่เดียวกัน  

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้สถาปนาขึ้นในปี 2477 อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 72 ในปี 2549 72 ปีของชีวิตและประสบการณ์ "ธรรมศาสตร์" ได้จารึกเรื่องราวของชุมชนและผู้คนในแต่ละช่วงเวลา ชีวิตธรรมศาสตร์เคยผ่านการศึกษาและเผยแพร่มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ดังจะเห็นได้จากหนังสือ บทความ และข้อเขียนต่าง ๆ ที่ตีพิมพ์ในวาระที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อมาถึงปี 2548 การบอกเล่าชีวิตธรรมศาสตร์จะมิใช่เพียงหนังสือหรือสิ่งพิมพ์อีกต่อไป หอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์2 ได้ถูกสร้างขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่แสดงเรื่องราว ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในแต่ละยุคแต่ละสมัย

แต่หอประวัติศาสตร์ ฯ นี้สร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใด เรื่องราวอะไรบ้างที่จัดแสดงและได้รับการถ่ายทอดด้วยวิธีการใด และหากเราเชื่อร่วมกันว่า พิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาสตร์ อนุสรณ์สถาน และหอเกียรติยศคือ พื้นที่ที่จะ "หลอมหล่อ" ความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์บางประการ หอประวัติศาสตร์จะสามารถนำเสนอบทบาทของตัวเองไปในแนวทางนั้น ๆ ได้หรือไม่ และเหตุปัจจัยใดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พึงตระหนัก เพื่อให้พื้นที่อนุสรณ์สถานแห่งนี้ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ คำตอบต่อคำถามเหล่านี้เป็นเพียงข้อสังเกตของผู้เขียนที่เกิดขึ้นจากการเข้าชมหอประวัติศาสตร์ และสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนจึงใคร่จะเชิญชวนให้ชาวธรรมศาสตร์ได้เข้าชม และแสดงความคิดเห็นเพื่อให้หอประวัติศาสตร์ ฯ เป็นสถานที่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการเพิ่มเติมความทรงจำและเรื่องราวของชุมชนธรรมศาสตร์ที่ยังคงดำเนินต่อไป

พื้นที่และการออกแบบ

" อาคารโดมของมหาวิทยาลัยเป็นอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เฉพาะในทางประวัติศาสตร์ด้วยเหตุที่เป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังมีความผูกพันอยู่กับประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย "3

ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวประโยคข้างต้นในการประชุมคณะกรรมการโครงการจัดตั้งหอเกียรติยศ หอประวัติ และพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 1/2548 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 อาคารโดมเป็นหัวใจของมหาวิทยาลัยที่ผูกพันอยู่กับประวัติศาสตร์หลายฉากหลายตอน ดังที่ท่านอธิการบดีได้กล่าวเพิ่มเติมในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549

" อาคารโดมเป็นศูนย์รวมของขบวนการเสรีไทย เพราะเป็นสถานที่ทำการของผู้ประศาสน์การ4  โดยความคิดส่วนตัวมีความเชื่อว่า ชั้น 3 ของอาคารโดมน่าจะถูกใช้เป็นที่ติดต่อประสานงานกับฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างสงครามโลก "

ด้วยเหตุนี้

" เมื่อมหาวิทยาลัยย้ายหน่วยงานกองการเจ้าหน้าที่ และทะเบียนประวัติ ออกจากชั้น 3 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความทรุดโทรมมาก เนื่องจากเก็บเอกสารเก่า และขาดการดูแล ถ้าได้รับการดูแลรักษาที่ดีจะสามารถเปลี่ยนสภาพจากแย่ที่สุด เป็นดีที่สุดได้ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของมหาวิทยาลัย "

 

 อย่างไรก็ดี อาคารโดมมิได้มีเพียงความหมายซึ่งมีที่มาจากประวัติศาสตร์อันห่างไกลจากคนธรรมศาสตร์ร่วมสมัยแต่อย่างใด "โดม" ยังได้กลายเป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่ได้เชื่อมนักศึกษาและผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามา วลี "ลูกแม่โดม" อาจช่วยยืนยันถึงความสำคัญของอาคารหลังนี้ต่อชีวิตธรรมศาสตร์ที่มีมาแต่อดีตและที่จะดำเนินต่อไปในกาลข้างหน้า ฉะนั้น เมื่อมหาวิทยาลัยได้เลือกและและปรับเปลี่ยนพื้นที่ชั้น 3 ของอาคารโดมเป็นหอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นัยและความหมายของพื้นที่จึงเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น เพราะวันและเวลาของพื้นที่ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยได้ถูกดึงกลับมารวมไว้ ณ ที่เดียวกัน

 

เมื่อเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ถูกแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ พื้นที่รูปกากบาทได้ถูกจัดแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่แวดล้อมหอเกียรติยศ และส่วนที่เป็นหอเกียรติยศที่อยู่ตรงใจกลางของพื้นที่ เนื้อหาของนิทรรศการประกอบด้วยเนื้อหา 6 ส่วน ได้แก่ โซนที่ 1 พัฒนาการของพื้นที่ท่าพระจันทร์ก่อนการก่อตั้ง มธก. (ต้นรัตนโกสินทร์จนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง) โซนที่ 2 ยุคสถาปนามหาวิทยาลัย (2477 - 2491) โซนที่ 3 ยุคเปลี่ยนระบบการศึกษาก่อนปิดตลาดวิชา (2492 - 2502) โซนที่ 4 ยุคปิดตลาดวิชา (2503 - 2516) โซนที่ 5 ยุคการต่อสู้ทางอุดมการณ์และฟื้นฟูมหาวิทยาลัย (2517 - 2528) โซนที่ 6 ยุคขยายการศึกษา (2529 - ปัจจุบัน)

 

จากทางเข้าหอประวัติศาสตร์ เส้นทางการเดินชมจะวนไปตามเข็มนาฬิกา โดยเนื้อหาจะเรียงลำดับไปตามช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ในแต่ละยุค จะมีป้ายบอกหัวเรื่องและขอบเขตของเวลาที่เกี่ยวข้อง และจากจุดเริ่มต้น นิทรรศการจะพาผู้ชมย้อนกลับไปในอดีตที่ไกลที่สุดของพื้นที่ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปัจจุบัน และเมื่อผู้ชมเดินเข้าไป เวลาก็จะล่วงไปพร้อมกับเรื่องเล่าที่ค่อย ๆ ย่างเข้าสู่ยุคปัจจุบัน จนกระทั่งถึงใจกลางของห้องจัดแสดง เส้นทางการเดินชมดังกล่าวจะปูพื้นความรู้ทางประวัติศาสตร์ พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงในระยะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เป็นอย่างดี

 

" อาจารย์นครินทร์ก็จะมีวิธีการมองประวัติศาสตร์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าเป็นจุดเด่นสำคัญของการวางเนื้อหาในทิศทางทั้งหมดเลย คือ ควรจะปล่อยให้ผู้ชมสามารถสร้างความทรงจำได้เองในเหตุการณ์นั้น ๆ ควรจะเสนอแบบว่า ภาพหลาย ๆ ด้านในช่วงแต่ละเหตุการณ์ แล้วก็ตั้งชื่อเหตุการณ์อย่างเป็นกลาง ไม่ใช่บอกว่าเหตุการณ์ช่วงนั้นมันดีอย่างไร มันเลวอย่างไร แต่ว่า เสนอออกไปแล้วก็ให้ผู้ชมเป็นผู้เลือกจำเอาเองว่าจะจะเหตุการณ์นั้น ๆ อย่างไร แกเชื่อว่า คนที่อยู่ในช่วงเหตุการณ์นั้นๆ เขาก็มีความสุขในแบบหนึ่งของเขา "5

 

การจัดแบ่งเรื่องราวจึงเป็นไปตามประวัติศาสตร์และพัฒนาการของการเรียนการสอน โครงสร้างของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องการเมืองหรือการเคลื่อนไหวของนักศึกษา เหตุการณ์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงจะแสดงให้เห็นจากโทนสีในนิทรรศการ จากภาพขาวดำและซีเปียไปสู่ภาพที่มีสีสันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถาปนิกหนึ่งในทีมงานออกแบบย้ำถึงความเป็นกลางและไม่พยายามโน้มน้าวการตีความของห้องจัดแสดง

 

" เราจะต้องทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นกลางที่สุดในแง่ของบรรยากาศโดยรวม ความเป็นกลางคือ ไม่บอกว่าห้องนี้มืด ห้องนี้สว่าง ห้องนี้สนุก ห้องนี้เศร้า ไม่ใช่ แล้วให้ตัววัตถุจัดแสดงให้แสดงตัวเอง ทำเป็นเหมือน gallery เหมือนกับห้องแสดงศิลปะที่ตัวห้องเองมันไม่มีอะไรเลย เอางานมาแสดงมันก็จะแสดงตัวตนของมันอยู่กับที่ เช่น คนเอารูปเศร้าไปติด ห้องมันก็จะเศร้า "

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวไม่ได้ถูกตัดขาดออกจากกันโดยสิ้นเชิง ในทางตรงกันข้าม เนื้อเรื่องได้ถูกเรียงร้อยกันไปตามพื้นที่ ผู้ชมมีโอกาสทราบล่วงหน้าว่า สิ่งที่จะพบต่อไปนั้นจะเป็นอะไร เรียกได้ว่าเป็น สัมพันธภาพภายในของเนื้อหาและพื้นที่ สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งในห้องจัดแสดงคือ การปรับปรุงลักษณะสถาปัตยกรรมภายใน ด้วยการเปิดเพดานให้เห็นโครงสร้างไม้ของหลังคารูปโดมและโครงสร้างผนังอิฐบางส่วน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวช่วยเสริมบรรยากาศของหอประวัติศาสตร์ ฯ ให้ผู้ชมได้ระลึกถึงความหมายของสถานที่ในขณะชมนิทรรศการได้เนือง ๆ

 

นอกจากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นภายในห้องนิทรรศการแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาในห้องจัดแสดงกับสถานที่ภายนอกก็ยังเป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่งของหอประวัติศาสตร์ ฯ อาทิเช่น ในระหว่างเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 ลานโพธิ์เป็นความทรงจำร่วมของผู้คนจำนวนมาก ไม่แต่เฉพาะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง หากแต่เป็นพื้นที่ร่วมที่สำคัญของความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเวลานั้น การนำเสนอเรื่องราวดังกล่าวอยู่ในโซนที่ 4 ซึ่งการจัดแสดงมิได้จำกัดมิติการนำเสนออยู่แต่เพียงเนื้อหา ภาพ หรือสิ่งที่จัดแสดงในรูปใบปลิวจำลอง เท่านั้น กล่าวคือ เมื่อผู้ชมย่างเข้าไปใกล้หน้าต่างด้านประตูท่าพระจันทร์มากขึ้น ภาพเหตุการณ์ซึ่งจัดแสดงบนบานหน้าต่าง ก็คล้อยให้ผู้ชมหวนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่โน้มนำผู้คนเป็นจำนวนมากให้มารวมตัว ณ ลานโพธิ์ที่อยู่ภายนอก จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวอื่น ๆ นอกมหาวิทยาลัยด้วย

 

จุดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งได้แก่ ช่องนาฬิกา ที่จัดแสดงในโซนที่ 5 "การต่อสู่ทางอุดมการณ์และฟื้นฟูมหาวิทยาลัย" ซึ่งหากผู้ชมมองผ่านช่องแสงของนาฬิกาออกไป จะเห็นลานหน้าอาคารโดมและรูปปั้นของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ฯ ตั้งเป็นสง่าอยู่ภายนอก การจัดแสดงนาฬิกาสัมพันธ์กับสิ่งที่ปรากฎภายนอก ด้วยเหตุนี้นาฬิกาจึงมิใช่เป็นเครื่องจักรที่บอกเวลาแต่เพียงอย่างเดียว นาฬิกายังได้สะท้อนคืนวันของการก่อตั้ง เรื่องราว และความเปลี่ยนแปลงที่ "ธรรมศาสตร์" ได้ผ่านพบมาด้วย

 

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงรายละเอียดบางประการของการจัดตั้งหอประวัติศาสตร์ ฯ และลักษณะของการจัดแสดงภายใน เมื่อได้เข้าชมหอประวัติศาสตร์ ฯ ณ สถานที่จริงแล้ว แต่ละคนอาจรับรู้และตีความข้อมูลต่างออกไปจากนี้ก็เป็นได้ ผู้เขียนหวังจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ปฏิกริยาที่พึงมีขึ้นเมื่อผู้อ่านได้เข้าชมหอประวัติศาสตร์ ฯ ด้วยตนเอง จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อีกทั้งควรที่จะแบ่งปันและสะท้อนความคิดเห็นของตนไปยังผู้ดูแลรับผิดชอบหอประวัติศาสตร์ ฯ ด้วย ในส่วนที่สองของบทความนี้ ผู้เขียนจะขอพิจารณา "ลักษณะเด่น" ของนิทรรศการในหอประวัติศาสตร์ ฯ เพื่อทำความเข้าใจและเสนอความคิดเห็นต่อประเด็นที่หยิบยกขึ้นมา

 

ย้อนมองเรื่องเล่า

 

"หากเราพิจารณาว่า การเขียนคือ การควบคุมเวลาที่ผันผ่าน ชีวิตที่ดำเนินไป ทั้ง "ช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่" ความเป็นไป และความเจ็บปวด ฉะนั้น การสืบสวนการกระทำนี้จะมิใช่การทำความเข้าใจอย่างลุ่มลึกลึกกับ สิ่งที่วัฒนธรรมได้รังสรรค์ขึ้นหรอกหรือ ?"

มาร์แตง เดอ ลา ซูดิแยร์ และ โคลดี วัวส์นาท์

 

การดำเนินเรื่องราวในหอประวัติศาสตร์นั้น ได้ใช้พัฒนาการของมหาวิทยาลัยในแต่ละช่วงเวลาเป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่อง ในขณะเดียวกัน นิทรรศการก็จัดแสดงหลักฐานพยานที่เป็นหนังสือ เอกสารราชการ ใบปลิว และเอกสารอื่น ๆ ซึ่งทำจำลองขึ้น เพื่อยืนยันให้เห็นถึงความความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น หลักฐานพยานที่ย้ำความสำคัญของสิ่งพิมพ์ได้แก่ แท่นพิมพ์ ที่สื่อนัยแห่งตนเสมือนเป็น "บรรพบุรุษ" ที่มีคุณูปการต่อการวางรากฐานทางวิชาการช่วงต้น ใน "ธรรมศาสตร์" สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ จึงได้แทรกและประกอบเข้ามาในแต่ละช่วงของการจัดแสดง อย่างไรก็ตาม หากผู้เข้าชมมิได้ใส่ใจต่อการอ่านคำอธิบาย หนังสือและเอกสารจำลองเหล่านั้น (ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน) สิ่งแสดงเหล่านี้ก็คงเป็นได้แต่เพียงของประดับมากกว่าหลักฐานพยานที่จะช่วยผู้ชมให้เข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ได้อย่างแท้จริง


ผู้เขียนขอยกตัวอย่างคำอธิบายสิ่งที่จัดแสดง ที่ปรากฎในนิทรรศการ "การสถาปนา มธก. มุ่งสร้าง "พลเมืองใหม่" ให้ระบอบประชาธิปไตย การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ในเรื่องการเมืองการปกครองจึงมีความจำเป็น ดังนั้น การเผยแพร่สาระสำคัญของพระราชบัญญัติและข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ฯ จึงดำเนินไปอย่างกว้างขวาง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนแสวงหาความรู้ที่ครั้งหนึ่งเคยปกปิดภายใต้ระบอบเก่าและมุ่งดับความกระหายในความรู้ในระบอบประชาธิปไตย"6


"วิชาลัทธิเศรษฐกิจนี้เคยเป็น "วิชาต้องห้าม" ในระบอบเดิม แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง วิชาดังกล่าวถือเป็นวิชาสำคัญวิชาหนึ่งในหลักสูตร มธก. อันมีจุดมุ่งหมายในการสร้างบัณฑิตให้มีความคิดที่กว้างไกล รู้จักวิพากษ์วิจารณ์ความอยุติธรรมที่ปรากฏในตัวบทกฎหมายและในสังคม ตำราเล่มนี้เป็นตำราลัทธิเศรษฐกิจเล่มแรกของมหาวิทยาลัยเขียนโดยอาจารย์ประจำชาวอังกฤษ…"7

 

"ตำราเล่มนี้ถือเป็นตำรากฎหมายปกครองเล่มแรกของมหาวิทยาลัย เดิมวิชานี้เคยสอนในโรงเรียนกฎหมาย ซึ่งบุกเบิกการสอนวิชานี้โดยนายปรีดี พนมยงค์ แต่การเรียนการสอนที่โรงเรียนกฎหมายนั้นไม่อาจทำได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสมัยนั้นยังเป็นระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองและการสถาปนามหาวิทยาลัยแล้ว การเรียนการสอนวิชากฎหมายปกครองจึงมีความเข้มข้นมากขึ้น ในตำราเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิของประชาชน หน้าที่ของสถาบันการเมือง การดำเนินการทางปกครองและมหาชนของรัฐบาล การเปรียบเทียบการปกครองระบอบเก่าและระบอบประชาธิปไตย การบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น"8

 

"… วัตถุประสงค์ของวิชานี้ไม่เพียงการเตรียมบัณฑิตที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดีต่อไปในอนาคตเท่านั้น แต่ยังทำให้บัณฑิตที่มุ่งเป็นนักการเมืองสามารถเข้าใจกลไกและการปฏิบัติงานของราชการด้วย โดยสรุปแล้ว วิชานี้ทำให้การบริหารงานราชการที่เคยปิดลับในระบอบเก่า กลายเป็นวิชาที่โปร่งใสเข้าใจได้โดยสามัญชนในระบอบประชาธิปไตย"9

      

วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 21 มีนาคม 2556