เมื่อพิพิธภัณฑ์มาเคาะประตูโรงเรียน : ชุดการสอนในฐานะหนทางแห่งการเรียนรู้จากโคลัมเบีย

แม้ว่าพิพิธภัณฑ์ คือสถานที่สำหรับกอบกู้และรักษาสิ่งของจากอดีต แต่ขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์ก็ต้องพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับโลกสมัยใหม่ และเปลี่ยนแปลงบทบาทตนเองจากผู้รับและรักษา "ของเก่า" ไปสู่การทำงานเชิงรุกมากขึ้น และหนึ่งในคืบก้าวที่สำคัญ คือ การทำงานร่วมกับสถานศึกษา จะเห็นได้ว่าระบบการเรียนการสอนทางสังคมศาสตร์ในปัจจุบันกำลังเดินสู่หนทางวิกฤต นับเป็นปีๆ ที่การท่องจำชื่อ วันเวลา และเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีต ทำให้เด็กนักเรียนขาดความรู้ความเข้าใจที่จะเชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ ขาดการตอบสนองหรือการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมรอบตัว พวกเขาจึงกลายเป็นผู้รับข้อมูลที่รอคอยเพียงวันสอบไล่เท่านั้น



การศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ใช่เพียงแค่ให้เด็กๆ รู้เรื่องราวในอดีต แต่จะทำอย่างไรให้พวกเขาตระหนักถึงอดีตที่อยู่รอบตัวของเขา การศึกษาที่มุ่งเน้นแต่ข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ควรถูกแทนที่ด้วยกิจกรรมที่ให้เด็กเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมโดยตรง การศึกษาชุมชนสามารถกระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะวิเคราะห์และมองย้อนกลับไปยังชุมชนตนได้ พวกเขาจะเข้าใจว่าเรื่องราวจากอดีตมีผลต่อปัจจุบันอย่างไร ในการนี้ครูสามารถใช้โบสถ์ วัด พิพิธภัณฑ์ หรือสถานที่เก่าแก่ของชุมชน มาเป็นแหล่งข้อมูลการเรียนรู้ของนักเรียนได้ กิจกรรมนอกห้องเรียนเปิดโอกาสให้เด็กๆ สัมผัสกับสภาพรอบตัว อันจะช่วยพัฒนากระบวนการคิดจากข้อเท็จจริงไปสู่ความคิดสร้างสรรค์และจากการสังเกตการณ์ไปสู่การพรรณนา



พิพิธภัณฑ์สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ทางสังคม โดยมุ่งเน้นการสำรวจด้วยตนเองมากกว่าการสั่งสอนให้เด็กเป็นผู้รับแต่เพียงถ่ายเดียว ในขณะเดียวกันโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์สามารถใช้เป็นอุปกรณ์เสริมสร้างความรู้ เพราะสิ่งของเหล่านั้นคือตัวแทนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับธรรมชาติในอดีต องค์ความรู้อันทรงคุณค่าเหล่านี้ไม่สมควรถูกเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่ควรมีบทบาทเข้ามาพัฒนาทัศนคติและทักษะของคนในชุมชนไปพร้อมกัน



ตัวอย่างของการนำพิพิธภัณฑ์เข้ามาสู่โครงการเรียนรู้ของโรงเรียน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ Museo del Oro สถานที่เก็บรักษาภาชนะทองคำในสมัยโบราณจากประเทศโคลัมเบีย พิพิธภัณฑ์เข้ามาปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่เกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการวิเคราะห์และตีความมากขึ้น อีกทั้งยังต้องการหนีห่างออกจากทัศนคติเดิมๆ ที่เน้นแต่เพียงเรื่องราวของวีรบุรุษและเหตุการณ์สำคัญๆ แต่เชื้อเชิญให้ปัจเจกบุคคลตระหนักว่าตัวเขาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และมีส่วนร่วมในการสร้างประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นของเขาเอง



โครงการ "เมื่อพิพิธภัณฑ์มาเคาะประตูโรงเรียน" (The Museum Comes to Your School Project) จึงถือกำเนิดขึ้นเป็นโครงการที่ใช้ชุดการเรียนรู้ที่ออกแบบเฉพาะ มากระตุ้นทักษะการสำรวจของเด็กนักเรียนเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ตามวิธีการวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการทำงานเป็นกลุ่ม ปลูกฝังความสามัคคีและฝึกฝนการร่วมมือกันในสังคมเล็กๆ ของพวกเขา และแบบฝึกหัดนี้เองจะช่วยให้เด็กนักเรียนเรียนรู้คุณค่าในโลกเก่าของพวกเขาที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน โดยมีชุดการสอนเป็นแบบฝึกหัดในห้องเรียน แต่ละชุดการสอนบรรจุด้วยตัวอย่างของวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ของจริง, คู่มือประกอบคำอธิบาย, โปสเตอร์ ,กติกา, เกมและกิจกรรมล่วงเวลา ตัวอย่างชุดการสอนที่เกี่ยวกับเมืองโบโกต้า ถิ่นอินเดียแดงยุคโบราณ ประกอบด้วย



วัตถุ - ตัวอย่างของวัสดุสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสินค้า เช่น ชั่งถ่วงน้ำหนัก สร้อยคอ ตุ้มหู เครื่องประดับ เครื่องสังเวยเทพเจ้า กระดูก เครื่องดินเผา เครื่องมือหิน เปลือกหอย เครื่องทอง และเครื่องใช้โลหะต่างๆ เป็นต้น สิ่งของเหล่านี้นำมาจากแหล่งโบราณคดีชื่อว่า Muisca เป็นชนเผ่าโบราณเคยอาศัยอยู่ในบริเวณที่แถบประเทศโคลัมเบียเมื่อประมาณหนึ่งพันปีแล้ว (ค.ศ. 900 - ค.ศ. 1500) รวมถึงโบราณวัตถุในอารยธรรมยุคก่อนโคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกาจากแหล่งโบราณคดีอื่นๆ มาใช้ประกอบการสอนในห้องเรียน วัตถุโบราณเหล่านี้ได้กระตุ้นความสนใจของเด็ก และการศึกษาสิ่งประดิษฐ์ที่เห็นอยู่ข้างหน้าเพื่อค้นหาผู้สรรค์สร้างวัตถุ ครั้งนี้เด็กๆ ไม่เพียงแต่สามารถจับต้องวัตถุได้เท่านั้น แต่ยังสามารถออกแบบนิทรรศการของพวกเขาได้ ด้วยอุปกรณ์ที่นำมาจากบ้าน หรือที่เขาคิดสร้างสรรค์เอง



คู่มือ - คู่มือที่นำมาประกอบพร้อมวัตถุโบราณ จะทำให้เด็กทราบว่ายังมีความรู้อีกมากมายเกินกว่าที่ตาเห็นอันน่าค้นหาจากสิ่งประดิษฐ์จากยุคอดีต ข้อมูลเหล่านี้แสดงถึงความหมายของวัตถุและการใช้งานของมันในพิธีกรรมตามตำนาน หรือเทพนิยายต่างๆ อาทิ คติการสร้างโลก กำเนิดมนุษย์และสัตว์ การเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นต้น ในหน้าสุดท้ายของคู่มือจะมีคำแนะนำถึงกิจกรรมต่อเนื่องแก่ครูเพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมและความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนต่อไป ทั้งการอ่านและการเขียน ทำให้เด็กสามารถสร้างโลกแห่งจินตนาการของพวกเขาได้จากเรื่องราวในคู่มือดังกล่าว



โปสเตอร์ - สิ่งของทุกอย่างในชุดการสอน รวมทั้งภาพโปสเตอร์ล้วนพัฒนาความสามารถของเด็กนักเรียนให้เปิดรับและคัดสรรความรู้จากสิ่งที่ตาเห็น อันเป็นขั้นแรกสุดของการเรียนรู้โลกใบนี้



กิจกรรม - ธรรมชาติของเด็กทุกคนคือนักสำรวจ ดังนั้นกิจกรรมหลักในคู่มือจึงให้นักเรียนเล่นบทบาทสมมุติเป็นนักค้นคว้า รู้จักเปรียบเทียบประเพณีปัจจุบันกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และค้นหาโลกสมัยใหม่ที่อาจพบได้ในประวัติศาสตร์ที่เขาเรียนอยู่ โดยครูจะแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มประมาณ 4 - 6 คน ให้สำรวจวัตถุโบราณที่มอบหมาย กระตุ้นให้อภิปราย ถกเถียงอย่างอิสระในกลุ่ม เพื่อแสวงหาความหมายและวัตถุชิ้นน่าจะถูกใช้งานอย่างไร รวมถึงเสาะหาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของจากอดีตกับที่เห็นในชีวิตประจำวัน จากจุดนี้เด็กนักเรียนเริ่มเรียนรู้ที่จะเปรียบเทียบวัฒนธรรมของพวกเขาเข้ากับที่เคยเกิดขึ้นในอดีตด้วยตัวเขาเอง อาจกล่าวได้ว่าหลักเปรียบเทียบเป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง นอกจากเด็กจะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างของสองสิ่งแล้ว พวกเขายังเรียนรู้ว่าผู้คนในสถานที่ต่างกัน ในเวลาต่างกันมีการแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือผลจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ผู้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน



เกมและกิจกรรมล่วงเวลา - เกมการละเล่นนอกจากนำความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่เด็กๆ แล้วยังสามารถเป็นสื่อการสอนอย่างดี ตัวอย่างเกม เช่น ตัวต่อ ภาพปริศนาสื่อถึงสัตว์ในยุคโบราณ อันเป็นสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมของชนเผ่าดั้งเดิม เป็นต้น



โครงการ "เมื่อพิพิธภัณฑ์มาเคาะประตูโรงเรียน" ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เด็กนักเรียนให้ความสนใจและตอบสนองต่อวัฒนธรรมดั่งเดิมของชุมชนพวกเขามากขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้เด็กบางคนที่ฐานะไม่เอื้อให้ไปพิพิธภัณฑ์ได้ใกล้ชิดโบราณวัตถุของจริง พวกเขาต่างตอบสนองด้วยความสงสัยใคร่รู้ และค้นหาคุณค่าของประวัติศาสตร์พื้นบ้านที่อยู่รายล้อมตัวเขามากขึ้น ดังนั้น การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ไม่อาจจำกัดเพียงแค่ตำราเรียน แต่การก้าวหาพันธมิตรจากโรงเรียนไปสู่พิพิธภัณฑ์ และสามารถพัฒนาทักษะความรู้ การคิดพิเคราะห์ของเด็กๆ นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ พัฒนาทัศนคติและคุณค่าของครูและนักเรียนต่อประวัติศาสตร์ชุมชนอันเป็นรากฐาน เพื่อหยั่งรู้ถึงอนาคต



** แปลและเรียบเรียงจาก  Ivonne Delgado Ceron & Clara Isabel Mz- Recaman, "The Museum comes to school in Columbia: teaching package as a method of learning," The Presented Past:  heritage, museums and education. Peter G. Stone and Brian L. Molyneaux (ed.), (New York; London: Routledge, 1994.), pp. 148 - 158.
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 20 มีนาคม 2556