คนเล็กๆ ในเสี้ยวประวัติศาสตร์

เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ถ้าไม่นับภาพการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างทหารและประชาชนแล้ว คนส่วนใหญ่คงจะนึกถึงภาพการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองประชาธิปไตยไทย
 
ว่ากันว่ามีนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชนที่ร่วมกันเดินขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สู่ท้องถนนราชดำเนินกลางตั้งแต่เที่ยงวันในวันที่ 13 ตุลาคม 2516 จำนวนมากมายถึง 500,000 คน หรือประมาณ 1 ใน 6 ของประชากรกรุงเทพฯ ในขณะนั้น
 
ความใหญ่โตของคลื่นขบวนประชาชนที่อัดแน่นเต็มถนนราชดำเนินในด้านหนึ่งนั้นส่งผลกระทบความรู้สึกอย่างแรงต่อผู้ที่ได้เห็น เป็นภาพที่สร้างทั้งแรงบันดาลใจและจินตนาการไม่รู้จบในกาลต่อมาว่า ปัจเจกบุคคลเมื่อรวมกันเข้าก็สามารถเปลี่ยนแปลงความเลวร้ายที่อยู่รายรอบได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความใหญ่โตเช่นที่ว่าก็กลับกลายเป็นภาพกดทับบดบังบทบาทและเรื่องราวของคนเล็กๆ ธรรมดาสามัญไปเสียสิ้นเช่นกัน
 
ในหมู่ผู้คนกว่า 5 แสนบนราชดำเนิน โดยไม่นับอีกหลายแสนทั่วประเทศ ซึ่งพร้อมใจกันลุกขึ้นท้าทายอำนาจเผด็จการคณาธิปไตยถนอม-ประภาส-ณรงค์ กระทั่งลุกลามเป็นการลุกขึ้นสู้กับอาวุธสงครามด้วยมือเปล่า กลับหลงเหลือบุคคลให้พึงจดจำในประวัติศาสตร์ได้ไม่กี่สิบราย
 
แน่นอน-ไม่มีใครตั้งใจลืมคนเล็กคนน้อยเหล่านี้ หรือจงใจจดจำบุคคลที่มีบทบาทเพียงไม่กี่คน
 
แต่ใช่หรือไม่ว่า เป็นเพราะเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ประกอบกันขึ้นมาจากผู้คนมากมายเหลือคณานับจนยากที่จะจดจำบุคคลที่ไม่มีความสำคัญโดดเด่นความทรงจำ 14 ตุลาจึงมีภาพการเคลื่อนไหวอันใหญ่โตของประชาชนเป็นด้านหลัก แต่กลับไม่มีตัวตนของประชาชน "จริงๆ" อยู่ในความทรงจำนั้น
 
ถ้าหากเราลองเล่าเรื่อง 14 ตุลา ที่มีชีวิตเลือดเนื้อของคนเล็กๆ คู่ขนานไปกับเรื่องเล่าที่ได้ฟังได้อ่านกันมาตลอด 31 ปีที่เน้นบทบาทของคนสำคัญไม่กี่สิบคน บางทีเราอาจพบแง่มุมตลอดจนความรู้สึกใหม่ซุกซ่อนอยู่ในประวัติศาสตร์สิบสี่ตุลา เรื่องราวเหล่านี้อาจจะเป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตชีวาและจับต้องได้เข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น
 
ไม่ใช่สิบสี่ตุลาฉบับทรราชย์ปวดใจ ที่ยังหมกมุ่นอยู่กับการถูกทรยศหักหลังและอาลัยอาวรณ์กับอำนาจล้นฟ้าที่หลุดลอยหายไปโดยฉับพลัน หรือเป็นสิบสี่ตุลาแบบฉวยโอกาสของวีรชนคนเดือนตุลาจำนวนหนึ่ง ที่ไม่ว่าตนเองจะมีส่วนเข้าร่วมโดยตรงหรือเลียบเคียงอยู่ห่างๆ แต่ก็สามารถใช้เหตุการณ์สิบสี่ตุลาเป็นบันไดทอดขึ้นสู่อำนาจและผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ได้ในกาลต่อมา
 
เนื้อหาสิบสี่ตุลาฉบับสามัญชนคนเล็กคนน้อย จึงเป็นเรื่องราวของมนุษย์ปุถุชนที่มาจากหลากความคิดหลายความเชื่อ ซึ่งทุกคนล้วนมีความกล้าหาญ เสียสละต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย มิได้กระทำการลงไปเพราะใฝ่ในอำนาจหรือมุ่งหวังประโยชน์ส่วนตน
 
คำบอกเล่าจากความทรงจำของสามัญชนคนธรรมดาที่ต้องค้นหาเพิ่มเติมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะถูกนำมาเรียบเรียงและนำเสนอไว้ในนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์ 14 ตุลา ซึ่งมูลนิธิ 14 ตุลาคาดว่าจะดำเนินการจัดสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมปีนี้ โดยการปรับปรุงอาคารอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่
 
นับตั้งแต่มีการรณรงค์ติดตามบุคคลมาตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม 2547 (เน้นไปที่บุคคลที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่ายกว่าสองร้อยรูป ซึ่งอัดสำเนามาจากแหล่งต่างๆ) ปรากฏว่ามีผู้ยินดีบอกเล่าเรื่องราวจากความทรงจำเมื่อกว่า 3 ทศวรรษก่อนให้กับทางมูลนิธิไว้บ้างแล้ว บุคคลที่เราพบและเรื่องราวที่พวกเขาบอกเล่าล้วนแล้วแต่มีสีสันน่าตื่นเต้นไม่น้อยไปกว่าเรื่องเล่าหลักที่พวกเราได้ฟังได้อ่านกันจนคุ้นเคยมาก่อนหน้านี้
 
ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงแถวหน้าผู้เดินนำขบวนนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชน 5 แสนคนบนถนนราชดำเนิน เมื่อเที่ยงวันในวันที่ 13 ตุลาคม 2516, ผู้รอดพ้นจากการถูกจับกุมระหว่างแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญในบ่ายวันที่ 6 ตุลาคม, "กลุ่มผู้ก่อการ 8 ตุลา" และบทบาทของพวกเขาในการชุมนุมที่ลานโพธิ์ ธรรมศาสตร์ รุ่งเช้าวันที่ 9 ตุลาคม, นักเรียนช่างกลที่ยึดรถกระจายเสียงตระเวนประกาศความเลวร้ายรุนแรงที่ทหารกระทำต่อประชาชนไปยังย่านฝั่งธนบุรีในบ่ายวันที่ 14 ตุลาคม, แม่ค้าที่รวมตัวกันส่งเสบียงเลี้ยงมวลชนระหว่างชุมนุมในธรรมศาสตร์ ฯลฯ
 
คนเหล่านี้มีตัวมีตนจริง และยังใช้ชีวิตเยี่ยงปกติชนคนธรรมดา แต่บุคคลจำนวนไม่กี่สิบคนเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอต่อการเรียบเรียงเนื้อหาให้ปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้อย่างสมบูรณ์รอบด้าน เพราะยังมีบุคคลที่น่าสนใจอีกจำนวนมากในพื้นที่จุดต่างๆ ของเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถติดต่อได้ และยังไม่รวมถึงสิ่งของต่างๆ ในเหตุการณ์ หรือที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 14 ตุลา อันถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ แต่ทว่ามูลนิธิฯ ยังเก็บรวบรวมไว้ได้น้อยมาก
 
มูลนิธิฯ จึงขอเชิญชวนผู้สนใจอยากมีส่วนร่วมในการสร้างพิพิธภัณฑ์การเมืองภาคประชาชน โปรดให้ข้อมูล-บริจาคสิ่งของที่มูลนิธิฯ ยังขาดแคลน หรือช่วยแจ้งเบาะแสหรือแนะนำผู้ที่มีข้อมูล-สิ่งของให้แก่มูลนิธิฯ เพื่อช่วยกันคนละมือคนละไม้ สร้างพิพิธภัณฑ์ 14 ตุลา สำหรับอนุชนคนรุ่นหลังใช้เป็นสถานที่เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สังคมไทย และยังเป็นห้องเรียนนอกโรงเรียนที่มีชีวิตชีวา ด้วยเรื่องราวของสามัญชนคนเล็กๆ ที่รวมตัวกันจนสามารถพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประชาธิปไตยไทยได้สำเร็จ จน 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครลบเลือนได้
 
--------------------------------------------------
* วัฒนชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตผู้จัดการอนุสรณ์าสถาน 14 ตุลา มูลนิธิ 14 ตุลา
** บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ใน จุสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 9 (มิถุนายน 2548 - พฤษภาคม 2549),9-12.
 
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 21 มีนาคม 2556