รายชื่อพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดสังลาน

วัดสังลาน เป็นวัดเก่าแก่ที่ก่อตั้งโดยคนเชื้อสายมอญที่อพยพมาถิ่นฐานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พิพิธภัณฑ์วัดสังลาน ก่อตั้งขึ้นใน ปี พ.ศ. 2553 เป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาลตำบลบางกะดี วัดสังลาน และชุมชน อาคารจัดแสดงเป็นอาคารสองชั้นได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างจากเทศบาลตำบล ส่วนข้าวของจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เป็นวัตถุดั้งเดิมของวัดและได้รับบริจาควัตถุต่างๆ เพิ่มเติมจากชาวบ้านเมื่อทราบว่าทางวัดจะทำพิพิธภัณฑ์ ชั้นล่างอาคารนำเสนอนิทรรศการประเพณีสำคัญของชาวมอญ จำลองครัวไฟ เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร ส่วนชั้นที่สองวัตถุจัดแสดงเป็นวัตถุที่เกี่ยวเนื่องทางศาสนาของวัดแต่เดิม อาทิ กล่องไม้เก็บคัมภีร์ใบลาน สมุดข่อย ภาษามอญและไทย เครื่องลายคราม เครื่องทองเหลือง เป็นต้น

จ. ปทุมธานี

พิพิธภัณฑ์เรือวัดศาลาแดงเหนือ

หมู่บ้านศาลาแดงเหนือเป็นหมู่บ้านของชาวไทยเชื้อสายมอญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอสามโคก ปทุมธานี เป็นหมู่บ้านสำคัญที่ผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพค้าขายทางเรือ และใช้เรือในชีวิตวิถีประจำวันมาตั้งแต่อดีต พิธภัณฑ์เรือวัดศาลาแดงเหนือ ก่อตั้งโดยชาวบ้านในชุมชนที่ต้องการแสดงถึงประวัติศาสตร์และอดีตความน่าสนใจของวิถีชีวิตชาวมอญบ้านศาลาแดงเหนือที่ผูกพันกับสายน้ำ โดยรวบรวมเรือของวัดและชาวบ้านมาจัดแสดงไว้ในศาลาทรงไทยเปิดโล่งชั้นเดียวภายในวัดศาลาแดงเหนือ  เรือที่อยู่ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์เรือวัดศาลาแดงเหนือ มีหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นเรือที่วัดใช้อดีต มีหลายลำที่หาชมยากและสวยงาม หน้าที่การใช้งานของเรือแต่ละลำบอกเล่าถึงชีวิตวัฒนธรรมของชาวมอญศาลาแดงเหนือ และความสัมพันธ์กับชุมชนอื่น ๆ ได้อย่างชัดเจน ลำที่ถือเป็นดาวเด่นคือ เรือมาดเก๋ง 2 แจว ที่เป็นพาหนะประจำของของหลวงปู่บุนนาค ปทุโม อดีตเจ้าอาวาสวัดศาลาแดงเหนือ

จ. ปทุมธานี

พิพิธภัณฑ์บ้านคูเมือง

พิพิธภัณฑ์บ้านคูเมือง เป็นพิพิธภัณฑ์ด้านโบราณคดีที่บริหารจัดการโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นตำบลห้วยชัน โดยก่อนหน้านี้พื้นที่บริเวณสวนรุกขชาติคูเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน นักโบราณคดีได้ขุดพบซากเมืองโบราณบ้านคูเมือง ลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ 1 ชั้น ชาวบ้านเรียกว่าคูเมือง ตามลักษณะการสร้างเมืองแบบโบราณ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองเก่าสมัยทวาราวดีอายุราว 1, 200 ปี ขุดค้นพบโบราณวัตถุจำพวกภาชนะดินเผา เช่น เครื่องถ้วยชาม หม้อ ไห กาน้ำ ลูกปัดหินสีต่าง ๆ ตะคันดินเผา ธรรมจักรหินเขียว ตุ้มหู ลูกปัด หินสี และที่สำคัญคือ เหรียญเงินมีคำจารึกว่า "ศรีทวารวดีศวรปุญยะ" ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า ชี้ให้เห็นว่าในอดีตบริเวณดังกล่าวเคยเป็นน่าชุมชนสำคัญหนึ่งตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันวัตถุโบราณที่ค้นพบส่วนหนึ่งได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี นอกจากเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังสามารถชมสวนรุกขชาติ ศึกษาเส้นทางธรรมชาติ เดินป่าชมพืชสมุนไพรและพันธุ์ไม้หายาก เช่น ต้นแจงสูงที่สุดในประเทศไทย

จ. สิงห์บุรี

พิพิธภัณฑ์กรมทางหลวง

พิพิธภัณฑ์กรมทางหลวง เป็นพิพิธภัณฑ์ของหน่วยงานราชการ ที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริหารได้เดินทางไปราชการเพื่อตรวจเยี่ยมการฝึกอบรม ณ ศูนย์ฝึกอบรมฝ่ายช่างกล อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ พบว่ามีเครื่องจักร เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ และเอกสารหลักฐานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกรมทางหลวงในอดีต และทรงคุณค่ายิ่งต่อประวัติศาสตร์งานทางอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีแนวคิดเรื่องการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ เพื่อเป็นสถานที่บอกเล่าประวัติความเป็นมาด้านงานทาง ประกอบกับปีพุทธศักราช 2555 กรมทางหลวง ได้รับการสถาปนาขึ้นครบ 100 ปี โครงการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์กรมทางหลวง จึงเป็นวาระสำคัญประการหนึ่งในวโรกาสแห่งการเฉลิมฉลองครั้งนี้ของกรมทางหลวง ส่วนจัดแสดงที่น่าสนใจ คือรถยนต์ตรวจการณ์พระที่นั่งฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ประทับขณะทรงทอดพระเนตรโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 11 ตอนลำปาง-เด่นชัย เมื่อ พ.ศ. 2521 รถแทรกเตอร์ไอน้ำ วัสดุอุปกรณ์สำหรับงานก่อสร้างทางที่หาชมได้ยาก

จ. กรุงเทพมหานคร

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบนพื้นที่สูงบ้านพระบาทห้วยต้ม

ชุมชนพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ ชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้ม เป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอที่อพยพมาจากแม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 เพื่อต้องการมาอยู่ใกล้ชิดกับหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา(ครูบาวงศ์) เพื่อจะได้ทําบุญถือศีลปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ เรียกได้ว่าเป็นชุมชนปกาเกอะญอที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่ถือมังสวิรัติ มีภูมิปัญญาด้านงานหัตถกรรมหลายอย่าง อาทิ การทอผ้า การทำเครื่องเงิน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบนพื้นที่สูงบ้านพระบาทห้วยต้ม  ริเริ่มโดยศูนย์พัฒนาชาวเขาจังหวัดลำพูน เป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงและส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในชุมชน ตามโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการชุมชนบนพื้นที่สูง ประจำปี พ.ศ. 2559 เพื่อให้ครบวงจรการท่องเที่ยวคือเยี่ยมชมวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม สักการะพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์  ชมการสาธิตงานหัตถกรรม  เลือกซื้อผลิตภัณฑ์และของที่ระลึกงานฝีมือของคนในชุมชน  ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์จัดแสดง เครื่องแต่งกาย  ข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องมือทางการเกษตร ของชาวปกาเกอะญอ

จ. ลำพูน

พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดดอนมูล

พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดดอนมูลก่อตั้งโดยวัดดอนมูล ตามดำริของพระครูสิรินันทวิทย์ เจ้าอาวาสวัดดอนมูล ที่ต้องการจะสร้างสถานที่เพื่อเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใชัทั้งของวัดดอนมูลเอง และของชุมชนไว้ให้เป็นที่ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับบ้านดอนมูล โดยได้ใช้อาคารเก่าของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านดอนมูล-เจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัด มาบูรณะเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารการพัฒนาพื่อนที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ปัจจุบันทางวัดดอนมูลได้บริหารจัดการดูและร่วมกับชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านดอนมูล - ตำบลดู่ใต้

จ. น่าน

พิพิธภัณฑ์วัดสุวรรณบำรุงราชวราราม

วัดวัดสุวรรณบำรุงราชวราราม ตั้งอยู่ในคลอง 9 ฝั่งอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี พิพิธภัณฑ์วัดสุวรรณบำรุงราชวราราม ตั้งอยู่ภายในชั้นล่างของศาลาการเปรียญของวัด ซึ่งเป็นศาลาเก่าอายุกว่า 40 ปี ภายในจัดแสดงของใช้พื้นบ้าน และเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการทำนา ซึ่งเป็นข้าวของที่ชาวบ้านบริจาคแก่วัด เนื่องจากพื้นที่โดยรอบแต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งรังสิต ที่มีการทำการเกษตรมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยเป็นการเปิดพื้นที่ทำนาอย่างกว้างขวางหลังจากมีการขุดคลองรังสิต อย่างไรก็ดีในปี พ.ศ. 2555 เกิดเพลิงไหม้ศาลาการเปรียญวอดทั้งหลัง ทำให้ข้าวของในพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดเสียหาย วัดจึงจำเป็นต้องปิดพิพิธภัณฑ์

จ. ปทุมธานี

พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสงขลา 238 Inspiration House

พิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลของปัญญา พูลศิลป์ นักสะสมผ้าโบราณกว่า 1,000 ผืน เขาสะสมผ้าภาคใต้หาชมยาก ส่วนใหญ่เป็นผ้าจากจังหวัดสงขลา และมาจากชาวบ้านชุมชมมุสลิมเป็นหลัก และมีผ้าจากภูมิภาคอื่นๆ และจากต่างประเทศอาทิ อินเดีย มลายู จีน เป็นต้น ผืนที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุไม่น้อยกว่า 140 ปี หรือในสมัยรัชกาลที่ 4 และที่ใหม่สุดมีอายุประมาณ 30-40 ปี นอกจากนั้นยังมีผ้าบางชนิด เช่น “ผ้าปะรางิง”ซึ่งเป็นผ้าที่มาจากประเทศอินเดีย แต่ถูกนำมาปรับใช้เทคนิคในการทำลวดลาย ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาเชื่อว่าผ้าสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่อง ประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา ซึ่งจากการรวบรวมผ้ามาตลอด 1 ปี ทำให้ทราบว่าเมืองเก่าสงขลานั้นมีเรื่องราวมากมาย มีการผสมผสานในเรื่องผืนผ้าทั้งจากอินเดีย มาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย ผ่านทั้งการค้าขาย ความสัมพันธ์ทางด้านครอบครัว ทำให้มีการถ่ายทอดเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายซึ่งกันและกัน อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นบ้านเก่าในเมืองเก่าสงขลาบนถนนนครใน เป็นบ้านจีนฮกเกี้ยนสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

จ. สงขลา