จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images
  • images

ชุดคำค้น 20 คำ

อายุ-จารึก พ.ศ. 1710, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 18, ยุคสมัย-จารึกสมัยขอมพระนคร, ยุคสมัย-จารึกสมัยขอมพระนคร-พระเจ้าชัยวรมันที่ 7, วัตถุ-จารึกบนหิน, วัตถุ-จารึกบนหินชนวน, วัตถุ-จารึกบนหินชนวนสีเขียว, ลักษณะ-จารึกบนใบเสมา, ที่อยู่ปัจจุบัน-พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ปทุมธานี, ศาสนา-จารึกในพระพุทธศาสนา, ศาสนา-จารึกในพระพุทธศาสนา นิกายมหายาน, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ-ถวายที่ดิน, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ-ถวายสิ่งของ, เรื่อง-พิธีกรรม, เรื่อง-พิธีกรรมทางศาสนา, เรื่อง-พิธีกรรมทางศาสนา-บูชาพระธาตุ, บุคคล-พระเจ้าอโศกมหาราช, บุคคล-พระเจ้าสุนัต, บุคคล-พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช,

จารึกดงแม่นางเมือง

จารึก

จารึกดงแม่นางเมือง

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2567 11:26:04 )

ชื่อจารึก

จารึกดงแม่นางเมือง

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

Dong Mè Nang Mưo’ng (K. 766), หลักที่ 35 ศิลาจารึกดงแม่นางเมือง, นว. 1, K. 766

อักษรที่มีในจารึก

ขอมโบราณ

ศักราช

พุทธศักราช 1710

ภาษา

บาลี, เขมร, ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 43 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 10 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 33 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา ประเภทหินชนวนสีเขียว

ลักษณะวัตถุ

รูปใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 37 ซม. สูง 175 ซม. หนา 22 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “นว. 1”
2) ในหนังสือ Inscriptions du Cambodge vol. VIII กำหนดเป็น “Dong Mè Nang Mưo’ng (K. 766)”
3) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 กำหนดเป็น “หลักที่ 35 ศิลาจารึกดงแม่นางเมือง”
4) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 4 กำหนดเป็น “จารึกดงแม่นางเมือง”
5) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก กำหนดเป็น "99/40/2560"

ปีที่พบจารึก

สิงหาคม พ.ศ. 2499

สถานที่พบ

ดงแม่นางเมือง บ้านดงแม่นางเมือง ตำบลบางตาหงาย อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์

ผู้พบ

ราษฎรตำบลบางตาหงาย อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์

ปัจจุบันอยู่ที่

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (สำรวจข้อมูล พฤษภาคม 2565)

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสารศิลปากร ปีที่ 5 ฉบับที่ 6 (มีนาคม 2505) : 51-54.
2) วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 3 (มกราคม 2527) : 95-97
3) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508), 12-13.
4) จารึกในประเทศไทย เล่ม 4 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 109-116.

ประวัติ

เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2499 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์แจ้งข่าวราษฎรขุดค้นพบโบราณวัตถุ โบราณสถานในป่าแห่งหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า ดงแม่นางเมือง ตำบลบางตาหงาย อำเภอบรรพตพิสัย มายังกรมศิลปากร กรมศิลปากรจึงให้นายมานิต วัลลิโภดม ครั้งเป็นหัวหน้ากองโบราณคดี กับนายจำรัส เกียรติก้อง หัวหน้าแผนกสำรวจ เดินทางไปตรวจพิจารณาโบราณวัตถุโบราณสถานรายนี้ ดงแม่นางเมือง อยู่ห่างที่ว่าการอำเภอบรรพตพิสัยไปทางทิศเหนือประมาณ 15 กิโลเมตร ภูมิลักษณะเป็นเมืองร้าง ขนาดกว้างใหญ่ ประมาณ 1 กิโลเมตร มีคูชั้นนอกและชั้นในเทินดินกำแพงเมืองอยู่ระหว่างกลาง ทางด้านตะวันตกของเมืองอยู่ไม่ห่างไกลแม่น้ำปิงนัก ทางด้านตะวันออกมีคลองวังตะเคียน เป็นทางน้ำติดต่อกับแม่น้ำน่าน ที่ปากแม่น้ำเชิงไกร ยาวประมาณ 45 กิโลเมตร โบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในบริเวณนี้เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ และศิลา ศิลปกรรมทวารวดีรุ่นหลังบ้าง พระพิมพ์ดินเผาศิลปะแบบลพบุรีบ้าง ตลับหรือผอบสังคโลก ฝีมือช่างจีนบ้าง ในจำพวกเหล่านี้มีศิลาจารึกหลักหนึ่งปักจมดินอยู่ที่โคกโบราณสถานใหญ่ แรกขุดพบปักตั้งอยู่บนฐานก่อด้วยอิฐ รอบๆ ฐานอิฐมีพระพิมพ์ดินเผาและอัฐิบรรจุตลับ หรือผอบสังคโลกจีนฝังอยู่ด้วย พระภิกษุสวัสดิ์ ฉนฺทธมฺโม เจ้าอาวาสวัดบ้านไผ่ มีความห่วงใย เกรงศิลาจารึกจะเป็นอันตรายเสียหาย จึงขอแรงราษฎรบรรทุกเกวียนขนย้ายไปรักษาไว้ที่วัดบ้านไผ่ แล้วมอบหมายให้เจ้าหน้าที่กองโบราณคดี กรมศิลปากร รับลงมายังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ศิลาจารึกหลักนี้ด้านที่ 1 จารึกเป็นภาษาบาลี ด้านที่ 2 จารึกเป็นภาษาเขมร และมีภาษาไทยปรากฏอยู่ด้วย เช่นคำว่า “พระ” และ “นำ” เป็นต้น จารึกดงแม่นางเมืองนี้ เมื่อพิมพ์ในศิลาจารึก ภาคที่ 3 ใช้ชื่อว่า “หลัก 35 ศิลาจารึกดงแม่นางเมือง”

เนื้อหาโดยสังเขป

ด้านที่ 1 เนื้อความอ้างถึงพระเจ้าอโศกมหาราช รับสั่งให้พระเจ้าสุนัตถวายที่นา เพื่อบูชาพระธาตุ ด้านที่ 2 กล่าวถึงรายการและจำนวนของถวาย ของพระเจ้าศรีธรรมาโศก ที่ถวายแด่พระเจ้าศรีธรรมาโศกในพระบรมโกศ จากนั้นกล่าวถึงการถวายที่นาของพระเจ้าสุนัต ที่ถวายแด่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชในพระบรมโกศเช่นกัน ตอนท้ายได้บอกกำหนดเขตของที่นานั้นด้วย

ผู้สร้าง

พระเจ้าสุนัต

การกำหนดอายุ

จารึกด้านที่ 2 บรรทัดที่ 17 บอกมหาศักราช 1089 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1710

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) ฉ่ำ ทองคำวรรณ, “จารึกดงแม่นางเมือง,” ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 4 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 17-18 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 109-116.
2) ฉ่ำ ทองคำวรรณ, “จารึกหลักที่ 35 ศิลาจารึกดงแม่นางเมือง,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม มอญ, บาลีสันสกฤต (พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2508), 12-13.
3) ไมเคิล ไรท์, “จารึกดงแม่นางเมือง ภาษามคธและภาษาเขมร เขียนด้วยอักษรขอม ม.ศ. 1089 (พ.ศ. 2505) พบที่ดงแม่นางเมือง บ้านมาบมะขาม ตำบลบางตาหงาย อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์,” ศิลปากร 5, 6 (มีนาคม 2505) : 51-54.
4) ไมเคิล ไรท์, “ปริศนาจารึกดงแม่นางเมือง,” ศิลปวัฒนธรรม 5, 3 (มกราคม 2527) : 95-97.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-20, ไฟล์; NW_001f1 และ NW_001f2)