จารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images
  • images
  • images
  • images

จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 7

จารึก

จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 7

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 20:39:59 )

ชื่อจารึก

จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 7

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

Stèle de Phnom Ruŋ (K. 384), หลักที่ 120 ศิลาจารึกปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์, บร.1, จารึกหลักที่ 120, K.384

อักษรที่มีในจารึก

ขอมโบราณ

ศักราช

พุทธศตวรรษ 18

ภาษา

สันสกฤต

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 4 ด้าน มี 76 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 17 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 21 บรรทัด ด้านที่ 3 มี 21 บรรทัด ด้านที่ 4 มี 17 บรรทัด

วัตถุจารึก

ศิลา ประเภทหินชนวนสีเทา

ลักษณะวัตถุ

รูปใบเสมา

ขนาดวัตถุ

กว้าง 27.5 ซม. สูง 53.75 ซม. หนา 12 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “บร. 1”
2) ในหนังสือ Inscriptions du Cambodge vol. V กำหนดเป็น “Stèle de Phnom Ruŋ (K. 384)”
3) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 กำหนดเป็น “หลักที่ 120 ศิลาจารึกปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์”
4) ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 4 กำหนดเป็น “จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 7”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2450

สถานที่พบ

ปราสาทหินพนมรุ้ง ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (ข้อมูลเดิมว่า อำเภอนางรอง) จังหวัดบุรีรัมย์

ผู้พบ

ไม่ปรากฏหลักฐาน

ปัจจุบันอยู่ที่

หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร (บันทึกข้อมูลวันที่ 9/12/2563)

พิมพ์เผยแพร่

1) Inscriptions du Cambodge vol. V (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1953), 297-305.
2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 (พระนคร : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513), 229-232.
3) จารึกในประเทศไทย เล่ม 4 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529), 156-174.

ประวัติ

ประวัติ ศิลาจารึกหลักนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โปรดให้ย้ายจากปราสาทพนมรุ้ง ครั้งแรกนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดโบสถ์ จังหวัดนครราชสีมาก่อน จากนั้นจึงเคลื่อนย้ายมาไว้ที่พระบรมมหาราชวัง และพิพิธภัณฑสถานของกระทรวงมหาดไทย อยู่ที่นั้นชั่วระยะเวลาหนึ่ง จึงย้ายมาอยู่ที่หอพระสมุดสำหรับพระนคร ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 หอสมุดแห่งชาติได้ย้ายมาอยู่อาคารใหม่ที่ท่าวาสุกรี อาคารเก่าที่หอพระสมุดวชิราวุธจึงว่าง ประกอบกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต้องการใช้สถานที่บริเวณพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน จัดแสดงพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2510 จึงได้ย้ายจารึกซึ่งจัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ไปเก็บรักษาไว้ที่อาคารหอพระสมุดวชิราวุธ คือตึกถาวรวัตถุข้างวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์นั่นเอง ในปี พ.ศ. 2521 กรมศิลปากรมีความประสงค์จะให้ศิลาจารึก ซึ่งจัดไว้เป็นโบราณวัตถุ ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตามกฏหมาย จึงได้ย้ายหลักจารึกส่วนใหญ่ไปเก็บรักษา และตั้งแสดงในหมู่พระวิมาน ห้องอุตราภิมุข และห้องอื่นๆ ในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่จารึกบางหลักที่สำคัญ หรือจารึกที่ยังมิได้อ่าน-แปล หรือจารึกที่มีปัญหาในด้านรูปอักษรและภาษา ทางหอสมุดแห่งชาติได้ขอยืมไว้สำหรับศึกษา และดำเนินการอ่านต่อไป ดังนั้น จารึกกลุ่มนี้ รวมทั้งจารึกปราสาทพนมรุ้ง บร. 1 ด้วย จึงได้ย้ายมาไว้ที่อาคารหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ ในบริเวณด้านหลังอาคารหอสมุดแห่งชาติ ที่ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ เนื่องจากศิลาจารึกหลักนี้ชำรุดมาก เนื้อศิลาส่วนล่างหักหายไป ข้อความในจารึกนี้จึงไม่สมบูรณ์ แม้กระนั้นท่านศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ ก็ได้พยายามศึกษา อ่าน-แปล เป็นภาษาฝรั่งเศส และพิมพ์เผยแพร่ ในหนังสือ Inscriptions du Cambodge vol. V (1953) หมายเลข K. 384 และศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปลเป็นภาษาไทย พิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 ให้ชื่อเรื่องว่า ศิลาจารึกปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2515 เจ้าหน้าที่ในโครงการบูรณะโบราณสถานปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้ความอำนวยการของศาสตราจารย์ หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ได้ขุดแต่งบริเวณด้านทิศเหนือของปราสาท บริเวณบันไดประตูทางเข้าปรางค์ประธาน ได้พบแผ่นศิลาจารึก ประหินชนวนสีเทาหัก 2 ท่อน มีอักษรจารึก 4 ด้าน เมื่อจัดแท่งศิลาต่อกันแล้ววัดขนาด ส่วนกว้าง 27 ซม. สูง 60 ซม. และหนา 12 ซม. จารึกหลักนี้ใช้รูปอักษรขอม ภาษาสันสกฤต เจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติได้ลงทะเบียนจารึกปราสาทพนมรุ้งที่พบใหม่นี้ ให้ใช้เลขที่ บร. 14 พร้อมทั้งดำเนินการอ่าน-แปลและพิมพ์เผยแพร่ใน วารสารศิลปากร ปีที่ 26 ฉบับที่ 4 กันยายน 2525 ในคราวที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชนิพนธ์วิทยานิพนธ์ เรื่อง จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญา ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2521 นั้น ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ศิลาจารึกเลขที่ บร. 1 และ บร. 19 เป็นจารึกหลักเดียวกัน ในบทพระราชนิพนธ์นั้น ลำดับข้อความในจารึกต่อเนื่องกันไปจนหมดข้อความของแต่ละด้าน และเมื่อรวมจารึก บร. 1 และ บร. 19 แล้ว จะเรียงลำดับได้ดังนี้
บร. 1
ด้านที่ 1 ตรงกับ K. 384 ด้าน A
ด้านที่ 2 ตรงกับ K. 384 ด้าน B
ด้านที่ 3 ตรงกับ K. 384 ด้าน C
ด้านที่ 4 ตรงกับ K. 384 ด้าน D
บร. 19
ด้านที่ 1 ตรงกับ K. 384 ด้าน C (บทที่ 51 วสันตดิลก)
ด้านที่ 2 ตรงกับ K. 384 ด้าน D (กึ่งที่พบใหม่)
ด้านที่ 3 ตรงกับ K. 384 ด้าน A (กึ่งที่พบใหม่)
ด้านที่ 4 ตรงกับ K. 384 ด้าน B (กึ่งที่พบใหม่)
แต่ในการพิมพ์ครั้งนี้ยังคงแยกจารึกดังกล่าวออกเป็น 2 หลัก ตามที่ปรากฏในทะเบียนจารึก ทั้งนี้เพื่อรักษาต้นฉบับการอ่าน-แปลไว้เป็นประวัติของจารึกสืบไป

เนื้อหาโดยสังเขป

กล่าวถึงพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 สรรเสริญการกระทำอันกล้าหาญ และพระปรีชาของพระองค์ในด้านปรัชญา จากนั้นกล่าวถึงราชสกุลวงศ์ของพระองค์ อย่างไรก็ดี ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าข้อความในจารึกด้านที่ 3 นั้นสรรเสริญใครกันแน่ระหว่างพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 กับพระครูนเรนทราทิตย์

ผู้สร้าง

หิรัณยะ

การกำหนดอายุ

หอสมุดแห่งชาติได้กำหนดไว้ว่าจารึกหลักนี้เป็นจารึกอักษรขอมโบราณ อายุพุทธศตวรรษที่ 18

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : นวพรรณ ภัทรมูล, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก :
1) Goerge Cœdès, “Stèle de Phnom Ruŋ (K. 384),” in Inscriptions du Cambodge vol. V (Hanoi : Imprimerie d'Extrême-Orient, 1953), 297-305.
2) ยอร์ช เซเดส์, “ปราสาทหินพนมรุ้ง 7,” แปลโดย ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล และฉ่ำ ทองคำวรรณ จาก Stèle de Phnom Ruŋ (K. 384), ใน จารึกในประเทศไทย เล่ม 4 : อักษรขอม พุทธศตวรรษที่ 17-18 (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2529), 156-174.
3) ยอร์ช เซเดส์, “หลักที่ 120 ศิลาจารึกปราสาทพนมรุ้งจังหวัดบุรีรัมย์,” แปลโดย ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล และฉ่ำ ทองคำวรรณ จาก Stèle de Phnom Ruŋ (K. 384), ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคกลางของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม, มอญ, บาลีสันสกฤต (พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513), 229-232.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-10, ไฟล์; BR_010f1, BR_010f2, BR_010f3 และ BR_010f4)