Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ว่าด้วยเรื่องของ "ข้า" ในจารึก

ว่าด้วยเรื่องของ "ข้า" ในจารึก

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 เวลา 18:29:34
บทความโดย : ทีมงาน

       คำว่า "ข้า" ทุกคนต้องเคยได้ยินกันมาบ้าง อาจได้ยินมาจากละครจักรๆ วงศ์ๆ หรือบางคนก็ยังใช้กันอยู่บ้าง ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 นิยามไว้ดังนี้
       ข้า (ส.)  คำใช้แทนตัวผู้พูด พูดกับผู้ที่เสมอกันอย่างเป็นกันเองหรือผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย, สรรพนามบุรุษที่ 1
       ข้า (น.)  ประชาชน, ราษฎร, คน, บริวาร, ทาส
 
        คำว่า ข้า (ส.) พบว่าใช้ในจารึกหลายหลัก ดังตัวอย่าง
       "ครั้นข้ามล้างขันธ์ทั้ง 5 หื้อข้าได้เอาอารมณ์อันประเสริฐ หื้อข้าได้เมือเกิดในตาวติงสาเทวโลก หื้อข้าได้ประสบพบเจ้าราชบุตรลูกข้าตนชื่อพระยอดงำเมือง แล้วหื้อผู้ข้าทั้งหลายได้อยู่อุปัฎฐากพระเกศจุฬามณีเจ้าชู่วัน (จารึกฐานปราสาทโลหะ ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 2-4 )"   

       จากตัวอย่างที่ยกมานั้น พบว่ามีการใช้ "ผู้ข้า" เป็นคำแทนตัวผู้พูด และเมื่อลองค้นคำที่มีความหมายเหมือนกับ "ข้า" และ "ผู้ข้า" ยังพบว่าคำว่า "ตูข้า" อีกด้วย ดังตัวอย่าง
       "แลตูข้าเกิดมาในภพใดๆ ให้เกิดในตระกูลทั้ง 3 เศรษฐีแล มหาพราหมณ์ มหากษัตรธิราช อันประเสริฐ แลจงเป็นพระพุทธเจ้า (จารึกวัดโพธิ์หอม ด้านที่ 2 บรรทัด 10-14)"

       นอกจากนี้ยังพบการประสมคำจนเกิดความหมายใหม่อีกหลายคำ ได้แก่
 
       ข้าไท (น.)  บริวารของผู้ใหญ่, คนรับใช้ที่ไม่ใช่ทาส
       "..เราเล็งดูพระเยีย…ชระญานก็ว่าโสภางาม …พระพุทธรูปสีพดัง จักเจรจาแย้มหัวด้วย …..จึงถวายเบญจาคประดิษฐแล้วจึง…..ก็ว่าใน …..ช้างม้า ข้าไททั้งหลาย (จารึกป้านางคำเยีย ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 13-16)"
 
       ข้าพระ (น.)  ผู้ที่นายเงินทำหนังสือสำคัญยกให้เป็นคนใช้ของสงฆ์ คนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่พระสงฆ์ เพื่อรักษาวัดและปฏิบัติพระสงฆ์
       "ท้าวพรหมกันดาลอุทิศถวาย นายนากเสมียน นายมาพรรคพวกเป็นนายหมวด อ้ายบุญใหญ่  อ้ายบุญน้อย อ้ายชีย์ อ้ายเกิด อ้ายสน อ้ายสี อ้ายบุญมาก อีฉิม อีทองมาก อีกุ อีเขียว 13 ไว้ เป็นข้าพระ สำหรับอารามสืบๆ ไป  ถ้าผู้ใด เอาไปเป็นบ่าวไพร่ ข้าไท ให้ตกนรกมหาวิจิแสนกัลปอนันตชาติ อย่าให้พระพุทธเจ้าโปรดได้เลย (จารึกวัดใหม่ศรีโพธิ์ 2 บรรทัดที่ 1-3)"
 
       ข้าโอกาส (น.) บุคคลที่ถูกยกให้เป็นผู้ดูแลวัด และพระสงฆ์ (หากมีลูกหลานก็ต้องเป็นข้าพระสืบต่อไป) 
       "มหาราชครูตน(ผู้)สร้าง จึงมีคำเหลิมใส จึงทอดน้องหญิงชื่อว่าแม่ยุ กับทั้งอียูหลานหญิงให้เป็นข้าโอกาสแก่ (พระ) พุทธรูปอินแปงเจ้าองค์นี้ (จารึกพระเจ้าอินแปง บรรทัดที่ 9-10)"

       สำหรับข้าพระ และข้าโอกาส ทั้งหมดต่างถูกยกให้แก่วัดเพื่อดูแลวัด ดูแลพระสงฆ์ และหน้าที่นี้จะตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น เรียกได้ว่าหน้าที่เหมือนกันต่างกันเพียงคำเรียกเท่านั้น

----------------
อ้างอิงจาก
ศัพทานุกรมจารึก : https://db.sac.or.th/inscriptions/glossary/detail/5721
ภาพจาก :จิตรกรรมฝาผนัง วัดพระแท่นดงรัง กาญจนบุรี
 

ผู้เขียน : นิสา เชยกลิ่น

คำสำคัญ : ศัพทานุกรมจารึก คำศัพท์ ข้า ผู้ข้า ข้าพระ ข้าโอกาส ข้าไท