ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 30 นี้แบ่งเป็น 2 ท่อน คือท่อนบนและท่อนล่าง ท่อนบนด้านซ้ายสุดเป็นรูปพระภิกษุสงฆ์นั่งขัดสมาธิอยู่บนธรรมาสน์ ถัดมากลางภาพเป็นรูปงู 4 ตัวที่ลำตัวรัดเกี่ยวกันอยู่ หันหน้าไปทางขวา และขวาสุดของภาพเป็นรูปชายคนหนึ่งซึ่งแต่งกายเป็นฆราวาส ผิวเหลือง ผมดำยาว ไม่สวมเสื้อ สวมเครื่องประดับที่ศีรษะ คอ และแขน นุ่งผ้าโจงกระเบนยาวสีแดงลายรูปวงกลมและข้าวหลามตัดขาวดำ ชายผ้าแหลมพลิ้วไสว มือข้างขวา(ของเขา)ถือดาบ มืออีกข้างหนึ่งเท้าสะเอว ใบหน้าดูดุดันด้วยเรียวหนวดที่เหนือริมฝีปาก หันหน้าไปมองงู
ภาพล่างซ้ายสุดเป็นรูปชายผู้หนึ่ง ผิวเหลือง ไม่สวมเสื้อ สวมเครื่องประดับที่ศีรษะ คอ และแขน เฉพาะเครื่องประดับที่ศีรษะนั้นดูหรูหรามียอดแหลม นุ่งผ้าโจงกระเบนยาวสีแดงลายรูปกากบาทแบบหนาขอบสีขาว ยืนอยู่ด้วยอาการกางแขนกางขา เพราะโดนงู 4 ตัวรัดอยู่ที่ลำตัวและขาทั้งสองข้าง (น่าจะเป็นงูฝูงเดียวกับภาพท่อนบน) ถัดมากลางภาพมีร่างคนเปลือยกายผิวขาวซีด ผมดำสั้นเกรียน พุงป่องเล็กน้อย นอนเหยียดยาว ศีรษะหันไปทางชายที่ถูกงูรัด ลักษณะน่าจะเป็นศพไม่บ่งบอกเพศ ส่วนทางขวาของภาพเป็นชายคนหนึ่ง ผิวขาว ผมดำยาว ไม่สวมเสื้อ สวมเครื่องประดับที่ศีรษะ คอ และแขน นุ่งผ้าโจงกระเบนยาวสีแดงส้มลายรูปวงกลมและข้าวหลามตัดขาวดำ ชายผ้าแหลมพลิ้วไสว คล้าย ๆ กับรูปชายในภาพท่อนบน ต่างตรงคนนี้ไม่มีหนวด และท่าทางของเขาคล้ายกับกำลังร่ายรำอย่างเริงร่า หันหน้าไปมองซากศพ

ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 30

คำอ่านตามรูปอักษร
ในหนังสือ สมุดข่อย ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
“พระโยคาวจรเจ้า เห็นภัยในวัฏฏสังสาร ตัดธาตุทั้ง 4 นี้เสียแล พระขรรค์คือปัญญา พระสงฆ์ใดตรัสรู้พระอริยสัจ โยคาวจรเจ้าเห็นธาตุทั้ง 4 นี้แล คนอันธพาลบมิเห็นธาตุทั้ง 4 คืองู
คนอวิชชาหลงในวัฏฏสังสารแล”
คำอ่าน
โยคาวจรเจ้า เหนฺภยฺยในวฏฺฏสํสารตัตฺธาตุทั้งฺ 4 นี้เสียฺแล
ปถวิ อาโป เตโช วาโย
พฺรขนฺธคือฺปญฺญา
๏ พฺรสงฺฆไฑ้ ตฺรัสรู้พฺรอริยสจฺจ โยคาวจร เหนฺธาตุทั้งฺ 4 นี้แล
คนฺอนฺธพาลปิมฺเหนฺธาตุทั้งฺ 4 คือฺงู
คนฺอวิชฺชาหฺลงในวฏฺฏสงฺสารแล
คำปริวรรต
โยคาวจรเจ้า เห็นภัยในวัฏสงสาร ตัดธาตุทั้ง 4 นี้เสียแล
ปฐพี อาโป เดโช วาโย
พระขรรค์คือปัญญา
๏ พระสงฆ์ได้ตรัสรู้พระอริยสัจ โยคาวจร เห็นธาตุทั้ง 4 นี้แล
คนอันธพาลบ่มิเห็นธาตุทั้ง 4 คืองู
คนอวิชชาหลงในวัฏสงสารแล
คำอธิบายเพิ่มเติม
ข้อความในภาพนี้ท่อนแรกมีการกล่าวถึง “ภัยในวัฏสงสาร” และคำว่า “ตัด” สอดคล้องกับภาพชายถือมีดดาบหรือ “พระขรรค์” ที่ทำท่าจะตัดสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ได้แก่ งู ทั้ง 4 ตัว ที่มีข้อความกำกับว่า ปฐพี (ดิน) อาโป (น้ำ) เตโช (ไฟ) วาโย (ลม) ซึ่งก็คือ ธาตุทั้ง 4 ผู้มีปัญญาจะเห็นภัยในวัฏสงสารนี้และตัดเสียได้ ผู้ไม่มีปัญญาหรืออันธพาลผู้ไม่อาจเห็นได้ก็จะถูกภัยนั้นร้อยรัดจนดิ้นไม่หลุด
หมายเหตุ
เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 277.
ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล
คำสำคัญ :
ปริศนาธรรม
สมุดภาพ
วัดพระรูป
สมุดไทยขาว