Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ขันธ์ทั้ง 5

ขันธ์ทั้ง 5

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 เวลา 16:05:51
บทความโดย : ทีมงาน

               ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 31-32 นี้เป็นภาพชุดที่มีเนื้อหาต่อเนื่องกัน ภาพที่ 31 หรือภาพแรกของชุดนี้จะแบ่งภาพเป็น 2 ท่อน คือท่อนบนและท่อนล่าง ท่อนบนด้านซ้ายสุดเป็นรูปชายคนหนึ่ง ผิวเหลือง ผมดำยาวปลายงอน ไม่สวมเสื้อ สวมเครื่องประดับที่ศีรษะ คอ แขน และศีรษะ นุ่งผ้าโจงกระเบนยาวสีแดงลายรูปกากบาทแบบหนาสีดำมีขอบขาว ชายผ้าแหลม มือข้างซ้าย(ของเขา)ยกขึ้นเหมือนโบกมือ(ลา)ให้ผู้ที่ตามมาข้างหลัง ถัดมากลางค่อนไปทางขวาของภาพ มีรูปกลุ่มชาย 5 คน สีผิว สีผม และสีผ้าแตกต่างกัน ที่เหมือนกันคือต่างถืออาวุธคนละอย่าง มีทั้งหอก ดาบ โล่ ชายกลุ่มนี้มีลักษณาการเหมือนไล่ล่าชายคนที่ยืนด้านซ้าย แต่ชายคนด้านซ้ายไม่มีอาการหวาดกลัว กลับยืนโบกมือให้ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม  คงจะเป็นทำนองเดียวกันกับภาพท่อนล่าง ชายคนขวาสุดที่มีผิวสีเหลือง ผมดำยาวปลายงอน ไม่สวมเสื้อ สวมเครื่องประดับที่ศีรษะ คอ แขน และศีรษะ นุ่งผ้าโจงกระเบนยาวสีแดงทับผ้าชั้นในสีเขียว ชายผ้าแหลมปลิวไสว ยืนกางแขน ตั้งวง ยกขา งอเข่า อากัปกิริยาเหมือนกำลังร่ายรำ  สายตาทอดมองไปยังชายคนหนึ่งด้านซ้ายของภาพที่กำลังว่ายน้ำฝ่าคลื่นสูงที่มีกำลังแรง  
               ภาพที่ 32 เนื้อหาต่อจากภาพที่ 31 แบ่งเป็น 2 ท่อนเช่นเดียวกัน ท่อนบนซ้ายสุดเป็นรูปลิงสีฟ้าอ่อนปีนบนกิ่งไม้บางๆ อ่อนช้อยไม่มั่นคง ปลายกิ่งมีใบไม้และดอกไม้สีแดงสวยงาม ด้านขวาสุดเป็นรูปชายผิวออกเหลือง ผมสีเขียวอ่อนยาวปลายงอน ไม่สวมเสื้อ สวมเครื่องประดับสีแดงที่ศีรษะ คอ แขน และศีรษะ นุ่งผ้าโจงกระเบนยาวสีดำ-แดงลายริ้วและดอกแฉกๆ สีขาว ชายผ้าแหลมพลิ้ว หันหน้ามองไปทางซ้าย ตั้งท่าเหนี่ยวคันธนูเหมือนจะยิงลิง ท่อนล่างก็มีลิงอีกเช่นกัน โดยนี้ประกอบไปด้วยซ้ายสุดมีชายคนหนึ่งไม่สวมเสื้อ ไม่สวมเครื่องประดับ ผมสั้น ผิวขาว นุ่งโจงกระเบนสั้นสีน้ำตาล ยืนหาบน้ำอยู่ กลางภาพมีลิงสีฟ้าอ่อนสองตัว ตัวเล็กและตัวใหญ่ ตัวใหญ่ยกขาหน้าไปเกาะถังน้ำใบนึงของชายที่หาบน้ำ ด้วยอาการราวกับจะขอความช่วยเหลือเพราะตื่นกลัวชายอีกคนที่ถือหอกเหมือนจะแทงอยู่ด้านหลัง

ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 31


คำอ่านตามรูปอักษร[1]


ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 32     


คำอ่านตามรูปอักษร[2]

ในหนังสือ สมุดข่อย[3] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญาณขันธ์ สังขารขันธ์ โยคาวจรเจ้าเห็นขันธ์ทั้ง 5 เป็นอนิจจํ 5 ทุกขํ อนัตตา จะใคร่จากเสียแล
โยคาวจรเห็นว่ายน้ำอยู่คือคนหลงในสังสารภพ คนหาบน้ำคือรูปขันธ์ ลิงคือเจตนารมณ์ ผู้ยิงลิงนั้นคือโยคาวจรเจ้า ตั้งสมาธิจึ่งระงับอารมณ์นั้นได้แล”

คำอ่าน
รูปขนฺธ     เวทนาขนฺธ    สญฺญาขนธ     สํขารขนฺธ    วิญฺญาณขนฺธ
คนฺหาบฺน้ำคฺือรูปขนฺธ     ลิงฺคฺือเจตนารมฺณ      ผู้ยิงฺลิงฺนั้นคฺือโยคาวจรเจ้า
ตั้งฺสมาธิจึ่งฺรงับฺอารมฺณนั้นไฑ้แล

คำปริวรรต
รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
คนหาบน้ำคือรูปขันธ์ ลิงคือเจตนารมณ์ ผู้ยิงลิงนั้นคือโยคาวจรเจ้า
ตั้งสมาธิจึ่งระงับอารมณ์นั้นได้แล

คำอธิบายเพิ่มเติม
ข้อความในภาพนี้ท่อนแรกมีการกล่าวถึงขันธ์ 5 ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือความไม่เที่ยงแท้ ไม่คงทน และว่างเปล่า เปรียบเหมือนกลุ่มชายถืออาวุธที่ยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสกับชายที่ยังว่ายน้ำสู้กับคลื่นทุกข์ โยคาวจรผู้เห็นได้ดังนี้จึงระงับได้และเลี่ยงเสียไม่ต้องทุกข์ เช่นเดียวกับลิงในภาพล่างซึ่งเป็นตัวแทนของเจตนารมณ์ที่ปั่นป่วนก่อกวนไปทั่ว โยคาวจรผู้ยิงลิงนั้นคือผู้ระงับได้นั่นแล


 
หมายเหตุ
เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
               สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย  ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
               สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า   ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
 
[1] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[2] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[3] บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 278.

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว