Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ผู้มีปัญญา

ผู้มีปัญญา

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 เวลา 15:46:43
บทความโดย : ทีมงาน

          ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 33-34 นี้เป็นภาพชุดที่มีเนื้อหาต่อเนื่องกัน ภาพที่ 33 หรือภาพแรกของชุดนี้จะประกอบไปด้วยภาพชายแต่งตัวคล้ายฤษี 2 ตน พระภิกษุ 2 รูป ชายฆราวาส 2 คน และซากศพ 1 ซาก โดยจะขอให้พิจารณาเริ่มจากซ้ายบนสุด ลำดับแรกเป็นชายแต่งตัวคล้ายฤษีผมยาวสีขาวเกล้าเป็นมวยสูง ไม่สวมเสื้อ คลุมผ้าที่หลัง-ไหล่สีเขียวอ่อน นุ่งโจงกระเบนสีน้ำตาลลายรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดสีขาว มือขวาถือดอกบัว ถัดมาเป็นพระภิกษุนั่งขัดสมาธิอยู่บนธรรมาสน์สูงใหญ่ ถัดมาเป็นแจกันดอกบัวที่ตั้งอยู่กลางธรรมาสน์ และอีกด้านหนึ่งงของธรรมาสน์มีพระภิกษุอีกหนึ่งรูปนั่งขัดสมาธิอยู่เช่นเดียวกัน ถัดมาที่พื้นมีชายฆราวาสหนึ่งคน นั่งพับเพียบไม่สวมเสื้อ นุ่งโจงกระเบนสีแดง มือขวาถือดอกบัว ถัดลงมาทางขวาของภาพเป็นชายแต่งตัวคล้ายฤษี ผมยาวสีขาวเกล้าเป็นมวยสูง ท่อนบนคลุมผ้าสีเนื้อ นุ่งโจงกระเบนสีแดง มือขวาถือดอกบัว ถัดมาตรงกลางส่วนล่างของภาพ ซึ่งเป็นบริเวณในหรือใต้ธรรมาสน์[1] มีชายฆราวาสหนึ่งคน ไม่สวมเสื้อ นุ่งโจงกระเบนสีครีมลายดอกดวงสีชมพู นั่งขี่ซากศพที่ห่อลำตัวท่อนล่างด้วยผ้าสีน้ำตาล อยู่บนพื้นผิวสีน้ำเงิน ซึ่งน่าจะหมายถึงน้ำทะเล อุปมาว่าขี่ซากศพลอยทะเลไป นอกจากนั้น ที่ขวาบนของภาพยังมีวงกลมที่มีนกสีฟ้าอ่อนอยู่ข้างใน 5 ตัว โดยอยู่ในวงกลมวงเล็กตรงกลาง 1 ตัว และอีก 4 ตัวอยู่ในช่องที่แบ่งเป็น 4 ช่องในวงกลมวงนอก  
          ภาพที่ 34 เนื้อหาต่อจากภาพที่ 33 โดยภาพนี้ประกอบไปด้วยชาย 3 คน ยักษ์ และสัตว์ 2 ชนิด ได้แก่ งู และไก่ ชายคนแรกด้านซ้ายสุดของภาพ ผิวขาว ผมสั้นสีดำ ไม่สวมเสื้อ นุ่งโจงกระเบนสีแดง มือขวาถือสุ่ม มือซ้ายจับงูสีดำที่พาดแขนอยู่ ถัดมากลางภาพสูงขึ้นไปเล็กน้อยเป็นรูปชายหนึ่งคนขี่ยักษ์อยู่ ชายคนนี้สวมชฎามงกุฎประดับด้วยแก้วพลอยสวยงาม ที่คอ ต้นแขน และข้อมือสวมเครื่องประดับ ไม่สวมเสื้อ นุ่งโจงกระเบนสีแดงส้ม มือขวาถือจักร มือซ้ายถือตรีศูล และถัดลงมาด้านล่างขวามือของภาพ มีรูปชายอีกคนหนึ่ง ผิวขาว ผมยาวสีดำ เกล้าผมสูง ไม่สวมเสื้อ นุ่งโจงกระเบนสีเขียวอ่อน มือขวากำเชือกจูงไก่ตัวหนึ่งที่มีขนสีเหลืองส้ม

ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 33


คำอ่านตามรูปอักษร[2]


ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 34     


คำอ่านตามรูปอักษร[3]

ในหนังสือ สมุดข่อย[4] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
โยคาวจร สมาธิ สมาธิ อริยโคตร อันธพาลคนหาปัญญาบมิได้ หลงอยู่ในสังสารเสมอด้วยพราหมณ์เลี้ยงไก่นี้แล”

คำอ่าน
โยคาวจร สมาธิ สมาธิ อริยโคตฺร
สํสารทุกฺข ญาณ ตฺรผีบฺบ
ปญฺญาเหนฺทุกฺข
อริยโคตฺร
ปุถุชนเสฺีย
อันฺธพาล
อนฺธพาล อนฺธพาล
๏    คนฺหาปญฺญามิไฑ้หฺลงอฺยู่ในสํสารเสฺมอพฺราหฺมณ
เลฺี้ยงไก่นี้แล

คำปริวรรต
โยคาวจร สมาธิ สมาธิ อริยโคตร
สังสารทุกข์ ญาณ ตระผีบ(?)[5]
ปัญญาเห็นทุกข์
อริยโคตร
ปุถุชนเสีย
อันธพาล
อันธพาล อันธพาล
๏    คนหาปัญญามิได้หลงอยู่ในสงสารเสมอพราหมณ์
เลี้ยงไก่นี้แล

คำอธิบายเพิ่มเติม
          ข้อความในภาพทั้ง 2 ภาพมีการอธิบายในหนังสือ สมุดข่อย แบบรวม ๆ ต่อเนื่องเป็นเนื้อความเดียวกัน  เหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งที่จริงแล้วสามารถแยกกันอธิบายได้สั้น ๆ โดยภาพที่ 33 อธิบายว่า “โยคาวจร สมาธิ สมาธิ อริยโคตร” และภาพที่ 34 อธิบายว่า “คนหาปัญญามิได้หลงอยู่ในสงสารเสมอพราหมณ์เลี้ยงไก่นี้แล” ซึ่งก็เท่ากับว่า 2 ภาพนี้อาจเป็นคนละเรื่องกันก็ได้ กล่าวคือ ภาพที่ 33 อธิบายถึงความสำคัญของปัญญาที่จะทำให้แคล้วคลาดในสถานการณ์ต่าง ๆ ส่วนภาพที่ 34 อธิบายถึง ความหลง ความหลงมีหลายรูปแบบ ชายที่อุ้มงูก็หลงผิดคิดว่างูเป็นปลา ชายที่จูงไก่ก็หลงรักไก่ที่เลี้ยงไว้ฝึกชนให้เก่ง ส่วนชายที่อยู่กลางภาพนั้นขี่ยักษ์ซึ่งก็เปรียบเหมือนอวิชชา หากเขามีอาวุธที่เปรียบเสมือนปัญญาก็จะสามารถปราบยักษ์ได้

 
หมายเหตุ

เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
          สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย  ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
          สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า   ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
 
[1] ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ใน หรือ ใต้ เพราะไม่เข้าใจสิ่งที่ภาพต้องการสื่อ
[2] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[3] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[4] บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 279.
[5] คำ “ตฺรผีบฺบ” ปรากฏในเอกสารสมุดไทยหน้านี้ แต่ผู้เขียนไม่สามารถปริวรรตหรือตีความได้ว่าคือคำใดในความหมายปัจจุบัน

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว