จารึกป้านางคำเยีย

จารึก

จารึกป้านางคำเยีย

QR-code edit Share on Facebook print

เวลาที่โพส โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2567 12:47:15 )

ชื่อจารึก

จารึกป้านางคำเยีย

ชื่อจารึกแบบอื่นๆ

ศิลาจารึกอักษรและภาษาไทย สมัยสุโขทัย, หลักที่ 102 ศิลาจารึกภูเขาไกรลาส สวนซ้าย ในพระบรมมหาราชวัง, ศิลาจารึกป้านางคำเยีย

อักษรที่มีในจารึก

ไทยสุโขทัย, ขอมสุโขทัย

ศักราช

พุทธศักราช 1922

ภาษา

บาลี, ไทย

ด้าน/บรรทัด

จำนวนด้าน 2 ด้าน มี 57 บรรทัด ด้านที่ 1 มี 40 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 17 บรรทัด

วัตถุจารึก

หินชนวน

ลักษณะวัตถุ

แผ่นรูปใบเสมา (ชำรุด)

ขนาดวัตถุ

กว้าง 51 ซม. สูง 129 ซม. หนา 19 ซม.

บัญชี/ทะเบียนวัตถุ

1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “กท. 30”
2) ในวารสาร ศิลปากร ปีที่ 12 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2511) กำหนดเป็น “ศิลาจารึกอักษรและภาษาไทย สมัยสุโขทัย”
3) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 กำหนดเป็น “หลักที่ 102 ศิลาจารึกภูเขาไกรลาส สวนซ้าย ในพระบรมมหาราชวัง”
4) ในหนังสือ จารึกสมัยสุโขทัย กำหนดเป็น “ศิลาจารึกป้านางคำเยีย”
5) ในหนังสือ Epigraphic and historical studies กำหนดเป็น “The Inscription of Vat Traban Jan Phoak (จารึกวัดตระพังช้างเผือก)”

ปีที่พบจารึก

พุทธศักราช 2510

สถานที่พบ

เขาไกรลาส สวนซ้ายในพระบรมมหาราชวัง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ผู้พบ

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล

ปัจจุบันอยู่ที่

เขาไกรลาส สวนซ้ายในพระบรมมหาราชวัง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พิมพ์เผยแพร่

1) วารสาร ศิลปากร ปีที่ 12 ฉบับที่ 3 (กันยายน 2511) : 94-98.
2) ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 (พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ฯ สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513), 97-103.
3) จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2526), 309-318.

ประวัติ

ศิลาจารึกป้านางคำเยีย เป็นหินชนวน รูปลักษณะเป็นแผ่นใบเสมา จารึกอักษรไทยสุโขทัย-ขอมสุโขทัย ภาษาไทย-บาลี มี 2 ด้าน ด้านที่ 1 เป็นจารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย มี 40 บรรทัด แต่บรรทัดที่ 1 ถึง 11 พื้นศิลาชำรุด และบรรทัดที่ 36 ถึง 40 อักษรลบเลือนอ่านจับใจความไม่ได้ ส่วนด้านที่ 2 นั้น เป็นจารึกอักษรขอมสุโขทัย ภาษาบาลี มี 17 บรรทัด เมื่อปี พ.ศ. 2510 ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงพบศิลาจารึกจำนวน 2 หลัก ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่ในคูหาใต้ภูเขาไกรลาส สวนซ้ายภายในเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง ทรงแจ้งเรื่องให้นายประสาร บุญประคอง เจ้าหน้าที่ผู้อ่านจารึก กองหอสมุดแห่งชาติ ทราบพร้อมกับทรงทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระบรมราชานุญาตให้เจ้าหน้าที่ผู้อ่านจารึกจำนวน 2 คน คือ นายประสาร บุญประคอง และนายเทิม มีเต็ม เข้าในเขตพระราชฐานชั้นในภายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทำการสำรวจและอัดสำเนาศิลาจารึก เจ้าหน้าที่ผู้อ่านจารึกทั้ง 2 คน ได้เข้าทำการสำรวจและอัดสำเนาจารึก เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510

เนื้อหาโดยสังเขป

ข้อความในจารึกอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย ได้กล่าวถึงป้านางคำเยียที่ได้บำเพ็ญกุศลต่างๆ ในพระพุทธศาสนา ส่วนข้อความในจารึกอักษรขอมสุโขทัย ภาษาบาลี ได้กล่าวพรรณนาถึงลายลักษณ์ที่ปรากฏในพระบาททั้งสอง แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ผู้สร้าง

ป้านางคำเยีย

การกำหนดอายุ

จารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 28-29 บอก มหาศักราช 1301 และ จุลศักราช 741 ตรงกับ พุทธศักราช 1922

ข้อมูลอ้างอิง

เรียบเรียงข้อมูลโดย : วชรพร อังกูรชัชชัย และดอกรัก พยัคศรี, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2546, จาก :
1) ประสาร บุญประคอง, “คำอ่านศิลาจารึกอักษรและภาษาไทย สมัยสุโขทัย ได้มาจากเขาไกรลาส สวนซ้าย ในพระบรมมหาราชวัง ตำบลพระราชวัง อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร,” ศิลปากร 12, 3 (กันยายน 2511) : 108-109.
2) ประสาร บุญประคอง, “ศิลาจารึกป้านางคำเยีย,” ใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), 309-318.
3) ประสาร บุญประคอง, ประเสริฐ ณ นคร และแสง มนวิทูร, “หลักที่ 102 ศิลาจารึก ภูเขาไกรลาส สวนซ้าย ในพระบรมมหาราชวัง,” ใน ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 : ประมวลจารึกที่พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ของประเทศไทย อันจารึกด้วยอักษรและภาษาไทย, ขอม มอญ, บาลีสันสกฤต (พระนคร : คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโบราณคดี สำนักนายกรัฐมนตรี, 2513), 97-103.

ภาพประกอบ

ภาพสำเนาจารึกจาก : จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526)