รายชื่อพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์

พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์ก่อตั้งขึ้นโดย ไมเคิล เมสซ์เนอร์ (Michael Messner) ชาวออสเตรีย ที่โตมาในบ้านที่คุญพ่อเป็นศิลปิน ได้ดูแลและมีพิพิธภัณฑ์ที่ออสเตรียมาก่อน คุณMichaelได้ย้ายมาตั้งหลักปักฐานที่เมืองไทย เริ่มจากร้านอาหารในย่านพัฒน์พงศ์ มีลูกค้าขาประจำ ซึ่งเค้าได้มีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ ล้วนแล้วแต่ไม่ธรรมดา มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นทหารผ่านศึกจากช่วงสงครามเวียดนามบ้าง บ้างเป็นสายสืบให้ CIA บ้างเป็นผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นละแวกนี้ คุณMichael จึงมีไอเดียริเริ่มที่จะสืบสาวเท้าความ สะสมร่องรอยประวัติศาสตร์ กว่าร้อยปีของย่านที่ทุกคนรู้จัก แต่น้อยคนนักจะรู้จริง พิพิธภัณฑ์บอกเล่าความเป็นมาของพื้นที่พัฒน์พงศ์ ที่มีจุดเริ่มต้นจากคนจีนอพยพที่กลายมาเป็นเจ้าของที่ดินย่านนี้ นำมาซึ่งการพัฒนาพื้นที่และการเติบโตของพัฒน์พงศ์ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กระทั่งเฟื่องฟูในช่วงสงครามเวียดนาม เป็นการนำเสนอวัฒนธรรมความบันเทิงและเซ็กซ์ที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น เรียกได้ว่าชมประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านถนนพัฒน์พงศ์ จากพื้นที่เกษตรกรรม กลายเป็นย่านธุรกิจ และรู้จักกันดีว่าคือย่านสถานเริงรมย์ยามค่ำคืน ที่ตั้งของ ‘บาร์อะโกโก้’ แห่งแรกในไทย พิพิธภัณฑ์นำเสนอทั้งข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ควบคู่กับความสนุกสนาน มีของเก่าของสะสมมากกว่า 100 ชิ้นที่นำมาจัดแสดง

จ. กรุงเทพมหานคร

บ้านพิพิธภัณฑ์ปากนำ้ประแส

ชุมชนปากน้ำประแส ตั้งอยู่ติดแม่น้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง พื้นที่ส่วนใหญ่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติตามลักษณะพื้นที่ริมแม่น้ำและที่ราบชายฝั่งทะเล มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำและพืชพันธุ์นานาชนิด วิถีทำมาหากินของชาวประแสจึงเน้นไปทางการประมง และการค้าขาย รวมถึงอุตสาหกรรมหลากหลายรูปแบบที่รุ่งโรจน์และร่วงโรยไปตามแต่ช่วงเวลา อาทิ โรงสีข้าว โรงเลื่อย ทั้งนี้ปากน้ำประแสในอดีต มีความสำคัญทั้งในฐานะพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการคมนาคม เป็นท่าเรือสำคัญของเมืองแกลง เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญในฐานแหล่งผลิตและแหล่งค้าขายสินค้าเกษตรกรรม และสินค้าแปรรูปต่างๆ อาทิ กะปิ น้ำปลาขึ้นชื่อ ปัจจุบันชุมชนประแสจะเงียบเหงาไปเพราะเส้นทางคมนาคมทางน้ำไม่สำคัญเท่าในอดีต แต่ปากน้ำประแสยังมีเสน่ห์ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ วิถีวัฒนธรรม วิถีชุมชน มีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานกับแหล่งน้ำได้เป็นอย่างดี

จ. ระยอง

ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านไผ่คอกเนื้อ

ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านไผ่คอกเนื้อ ตั้งอยู่ในภายในบริเวณวัดลัฎฐิวนารามหรือวัดไผ่คอกเนื้อ เกิดขึ้นจากกลุ่มคนเชื้อสายชาวไทดำบ้านไผ่คอกเนื้อ ต้องการสร้างสถานที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลชาวไทดำ บ้านไผ่คอกเนื้อ ไม่ให้ต้องการให้สูญหายไปตามกาลเวลา ในช่วงหนึ่งมีโรงเรียนวัดไผ่คอกเนื้อกำลังถูกยุบเพราะไม่มีเด็กเรียน ชาวบ้านจึงขอใช้ไม้จากอาคารดังกล่าวนำมาสร้างเป็นศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ เนื่องจากอยู่ในช่วงของการเตรียมงาน ดังนั้น ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านไผ่คอกเนื้อ จึงมีเพียงแค่สถานที่ อันได้แก่ เรือนไทยดำขนาดใหญ่ ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่พื้นที่ด้านบน ยังเป็นพื้นที่โล่งๆ ยังไม่มีการจัดแสดงข้าวของ โดยปัจจุบันกำลังเตรียมการณ์เรื่องข้าวของที่จะนำมาจัดแสดง ซึ่งจะขอรับบริจาคจากคนในชุมชน

จ. นครปฐม

ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ไผ่หูช้าง

ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านไผ่หูช้าง ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนวัดไผ่หูช้าง เป็นอาคารปูนซีเมนต์ ชั้นเดียว ภายในศูนย์จัดแสดงข้าวของที่เกี่ยวข้องกับชาวไทดำ พิพิธภัณฑ์ก่อตั้งโดยครูปิยะวรรณ สุขเกษม ครูของโรงเรียนที่เป็นมีเชื้อสายไทดำ ครูเคยเป็นผู้ประสานงานและให้ข้อมูลกับนักวิชาการจากภายนอกที่เข้ามาทำวิจัยในหมู่บ้านตัวเอง จึงมีแรงบันดาลที่จะทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาภายในโรงเรียนเพื่อบอกเล่าประวัติที่มาของหมู่บ้าน ประเพณี พิธีกรรม และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ภายในท้องถิ่น ซึ่งได้มาจากการบริจาคของคนในชุมชน

จ. นครปฐม

ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านสะแกราย

ศูนย์วัฒนธรรมไทยดำ บ้านสะแกราย ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดสะแกราย โดยสร้างเป็นเรือนไทดำ ที่สร้างขึ้นจากไม้ มีโครงสร้างหลังคาเป็นเหล็ก และมุงด้วยจาก อันเป็นลักษณะเฉพาะของชาวไทยดำในแถบพื้นที่นี้ ชั้นบนศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านสะแกราย จัดแสดงข้าวของที่เกี่ยวข้องกับชาวไทดำ เช่น ปานเผือน โห้ กระติ๊บข้าวเหนียว ลูกช่วง เชี่ยนหมาก และวางตำแหน่งวัตถุข้าวของบนเรือนในบริเวณพื้นที่ที่จะเกิดพิธีกรรมนั้นจริงๆ เรือนจำลองหลังนี้แบ่งพื้นที่ห้องเหมือนกับบ้านของชาวไทดำอย่างแท้จริง มีการแบ่งพื้นที่ห้องผีเรือน พื้นที่ด้านหลัง และทางขึ้นด้านหลังสำหรับการดำเนินพิธีกรรมต่างๆ รวมถึง การจัดวางวัตถุข้าวของในบริเวณที่สัมพันธ์กับการดำเนินพิธีกรรมนั้นจริงๆ ด้านล่าง จัดแสดงเครื่องทอผ้า กี่ปั่นด้าย อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นไทดำในชุมชนได้เป็นอย่างดี

จ. นครปฐม

ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านเกาะแรต

ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านเกาะแรต อยู่บริเวณเดียวกับบ้านผู้ใหญ่กำจร เพชรยวน ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 และทำหน้าที่ดูแลศูนย์วัฒนธรรมฯ แห่งนี้ เดิมทีศูนย์แห่งนี้ก่อตั้งมาแล้วกว่า 20 ปี โดยผู้ก่อตั้งคือกำนันไพศาล หรือกำนันแดง ซึ่งตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว จากนั้นผู้ใหญ่กำจรจึงรับช่วงต่อการดูและศูนย์ฯ จากกำนันแดง โดยเป้าหมายของการจัดตั้งคือ ผู้คนในหมู่บ้านวิตกกังวลว่าความเจริญที่เข้ามาในหมู่บ้าน จะทำให้ประเพณี วัฒนธรรม และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับไทยดำจะสูญหายไป จึงริเริ่มที่จะก่อตั้งศูนย์นี้ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ทางด้านไทดำ และยังช่วยสืบต่อความรู้ไทดำไปยังกลุ่มคนอื่นๆ อาคารศูนย์ฯ เป็นอาคารชั้นเดียว จัดแสดงข้าวของที่เกี่ยวข้องกับไทดำ เช่น เชี่ยนหมาก อุปกรณ์จับปลา โห้ ปานเผือน ที่ปั่นด้าย และชุดการแต่งกายของชาวไทดำทั้งชายและหญิง โดยมีการนำสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมที่ผลิตขึ้นจากนักศึกษาที่เข้ามาเก็บข้อมูลมาจัดแสดงด้วย ด้านข้างของศูนย์ฯ เป็นศาลาเปิดโล่งชั้นเดียว จัดแสดง เครื่องสีข้าวมือ และครกกระเดื่อง ที่ผู้ชมสามารถทดลองเล่นเครื่องมือเหล่านี้ได้

จ. นครปฐม