พิพิธภัณฑ์เฮือนลาว


ที่อยู่:
บ้านเลขที่ 188 หมู่ที่ 5 บ้านโคกท่า ตำบลหนองตูม อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น 40000
โทรศัพท์:
099-2493639, 081-8090990
วันและเวลาทำการ:
กรุณานัดหมายล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
tamarindkhonkaen@hotmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2546
ของเด่น:
เกวียนโบราณ เครื่องมือการเกษตร เครื่องมือจับปลา
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์เฮือนลาว...

โดย:

วันที่: 09 ตุลาคม 2563

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

เฮือนลาว

          “ลาว” เป็นทั้งชื่อเรียกอาณาจักร ประเทศ ศิลปะ วัฒนธรรม และผู้คนที่อยู่ที่ราบลุ่มสองฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งเคยเป็นอาณาจักรโบราณที่เรียกว่า อาณาจักรล้านช้างหรืออาณาจักรลาว โดยมีพระเจ้าฟ้างุ้มเป็นผู้รวบรวมอาณาจักรล้านช้างได้เป็นผลสำเร็จในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 1 9 และมีกษัตริย์ปกครองสืบทอดต่อกันมาหลายพระองค์ และภายหลังเมื่อพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเสด็จสวรรคตแล้ว เชื้อพระวงศ์ลาวต่างก็แก่งแย่งราชสมบัติกัน จนอาณาจักรล้านช้างแตกแยกเป็น 3 ส่วน คือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ ต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน และเพื่อชิงความเป็นใหญ่ต่างก็ขอสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรเพื่อนบ้าน เช่น ไทย พม่า เพื่อขอกำลังมาสยบอาณาจักรลาวด้วยกันในลักษณะนี้ ในที่สุดอาณาจักรลาวทั้ง 3 แห่งนี้จะตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรสยาม ในปี พ.ศ.2321

          สยามได้ปกครองดินแดนลาวทั้งสามส่วนในฐานะประเทศราช ในระยะเวลาดังกล่าวอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ได้ล่มสลายลงในปี พ.ศ.2371 เนื่องจากในปี พ.ศ.2369 เจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์แห่งล้านช้างเวียงจันทน์ได้พยายามทำสงครามเพื่อตั้งตนเป็นอิสระจากสยาม ทว่าหลังการปราบปรามของกองทัพไทยอย่างหนัก พระองค์เห็นว่าจะทำการไม่สำเร็จจึงตัดสินพระทัยหลบหนีไปพึ่งจักรวรรดิเวียดนามจนถึง พ.ศ.2371 พระองค์จึงได้กลับมายังกรุงเวียงจันทน์พร้อมกับขบวนราชทูตเวียดนาม เพื่อขอสวามิภักดิ์สยามอีกครั้ง แต่พอสบโอกาสพระองค์จึงนำทหารของตนฆ่าทหารไทยที่รักษาเมืองจนเกือบหมดและยึดกรุงเวียงจันทน์คืน กองทัพสยามรวบรวมกำลังพลและยกทัพมาปราบปรามเจ้าอนุวงศ์อีกครั้งจนราบคาบ จนเจ้าอนุวงศ์ต้องหลบหนีไปยังเวียดนาม และในคราวนี้เองที่พระองค์ทรงถูกเจ้าเมืองพวนจับกุมตัวและส่งลงมากรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระพิโรธเจ้าอนุวงศ์มากจึงทรงให้คุมขังเจ้าอนุวงศ์ประจานกลางพระนครจนสิ้นพระชนม์ ส่วนกรุงเวียงจันทน์ก็มีพระบรมราชโองการให้เผาทำลายจนไม่เหลือสภาพความเป็นเมือง และตั้งศูนย์กลางการปกครองฝ่ายไทย เพื่อดูแลอาณาเขตของเวียงจันทน์ที่เมืองหนองคายซึ่งอยุ่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงแทน

          ในอดีตนั้นสยามไม่เคยให้ความสนใจกับดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงเลย สยามจัดให้ดินแดนแถบนี้เป็นเพียงเมืองประเทศราชที่ต้องส่งส่วยและบรรณาการแก่สยาม กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสำรวจและทำแผนที่สยาม จึงได้รู้ว่าดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงนั้นกว้างใหญ่ไพศาล และภายหลังเกิดความพยายามทำให้ดินแดนเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่สยาม โดยในปี พ.ศ.2433 สยามแบ่งการปกครองออกเป็นหัวเมืองลาวฝ่ายต่างๆ คือ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกมีข้าหลวงดูแลอยู่ที่เมืองจำปาสัก หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือมีข้าหลวงดูแลอยู่ที่อุบลราชธานี หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือมีข้าหลวงดูแลอยู่ เมืองหนองคายและหัวเมืองลาวฝ่ายกลางมีข้าหลวงดูแลอยู่ที่นครราชสีมา

          จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2434 ให้มีการรวมหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกและหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นหัวเมืองลาวกาว หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือเปลี่ยนเป็นหัวเมืองลาวพวน หัวเมืองลาวฝ่ายกลางเรียกใหม่เป็นหัวเมืองลาวกลาง ต่อมามีการเรียกชื่อใหม่จากหัวเมืองเป็นมณฑล คือ มณฑลลาวกาว มณฑลลาวพวน มณฑลลาวกลาง ส่วนดินแดนล้านนาเดิมที่เรียกหัวเมืองลาวพุงดำเรียกใหม่ว่ามณฑลลาวเฉียง

          กระทั่งเกิดเหตุการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ.2436) สยามและฝรั่งเศสได้ทำสัญญาแบ่งเขตแดนกัน โดยใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นเขตแดน ฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ภาคอีสานปัจจุบัน) เป็นของสยาม ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ประเทศลาวปัจจุบัน) เป็นของฝรั่งเศส จากนั้นสยามได้เปลี่ยนชื่อมณฑลในกำกับที่เหลืออยู่คือ มณฑลลาวพวนเป็นมณฑลอุดร มณฑลลาวเฉียง (ล้านนา) เป็นมณฑลพายัพ มณฑลลาวกาวเป็นมณฑลอีสาน และเปลี่ยนชื่ออีกเป็นมณฑลอุบลตามลำดับ มณฑลลาวกลางเป็นมณฑลนครราชสีมา เป็นต้น การเปลี่ยนชื่อมณฑลในครั้งนั้น หากพินิจพิจารณาให้ดีคือการพยายามลบคำว่า “ลาว” ออกจากชื่อของดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง และต่อมาจึงได้มีการออกประกาศเปลี่ยนแปลงนามมณฑล พ.ศ.2442 และเมื่อมีการสำรวจสำมะโนครัวก็ได้ห้ามการระบุว่าเป็นชาติลาว เขมร ส่วย ผู้ไท ฯลฯ แต่ให้ใช้สัญชาติไทยเหมือนกันหมด จึงทำให้ผู้คนชาวลาวทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงกลายเป็นชาวไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

          จากบริบททางประวัติศาสตร์ดังได้กล่าวมาแล้ว ก็มีคำว่า “คนอีสาน” เกิดขึ้น คำนี้เป็นเพียงชื่อที่ถูกสร้างขึ้นมาภายหลัง เพราะคำว่า “อีสาน” เป็นเพียงชื่อทิศหนึ่งในแปดทิศ คนอีสานไม่ใช่ชื่อชาติพันธุ์ หากแต่เดิมนั้นคนอีสานก็คือคนลาวที่ถูกทำให้ลืมความเป็นลาว ในรุ่นปู่ย่าตายายต่างเรียกขานชื่อตัวเองว่าคนลาว และต่างรู้ดีว่าคนทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำโขง คือฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ประเทศลาวในปัจจุบัน) และฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ภาคอีสานของไทยในปัจจุบัน) ล้วนแต่เป็นคนลาวที่เป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน พี่น้องกัน กระทั่งมาถูกแบ่งแยกดินแดนออกจากกัน จึงมีความพยายามทำให้ลืมชาติพันธุ์ดั้งเดิมของตน

          ด้วยเหตุนี้ พื้นที่ลุ่มแม่น้ำพองในเขตอำเภอน้ำพอง และอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จึงถือเป็นพื้นที่อยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่สืบเชื้อสายชาวลาวมาแต่อดีต แต่ก่อนก็มีวิถีชีวิตที่เหมือนกับชาวลาวในประเทศลาว แต่ภายหลังก็ได้รับการพัฒนาและเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เป็นไปตามนโยบายรัฐไทย ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมก็เริ่มค่อยๆ สูญหายไป ในปี พ.ศ.2546 จึงมีข้าราชการครูในชุมชนบ้านโคกท่า ตำบลหนองตูม อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีสามีเป็นชาวอเมริกา ได้ค่อยๆ เก็บศิลปวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ของท้องถิ่นในอดีต ตอนจนได้หาชื้อสิ่งของต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ภาคอีสานในอดีต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมลาว แล้วก็จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ภายในเขตพื้นที่บ้านเรือนของตนเอง โดยตั้งชื่อว่า “เฮือนลาว” หรือ “พิพิธภัณฑ์เฮือนลาว”

          พิพิธภัณฑ์เฮือนลาว เป็นสิ่งก่อสร้างถาวรที่มีลักษณะเป็นบ้านของวัฒนธรรมลาว-อีสาน บ่งบอกถึงความเป็นอยู่ และมีเครื่องใช้ตามวัฒนธรรมของชาวอีสาน แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตแบบพื้นเมืองที่รับวัฒนธรรมลาว มีเส้นทางการคมนาคมเข้าถึงที่สะดวกศิลปวัฒนธรรมของชุมชนอีสานในอดีต สิ่งก่อสร้างอีสานเชิงวัฒนธรรม จัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และภูมิปัญญาชาวบ้านในลุ่มแม่น้ำพอง จังหวัดขอนแก่นเป็นหลัก

          หลังจากมีการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมได้อย่างเป็นทางการ ก็มีการประสานงานกับกลุ่มบริษัทนำเที่ยวให้นำนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาเยี่ยมชม โดยมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ไว้รองรับ เช่น การฝึกทำงานฝีมือ กิจกรรมทำอาหาร และให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนบริการห้องพักในลักษณะโฮมสเตย์แก่นักท่องเที่ยวด้วย จึงทำให้ช่วงวันหยุดราชการมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วไป

         

          การจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้และศิลปวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์เฮือนลาวได้แยกออกเป็นส่วนต่างๆ ภายในพื้นที่กว่า 3 ไร่ ดังนี้

          ส่วนแรกเป็นส่วนที่เรียกว่า “เฮือนลาว” เป็นอาคารไม้สองชั้นติดกันสองหลัง อาคารนี้ประยุกต์จากแบบบ้านของคหบดีหรือขุนนางลาวในอดีต แต่ก็มีการเพิ่มสัดส่วนและรูปแบบที่มั่นคงปลอดภัยขึ้น ด้านล่างทำเป็นจุดบริการนักท่องเที่ยว และจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมในอดีต เช่น เกวียนโบราณซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเกวียนของขุนนางท้องถิ่น มีการแกะสลักลวดลายบนเครื่องเกวียนส่วนต่างๆ เรือโบราณซึ่งเป็นเรือขุดจากต้นไม้ทั้งต้น

          ด้านบนจัดเป็นห้องพักของนักท่องเที่ยวและห้องพักเจ้าของบ้าน มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ตามระเบียง และมีส่วน “เฮือนครัว” หรือเรือนครัวที่จัดแสดงอุปกรณ์เกี่ยวกับการประกอบอาหารนอกจากนี้ ด้านข้างเฮือนลาวยังจัดแสดง “เล้าข้าว” หรือยุ้งข้าวแบบดั้งเดิมและ “ครกมอง” หรือครกกระเดื่องอีกด้วย

          ส่วนที่สองเป็นศาลากลางน้ำ เดิมใช้เป็นที่พักรับประทานอาหารหรือส่วนจัดเลี้ยงของนักท่องเที่ยว เป็นอาคารไม้ที่สร้างอยู่กลางสระน้ำ

          ส่วนที่สามอยู่ด้านหลังสุดเป็นอาคารโถงชั้นเดียว เป็นที่จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของชาวอีสานในอดีต เช่น เกวียน ล้อ เครื่องหีบอ้อย ระหัดวิดน้ำ กี่ทอผ้า เครื่องมือจับปลาชนิดต่างๆ เป็นต้น

          ต่อมา เจ้าของเดิมได้ลาออกจากราชการและย้ายตามสามีไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา จึงได้ทำการประกาศขายพิพิธภัณฑ์เฮือนลาว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริรักษ์  ขาวไชยมหา อาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเห็นความสำคัญของศิลปวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์เฮือนลาว จึงได้ตัดสินใจซื้อต่อจากเจ้าของเดิม

          จากนั้นก็ทำการปรับปรุงการจัดแสดง พร้อมทั้งเปิดให้บริการที่พักให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อให้ได้สัมผัสบรรยากาศที่ใกล้เคียงกับชนบทในแบบฉบับประเทศลาว ให้บรรยากาศแบบท้องถิ่นมากขึ้น มีกลิ่นไอของวัฒนธรรมดั้งเดิม แต่ห้องพักก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามสมควร เช่น ทีวี ตู้เย็น แอร์ เครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น

          จนกระทั่งช่วงหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 นักท่องเที่ยวเริ่มลดลงมาก อาคารจัดแสดงก็เริ่มทรุดโทรมตามลำดับ ในขณะเดียวกันเจ้าของก็มีเวลาในการดูแลน้อยลง จึงได้ปิดรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้าเยี่ยมชมและพักค้างคืน รับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เข้าเยี่ยมชมอย่างเดียว และต้องประสานงานล่วงหน้าอย่างน้อย ๒ สัปดาห์ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมเข้าชม

 

เอกสารอ้างอิง

สุจิตต์ วงษ์เทศ. “พลังลาว” ชาวอีสานมาจากไหน?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549.

 

 สัมภาษณ์

นางละม้ายมาศ ยังสุข ผู้ช่วยผู้จัดการพิพิธภัณฑ์เฮือนลาว เลขที่ 63 ถนนอำมาตย์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น, สัมภาษณ์วันที่ 4 สิงหาคม 2562.

นางสาวสยุมพร พนมอุปถัมภ์ ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์เฮือนลาว บ้านเลขที่ 188 หมู่ที่ 5 บ้านโคกท่า ตำบลหนองตูม อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น, สัมภาษณ์วันที่ 4 สิงหาคม 2562.

ชื่อผู้แต่ง:
ธีระวัฒน์ แสนคำ