พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดแจ้งอรุณศิลป์


ที่อยู่:
วัดอรุณศิลป์ บ้านนาเสียว ต.สระแก้ว อ.เปือยน้อย จ.ขอนแก่น
โทรศัพท์:
095-1969674 พระอธิการบัวฮง กฺตฺปุญโญ เจ้าอาวาส
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2540
ของเด่น:
เครื่องใช้พื้นบ้านในการทำนา หาปลา ล่าสัตว์
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 08 ตุลาคม 2558

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดแจ้งอรุณศิลป์

วัดแจ้งอรุณศิลป์ บ้านนาเสียว ตำบลสระแก้ว อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น เป็นวัดอยู่กลางชุมชน ภายในวัดสะอาดสวยงามจากการที่ชาวบ้านช่วยกันดูแล ช่วงเวลานี้มีเพียงเจ้าอาวาสเป็นพระสงฆ์จำวัดอยู่รูปเดียวคือ พระอธิการบัวฮง กฺตฺปุญโญ ท่านเป็นคนให้ความสนใจในการอนุรักษ์ของใช้พื้นบ้านและรู้จักการใช้งานสิ่งของแต่ละชิ้นเป็นอย่างดี
           
อาคารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดแจ้งอรุณศิลป์เป็นอาคารชั้นเดียว  สังเกตได้ง่ายเมื่อผ่านซุ้มประตูวัดเข้ามา การจัดแสดงในปัจจุบันถูกเบียดให้แคบลงจากการขอใช้พื้นที่ของหน่วยงานหนึ่ง แต่แล้วก็ไม่ได้ดำเนินงานต่อเนื่องอะไร ทำให้ส่วนนั้นกลายเป็นที่วางเครื่องเสียงของวัด  หลวงตาฮงที่ชาวบ้านเรียก ท่านมีความคิดว่าอยากให้ส่วนจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์มีความเด่นเห็นได้ง่าย อาจจะเป็นการย้ายไปไว้ตรงศาลาโล่งๆ ด้านหน้าอาคารนี้ หรืออาจจะรื้อส่วนที่แบ่งห้องออกให้กว้างขวางเหมือนเดิม 
           
เครื่องใช้พื้นบ้านที่จัดวางกันแน่นบนชั้นวางและบางส่วนอยู่ในตู้กระจกมีความหลากหลาย  มีทั้งอุปกรณ์ทำนำสวนได้แก่ แอก คันไถ หวด ไม้เสียบข้าว ไม้พัดข้าว ครุ กระพรวน กระดิ่ง ไม้คาน โฮงขูดปอ เครื่องหีบฝ้าย หมวกใบตาล ม้าซอยยาสูบ ตะเกียงเจ้าพายุ ตะเกียงแก๊ส เป็นต้น  
อุปกรณ์หาปลาพวกไซ ลอบดักปลา   อุปกรณ์ล่าสัตว์มีหน้าไม้ ธนู ปืนแก็ป กับดักหนู  เครื่องครัวได้แก่ กล่องข้าว โบม ไห กระบุง กระต่ายขูดมะพร้าว ถัง กระบวย  เป็นต้น   

อุปกรณ์ทอผ้ามีไนปั่นด้าย  เครื่องดนตรีมีแคน ลำมะนา กลองยาว ฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง  ของใช้ในบ้านอื่นๆได้แก่ เชี่ยนหมาก ครกตำหมาก เครื่องเล่นแผ่นเสียง เตียงไม้เก็บของได้  ทีวีขาวดำ  กระดานชนวน พิมพ์ดีด ลูกคิด เป็นต้น

สิ่งของเหล่านี้มีการจดบันทึกลงทะเบียนไว้ในสมุดทุกชิ้น ซึ่งจะมีอีกเล่มเป็นรายการยืมสิ่งของไปใช้ในงานบุญด้วย งานบุญที่หลวงตาเอ่ยถึงคือ งานบุญกู่และงานบุญบั้งไฟ  รายการยืมได้แก่ ตะเกียงเจ้าพายุ ตะเกียงแก๊ส เครื่องหีบฝ้าย หมวกใบตาล กระบวย เชี่ยนหมาก โบม กระบุง ไซ แอก คันไถ แคน ธนู เป็นต้น
การจัดงานบุญกู่หรือพระธาตุกู่ทองที่ชาวบ้านเรียก หมายถึง ปราสาทเปือยน้อย เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญแห่งหนึ่ง รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทหิน สร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย ประกอบด้วยปราสาท 3 หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กึ่งกลางด้านหน้าด้านหลังมีซุ้มประตูขนาดใหญ่เรียกว่า โคปุระ ภายในกำแพงแก้วมีบรรณาลัยเป็นวิหารหนึ่งหลังอยู่ตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้  เป็นเทวสถานของศาสนาฮินดู สร้างขึ้นสมัยพุทธศตวรรษที่ 16-17 เป็นศิลปะผสมระหว่างศิลปะเขมรแบบปาปวนและแบบนครวัต แม้จะเป็นปราสาทหินขนาดเล็ก แต่มีจุดเด่นที่หน้าบันปราสาทองค์ประธาน  มีภาพสลักพญานาคราชที่มีความสวยงามมาก

งานบุญกู่หรืองาน “ศิวะราตรี ปูชนียาลัย ปราสาทเปือยน้อย”เป็นงานประเพณีที่จัดขึ้นในช่วงวันเพ็ญเดือนห้าของทุกปี  มีการแสดงแสดงแสง สี เสียง ชุด เปือยปุระเทวาลัย บุษบาใจแห่งมหิธร จัดโดยเทศบาลตำบลเปือยน้อย  ในงานยังมีการจัดกิจกรรมผูกเสี่ยวแบบโบราณและมีการแสดงสินค้าของดีประจำท้องถิ่น ลานวัฒนธรรมอาหารอร่อย
           
ด้วยความที่หลวงตาฮงคุ้นเคยกับสิ่งของเครื่องใช้ที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ท่านจึงสามารถอธิบายได้ด้วยประสบการณ์ของท่าน เครื่องใช้ไม้สอยเหล่านี้ก็คือวิถีชีวิตในการล่าสัตว์จับปลา ทอผ้า เป็นเครื่องครัว ของใช้ในบ้าน หรือแม้แต่เป็นความบันเทิง

อย่างปืนแก็ปจะใช้ล่าสัตว์ ส่วนที่ห้อยไว้ใกล้กัน ถ้าหยิบแยกออกมาจะมองไม่ออก ซึ่งก็คือที่ใส่ดินดำสำหรับปืนแก็ป 

การใช้งานตะเกียงแก๊ส มักใช้กันตอนจับปลาในเวลากลางคืน เพราะสมัยก่อนไม่มีไฟฟ้าใช้ ตะเกียงอีกแบบที่ใช้กันแพร่หลายสมัยก่อนคือ ตะเกียงเจ้าพายุ ซึ่งประกอบด้วยนมหนู วาล์ว ท่อส่งน้ำมัน ตัวเปิดปิดน้ำมัน เกจ์วัดความดันและไส้ตะเกียง   

แคนอีกหลายอันที่วางอยู่ เป็นเครื่องดนตรีอีสาน หลวงตาเล่าว่าสมัยก่อน ชาวบ้านจะเป่าตอนทำขวัญข้าว ก่อนที่จะนำข้าวขึ้นมาเก็บ มาตอนนี้ไม่มีพิธีนั้นมานานหลายสิบแล้ว 
           
ชิ้นส่วนอุปกรณ์ทอผ้า มีไนปั่นด้าย  ลักษณะของไนจะเป็นวงกลม ตั้งระหว่างขาสองอันที่ทำมาจากไม้เนื้อแข็งโดยมีเหล็กสอดเป็นคันสำหรับหมุนวงล้อ ระหว่างวงล้อมีสายพานทำด้วยเชือกโยงมาเพื่อหมุน ไนจะใช้กรอด้ายเข้าหลอด
           
อุปกรณ์อันหนึ่งที่เกี่ยวกับการทอผ้าคือเครื่องหีบฝ้าย ทำด้วยไม้เนื้อแข็งเป็นท่อนกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ยาวประมาณ 12 นิ้ว 2 อัน วางขนานกันตามความยาวของส่วนขาตั้ง ตรงปลายด้านหนึ่งทำเป็นฟันเฟืองให้หมุนตรงข้ามกัน โดยมีปลายด้านหนึ่งยื่นออกไปเป็นมือหมุน เครื่องหีบฝ้ายจะใช้แยกปุยฝ้ายออกจากเมล็ด โดยเมล็ดจะถูกรีดหลุดออกมาอีกด้านหนึ่ง
           
นอกจากปืนแก็ปแล้ว เครื่องมือล่าสัตว์อีกอันหนึ่งที่เด่นคือ หน้าไม้ ซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีน้ำหนักพอควร
           
ครุหรือคุ ทำจากไม้ไผ่สาน โดยใช้ชันผสมกับน้ำมันยางยาช่องว่าง ใช้ตักน้ำ
ส่วนที่เห็นเป็นคอกไม้แล้วมีกระเป๋าหลายใบวางตั้งเรียงกัน นั่นคือเตียงไม้ ตามปกติจะมีไม้วางปิดไว้ แม้จะดูว่าแคบความกว้างประมาณครึ่งเมตร แต่คือเตียงสามารถนอนได้ ในช่องด้านล่างใช้เก็บของ  กระเป๋าที่เห็นวางเรียงกันหลายใบ เมื่อเปิดออกมา คือ เครื่องเล่นแผ่นเสียงสมัยก่อน มีภาพดารานักร้องสมัยก่อนแปะไว้  พร้อมกับมีแผ่นเสียงชำรุดติดมาด้วย
           
ในการเห็นความสำคัญของการจัดทำพิพิธภัณฑ์  ปัจจุบันน่าจะมีเพียงหลวงตาฮงเพียงคนเดียวที่มองเห็นความสำคัญและมีความกระตือรือร้นอยากจัดทำให้คนเห็นคุณค่า ขณะที่คนในชุมชนหรือหน่วยงานท้องถิ่นยังมองข้าม  เห็นสิ่งของแต่ละชิ้นเป็นเพียงแค่ของเก่าๆ ที่หมดสมัย ไม่ใช้แล้ว

การเดินทาง :  จากขอนแก่นใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (ขอนแก่น-บ้านไผ่) ระยะทาง 44 กม. เข้าทางหลวงหมายเลข 23 (บ้านไผ่-บรบือ) ไปอีกประมาณ 11กม.แล้วแยกขวาเข้าสู่อำเภอเปือยน้อย วัดแจ้งอรุณศิลป์อยู่ตำบลสระแก้ว ทางเข้าวัดจะผ่านปากทางมีซุ้มประตูหมู่บ้าน เขียนว่าบ้านนาเสียว
----------------------------------------------------

สาวิตรี  ตลับแป้น  ผู้เขียน

ข้อมูลจาก  
สำรวจภาคสนามเมื่อ 25 พฤษภาคม 2559
ตามรอยอารยธรรมขอมที่ขอนแก่น. (ออนไลน์)แหล่งที่มา www.bloggang.com/mainblog.php?id=travelsomewhere&month=08-05-2012&groug=39&gblog=73 (25 สิงหาคม 2559).
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดโพธ์งาม. อุปกรณ์และเครื่องมือทอผ้า(ออนไลน์)แหล่งที่มา  https//watphonagm.wordpress.com/เครื่องใช้ในการทำนา-และ/อุปกรณ์และเครื่องมือทอ/(26 สิงหาคม 2559).
วิกิพีเดีย. ปราสาทเปือยน้อย(ออนไลน์)แหล่งที่มา https//th.m.wikipedia.org/wiki/อำเภอเปือยน้อย(20 สิงหาคม 2559).
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. ศิลปะวัตถุ(ออนไลน์)แหล่งที่มา www.culture.lpru.ac.th/webculture/2553/culturemis/cultureobject/detail.php?obj_id=54.01.017(26 สิงหาคม 2559).
ชื่อผู้แต่ง:
-