พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตำบลนาหนองทุ่ม วัดอุดมราษฎร์ประดิษฐ์


ที่อยู่:
วัดอุดมราษฎร์ประดิษฐ์ หมู่ที่ 5 บ้านโนนชาด ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 40290
โทรศัพท์:
043-402204 อบต.นาหนองทุ่ม, 081-67496 อบต.นาหนองทุ่ม, 081-871-8798 ฝากข้อความถึงพ่อตาบุญมา ทิพรักษ์
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2540
ของเด่น:
ไซขนาดใหญ่ เครื่องใช้พื้นบ้านในการทำนา ทำสวน ทอผ้า
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 08 ตุลาคม 2558

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตำบลนาหนองทุ่ม วัดอุดมราษฎร์ประดิษฐ์

ด้วยความตั้งใจร่วมมือของคนในชุมชน ทั้งข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านจำนวนมาก พร้อมทั้งกำลังทรัพย์กำลังศรัทธา พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตำบลนาหนองทุ่ม วัดอุดมราษฎร์ประดิษฐ์จึงได้ก่อตั้งขึ้นมา ในการดูแลของอาจารย์บุญมา ทิพรักษ์ ปัจจุบันเป็นอดีตข้าราชครูวัยเกษียน ความมุ่งมั่นของท่านมาจากคำสอนและเจตนารมณ์ของคุณพ่ออาจารย์ว่า ให้ช่วยดูแลวัดและสร้างประโยชน์ให้ชุมชน

อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นศาลาการเปรียญหลังเดิม เป็นอาคารไม้ที่ดูขลังกับการเก็บเรื่องราวในอดีตด้านข้างอาคารมีไทรต้นใหญ่มีรากห้อยระย้าลง การซ่อมแซมอาคารเพื่อทำพิพิธภัณฑ์ ได้ทำเมื่อปี พ.ศ.2540 ด้วยเงินบริจาคของชาวบ้านในงานทอดกฐิน งานทอดผ้าป่า และงบสนับสนุนจากอบต.หนองนาทุ่ม ทำให้อาคารไม้ที่จากเดิมเป็นเสาไม้สูงจากพื้นเพียงหนึ่งเมตร กลายเป็นอาคารสูงสองชั้น  สิ่งของที่นำมาจัดแสดง อาจารย์บุญมาได้ใช้รถไปตระเวนรับบริจาคจากชาวบ้าน ซึ่งไปทีไรก็ได้มาเต็มคันรถทุกเที่ยว
           
ขณะที่รอคนมาเปิดประตู มองเข้าไปชั้นล่าง สะดุดตากับเครื่องตีขนาดใหญ่ อาจารย์บุญมาอธิบายว่า โปง ใช้สำหรับตีบอกสัญญาณเวลาของวัด โปงมีเสียงดังกังวานได้ยินไปไกล จะตีตอนเช้าก่อนที่พระจะออกบิณฑบาตและตีในตอนเย็นก่อนทำวัตรเย็น โปงทำมาจากไม้มะหาดต้นใหญ่ ในวัดตอนนี้มีโปงสองลูก อีกลูกหนึ่งใช้งานอยู่ตรงหอระฆัง เมื่อเปิดประตูเข้าไปแล้ว ยังเห็นโปงลูกเล็กของเดิมวางอยู่ข้างกัน เห็นรอยแตกจากการใช้งานมานานเป็นสิบๆปี สิ่งของอื่นๆในบริเวณชั้นล่างมีธรรมาสน์เก่าของวัด เครื่องตีอีกอย่างคือ ฆ้องขนาดใหญ่ อันนี้สำหรับให้ชาวบ้านยืมไปตีเวลาที่บ้านไหนจัดงานทำบุญให้คนที่ล่วงลับ
           
การจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้านอยู่ชั้นสอง  บันไดทางขึ้นอยู่นอกตัวอาคาร พิพิธภัณฑ์นี้จะปิดมานานเพราะไม่มีคนมาขอเข้าชม ทำให้มีฝุ่นจับไปทั่วบริเวณ บนพื้นไม้กระดานมีใบไม้แห้งที่ปลิวเข้ามาตามแรงลมตกเกลื่อนพื้น สังเกตว่าเพราะบานหน้าต่างเป็นแบบเปิดกว้างโดยมีแต่เฉพาะเหล็กดัดขนาดใหญ่ปิดไว้  พื้นที่การจัดแสดงโล่งกว้าง มีชั้นไม้วางเรียงกันเป็นแถวแนว สิ่งของจัดวางไว้เต็มทุกชั้นโดยพยายามแยกหมวดหมู่ตามประเภทสิ่งของ
           
แววตาของอาจารย์บุญมายังคงแจ่มใสตลอดเวลาที่นำชม  สิ่งนี้สร้างความหวังและความมีชีวิตชีวาให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้  จากแสงสว่างภายนอกส่องเข้ามาในนี้เต็มที่ ทำให้รู้สึกโปร่งสบาย  ชั้นไม้เป็นแบบหนึ่งอันมี 3 ชั้น จัดวางกระจายกันเต็มโถงห้อง 

เริ่มต้นที่ชั้นวางกระดูกสัตว์ มีกระดูกขาช้าง กะโหลกควายที่มีเขายาวโค้งงอมาจรดกัน ชั้นอุปกรณ์ล่าสัตว์ของนายพราน มีหน้าไม้ ธนู เนื่องจากจัดวางไว้แบบเปิด อาจารย์บุญมาบอกว่า ผู้เข้าชมบางคนจะซน มีการดึงง้างเล่น ทำให้มีความเสียหายบ้าง ที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงมีกระพรวนแบบต่างๆ มีทำด้วยไม้ และทำด้วยโลหะ ซึ่งแบบหลังจะได้ยินเสียงได้ไกลกว่า
ชั้นอุปกรณ์ทอผ้า มีอักหรือกวัก เป็นเครื่องคัดเส้นด้ายหรือเส้นไหม ทำด้วยไม้คล้ายหลอดด้าย เจาะรูตรงกลาง ปลายทั้ง 4 ด้านมีไม้ประกบสวมรูเพื่อให้อักหนุน อักจะใช้กรอด้ายจากระวิงให้เป็นระเบียบก่อนที่จะสาวเข้ากงเพื่อแยกเป็นปอยๆและแยกเป็นไจๆ

กะเพียดดีด ที่ใช้ใส่ฝ้าย มีลักษณะคล้ายตะกร้าขนาดใหญ่ ก้นลึกสอบ เวลาจะดีดฝ้ายก็จะจับกะเพียดให้นอนลง แล้วใช้กง(ไม้ดีดฝ้ายที่มีรูปเหมือนคันธนู) ดีดฝ้ายที่ใส่ไว้ข้างในนั้นเพื่อให้ฝ้ายฟู
ชั้นวางเครื่องดนตรีพื้นบ้าน มีระนาด ซึง และกลองที่วางแยกอีกมุมหนึ่ง  จากเดิมมีจำนวนมากกว่านี้ แต่ได้หายไปหลายชิ้น คาดว่ามีคนมาแอบหยิบเอาไป  ชั้นวางเครื่องครัวสมัยก่อน มีครกไม้ ครกหิน กระต่ายขูดมะพร้าว ของใช้สมัยก่อนมีเชี่ยนหมาก ตะเกียง  ชั้นอุปกรณ์จับปลา มีไซดักปลา อีจู้ดักปลาไหล ตุ้มหรือแงบดักกบ  ตุ้มดักกบทำจากไม้ไผ่สาน รูปร่างและขนาดคล้ายกับข้องใส่ปลา แต่มีช่องเปิดสำหรับให้กบเข้ามีขนาดใหญ่กว่าและมีงาครอบอยู่ข้างในอีกชั้นส่วนอันที่เด่นมาก วางอยู่บนพื้นด้านหนึ่งคือ ไซขนาดใหญ่มาก อันนั้นคือการสั่งทำมาเป็นพิเศษ เพื่อจัดแสดงข้างในนี้ ไม่ได้ใช้งานจริง
 
ชั้นวางเครื่องมือ มีเลื่อยแบบจับสองทาง ฉมวก คีมล็อคที่ทำด้วยไม้ ใช้สำหรับจับมัดหวายตามขอบของเครื่องจักสาน  ไม้ตักวิดน้ำ เพราะว่าสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องสูบน้ำ ซึ่งมีวิธีการทุ่นแรงคือ มีการตั้งสามขาแล้วใช้เชือกผูกโยงไม้ตักวิดน้ำเป็นการผ่อนแรง  และเครื่องใช้ที่แปลกตาสำหรับคนสมัยใหม่คือ เก้าอี้ตัดผมแบบโบราณ ทีวีขาวดำ
           
การจัดงานบุญประเพณีของที่นี่ยึดตามประเพณีฮีตสิบสอง คืองานบุญทั้งสิบสองเดือนของชาวอีสาน แต่ช่วงหลังมาขาดไปหนึ่งงานคือ งานบุญบั้งไฟ เนื่องจากเกิดเหตุระเบิด ทำให้มีคนเสียชีวิต จึงเห็นว่าเป็นอันตรายกับผู้คน จึงได้หยุดจัดงานไปประมาณ 30 ปีแล้ว
           
หลังจากพาชมพิพิธภัณฑ์แล้ว อาจารย์บุญมาได้พาไปที่หอระฆัง ชั้นล่างมีโปงขนาดเดียวกับที่อยู่ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์แขวนไว้อีกลูกหนึ่ง  ที่นี่มีเพื่อนพ้องของอาจารย์หลายคนจับกลุ่มคุยกัน มีทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้าน แต่ละท่านช่วยกันเล่าเรื่องการใช้โปงให้สัญญาณบอกเวลา ใกล้กันยังมีกลองบูชาใบใหญ่ ใช้ตีบอกเรื่องราวแจ้งชาวบ้าน ซึ่งจะมีจังหวะตีแตกต่างกันไป เช่นว่า ตีบอกเวลาก็อย่างหนึ่ง ตีบอกเหตุโจรขโมยก็อีกอย่างหนึ่ง  ในการพูดคุยทุกท่านมีมุมมองตรงกันด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมแบบสมัยก่อนและความต้องการอนุรักษ์ป่าไม้ 
โดยพร้อมเพรียงกัน ทุกคนได้ชวนให้ไปเดินดูลานปฏิบัติธรรมของวัดที่อยู่ถัดไปจากกุฏิพระที่เป็นเรือนหลังเล็กแยกกันหลายหลัง  ทำให้ทราบว่า ชาวบ้านที่นี่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติธรรมทุกวันพระ บางวันจะมีเป็นร้อยคนทุกเพศทุกวัย  ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบรรยากาศร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่ สะดุดตากับต้นลานขนาดใหญ่หลายต้น มีกอไผ่ที่ใหญ่มาก ต้นสัก และมีพืชสมุนไพร ปลูกแทรกอยู่เต็มไปหมด

การได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ไม่เพียงแต่มาดูสิ่งของเครื่องใช้เพื่อประกอบจินตนาการ ให้ระลึกถึงยุคสมัยที่ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามแบบวิถีชนบท  แต่สิ่งที่ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบันคือ ความผูกพันกันของชาวบ้านในการทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งการทำบุญบำรุงพุทธศาสนา การสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีและการสร้างสาธารณประโยชน์ร่วมกัน โดยมีวัดและพระสงฆ์เป็นศูนย์กลาง

การเดินทาง : จังหวัดขอนแก่น ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 12 สายขอนแก่น-ชุมแพ ระยะทางประมาณ80กม.แล้วตรงไปจนกระทั่งถึงทางแยก ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 201 เส้นนี้จะผ่านตำบลนาหนองทุ่ม ซึ่งเป็นทางเดียวกับจะไปอำเภอภูกระดึง
----------------------------------------------------

สาวิตรี  ตลับแป้น  ผู้เขียน 

ข้อมูลจาก  : 
สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2559
เครื่องจักสาน.สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉบับเสริมการเรียนรู้ เล่ม 11 ,พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:ด่านสุทธาการพิมพ์, 2554.
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดโพธิ์งาม. อุปกรณ์และเครื่องมือทอผ้า(ออนไลน์) แหล่งที่มา  https//watphonagm.wordpress.com/เครื่องใช้ในการทำนา-และ/อุปกรณ์และเครื่องมือทอ/(26 สิงหาคม 2559).
อีสานบ้านเฮา. ตุ้มและแงบใส่กบ(ออนไลน์) แหล่งที่มา http://www.esanbanhao.com/thread-127-1-1.html(22 สิงหาคม 2559).
ชื่อผู้แต่ง:
-