พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์โบราณดงเมืองแอม


ที่อยู่:
วัดศรีเมืองแอม บ้านดงเมืองแอม หมู่ที่ 1 ต.ดงเมืองแอม อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น
โทรศัพท์:
043-210392 ติดต่ออบต.ดงเมืองแอม
โทรสาร:
043-210392
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2540
ของเด่น:
แผ่นศิลาจารึก,แผ่นกลองมโหระทึกสำริด
จัดการโดย:
เนื้อหา:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 08 ตุลาคม 2558

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์โบราณดงเมืองแอม


หลายสิบปีก่อนบนพื้นที่ทำนา ทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ได้มีการค้นพบภาชนะ จำพวกไหโบราณ กาน้ำโบราณ เครื่องปั้นดินเผารูปทรงต่างๆ บ้างก็เป็นหินแกะสลัก เศษกระดูกจึงเป็นที่มาของการสำรวจศึกษาความเป็นมาของเมืองโบราณที่เคยตั้งมั่นอยู่ที่นี่ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 ตรงกับสมัยทวารวดี  เมื่อการค้นพบมีมากขึ้น ประมาณปีพ.ศ.2540 องค์การบริหารส่วนตำบลดงเมืองแอม อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ได้เห็นความสำคัญ จึงได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ภายในวัดศรีเมืองแอม
           
ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์คือ พระสมชาย ชิตมาโร พระสงฆ์ในวัด ท่านนำชมแทนเจ้าอาวาสที่ชราภาพมากแล้ว และนายชำนาญ ศรีภักดี พนักงานประจำพิพิธภัณฑ์ของอบต.ดงเมืองแอม  วัตถุจัดแสดงของที่นี่อยู่ในอาคารที่แข็งแรง มีตู้กระจกปิดไว้อย่างดี แต่สิ่งที่ทั้งสองท่านพูดตรงกันคือ เมื่อไม่นานนักได้ถูกโจรกรรมวัตถุโบราณชิ้นที่มีความสมบูรณ์  สิ่งที่หายไปคือ กาน้ำโบราณกับไหโบราณสภาพดี

ดังนั้นสิ่งที่เห็นจัดแสดงอยู่จึงมีแต่ของที่แตกหัก ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดมาจากการค้นพบโดยบังเอิญ  จากการถากถางพื้นที่ทำเกษตรกรรม ก่อนนี้ชาวบ้านเก็บรักษาไว้ที่บ้านด้วยความไม่สบายใจ ในความเชื่อเกี่ยวกับภูตผีที่อาจจะมากับวัตถุเหล่านี้ เมื่อมีพิพิธภัณฑ์ ชาวบ้านจึงยินดีนำมามอบให้ ซึ่งเราจะเห็นว่ามีบางชิ้นเขียนชื่อผู้ให้อย่างชัดเจน
           
ถึงอย่างนั้นในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ยังมีวัตถุโบราณชิ้นสำคัญ  ทำให้เราสามารถสืบสาวราวเรื่องไปยังที่มาของอาณาจักรโบราณที่เคยรุ่งเรืองครอบครองดินแดนนี้ในช่วงเวลาหนึ่ง  ชิ้นแรกเป็นศิลาจารึกหินทรายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  จารึกด้วยอักษรปัลลวะ(อินเดียใต้) ภาษาสันสกฤต ลักษณะค่อนข้างลางเลือน มีอยู่ 3 บรรทัด ความว่า
           

พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด...ผู้เป็นพระเชษฐาของพระเจ้าศรีภววรมัน ผู้มีนามปรากฏในด้านคุณธรรม แต่ทรงพระเยาว์ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นได้รับขนานพระนาม อันเกิดจากการอภิเษกว่า ศรีมเหนทรวรมัน(หลังจาก) ชนะประเทศ(กัมพู)นี้ ทั้งหมดแล้ว ได้สร้างศิวลึงค์ อันเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องหมายแห่งชัยชนะของพระองค์...

           
หลักฐานสำคัญชิ้นนี้เอง ทำให้เราทราบว่าเมืองโบราณแห่งนี้ อยู่ในพุทธศตวรรษที่ 12-13 ในสมัยของพระเจ้าศรีมเหนทรวรมันหรือเจ้าชายจิตรเสน ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรเจนละ ทรงครองราชย์อยู่ในช่วงพ.ศ.1150-1159  พระองค์นับถือศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ดังนั้นแท่นศิลาจารึกนี้ คาดว่าเป็นส่วนฐานของศิวลึงค์  โดยส่วนศิวลึงค์ของแท้ได้หายไปไม่ปรากฏ ที่เห็นในพิพิธภัณฑ์คือ ศิวลึงค์จำลองทั้งนี้ยังมีการค้นพบศิลาจารึกของพระเจ้าศรีมเหนทรวรมันอีกหลายแห่งในบริเวณอีสานใต้และในแขวงจำปาสัก ประเทศลาว 
         
นั่นหมายถึงว่าประมาณ 1400 ปีมาแล้ว บริเวณบ้านดงเมืองแอมเคยเป็นอาณาจักรขอม  การที่ไม่มีตัวปราสาทขอมตั้งอยู่ให้มองเห็น เพราะว่าสมัยนั้นปราสาทส่วนใหญ่สร้างด้วยอิฐ จะมีเพียงส่วนของกรอบประตู เสาและทับหลังที่สร้างด้วยหิน  ดังนั้นจึงพังทลายลงหมดตามกาลเวลา ต่างกับปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมาและปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ในยุคสมัยหลัง ที่สร้างด้วยหินทรายและหินศิลาแลงก้อนใหญ่ที่คงทนกว่า ทำให้ปรากฏหลักฐานเป็นตัวปราสาทได้ชัดเจน
         
ได้มีการสำรวจจากภาพถ่ายทางอากาศ  ทำให้เห็นบริเวณนี้เป็นผังเมืองโบราณขนาดใหญ่ โดยมีขนาดตามแนวตะวันออก-ตะวันตกประมาณ 2400 เมตร และตามแนวเหนือ-ใต้ประมาณ 2000 เมตร มีคูน้ำ 1 ชั้น คันดิน 1 ชั้น ลักษณะคล้ายเป็นรูปเมืองสองเมืองทับกัน โดยส่วนของเมืองด้านตะวันตก คาดว่าถูกสร้างขึ้นก่อนแล้วจึงมีการขยายออกมาทางด้านทิศตะวันออกและด้านใต้  ก่อนนี้ได้เคยมีคนไปบุกรุกพื้นที่ตามแนวคูเมือง เอารถไถไปถากถางเพื่อปรับพื้นที่เพาะปลูก ทางเจ้าหน้าที่ของจังหวัดได้มีการแจ้งห้ามปราม ไม่ให้เข้าไปใช้ประโยชน์ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเพราะผิดกฎหมาย
           
โบราณวัตถุอีกชิ้นที่มีความเป็นมาน่าสนใจ  เนื่องจากย้อนอดีตไปได้นานกว่าสองพันปี  คือแผ่นกลองมโหระทึกสำริด  ตรงกลางมีรูปดาวสิบสองแฉก  ที่วางจัดแสดงในตู้กระจกมีเพียงแผ่นกลองและหูจับ ไม่มีตัวกลอง กลองมโหระทึกสำริดคือ โบราณวัตถุที่ใช้ในพิธีกรรมความเชื่อของชาวบ้าน  ใช้ตีประโคมในงานพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีศพ พิธีเลี้ยงผี พิธีขอฝน ฯลฯ
           
พวกภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ เป็นไหโบราณ มีจัดแสดงไว้หลายใบ  จากการสอบถามว่ามีอะไรอยู่ข้างในหรือไม่ตอนค้นพบ  บ้างก็บอกว่ามีแต่ดิน แกลบ บ้างก็มีพวกเครื่องมือเกษตรสมัยโบราณทำด้วยเหล็ก เป็นขวาน เคียว กำไลสำริด ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพเป็นชิ้นๆแตกหัก ซึ่งได้นำมากองรวมๆกันไว้ บางชิ้นก็พอจะมองออกว่าเป็นเครื่องมืออะไร  แหล่งใหญ่ของโบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ได้มาจากคลองรอบวัด ในช่วงที่กรมชลประทานมาขุดลอก

ส่วนภาพพระเครื่องดงเมืองแอมที่เป็นภาพขยายใหญ่  ติดไว้ที่ผนังในพิพิธภัณฑ์  ได้พบว่าบรรจุอยู่ในไหเช่นเดียวกัน  ไม่พบของจริงในพิพิธภัณฑ์  แต่ได้ไปปรากฏอยู่ในตลาดพระเครื่องในราคาสูง  ลักษณะพระเครื่องดงเมืองแอม พบว่าบางองค์มีอักษรปัลลวะสลักไว้ ตามภาพที่ติดไว้กับผนังมีเขียนอธิบายให้ชื่อเรียกเฉพาะแต่ละองค์ อาทิเช่น พระกรุดงเมืองแอม รูปพระพิมพ์ท้าวกุเวร  พระพิมพ์จันทรภัทร์ 1 (ความเจริญรุ่งเรืองในธรรม)  พระพิมพ์พุทโธ 1 (ผู้แจ้งโลก)
ในตู้กระจกด้านหน้าได้มีพระพุทธรูปขนาดเท่าฝ่ามือหนึ่งองค์ กับชิ้นส่วนเล็กๆคาดว่าเป็นพระเครื่อง คุณชำนาญบอกว่า ทราบมาว่ามีการพบพระพุทธรูปสำริดที่มีคุณค่ามาก แต่เก็บรักษาที่นี่ไม่ได้ เนื่องจากปัญหาลักขโมยดังที่กล่าวมาแล้ว
         
ปัจจุบันการจัดงานบุญของวัดจะทำตามประเพณีฮีตสิบสองคือ งานบุญทั้งสิบสองเดือนของชาวอีสาน งานบุญใหญ่ที่ชาวบ้านจัดร่วมกัน คือ งานบุญบั้งไฟ จัดขึ้นในเดือนหกมี 15 หมู่บ้านมาร่วมกันจัดงาน ตามความเชื่อแต่โบราณ การจัดงานบุญบั้งไฟก็เพื่อขอฝนให้ตกลงมาตามฤดูกาลสร้างความอุดมสมบูรณ์กับเรือกสวนไร่นา

----------------------------------------------------

สาวิตรี  ตลับแป้น  / ผู้เขียน
สำรวจข้อมูลภาคสนาม วันที่ 21 ธันวาคม 2558


----------------------------------------------------

การเดินทาง :  จากจังหวัดขอนแก่น ใช้เส้นทางถนนมิตรภาพขอนแก่น-อุดรธานี ระยะทางประมาณ 40 กม. จะมองเห็นซุ้มประตูเมืองดงเมืองแอมอยู่ด้านซ้ายมือ เลี้ยวเข้าไปตามเส้นทางนี้อีกประมาณ 4 กม.ก็ถึงพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์โบราณดงเมืองแอม  อยู่ในบริเวณวัดศรีเมืองแอม

-----------------------------------------------

บรรณานุกรม
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ 16. ศิลาจารึกและการอ่านจารึก, พิมพ์ครั้งที่12. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์, 2553.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ปราสาทขอมในประเทศไทย. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. เล่มที่ 30,พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์, 2554.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน). ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย(ออนไลน์)แหล่งที่มา http://www.sac.or.th/inscriptions/inscribe_detail.php?(20 มีนาคม 2559).
ชื่อผู้แต่ง:
-