คุ้มวัฒนธรรมเมืองมัญจาคีรี


ที่อยู่:
บ้านหัน ต.กุดเค้า อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น 40160
โทรศัพท์:
0892783602 ติดต่ออ.สุรศักดิ์ ธาดา
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2547
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของคุ้มวัฒนธรรมเมืองมัญจาคีรี

มัญจาคีรีนามเมืองเก่า บึงกุดเค้าคู่เมืองบ้าน 

นมัสการหลวงปู่ผาง ตลาดกลางที่นอนหมอน 

แสนออนซอนดอนเต่า งามลำเนาเขาภูเม็ง

คำขวัญประจำอำเภอมัญจาคีรีบอกเล่าเรื่องราว สถานที่สำคัญ ของเมืองมัญจาคีรีได้เป็นอย่างดี มัญจาคีรีเป็นเมืองเก่า อ.สุรศักดิ์ ธาดา ผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองมัญจาคีรีรุ่นที่ 5 ได้เล่าว่า เมืองมัญจาคีรีมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานมาตั้งแต่ยุคทวาราวดี วัตถุโบราณที่บ่งบอกถึงความเก่าแก่ของเมืองมัญจาคีรี อาทิ สถูปโบราณ สิมวัดสระทองบ้านบัว อำเภอมัญจาคีรี ตั้งเป็นอำเภอเมื่อ ปี พ.ศ. 2445 เหตุที่เรียกว่า “มัญจาคีรี” สันนิษฐานว่า เมืองนี้ตั้งอยู่ที่ลาดต่ำของภูเม็ง คำว่า “เม็ง” เป็นภาษาพื้นเมืองแปลว่า เตียง และได้เปลี่ยนคำว่า เม็ง เป็นภาษาบาลีว่า มัญจา ซึ่งบนภูเขาเม็งมีก้อนหินใหญ่รูปร่างลักษณะคล้ายเตียงนอนปรากฏอยู่ทุกวันนี้ และเติมคำว่า คีรี ต่อท้ายซึ่งหมายถึงภูเขา เมื่อแปลคำว่ามัญจาคีรี ทั้งหมดได้ความว่าเมืองที่มีภูเขารูปเตียง

การจัดระบบมณฑลเทศาภิบาลในรัชกาลที่ 5 ประกาศตั้งเมืองมัญจาคีรีปรากฏอยู่ในเขตมณฑลอุดร และในปี พ.ศ. 2462 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอมัญจาคีรี เป็นอำเภอกุดเค้า เนื่องมาจากสาเหตุที่ตั้งของที่ว่าการอำเภออยู่ในเขตตำบลกุดเค้า ซึ่งเป็นบึงใหญ่ที่มีปลาชุกชุม และในปี พ.ศ.2484 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อ อำเภอกุดเค้า อีกครั้งหนึ่ง และใช้ชื่ออำเภอมัญจาคีรีมาจนถึงทุกวันนี้

ในฐานะลูกหลานเจ้าเมือง อ.สุรศักดิ์ จึงมีความตั้งใจที่จะจัดทำ ”คุ้มวัฒนธรรมเมืองมัญจาคีรี” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์เรือนเก่าที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ตลอดจนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชน และชาวมัญจาคีรี ได้ทราบถึงความเป็นมาของเมืองมัญจา ตลอดจนขนบธรรมเนียม ประเพณีที่ดีงามของท้องถิ่น

อาจารย์ได้ดัดแปลงเรือนข้าราชบริพารเดิมเป็นที่จัดแสดงของคุ้มวัฒนธรรมฯ อาจารย์ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า เจ้าเมืองมัญจาเป็นเจ้าเมืองที่ไม่ได้เป็นเจ้าใหญ่นายโตมากนัก เรือนที่ใช้เป็นส่วนจัดแสดงเป็นเรือนของข้าราชบริพารเดิม ไม่ได้เป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าเมือง และไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของอาจารย์ เพราะไม่อยู่ในขนบ บ้านของอาจารย์อยู่ไม่ไกลออกไป ละแวกใกล้เคียงเป็นบ้านของญาติพี่น้อง ซึ่งอยู่ในรั้วเดียวกันตามแบบฉบับบ้านในชนบท แต่พี่น้องทั้งหมดยกเรือนเหล่านี้ให้อาจารย์ดูแล ทั้งนี้เนื่องจากความสนใจของอาจารย์เอง ตลอดจนเรือนเก่ารูปแบบเรือนอีสานโบราณเหล่านี้ไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ทำให้ไม่มีใครเห็นคุณค่า อาจารย์เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์เรือนเก่า และมีความตั้งใจว่าหลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว คงจะมีเวลาว่างมาดูแลมากขึ้น จึงตัดสินใจดัดแปลงเรือนเก่ารูปแบบอีสานเหล่านี้ทำเป็นคุ้มวัฒนธรรมฯ ดังกล่าว

คุ้มวัฒนธรรมฯทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองมัญจาคีรีได้เป็นอย่างดี แทบจะกล่าวได้ว่ามาที่นี่ที่เดียวเหมือนได้เที่ยวเมืองมัญจาทั้งอำเภอ ! เพราะนอกจากอาจารย์สุรศักดิ์จะสืบเชื้อสายเจ้าเมืองเก่าที่ทราบเรื่องราวของบรรพบุรุษอย่างดีแล้ว ในปัจจุบันอาจารย์ยังดำรงตำแหน่งในสภาวัฒนธรรมอำเภอมัญจาคีรีอีกด้วย ลีลาและท่วงท่าการเล่า ข้อมูลที่จะได้รับจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยเนื้อหาสาระ 

คุ้มวัฒนธรรมฯ จัดแสดงสิ่งของที่อ.สุรศักดิ์ได้รับสืบทอดจากบรรพบุรุษ ของที่เก็บสะสมจากการประกวดของดีเมืองมัญจา งานจะจัดขึ้นทุกปีในเดือนมกราคม ซึ่งจะเป็นช่วงเดือนที่กล้วยไม้พันธุ์ช้างกระในบริเวณวัดป่ามัญจาคีรีออกดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่ววัด ของดีเมืองมัญจาที่อาจารย์เก็บสะสม อาทิ ผ้าไหม สิ่งประดิษฐ์จากธรรมชาติ เสื่อ สิ่งทอ เครื่องจักสาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังจัดแสดงภาพถ่ายเก่าบ่งบอกถึงเหตุการณ์สำคัญและขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนสถานที่สำคัญของเมืองมัญจา ภาพถ่ายบุคคล เช่นภาพถ่ายสาวงามเมืองมัญจา แสดงออกถึงความนิยมในการจัดประกวดสาวงามในท้องถิ่นเมืองมัญจา ภาพการทำพิธีเผาศพแบบโบราณ เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังจัดแสดงเศษเครื่องปั้นดินเผาโบราณ เครื่องใช้ในทำการเกษตรของภาคอีสาน ไม้กลายเป็นหิน เครื่องทอผ้า สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือน และนิทรรศการเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองมัญจา เช่น นิทรรศการเรื่องวัดป่ามัญจาคีรี บางส่วนยังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำ เช่น นิทรรศการเรื่องราวของหมู่บ้านเต่า เป็นต้น

ผ้าไหม เป็นสิ่งจัดแสดงที่โดดเด่นในคุ้มฯ เนื่องจากเมืองมัญจามีชื่อเสียงในด้านการทอผ้าไหมโดยใช้สีย้อมธรรมชาติ ในอดีตบริเวณนี้เป็นเส้นทางผ่านของการเดินทางของผ้าไหมระหว่างอาณาจักรในลุ่มน้ำโขงและลุ่มน้ำเจ้าพระยา อ.สุรศักดิ์ได้บอกเล่าเรื่องราวประวัติ วิธีการเก็บรักษา ลายผ้า เทคนิคการย้อมสี และเคล็ดลับต่างๆที่เกี่ยวกับผ้าไหมอย่างไม่หวงวิชา อาจารย์เล่าว่าได้รับแรงบันดาลใจจากการไปดูตัวอย่างผ้าของ อ.เผ่าทอง ทองเจือ ซึ่งอ.เผ่าทองได้จุดประกายให้เห็นถึงความสำคัญของการเก็บรักษาและสะสมผ้าไหม 

ในฐานะครู อ.สุรศักดิ์ ยังจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กๆในโรงเรียนและในชุมชนเข้ามาทำกิจกรรมกับทางคุ้มฯ เช่น การอบรมวัฒนธรรมอีสาน นำเด็กมาเรียนรู้การทำอาหาร การแสดงพื้นบ้านอีสาน การเย็บปักถักร้อย นอกจากนี้อาจารย์ยังมีบทบาทในการหาเวทีให้เด็กๆได้แสดงผลงาน เช่น ให้เด็กมีการแสดงในงานรื่นเริงต่างๆภายในอำเภอ การรับจัดงานพาแลงหรือการกินอาหารเย็นร่วมกันในวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งเป็นวิธีการหารายได้ให้เด็กๆและคนในชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย 

ความภาคภูมิใจครั้งสำคัญของคนมัญจาคีรี คือ สิม (โบสถ์) วัดสระทองบ้านบัว อาคารทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรม ที่แสดงลักษณะเด่นชัดของพื้นถิ่นอีสาน มีการแต้มสีภาพ โดยภายนอกอาคารประดับแว่นแก้วฐานชุกชี ภายในประดิษฐานพระประธานศิลาทรายรูปแบบอีสาน ได้รับรางวัลอาคารทรงคุณค่าด้านการอนุรักษ์มรดกและวัฒนธรรมแห่งเอเชียแปซิฟิก (Award of Merit) จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในปี 2545 อาจารย์เล่าว่า ยูเนสโกพิจารณาจากความร่วมมือร่วมใจกันของคนในท้องถิ่นในการอนุรักษ์สถานที่สำคัญในชุมชนเป็นสำคัญ รางวัลนี้จึงเป็นสิ่งยืนยันได้อย่างดีถึงความร่วมมือกันของคนมัญจาที่เห็นถึงคุณค่าของสิ่งก่อสร้างเก่าแก่ในชุมชน 

ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนาม : วันที่ 24 กรกฎาคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-