พิพิธภัณฑ์วัดสระบัวแก้ว


ที่อยู่:
วัดสระบัวแก้ว บ้านวังคูณ หมู่ 4 ต.หนองเม็ก อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น 40190
โทรศัพท์:
084-7943738
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์วัดสระบัวแก้ว

ห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นอาคารโล่งขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยสิ่งของจัดแสดงและเรื่องราวต่างๆ ส่วนแรกคือ ตู้จัดแสดงเงินโบราณ หลวงพ่อท่านเจ้าอาวาสเปิดตู้กระจกแล้วหยิบถาดเหรียญเงินออกมา หยิบเหรียญห้าเก่าๆ ขึ้นมา 1 เหรียญและบอกว่านี่คือจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยท่านไปพบกับเหรียญ 5 บาทเก่าและเกิดสงสัยว่า แล้วเงินเก่ายุคต่างๆ จะหน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง จึงเริ่มเก็บสะสมจากเงินโบราณ หลังจากนั้นก็เริ่มสะสมวัตถุอื่นๆ ทั้งของพื้นบ้านและเครื่องโลหะ ทั้งขอบิณฑบาตรบริจาคจากชาวบ้านบ้างและหาซื้อมาบ้าง จนในที่สุดก็มีของจัดแสดงเต็มพิพิธภัณฑ์ ตู้จัดแสดงตู้แรกจึงเป็นเรื่องเงินโบราณ ทั้งเหรียญเก่า เงินฮาง เงินพดด้วง 

ถัดมาเป็นตู้ที่เก็บขันหมากหรือเชี่ยนหมากไม้แกะสลักหลากหลายรูปทรงและลวดลาย ที่หลวงพ่อขอบริจาคมาจากบ้านที่คนเฒ่าคนแก่เสียไปแล้ว ทั้งชุดมีเต้าปูนโลหะ กรรไกรตัดหมาก คนอีสานโบราณนั้นจะกินหมากปากแดงกันทุกคน และก่อนแต่งงานผู้ชายก็จะต้องทำขันหมากหรือเชี่ยนหมากให้กับหญิงสาวของตนด้วยความประณีตและความรัก บางคนก็ใช้ไปจนเสียชีวิต ขันหมากทุกอันจึงมีเรื่องราวของตนเอง และลวดลายที่ไม่ซ้ำกัน

ตู้ต่อมามีมัดผ้าเป็นแท่งยาว และมัดใบไม้เป็นแท่งยาวเช่นกัน รูปร่างคล้ายกันแต่ของข้างในไม่เหมือนกัน แท่งยาวๆ ที่ห่อด้วยผ้าขาวนั้นข้างในคือ คัมภีร์ใบลานที่เขียนอักษรโบราณจารึกพระธรรม ส่วนมัดที่ห่อด้วยใบไม้คือขี้ไต้สำหรับจุดไฟ เมื่อหลวงพ่อจัดมาไว้ในหมวดเดียวกันสำหรับคนไม่รู้จึงอาจจะดูเหมือนเป็นของประเภทเดียวกัน ส่วนจัดแสดงแรกจัดไว้ในตู้กระจกทั้งหมด ส่วนของอื่น ๆ ยังมี กระดึงวัวควาย ตลับไม้ใส่ของแบบโบราณ เตารีดใช้ถ่าน เครื่องเล่นแผ่นเสียงและแผ่นเสียงเก่า 

จากส่วนแรกต่อไปด้านในจะเป็นธรรมาสน์เก่าสร้างด้วยไม้แบบอีสาน และที่น่าตื่นตาตื่นใจคือ กระติบ หรือก่องข้าวยักษ์ สูงประมาณ 4 เมตร ซึ่งหลวงพ่อบอกว่าเป็นคนคิดให้ชาวบ้านช่วยกันทำขึ้นมาเอง เพราะต้องการให้เป็นจุดดึงดูดเวลาชาวบ้านมาทำบุญที่วัด หลังจากนั้นใครๆ ก็พูดถึงกระติบยักษ์ของวัดสระบัวแก้ว หากอำเภอหนองสองห้อง มีงานขบวนแห่ ก็มักจะมาขอยืมกระติบยักษ์ไปร่วมขบวนเสมอ ถัดมาเป็นเตียงไม้เก่า 3 หลัง มีความพิเศษคือ สามารถใช้เก็บของไว้ข้างในได้ด้วย คนอีสานโบราณไว้ใช้เก็บทรัพย์สินมีค่าคล้ายกับตู้เซฟในปัจจุบัน

ถัดมาอีกด้านมองเผินๆ คล้ายโกดังเก็บเครื่องมือการเกษตร ที่หลวงพ่อได้รวบรวมไว้ เริ่มจากด้านในสุดเป็นอุปกรณ์การล่าสัตว์ และเครื่องมือจับปลาหน้าตาแปลกๆ หลายอย่าง ต่อมาเป็นเครื่องมือตัดไม้ ขวานอีสานแบบโบราณที่ด้ามเหมือนขอสับ ชั้นวางของข้างๆ ก็เต็มไปด้วยอุปกรณ์สำหรับเทียมวัวเทียมควายแบบเก่า ซึ่งพอมาในยุคควายเหล็กหรือรถไถแล้วของพวกนี้ก็เป็นของเก่าเก็บอยู่ตามบ้านเท่านั้น สองชั้นสุดท้ายเป็นเครื่องมือการทอผ้า ทั้งลูกล้อสำหรับกรอด้าย ปั่นด้าย 

สิ่งที่พลาดไม่ได้เมื่อมาที่วัดสระบัวแก้ว บ้านหนองไฮ คือ การชมสิมหรือโบสถ์ แบบอีสานแท้ๆ และมีฮูบแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามแบบพื้นบ้าน ให้เดินดูเรื่องราวอย่างเพลิดเพลิน จิตรกรรมฝาผนังรอบๆ เรื่องรามเกียรติ ตั้งแต่ทศกัณฑ์ จับนางสีดาลอยแพมาเจอพระฤาษี จนกระทั่งจบเรื่องคือ พระรามได้ครองรักษ์กับนางสีดาในที่สุด แต่ละภาพจะแฝงเรื่องราวชีวิตคนอีสานยุคนั้นไว้ด้วย ทั้งการนุ่งซิ่น ทรงผม และประเพณีต่างๆ ด้านในเป็นเรื่องพุทธประวัติ ตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ทุกภาพล้วนสวยงามมีเอกลักษณ์ มีชีวิตชีวา ว่ากันว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดสระบัวแก้วแห่งนี้ เป็นภาพที่จิตรกรได้แสดงออกทั้งฝีมือและจินตนาการอย่างอิสระ จึงมีความสวยงามไม่ซ้ำใคร 

มีฝาผนังด้านหนึ่งมีจิตรกรรมที่เล่านิทานพื้นบ้านแสนสนุกเรื่องท้าวสะลุ่นปุ้น คือคนที่เกิดมาแขนขาสั้นกุด พ่อแม่ต้องอุ้มไปทำนาด้วยทุกวัน วันหนึ่งพระอินทร์ผ่านมาจึงแวะคุยด้วย สะลุ่นปุ้นเป็นคนคุยเก่งมากจนพระอินทร์บอกว่าพรุ่งนี้จะมาคุยด้วยใหม่และให้เล่นทายปัญหากัน ถ้าสะลุ่นปุ้นชนะ จะพาไปหล่อตัวใหม่บนสวรรค์ให้หล่อเหมือนพระอินทร์ วันรุ่งขึ้นพระอินทร์กลับมาแล้วตอบปัญหาแพ้จึงต้องพาขึ้นสวรรค์ไปหล่อตัวใหม่เหมือนพระอินทร์ จนกระทั่งเมียของพระอินทร์เองก็ยังจำไม่ได้ ท้าวสะลุ่นปุ้นจึงได้เมียพระอินทร์ด้วย จบเรื่องด้วยความตลกสมกับเป็นนิทานพื้นบ้านอีสานจริงๆ 

สิมแห่งนี้ได้รับการบูรณะดูแลจากสมเด็จพระพี่นางฯ และสยามสมาคมเมื่อ พ.ศ. 2544 และยังคงความสวยงามจนถึงทุกวันนี้ ใครอยากมาดูสิมสวยๆ พิพิธภัณฑ์เปี่ยมด้วยเรื่องเล่าน่ารู้ก็เชิญมาแวะดูได้ที่ วัดสระบัวแก้ว บ้านวังคูณ อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น แห่งนี้

สำรวจวันที่ 11 กรกฎาคม 2552

ชื่อผู้แต่ง:
-