ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ไผ่หูช้าง


ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านไผ่หูช้าง ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนวัดไผ่หูช้าง เป็นอาคารปูนซีเมนต์ ชั้นเดียว ภายในศูนย์จัดแสดงข้าวของที่เกี่ยวข้องกับชาวไทดำ พิพิธภัณฑ์ก่อตั้งโดยครูปิยะวรรณ สุขเกษม ครูของโรงเรียนที่เป็นมีเชื้อสายไทดำ ครูเคยเป็นผู้ประสานงานและให้ข้อมูลกับนักวิชาการจากภายนอกที่เข้ามาทำวิจัยในหมู่บ้านตัวเอง จึงมีแรงบันดาลที่จะทำพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาภายในโรงเรียนเพื่อบอกเล่าประวัติที่มาของหมู่บ้าน ประเพณี พิธีกรรม และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ภายในท้องถิ่น ซึ่งได้มาจากการบริจาคของคนในชุมชน

ที่อยู่:
โรงเรียนวัดไผ่หูช้าง ต.ไผ่หูช้าง อ.บางเลน จ.นครปฐม 73130
โทรศัพท์:
080 788 0605 (อ.ปิยะวรรณ)
วันและเวลาทำการ:
วันและเวลาราชการ
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2543
ของเด่น:
เรือนไทดำจำลอง ข้าวของในพิธีกรรม ภาพถ่ายชาวไทดำที่เก่าแก่ และสมุดข่อยโบราณที่บันทึกเรื่องราวของไทดำ
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ไผ่หูช้าง...

โดย:

วันที่: 09 ตุลาคม 2563

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ไผ่หูช้าง

ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ บ้านไผ่หูช้าง ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนวัดไผ่หูช้าง เป็นอาคารปูนซีเมนต์ ชั้นเดียว มีพื้นที่จัดแสดงประมาณ 120 ตร.ว. ภายในศูนย์จัดแสดงข้าวของที่เกี่ยวข้องกับชาวไทดำ โดยโรงเรียนวัดไผ่หูช้าง ตั้งติดกับถนนสายบางเลน กำแพงแสน โดยมีโรงเรียนเป็นผู้จัดการดูแล นอกจากนี้ ภายในหมู่บ้านไผ่หูช้าง ยังมีการจัดสร้างเรือนไทดำ โดยจำลองเรือนไทดำขึ้นมา แล้วจัดแสดงข้าวของตามตำแหน่งที่สัมพันธ์กับพิธีกรรมและการดำเนินชีวิตของชาวไทดำ

การเก็บข้อมูลไทดำในพื้นที่ไผ่หูช้าง
อ.ปิยวรรณ สุขเกษม ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ เคยเป็นครูในโรงเรียนวัดไผ่หูช้างมาก่อน และเป็นชาวไทดำที่อยู่ในพื้นที่บ้านไผ่หูช้างมาตั้งแต่เกิด มีความผูกพัน และเรียนรู้ความเป็นชาวไทดำตั้งแต่เด็ก นอกจากการเรียนรู้วัฒนธรรมไทดำผ่านพ่อและแม่แล้ว เมื่อ อ.ปิยวรรณ เติบโต และได้ทำงานเป็นครูที่โรงเรียนวัดไผ่หูช้าง จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ อ.ปิยวรรณ สนใจในท้องถิ่น และรากเหง้าของตัวเอง ทั้งนี้มีการจุดประกายจากการเข้ามาทำงานวิจัยของบุคคลภายนอก และ อ.ปิยวรรณ ต้องพานักวิจัยเหล่านี้เข้าไปพูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน จนเกิดการเรียนรู้ไปด้วย เมื่อถึงเวลาในการทำงานภายในโรงเรียน จึงนำความรู้เหล่านั้น มาเป็นพื้นฐานในการก่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ไผ่หูช้าง

           “ตะก่อนเป็นลูกสาวผู้ใหญ่บ้าน และลูกสาวกำนัน ช่วงก่อนจะมีทำวิจัยระดับปริญญาโท เอก มาหาข้อมูล ก็จะไปที่บ้านผู้ใหญ่ กำนัน พ่อเขาก็ไม่ได้ไปด้วย ก็ให้เราพาไปช่วงอายุประมาณ
20 ปีได้ ก็พาคนที่ทำวิจัยไปบ้านต่างๆ คือยุคก่อนคนที่มีความรู้ และเป็นผู้ที่รู้ หรือคนเฒ่าคนแก่มีเยอะ เราก็พาเขาไปบ้านโน้นบ้านนี้ คนแล้วคนเล่ามาเรื่อยๆ คราวนี้การที่เราไป เราก็ต้องนั่งรอ ช่วงที่รอเราก็ได้ยินคำถามจากนักวิจัยที่เขาจะยิงคำถามไปให้กับชาวบ้าน หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เขาถามไป เราก็รับฟังไปด้วย คือตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไร แค่พาเขาไป เวลาก็ผ่านไปเรื่อยๆ ผู้รู้เหล่านั้นก็ค่อยหายไป เสียชีวิต ก็ประมาณ ปี 2540 ก็มานั่งคิดว่า เราก็ช่วยคนอื่นที่จะเก็บข้อมูลในหมู่บ้านของเรา แต่ของเราเองยังไม่มีเลย ก็เลยตั้งใจเก็บข้อมูลของตัวเอง คือใช้เวลา 3 ปีเต็มในการเก็บข้อมูลในหมู่บ้านของเรา”

ในส่วนการเก็บข้อมูลของ อ.ปิยวรรณ ใช้เวลากว่า 3 ปีเต็มในการเก็บข้อมูล แต่ด้วยความที่ อ.ปิยวรรณ คือคนในท้องถิ่นอยู่แล้ว จึงมีความคุ้นเคย และสนิทสนมกับคนในหมู่บ้าน จึงทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลได้ไม่ยากนัก อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ข้อมูลพิธีกรรมมีรายละเอียดมาก จึงต้องใช้เวลาการเก็บข้อมูลที่ยาวนานกว่าจะเก็บรวบรวมเป็นเล่มได้

          “การเก็บข้อมูลจากการพูดคุยในสิ่งที่เรายังไม่รู้ กับคนแก่ในท้องถิ่น บางเรื่องเรารู้แล้วเพราะเราเป็นคนในท้องที่ เรารู้เราเห็นเราปฏิบัติ แต่บางเรื่องอย่างเรื่องพิธีกรรม ที่หมอเขาทำ เราไม่เคยรู้ เพราะเราไม่เคยถาม พอมาถึงจุดนี้ เราก็ถาม ก็คล้ายนักวิจัย คือทำทำไม ไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้น ที่จริงคำถามเราก็รู้แล้วแหละ แต่มันมีข้อแตกต่าง บางอย่างที่คนรุ่นก่อนรู้ แต่หมอรู่ใหม่ไม่รู้ก็มี เช่นหมอพิธี คนรุ่นก่อนจะมีความรู้มากกว่าหมอรุ่นปัจจุบัน บางทีเราถามว่าทำไมต้องทำตรงนี้ บางทีหมอรุ่นปัจจุบันตอบไม่ได้ เป็นการทำตามกันมา แต่เราโชคดีหน่อยที่เราเคยรู้มาบ้างแล้ว เก็บข้อมูลรายละเอียด ตัวอย่าง ขึ้นต้นอย่างไร ไปอย่างไร กว่าจะครบทุกประเพณี ชาวบ้านก็จะเห็นเราถือกล้อง นั่งคุยพิเศษกว่าทุกครั้ง”

การก่อตั้ง ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ไผ่หูช้าง และการได้มาซึ่งข้าวของ
ก่อนที่จะมีอาคาร ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ไผ่หูช้างอย่างเป็นทางการ อ.ปิยวรรณ เล่าถึงก่อนที่จะมีอาคารว่า ในช่วงแรกเก็บข้าวของไว้บนอาคารเรียนก่อนตั้งแต่ปี 2543  และได้บ้านชาวไทดำมาหลังหนึ่งก็จัดแสดงข้าวของ ตามใต้ถุนบ้าน และบนบ้านด้วย ต่อมา อบต. ได้งบประมาณมาสร้างอาคารหลังนี้ (อาคารศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ไผ่หูช้าง ปัจจุบัน) ก็ย้ายมาอยู่ที่นี่

          “ตอนนั้นวัตถุที่เก็บไว้ก็อยู่ในห้องเรียน ต่อมาเจ้าอาวาสก็มาตั้งบ้าน เป็นลักษณะบ้านโซ่ง ตอนที่ได้บ้านโซ่งก็เอาของมาจัด ส่วนหนึ่งก็อยู่บนบ้าน ส่วนหนึ่งก็อยู่ตรงใต้ถุน ตรงใต้ถุนชาวบ้านก็จะทำการสีข้าวมาให้ ครกกระเดื่อง จำลองคล้ายบ้านสมัยก่อน ที่ทอผ้า ก็มาอยู่กับเด็ก เวลาเราไม่อยู่เขาก็ทอ ทอ ทอ นึกถึงคนทอไม่เป็น ความสนใจของเรา การสีข้าวเหมือนกัน คนก็สนใจก็มาสีกันใหญ่ สนุกสนาน เป็นของเล่น ตอนนั้นเกิดพายุฤดูร้อน แรงมาก ตรงกับบ้านโซ่ง ข้าวของเครื่องใช้กระเด็นไปจนถึงกุฏิเจ้าอาวาสเลย มีของหลายอย่างที่เสียหาย ตอนหลัง อบต. ก็ได้งบมาก็เลยมาสร้างตึกนี้ ก็เลยเอาข้าวของที่เหลือเอามาอยู่ที่นี่”





ขณะที่ข้าวของที่ได้มานั้น นอกจากได้จากชาวบ้านไผ่หูช้างบริจาคมาแล้วส่วนหนึ่ง อ.ปิยวรรณ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ได้ข้าวของของไทดำมากขึ้น จากเหตุการณ์ก่อนเศรษฐกิจตกต่ำปี 2540 ในช่วงก่อนหน้านั้นเล็กน้อย เป็นช่วงที่ที่ดินมีราคาสูง ผู้คนนิยมขายที่ดิน ซึ่งรวมถึงชาวไผ่หูช้างเช่นกัน เมื่อชาวไผ่หูช้างขายที่ดินก็ได้เงินมาเป็นกอบเป็นกำ และเมื่อได้เงิน ชาวไผ่หูช้างนิยมสร้างบ้านก่อนเป็นอันดับแรก   เมื่อมีการสร้างบ้าน ก็จะมีการเคลียร์ข้าวของภายในบ้าน ที่ของเก่าๆ ชาวบ้านก็จะไม่เอา อ.ปิยวรรณ ก็จะไปรับบริจาคในช่วงนั้น ทำให้ในช่วงนั้นได้รับข้าวของของชาวไทดำเป็นจำนวนมาก

          “ช่วงก่อนเศรษฐกิจตกต่ำ เศรษฐกิจจะเฟื่องฟู   เพราะการขายที่ดิน คราวนี้พอคนขายที่ได้ จากชาวบ้านจนๆ ไม่เคยมีเงินล้าน ก็มีหลายล้าน คนที่นี่เมื่อมีเงินเขาจะสร้างบ้าน พอสร้างบ้าน คนรุ่นใหม่เช่นลุกเขยลูกสะใภ้ จะมีอิทธิพล พอสร้างบ้านใหม่ ข้าวของเก่าๆ ก็จะทิ้งเพราะบ้านสวยละ ไม่ต้องแขวนละ  เราก็คิดว่าบางอย่างควรจะเก็บไว้”

พัฒนาการทำมาหากินของชาวไทดำ ไผ่หูช้าง
ในอดีต ชาวไทดำไผ่หูช้างทำนาเพียงอย่างเดียว โดยอาศัยน้ำจากฝนเท่านั้น ปีหนึ่งก็ทำได้เพียงหนึ่งครั้ง ต่อมาเมื่อมีระบบชลประทานในปี 2520 ชาวบ้านก็ทำนาได้ปีละ 2 -3 ครั้ง และยังมีการพัฒนาไปเป็นการทำเกษตรด้านอื่นๆ เช่น การเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา โดยชาวบ้านจะพิจารณาเหตุการณ์เฉพาะหน้าตอนนั้นว่า ราคาพืชผลอะไรดีกว่ากัน ก็ทำตัวนั้น หรือบางทีก็ทำสลับกันไป จากนั้น ก่อนช่วงปี 2540 มีการขายที่ดินกันมาก จึงทำให้มีผู้คนภายนอกเข้ามาซื้อที่ดินโดยนำไปทำเป็นสวนกล้วยไม้ แล้วจ้างแรงงานพม่าเข้ามาเป็นคนงาน

          “อดีตก็ทำนาอย่างเดียว นาปี ต่อมาเริ่มขุดคลองตั้งแต่ปี 2520 ... จากอาชีพทำนาปีละหนึ่งครั้ง ก็เป็นทำนาได้เป็นปีละ 2-3 ครั้ง มีการเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา ปัจจุบันอาชีพที่ทำเยอะคือเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา ส่วนทำนา มันอยู่ที่ช่วงว่าข้าวแพงไหม หากข้าวแพงก็ทำนาหยุดเลี้ยงกุ้ง โดยชาวบ้านทำในพื้นที่เดียวกันทำสลับกันไป แล้วช่วงที่ขายที่ มีคนทำสวนกล้วยไม้เยอะมาก...คนที่เป็นเจ้าของสวนกล้วยไม้ไม่ใช่คนพื้นที่ เป็นคนที่มาซื้อที่ดินในปี 2540 ซึ่งช่วงนั้นที่ดินราคาไม่แพง ปัจจุบันที่ดินแถวนี้ราคาแพงมาก ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 3 แสน”

สกุล และเรื่องเล่าตำนาน บ้านไผ่หูช้าง
มีเรื่องเล่าตำนานที่มาของชื่อไผ่หูช้างมากมาย หนึ่งในนั้นคือเรื่องเล่าว่า เมื่อก่อนเกิดสงครามใช้ช้างชนกัน มีช้างวิ่งไปจนถึงไผ่ช้างแล่น เมื่อเกิดสงครามเกิดการฆ่าฟันจนหูช้างขาดติดอยู่ เลยเรียกบริเวณนั้นว่า “ไผ่หูช้าง” จากนั้นช้างตัวนั้นวิ่งเตลิดไปจนโดนคนฟันคอขาด จึงเรียกบริเวณนั้นว่า “หนองหัวช้าง”

          “ถ้าเป็นตำนาน ที่นี่ใกล้ๆ มันมีหมู่บ้านไผ่คอย เขาบอกว่ามันเกิดสงครามกัน เมื่อเกิดสงครามช้างก็จะแล่นไปถึงไผ่ช้างแล่น กองทัพมารอที่ไผ่คอย เกิดสงครามมาตั้งที่มั่น จึงเรียกว่าไผ่คอย วิ่งไปถึงไผ่ช้างแล่น แล้วจึงมีการฟันหูช้างขาดติดอยู่ ก็เลยตั้งชื่อหมู่บ้านว่าไผ่หูช้าง แล้วช้างตัวนี้ก็วิ่งต่อไปอีกนิดหนึ่งไม่ไกลเท่าไร ก็ไปหัวขาดที่หนองหัวช้างเพราะถูกฟัน เลยมีหนองหัวช้าง”

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าที่มาของชื่อ ไผ่หูช้าง อีกเรื่องราวคือ ลุงคนหนึ่งของ อ.ปิยวรรณ ซึ่งเข้ามาอยู่ที่ไผ่หูช้างในยุคแรกๆ พร้อมกับปู่ทวดของ อ.ปิยวรรณ เล่าว่า ที่นี่เต็มไปด้วยป่าไผ่เยอะมาก ตอนตั้งชื่อหมู่บ้านทางราชการก็ให้ผู้ใหญ่เลือก ช่วงนั้นเห็นมีคนนำช้างมาเลี้ยงเยอะมาก ตาก็เหลือบไปเห็นหูช้างใหญ่มาก ก็เลยตั้งชื่อไปว่า “ไผ่หูช้าง” ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 มีพระราชบัญญัตินามสกุล ปู่ข่าย จึงตั้งนามสกุลว่า “ทองคงหาญ” มาจากชื่อ 3 ชื่อของบรรพบุรุษของท่าน ดังนั้นเมื่อมีคนใช้คำว่า “ทอง” นำหน้า ต่อมาจึงใช้คำว่า “ทอง” นำหน้าชื่อสกุลตามๆ กันมา   

          “ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 มีพระราชบัญญัตินามสกุล ปู่ข่ายก็ตั้งนามสกุลว่า ทองคงหาญ เพราะบรรพบุรุษของท่านชื่อ “ทอง” “คง” และ “หาญ” ปู่ทวดดิฉันตั้งครอบครัวติดกับปู่ข่าย ก็เลยสนิทกับปู่ข่าย เวลาตั้งนามสกุลก็ไม่คิดตั้งไปไหนไกล ก็เลยตั้งตามปู่ข่ายเป็น ทองคงหาญ  เหมือนกัน”

ประเพณี ของชาวไทดำ
อ.ปิยวรรณ กล่าวถึงประเพณี ต่างๆ ที่ชาวไทดำไผ่หูช้างปฏิบัติสืบต่อกันมาเช่น “ป้าดตง” ว่าเป็นพิธีกรรมเซ่นไหว้บรรพบุรุษ โดยจะทำทุก 5 วัน หรือ 10 วันแล้วแต่กำหนด โดยการทำป้าดตงในปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจ สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในปัจจุบัน แต่ชาวไทดำส่วนใหญ่จะเข้มข้นกับพิธีกรรมป้าดตงมาก   

          “จะเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ทุก 5 วัน ต้องเซ่นไหว้บรรพบุรุษหนึ่งครั้ง ผู้น้อยถือเป็นสามัญชน 10 วันหนึ่งครั้ง ที่สำคัญเขาจะนับวันคือมีทั้งหมด10 วัน คนไทยจะนับแค่ 7 ใช่ไหมคะ...คราวนี้เวลาป้าดตง ก็จะป้าดตงเช้ากับกลางวัน เรียกว่า “หง๊ายต๊ง”  “แล้งต๊ง”  สมัยก่อนเช้าเขาก็ยกอาหารไปแล้วก็ลาออกมา พอถึงกลางวันก็ยก แต่ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจมันเปลี่ยน คนไปทำงานนอกบ้าน เขาก็เลยใช้วิธีพอเซ่นไหว้ครั้งที่หนึ่งเสร็จก็ลาออกมา แล้วเซ่นไหว้ครั้งที่สองเลย”

ส่วนการเสนเรือน ก็จะทำ 10 ปี ครั้ง  หรือแล้วแต่ใครจะกำหนดขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่สืบเชื้อสายมา เพราะผู้ชายจะได้รับมรดกมากกว่าผู้หญิง เพราะต้องรับหน้าที่ในการทำเสนเรือน โดยการเสนเรือน คล้ายกับการทำบุญบ้าน มีการเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้าน ล้มหมู แตกต่างจากป้าดตง ที่ลุกหลานกินกันอย่างไร ก็นำข้าวปลาอาหารที่กิน ทำป้าดตงไปแบบนั้น

          “พอสองสามปีก็จะมีพิธี “เสนเรือน” ใครไม่มีไม่เสนก็ได้ แต่นานๆ สิบปีค่อยเสนก็ได้ เพราะการเสนเรือน ต้องบอกคนทั้งหมู่บ้าน เพื่อมาร่วมพิธี เหมือนกันเลี้ยงอาหารเขาคนทั้งหมู่บ้าน ต้องมีการล้มหมู เป็นงานใหญ่ จึงต้องมีตัง ต้องทำ มีเงินค่อยทำ แต่ป้าดตง มีเงินหรือไม่มีก็ต้องทำ กินยังไงก็ป้าดตงยังงั้น”

สำหรับพิธีที่เกี่ยวข้องกับความตาย ชาวไทดำจะมีความเชื่อในการนำผู้ตายกลับคืนสู่เมืองฟ้า หรือ เมืองแถน โดยมีการทำเครื่องใช้สำหรับช่วยพาวิญญาณผู้ตายไปเมืองฟ้า ถ้าเป็นผู้ชายก็ทำเป็นนกหงส์ ถ้าเป็นผู้หญิงก็ทำเป็นปลีกล้วย สิ่งของเหล่านี้คือผู้ช่วยนำวิญญาณไปเมืองฟ้า

          “มีการบอกทางวิญญาณกลับเมืองแถน เมืองฟ้า แล้วช่วงที่เขาตายก็คือการทำพิธีกรรม ที่มีของสิ่งของเครื่องใช้ที่จะนำพาวิญญาณไปสู่เมืองฟ้า ถ้าเป็นผู้ชายก็ทำนกหงส์ ผู้หญิงก็ทำเหมือนปลีกล้วย สิ่งเหล่านี้ก็คือสิ่งที่วิญญาณไม่ได้ไปเอง แต่วิญญาณมีผู้บอกทาง”

อ.ปิยวรรณ ตั้งข้อสังเกตว่า เวลาทำพิธีกรรมบอกทางวิญญาณให้กลับเมืองแถนนั้น มันคือเส้นทางเดียวกับ การอพยพของชาวไทดำสมัยก่อน เพราะดูจากบันทึกของทหาร เปรียบเทียบกับเส้นทางในพิธีกรรม

          “วิญญาณจะขึ้นบนนี้แล้วล่องลอยขึ้นไปเมืองฟ้าไปตามที่ต่างๆ ที่ที่เขาบอกให้กลับเนี่ยเขาบันทึกไว้ ตั้งแต่ตอนมากับกองทัพ เพราะการบอกทางทุกอย่างจะให้กลับไป “บางกอก” ออกจากกรุงเทพ ผ่านสระบุรี ไปถึงแม่น้ำโขง ทะลุแม่น้ำโขงออกลาว ออกจากลาวเข้าเมืองแถน มองแล้วมันก็คือเส้นทางอพยพที่เขาอพยพมา เรียกว่าเส้นทางวิญญาณก็คือเส้นทางอพยพ ในอดีตเขาก็คงจะถามทหาร ถามผู้รู้”

เมื่อเสร็จพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตายแล้ว วันรุ่นขึ้นจะมีพิธีกรรม “แผ้วเฮือน” หรือพิธีกรรมปัดรังควาน โดยใช้ “หมอเมือง” (ผู้ชาย)  หรือ “แม่มด” (ผู้หญิง) เป็นผู้ทำพิธีที่สมมติตัวเองเป็นร่างทรง โดยการแผ้วเฮือน ก็คือการนำ “ผีขึ้นเรือน” โดยชาวไทดำเชื่อกันว่า ผู้ที่ตายไปแล้ว จะอวตารร่างลงมาอยู่กับลูกหลาน คอยคุ้มครองลูกหลาน โดยทำพิธีใน “กะล๊อฮ่อง” ซึ่งเป็นพื้นที่ด้านหลังของตัวบ้าน ไม่ว่าบ้านจะทันสมัยแค่ไหน ก็ยังต้องแบ่งพื้นที่ “กะล๊อฮ่อง” ไว้ทำพิธี

          “เสร็จแล้วก็มีพิธีเอาผีขึ้นเรือน เพราะบ้านที่เป็นโซ่งทุกบ้านที่เป็นผู้ชายต้องมี “กะล๊อฮ่อง” ต่อให้มีบ้านทันสมัยขนาดไหน คุณต้องแบ่งห้อง ห้องทึบ หรือห้องที่มีเสา หนึ่งเสาก็คือหนึ่งห้อง ต้องแบ่งบริเวณให้รู้ว่าเป็นห้องผี เป็น กะล๊อฮ่อง สำหรับทำพิธีกรรม คราวนี้เขาบอกว่าวิญญาณนี่ไปบนฟ้าก็จริง แต่วิญญาณเหมือนอวตาร จะแยกส่วนมาอยู่ปกครองช่วยดูแลคุ้มครองลูกหลาน เวลาเขาเชิญวิญญาณขึ้นบ้าน ต้องมีหมอพิธีอีกที่จะมาทำพิธีเชิญวิญญาณขึ้นบ้าน”

การบริหารจัดการ และปัญหา ศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ไผ่หูช้าง
การดูและจัดการศูนย์วัฒนธรรมไทดำ ไผ่หูช้าง โรงเรียนเป็นผู้ดูแล แต่ได้มอบหมายให้ อ.ปิยวรรณ เป็นผู้ดำเนินการจัดการ โดยได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งจากโรงเรียน แต่ อ.ปิยวรรณ ก็ต้องลงมาทำศูนย์ฯ อย่างจริงจัง ตั้งแต่การหาข้าวของ หรือ การหางบประมาณในกรณีที่งบประมาณที่ได้ไม่เพียงพอ อ.ปิยวรรณ ตั้งข้อสังเกตว่า การทำงานทางด้านวัฒนธรรมสวนกับความเป็นจริง






          “บางทีการทำงานด้านวัฒนธรรมมันจะสวนกับความเป็นจริง บางทีผู้นำเขาจะมีความคิดไม่เหมือนนักอนุรักษ์ คือเขาคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีประโยชน์กับหมู่บ้าน สังคม ไม่ได้เน้นตรงนี้มาก การของบไม่ใช่ขอไม่ได้ อย่างอาคารนี้ ที่เหมือนเรือนทรงไทยประยุกต์ 3 ล้านกว่า ก็ขอจาก การท่องเที่ยวและกีฬาได้ ตึกหลังนี้ก็เหมือนกัน เวลาเขา เขาก็ขอให้ทำเรื่องให้ดี แต่เวลาปฏิบัติไม่เหมือนกัน เราก็พูดไม่ได้เพราะความเป็นจริงมันเป็นแบบนี้”

ชื่อผู้แต่ง:
อานุภาพ สกุลงาม