ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอดอนตูม โรงเรียนคงทองวิทยา


โรงเรียนคงทองวิทยา เป็นโรงเรียนประจำอำเภอดอนตูม ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งโรงเรียนคือหลวงพ่อเต๋ อดีตเจ้าอาวาสวัดสามง่าม ห้องศูนย์วัฒนธรรมอำเภอดอนตูมตั้งอยู่ในอาคารเรียนชั้น 4 เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ 1 ห้อง เป็นห้องเอนกประสงค์ที่ใช้ทั้งเรียนหนังสือและเป็นห้องจัดแสดงข้าวของต่าง ๆ สิ่งของที่ใช้จัดแสดงอยู่ในตู้กระจกรอบๆ ห้อง ส่วนหนึ่งเป็นข้าวของเครื่องของใช้ยุคเก่า เช่น เครื่องพิมพ์ดีด กล้องถ่ายรูป แผ่นเสียง วิทยุโบราณ เครื่องทองเหลือ เหรียญกษาปณ์ เครื่องปั้นดินเผา สิ่งของเหล่านี้ชาวบ้านได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคให้ เมื่อครั้งมีการรวบรวมสิ่งของเพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ใน พ.ศ. 2536 ส่วนจัดแสดงมุมหนึ่งเป็นส่วนที่กล่าวถึงบุคคลสำคัญของอำเภอดอนตูมนั่นก็คือ หลวงพ่อเต๋ (พระครูภาวนาสังวรคุณ) ผู้ริเริ่มสร้างอาคารสำคัญต่างๆ ภายในอำเภอดอนตูม ทั้งโรงเรียน ที่ว่าการอำเภอ โรงพยาบาล นับเป็นบุคคลที่มีคุณูปการต่อท้องถิ่นนี้เป็นอย่างมาก

ที่อยู่:
ร.ร.คงทองวิทยา อ.ดอนตูม จ.นครปฐม 73150
โทรศัพท์:
034-381769
วันและเวลาทำการ:
วันจันทร์–ศุกร์ 8.30-4.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
อีเมล:
kongthong@hotmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2536
จัดการโดย:

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอดอนตูม โรงเรียนคงทองวิทยา

ชื่อผู้แต่ง: ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอดอนตูม โรงเรียนคงทองวิทยา | ปีที่พิมพ์: มปป.

ที่มา: นครปฐม:ศูนย์วัฒนธรรมอำเภอดอนตูม โรงเรียนคงทองวิทยา

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์วัฒนธรรมอำเภอดอนตูม โรงเรียนคงทองวิทยา

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายใน 7 วัน ฉันใด เมืองเล็กๆ อย่างอ.ดอนตูม จ.นครปฐม ก็ไม่ได้สร้างเสร็จภายใน 7 วันเช่นกัน กว่าจะก่อตั้งเป็นอำเภอมีอาคารบ้านเรือน และประชากรรวมกลุ่มกันได้อย่างในปัจจุบัน ต้องผ่านคนรุ่นก่อนที่ช่วยกันก่อตั้งขึ้นมาหลายรุ่น
 
ชื่อของอำเภอดอนตูม จ. นครปฐม คงจะไม่ค่อยคุ้นหูกันนัก เพราะเป็นอำเภอขนาดเล็กที่อยู่ใจกลางจังหวัดนครปฐมพอดี ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมายเหมือนอำเภอใกล้เคียงเช่น อ.นครชัยศรี ที่มีส้มโอเป็นผลไม้ชื่อดังของอำเภอ หรือ อ.เมือง ที่มีองค์พระปฐมเจดีย์ เจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย  แต่ถ้าพูดถึง หลวงพ่อเต๋ (พระครูภาวนาสังวรคุณ) วัดสามง่าม นักนิยมพระเครื่องหรือเหรียญวัตถุมงคลคงรู้จักกันดี  นอกจากชื่อเสียงของท่านแล้ว ท่านยังเป็นบุคคลสำคัญรุ่นแรกที่ช่วยก่อตั้ง อ. ดอนตูมขึ้นมา หาทุนมาก่อสร้างสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้งโรงพยาบาล และโรงเรียนประจำอำเภอ คือโรงเรียนคงทองวิทยา โรงเรียนซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมอำเภอดอนตูมนั่นเอง ที่ต้องเชื่อมโยงระหว่างความเป็นมาของอำเภอดอนตูม หลวงพ่อเต๋ และศูนย์วัฒนธรรมฯ ก็เพราะ 3 สิ่งนี้เกื้อหนุนกันและกัน
 
ห้องศูนย์วัฒนธรรมอำเภอดอนตูมตั้งอยู่ในอาคารเรียนชั้น 4  เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ 1 ห้อง เป็นห้องเอนกประสงค์ที่ใช้ทั้งเรียนหนังสือและเป็นห้องจัดแสดงข้าวของต่างๆ อันเป็นประวัติศาสตร์ของอำเภอดอนตูม ภายในมีตั่งเล็กๆ ตั้งอยู่หลายตัวสำหรับเป็นที่นั่งของนักเรียนเวลาเข้ามาใช้
 
สิ่งของที่ใช้จัดแสดงอยู่ในตู้กระจกรอบๆ ห้อง ส่วนหนึ่งเป็นข้าวของเครื่องของใช้ยุคเก่า เช่น เครื่องพิมพ์ดีด กล้องถ่ายรูป แผ่นเสียง วิทยุโบราณ ฯลฯ สิ่งของเหล่านี้ชาวบ้านได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคให้ เมื่อครั้งมีการรวบรวมสิ่งของเพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ใน พ.ศ. 2536 ตอนนั้นชาวบ้านมีความตื่นตัวในการช่วยกันทำพิพิธภัณฑ์กันมาก สิ่งของจัดแสดงจึงค่อนข้างหลากหลาย
 
สิ่งของจัดแสดงแบ่งเป็นหมวดหมู่แบ่งประเภทเป็นตู้ ๆ ตู้เครื่องทองเหลือง มีถาด ขันน้ำ พานรอง และช้อมส้อม ส่วนหนึ่งได้รับบริจาคมาจากชาวบ้าน อีกส่วนหนึ่งมาจากวัดสามง่ามอาจารย์บอกว่าส่วนหนึ่งก็เป็นของใช้เก่าแก่ของหลวงพ่อเต๋ ส่วนนาคสะดุ้งที่นำมาตั้งโชว์นอกตู้ 2 ชิ้น มีวัดนำมาบริจาค แต่ผู้นำชมจำไม่ได้แล้วว่ามาจากวัดไหน เพราะได้รับบริจาคมาหลายทอด
 
ส่วนหนึ่งจัดแสดงหอยทะเลโบราณ และฟอสซิลหอยเล็กๆ  ถัดมาเป็นตู้เงินตรายุคต่างๆ หลากหลายมาก อาจจะดูยากสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องเหรียญเพราะมีทั้งเหรียญจากต่าง ประเทศ เหรียญสตางค์แดงที่มีรูตรงกลางสำหรับร้อยเป็นพวงและเหรียญหลายรัชกาลรวมๆ กัน
 
ตู้จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาโบราณ เครื่องปั้นดินดินเผาในส่วนนี้มีหลายยุคปนกันเพราะได้รับบริจาคมาจากหลายแหล่ง ผู้นำชมเล่าว่านักโบราณคดีมาตรวจสอบแล้วบางชิ้นเก่าแก่ถึงยุคสุโขทัย และทางพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ทราบเช่นกันว่าใครเป็นผู้บริจาค 
 
ส่วนต่อมาเป็นส่วนที่กล่าวถึงบุคคลสำคัญของอำเภอดอนตูมนั่นก็คือ หลวงพ่อเต๋ (พระครูภาวนาสังวรคุณ) ผู้ริเริ่มสร้างอาคารสำคัญต่างๆ ภายในอำเภอดอนตูม ทั้งโรงเรียน ที่ว่าการอำเภอ โรงพยาบาล ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากการให้เช่าวัตถุมงคลของท่าน จนอำเภอดอนตูมสามารถก่อตั้งได้จนถึงทุกวันนี้ นับเป็นบุคคลที่มีคุณูปการต่อท้องถิ่นนี้เป็นอย่างมาก
 
และที่ลืมไม่ได้ก็คือชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในอำเภอดอนตูม นอกจากชาวไทย ชาวจีนแล้ว ก็ยังมีชาวลาวโซ่งที่เป็นกลุ่มชนที่มีเอกลักษณ์ทั้งภาษา และการแต่งกาย ชาวลาวโซ่งกลุ่มนี้ได้อพยพมาจากจังหวัดเพชรบุรีและมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวดอนตูมไปแล้ว สิ่งของที่นำมาจัดแสดงเกี่ยวกับชาวลาวโซ่งมีเสื้อผ้าทั้งของหญิงชาย กระเป๋า ที่ใช้ในพิธีกรรม และภาพวาดของหญิงสาวชาวลาวโซ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลของกลุ่มชนลาวโซ่งและประวัติศาสตร์ต่างๆ ของอำเภอดอนตูมก็สามารถมาค้นคว้าได้ที่นี่เพราะมีหนังสือให้ค้นคว้าด้วย
 
หลังจากที่ชมพิพิธภัณฑ์แล้ว อาจารย์ผู้นำชมฝากบอกมาว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังมีอนาคตที่ไม่แน่นอน เนื่องจากเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในโรงเรียนจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของผู้บริหาร สิ่งของจัดแสดงหรือห้องอาจจะต้องเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะมีความเสียหายได้ จึงอยากจะฝากให้ชาวดอนตูมที่มีความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเองมาช่วยกันดูแล หรือมีการสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ที่เต็มรูปแบบต่อไปในอนาคต
 
มัณฑนา ชอุ่มผล : เขียน/เมธินีย์ ชอุ่มผล : ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก: การสำรวจภาคสนาม 3 ธันวาคม 2550
ชื่อผู้แต่ง:
-